Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ปี 2014


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในปี 2014 โดยจะสรุปวิเคราะห์จากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี Obama ที่เรียกว่า State of the Union Address ซึ่งเป็นสุนทรพจน์ประกาศนโยบายของรัฐบาล Obama ต่อสภา Congress ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และสุนทรพจน์ของ John Kerry  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในการประชุม World Economic Forum เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยจะสรุปวิเคราะห์เป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้

               ภาพรวม : ปฏิสัมพันธ์และการทูต

               ขณะนี้ กำลังมีกระแสความเชื่อที่ว่า สหรัฐกำลังลดบทบาทในโลกลง โดยมีแนวคิดในเรื่องนโยบายโดดเดี่ยวนิยมที่กำลังจะกลับขึ้นมาอีก และสหรัฐกำลังจะถอนตัวออกจากปฏิสัมพันธ์กับโลก ซึ่ง John Kerry รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวปฏิเสธว่า เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า การที่สหรัฐลดบทบาททางทหาร การถอนทหารออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน เท่ากับอเมริกาจะถอนตัวออกจากการเมืองโลก ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยขณะนี้ อเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเครื่องมือทางทหาร แต่ให้ความสำคัญกับเครื่องมือทางการทูตมากกว่า และสหรัฐก็จะปฏิสัมพันธ์กับโลกมากขึ้นด้วย

               การก่อการร้าย

               ภัยคุกคามอับดับหนึ่งของสหรัฐ ยังคงเป็นภัยจากการก่อการร้าย ซึ่ง Obama ได้เน้นว่า สหรัฐกำลังประสบชัยชนะต่อ al Qaeda อย่างไรก็ตาม ภัยการก่อการร้ายได้วิวัฒนาการ โดยมีการขยายตัวของสาขาย่อยของ al Qaeda และกลุ่มก่อการร้ายใหม่ๆ โดยเพาะใน เยเมน โซมาเลีย อิรัก มาลี และซีเรีย ในสหรัฐเอง ก็มีภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ คือการก่อการร้ายและการโจมตีในอินเตอร์เน็ต

               สำหรับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ก็กำลังจะมีการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยถอนออกมาแล้ว 60,000 คน และภายในสิ้นปีนี้ สหรัฐจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน และสงครามที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐ ก็จะยุติลง

               การทูต

               ทั้ง Obama และ Kerry ได้เน้นว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในปัจจุบัน จะเน้นการทูตเป็นหลัก และที่ผ่านมา เครื่องมือทางการทูตก็ได้ประสบความสำเร็จ ในการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ ในการบีบให้รัฐบาลซีเรียทำลายอาวุธเคมี ขณะนี้ สหรัฐกำลังใช้การทูตในการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

               สหรัฐกำลังใช้การทูตในการสร้างความร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ในยุโรป ขณะนี้มีความคืบหน้าในการเจรจา Transatlantic Trade and Investment Partnership ซึ่งจะเป็น FTA เชื่อม EU  กับ สหรัฐ เข้าด้วยกัน สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็กำลังมีการเจรจา FTA ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งหากมีประเทศในภูมิภาคเข้าร่วมครบ TPP ก็จะมีขนาดคิดเป็น 40 % ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สหรัฐ ก็กำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในภูมิภาค เพื่อจัดการกับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และสหรัฐก็ร่วมมือกับอาเซียนเพื่อจัดการความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วย

                 ตะวันออกกลาง

               สำหรับตะวันออกกลาง ยังเป็นภูมิภาคที่สหรัฐให้ความสำคัญที่สุดอยู่ในขณะนี้ โดยมีเรื่องใหญ่ๆอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน ดังนี้

·      อิหร่าน

ปัญหาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ยังคงเป็นปัญหาทางการทูตที่สำคัญอันดับหนึ่ง โดยที่ผ่านมา อเมริกาได้ใช้การทูตพร้อมๆไปกับการใช้มาตรการกดดันและการคว่ำบาตร ซึ่งขณะนี้ก็ได้ผล โดยอิหร่านได้เริ่มที่จะกำจัดการสะสมแร่ยูเรเนี่ยม ที่สามารถเอาไปพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้ อิหร่านได้ยอมให้คณะผู้ตรวจสอบ IAEA เข้าไปตรวจสอบโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อให้แน่ใจว่า อิหร่านจะไม่แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์  

Obama ได้ตอกย้ำว่า การเจรจาดังกล่าวคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งถ้าผู้นำอิหร่านไม่ยอมใช้โอกาสในการเจรจา สหรัฐก็จะกลับไปใช้มาตรการคว่ำบาตร และจะใช้เครื่องมืออื่นๆทั้งหมด รวมทั้งเครื่องมือทางการทมหาร เพื่อทำให้แน่ใจว่า อิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง
 

·      ซีเรีย

เรื่องที่สองคือปัญหาสงครามในซีเรีย ซึ่งผู้นำสหรัฐได้บอกว่า ขณะนี้การทูตได้เดินหน้าในการแก้ไขปัญหา ช่วงปลายเดือนที่แล้วได้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลซีเรียกับฝ่ายต่อต้านเป็นครั้งแรกที่นครเจนีวา โดยมีกว่า 40 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม และได้มีการจัดทำ Geneva Communique ซึ่งเป็นการวางกรอบนำไปสู่การยุติความขัดแย้งด้วยการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่สหรัฐก็มองว่า ผู้นำซีเรีย คือ Assad คงจะไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เพราะ Assad มีส่วนในการสูญเสียชีวิตของชาวซีเรียถึง 130,000 คน นอกจากนี้ ประชาคมโลกก็ประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องมือทางการทูต บีบให้รัฐบาลซีเรียทำลายอาวุธเคมี สหรัฐย้ำว่า การแก้ปัญหาซีเรีย ต้องใช้เครื่องมือทางการทูตเป็นหลัก เครื่องมือทางการทหารจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

·      อิสราเอล-ปาเลสไตน์

และเรื่องที่สามซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ยาวนานที่สุด คือความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งขณะนี้ สหรัฐก็ใช้เครื่องมือทางการทูตเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเจรจา เพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งและสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยเป้าหมายของการเจรจาคือ การจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ หลักประกันความมั่นคงของอิสราเอล การถอนทหารของอิสราเอลออกจากเขต West Bank การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ และที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับการคงอยู่ของรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งก็คือนโยบายของรัฐบาล Obama ที่ย้ำมาตลอด ที่เราเรียกว่า two –state solution

               กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Obama  2 จะเน้นไปที่การใช้เครื่องมือทางการทูตเป็นหลัก ในการปัญหาของโลก และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือที่เราเรียกว่านโยบายปฏิสัมพันธ์ หรือ engagement เพราะฉะนั้น ระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาล Obama อีก 3 ปี ถึงปี 2016 จะมีแนวโน้มการใช้การปฏิสัมพันธ์และการทูตเป็นหลัก เน้นสร้างความร่วมมือและแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการบ้านที่สหรัฐยังทำไม่เสร็จอีกมากมายหลายเรื่อง ก็คงต้องจับตาดูกันต่อว่า การทูตของ Obama จะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน