Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม 2557



          ความสำคัญของ AEC ต่อไทย
 

          ผมคิดว่าท่านผู้อ่านหลายท่าน อาจจะยังคงมีคำถามอยู่ในใจว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น สำคัญต่อไทยมากเพียงใด ทำไมไทยต้องให้ความสำคัญต่อ AEC ด้วย ผมจึงอยากจะตอบคำถามนี้ก่อน     ความสำคัญของอาเซียนต่อไทย

·      ประการแรก คือ ทางด้านการค้า ประมาณ 70 % ของ GDP ไทย มาจากการส่งออก และขณะนี้ อาเซียนก็เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย 25 % ของการค้าไทย เป็นการค้ากับอาเซียน และในอนาคต เมื่อเป็น AEC แล้ว สัดส่วนตรงนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

·      ประการที่ 2 ในเรื่องภาคบริการ ปัจจุบัน ภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวเป็นภาคบริการที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และนักท่องเที่ยวจากประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ภาคการคมนาคมขนส่ง การให้บริการโลจิสติกส์ การให้บริการทางการแพทย์ การศึกษา เหล่านี้เป็นภาคบริการ ที่นับวัน เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ

·      ประการที่ 3 ในด้านการลงทุน ปัจจุบัน ไทยจำเป็นต้องมีการย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า มีแรงงาน มีทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแนวโน้มที่ผ่านมาคือ การย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศอาเซียน

·      ประการที่ 4 เรื่องแรงงาน ซึ่งเราคงเห็นชัดเจนแล้วว่า ปัจจุบัน ไทยขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการแก้ปัญหาของเราคือ การนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือจากประเทศสมาชิกอาเซียน

·      ประการที่ 5 คือ การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน โดยจะมีการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ไทยจึงจะได้ประโยชน์มากมายจากการเชื่อมโยงดังกล่าว

·      นอกจากนี้ หากเอา GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศมารวมกัน จะมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนจึงมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และในปี 2030 GDP ของอาเซียน จะขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว คือจะมี GDP 7- 8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก อาเซียนจึงกำลังผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากการเป็นสมาชิกอาเซียน

·      อาเซียนกำลังเป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก เราจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง

          และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญ ที่ไทยต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน และจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของ AEC

          จุดแข็งของไทยในอาเซียนคือ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนโดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพ ศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงทางด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กลางด้านอาหาร และศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น

          ดังนั้น วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ไทยต่อ AEC คือ การที่ไทยจะผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของ

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต

          สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ AEC ของไทยนั้น เป้าหมายหลักคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรจะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย 2 ส่วน

          ส่วนที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ในการเตรียมประเทศไทยให้พร้อม นั่นคือยุทธศาสตร์อาเซียนของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งมีอยู่ 8 ยุทธศาสตร์ อาทิ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างการแข่งขันทางการค้า การบริการ และการลงทุน ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

          แต่ยุทธศาสตร์ไทยต่อ AEC นั้น เราเตรียมพร้อมอย่างเดียวไม่พอ แต่เราต้องมียุทธศาสตร์ด้วยว่า เราจะเข้าไปทำอะไรใน AEC เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อ AEC อย่างไร เราจะทำให้ไทยมีบทบาทนำใน AEC ได้อย่างไร   

          ผมอยากจะเน้นยุทธศาสตร์ในการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง AEC โดยขอเริ่มด้วยยุทธศาสตร์ในด้านการค้าสินค้า ซึ่งในแผนการจัดตั้ง AEC จะมีการเปิดเสรีการค้าสินค้า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้

อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว

·      kitchen of the world

          สินค้าที่ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบ และมีโอกาสส่งออกไปตลาดอาเซียนมากขึ้น ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ แต่ที่ดูแล้ว ไทยน่าจะโดดเด่นที่สุดคือ สินค้าอาหารและยานยนต์

          การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย คิดเป็น 13 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ธุรกิจการส่งออกอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตร ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ คิดเป็น 10 % ของ GDP ไทย เราเคยมีสโลแกนที่เคยได้ยินกัน คือ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ไทยอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก ในการส่งออกสินค้าอาหาร ดังนั้น ไทยจึงมีศักยภาพอย่างมาก ในการที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอาเซียน

·      Detroit of the East

          สำหรับอุตสาหกรรมอีกสาขา ที่ไทยมีความโดดเด่นมากคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้เป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในไทย ขณะนี้ ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน ปีที่แล้ว ไทยผลิตรถยนต์กว่า 2.5 ล้านคัน ถือเป็นอันดับ 9 ของโลก และในอนาคต หากอุตสาหกรรมยานยนต์ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไทยอาจจะไต่อันดับจากอันดับ 9 ของโลก ไปติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ก็เป็นไปได้

          อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นแม่เหล็กสำคัญ ที่ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ ไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิ มีที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาเซียน มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นศูนย์กลางเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีแรงงานที่มีคุณภาพ ดังนั้น ไทยจึงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาเป็นเวลานาน

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน กำลังจะทำให้ไทยสูญเสียแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติลง โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่เริ่มจะไม่แน่ใจ และมองว่า ไทยเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ย้ายฐานการผลิต จากประเทศไทยไปประเทศอาเซียนอื่น โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

          ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของไทยในขณะนี้ จึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียนได้หรือไม่ เพราะไทยเป็นอยู่แล้ว แต่คำถามสำคัญในขณะนี้คือ ไทยจะสามารถคงความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนได้ต่อไปหรือไม่

·      tourism hub

          สำหรับในด้านการเปิดเสรีการค้าภาคบริการในกรอบ AEC นั้น เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งใน Blueprint ของ AEC โดยจะมีการเปิดเสรีการค้าภาคบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในหลายสาขา ซึ่งสาขาที่ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบ และมีศักยภาพที่จะเป็น hub ได้แก่ สาขาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม สาขาด้านการให้บริการทางการแพทย์ และสาขาการให้บริการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

          สำหรับในด้านการท่องเที่ยวนั้น ไทยมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยกว่า 20 ล้านคนต่อปี ทำให้ไทยติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว ไทยจัดอยู่ในอันดับ 16 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในฐานะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวมากที่สุด

          ไทยมีจุดแข็งหลายประการในด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม การให้บริการ รวมทั้งอาหาร และความเป็นมิตรของคนไทย ที่ต่างชาติรู้จักกันดีว่าเป็น “The Land of Smiles” ไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของโลก ที่การท่องเที่ยวคุ้มค่ามากที่สุด อันดับ 3 ของโลกในด้านที่พัก อันดับ 2 ของโลกในเรื่องอาหาร และกรุงเทพฯได้รับการจัดอันดับว่า เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกนานติดต่อกันหลายปีแล้ว

·      medical hub

          ภาคบริการอีกด้าน ที่ไทยมีความโดดเด่นเป็นอย่างมากคือ การให้บริการทางการแพทย์ เราคงจะได้กยินกันบ่อยๆ ถึงคำว่า medical hub คือ การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ของภูมิภาค

          ไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ การให้บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานโลก ในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ไทยยังเป็นศูนย์กลางของการแพทย์เชิงท่องเที่ยวหรือ medical tourism  ปัจจุบัน มีผู้มารับบริการทางการแพทย์ในไทยปีละประมาณ 2 ล้านคน

·      infrastructure and logistics hub

          สำหรับหัวข้อสุดท้าย ที่ผมจะวิเคราะห์คือ เรื่องของแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับภาคบริการอีกสาขาคือ การให้บริการด้านโลจิสติกส์

          ในแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียนนั้น จะมีแผนการการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ โครงการขนาดใหญ่ อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor ซึ่งจะเป็นการสร้างถนนเชื่อมระหว่างพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม จากเมียวดีในพม่า ตัดผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านพิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร และผ่านเข้าลาวที่สะหวันนะเขต จนไปถึงเมืองดานัง ที่เวียดนาม เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ หรือ North-South Economic Corridor  ซึ่งจะเป็นการสร้างถนนเชื่อมจีนตอนใต้ ไทย ลาว และพม่านอกจากนี้ ยังมีระเบียงเศรษฐกิจใต้ หรือ Southern Economic Corridor เชื่อมระหว่างเมืองทวายในพม่า มาไทย กัมพูชา และเวียดนาม

          ไทยโชคดีที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งตามระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ข้างต้น จึงต้องผ่านไทยหมด ไทยคือสี่แยกอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพอย่างมาก ในการที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน และศูนย์กลางการให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน

          ดังนั้น การพัฒนาการให้บริการโลจิสติกส์ของไทย จึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งสำหรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนทางด้าน

โลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทย ลดลงเรื่อยๆ จาก 20 % ในปี 2000 มาอยู่ที่ 15 % ในปัจจุบัน

          กล่าวโดยสรุป จากที่ผมได้วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ ก็คงจะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า ไทยจะมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการที่จะเป็นศูนย์กลางของ AEC อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเมืองในขณะนี้ ได้ทำให้ไทยสะดุด ในการเดินหน้าสู่การเป็น hub ของ AEC ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะรีบจัดการบ้านของเรา ให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อที่ไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในการผงาดขึ้นมา เป็นศูนย์กลางของประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตต่อไป