Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บทความจาก Guru by Truelife

บทความคอลัมน์ "โลกปริทรรศน์" ของ Guru by Truelife

ใน http://guru.truelife.com/profile/66776


1. วิกฤตการเงินโลก ปี 2011?
2. วิกฤตการเงินโลกปี 2011? (ตอนที่ 2)
3. วิกฤตลิเบีย
4. ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi
5. ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi (ตอนที่ 2)
6. ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi (ตอนที่ 3)
7. ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011
8. ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปี 2011
9. วิกฤต Eurozone : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 1)
10. วิกฤต Eurozone : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 2)
11. สงครามค่าเงิน ปี 2011
12. Clinton ประกาศนโยบายต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 1)
13. Clinton ประกาศนโยบายต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนจบ)
14. ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนที่ 2)
15. วิกฤต Eurozone : ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 3)
16. Obama ประกาศนโยบายทหารต่อเอเชีย ปี 2011
17. ประเมิน 3 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาล Obama (ตอนที่ 1)
18. ประเมิน 3 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาล Obama (ตอนจบ)
19. แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2012 (ตอนที่ 1)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 5)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 5)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2554

สถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤต Eurozone คือ ได้มีการประชุมสุดยอด EU ไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว และแนวโน้มของวิกฤตในอนาคต

การประชุมสุดยอด

วิกฤต Eurozone ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และทำท่าจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ EU ก็ร้อนตัวมากขึ้น ได้มีการจัดประชุมสุดยอดไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะกอบกู้วิกฤตได้อย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์กลับทรุดหนักลงเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการจัดประชุมสุดยอด EU ครั้งล่าสุด ที่กรุงบรัสเซลส์

ในตอนแรก เป็นการประชุมผู้นำของสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ เยอรมนีกับฝรั่งเศสพยายามผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ของ EU ขึ้น เพื่อให้มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้น อย่างไรก็ตาม การจัดทำสนธิสัญญาของ EU ทั้ง 27 ประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะอังกฤษได้ออกมาคัดค้านโดยนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ คือ David Cameron มองว่า สนธิสัญญาดังกล่าวจะกระทบต่อผลประโยชน์ของอังกฤษ และจะทำให้ลอนดอนสูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป
ดังนั้น จึงได้มีการเปลี่ยนแผนมาเป็นการจัดทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาล 23 ประเทศ โดยมีสมาชิก Eurozone 17 ประเทศ บวกกับสมาชิก EU แต่ไม่ใช่สมาชิก Eurozone อีก 6 ประเทศ เข้าร่วมด้วย

ข้อตกลงดังกล่าว เป็นแผนร่วมกันของเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่จะมีมาตรการในการลงโทษประเทศสมาชิก หากไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง จะมีการเพิ่มบทบาทให้กับคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission ในการเข้ามาตรวจสอบงบประมาณของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะจะมีมาตรการลงโทษสำหรับประเทศสมาชิกที่มีปัญหาเรื่องการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งก็จะทำให้นโยบายเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมีเสถียรภาพและวินัยมากขึ้น และจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจให้เกิดกับเงินยูโรขึ้นอีกครั้ง
ผู้นำของเยอรมนี คือ Angela Merkel เล่นบทบาทเป็นผู้นำในการผลักดันข้อตกลงดังกล่าว โดยได้กล่าวว่า ทางเดียวที่จะกอบกู้วิกฤต Eurozone และจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีก คือ จะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเงินในสนธิสัญญาของ EU และมีการกำหนดบทลงโทษต่อประเทศสมาชิกที่ขาดวินัยทางการเงิน Merkel ต้องการให้ประเทศสมาชิก Eurozone เลียนแบบเยอรมนีในเรื่องวินัยทางการเงิน นอกจากนี้ เยอรมนีและสเปนได้บรรจุเรื่องวินัยทางด้านงบประมาณไว้ในรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 ประเทศแล้ว และต้องการให้ประเทศอื่นทำตาม

นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะมีการเพิ่มบทบาทให้กับธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) โดย ECB จะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปซื้อพันธบัตรของประเทศ Eurozone ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ และการแพร่ระบาดของวิกฤตการณ์ทางการเงิน

แนวโน้ม

• ภาพรวม
ข้อตกลงดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิกฤต Eurozone หากสามารถทำให้ตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในเรื่องของงบประมาณของประเทศสมาชิก ซึ่งก็อาจจะทำให้ประเทศสมาชิกฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้ได้ ข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของบูรณาการทางการเงินของยุโรป

• อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนว่า ข้อตกลงดังกล่าว จะสามารถกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้อย่างแท้จริงได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะข้อตกลงดังกล่าว แม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่ขณะนี้ ยังมีปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น ที่ยังเป็นวิกฤต แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้

• โจทย์แรก คือ ปัญหาของธนาคารในยุโรป แม้ว่าจะมีการเพิ่มทุน 1 แสนล้านยูโร แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรปได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหาหนี้ เป็นเงินกว่า 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลเหล่านี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารต่างๆก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และอาจนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจของยุโรปได้
• โจทย์ที่ 2 คือ ปัญหาของกรีซ และการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงิน ซึ่งยังคงไม่หยุด กรีซยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลาย ซึ่งในที่สุด กรีซอาจจะถูกกดดันให้ถอนตัวออกจาก Eurozone นอกจากนั้น ยังไม่มีความแน่นอนว่า ธนาคารต่างๆจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้หรือไม่

• โจทย์ที่ 3 คือ สถานการณ์ของอิตาลีและสเปนที่กำลังทรุดหนักลงเรื่อยๆ กองทุน EFSF ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเงินเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ขณะนี้ก็มีเพียง 5 แสนล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งคงจะไม่เพียงพอ หากวิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

• โจทย์ที่ 4 คือ สถานการณ์ความเชื่อมั่นของ Eurozone ยังคงทรุดหนักลงเรื่อยๆ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poor หรือ S&P ได้ออกมาคาดการณ์ว่า มีโอกาสถึง 50% ที่ประเทศสมาชิก Eurozone 6 ประเทศ รวมถึงฝรั่งเศสและเยอรมนี อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง จากระดับ AAA ซึ่งการประกาศดังกล่าว มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมของประเทศ Eurozone เพิ่มมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าว อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้ ทำให้เกิดการหวาดกลัวว่า Eurozone จะเข้าสู่ภาวะแห่งการแตกสลาย

• สุดท้าย ผลกระทบของการจัดทำข้อตกลงและผลการประชุมในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า EU กำลังแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น Eurozone กับ ส่วนที่อยู่นอก Eurozone และทั้ง 2 ส่วนก็กำลังพัฒนาไปคนละทิศคนละทาง ที่ชัดเจนที่สุด คือ บทบาทของอังกฤษ ที่คัดค้านแนวคิดของเยอรมนีและฝรั่งเศสอย่างหนัก การแตกแยกครั้งใหญ่ใน EU ครั้งนี้ อาจจะมีนัยยะสำคัญยิ่งต่อวิวัฒนาการของ EU ในอนาคต โดยเฉพาะที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มของอังกฤษ ที่กำลังถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต อังกฤษอาจจะแยกตัวออกจาก EU ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบูรณาการของ EU ในอนาคต

ผลการประชุมภาวะโลกร้อนที่อัฟริกาใต้

ผลการประชุมภาวะโลกร้อนที่อัฟริกาใต้

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 – วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2554

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา การประชุมภาวะโลกร้อนครั้งล่าสุด ที่เมือง Durban ประเทศอัฟริกาใต้ ได้ปิดฉากจบลง ด้วยความสำเร็จในระดับหนึ่ง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

ปัญหาภาวะโลกร้อน ถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของโลกปัญหาหนึ่ง แต่การประชุมที่โคเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคม ปี 2009 ก็ประสบความล้มเหลว โดยมี 4 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรก คือ รูปแบบของข้อตกลง ประเทศยากจนต้องการต่ออายุพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรื่องที่ 2 คือการกำหนดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนต้องการให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส แต่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่ 3 คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง40% ภายในปี 2020 และเรื่องที่ 4 คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน ประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP

Durban Platform

สำหรับการประชุมภาวะโลกร้อนครั้งล่าสุด ที่เมือง Durban หลังจากเจรจาต่อรองกันอย่างยืดเยื้อ ในวันที่ 11 ธันวาคม ก็สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ที่ประชุมตกลงที่จะให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Working Group on the Durban Platform for Enhanced Actions คณะทำงานดังกล่าวจะทำหน้าที่เจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของพิธีสาร (protocol) หรืออาจจะเป็นในรูปของข้อตกลงในลักษณะอื่นๆที่มีผลทางกฎหมาย (legal instrument or legal outcome) ที่ประชุมได้ตั้งเป้าว่า จะสามารถจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ให้เสร็จภายในปี 2015 และจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2020 ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิก ซึ่งจะแตกต่างจากพิธีสารเกียวโต ที่มีผลบังคับใช้กับเพียงประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศร่ำรวยเท่านั้น

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการตกลงในการจัดตั้ง Green Climate Fund โดยจะเป็นกองทุนวงเงิน 1 แสนล้านเหรียญต่อปี ที่ประเทศร่ำรวยจะลงขันกัน เพื่อใช้เป็นเงินช่วยเหลือประเทศยากจน ภายในปี 2020 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดว่า แหล่งเงินจำนวนมหาศาลนี้จะมาจากไหน

ท่าทีของประเทศต่างๆ

สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากอดีตที่การเจรจาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายระหว่างกลุ่มประเทศยากจนกับกลุ่มประเทศร่ำรวย แต่ในครั้งนี้ เส้นแบ่งระหว่างประเทศรวยและประเทศจนได้จางหายไป โดยได้มีการจับมือกันของสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศ AOSIS (Alliance of Small Island States) และกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) ในขณะที่ท่าทีของประเทศยากจน ก็แตกต่างจากท่าทีของกลุ่ม BASIC โดยเฉพาะ บราซิล อัฟริกาใต้ อินเดีย และจีน

จะเห็นได้ว่า การงัดข้อกันระหว่าง 2 กลุ่ม รวย-จน ที่ในอดีต ทำให้การเจรจาติดขัดชะงักงัน ได้เปลี่ยนแปลงไป ประเทศร่ำรวยก็แตกคอกัน โดยเฉพาะระหว่าง EU กับ สหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่มประเทศยากจนก็เป็นการแตกคอกันระหว่างประเทศยากจนส่วนใหญ่ กับ จีนและอินเดีย

ข้อเสนอ Durban Platform ในครั้งนี้ เป็นการผลักดันของ EU ร่วมกับ AOSIS และกลุ่ม LDCs โดยได้ผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิก ในขณะที่กลุ่ม BASIC ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอินเดีย มีท่าทีต่อต้านมากที่สุด อินเดียมองว่า ควรจะมีการแบ่งกลุ่ม เป็นกลุ่มประเทศยากจนกับกลุ่มประเทศร่ำรวยเหมือนเดิม และมองว่า ประเทศตะวันตกไม่ยอมตัดลดก๊าซเรือนกระจกตามที่สัญญา และกำลังจะผลักภาระมาให้ประเทศยากจน ส่วนจีน ก็มีท่าทีเหมือนอินเดีย โดยมองว่า ประเทศร่ำรวยไม่ยอมทำตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม AOSIS และกลุ่ม LDCs มองว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อตกลงฉบับใหม่ และมองว่า ประเทศร่ำรวยจะต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน มหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ก็จะต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจกของตนลงด้วย เพื่อที่จะให้บรรลุเป้า ที่จะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

เห็นได้ชัดว่า ตัวแสดงที่เป็นพระเอกและมีบทบาทนำในครั้งนี้ คือ EU ซึ่งบทบาทของ EU ได้รับความชื่นชมจากประเทศยากจน ซึ่งสนับสนุนท่าทีของ EU จึงทำให้อินเดียและจีน ตกอยู่ในสถานะลำบาก เพราะขาดแนวร่วม ส่วนสหรัฐฯนั้น ก็เปลี่ยนบทบาทไปมาก จากในการประชุมโคเปนเฮเกนที่เล่นบทบาทนำ แต่ในคราวนี้ สหรัฐฯเล่นบทบาท low profile อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็คงจะไม่พอใจนัก ต่อการที่การเจรจาในกรอบของ UN ได้เดินหน้าต่อไปได้

แนวโน้ม

• ถึงแม้ว่า การประชุมคราวนี้จะถือว่า ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ถือเป็นการต่อชีวิตเวทีการเจรจาในกรอบของ UN และเป็นการพลิกฟื้นบทบาทของ UN และทำให้บทบาทของสหรัฐฯลดลง รวมทั้งแนวทางของสหรัฐฯ ที่เน้นหลักการตัดลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ โดยข้อตกลงฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม Durban Platform ถือเป็นเพียงข้อตกลงที่จะเริ่มการเจรจากันเท่านั้น แต่การเจรจายังไม่ได้เริ่ม และเมื่อมีการเจรจาจริง ก็จะมีอุปสรรคนานัปการ ที่อาจจะทำให้การเจรจาประสบความล้มเหลวในอนาคตได้

• รูปแบบข้อตกลง : จากผลการประชุมครั้งนี้ ชี้ให้เห็นชัยชนะของประเทศร่ำรวย ที่จะให้มีการจัดทำข้อตกลงใหม่ แทนที่พิธีสารเกียวโต อย่างไรก็ตาม ยังตกลงกันไม่ได้ว่า ข้อตกลงฉบับใหม่จะเป็นไปในรูปแบบใด คือ อาจจะเป็นในรูปพิธีสาร หรืออาจจะเป็นแค่ legal instrument หรือ legal outcome

• แต่เรื่องที่ใหญ่ที่สุดในการเจรจาในอนาคต คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคงจะมีปัญหาแน่นอน เพราะท่าทีเดิมของประเทศยากจน คือ ต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 แต่ประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย โดยมองว่า หากต้องปรับลดก๊าซลง 40% ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศตน

ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อเอเชีย

ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อเอเชีย

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2554

Grand Strategy

ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า สำหรับยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชีย ก็เหมือนกับยุทธศาสตร์ในระดับโลก คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค แต่การผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้ในอนาคต จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ยุทธศาสตร์การปิดล้อมและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิทธิพลของจีนในภูมิภาคได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯก็ลดลงไปเรื่อยๆ สหรัฐฯจึงได้ข้อสรุปว่า จะอยู่เฉยๆไม่ได้ และจะต้องดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อแข่งกับจีน เพื่อปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน

ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล Obama ปี 2010

ในสมัยรัฐบาล Obama สหรัฐฯประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ต้องการใกล้ชิดกับอาเซียนมากขึ้น โดยได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯครั้งแรกขึ้น ในปี 2009 ต่อมา ในปี 2010 สหรัฐฯก็มีความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน และการเปิดแนวรุกทางการทูตใหม่กับประเทศในอินโดจีน ในกรอบของ US- Lower Mekong Initiative ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการทหาร

อีกเรื่องที่แสดงให้เห็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุกของสหรัฐฯในภูมิภาค คือ การจุดชนวนปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยในระหว่างการประชุม ARF ในเดือนกรกฎาคม ปี 2010 สหรัฐฯได้ประกาศท่าทีว่า สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ เห็นได้ชัดว่า เป็นการฉวยโอกาสที่สหรัฐฯจ้องมองอยู่นานแล้ว ที่จะเข้าแทรกแซงในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน

ยุทธศาสตร์ ปี 2011

สำหรับในปี 2011 นี้ สหรัฐฯยังเดินหน้ายุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอย่างเข้มข้น และอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

• Obama ประกาศนโยบายสหรัฐฯต่อภูมิภาค
ไฮไลท์ของยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อภูมิภาค เกิดขึ้นในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama สุนทรพจน์ที่ Obama กล่าวต่อรัฐสภาของออสเตรเลียในวันที่ 17 พฤศจิกายน ถือเป็นการประกาศนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐฯต่อเอเชีย Obama ได้ประกาศว่า สหรัฐฯกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อเอเชีย สหรัฐฯเป็น Pacific Nation และภูมิภาคนี้ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก Obama จึงได้ตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นลำดับสูงสุด และสหรัฐฯจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และได้มีการจัดทำข้อตกลงทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย โดยในปี 2012 สหรัฐฯจะส่งทหารเข้ามาประจำการประมาณ 2,500 นาย ที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
ผมวิเคราะห์ว่า แนวโน้มการขยายอำนาจทางทหารของจีน และแนวโน้มความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีนในอนาคต ทำให้สหรัฐฯปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อภูมิภาค เพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร และเพื่อเตรียมพร้อมต่อการเผชิญหน้าทางทหารกับจีนในอนาคต
และการที่สหรัฐฯจะส่งกองกำลังทหารไปประจำที่เมือง Darwin นั้น อาจจะเป็นก้าวแรกของการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในอนาคต เมือง Darwin มีภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มาก จะทำให้สหรัฐฯเคลื่อนย้ายเรือรบและเครื่องบินรบ เข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้ง่ายขึ้น

• ยุทธศาสตร์ hub and spokes
ในปี 2011 สหรัฐฯยังเดินหน้าตอกย้ำยุทธศาสตร์ hub and spokes ต่อไป โดยมีสหรัฐฯเป็น hub หรือดุมล้อ และมีประเทศพันธมิตรเป็น spokes หรือ ซี่ล้อ ความสัมพันธ์ทวิภาคีทางทหารกับพันธมิตรกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นทุกประเทศ ไล่มาตั้งแต่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ไทย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และอินเดีย โดยภาพรวมแล้ว สหรัฐฯกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับเกือบทุกประเทศในภูมิภาค ที่มียกเว้น คือ เกาหลีเหนือ จีน และพม่า เท่านั้น
และที่มีนัยยะสำคัญ คือ การเยือนฟิลิปปินส์ ของ Hillary Clinton ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration ปฏิญญาดังกล่าว เป็นการตอกย้ำถึงพันธมิตรทางทหาร โดย Clinton ได้ประกาศกร้าวว่า “สหรัฐฯจะอยู่กับฟิลิปปินส์ตลอดไป และจะยืนหยัดและต่อสู้เพื่อปกป้องฟิลิปปินส์”

• อาเซียน-สหรัฐฯ
สำหรับความสัมพันธ์กับอาเซียน สหรัฐฯก็เดินหน้ายุทธศาสตร์ในเชิงรุก ตีสนิทกับอาเซียน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 3 ไปแล้ว ท่าทีของสหรัฐฯต่ออาเซียนก็เปลี่ยนไปมาก โดยโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของอาเซียนเกือบทุกเรื่อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯตีสนิทกับอาเซียนมากขึ้น ก็เพื่อแข่งกับจีน
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ในกรอบ US- Lower Mekong Initiative เพื่อเข้ามาแข่งกับจีนในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และพม่า

• East Asia Summit หรือ EAS
เวทีพหุภาคีอีกเวทีหนึ่งที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก คือ การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกในการประชุม East Asia Summit หรือ EAS สหรัฐฯมองว่า การเป็นสมาชิก EAS จะทำให้สหรัฐฯเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะช่วยป้องกันการที่ประเทศในเอเชียตะวันออกจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย สหรัฐฯต้องการให้ EAS มีความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่เข้มข้น และต้องการที่จะเข้ามามีบทบาทนำใน EAS

• ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ในปี 2011 สหรัฐฯยังคงผลักดัน เดินหน้าจุดชนวนความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ต่อไป การที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ และยุแหย่ให้ประเทศอาเซียนกับจีนทะเลาะกัน เป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ เพื่อเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร ท่าทีของสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯเป็น Pacific Nation และเป็น Resident Power สหรัฐฯจึงมีผลประโยชน์แห่งชาติในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ สหรัฐฯต่อต้านการใช้กำลังในการแก้ปัญหา และสนับสนุนกระบวนการทางการทูตพหุภาคีที่จะแก้ไขปัญหานี้
และในช่วงเดือนมิถุนายน ผู้บัญชาการกองทัพเรือของสหรัฐฯในภูมิภาคแปซิฟิก ได้ตอกย้ำว่า กองทัพเรือของสหรัฐฯมีเป้าหมายที่จะคงบทบาทของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ และจะเพิ่มบทบาทมากขึ้นในอนาคต

• TPP
ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯในการปิดล้อมจีน ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงทางด้านการทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจด้วย เครื่องมือสำคัญของการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ คือ การผลักดัน FTA ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP
เป้าหมายระยะยาวของสหรัฐฯต่อการพัฒนา TPP คือ การขยายจำนวนสมาชิกจาก 12 ประเทศ ให้ครอบคลุมประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯ คือ การเอา TPP มาแข่งกับ FTA ที่จีนทำกับอาเซียน และ FTA ในกรอบอาเซียน+3
ในการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ สหรัฐฯประสบความสำเร็จในการบีบให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับ TPP
แนวโน้มในอนาคต สหรัฐฯจะหันมาให้ความสำคัญกับ TPP เป็นหลัก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ TPP ซึ่งจะมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ จะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และ TPP จะเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯในการครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป

Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่?

Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่?

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 2 – วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2554

วิกฤตหนี้ Eurozone กำลังเป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นล่มสลาย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มว่า Eurozone กำลังจะล่มสลายหรือไม่

แนวโน้มการล่มสลายของ Eurozone

วิกฤต Eurozone ในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบปัญหาหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แต่ต่อมา สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายเข้าสู่สเปนและอิตาลี โดยที่ผ่านมา ได้มีความพยายามกอบกู้วิกฤต ทั้งในกรอบของ EU IMF และ G20 แต่ก็ยังๆไม่มีความแน่นอนว่า กลไกเหล่านี้จะสามารถกอบกู้วิกฤตได้หรือไม่ โอกาสที่วิกฤตจะลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่การล่มสลายของ Eurozone ก็มีความเป็นไปได้ โดยปัจจัยสำคัญๆ ที่จะนำไปสู่การล่มสลายของ Eurozone มีดังนี้

• นักลงทุน : ขณะนี้ ความหวาดวิตกของนักลงทุนต่อการแตกสลายของ Eurozone ทำให้เกิดสภาวะการแตกตื่น หรือ panic โดยได้มีการถอนเงินออกจากประเทศที่มีปัญหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

• ธนาคาร : สถานะของธนาคารในยุโรปกำลังย่ำแย่อย่างหนัก ทั้งนี้ จากที่ได้กล่าวข้างต้น คือ เกิดจากการแตกตื่น ถอนเงินออกจากธนาคารเป็นจำนวนมาก ตลาดระหว่างธนาคารอยู่ในภาวะตึงเครียด โดยธนาคารเป็นจำนวนมากไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้กันและกัน ซึ่งในที่สุด อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่จะหนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 แม้ว่า การประชุมสุดยอด Eurozone ในเดือนตุลาคม จะได้ออกมาตรการที่จะให้ธนาคารในยุโรปเพิ่มทุนจำนวน 1 แสนล้านยูโร ภายในเดือนมิถุนายน ปี 2012 แล้วก็ตาม แต่การเพิ่มทุนดังกล่าว อาจจะไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรปได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหา คือ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี เป็นเงินรวมกว่า 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลเหล่านี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารต่างๆก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

