Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งแรก

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

ปีที่ 57 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2552

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งแรก


ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ชะอำ หัวหิน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลการประชุมที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การตกลงที่จะจัดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะในอดีตไม่เคยมีประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เลย ทั้งที่ ๆ อาเซียนได้มีการประชุมสุดยอดกับมหาอำนาจไปครบหมดแล้ว ยกเว้นสหรัฐฯ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะได้วิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของการประชุมสุดยอดดังกล่าว ดังนี้


ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่ออาเซียน


การที่เราจะเข้าใจว่าทำไมสหรัฐฯจึงยอมประชุมสุดยอดกับอาเซียน เราคงต้องเข้าใจถึงยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาค ซึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า ซึ่งการจะบรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ สหรัฐฯ จะต้องป้องกันมิให้มีคู่แข่งขึ้นมาแย่งความเป็นเจ้าของสหรัฐฯภายในภูมิภาค และจะต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลของสหรัฐฯลดลง ดังนั้น ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งกำลังมีศักยภาพที่กำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุด


อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนในภูมิภาคอาเซียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้สหรัฐฯจะยังคงครองความเป็นเจ้าทางทหาร แต่จีนก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก และได้เพิ่มบทบาทขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านการทูตและทางด้านเศรษฐกิจ โดยก้าวสำคัญของจีนคือการเสนอเขตการค้าเสรีกับอาเซียนในปี 2001 หลังจากนั้น จีนได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อที่จะซื้อใจอาเซียน ซึ่งจีนได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยอาเซียนใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการประชุมสุดยอดกันทุกปี และจีนยังได้ทำปฏิญญาการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน และเป็นประเทศที่มีฐานะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน


นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการในกรอบอาเซียน + 3 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป้าหมายระยะยาวจะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งแนวโน้มนี้ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดลง และจะทำให้สหรัฐฯถูกกีดกันออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก


จากแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น สหรัฐฯ จึงน่าจะได้ข้อสรุปแล้วว่า หากสหรัฐฯอยู่เฉย ๆ อิทธิพลของจีนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯ จะลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือ การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้นจึงได้เห็นสหรัฐฯเริ่มมีการเคลื่อนไหว จากในอดีตที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับอาเซียน เพราะลึก ๆ แล้วสหรัฐฯไม่ต้องการให้ประเทศในเอเชียสุมหัวรวมหัวกัน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายของสหรัฐฯต่ออาเซียนได้เปลี่ยนแปลงลงไปมาก และเห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ ได้กลับมาให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ


รัฐบาล Bush


โดยในสมัยรัฐบาล Bush ในระหว่างการประชุมสุดยอด APEC ที่เม็กซิโก เมื่อปี 2002 ประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศข้อเสนอ Enterprise for ASEAN Initiative (EAI) ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การเจรจา FTA ทวิภาคีกับประเทศอาเซียน โดยสหรัฐฯได้ลงนาม FTA กับสิงคโปร์ไปแล้ว และต่อมาในปี 2004 ได้เริ่มเจรจากับไทยและมาเลเซีย


ต่อมา ในระหว่างประชุมสุดยอด APEC ที่เกาหลีใต้ เมื่อปี 2005 Bush กับผู้นำอาเซียนได้ประกาศ Joint Vision Statement on ASEAN-US Enhanced Partnership หรือ แถลงการณ์ร่วมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมนี้ได้ระบุถึงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม แถลงการณ์ร่วมนี้น่าจะเป็นความพยายามของสหรัฐฯที่จะไล่ให้ทันจีน เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2003 จีนได้ทำปฏิญญาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนไปแล้ว


และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ลงนามใน Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) หรือ กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ยอมทำความตกลงทางด้านเศรษฐกิจกับอาเซียนทั้งกลุ่ม ข้อตกลง TIFA นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเจรจา FTA กับอาเซียนทั้งกลุ่ม เหมือนกับที่จีนได้เจรจากับอาเซียนทั้งกลุ่มไปแล้ว


รัฐบาล Obama


สำหรับนโยบายของรัฐบาล Obama ต่ออาเซียนนั้น ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้เน้นว่าจะให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในเอเชียมากขึ้น
ต่อมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนปัจจุบันได้เลือกที่จะเดินทางมาเยือนภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแรกหลังจากได้รับตำแหน่ง โดยได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น เกาหลี จีนและอินโดนีเซีย และได้เดินทางไปเยือนสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเยือนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยได้พบปะกับดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯกำลังให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น


ต่อมา เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton ได้เดินทางมาประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต โดย Hillary ได้แถลงข่าวว่า การเข้าร่วมประชุมกับอาเซียนในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯ ต้องการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาค Hillary กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐฯได้หวนคืนกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว โดย Hillary ได้ลงนามภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน และสหรัฐฯกำลังจะส่งทูตผู้แทนถาวรมาประจำอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรกที่ส่งทูตมาประจำอาเซียน นับเป็นการก้าวกระโดดของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อที่จะช่วงชิงความเหนือกว่า และความได้เปรียบต่อจีน


Hillary บอกว่าด้วยว่า มาตรการเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อสหรัฐฯ เพราะอาเซียนมีประชากรถึงเกือบ 600 ล้านคน อาเซียนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐฯ และสหรัฐฯลงทุนในอาเซียนมากกว่าไปลงทุนในจีน
เราคงต้องจับตาดูว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯที่กำลังจะมีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่สิงคโปร์ จะมีผลออกมาอย่างไรและจะเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์อาเซียน - สหรัฐฯหรือไม่


ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ชะอำ หัวหิน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลการประชุมที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การตกลงที่จะจัดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพราะในอดีตไม่เคยมีประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เลย ทั้งที่ ๆ อาเซียนได้มีการประชุมสุดยอดกับมหาอำนาจไปครบหมดแล้ว ยกเว้นสหรัฐฯ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะได้วิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของการประชุมสุดยอดดังกล่าว ดังนี้

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่ออาเซียน


การที่เราจะเข้าใจว่าทำไมสหรัฐฯจึงยอมประชุมสุดยอดกับอาเซียน เราคงต้องเข้าใจถึงยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาค ซึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า ซึ่งการจะบรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ สหรัฐฯ จะต้องป้องกันมิให้มีคู่แข่งขึ้นมาแย่งความเป็นเจ้าของสหรัฐฯภายในภูมิภาค และจะต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลของสหรัฐฯลดลง ดังนั้น ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งกำลังมีศักยภาพที่กำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุด


อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนในภูมิภาคอาเซียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้สหรัฐฯจะยังคงครองความเป็นเจ้าทางทหาร แต่จีนก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก และได้เพิ่มบทบาทขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านการทูตและทางด้านเศรษฐกิจ โดยก้าวสำคัญของจีนคือการเสนอเขตการค้าเสรีกับอาเซียนในปี 2001 หลังจากนั้น จีนได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อที่จะซื้อใจอาเซียน ซึ่งจีนได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยอาเซียนใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการประชุมสุดยอดกันทุกปี และจีนยังได้ทำปฏิญญาการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน และเป็นประเทศที่มีฐานะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน


นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการในกรอบอาเซียน + 3 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป้าหมายระยะยาวจะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งแนวโน้มนี้ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดลง และจะทำให้สหรัฐฯถูกกีดกันออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก

จากแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น สหรัฐฯ จึงน่าจะได้ข้อสรุปแล้วว่า หากสหรัฐฯอยู่เฉย ๆ อิทธิพลของจีนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯ จะลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือ การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้นจึงได้เห็นสหรัฐฯเริ่มมีการเคลื่อนไหว จากในอดีตที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับอาเซียน เพราะลึก ๆ แล้วสหรัฐฯไม่ต้องการให้ประเทศในเอเชียสุมหัวรวมหัวกัน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายของสหรัฐฯต่ออาเซียนได้เปลี่ยนแปลงลงไปมาก และเห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ ได้กลับมาให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ


รัฐบาล Bush


โดยในสมัยรัฐบาล Bush ในระหว่างการประชุมสุดยอด APEC ที่เม็กซิโก เมื่อปี 2002 ประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศข้อเสนอ Enterprise for ASEAN Initiative (EAI) ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การเจรจา FTA ทวิภาคีกับประเทศอาเซียน โดยสหรัฐฯได้ลงนาม FTA กับสิงคโปร์ไปแล้ว และต่อมาในปี 2004 ได้เริ่มเจรจากับไทยและมาเลเซีย


ต่อมา ในระหว่างประชุมสุดยอด APEC ที่เกาหลีใต้ เมื่อปี 2005 Bush กับผู้นำอาเซียนได้ประกาศ Joint Vision Statement on ASEAN-US Enhanced Partnership หรือ แถลงการณ์ร่วมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมนี้ได้ระบุถึงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม แถลงการณ์ร่วมนี้น่าจะเป็นความพยายามของสหรัฐฯที่จะไล่ให้ทันจีน เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2003 จีนได้ทำปฏิญญาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนไปแล้ว

และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ลงนามใน Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) หรือ กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ยอมทำความตกลงทางด้านเศรษฐกิจกับอาเซียนทั้งกลุ่ม ข้อตกลง TIFA นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเจรจา FTA กับอาเซียนทั้งกลุ่ม เหมือนกับที่จีนได้เจรจากับอาเซียนทั้งกลุ่มไปแล้ว


รัฐบาล Obama


สำหรับนโยบายของรัฐบาล Obama ต่ออาเซียนนั้น ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้เน้นว่าจะให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในเอเชียมากขึ้น


ต่อมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนปัจจุบันได้เลือกที่จะเดินทางมาเยือนภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแรกหลังจากได้รับตำแหน่ง โดยได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น เกาหลี จีนและอินโดนีเซีย และได้เดินทางไปเยือนสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเยือนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยได้พบปะกับดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯกำลังให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น

ต่อมา เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton ได้เดินทางมาประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต โดย Hillary ได้แถลงข่าวว่า การเข้าร่วมประชุมกับอาเซียนในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯ ต้องการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาค Hillary กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐฯได้หวนคืนกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว โดย Hillary ได้ลงนามภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียน และสหรัฐฯกำลังจะส่งทูตผู้แทนถาวรมาประจำอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนประเทศแรกที่ส่งทูตมาประจำอาเซียน นับเป็นการก้าวกระโดดของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อที่จะช่วงชิงความเหนือกว่า และความได้เปรียบต่อจีน

Hillary บอกว่าด้วยว่า มาตรการเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อสหรัฐฯ เพราะอาเซียนมีประชากรถึงเกือบ 600 ล้านคน อาเซียนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐฯ และสหรัฐฯลงทุนในอาเซียนมากกว่าไปลงทุนในจีน

เราคงต้องจับตาดูว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯที่กำลังจะมีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่สิงคโปร์ จะมีผลออกมาอย่างไรและจะเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์อาเซียน - สหรัฐฯหรือไม่

42 ปีบทบาทไทยในอาเซียน

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 57 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2552

42 ปีบทบาทไทยในอาเซียน

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะพูดถึงบทบาทของไทยในอาเซียน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในช่วงของการก่อตั้ง ไทยเป็นคนตั้งอาเซียนขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะเน้นว่า ในอดีต ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทนำในอาเซียน ตั้งแต่เป็นคนริเริ่ม ตั้งแต่เป็นคนก่อตั้ง อาเซียนเกิดที่กรุงเทพฯ ถ้าเป็นคน อาเซียนก็คงจะต้องมีสัญชาติไทย และอาเซียนก็คลอดที่ห้องบัวแก้ว วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นห้องที่ได้มีการลงนามในปฎิญญากรุงเทพฯ เมื่อปี 1967 ไทยจึงมีบทบาทมาตั้งแต่แรกหลังจากนั้น ในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ในช่วงที่อาเซียนเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในช่วงที่พลิกบทบาท พลิกศักราชใหม่ของอาเซียน ไทยก็มีบทบาทสำคัญในหลายๆครั้ง ปี 1975 อินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์หมด ไทยก็มีบทบาทสำคัญ ในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกที่บาหลีในปี 1976 ต่อมาในปี 1978 เวียดนามบุกยึดเขมร ไทยได้มีบทบาทในการผลักดันให้อาเซียนร่วมมือกัน ประสานนโยบายกัน เราใช้เวลานานที่เดียว เกือบสิบปี แต่ในที่สุด ก็ประสบความสำเร็จ ในปี 1989 เวียดนามได้ถอนทหารออกไปจากเขมร

หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ไทยก็มีบทบาทอีกครั้ง โดยไทยเป็นคนเสนอ ให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA ขึ้นในปี 1992 ต่อมาในปี 1995 เป็นปีแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนั้น ไทยผลักดันเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือกันของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง คือการเสนอให้เอาประเทศที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ให้มาเป็นสมาชิกให้หมด ตอนแรกมี 5 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง ต่อมาปี 1985 ก็มีบรูไนเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 แต่ในภูมิภาคนี้ ยังมี 4 ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก คือเวียดนาม ลาว เขมร พม่า ไทยเป็นคนผลักดันว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องดึงเอาประเทศเหล่านี้ เข้ามาอยู่ในครอบครัวอาเซียน เป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด ในการประชุมสุดยอดในปี 1995 ที่ประชุมก็ตกลงในหลักการว่า จะเดินหน้าในเรื่องนี้ และ ในปี 1995 เวียดนามก็เข้ามาเป็นสมาชิก ปี 1997 ก็เป็นลาวกับพม่า พอปี 1999 ก็เป็นประเทศกัมพูชา ตอนนี้เราก็มี 10 ประเทศครบ

อย่างไรก็ตาม บทบาทนำของไทย ได้เกิดการพลิกผัน เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 1997 ซึ่งเหมือนเป็นการเสียกรุงครั้งที่ 3 เศรษฐกิจไทยย่อยยับจากวิกฤตต้มยำกุ้งในครั้งนี้เป็นอย่างมาก บทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศก็ตกต่ำลง อาเซียนก็ล้มลุกคลุกคลานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับไทย ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงปี 1997 ถึง 1999 ก็พังกันหมด ทั้งไทย ทั้งอาเซียน ต่อมา ปี 2000 อาเซียนเริ่มฟื้น แต่ไทยกลับมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือมีการพลิกขั้วทางการเมือง เกิดมีพรรคการเมือง “ไทยรักไทย” แล้วหัวหน้าพรรคคือ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อนายกฯทักษิณ เข้ามาเป็นผู้นำ การทูตและนโยบายต่างประเทศไทยก็เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ และในหมู่นักวิชาการต่อไปว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เราได้เราเสียอะไรมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ต้องยอมรับว่า มีความคิดริเริ่มในเรื่องนโยบายต่างประเทศหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้งเวที ACD ขึ้นมา ซึ่งเป็นเวทีหารือเอเชียทั้งทวีป เรื่องของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งการผลักดันในเรื่องการเจรจา FTA ทวิภาคี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการทูตไทยในสมัยนั้น คือในช่วงปี 2001 ถึง 2006

แต่ตรงนี้ หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า นโยบายต่างประเทศในสมัยรัฐบาลทักษิณ อาเซียนได้ถูกลดความสำคัญลง ความสำคัญของอาเซียนต่ำกว่าของ ACD ต่ำกว่าความร่วมมืออนุภูมิภาค ต่ำกว่า FTA ทวิภาคี เพราะฉะนั้น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ในเวทีอาเซียน ไทยจึงไม่ได้มีการผลักดัน ไม่ได้มีความคิดริเริ่มเหมือนที่ไทยได้เคยทำมาในอดีต บทบาทของไทย ก็แผ่วลงไปเยอะ ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เป็นข้อเสนอของสิงคโปร์ ข้อเสนอประชาคมความมั่นคงอาเซียนก็เป็นข้อเสนอของอินโดนีเซีย ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ฟิลิปปินส์ก็เป็นคนผลักดัน มาเลเซียก็ไปผลักดันอาเซียน+3 จะเห็นได้ว่า ในช่วงนี้ ไทยไม่ได้มีบทบาทที่โดดเด่นอย่างที่เราเคยเป็นสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้ดีขึ้นเลย หลังจากมีการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน ปี 2006เมื่อมีรัฐบาลขิงแก่ ทุกอย่างก็หยุดหมด เป็นยุค “ใส่เกียร์ว่าง” รวมทั้งการทูตไทยก็ “ใส่เกียร์ว่าง” เราเหมือนจะขอเวลานอก เราไม่ทำอะไรเลย ไทยไม่มีบทบาทอะไรเลย ในกรอบความร่วมมือต่างๆ รวมทั้งอาเซียนด้วย

หลังจากนั้น มีการเลือกตั้ง แล้วมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ก็คือ มีรัฐบาลสมัคร มีรัฐบาลสมชาย การเมืองไทยก็ปั่นป่วน เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง รัฐบาลก็ไม่มีเวลาที่จะคิดริเริ่มในเรื่องการทูตใหม่ๆ ไม่มีเวลาที่คิดที่จะมาเป็นผู้นำอาเซียน ก็คิดแต่ว่า จะทำอย่างไร ที่จะรอดจากการถูกล้มรัฐบาล เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ที่ทำให้บทบาทไทยตกต่ำลงไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดสำคัญ คือ พอถึงไทยได้รับเป็นประธานอาเซียน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ในสมัยรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง ทำให้กำหนดเวลาการประชุมสุดยอด ในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ต้องเลื่อนออกไป และมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการประชุมหลายครั้ง รวมทั้งสถานที่ประชุม ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์อาเซียน ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า จะเกิดเรื่องวุ่นวายยุ่งเหยิงอย่างนี้ ทั้งวันประชุม ทั้งสถานที่ประชุม ตอนแรกเราจะจัดที่กรุงเทพฯ ตอนหลังก็จะย้ายไปเชียงใหม่ เพราะเป็นฐานเสื้อแดง พอตอนหลัง รัฐบาลสมชายล้ม รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็จัดประชุมที่เชียงใหม่ไม่ได้ จึงจะไปจัดประชุมที่ภูเก็ต แต่ก็มีปัญหาอีก เพราะว่าห้องเต็ม ประชุมไม่ได้ ต้องไปประชุมที่ชะอำ หัวหิน ก็ปั่นป่วนไปหมด

จึงกลายเป็นว่า การที่ไทยได้เป็นประธานอาเซียน และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ได้มีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนด้วย แทนที่เราจะใช้โอกาสทองอันนี้ ที่เราเป็นประธานอาเซียน ผลักดันให้ไทยกลับมามีบทบาทนำในอาเซียน แต่กลับเปลี่ยน “โอกาส” ให้กลายเป็น “วิกฤต”ไปซะ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก วิกฤตการเมืองไทย วิกฤตอาเซียนยังไม่จบ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การประชุมที่พัทยา การประชุมอาเซียน+3 อาเซียน+6 ที่พัทยาก็ล่ม เพราะเสื้อแดง ผมคิดว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่การประชุมสุดยอดล่ม เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลกเลยก็ได้ ที่การประชุมในระดับใหญ่ๆอย่างนี้ มีทั้งผู้นำญี่ปุ่น จีน อินเดีย ต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีกันสับสนอลม่าน ทุลักทุเลมากเลย ชื่อเสียงประเทศไทย หน้าตาประเทศไทย อยู่ที่ไหน แล้วไทยเราจะเหลืออะไร ในเรื่องของภาพลักษณ์ของประเทศ และ credit ความน่าเชื่อถือของประเทศ มันเสียหายหนักมาก
โอกาสของเราก็เสียไป บทบาทนำของเราก็แผ่วลงไป ผมคิดว่า ในระยะหลังๆนี้ เราตกลงไปเยอะ เราแย่ลงไปเยอะ สถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ในฐานะที่เราเป็นประธานอาเซียน แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่นั้นให้ดี

นั่นเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ตอนนี้ก็อยากจะมองไปข้างหน้า กำลังจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่หัวหิน ในช่วงวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ ผมคิดว่า เราคงต้องเอาใจช่วยรัฐบาล ว่า อย่าให้มีอะไรเกิดขึ้นอีก ขอเอาใจช่วยให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น

Obama กับรางวัลโนเบลสันติภาพ

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 57 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ที่ 16 - วันพฤหัสบดี 22 ตุลาคม 2552

Obama กับรางวัลโนเบลสันติภาพ

รางวัลโนเบล

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประกาศให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2009 แก่ประธานาธิบดี Barack Obama โดยได้อ้างถึงความพยายามของ Obama ที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการทูตระหว่างประเทศ และเน้นว่าวิสัยทัศน์ของ Obama ที่ต้องการที่จะให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทางคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวชื่นชม Obama ว่า ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศ การทูตพหุภาคีได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการเน้นบทบาทของสหประชาชาติและสถาบันระหว่างประเทศ การเจรจาหารือ ได้กลับมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ของ Obama ที่ต้องการให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ได้กระตุ้นให้เกิดการเจรจาเพื่อลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ และขณะนี้สหรัฐฯได้กลับมามีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

คณะกรรมการโนเบลได้ตอกย้ำว่า นาน ๆ ถึงจะมีบุคคลในโลกอย่างเช่น Obama ที่จะทำให้โลกเกิดความสนใจและทำให้ประชาชนในโลกมีความหวังสำหรับอนาคตที่จะดีขึ้น คณะกรรมการโนเบลได้กล่าวในตอนท้ายของแถลงการณ์ว่า ตลอดเวลา 108 ปีที่ได้มีการให้รางวัลโนเบลคณะกรรมการโนเบลได้แสวงหามาโดยตลอดที่จะกระตุ้นให้เกิดนโยบายระหว่างประเทศและทัศนคติในแนวที่เหมือนกับ Obama ดังนั้น Obama จึงกลายเป็นกระบอกเสียงของนโยบายและทัศนคติดังกล่าว คณะกรรมการเห็นด้วยกับการเรียกร้องของ Obama ที่กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรที่จะแบ่งความรับผิดชอบ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและสิ่งท้าทายของโลกร่วมกัน”

สุนทรพจน์ของ Obama

และเมื่อ Obama ได้ทราบว่าตัวเองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในตอนเช้าของวันที่ 10 ตุลาคม Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ทำเนียบขาว สรุปได้ว่า ตนรู้สึกประหลาดใจสำหรับการประกาศของคณะกรรมการโนเบล และกล่าวว่า ไม่ได้มองว่ารางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จของตน แต่มองว่ารางวัลดังกล่าวน่าจะเป็นการตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในการเป็นตัวแทนของความหวังของประชาชนทั่วโลก
Obama ได้กล่าวอย่างถ่อมตนว่า เขารู้สึกว่าเขาไม่สมควรที่จะได้รับรางวัลดังกล่าว โดยเมื่อเทียบกับบุคคลสำคัญ ๆ ของโลกที่ได้รับรางวัลในอดีต อย่างไรก็ตาม Obama ได้กล่าวว่า รางวัลโนเบลสันติภาพนั้นไม่จำเป็นจะต้องให้สำหรับความสำเร็จ แต่รางวัลจะเป็นเครื่องมือในการผลักดันเป้าหมายสันติภาพในอนาคต ดังนั้น Obama จะยอมรับรางวัลดังกล่าว แต่ไม่ใช่สำหรับความสำเร็จ แต่ในฐานะที่เป็นการเรียกร้องให้มีการกระทำ คือรางวัลดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้ทุก ๆ ประเทศเผชิญหน้าต่อสิ่งท้าทายร่วมกันในศตวรรษที่ 21
แต่สิ่งท้าทายต่าง ๆ ของโลกไม่สามารถเผชิญได้ด้วยผู้นำหรือประเทศเพียงประเทศเดียว และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาล Obama จึงพยายามผลักดันให้เกิดยุคใหม่ของปฏิสัมพันธ์ โดยทุกประเทศในโลกจะต้องรับผิดชอบในการสร้างโลกใหม่อย่างที่เราต้องการ


· เราไม่สามารถทนต่อโลกที่มีอาวุธนิวเคลียร์แพร่ขยายและกลุ่มก่อการร้ายจะใช้
อาวุธนิวเคลียร์ และนี่คือเหตุผลที่รัฐบาล Obama พยายามที่จะทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
· เราไม่สามารถยอมรับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน
· เราจะไม่ยอมปล่อยให้ความแตกต่างระหว่างประชาชนมาเป็นตัวกำหนดวิธีในการ
มองกันและกัน เพราะฉะนั้น นี่คือเหตุผลว่า รัฐบาล Obama จะผลักดันการเริ่มต้นใหม่ระหว่างประชาชน ซึ่งแม้จะแตกต่างกันทั้งในเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ยุคใหม่ก็จะตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันและความเคารพซึ่งกันและกัน เราจะต้องเดินหน้าในการแก้ไขความขัดแย้ง
· เราไม่สามารถยอมรับโลกที่ประชาชนถูกปฏิเสธโอกาส และศักดิ์ศรี นั่นก็คือ
การศึกษา การมีชีวิตที่ดี ความปลอดภัยจากโรคร้าย และความรุนแรง
· ในตอนท้าย Obama ได้พูดด้วยว่า สหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคาม โดยเฉพาะ
จากขบวนการก่อการร้ายและผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก


บทวิเคราะห์

Obama เพิ่งได้เป็นประธานาธิบดีเพียง 9 เดือนเท่านั้น ก็ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพแล้ว เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการโนเบลในปีนี้ไม่ได้เน้นในเรื่องของความสำเร็จ เพราะ Obama ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่กลับไปเน้นในเรื่องของวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น ของ Obama มากกว่า
จุดเด่นของ Obama ที่เข้าตาคณะกรรมการโนเบลคือ วิสัยทัศน์ใหม่และความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปนโยบายต่างประเทศและปฏิรูปโลกใหม่ โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ


· โดย Obama ได้ประกาศว่าพร้อมที่จะเจรจา แม้จะเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับ
สหรัฐฯ โดยได้เสนอที่พร้อมที่จะเจรจากับอิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
· ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้ประกาศว่าจะถอนทหารออกจากอิรัก และ
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้เดินหน้าถอนทหารออกจากอิรักไปบ้างแล้ว
· สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือ Obama กำลังเดินหน้าเจรจาทวิภาคีและเริ่ม
ปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ
· ในกรณีของรัสเซีย Obama ได้พยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ โดยObama ได้ใช้
คำว่า “กดปุ่ม reset” โดยความสัมพันธ์สหรัฐ – รัสเซีย ได้เสื่อมทรามลงไปมากในสมัยรัฐบาล Bush จนนำไปสู่สงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย แต่ Obama ก็ได้หันมาเจรจากับรัสเซียใหม่ และได้บรรลุข้อตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศทั้งสอง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ประกาศยุติแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นแผนการของรัฐบาล Bush ที่ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก
· Obama ยังได้เปิดศักราชใหม่ระหว่างอเมริกากับโลกมุสลิม โดยได้
กล่าวสุนทรพจน์ที่ไคโร เมื่อเดือนมิถุนายน เรียกร้องให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโลกมุสลิม
· นโยบายของสหรัฐฯ ต่อพม่าและคิวบาก็เปลี่ยนไป โดยยุทธศาสตร์ที่เน้นคือ
ปฏิสัมพันธ์
· และจุดยืนของรัฐบาล Obama ต่อปัญหาภาวะโลกร้อนก็เปลี่ยนแปลงไปมาก
เช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม ก็ไม่วายที่จะมีกลุ่มที่ออกวิพากษ์วิจารณ์การที่ Obama ได้รับรางวัล
โนเบลสันติภาพ โดยมีกลุ่มใหญ่อยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก คือกลุ่มอนุรักษ์นิยม พรรครีพับริกัน โดยประธานพรรครีพับริกัน คือ Michael Steele ได้ออกมาตั้งคำถามง่าย ๆว่า Obama ประสบความสำเร็จอะไร
หลายคนได้ออกมาพูดในทำนองว่า เป็นการเร็วเกินไปที่จะให้รางวัล Obama โดยได้พูดว่า น่าจะรออีกสักนิดเพื่อที่จะรอให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ Obama ในการที่จะสร้างสันติภาพ
โดยผู้ที่ต่อต้าน Obama ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า Obama ก็ได้แต่พูด แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น Obama บอกว่าจะปิดคุกที่ Guantanamo Bay แต่จนมาถึงปัจจุบันคุกดังกล่าวก็คงยังเปิดอยู่
ปัญหาต่าง ๆ ในโลกก็ยังคงคาราคาซังอยู่ ไม่มีปัญหาใดที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไม่จะว่าจะเป็นปัญหาอิสราเอล- ปาเลสไตน์ เกาหลีเหนือ อิหร่าน คิวบา และรัสเซีย และได้โจมตีว่านโยบายปฏิสัมพันธ์ของ Obama ไม่ได้แสดงว่าจะประสบความสำเร็จและจะดีกว่านโยบายแข็งกร้าวของรัฐบาล Bush
และปัญหาใหญ่ของ Obama อีกเรื่องหนึ่งคือ สงครามในอัฟกานิสถาน โดยได้มีการประชดประชันว่า รางวัลนี้ให้กับผู้สร้างสันติภาพ แต่ Obama ก็ยังเป็นประธานาธิบดีที่ทำสงครามอยู่ โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน ซึ่ง Obama ก็กำลังจะต้องตัดสินใจเพิ่มทหารเข้าไปอีก 40,000 คนเพื่อรบกับนักรบตาลีบัน และก็ยังไม่มีท่าทีว่า สงครามจะยุติลงเมื่อไร


ส่วนกลุ่มที่สองที่โจมตีรางวัลโนเบลสันติภาพของ Obama คือ กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง (ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกว่า พรรครีพับริกันกับกลุ่มก่อการร้ายกลายเป็นมีจุดยืนในเรื่องนี้เหมือนกัน) โดยเฉพาะกลุ่มนักรบตาลีบันและกลุ่มฮามาส ได้ออกมากล่าวว่า พวกเขาไม่เห็นว่าประชาชนชาวอัฟกานิสถานและปาเลสไตน์จะมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นอย่างไร ดังนั้น พวกเขาจึงต่อต้านการที่ Obama ได้รับรางวัลโนเบลดังกล่าว
เช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้รางวัลโนเบลกับ Obama นั้นเร็วเกินไป โดยเขามองว่า Obama ควรจะได้รับรางวัลก็ต่อเมื่อสหรัฐฯยอมถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและอิรัก และสหรัฐฯสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์


กล่าวโดยสรุป ผมมองว่า รางวัลสันติภาพที่ Obama ได้นั้น น่าจะเหมาะสม โดยเฉพาะหากมองว่า รางวัลนั้นให้สำหรับความตั้งใจและจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการสร้างสันติภาพขึ้นในอนาคต ผมมองว่า เราควรให้โอกาส Obama ในการที่จะสานฝันให้เป็นจริง ในการที่จะดำเนินนโยบายปฏิสัมพันธ์และก่อให้เกิดการปฏิรูประบบการเมืองโลก อย่างไรก็ตาม เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ในที่สุดแล้ว นโยบายของ Obama ที่ได้เริ่มต้นไว้ดีแล้ว จะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวอย่างไร ในการสร้างสันติภาพให้เกิดกับโลกอย่างแท้จริง

Obama ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 57 ฉบับที่ 1 วันศุกร์ที่ 25 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2552

Obama ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป

เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธในยุโรป ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ เมื่อเทียบกับของในสมัยรัฐบาล Bush คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของแผนการดังกล่าว และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนโยบายของ Obama

ภูมิหลัง

ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์สหรัฐกับรัสเซียมีความตึงเครียดมากและต้นตอของความขัดแย้งเรื่องหนึ่งคือ แผนการของ Bush ที่จะจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป โดยที่แผนจะติดตั้งระบบตรวจสอบและทำลายขีปนาวุธที่โปแลนด์จำนวน 10 เครื่อง และระบบเรดาร์ตรวจจับขีปนาวุธที่สาธารณรัฐเช็ก โดย Bush อ้างว่า ระบบดังกล่าวจะสามารถป้องกันภัยคุกคามจากอิหร่านซึ่งกำลังพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลยิงไปได้ไกลถึงยุโรป

แต่สำหรับรัสเซียนั้น ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการของ Bush อย่างรุนแรง ถึงแม้ Bush จะบอกว่าระบบดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปที่อิหร่านไม่ใช่รัสเซีย แต่รัสเซียก็ไม่เชื่อและมองว่า การที่สหรัฐฯอ้างภัยคุกคามจากอิหร่านนั้น ดูจะเป็นการอ้างที่เกินเลยจากความเป็นจริงและคิดว่าวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯคือ การมุ่งเป้ามาที่รัสเซียนั่นเอง Putin จึงได้ออกมาขู่ว่า แผนการของสหรัฐฯจะเป็นการยั่วยุให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธครั้งใหม่และเท่ากับเป็นการบีบให้รัสเซียจะต้องหันขีปนาวุธนิวเคลียร์มุ่งเป้าไปที่ยุโรป

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในภาพรวมนั้นเป็นผลมาจากการผงาดขึ้นมาของรัสเซียที่จะมาท้าทายระเบียบโลกของสหรัฐฯ แต่ตั้งแต่การล้มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้รัสเซียอ่อนแอ ทำให้ตะวันตกรุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ ในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย รัสเซียมองว่ากำลังถูกปิดล้อมจากตะวันตก แต่ขณะนี้สถานะของรัสเซียกลับดีขึ้นมาก อันเป็นผลพวงจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้รัสเซียต้องการที่จะผงาดมาอีกครั้งหนึ่ง และกลับมาเป็นมหาอำนาจในระดับโลกอีกครั้ง ในขณะที่รัฐบาล Bush ก็มองว่ารัสเซียกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ท้าทายและเป็นศัตรูของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม ภายหลัง Obama ได้มาเป็นประธานาธิบดี ก็มีแนวนโยบายใหม่ที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย สำหรับ Obama เรื่องหนึ่งที่น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ก็คือ การยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป


ท่าทีของ Obama

ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา Obama จึงได้ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งดังกล่าวแต่ Obama ก็พยายามที่จะพูดในทำนองที่ว่า การยกเลิกแผนไม่เกี่ยวอะไรกับรัสเซีย โดยในการแถลงข่าว Obama ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า ภัยคุกคามที่สำคัญของสหรัฐฯในปัจจุบันคือ ภัยคุกคามจากขีปนาวุธและ Obama ก็เห็นด้วยกับ Bush ที่มองว่าโครงการขีปนาวุธของอิหร่านเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม Obama ได้มีคำสั่งให้มีการทบทวนแผนการการป้องกันขีปนาวุธในยุโรปใหม่ และผลก็คือจะให้ยกเลิกแผนเก่าของ Bush โดยจะมีแผนใหม่ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแผนเก่าของ Bush Obama กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องนี้มี 2 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก คือ ได้มีการประเมินโครงการขีปนาวุธของอิหร่านใหม่ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า ภัยคุกคามในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ภัยคุกคามจากขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลาง ดังนั้นแผนใหม่ของ Obama จะเน้นระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยใกล้และกลาง ซึ่งจะต่างจากแผนของ Bush ที่จะเน้นป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล สำหรับปัจจัยที่ 2 ได้มีความคืบหน้าในเทคโนโลยีการป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งแผนใหม่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ให้มีประสิทธิภาพ


อย่างไรก็ตาม Obama ได้กล่าวต่อว่า สหรัฐฯจะร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งรวมถึง โปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก โดยบอกว่า ได้หารือกับผู้นำทั้งสองประเทศเกี่ยวกับการยกเลิกแผนเก่าและตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งพันธกรณีภายใต้มาตรา 5 ของ NATO ที่บอกว่า การโจมตีประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง เท่ากับเป็นการโจมตีทั้งหมด และในตอนท้ายของคำกล่าว Obama ก็ได้กล่าวว่า ได้ยืนยันกับรัสเซียว่า ข้อห่วงใยของรัสเซียต่อระบบป้องกันขีปนาวุธของ Bush นั้น ซึ่งมองว่า รัสเซียเป็นเป้านั้นไม่เป็นความจริง โดยย้ำว่า ภัยคุกคามที่เป็นเป้าคือโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน

ผลกระทบ

· โปแลนด์และเช็ก
ภายหลัง Obama ประกาศยกเลิกแผนระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป ก็ได้มีเสียง
วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในโปแลนด์และเช็ก ได้วิจารณ์ท่าทีของ Obama อย่างรุนแรง โดยหนังสือพิมพ์ในโปแลนด์ถึงกับโจมตีว่า การกระทำดังกล่าวของ Obama ถือเป็นการทรยศหักหลัง โดยสหรัฐฯขายโปแลนด์ให้กับรัสเซียและแทงโปแลนด์ข้างหลัง โปแลนด์และเช็กเป็นห่วงว่า การตัดสินใจของ Obama เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯจะลดความสำคัญของความมั่นคงในยุโรปตะวันออก จริง ๆ แล้วทั้งโปแลนด์และเช็กไม่ได้กลัวขีปนาวุธจากอิหร่าน แต่มองว่า การอนุญาตให้รัฐบาล Bush มาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธนั้นจะเป็นการดึงเอาอเมริกามาเพื่อเป็นหลักประกันต่อภัยคุกคามจากรัสเซียมากกว่า


· พรรครีพับริกัน
สำหรับพรรครีพับริกันซึ่งขณะนี้เป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็ได้ออกมาโจมตีการตัดสินใจ
ของ Obama อย่างรุนแรง โดย John McCain ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Obama ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ได้กล่าวว่า การตัดสินใจของ Obama เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง ส่วน John Bolton อดีตทูตสหรัฐฯประจำ UN ในสมัย Bush ซึ่งเป็นสายเหยี่ยวตัวยง ได้ประกาศกร้าวว่า การตัดสินใจของ Obama ในครั้งนี้ ผู้ชนะคือ รัสเซียและอิหร่าน และคิดว่าเป็นวันที่เลวร้ายมากสำหรับความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และสำหรับคนอื่น ๆ ที่คัดค้าน ก็มองว่า การยกเลิกแผนการของBush เป็นการกระทำที่โง่เขลา และไม่คิดว่า การตัดสินใจของ Obama ในครั้งนี้จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียได้ โดยทั่วไปแล้ว ขณะนี้กำลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของ Obama ว่าอ่อนแอและเน้นไม้อ่อนเกินไป


· รัสเซีย
ผมมองว่า ถึงแม้ว่า Obama จะปฏิเสธ แต่วาระซ่อนเร้นที่สำคัญของการยกเลิกแผน
ระบบป้องกันขีปนาวุธในครั้งนี้ ก็เพราะต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยรัฐบาล Obama น่าจะมองว่า การยกเลิกแผนจะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย และจะนำไปสู่การที่รัสเซียจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิหร่าน หรือ อัฟกานิสถาน

และท่าทีล่าสุดของรัสเซีย ก็คือการที่ประธานาธิบดี Medvedev ได้ออกมากล่าวภายหลังการตัดสินใจของ Obama ว่ารัสเซียไม่ได้มีการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯในเรื่องนี้ แต่ก็ได้ส่งสัญญาณในเชิงบวกว่า สหรัฐฯ รับฟังความเห็นของรัสเซียมากขึ้น รัสเซียก็ควรที่จะรับฟังความเห็นของสหรัฐฯเช่นกัน โดยการทดสอบท่าทีของรัสเซีย คงจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม เพราะจะมีการหารือระหว่างอิหร่านกับสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งทางเลขาธิการ NATO คือ Anders Forgh Rasmussen ก็ได้ประกาศหวังว่ารัสเซียจะเข้าร่วมในการเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่าน เพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

เราก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การเดินเกมครั้งนี้ของ Obama เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ความขัดแย้งจีน – อินเดีย

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 56 ฉบับ 50 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2552

ความขัดแย้งจีน – อินเดีย

จีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด 2 ประเทศรวมกันก็มีประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของโลก แต่จีนกับอินเดียกำลังมีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มความขัดแย้งจีนและอินเดีย ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ ทางทหาร และจะวิเคราะห์ความขัดแย้งทางด้านพรมแดนล่าสุดด้วย

ความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจ

จีนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ โดยมี GDP ประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญ ในขณะที่ เศรษฐกิจอินเดียมีขนาดเล็กกว่าจีนอยู่หลายเท่า แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียกำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอินเดียจะค่อย ๆ ไล่จี้จีนขึ้นมาเรื่อย ๆ และในปี 2050 เศรษฐกิจของอินเดียอาจจะใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
และมีแนวโน้มที่จีนและอินเดียจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการทางด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีแนวโน้มที่ขัดแย้งและจะแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานกัน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของอินเดียก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคู่แข่งกัน ทั้งนี้เพราะจีนกำลังมุ่งพัฒนาภาคบริการของตนอย่างเต็มที่เพื่อแข่งกันอินเดีย ในขณะที่อินเดียก็มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของตน เพื่อแข่งกันจีน


ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ในสายตาของจีนนั้น มองว่า อินเดียกำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่จะต้องหาทางถ่วงดุลอำนาจและสกัดกั้นการขยายอิทธิพล เช่นเดียวกัน ในสายตาของอินเดียก็มองว่า จีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่จะต้องหาทางปิดล้อมเช่นเดียวกันทั้งสองประเทศมีกรณีพิพาทพรมแดน ซึ่งได้เป็นสงครามในปี 1962 ในพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย เมื่อปี 1998 อินเดียได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ อินเดียก็ได้ประกาศว่า อาวุธนิวเคลียร์มีไว้เพื่อป้องปรามจีน อินเดียไม่พอใจที่จีนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน และพัฒนาท่าเรือน้ำลึกของปากีสถานที่เมืองท่า Gwadar และจีนยังขยายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ อินเดีย โดยเฉพาะกับพม่าและบังคลาเทศ โดยจีนได้พัฒนาท่าเรือน้ำลึกในพม่าและบังคลาเทศด้วย อินเดียจึงมองว่า จีนกำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดีย และอินเดียยังมองว่าจีนเป็นตัวการขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของ UN และจีนก็ขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกของ APEC ด้วย

นอกจากนี้ จีนยังพยายามตีสนิทกับศรีลังกาและเนปาล ซึ่งจีนได้ฉวยโอกาสจากสงครามกลางเมืองในประเทศทั้งสอง ในกรณีเนปาล จีนได้สนับสนุนกลุ่มนิยมลัทธิเหมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มที่นิยมกษัตริย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อินเดียสนับสนุนอยู่ สำหรับในกรณีของศรีลังกา ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทมิฬกับสิงหล โดยในอดีตอินเดียสนับสนุนกลุ่มทมิฬ แต่ในตอนหลัง ๆ อินเดียได้ลดบทบาทลง และยุติการสนับสนุนทางอาวุธ ซึ่งได้ก่อให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ซึ่งจีนก็ฉวยโอกาสเข้าแทนที่ทันที โดยขณะนี้ เรือรบของจีนสามารถไปจอดที่ท่าเรือ Hambontota ทางตอนใต้ของเกาะศรีลังกาได้

ขณะเดียวกัน อินเดียก็ตอบโต้ด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน โดยพยายามตีสนิทกับสหรัฐ อินเดียกับสหรัฐได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน นอกจากนี้ อินเดียก็พยายามจะตีสนิทกับพม่ามากขึ้นเพื่อถ่วงดุลจีน รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียก็ได้พยายามอย่างมากที่จะเพิ่มบทบาท เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

ความขัดแย้งทางทหาร

จีนกำลังเพิ่มสมรรถภาพทางทหารขึ้นอย่างมาก โดยงบประมาณทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นถึง 18 %ในปี 2008 และมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่อินเดียก็กำลังเพิ่มสมรรถภาพทางทหารเพื่อแข่งกับจีน กองทัพเรืออินเดีย ขณะนี้ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยอินเดียมุ่งเน้นที่จะครอบงำมหาสมุทรอินเดีย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางทหารในมหาสมุทรอินเดียระหว่างจีนกับอินเดียมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยทั้ง 2 ประเทศต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงมีแนวโน้มที่ทั้ง 2 ประเทศจะส่งกองทัพเรือของตนมาปกป้องเส้นทางการลำเลียงน้ำมันในมหาสมุทรอินเดีย

ความขัดแย้งทางพรมแดน

ทั้ง 2 ประเทศมีกรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ซึ่งเคยลุกลามกลายเป็นสงครามในปี 1962 อินเดียกล่าวหาว่า จีนได้เข้าไปยึดครองดินแดนของอินเดียในแถบแคชเมียร์ และพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย ความขัดแย้งได้ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยอินเดียได้ประกาศเพิ่มกองกำลังทางทหารประชิดพรมแดนจีน ส่วนจีนก็ตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ด้วยการประกาศตอกย้ำว่า ดินแดนประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตรที่ขัดแย้งกับอินเดียนั้นเป็นของจีน โดยจีนได้ประกาศว่าเขต Arunachal Pradesh เป็นดินแดนของจีน และจีนได้ส่งกองกำลังทหารล้ำเข้าไปในแคว้น Sikkim ของอินเดียหลายครั้ง และจีนพยายามที่จะพัฒนาเส้นทางคมนาคมในบริเวณเหล่านี้อย่างเต็มที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของจีน ก็ยิ่งทำให้อินเดียรู้สึกหวาดระแวงต่อจีนมากขึ้น อินเดียได้ตอบโต้ด้วยการประกาศเพิ่มกองกำลังทหาร โดยเฉพาะในแคว้น Assam ของอินเดีย ขณะนี้มีทหารจำนวนกว่า 100,000 คน

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการวิพากษ์วิจารณ์อินเดียอย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทางทหารของอินเดีย ถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และถามว่าอินเดียพร้อมแล้วหรือที่จะเผชิญหน้ากับจีน โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ยอกย้ำว่า จีนไม่กลัวอินเดีย พร้อมทั้งกล่าวประชดประชันอินเดียว่า ล้มเหลวที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เทียบเท่าจีน และยังได้กล่าวเตือนอินเดียว่า จีนมีพันธมิตรทั้งกับปากีสถาน ศรีลังกา และเนปาล และตอกย้ำจุดยืนของจีน โดยเฉพาะต่อเขต Arunachal Pradesh ว่าจีนจะไม่มีทางยอมประนีประนอมในความขัดแย้งพรมแดนกับอินเดีย

สหรัฐประกาศนโยบายใหม่ต่อ UN

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 56 ฉบับ 49 วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม - วันหฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2552

สหรัฐประกาศนโยบายใหม่ต่อ UN

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Susan Rice ทูตสหรัฐประจำ UN ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัย New York ในหัวข้อเรื่อง “A New Course in the World, a New Approach at the UN” ซึ่งแปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า ทิศทางนโยบายต่างประเทศใหม่ของสหรัฐต่อโลกและนโยบายใหม่ต่อ UN

ยุคใหม่ของการปฏิสัมพันธ์

ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Rice ได้กล่าวว่า สหรัฐภายใต้การนำของ Barack Obama กำลังเปลี่ยนนโยบายใหม่ต่อโลกและต่อ UN การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีความจำเป็นเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมีปัญหาต่าง ๆ มากมายได้แก่ ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ วิกฤตการเงินโลก สงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ การก่อการร้าย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาภาวะโลกร้อน และปัญหาข้ามชาติอื่น ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งได้

รัฐบาล Obama มีหลัก 3 ประการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ประการที่หนึ่ง ปัญหาต่าง ๆ ของโลกไม่สามารถแก้ได้หากปราศจากการเป็นผู้นำของสหรัฐ ประการที่สอง ถึงแม้การเป็นผู้นำของสหรัฐจะจำเป็น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา เราต้องการความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และหลักประการที่สาม คือ ประเทศต่าง ๆในโลกจะเข้ามารับผิดชอบในการแก้ปัญหาโลกมากขึ้น ก็ต่อเมื่อสหรัฐต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ยอมรับและแก้ไขข้อผิดพลาด สร้างความเป็นหุ้นส่วนและปฏิบัติต่อประเทศอื่น ๆ ด้วยความเคารพ

ดังนั้น นโยบายต่างประเทศสหรัฐในศตวรรษที่ 21 จึงจะต้องเพิ่มจำนวนประเทศที่ร่วมมือกับสหรัฐให้มากที่สุด โดยประเทศเหล่านั้นจะต้องมีสมรรถภาพและมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน UN มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมสมรรถภาพให้กับรัฐที่อ่อนแอ และกำลังจะล้มเหลว เห็นได้จากในกรณี ไฮติ ไลบีเรีย และคองโก นอกจากการสร้างสมรรถภาพแล้ว เรายังต้องการเจตนารมณ์จากประเทศต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา สหรัฐพยายามที่จะสร้างเจตนารมณ์ให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Obama เรียกว่า ยุคใหม่ของปฏิสัมพันธ์ หรือ New Era of Engagement

ทั้งในคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ สหรัฐพยายามผลักดันเป้าหมายร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า UN ยังมีข้อบกพร่อง ในคณะมนตรีความมั่นคงก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะในกรณีปัญหา ดาร์ฟู ซิมบับเว และพม่า แต่ก็อย่างที่ Obama ได้เคยพูดไว้ คือ UN ยังไม่ perfect แต่ก็ยังคงเป็นองค์กรที่สำคัญยิ่ง ยังไม่อะไรที่จะสามารถแทนที่ความชอบธรรมของ UN ได้ในการเป็นองค์กรของประชาคมโลก

UN ส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐ

Rice ได้กล่าวว่า ในโลกปัจจุบัน ความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศอื่น ๆ ดังนั้น UN จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ชาวอเมริกันมั่นคงปลอดภัย Rice ได้บอกว่า ได้ใช้ UN ในการส่งเสริมความมั่นคงของสหรัฐ โดยได้ยกตัวอย่างในกรณี เกาหลีเหนือ ซึ่งสหรัฐได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาในคณะมนตรีความมั่นคง และผลักดันให้มีข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับในกรณีอิหร่าน สหรัฐได้ใช้คณะมนตรีความมั่นคง ในการกดดันให้อิหร่านยุติการพัฒนาของนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาล Obama คือ การป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐกำลังร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการก่อการร้าย สามารถมีอาวุธนิวเคลียร์หรือวัตถุนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง และในเดือนกันยายนนี้ จะถึงวาระสหรัฐเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคง Obama ก็จะใช้โอกาสนี้ในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อผลักดันในเรื่องดังกล่าวข้างต้น

Rice ยังบอกว่า UN มีบทบาทสำคัญต่อสองประเทศที่มีความสำคัญต่อสหรัฐ คือ อิรักและอัฟกานิสถาน ในช่วง 60 ปีตั้งแต่การก่อตั้ง UN มีบทบาทอย่างสำคัญในการยุติความขัดแย้ง อาทิ สงครามเกาหลี นามิเบีย โมซัมบิก ไซปรัส เฮติ ไลบีเรีย และ เซียร์ราลีโอน

ปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์

ในสุนทรพจน์ของ Rice ได้บอกว่า สหรัฐได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่อ UN ใหม่ โดยได้เข้าร่วมในกลไกต่าง ๆ ของ UN อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างกรณีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN ในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐปฏิเสธที่จะเข้าร่วมและโจมตีคณะมนตรีมาโดยตลอด แต่การกระทำของรัฐบาล Bush ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ในสมัยรัฐบาล Obama จึงได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยสหรัฐได้เข้าร่วมและมีที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน Rice ตอกย้ำว่า ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากสหรัฐไม่ได้เข้าร่วม ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์ทางการทูต

นโยบายใหม่ต่อ UN


Rice กล่าวว่า ในอดีต คือในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐมีแนวนโยบายในเชิงลบต่อ UN เป็นอย่างมาก แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในสมัยของรัฐบาล Obama สหรัฐได้ปฏิรูปนโยบายต่อ UN ใหม่หมด ตัวอย่าง เช่น สหรัฐได้หันกลับมาสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ(Millennium Development Goals) (ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bushได้ต่อต้านอย่างเต็มที่) สหรัฐได้ให้การสนับสนุน UN Population Fund ลงนามในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนฉบับใหม่ สนับสนุนข้อมติของสมัชชาใหญ่ และปรับเปลี่ยนท่าทีต่อการเจรจาแก้ภาวะโลกร้อนของ UN ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bush ได้ต่อต้านมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด

ปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับทุกประเทศ


Rice ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สหรัฐกำลังมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ ทั้งกับประเทศใหญ่และประเทศเล็ก โดยขณะนี้กำลังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างสมาชิกถาวรทั้ง 5 แต่คณะมนตรีความมั่นคงก็ไม่ได้มีแค่ 5 สมาชิก แต่มีถึง 15 ประเทศ และUN ก็มีสมาชิกทั้งหมดถึง 192 ประเทศ สหรัฐจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ บนพื้นฐานของผลและโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน โดยสหรัฐจะพยายามสร้างสะพานเชื่อมความแยกแตกในอดีต โดยเฉพาะความขัดแย้งเหนือ-ใต้ ซึ่งน่าจะล้าสมัยไปแล้วเหมือนกันความขัดแย้งตะวันออก - ตะวันตกในสมัยสงครามเย็น

การปฏิรูป UN

และเรื่องสุดท้ายที่ Rice พูดถึงคือ การปฏิรูป UN โดยมองว่า UN ต้องการความมีประสิทธิภาพและความมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง Rice ได้ยกตัวอย่างการปฏิรูปกองกำลังรักษาสันติภาพ UN ซึ่งกำลังมีปัญหามาก ขณะนี้มีกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN กว่า 1 แสนคน ปฏิบัติการอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 15 กองกำลัง โดยสหรัฐประกาศจะสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN มากขึ้น แต่ก็จะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง

บทวิเคราะห์

งกำลังต่างงกำลังถึงกว่า 1 แสนคน ันติภาพ กขึ้น โดยต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจังตะวันตกในสมัยสงครามเย็นาวรทั้ง 5 แต่คณะมนตรีควผมมองว่า สุนทรพจน์ของ Rice ในครั้งนี้ถือเป็นการประกาศนโยบายต่อ UN อย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาล Obama และที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ สุนทรพจน์ดังกล่าว ถือเป็นการประกาศนโยบายสหรัฐที่มอง UN ในเชิงบวกมากที่สุดเท่าที่ผมได้เคยเห็นมา เป็นการประกาศนโยบายของสหรัฐที่มอง UN ในแง่ดีมาก ๆ
การประกาศนโยบายในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามของรัฐบาล Obama ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศใหม่ โดยเนื้อหานโยบายเห็นได้ชัดว่า นโยบายของรัฐบาล Obama ต่อ UN มีลักษณะเป็นอุดมคตินิยม ซึ่งเป็นแนวนโยบายหลักของกลุ่มที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมในสหรัฐ หัวใจของแนวคิดนี้ คือ การมองโลกในแง่ดีและเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้บอกว่าเราว่า ในที่สุด แนวนโยบายอุคมคตินิยม เสรีนิยม จะเจอกับอุปสรรค ทั้งนี้ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นโลกของอุดมคตินิยม แต่กลับเป็นโลกของสัจจนิยม ที่เน้นในเรื่องของการแข่งขันต่อสู้เพื่ออำนาจ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ออง ซาน ซูจี

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 56 ฉบับ 48 วันศุกร์ที่ 21 - วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2552

ออง ซาน ซูจี

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ศาลพม่าได้ตัดสินว่านางออง ซาน ซูจี มีความผิด ฐานปล่อยให้ชาวอเมริกันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านพัก โดยซูจีมีความผิดต้องติดคุก 3 ปี แต่ศาลพม่าได้ลดโทษให้เหลือเป็นถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านเป็นเวลา 18 เดือน

ท่าทีของฝ่ายต่าง ๆ

หลังจากคำตัดสินของศาลพม่า หลาย ๆ ฝ่าย ได้ออกมาโจมตีคำตัดสิน โดยเฉพาะจากชาติตะวันตก
โดยในวันที่ 11 สิงหาคม ประธานาธิบดี Obama ได้ออกแถลงการณ์ว่า คำตัดสินเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นการสวนทางกับพันธกรณีของพม่าภายใต้กฎบัตรอาเซียน และเห็นว่า พม่าไม่สนใจต่อแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคง Obama จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนาง ซูจี โดยทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าฟังเสียงประชาชนและประชาคมโลก และเดินหน้าสู่ความปรองดองแห่งชาติอย่างจริงจัง


ต่อมา นาง Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่า ซูจีไม่ควรถูกจับและถูกดำเนินคดี และเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและนักโทษทางการเมืองอีกกว่า 2,000 คน

สำหรับทางสหภาพยุโรป หรือ EU นั้น ได้ออกแถลงการณ์ว่า พร้อมที่จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า โดยจะให้มีมาตรการลงโทษกับผู้รับผิดชอบในคำตัดสิน รวมทั้งเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้น รวมถึงการระงับการส่งออกอาวุธ เข้มงวดเรื่องวีซ่า และคว่ำบาตรทางการเงิน โดยประธานาธิบดี Nicholas Zarkozy ของฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตร โดยมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ

สำหรับสหประชาชาติ เลขาธิการ UN คือ Ban Ki-Moon ได้ออกมาเรียกร้องในทำนองเดียวกัน ให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวซูจีโดยทันที ต่อมา คณะมนตรีความมั่นคงได้มีแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 13สิงหาคม กล่าวว่า สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงได้แสดงความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ในร่างแถลงการณ์ที่สหรัฐเสนอไปตอนแรก ได้เสนอข้อความ “ประณาม”คำตัดสิน แต่น่าจะเป็นคำคัดค้านจากจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับพม่า จึงทำให้ต้องเปลี่ยนจากคำว่า “ประณาม” มาเป็นแค่คำว่า “แสดงความห่วงใย”

สำหรับท่าทีของอาเซียนนั้น ในวันที่ 13 สิงหาคม ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์มีใจความว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อคำตัดสินต่อซูจี ประธานอาเซียนขอตอกย้ำข้อเรียกร้องของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ภูเก็ต ซึ่งได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้ง ออง ซาน ซูจี อาเซียนพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย และจะปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่าต่อไป เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนร่วมกัน การเยือนพม่าของวุฒิสมาชิก James Web

อย่างไรก็ตาม ต่อมา สถานการณ์ในพม่าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง เมื่อ James Webb วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์จิเนียได้เดินทางไปพม่าหลังคำตัดสินเพียงไม่กี่วัน คือ ได้เดินทางไปถึงพม่าเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเยือนพม่าจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐในรอบ 10 ปี

สำหรับจุดยืนของ Webb นั้น คือ ต่อต้านนโยบายคว่ำบาตรพม่ามาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นประธานของคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ เขาได้กล่าวโจมตีมาตรการคว่ำบาตรมาโดยตลอดว่าใช้ไม่ได้ผล และทำให้ธุรกิจของสหรัฐสูญเสียโอกาส ทำให้สหรัฐสูญเสียอิทธิพลในพม่า และทำให้จีนมีบทบาทในพม่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้จีนกำลังจะสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเลอันดามันไปที่มณฑลยูนนาน Webb จึงสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ต่อพม่า โดยให้ปรับมาตรการคว่ำบาตร Webb ได้กล่าวในสภา Congress เมื่อเดือนมิถุนายน สนับสนุนนโยบายปฏิสัมพันธ์โดยกล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตร ไม่ได้ทำให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในพม่าเลย โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ต่อมา ในวันที่ 15 สิงหาคม Webb ได้พบปะหารือกับผู้นำพม่า คือ ตาน ฉ่วย และผลการหารือทำให้พม่าตัดสินใจปล่อยตัว John Yettaw ซึ่งจะต้องถูกจำคุกอยู่ถึง 7 ปี นอกจากนั้น Webb ยังได้รับอนุญาตให้พบปะกับนางซูจีด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้นำต่างประเทศ ไม่เคยมีใครได้พบปะกับซูจีเลย แม้กระทั่ง Ban Ki-Moon เลขาธิการ UN ในตอนไปเยือนพม่าเมื่อเดือนกรกฎาคม ก็ไม่ได้พบกับนางซูจี

การเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐ

การเยือนพม่าของ Webb ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐต่อพม่า ซึ่งจริง ๆ แล้ว สัญญาณการเปลี่ยนท่าทีเริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ในตอนที่ Hillary Clinton เดินทางมาเยือนเอเชียครั้งแรก Hillary ได้กล่าวยอมรับว่า นโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเผชิญหน้า ประสบความล้มเหลวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรัฐบาลพม่า และเมื่อเดือนที่แล้ว Hillary ได้เสนอเงื่อนไขให้รัฐบาลพม่าว่า หากปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ก็จะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสของการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการกลับเข้าไปลงทุนในพม่า และการแลกเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ

ต่อมา นักการทูตสหรัฐได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าในเดือนมีนาคม และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันระหว่างฝ่ายพม่ากับสหรัฐ ในระหว่างการประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า จากความล้มเหลวของมาตรการคว่ำบาตรในอดีต ทำให้รัฐบาล Obama ได้ส่งสัญญาณถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยกำลังพิจารณานโยบายปฏิสัมพันธ์แทนนโยบายคว่ำบาตร และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการให้รางวัลแทนมาตรการลงโทษในอดีต


การปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ต่อพม่า ก็เป็นไปในแนวนโยบายของ Obama ซึ่งพร้อมที่จะปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่ถึงแม้จะเป็นศัตรูกัน ก่อนหน้านี้ เห็นได้จากการเปลี่ยนนโยบายต่ออิหร่าน โดย Obama ได้ประกาศว่า พร้อมที่จะเจรจากับผู้นำอิหร่าน และต่อมา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อเกาหลีเหนือ เห็นได้จากการเยือนเกาหลีเหนือของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton ซึ่งการเยือนพม่าของวุฒิสมาชิก Webb ก็มาในแนวเดียวกับการเยือนเกาหลีเหนือของ Bill Clinton เห็นได้ชัดว่า สหรัฐกำลังจะเริ่มปฏิสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการก่อน โดยใช้ Bill Clinton และ วุฒิสมาชิก Webb เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือและพม่าในอนาคต