Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

วิกฤต Eurozone

วิกฤต Eurozone

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2554

วิกฤตหนี้ของยุโรปกำลังเข้าขั้นวิกฤต คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์วิกฤตหนี้ของ Eurozone โดยจะเน้นไปที่ปัญหาของกรีซเป็นหลัก และจะวิเคราะห์ความพยายามในการกอบกู้วิกฤต และแนวโน้มผลกระทบต่อโลกในอนาคต

วิกฤตหนี้ Eurozone

วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้เงินยูโร ที่เราเรียกว่า Eurozone นั้น เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายเดือนแล้ว และมีแนวโน้มจะหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ต่อมา ก็ลามไปถึงอิตาลีและสเปน แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะได้ประกาศจะซื้อพันธบัตรของอิตาลีและสเปนแล้ว แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น

โดยเฉพาะขณะนี้ ความสนใจพุ่งเป้าไปที่กรีซ ซึ่งมีแนวโน้มหนักหนาสาหัสกว่าเพื่อน เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ตัวแทนของคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และ IMF หลังจากเจรจากับรัฐบาลกรีซ ได้แสดงความผิดหวังอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลกรีซไม่สามารถดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกอบกู้วิกฤตการเงินของตนได้ กรีซประสบกับปัญหาวิกฤตหนี้มาปีครึ่งแล้ว แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น แม้ว่า ทั้ง EU และ IMF จะปล่อยเงินกู้ให้กรีซ งวดแรกเป็นเงินกว่า 150,000 ล้านเหรียญ แต่ก็ดูเหมือนกับเป็นการสูญเปล่า

หลายฝ่ายจึงกำลังวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กรีซอาจจะประสบปัญหาถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้และล้มละลาย ความล้มเหลวของรัฐบาลกรีซ จึงทำให้ EU และ IMF ตัดสินใจที่จะเลื่อนการจ่ายเงินกู้งวดที่ 2 มูลค่ากว่า 150,000 ล้านเหรียญ ซึ่งในตอนแรกมีกำหนดจะปล่อยเงินกู้ให้ในเดือนกันยายน ออกไปพิจารณาใหม่ในเดือนตุลาคม

ล่าสุด วิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่ฝรั่งเศสและอิตาลี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody ได้ลดระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส 2 ธนาคาร คือ Credit Agricole และ Societe Genarale และกำลังพิจารณาจะทบทวนความน่าเชื่อถือของธนาคารใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส คือ BNP Paribas SA สาเหตุสำคัญ คือ การที่ธนาคารฝรั่งเศสได้ปล่อยกู้ให้กับกรีซเป็นจำนวนมหาศาล

ส่วนอิตาลี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา S&P ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง โดย S&P มองว่า เป็นผลมาจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ และการที่รัฐบาลอิตาลีมีหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงมาก

การกอบกู้วิกฤต

ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป ได้มีบทบาทในความพยายามกอบกู้วิกฤตหนี้ แต่ก็ไม่ได้ผล ช่วงเดือนที่แล้ว ฝรั่งเศสกับเยอรมนี ได้ผลักดันกลไกบริหาร Eurozone ขึ้นมาใหม่

ขณะนี้ มีความเห็นที่แตกแยกกันในยุโรป ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยแนวคิดที่กำลังได้รับการผลักดันจากหลายฝ่าย คือ การเดินหน้าบูรณาการทางการเงินของยุโรป ฝรั่งเศสและเยอรมนี ได้ขอให้ประธานสภายุโรป คือ Herman Van Rompuy จัดทำร่างกรอบบูรณาการทางการเงินของยุโรป เพื่อเสนอต่อผู้นำ Eurozone ในเดือนตุลาคม

แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากประธานธนาคารกลางยุโรป คือ Jean Claude Trichet ซึ่งได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจของ Eurozone ขึ้น ในลักษณะเป็นระบบแบบสาธารณรัฐ แนวคิดเรื่องการเพิ่มบูรณาการทางการเงิน เสนอให้มีการจัดตั้งพันธบัตรยูโร หรือ Euro Bond ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรสหรัฐฯ กลไกดังกล่าวของ EU จะทำหน้าที่คล้ายกับกระทรวงการคลังของยุโรป เพื่อบริหารนโยบายการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เช่น รัฐมนตรีคลังเยอรมนี Wolfgang Schauble ได้แสดงความเห็นว่า อาจจะเป็นการเร็วเกินไปสำหรับบูรณาการทางการเงิน โดยเสนอว่า ทางแก้ปัญหา คือ ประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สิน จะต้องออกมาตรการทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การตัดการใช้จ่ายของภาครัฐ และการเพิ่มภาษี โดยบูรณาการทางการเงินนั้น จะต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์นิยมในเยอรมนี ถึงกับเสนอว่า ควรจะ “ตัดหางปล่อยวัด” กรีซ โดยเสนอปล่อยให้กรีซผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลายไป โดยไม่ต้องเข้าไปช่วย และผลักดันให้กรีซออกจาก Eurozone ไป กระทรวงคลังเยอรมนีกำลังจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อเตรียมพร้อมกับการที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้

สำหรับความพยายามกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone ล่าสุด มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของ Eurozone ที่โปแลนด์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ Timothy Geithner เข้าร่วมประชุมด้วย การเข้าร่วมประชุมของ Geithner ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯกำลังวิตกกังวลอย่างมากสำหรับวิกฤตในครั้งนี้ โดย Geithner ได้กล่าวเตือนผู้นำยุโรป ให้ยุติความแตกแยกทางความคิด และเร่งรีบกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มในอนาคตของวิกฤตหนี้ Eurozone ดูแล้วน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มจะเลวร้ายลงไปอีก โดยเมื่อเดือนที่แล้ว Robert Zoellick ได้กล่าวเตือนถึงช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังประสบกับวิกฤตรูปแบบใหม่ และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดย Zoellick ได้ย้ำว่า ปัญหาหนี้ใน Eurozone น่าเป็นห่วงมาก และบอกว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของพายุวิกฤตเศรษฐกิจโลกลูกใหม่ ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 เช่นเดียวกับ George Soros ซึ่งก็ได้มองว่า วิกฤตหนี้ยุโรปมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าวิกฤตในปี 2008
หัวใจของปัญหา คือ กรีซ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า มีแนวโน้มจะประสบกับภาวะล้มละลาย กระทรวงคลังเยอรมนีก็กำลังวิเคราะห์ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากกรีซต้องออกจาก Eurozone กระทรวงคลังเยอรมนีมองว่า หากกรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลืองวดที่ 2 ก็จะเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องในเดือนตุลาคม ซึ่งจะทำให้กรีซประสบกับภาวะล้มละลาย และต้องออกจาก Eurozone ไป

ดังนั้น หากกรีซล้มละลาย ก็จะส่งผลกระทบเป็นเหมือนโดมิโน โดยเฉพาะกระทบต่อสเปนและอิตาลี นอกจากนั้น ธนาคารฝรั่งเศสซึ่งปล่อยกู้ให้กับกรีซและอิตาลีเป็นจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่วิกฤตธนาคารครั้งใหญ่ของยุโรป จะกระทบต่อ Eurozone ทั้งระบบ รวมทั้งจะกระทบต่อภาคธนาคารของสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ อย่าลืมว่า GDP ของ EU รวมกันทั้งหมด มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่า GDP ของสหรัฐฯเสียอีก ดังนั้น หากเกิดอะไรขึ้นกับ EU ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก คือ ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกขาดผู้นำและขาดความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนหนักขึ้น และอาจนำไปสู่ยุคสมัยของนโยบายปกป้องทางการค้า และสงครามค่าเงิน สถานการณ์วิกฤต Eurozone แตกต่างอย่างมากจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งในตอนนั้น มีความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบของการประชุมสุดยอด G20 ซึ่งมีการประชุมกันหลายครั้ง และมีการประสานนโยบายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ วิกฤตหนี้ Eurozone ในครั้งนี้ G20 ไม่ได้เข้ามาช่วยอะไรเลย แม้ว่า จะมีการประชุมสุดยอด EU หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับสหรัฐฯที่ควรจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำ แต่สหรัฐฯเองก็ประสบกับปัญหาหนี้ของตัวเองเช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์ข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตหนี้ Eurozone ครั้งนี้ ทำท่าจะหนักหนาสาหัส วุ่นวาย และมีแนวโน้มปั่นป่วนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก และระบบการเงินโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

10 ปี ของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

10 ปี ของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16-วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2554

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 ในโอกาสการรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ประเมินสถานการณ์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกล่าวถึงยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ ที่ Clinton ให้ชื่อว่า “Smart Power Approach to Counterterrorism” คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

10 ปี สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ในสุนทรพจน์ดังกล่าว Clinton ได้ประเมินสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า ประสบความสำเร็จ โดยประเมินว่า สงครามในอิรักกำลังจะสงบ ส่วนสงครามในอัฟกานิสถานกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประชาชนหลายล้านคนได้ถูกปลดปล่อยจากอำนาจเผด็จการและลัทธิหัวรุนแรง การเสียชีวิตของ Osama Bin Laden ได้ทำให้ al-Qaeda กำลังจะประสบกับความพ่ายแพ้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้จับกุมและสังหารผู้ก่อการร้ายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ทำลายเครือข่าย แผนการก่อวินาศกรรม และป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง
นอกจากการใช้กำลังในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายแล้ว สหรัฐฯได้ใช้เครื่องมือการบังคับใช้กฎหมาย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ก่อการร้ายถึง 120,000 คน และศาลตัดสินลงโทษไปแล้วถึง 35,000 คน การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ทำให้องค์กร al-Qaeda อ่อนกำลังลงไปมาก
อย่างไรก็ตาม Clinton ยอมรับว่า แม้ว่าจะได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่คงจะไม่มีคำว่า ความมั่นคงที่สมบูรณ์ หรือ perfect security โดยแม้ว่าสหรัฐฯจะได้ทำให้ al-Qaeda อ่อนกำลังลงไปมาก แต่ al-Qaeda ก็ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยได้ทำให้การก่อการร้ายกระจัดกระจายออกไปในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ในลักษณะของเครือข่าย สาขา และองค์กรก่อการร้ายร่วมอุดมการณ์

ยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายใหม่

ดังนั้น Clinton จึงประกาศว่า จำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายในรูปแบบใหม่ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการเผยแพร่ยุทธศาสตร์ใหม่ที่มีชื่อว่า National Strategy for Counterterrorism ซึ่งเป็นการผสมผสานเครื่องมือต่างๆ คือ เครื่องมือการใช้กำลังในการกำจัดกลุ่มก่อการร้าย มาตรการตัดเส้นทางการเงิน สมาชิกใหม่ และแหล่งซ่องสุม รวมทั้งการทำสงครามอุดมการณ์ ต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ และสร้างหุ้นส่วนระหว่างประทเศ ทั้งกับรัฐบาล และกับประชาสังคม
และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องใช้อำนาจ ที่ Clinton เรียกว่า smart power ซึ่งผสมผสานระหว่างเครื่องมือทางการทูต การให้ความช่วยเหลือในการพัฒนา ร่วมกับการใช้กำลังทางทหาร

สำหรับมาตรการทางด้านการเงินนั้น สหรัฐฯได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการออกกฎหมายเพื่อทำลายเครือข่ายทางการเงินของกลุ่มก่อการร้าย

และที่สำคัญกว่าเรื่องเงิน คือ การแสวงหาสมาชิกใหม่ของ al-Qaeda ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา al-Qaeda และองค์กรแนวร่วม ได้แสวงหาสมาชิกใหม่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้จัดตั้ง Center for Strategic Counterterrorism Communications ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มก่อการร้าย และป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายมีสมาชิกเพิ่ม

สำหรับเครื่องมือการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนานั้น สหรัฐฯมีองค์กร USAID ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานในโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา โครงการเหล่านี้ จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความเชื่อมั่นในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะช่วยลดกระแสความนิยมของแนวคิดหัวรุนแรงได้

นอกจากนี้ ในขณะที่ภัยของ al-Qaeda มีลักษณะกระจัดกระจาย ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องสร้างเครือข่ายกับรัฐบาลและชุมชนของประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีลักษณะของการสร้างเครือข่ายต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ (international counterterrorism network) โดยสหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายทางการทูตในเชิงรุก เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งในระดับพหุภาคี และทวิภาคี
ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Clinton ได้บอกว่า ในอดีต ไม่มีเวทีหารือต่อต้านการก่อการร้ายในระดับโลก สหรัฐฯจึงกำลังจะจัดตั้งเวทีหารือดังกล่าวขึ้น โดยจะเชิญพันธมิตร มหาอำนาจใหม่ และประเทศมุสลิมทั่วโลก และจะมีสหรัฐฯกับตุรกี เป็นประธานร่วมสำหรับการประชุมครั้งแรก ที่จะมีกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมประชุม

บทวิเคราะห์

ที่สรุปข้างต้น เป็นสุนทรพจน์ของ Clinton ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมองโลกในแง่ดี และแน่นอนว่า จะต้องบอกว่า สหรัฐฯประสบความสำเร็จในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่สำหรับผม กลับประเมินว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯประสบความล้มเหลว ทั้งนี้ เพราะสงครามที่สหรัฐฯหวังว่า จะประสบชัยชนะ แต่กลับยืดเยื้อ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ แต่การก่อการร้ายกลับเพิ่มขึ้นทั่วโลก สงครามเพื่อเอาชนะจิตวิญญาณของมุสลิม ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยโลกมุสลิมมองว่า สหรัฐฯ เป็นศัตรูของอิสลาม และ al-Qaeda ได้กลายเป็นอุดมการณ์ ขบวนการที่แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม

ขบวนการก่อการร้ายไม่ได้หมดไป แต่เพิ่มจำนวนและแพร่ไปทั่วโลก al-Qaeda มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเครือข่ายก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda ก็เพิ่มขึ้นทั่วโลก

อัฟกานิสถาน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในความล้มเหลวของสหรัฐฯในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยหลังจากยึดครองอัฟกานิสถานมากว่า 10 ปี แต่ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น สถานการณ์กลับทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยนักรบ Taliban ได้ทำสงครามกองโจรต่อสู้กับกองกำลังนาโต้ และได้ยึดครองพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความล้มเหลวของสหรัฐฯในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ คือ การที่สหรัฐฯใช้ hard power การที่สหรัฐฯใช้กำลังทางทหารในการแก้ปัญหามากเกินไป ซึ่งทำให้ปัญหากลับทรุดหนักลง สิ่งที่ขาดหายไปจากยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การใช้ soft power ในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ smart power ที่ Clinton เสนอใหม่นั้น ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่สหรัฐฯจะใช้ soft power มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากการใช้ hard power ในอดีต ได้ทำให้เกิดแผลลึกใหญ่ที่ยากจะสมานแผล ได้ในเวลาอันสั้น ผมจึงมองว่า แม้ว่าสหรัฐฯจะหันกลับมาใช้ soft power หรือ smart power มากขึ้น แต่ก็คงต้อง ใช้เวลาอีกยาวนาน กว่าที่จะแก้ปัญหานี้ได้