Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่ออาเซียน ปี 2012



ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่ออาเซียน ปี 2012

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 
ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2555

ภาพรวม
ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่ออาเซียนในปี 2012 ยังคงเป็นการเดินหน้านโยบายในเชิงรุก เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน โดยเป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯต่อภูมิภาคคือ การครองความเป็นเจ้า การปิดล้อมจีน การส่งเสริมปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการป้องกันไม่ให้ประเทศในภูมิภาครวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ

สำหรับไฮไลต์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียนในปีนี้ เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่กรุงพนมเปญ เอกสารผลการประชุมคือ แถลงการณ์ร่วม ซึ่งได้ชี้เห็นความพยายามของสหรัฐฯที่จะตีสนิทกับอาเซียนเพื่อแข่งกับจีน เรื่องสำคัญคือ การยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯจากระดับ partnership หรือ หุ้นส่วนไปสู่ระดับ strategic หรือ ระดับยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อการประชุม ซึ่งมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ คือ จากการประชุมผู้นำมาเป็นการประชุมสุดยอด คือภาษาอังกฤษเปลี่ยนจากการประชุม ASEAN-U.S. Leaders’ Meeting มาเป็น ASEAN-U.S. Summit

เวทีอาเซียน
ยุทธศาสตร์ประการหนึ่งของสหรัฐต่ออาเซียนคือ การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเวทีต่างๆของอาเซียน
โดยเวทีที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การประชุม East Asia Summit หรือ EAS สหรัฐฯได้เพิ่มบทบาทในด้านพลังงาน การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ สหรัฐพยายามผลักดันให้เพิ่มความร่วมมือในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในด้านการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และความมั่นคงทางทะเล
ส่วนอีกเวทีหนึ่งที่สหรัฐฯ พยายามเข้ามาเพิ่มบทบาทคือ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ซึ่งจากการผลักดันของสหรัฐฯได้ขยายออกมาเป็น ADMM+8 และน่าจะเป็นแรงกดดันจากสหรัฐฯที่ทำให้ ADMM  เปลี่ยนความถี่ของการประชุม ADMM+8 จากทุก 3 ปีมาเป็นทุก 2 ปี นอกจากนี้ สหรัฐฯได้เข้ามามีบทบาทในคณะทำงานของ ADMM+8 โดยเฉพาะในด้านการจัดการภัยพิบัติและการต่อต้านการก่อการร้าย




ด้านเศรษฐกิจ
สำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียนก็เพิ่มมากขึ้น มูลค่าการค้าในปี 2011เกือบ 200,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ และการลงทุนของสหรัฐในอาเซียน มีมูลค่า 160,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์
ได้มีการจัดทำเอกสารสำคัญคือ 2013 ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement (TIFA) Work Plan นอกจากนี้ ได้มีการประกาศ U.S.–ASEAN Expanded Economic Engagement (E3) Initiative โดยจะมีมาตรการเชิงรุกทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯต่ออาเซียนในหลายเรื่อง อาทิ การเจรจาข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาหลักการด้าน ICT ด้านการลงทุน และ SME
ความร่วมมือของภาคเอกชนก็เพิ่มมากขึ้นได้มีการจัดประชุม US-ASEAN Business Summit ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเรื่องสำคัญคือ การที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ จะเข้ามามีบทบาทใน Master Plan on ASEAN Connectivity
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหนึ่งที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นความร่วมมือ แต่น่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯมากกว่า นั่นก็คือ การที่อาเซียนผลักดันการจัดทำ FTA ตัวใหม่ของอาเซียน ซึ่มีชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP (อ่านว่า อาร์เซ็ป) ในขณะที่สหรัฐกำลังผลักดัน FTA ตัวใหม่ของสหรัฐฯที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP มีแนวโน้มว่า FTA ทั้งสองกำลังจะแข่งกันโดย RCEP จะมีอาเซียนเป็นแกนกลาง ในขณะที่ TPP จะมีสหรัฐเป็นแกนกลาง แต่ข้อได้เปรียบของสหรัฐฯคือ ขณะนี้มี 5 ประเทศอาเซียนโดดเข้าร่วม TPP ไปแล้ว TPP จึงเป็นกลไกสร้างความแตกแยกให้กับอาเซียนด้วย

ทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่สหรัฐฯเอามาใช้เพื่อทำให้อาเซียนแตกแยกและทำให้อาเซียนทะเลาะกับจีน คือ การจุดประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ ท่าทีของสหรัฐฯในระหว่างการประชุมสุดยอดกับอาเซียน คือ สหรัฐฯให้ความสำคัญกับปฏิญญาปี 2002 ระหว่างอาเซียนกับจีน อยากให้มีการจัดทำ Regional Code of Conduct โดยเร็ว และสนับสนุนหลักการ 6 ประการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯจะพยายามจุดประเด็นให้สถานการณ์บานปลาย พยายามทำให้อาเซียนแตกแยกและทะเลาะกับจีน แต่ทั้งอาเซียนกับจีนก็พยายามจะไม่ให้สถานการณ์ทรุดหนักลง โดยได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนเพื่อคลี่คลายปัญหานี้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงพนมเปญ
                          
U.S.-Lower Mekong Initiative
ยุทธศาสตร์อีกประการของสหรัฐฯต่ออาเซียนคือ การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อแข่งกับจีน ได้มีการพัฒนากรอบความร่วมมือที่ชื่อว่า U.S.-Lower Mekong Initiative โดยมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามและพม่า กับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯเป็นประจำทุกปี สาขาความร่วมมือเน้น ด้านพลังงาน สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ในการประชุมครั้งล่าสุด สหรัฐฯได้ประกาศวงเงิน 50 ล้านเหรียญ สำหรับโครงการต่างๆภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวในช่วง 3 ปีข้างหน้า
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯกำลังมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกเป็นอย่างมากต่อภูมิภาคอาเซียน ปัจจัยสำคัญคือ การแข่งกับอิทธิพลของจีน ดังนั้น กำลังเป็นโจทย์ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆสำหรับอาเซียนและไทย ที่จะต้องตามเกมสหรัฐฯให้ทัน และกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เพื่อรองรับต่อแนวโน้ม ที่สหรัฐฯและจีนจะแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแย่งชิงสถานะการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคอาเซียน