ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 11 ธันวาคม 2557
เมื่อวันที่
1 ธันวาคมที่ผ่านมา ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถานทูตเกาหลีที่กรุงเทพ
ได้จัดการสัมมนาในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี ที่โรงแรมรอยัล
ออร์คิด เชอราตัน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะสรุปสาระสำคัญของคำบรรยายของผม ในหัวข้อ
25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี ดังนี้
บริบท
บริบทที่สำคัญต่อความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี
คือการผงาดขึ้นมาของ 3 ผงาด
ผงาดที่ 1 คือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย
หรือ The
Rise of Asia โดยขณะนี้มีแนวโน้มชัดเจนว่า ศูนย์กลางของเศรษฐกิจของโลก
จะย้ายฐานจากตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งตะวันออกนั้น จริงๆแล้วคือ เอเชียตะวันออก
ซึ่งอาเซียนและเกาหลีก็เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออก
ผงาดที่ 2 คือ การผงาดขึ้นมาของเกาหลี
(เกาหลีในบทความนี้หมายถึงเกาหลีใต้) หรือ The Rise of Korea โดยเกาหลีใต้ได้พัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็ว
ขณะนี้มี GDP 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ
13 ของโลก GDP ต่อหัวก็สูงถึง 28,000 เหรียญ อยู่ในอันดับ 29
ของโลก ดัชนีชีวิตคุณภาพชีวิตมนุษย์ หรือ Human Development Index (HDI) ก็อยู่อันดับที่ 15 ของโลกซึ่งสูงมาก นอกจากนี้ สินค้าเกาหลีกำลังได้รับความนิยมเช่นเดียวกับวัฒนธรรมเกาหลี
และเกาหลีก็เป็นสมาชิกกลุ่ม G20 อีกด้วย
สำหรับผงาดที่ 3
คือการผงาดขึ้นมาของอาเซียน ซึ่งขณะนี้อาเซียนได้กลายเป็นองค์การระหว่างประเทศ
หรือสถาบันระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
อาเซียนถือเป็นการรวมกลุ่มในภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก
จะเป็นรองก็แต่เพียงสหภาพยุโรปเท่านั้น ในปี 2015
อาเซียนก็จะพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียน
ก็ยิ่งจะทำให้อาเซียนมีบทบาทความสำคัญมากขึ้นไปอีก
อาเซียนมีประชากร 600 ล้านคน มี GDP รวมกัน
10 ประเทศ มูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญ
ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และภายในปี 2030 GDP ของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
โดยจะมีมูลค่าประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่
เป็นอันดับ 5 ของโลก
นอกจากนี้ อาเซียนกำลังจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมของภูมิภาค
เป็นศูนย์กลางทางการทูตในภูมิภาค โดยอาเซียนเป็นแกนกลางของหลายกรอบคือ ASEAN +1, ASEAN +3, East Asia Summit และ
ASEAN Regional Forum
ความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี
และด้วยบริบทดังกล่าวข้างต้น และด้วยการผงาดขึ้นมาของ
3 ผงาดดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ในปี 1991 เกาหลีใต้ได้มีสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ต่อมาในปี 1997
มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีขึ้น ในปี 2004 มีการจัดทำปฏิญญา Joint Declaration on
Comprehensive Cooperation Partnership ในปี 2010
มีการลงนามในปฏิญญาอีกฉบับคือ Joint Declaration on ASEAN-ROK Strategic
Partnership โดยได้มีการยกระดับความสัมพันธ์เป็นระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
และในปีนี้จะครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี
หัวใจของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีคือ
ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างกัน มูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี
2015 จะมีมูลค่า 150,000 ล้านเหรียญ ขณะนี้เกาหลีใต้เป็นประเทศคู้ค่าอันดับ 5
ของอาเซียน และอาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของเกาหลีใต้
ในปี 2005 ได้มีการจัดทำกรอบความตกลง
Framework
Agreement on Comprehensive Economic Cooperation ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี
ในด้านการลงทุน ในปี 2009
มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนโดยการลงทุนของเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงถึง
600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ความร่วมมือในด้านอื่นๆ
ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง ด้านการพัฒนา ด้านสังคมวัฒนธรรม ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรม K-POP
ของเกาหลีก็ได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน
อาเซียนและเกาหลี
นอกจากความสัมพันธ์ในระดับ ASEAN + 1 แล้ว ยังมีความร่วมมือในกรอบ ASEAN
+ 3 ซึ่งเกาหลีมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือ ASEAN +3
โดยเฉพาะเรื่องข้อเสนอประชาคมเอเชียตะวันออก
ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มจากเกาหลีใต้
เกาหลีใต้และอาเซียนเป็นสมาชิกใน East Asia Summit ซึ่งก็มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว และอาเซียน-เกาหลีก็กำลังเจรจา FTA
ในกรอบ ASEAN +6 ที่เรียกว่า Regional
Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า
ความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และในอนาคตมีแนวโน้มว่า
ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายจะกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการผงาดขึ้นมาของอาเซียนและเกาหลีคงจะมีพัฒนาการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันในความร่วมมือ
ที่เป็นลักษณะของความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีสถานะระดับกลางหรือ medium power ดังนั้น ศักยภาพและ ความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี ก็จะพัฒนาต่อไปในอนาคต