Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมอาเซียน : การปรับตัวของภาคราชการไทย (ตอนที่ 1)

ประชาคมอาเซียน : การปรับตัวของภาคราชการไทย (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า ผมจะวิเคราะห์ถึง ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็น ผลกระทบต่อภาคราชการไทย และการปรับตัวของภาคราชการไทย ต่อการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ในปี 2015

ภูมิหลัง

สำหรับภูมิหลังของประชาคมอาเซียนนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2002 โดยสิงคโปร์ได้เสนอในการประชุมสุดยอดปี 2002 ว่า ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนควรจะมีการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community พอสิงคโปร์เสนอ อาเซียนก็เห็นด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเดินหน้ากันสักที หลังจากที่เราติดขัดกันมานาน คือ ติดอยู่กับ AFTA มาตั้งแต่ปี 1992 และไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลย ถ้าอาเซียนจะยังคงมีความสำคัญอยู่ในเวทีโลก เราต้องรีบขยับ เราต้องรีบเดินหน้า เราต้องรีบบูรณาการในเชิงลึกกว่านี้ นั่นก็คือ การพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน แนวคิดนี้มาถึงจุดที่ทุกฝ่ายตกลงกันในปี 2003 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี ได้มีข้อตกลง Bali Concord II กำหนดว่า เราจะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 แต่ในตอนหลังหลายประเทศมองว่า ปี 2020 อาจจะนานเกินไป ตอนหลังจึงตกลงที่จะร่นเป้าหมายมาเป็นปี 2015 เพราะฉะนั้น จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2015

ประชาคมอาเซียน มี 3 เสาหลัก หรือ 3 ประชาคมย่อย คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ทีนี้ ประเด็นต่อไปที่ผมจะวิเคราะห์ คือ การวิเคราะห์ผลกระทบในภาพรวม และการปรับตัวของภาคราชการไทยในภาพรวม และหลังจากนั้น ก็จะมาวิเคราะห์ในรายละเอียดในแต่ละประชาคม 3 ประชาคมย่อย ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร และภาคราชการไทยจะปรับตัวอย่างไรในแต่ละประชาคม

ภาพรวม : ผลกระทบและการปรับตัวของภาคราชการไทย

การปรับตัวของภาคราชการไทยนั้น ผมมองว่า มีอยู่ 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือ การปรับตัวจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในแง่ที่ว่า เมื่อมีการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราจะต้องปรับตัวอย่างไร เป็นการปรับตัวเพื่อสนองตอบต่อผลกระทบ

แต่จะมีบทบาทของภาคราชการไทยอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ นอกจากเราจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับต่อผลกระทบแล้ว ภาคราชการไทยควรจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันในเรื่องของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ แล้วก็รอให้เกิดประชาคมอาเซียน แล้วค่อยปรับตัว แต่เราควรจะมีบทบาท ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทย ในฐานะที่เป็นส่วนราชการ จึงควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียนด้วย เกือบทุกกระทรวงในขณะนี้ก็เกี่ยวข้องกับอาเซียน เพราะฉะนั้น บทบาทของภาคราชการไทย นอกจากจะต้องปรับตัวแล้ว ยังจะต้องมีบทบาทในการผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียน และบทบาทในการผลักดันให้ไทยกลับมามีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับผลกระทบของการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนต่อภาคราชการไทยในภาพรวมนั้น คือ เมื่อเกิดประชาคมอาเซียน ความร่วมมือจะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆด้าน จะมีการติดต่อกันระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆของประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดประชาคมอาเซียน ความร่วมมือในทุกๆด้านจะเพิ่มมากขึ้น และข้าราชการเกือบจะทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของอาเซียนมากขึ้น จึงต้องมีการปรับตัว เพื่อที่จะให้ทันกับประเทศอาเซียนอื่นๆ จะมีการแข่งขันกันมากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กันในระบบราชการต่างๆ เพราะฉะนั้น ระบบราชการไทยจะต้องทำงานให้ทันกับระบบราชการในประเทศอาเซียนอื่นๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ ขึ้นชื่อว่าระบบราชการนั้นมีประสิทธิภาพมาก

และอีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ การที่ภาคส่วนต่างๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน หรือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน นั่นหมายความว่า หน่วยงานราชการของไทย ซึ่งในอดีต มักจะปิดตัวเอง ก็จำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างมากขึ้น ในการที่จะดึงเอาภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว อย่างเช่น ในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะไปทำสัญญาอะไรกับใคร รัฐบาลจะต้องปรึกษาหารือภาคประชาชนด้วย และอาเซียนก็จะทำให้แนวโน้มต่างๆเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้น หน่วยงานราชการจึงต้องเปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องของภาคประชาสังคม
จากผลกระทบดังกล่าว ภาคราชการไทยจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ผมขอเสนอประเด็นเหล่านี้ ที่น่าจะเป็นประเด็นหลักของการปรับตัวของภาคราชการไทย

• เราจะต้องรู้เรื่องอาเซียนมากขึ้น ภาคราชการไทยจะต้องมีการตื่นตัวในการรับรู้เกี่ยวกับ
อาเซียนมากขึ้น

• เราจะต้องพยายามที่จะรู้จักประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน
ด้วยกันทั้งนั้น เราจะต้องรู้จักภาษาของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อันนี้ คือ จุดอ่อนของไทย ที่เรามักจะมองข้ามประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เรามักจะมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราไม่ให้ความสำคัญ เวลาเรามองอะไรก็มักจะมองไปที่ประเทศที่เจริญแล้ว ภาษา เราก็จะไปเรียนภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น แต่ภาษาเพื่อนบ้านไม่มีใครอยากจะเรียน เพราะฉะนั้น จึงเป็น mentality ที่เราจะต้องปรับ ต้องเปลี่ยน เรื่องนี้โยงไปหลายเรื่อง อย่างเช่น ปัญหาความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา ก็เหมือนกัน รากเหง้าของปัญหา คือ เราไม่สนใจประเทศเพื่อนบ้าน เราจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน และมองประเทศเพื่อนบ้านในแง่บวก ไม่ใช่มองเป็นศัตรู เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ถือเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญที่เราจะต้องผลักดัน คือ ทำอย่างไร เราถึงจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านได้สักที ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่เราทะเลาะกับกัมพูชาอยู่ในขณะนี้ เรายกประเทศหนีเขาไปไม่ได้ เราจะต้องอยู่ด้วยกันไปตลอดกาล

• อย่างไรก็ตาม อาเซียนได้ตัดสินใจแล้วว่า ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของอาเซียน
ดังนั้น ในอนาคต ที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างประชาชนของอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งระหว่างระบบราชการของไทยกับระบบราชการของประเทศสมาชิกอื่น จะมีการพบปะ เจรจา และประชุมกันมากขึ้น เพราะความร่วมมือต่างๆจะเกิดมากขึ้นในทุกมิติ และภาษาที่จะต้องใช้ในการพบปะ เจรจา และประชุม ก็คือ ภาษาอังกฤษ ดังนั้น สิ่งที่ภาคราชการไทยจะต้องรีบปรับตัวอย่างรวดเร็ว ก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษ

• สุดท้าย คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และการเปิดกว้างการมีส่วนร่วมของภาค
ประชาชน ที่ได้วิเคราะห์ไป เป็นเรื่องของการปรับตัวในภาพรวม ตอนนี้เราจะมาดูในแต่ละประชาคมย่อย ว่า
จะต้องปรับตัวกันอย่างไร โดยจะเริ่มที่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงก่อน และหลังจากนั้น ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่ 2 ก็จะมาวิเคราะห์ต่อ ในส่วนที่เป็นประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

ประชาคมการเมืองและความมั่นคง

สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนนั้น เรื่องหลักๆ คือ การพัฒนาทางการเมือง การผลักดันประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การสร้างบรรทัดฐาน (norms) ให้เกิดขึ้น คือ การจัดทำข้อตกลง สนธิสัญญาต่างๆ การสร้างกลไกในการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง

สำหรับผลกระทบของการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนต่อประเทศไทย โดยเฉพาะต่อภาคราชการไทยนั้น ผลกระทบโดยตรงน่าจะเป็นในเชิงบวกมากกว่า

ถ้าจะมองในแง่ของประชาชน ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน จะให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะฉะนั้น สิทธิเสรีภาพของประชาชน น่าจะได้รับการปกป้องดีขึ้น และในอนาคต จะมีข้อตกลงมากขึ้น และความขัดแย้งต่างๆก็จะลดลง เพราะอาเซียนจะมีกลไกต่างๆดีขึ้นในการแก้ไขและป้องกันความขัดแย้ง
สำหรับผลกระทบต่อหน่วยงานราชการ ก็ต้องดูว่า แต่ละเรื่องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด

เช่นเรื่อง การพัฒนาทางการเมือง เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ก็จะไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม ที่จะต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเรื่องของการผลักดันความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชน และกลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ดังนั้น บุคลากรในกระทรวงยุติธรรม ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้น และต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปผลักดันในประเด็นเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องภาษา ซึ่งการประชุมอาเซียนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ

ส่วนเรื่องการพัฒนาบรรทัดฐาน ก็เป็นเรื่องของการจัดทำข้อตกลง สนธิสัญญา และกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม

สุดท้าย ก็จะเป็นเรื่องของบทบาทที่จะไปเสริมสร้างกลไกป้องกันความขัดแย้ง กลไกแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งจะเป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ฝ่ายทหาร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในอดีต ฝ่ายทหารก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับอาเซียนเท่าไร แต่หลังจากมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งแรกในปี 2006 ทหารก็มีความตื่นตัวขึ้นมา ในเรื่องที่จะเรียนรู้ว่าอาเซียนคืออะไร กลไกอาเซียนเป็นอย่างไร และหน่วยงานฝ่ายทหารจะเข้าไปมีบทบาทได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือด้านความมั่นคง และบทบาทของฝ่ายทหารไทยในเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

(โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม ซึ่งจะเน้นวิเคราะห์ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมวัฒนธรรม)