Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

สงครามลิเบีย

สงครามลิเบีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 – วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงสงครามลิเบีย ที่ได้ระเบิดขึ้นแล้ว ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยผมจะเน้นวิเคราะห์ถึงสถานการณ์สงครามในขณะนี้ และแนวโน้มในอนาคต

สงครามลิเบีย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม สงครามลิเบียได้เกิดขึ้น โดยเครื่องบินฝรั่งเศสได้เปิดฉากการโจมตีลิเบีย นับเป็นสงครามครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นสงครามระหว่างตะวันตกกับโลกมุสลิม (สงคราม 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ สงครามอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัก) โดยยุทธศาสตร์ของตะวันตกในขณะนี้ คือ การจัดตั้งเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone เพื่อป้องกันกองกำลังของ Gaddafi โจมตีฝ่ายต่อต้านและพลเรือน อย่างไรก็ตาม วาวะซ่อนเร้น คือ การกำจัด Gaddafi ซึ่งแนวโน้มในอนาคต ยังไม่มีความแน่นอนว่า การสู้รบจะบานปลาย จากการโจมตีทางอากาศ มาสู่การใช้กองกำลังทหารภาคพื้นดิน ซึ่งอาจนำไปสู่การบุก และยึดครองลิเบียในอนาคต ได้หรือไม่

สงครามครั้งนี้ เปิดฉากเมื่อเครื่องบินรบของฝรั่งเศส โจมตีกองกำลังของ Gaddafi ใกล้เมือง Benghazi ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของฝ่ายต่อต้าน โดยเครื่องบินรบของฝรั่งเศสได้ทำลายรถถังของฝ่าย Gaddafi จำนวน 4 คัน ปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ฝ่าย Gaddafi ต้องยุติการโจมตีฝ่ายต่อต้านที่เมือง Benghazi

ก่อนหน้าการโจมตีลิเบียเพียงไม่กี่ชั่วโมง ได้มีการจัดประชุมที่กรุงปารีส และที่ประชุมได้ตกลงที่จะใช้กำลังทหารในการบังคับใช้ข้อมติ UNSC ที่ 1973 ในการกำหนดเขตห้ามบิน โดยประธานาธิบดี Nicholas Sarkozy ของฝรั่งเศส ได้ออกมาประกาศการโจมตีกองกำลังของ Gaddafi และ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron ได้กล่าวสนับสนุนท่าทีของฝรั่งเศสว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิบัติการทางทหาร

ต่อมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้ประกาศว่า เรือดำน้ำสหรัฐฯและอังกฤษ ได้ยิงขีปนาวุธ Tomahawk จำนวน 110 ลูก โจมตีเป้าหมายทางทหารทางตอนเหนือของลิเบีย 20 แห่ง นอกจากนี้ เรือรบของสหรัฐฯและอังกฤษหลายลำ ก็ลอยลำอยู่ใกล้ชายฝั่งของลิเบียด้วย

โดยประธานาธิบดี Obama ได้สั่งการให้กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการทางทหารในขอบเขตจำกัดในลิเบีย เพื่อสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติ ในการปกป้องประชาชนชาวลิเบีย แต่สหรัฐฯจะไม่ส่งทหารบก หรือกองกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าไปในลิเบีย ปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯตั้งชื่อว่า Operation Odyssey Dawn

Obama ชัดเจนในการประกาศเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติตามข้อมติของ UNSC ที่ 1973 เพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน เพื่อยุติสงครามกลางเมือง และเพื่อเป็นการแทรกแซงด้วยหลักการมนุษยธรรม อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า พันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่งเศส มีเป้าหมายที่แตกต่างจากสหรัฐฯ คือ ต้องการโค่นล้มรัฐบาล Gaddafi แต่ท่าทีของสหรัฐฯในครั้งนี้ เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามนี้อย่างเต็มตัว และไม่ต้องการส่งกองกำลังทหารบกเข้าไป

ท่าทีของสหรัฐฯในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการถกเถียงกันอย่างหนักภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว ท่าทีของ Obama คือ ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงทางทหาร และเขต no-fly zone แต่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐบาล Obama ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยหันมาสนับสนุน เขต no-fly zone และสนับสนุนข้อมติ UNSC ที่ 1973

ในรัฐบาล Obama มีความคิดเห็นที่แตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะช่วยฝ่ายกบฎ และต้องการโค่นล้ม Gaddafi แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ต้องการให้สหรัฐฯก่อสงครามในโลกมุสลิมอีก อย่างไรก็ตาม ในที่สุด Obama ได้ตัดสินใจเอียงไปข้างฝ่ายแรก คือ ตัดสินใจปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยฝ่ายกบฏ แต่ Obama ก็ยังวิตกกังวลว่า สงครามลิเบีย จะกลายเป็นเหมือนสงครามอัฟกานิสถาน และสงครามอิรักอีก คือ จะยืดเยื้อ ไม่จบ ดังนั้น Obama จึงเลือกยุทธศาสตร์ exit strategy หรือ เผื่อ “บันไดหนีไฟ” ด้วยการประกาศจะไม่เป็นผู้นำในสงครามครั้งนี้ โดยได้ให้อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นผู้นำแทน และสหรัฐฯจะเกี่ยวข้องกับสงครามให้น้อยที่สุด

แนวโน้ม

ขณะนี้จึงมีคำถามมากมายว่า สงครามลิเบียในครั้งนี้ จะมีแนวโน้มอย่างไร จะจบเร็ว เป็นสงครามย่อย หรือจะยืดเยื้อยาวนาน เป็นสงครามใหญ่ ผมมองว่า ในขณะนี้ ยังคงวิเคราะห์ได้ยาก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีปัจจัย ตัวแปร หลายตัวที่ยังไม่มีความแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผมขอประมวลปัจจัยสำคัญคร่าวๆที่อาจจะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

• เป้าหมายของสงคราม

ปัจจัยประการแรก คือ เป้าหมายในการทำสงครามครั้งนี้ของตะวันตกคืออะไร เป้าหมายที่
ตะวันตกประกาศอย่างเป็นทางการ คือ การมีเป้าหมายที่จำกัด คือ การกำหนดเขตห้ามบิน ซึ่งถ้ามีเป้าหมายเพียงเท่านี้ ก็ไม่น่าจะยาก เพราะขณะนี้ ตะวันตกก็ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเขตห้ามบินได้แล้ว แต่หากเป้าหมายที่แท้จริง คือ การโค่น Gaddafi ก็จะเป็นเรื่องยาก และสงครามจะยืดเยื้อยาวนาน แม้ว่า Obama จะต้องการให้เป็นสงครามจำกัดขอบเขตและจบอย่างรวดเร็ว แต่ Gaddafi ก็ต้องการให้เป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน

ผมเดาว่า แม้ตะวันตกจะไม่ประกาศ แต่วาระซ่อนเร้น คือ การโค่นล้ม Gaddafi ดังนั้น สงคราม
จึงน่าจะยืดเยื้อยาวนาน แม้ว่า กระทรวงกลาโหมจะประกาศว่า Gaddafi จะไม่ได้เป็นเป้าหมายในการโจมตี แต่ก็มีการยิงขีปนาวุธไปที่ศูนย์บัญชาการของ Gaddafi ที่กรุงตริโปลี ในข้อมติ UNSC ที่ 1973 จะมีข้อกำหนดให้ใช้กำลังทางทหารในการปกป้องประชาชน แต่ไม่ได้มีการระบุถึงเป้าหมายในการโค่น Gaddafi หากการโค่น Gaddafi เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของตะวันตก ก็มีคำถามใหญ่ตามมาว่า ตะวันตกพร้อมแค่ไหนในการที่จะทำสงครามที่ยืดเยื้อกับ Gaddafi

• สงครามภาคพื้นดิน

ขณะนี้ สงครามยังเป็นการใช้เครื่องบิน และขีปนาวุธในการโจมตีลิเบีย แต่ยังไม่ได้มีการใช้
กองกำลังทหารบก แม้ว่า Obama จะประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่ส่งทหารบกเข้าไปในลิเบีย เช่นเดียวกับ อังกฤษที่ยังไม่มีแผนที่จะส่งทหารบกเข้าไปในลิเบีย แต่ประเด็นปัญหาสำคัญทางทหาร คือ ชัยชนะในสงครามจะเป็นการยากมาก ที่จะใช้แค่กำลังทางทหารอากาศ และทหารเรือ โดยไม่ใช้ทหารบก กองกำลังหลักของ Gaddafi คือ กองกำลังภาคพื้นดิน เพราะฉะนั้น การโจมตีทางอากาศคงไม่สามารถชนะสงครามในครั้งนี้ได้ ในที่สุดตะวันตก อาจจะต้องตัดสินใจส่งกองกำลังทางทหารภาคพื้นดิน เพื่อโค่นล้ม Gaddafi ลงให้จงได้ ซึ่งนั่น จะนำไปสู่สงครามที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น โดยหากมีการปะทะกันทางภาคพื้นดิน ความเสียหายจะมีมากขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจะมีทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งสหรัฐฯก็ได้ประสบการณ์มาแล้ว จากการบุกอัฟกานิสถานและอิรัก

อย่างไรก็ตาม หากตะวันตกตัดสินใจบุกยึดลิเบีย และโค่น Gaddafi ลงได้สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่า สงครามจะจบ Gaddafi อาจจะลงใต้ดิน และต่อสู้แบบสงครามกองโจร ซึ่งก็จะกลับไปเหมือนกับสงครามในอัฟกานิสถาน เราคงจำได้ว่า สหรัฐฯบุกยึดอัฟกานิสถานได้ แต่ต่อมา นักรบตาลีบัน ได้กลับมารวมตัว และกลับมาทำสงครามกับสหรัฐฯใหม่ กลายเป็นสงครามยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

• โลกอาหรับและโลกมุสลิม

ปัจจัยสำคัญอีกประการ สำหรับอนาคตของสงครามลิเบีย คือ การสนับสนุนจากโลกอาหรับ ซึ่ง
ที่ผ่านมา สันนิบาตอาหรับได้มีมติสนับสนุน การจัดตั้งเขตห้ามบินในลิเบีย ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการที่โลกอาหรับสนับสนุนการโจมตีลิเบียของตะวันตก อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนของโลกอาหรับ ก็มีความไม่แน่นอนสูงว่า จะเปลี่ยนท่าทีไปอย่างไร โดยอาจจะเปลี่ยนกลับมาต่อต้านตะวันตกได้ โดยแนวโน้มที่เป็นไปได้ คือ ในที่สุด สงครามลิเบียอาจจะเหมือนกับสงครามอิรัก และอัฟกานิสถาน ที่โลกอาหรับและโลกมุสลิม มองว่า เป็นสงครามที่ตะวันตกโจมตีโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตะวันตกต้องการขยายสงครามกลายเป็นสงครามใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งทหารและประชาชนเป็นจำนวนมาก ก็จะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากโลกอาหรับและโลกมุสลิมขึ้นได้

และแนวโน้มการต่อต้านจากโลกอาหรับก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม
หลังจากที่ตะวันตกโจมตีลิเบียได้ไม่นาน เลขาธิการของสันนิบาตอาหรับ คือ นาย Amr Moussa ได้ออกมาประณาม และแสดงความไม่พอใจต่อปฏิบัติการทางทหารของตะวันตก ที่เขามองว่า ทำเกินเลยจากเป้าหมายการจัดตั้งเขตห้ามบิน และขู่ว่า จะพิจารณาท่าทีของสันนิบาตอาหรับใหม่

กล่าวโดยสรุป เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า สงครามลิเบียในครั้งนี้ จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะเป็นสงครามจำกัดขอบเขต และจบลงอย่างรวดเร็ว หรือจะกลายเป็นสงครามใหญ่ ที่ยืดเยื้อยาวนาน ก็ยังไม่สามารถฟันธงลงไปได้