Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 4)

แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 4) คอลัมน์โลกปริทรรศน์ 25 มีนาคม 2555 สถานการณ์ล่าสุด หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม เพื่อล็อบบี้เรื่องอิหร่าน ต่อมา ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Netanyahu ได้แถลงต่อรัฐสภาของอิสราเอล โดยกล่าวว่า การเยือนสหรัฐฯมีเป้าหมาย 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ ความพยายามที่จะผลักดันให้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านเป็นประเด็นปัญหาระดับต้นๆของโลก ซึ่งการไปเยือนในครั้งนี้ ก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันในเรื่องนี้ ส่วนเป้าหมายอีกเรื่องหนึ่ง คือ การล็อบบี้รัฐบาลสหรัฐฯให้สนับสนุนอิสราเอลในเรื่องแผนการโจมตีอิหร่าน ซึ่งในเรื่องนี้ Netanyahu ได้กล่าวว่า สหรัฐฯมีท่าทีในเชิงบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่าทีเป็นทางการของสหรัฐฯ คือ ยังไม่สนับสนุนการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล ซึ่ง Netanyahu ก็ได้ประกาศกร้าวกลางสภาอิสราเอลว่า ในที่สุด อิสราเอลอาจจะต้องตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากอเมริกัน โดยเขากล่าวว่า ในอดีต มีหลายครั้งที่อิสราเอลตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจของผู้นำอิสราเอลในปี 1948 คือ David Ben-Gurion ในการประกาศเอกราชของอิสราเอล แม้ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในตอนนั้นจะแนะนำให้รอไว้ก่อน อีกกรณีหนึ่ง คือ การตัดสินใจทำสงครามในปี 1967 ผู้นำอิสราเอลในตอนนั้น คือ Levi Eshkol ไม่สนใจคำเตือนของประธานาธิบดี Lyndon Johnson และเช่นเดียวกัน ในปี 1981 ผู้นำอิสราเอล Menachem Begin ตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิรัก ที่ Osirak โดยที่ประธานาธิบดี Ronald Reagan ไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้ อิสราเอลกำลังวุ่นอยู่กับฉนวนกาซา โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อิสราเอลได้โจมตีถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา โดยทางกลุ่มก่อการร้ายได้ยิงขีปนาวุธตอบโต้อิสราเอล จำนวนกว่า 200 ลูก ซึ่ง Netanyahu อ้างว่า เป็นขีปนาวุธที่ได้มาจากอิหร่าน ดังนั้น ในสายตาของ Netanyahu ฉนวนกาซา ก็คือ อิหร่าน และในอีกไม่ช้า ฐานการก่อการร้ายของอิหร่านในฉนวนกาซาจะต้องถูกทำลาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ คำถามที่ว่า อิสราเอลจะตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือไม่ และอิสราเอลกล้าที่จะเดินหน้าโจมตีอิหร่าน โดยปราศจากการสนับสนุนจากสหรัฐฯหรือไม่ ขณะนี้ มีการวิเคราะห์กันไปต่างๆนานา โดยเฉพาะในสื่อของอิสราเอล หนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม ชื่อ Haaretz ได้วิเคราะห์ว่า Netanyahu กำลังเตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกับอิหร่าน โดยได้วิเคราะห์ว่า จริงๆแล้ว การประกาศเอกราชในปี 1948 และการทำสงครามในปี 1967 สหรัฐฯก็ได้ส่งสัญญาณแบบไม่เป็นทางการสนับสนุนอิสราเอล หนังสือพิมพ์ดังกล่าว จึงได้วิเคราะห์ว่า Netanyahu ก็อาจจะได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากประธานาธิบดี Obama ในแผนการโจมตีอิหร่าน นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ Israel Hayom ที่มีแนวสนับสนุนรัฐบาล ได้กล่าวเป็นนัยว่า การสูญเสียชีวิตของชาวอิสราเอล จากการตอบโต้ของอิหร่าน หากอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้น ก็อาจจะเป็นการสูญเสียที่น้อยมาก หากเมื่อเทียบกับหายนะที่จะเกิดขึ้นกับอิสราเอล หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์และโจมตีอิสราเอล โดยได้วิเคราะห์ว่า อิสราเอลจะต้องรีบโจมตีอิหร่าน ก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่อิหร่านจะเคลื่อนย้ายโรงงานนิวเคลียร์ทั้งหมดไปอยู่ใต้ดิน ดังนั้น แม้ว่าจะมีความยากลำบาก แต่อิสราเอลจะต้องปฏิบัติการดังกล่าว โดยอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงว่า อเมริกาจะสนับสนุนหรือไม่ มาตรการคว่ำบาตร ดังนั้น หากดูจากท่าทีของ Netanyahu และท่าทีของสื่อต่างๆในอิสราเอลแล้ว ก็อาจจะประเมินได้ว่า การโจมตีอิหร่านของอิสราเอลมีแนวโน้มที่จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้ไม่เกิดสงคราม คือ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งตะวันตกกำลังผลักดันมาตรการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยขณะนี้ การผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลงต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี การคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน ทำให้อิหร่านไม่สามารถขายน้ำมันสู่ตลาดโลกได้ด้วยช่องทางปกติ อิหร่านจึงต้องใช้วิธีขายน้ำมัน โดยแลกกับเงินตราสกุลอื่นๆที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์หรือยูโร หรือไม่ก็ต้องขายน้ำมันโดยแลกกับสินค้าต่างๆ ในลักษณะเป็น barter trade Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication หรือเรียกย่อว่า SWIFT ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินของโลก ก็ได้ประกาศตัดธนาคารกลางของอิหร่านออกจากระบบ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว การกระทำดังกล่าว เป็นการโดดเดี่ยวอิหร่านทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถนำเงินเข้าหรือออกจากอิหร่านได้ โดยผ่านทางช่องทางธนาคาร ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ EU ได้ประกาศคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปแล้ว นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯได้ออกกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินฉบับใหม่ ซึ่งมีผลทำให้ธนาคารต่างๆไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่านได้ อาจจะเป็นด้วยมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของอิหร่าน จึงทำให้อิหร่านเปลี่ยนท่าทีประนีประนอมมากขึ้น โดยอิหร่านประกาศว่า พร้อมจะเจรจากับสมาชิกถาวรทั้ง 5 (+ เยอรมนี) ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการเจรจาดังกล่าว กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ จึงคงต้องมีการติดตามกันต่อว่า มาตรการคว่ำบาตรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในการบีบให้อิหร่านกลับมาเจรจาในเรื่องนี้อีกครั้ง และอิหร่านจะยอมให้ IAEA เข้าไปตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือไม่ หากมาตรการคว่ำบาตรไม่ประสบความสำเร็จ แนวโน้มของสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ก็คงจะเพิ่มมากขึ้น

วิกฤตซีเรีย (ตอนที่ 2)

วิกฤตซีเรีย (ตอนที่ 2) ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2555 วิกฤตการณ์ในซีเรียมีลักษณะใกล้สงครามกลางเมืองเข้าไปทุกที ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง มีการประเมินว่า มีคนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 8,000 คน ผู้นำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ภายใต้องค์กรที่มีชื่อว่า Syrian National Council ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลก ประกาศเขตห้ามบิน และจัดตั้งเขตปลอดภัยสำหรับประชาชน รวมทั้งสนับสนุนอาวุธให้แก่กองกำลังของฝ่ายต่อต้าน คือ Free Syrian Army ขณะนี้ ประชาคมโลกยังคงถกเถียงกันว่า จะดำเนินมาตรการอย่างไรเพื่อยุติวิกฤตซีเรีย ซึ่งแนวทางเลือกในการแก้ปัญหา แบ่งออกได้เป็น 3 ทางเลือกด้วยกัน ดังนี้ ทางเลือกที่ 1 : การใช้มาตรการทางการทูตและการคว่ำบาตร เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Jeffrey Feltman อธิบดีกรมตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงความคืบหน้าการดำเนินมาตรการทางการทูต ให้แก่คณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยได้บอกว่า ขณะนี้ กำลังดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นมากขึ้น สหรัฐฯและยุโรปได้ร่วมมือกันออกมาตรการคว่ำบาตรธนาคารกลางของซีเรีย เพื่อตัดเส้นทางการเงินของรัฐบาล Assad นอกจากนี้ EU ได้เริ่มมาตรการคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากซีเรีย ทำให้รัฐบาล Assad สูญเสียรายได้ไปกว่า 1 ใน 3 สำหรับบทบาทของ Arab League นั้น ได้ถอดถอนสมาชิกภาพของซีเรียออกจาก Arab League เป็นการชั่วคราว และประเทศอาหรับหลายประเทศได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับซีเรีย รวมทั้งอายัดบัญชีและทรัพย์สินของรัฐบาลซีเรียด้วย Arab League ได้เสนอแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสำหรับซีเรีย นอกจากนี้ ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประเทศสมาชิกกว่า 137 ประเทศ ก็ได้สนับสนุนข้อมติของสมัชชาใหญ่ ประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลซีเรีย และสนับสนุนแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของ Arab League และเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดประชุมที่ตูนีเซีย โดยมีผู้แทนกว่า 60 ประเทศเข้าร่วมประชุม และได้มีการจัดตั้ง กลุ่ม Friends of the Syrian People โดยที่ประชุมสนับสนุนแผนการเปลี่ยนผ่านของ Arab League ด้วย อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง หรือ UNSC ยังมีความแตกแยกกันอยู่ โดยเฉพาะระหว่างสมาชิกถาวรทั้ง 5 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ UNSC และได้มีการเสนอร่างข้อมติประณามรัฐบาลซีเรีย แต่ร่างข้อมติดังกล่าวก็ถูกวีโต้โดยรัสเซียกับจีน ซึ่งมองว่า ร่างข้อมติดังกล่าว มีลักษณะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของซีเรีย นอกจากนี้ อดีตเลขาธิการ UN คือ Kofi Annan ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของเลขาธิการ UN คนปัจจุบัน คือ Ban Ki-moon และได้เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลซีเรีย แต่ก็ประสบความล้มเหลว ดังนั้น ขณะนี้ ดูเหมือนกับว่า มาตรการทางการทูต และมาตรการคว่ำบาตรไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงได้มีกระแสเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆให้มีการใช้มาตรการทางทหารเพื่อยุติวิกฤตซีเรีย ทางเลือกที่ 2 : มาตรการทางทหาร ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา John McCain สมาชิกวุฒิสภา พรรครีพับลิกัน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิบัติการทางทหาร โดยเสนอให้มีการโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังของรัฐบาลซีเรีย นอกจากนี้ McCain ยังเสนอให้สหรัฐฯให้การสนับสนุนทางทหารต่อฝ่ายต่อต้าน คือ Free Syrian Army McCain ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ในซีเรียกับในลิเบีย โดยในกรณีของลิเบียนั้น กองกำลังนาโต้เมื่อปีที่แล้ว ได้ใช้กำลังทางทหารโจมตีกองกำลังของ Gaddafi จนในที่สุด ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาล Gaddafi ลงได้ แต่ในขณะนี้ กลับกลายเป็นว่า นาโต้ยังไม่เห็นด้วยที่จะใช้กำลังทหารกับซีเรีย เช่นเดียวกับรัฐบาล Obama ก็ยังไม่สนับสนุนมาตรการทางทหาร อย่างไรก็ตาม แนวคิดการใช้มาตรการทางทหาร ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ ตุรกี กาตาร์ ตูนีเซีย และซาอุดิอาระเบีย โดยได้เรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางทหาร ในหลายรูปแบบ อาทิ การจัดตั้งเขตปลอดภัย หรือ safe zone การส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในซีเรีย รวมถึงการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน แต่ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วยตนเอง ในที่สุด ก็คงจะต้องรอสหรัฐฯที่จะเป็นผู้นำในการดำเนินมาตรการทางทหาร โดยตามแผน หากสหรัฐฯจะเข้าแทรกแซง ขั้นแรก สหรัฐฯคงจะต้องช่วยเหลือฝ่ายกบฏ ด้วยการสนับสนุนทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และขั้นต่อมา คือ การจัดตั้งเขต safe zone ซึ่งอาจจะอยู่ตรงบริเวณพรมแดนระหว่างซีเรียกับตุรกี ในการที่จะปกป้องเขต safe zone จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องบินรบและกองกำลังพิเศษ โดยอาจจะมีทหารจากชาติอาหรับและตุรกีเข้าร่วมด้วย เป้าหมายของแผนการนี้ ไม่ใช่เพื่อเป็นการโค่นล้มรัฐบาล Assad แต่เพื่อปกป้องฝ่ายต่อต้านและประชาชน แต่ในระยะยาว ก็อาจจะมีผลในทางอ้อม คือ จะส่งเสริมให้มีฝ่ายต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และจะบีบให้รัฐบาลซีเรียคิดหนักมากขึ้นในการใช้กำลัง และในที่สุด อาจจะบีบให้ยอมหันมาเจรจาหยุดยิง เพื่อยุติสงครามได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านการใช้มาตรการทางทหาร ได้ออกมาวิเคราะห์ว่า การใช้มาตรการทางทหารไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทั่งทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเอง ก็ได้มีการวิเคราะห์ว่า ซีเรีย มีระบบป้องกันทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ มีกองกำลังทหารกว่า 300,000 คน และมีการสะสมอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพอยู่ด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายต่อต้านก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก และขาดผู้นำที่ชัดเจน และมีการกลัวว่า หากสหรัฐฯเข้าแทรกแซงทางทหาร อาจทำให้สงครามลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง และอาจดึงอิหร่านและรัสเซียเข้าสู่สงคราม ขณะนี้ UNSC ก็ยังไม่ได้ให้ไฟเขียว ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังทางทหารในการโจมตีซีเรีย ทางเลือกที่ 3 : มาตรการใช้ไม้อ่อนและไม้แข็ง จากการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากใช้มาตรการทางการทูตอย่างเดียว ก็คงจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากใช้มาตรการทางทหาร ก็มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ประชาคมโลกจะแสวงหาทางเลือกที่ 3 ที่จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างทางเลือกที่ 1 กับทางเลือกที่ 2 คือ มีลักษณะของการใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งไปพร้อมๆกัน มาตรการดังกล่าว ในการใช้ไม้อ่อนนั้น ประชาคมโลกคงจะต้องกดดันซีเรียต่อไป ผ่านทางการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน ก็คงจะต้องมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ควรจะต้องมีการใช้มาตรการไม้แข็งไปพร้อมๆกัน โดยจะต้องมีการใช้มาตรการทางทหาร แต่ในระดับที่จำกัดขอบเขต และควรได้รับความร่วมมือและการสนับสนุน จาก Arab League โดยเน้นการสร้างเขตปลอดภัยสำหรับประชาชน หรือ safe zone เพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกเข่นฆ่าจากฝ่ายรัฐบาล และเพื่อที่จะทำให้ฝ่ายต่อต้านสร้างเสริมกำลังให้เข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้น มาตรการทางทหารจึงควรมีลักษณะจำกัดขอบเขต และเป็นไปตามหลักการของ UN ที่เรียกว่า Responsibility to Protect หรือ R2P ซึ่งมีหลักการว่า ประชาคมโลกสามารถเข้าแทรกแซงได้ หากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือ การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

Obama กับวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน

Obama กับวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน คอลัมน์โลกปริทรรศน์ 18 มีนาคม 2555 ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี Barack Obama ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมประจำปี American Israel Public Affairs Committee (AIRC) ซึ่งเป็นองค์กรล็อบบี้ที่สำคัญของชาวยิวในสหรัฐฯ และได้ประกาศท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ ในประเด็นปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้ ภัยคุกคามจากอิหร่าน Obama ได้กล่าวว่า ไม่มีรัฐบาลไหนของอิสราเอลที่จะยอมให้อาวุธนิวเคลียร์ตกไปอยู่ในมือของรัฐบาล ที่ขู่ว่าจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก และสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่จะทำลายล้างอิสราเอล ดังนั้น อิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์ จึงกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอลเป็นอย่างมาก ซึ่งก็จะกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯด้วย จริงๆแล้ว ประชาคมโลกก็ต้องการที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ เพราะจะทำให้ระบบการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ล่มสลาย และมีความเสี่ยง ที่อาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจะตกไปอยู่ในมือขององค์กรก่อการร้าย และค่อนข้างแน่นอนว่า ประเทศอื่นๆในภูมิภาค จะถูกบีบให้ต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค นโยบายของ Obama Obama จึงได้กล่าวว่า 4 ปีมาแล้ว ที่เขาได้ให้คำมั่นต่อชาวอเมริกันว่า จะใช้อำนาจของสหรัฐฯในทุกๆวิถีทาง เพื่อกดดันอิหร่าน และป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยตอนที่เขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ มาตรการกดดันอิหร่านกำลังระส่ำระสาย อิหร่านได้เดินหน้าเพิ่มศักยภาพแร่ยูเรเนียม โดยปราศจากการกดดันจากประชาคมโลก ในตะวันออกกลาง อิหร่านกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค อิทธิพลของอิหร่านก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ตั้งแต่แรก รัฐบาล Obama ได้บอกกับอิหร่านอย่างชัดเจนว่า อิหร่านมีทางเลือก 2 ทาง ทางแรก คือ กลับเข้าสู่ประชาคมโลก โดยการปฏิบัติตามพันธกรณีในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ อีกทางหนึ่ง คือ การเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในตอนแรก Obama ได้พยายามยื่นมือ ด้วยการเสนอนโยบายปฏิสัมพันธ์ แต่อิหร่านก็ปฏิเสธ มาตรการคว่ำบาตร ขณะนี้ มาตรการหลักในการกดดันอิหร่าน คือ มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งอิหร่านกำลังถูกกดดันอย่างหนัก รัสเซียและจีนก็เข้าร่วมในการกดดันอิหร่านด้วย โดยในปี 2010 UNSC ได้มีฉันทามติสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ขณะนี้ มาตรการคว่ำบาตรกำลังจะได้ผล เพราะได้ทำให้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านชะลอลง และได้ทำให้เศรษฐกิจอิหร่านหยุดชะงักในปี 2011 ขณะนี้ มาตรการคว่ำบาตรมุ่งไปที่ธนาคารกลางอิหร่าน และคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน พันธมิตรของสหรัฐฯทั้งในยุโรปและเอเชีย ก็ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในปีนี้ รัฐบาลอิหร่านจะโดนมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นมากขึ้น Obama เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โอกาสของการแก้ปัญหาด้วยมาตรการทางการทูตยังคงมีอยู่ สหรัฐฯและอิสราเอลประเมินว่า ขณะนี้อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ในเดือนกรกฎาคม EU จะเริ่มมาตรการคว่ำบาตร ไม่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน มาตรการทางทหาร อย่างไรก็ตาม Obama ยอมรับว่า ในที่สุดแล้ว มาตรการคว่ำบาตรก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ 100% Obama จึงได้กล่าวว่า ถึงที่สุดแล้ว ในการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯจะไม่ทิ้งทางเลือกใดๆทั้งสิ้น ซึ่งทางเลือกเหล่านั้นมีตั้งแต่ มาตรการทางการเมืองในการโดดเดี่ยวอิหร่าน มาตรการทางการทูตในการสร้างแนวร่วม มาตรการทางเศรษฐกิจในการคว่ำบาตร และมาตรการทางทหารในการเป็นทางเลือกสุดท้าย Obama ได้ตอกย้ำว่า เมื่อจำเป็น เขาจะไม่ลังเลในการใช้กำลังทางทหารเพื่อปกป้องสหรัฐฯและผลประโยชน์ของสหรัฐ แต่ Obama ก็ได้กล่าวว่า จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี โดยเฉพาะหากเลือกทางเลือกในการทำสงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบมากมาย ดังนั้น เขาจึงกล่าวในตอนท้ายและสรุปว่า เพื่อความมั่นคงของอิสราเอล ของสหรัฐฯ และของโลก ขณะนี้ ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำสงคราม ขณะนี้ คงจะต้องให้เวลาให้กับมาตรการคว่ำบาตร ในตอนท้าย Obama สรุปว่า ขณะนี้ คงจะถึงเวลา ที่อดีตประธานาธิบดี Teddy Roosevelt ได้เคยแนะว่า “Speak softly, carry a big stick” ซึ่งก็หมายความว่า มาตรการขณะนี้ ควรจะเป็นการพูดจากัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีการขู่ด้วย กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์สุนทรพจน์ของ Obama ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน คงยังน่าจะไม่เกิดขึ้นในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ ขณะนี้ จึงน่าจะเป็นการใช้มาตรการทางการทูต และการใช้มาตรการกดดันอิหร่านต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็มีการขู่ว่าจะโจมตีอิหร่านเป็นพักๆ ซึ่งน่าจะเป็นเกมการกดดันอิหร่านเพื่อให้ยอมยุติโครงการนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ในอนาคต หากมาตรการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรประสบความล้มเหลวทั้งหมด เมื่อถึงเวลานั้น โอกาสของการเกิดสงครามก็คงจะเป็นไปได้มากขึ้น

แนวโน้มสงครามอิสราเอล - อิหร่าน (ตอนที่ 3)

แนวโน้มสงครามอิสราเอล - อิหร่าน (ตอนที่ 3) คอลัมน์โลกปริทรรศน์ 11 มีนาคม 2555 แนวโน้มสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ยังคงมีความเป็นไปได้สูง โดยอิสราเอลกลัวว่า อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง จึงจะต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการรีบโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านก่อน สุนทรพจน์ของ Netanyahu สถานการณ์ล่าสุด นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล คือ Benjamin Netanyahu ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ โดยได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุมประจำปีของ American Israel Public Affairs Committee ซึ่งเป็นองค์กรล็อบบี้ที่สำคัญของชาวยิวในสหรัฐฯ โดยในการเดินทางมาในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะหาเสียงสนับสนุนจากทางฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งจากรัฐสภา และจากรัฐบาล Obama ให้เห็นด้วยกับจุดยืนของอิสราเอล เกี่ยวกับอันตรายของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในสุนทรพจน์ดังกล่าว Netanyahu ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลก ตระหนักถึงอันตรายที่อิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยหากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านอาจโจมตีอิสราเอลได้ เขาจึงย้ำว่า อิสราเอลมีสิทธิอันชอบธรรมในการปกป้องตัวอง และขณะนี้ อิสราเอลก็กำลังพิจารณาทางเลือกทุกทาง ในการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ Netanyahu บอกว่า ขณะนี้ อิสราเอลกำลังรอว่า การเจรจาทางการทูต จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และกำลังรอว่า มาตรการคว่ำบาตร จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อิสราเอลกำลังจะรอไม่ไหวแล้ว เพราะอิหร่านกำลังจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ แต่ขณะนี้ อิสราเอลก็ตกลงที่จะยอมให้เวลากับกระบวนการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิสราเอลก็มีความรับผิดชอบที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากอิหร่าน อิสราเอลให้ความสำคัญกับพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอล แต่ถ้าหากมาถึงจุดที่จะเป็นความเป็นความตายของอิสราเอล อิสราเอลก็คงจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันว่า อิสราเอลคงยังไม่กล้าที่จะใช้กำลังทางทหารโดยลำพัง โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสหรัฐฯและประเทศตะวันตก ต่างก็เห็นตรงกันว่า ขณะนี้ควรให้เวลากับมาตรการคว่ำบาตร สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ไม่สนับสนุนมาตรการทางทหารในขณะนี้ ประเทศตะวันตกเหล่านี้กำลังใช้ความพยายามทางการทูต เพื่อกดดันไม่ให้อิสราเอลโจมตีอิหร่าน การหารือระหว่าง Netanyahu กับ Obama ในการเยือนสหรัฐฯครั้งนี้ Netanyahu ได้พบปะกับ Obama ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา หลังการหารือ ได้มีการแถลงข่าว โดยผู้นำทั้งสอง ตกลงที่จะประสานงานกันในเรื่องอิหร่านมากขึ้น ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ผู้นำทางทหารของอิสราเอลจะเดินทางมาเยือนสหรัฐฯเพื่อหารือในเรื่องนี้กับทางฝ่ายสหรัฐฯ และได้มีการแถลงยืนยันว่า ขณะนี้ อิสราเอลยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะโจมตีอิหร่าน ในระหว่างการหารือ Obama ได้บอก Netanyahu ว่า อิสราเอลและสหรัฐฯมีเป้าหมายตรงกัน คือ การป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ Obama ได้กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีเวลาให้กับกระบวนการทางการทูต และสหรัฐฯก็กำลังพิจารณาทางเลือกทุกทาง รวมทั้งทางเลือกในการใช้กำลังทางทหาร เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย แต่ Obama ได้กล่าวแสดงกังวลว่า การโจมตีอิหร่าน อาจจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง อาทิ ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลก และจะเป็นการทำลายโอกาสของการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีด้วยกระบวนการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตร Obama ยังได้กล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ขณะนี้ควรใช้มาตรการทางการทูตและการคว่ำบาตรเพื่อกดดันให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ Obama เน้นว่า การทูตน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ ส่วน Netanyahu ก็ได้บอกกับ Obama ว่า อิสราเอลยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะโจมตีอิหร่าน การมาเยือนสหรัฐฯในครั้งนี้ของเขา ก็เพื่อขอให้สหรัฐฯใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นกับอิหร่าน อย่างไรก็ตาม Netanyahu ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ว่าขณะนี้ เขาจะรอและให้เวลากับกระบวนการทางกาทูต แต่อิสราเอลคงจะรอได้อีกไม่นาน กล่าวโดยสรุป ผลการเยือนสหรัฐฯของผู้นำอิสราเอลในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ อิสราเอลจะยังไม่โจมตีอิหร่าน โดยน่าจะรอมาตรการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรว่า จะมีผลเป็นอย่างไร แต่อย่างที่ Netanyahu กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อิสราเอลคงจะรอได้อีกไม่นาน เพราะอิสราเอลมองว่า โอกาสของการทำลายโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านน้อยลงทุกที เพราะอิหร่านกำลังเคลื่อนย้ายโรงงานนิวเคลียร์ไปอยู่ในภูเขาที่ลึกลงไปมาก จนอาจจะไม่สามารถโจมตีทำลายได้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ดูจะเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น และดูจะมีโอกาสมากขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางการทูต และโอกาสของสงครามและการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล ก็ดูลดลงไปในระดับหนึ่ง

วิกฤตซีเรีย

วิกฤตซีเรีย ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2555 สถานการณ์และแนวโน้ม สถานการณ์ความวุ่นวายในซีเรีย ได้เข้าสู่ขั้นวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยวิกฤตได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานับปีแล้ว รัฐบาล Assad ได้ใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายต่อต้าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6,000 คน ทางฝ่ายตะวันตก อาทิ สหรัฐฯได้ปิดสถานทูต ที่กรุง Damascus ไปตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ UNSC ก็ได้พิจารณาร่างข้อมติของตะวันตก และ Arab League ที่เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรีย ยุติการใช้ความรุนแรง และเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย แต่ร่างข้อมติดังกล่าว ก็ตกไป เพราะรัสเซียกับจีนวีโต้ การวีโต้ของทั้ง 2 ประเทศ ได้รับการประณามอย่างกว้างขวาง ทั้งจากตะวันตกและจากโลกอาหรับ สำหรับแนวโน้มในอนาคต ความล้มเหลวของ UN อาจนำไปสู่การแทรกแซงโดยมหาอำนาจในซีเรีย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง รัสเซียมีฐานทัพเรืออยู่ที่ซีเรีย มีแนวโน้มจะสนับสนุนทางการทหารต่อรัฐบาล Assad อย่างเต็มที่ ซีเรียเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของรัสเซียในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า หากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง สุญญากาศแห่งอำนาจ อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มหัวรุนแรงเข้ายึดกุมอำนาจรัฐได้ และสงครามกลางเมืองในซีเรีย อาจลุกลามเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จอร์แดน เลบานอน อิรัก และตุรกี ซีเรียมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครองด้วย ซึ่งล่อแหลมที่จะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มหัวรุนแรง มาตรการทางการทูต จากการที่วิกฤตซีเรียเลวร้ายลงเรื่อยๆ ขณะนี้ จึงมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในประชาคมโลกว่า จะตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ในซีเรียอย่างไร ขณะนี้ มีแนวคิดแตกออกเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก มองว่า มาตรการทางการทูต น่าจะเป็นมาตรการที่ดีที่สุด ส่วนอีกแนวทางหนึ่งมองว่า มาตรการทางการทูตล้มเหลว และไม่มีทางเลือก ที่จะต้องใช้มาตรการทางทหาร ในการโค่นล้มรัฐบาล Assad สำหรับมาตรการทางการทูตนั้น ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่าย ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการประชุม Arab League เพื่อหารือในเรื่องนี้ นอกจากนั้น ก็มีการประชุม UNSC แต่ก็ล้มเหลวตามที่กล่าวข้างต้น โดยร่างข้อมติของตะวันตก ถูกวีโต้จากจีนและรัสเซีย ขณะนี้ มาตรการทางการทูตมุ่งไปที่กลุ่มประเทศที่ Nicholas Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสเป็นคนเสนอให้ตั้งขึ้น ซึ่งเรียกกลุ่มนี้ว่า “Friends of Syria” โดยมีประเทศที่เข้าร่วมจากยุโรป อาหรับ และตุรกี กลุ่มนี้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาล Assad ยุติการใช้ความรุนแรง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า กลุ่ม “Friends of Syria” จะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไร แต่แนวโน้ม คือ กลุ่มนี้คงจะเพิ่มแรงกดดันทางการทูตต่อซีเรีย ผลักดันมาตรการคว่ำบาตรในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งโดดเดี่ยวซีเรียในเวทีระหว่างประเทศ และอาจสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล Assad ด้วย Arab League ก็ดูจะมีบทบาทเด่นในเรื่องนี้ สำหรับสถานะของรัสเซีย ก็ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น โดยกลุ่ม “Friends of Syria” อาจดำเนินมาตรการทางการทูตเพื่อให้รัสเซียกดดันรัฐบาล Assad ให้เปลี่ยนถ่ายอำนาจและยุติการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ เลขาธิการ UN ก็จะมีบทบาทด้วย โดยอาจจะมีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษเข้าไปในซีเรีย เพื่อเจรจาหาทางออกทางการทูต มาตรการทางทหาร อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า มาตรการทางการทูตล้มเหลว และไม่สามารถหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในซีเรียได้ ดังนั้น จึงได้เริ่มมีข้อเสนอดังขึ้นเรื่อยๆว่า อาจจะต้องใช้มาตรการทางทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาล Assad โดยแนวคิดนี้มองว่า รัฐบาล Assad ได้ใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนไปกว่า 6,000 คนแล้ว รัฐบาล Assad จึงสูญเสียความชอบธรรมในการปกครอง นอกจากนี้ รัฐบาล Assad ยังเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย Hezbollah ดังนั้น เป้าหมายหลักของประชาคมโลก คือ การโค่นล้มรัฐบาล Assad โดยมาตรการโค่นล้มรัฐบาล Assad คือ การให้การสนับสนุนทางทหารแก่ฝ่ายต่อต้าน ซึ่งรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เรียกว่า Free Syrian Army โดยมีการเรียกร้องให้มหาอำนาจให้การสนับสนุนทั้งทางอาวุธและทางการเงินแก่ฝ่ายต่อต้าน เพื่อโค่นล้มรัฐบาล Assad อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐบาลซีเรีย มีรัสเซีย จีน และอิหร่าน ให้การสนับสนุนอยู่ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอถึงขั้นที่จะให้นาโต้ใช้กำลังเข้าโจมตีรัฐบาลซีเรีย เหมือนกับที่ทำกับรัฐบาล Gaddafi ในลิเบีย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของมาตรการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน คือ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล Assad เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ โดยปราศจากวิสัยทัศน์ทางการเมืองและผู้นำ ซึ่งก็มีความเสี่ยงสูงมากว่า หลังการโค่นล้มรัฐบาล Assad ฝ่ายต่อต้านอาจจะแย่งชิงอำนาจกันเอง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอียิปต์และลิเบีย หลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ และเช่นเดียวกับสถานการณ์ในลิเบียและอียิปต์ คือ หลังการโค่นล้มรัฐบาล Assad อาจเกิดสงครามกลางเมือง และอาจเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงเข้ายึดกุมอำนาจรัฐได้ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลกันว่า หากมีการสนับสนุนทางทหารแก่ฝ่ายต่อต้าน อาจจะเป็นการปลุกเร้าให้รัฐบาล Assad เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง ยิ่งไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้ด้วยว่า การแทรกแซงทางทหารจากตะวันตก อาจจะทำให้ความขัดแย้งในซีเรีย ลุกลามบานปลายเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ เลบานอน อิรัก ตุรกี อิสราเอล และอิหร่าน ด้วย กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประชาคมโลก จะมีมาตรการอย่างไร ที่จะมีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับวิกฤตการณ์ในซีเรียที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