• ประเทศสมาชิก : อาจจะมีบางประเทศถอนตัวออกจาก Eurozone โดยกรีซอาจถูกกดดันให้ถอนตัวออกจาก Eurozone แม้ว่า ในการประชุมสุดยอด Eurozone จะได้มีข้อตกลงกับธนาคารต่างๆ ที่จะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า เอาเข้าจริงๆแล้ว ธนาคารเหล่านี้จะยอมยกเลิกหนี้ให้จริงๆหรือไม่

นอกจากนี้ ประเทศที่น่าเป็นห่วง คือ อิตาลี และสเปน ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หากผิด
นัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบต่อ Eurozone เป็นอย่างมาก กองทุน EFSF แม้จะมีความพยายามเพิ่มเงินเข้าไปเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ หากวิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

โดยสถานการณ์ล่าสุดของสเปนนั้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง คือ People’s Party จะมีนโยบายปฏิรูปและลดการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่สถานการณ์ของสเปนกลับเลวลง โดยค่าให้จ่ายในการกู้ยืมเงินของประเทศกลับสูงขึ้น

สำหรับอิตาลี ที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ Eurozone แต่มีหนี้สูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญ หากอิตาลีผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ถึงแม้ว่า ล่าสุดจะได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ Mario Monti แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น และที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ ภายในเดือนมกราคม ปีหน้า อิตาลีจะต้องจ่ายเงินสำหรับพันธบัตรรัฐบาล เป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีเงินจ่าย ก็จะทำให้อิตาลีประสบกับภาวะผิดนัดชำระหนี้

นอกจากนี้ ขณะนี้ สถานการณ์ดูจะลุกลามบานปลายเข้าสู่เบลเยียมและฝรั่งเศสแล้ว เพราะทั้ง 2 ประเทศ มีค่าใช้จ่ายในการกู้ยืม หรือ borrowing costs สูงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น โอกาสของการเกิด domino effect คือ การแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้ จากกรีซไปสู่
ประเทศอื่นๆ ก็ยังมีสูง โดยหากกรีซล้มละลาย โปรตุเกสและไอร์แลนด์ก็จะล้มละลายตาม และจะส่งผลกระทบต่อสเปน อิตาลี และ ฝรั่งเศส ด้วย

• ปัจจัยอีกประการที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง คือ การที่รัฐบาลประเทศต่างๆ
จะต้องมีมาตรการรัดเข็มขัด และการล่มสลายของความเชื่อมั่น ทั้งจากภาคธุรกิจ และจากผู้บริโภค จะนำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของยุโรป ในปี 2012 ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่า “วงจรอุบาทว์” คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ทำให้หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น และประชาชนจะต่อต้านมาตรการปฏิรูปและรัดเข็มขัดมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนแตกตื่นมากขึ้น และจะถอนเงินออกจากระบบธนาคารมากขึ้นด้วย

• กลไกกอบกู้วิกฤต : ที่ผ่านมา EU IMF และ G20 ได้พยายามออกมาตรการกอบกู้วิกฤต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ EU ไม่สามารถผลักดันมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กองทุน EFSF แม้จะมีการเพิ่มเงินเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ก็ไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับบทบาทของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งไม่สามารถเล่นบทบาทเป็นเหมือน IMF ได้ คือ บทบาทที่เราเรียกว่า แหล่งผู้ให้กู้รายสุดท้าย (lender of last resort) ดังนั้น หากกลไกเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ Eurozone ก็อาจแตกสลายลงไปได้

ผลกระทบ

ดังนั้น หาก Eurozone ล่มสลาย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดังนี้

• การล่มสลายของ Eurozone จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างมาก โดยน่าจะรุนแรงกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008

• EU และ Eurozone ถือเป็นภูมิภาคที่มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้นที่สุดในโลก ก็อาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยสภาวะการผิดนัดชำระหนี้ และการล้มละลายของธนาคารต่างๆ

• การแตกสลายของ Eurozone จะทำให้ประเทศสมาชิก Eurozone เดิมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จะเป็นสมาชิกที่อยู่ทางเหนือของยุโรป ซึ่งอาจจะยังคงมีการบูรณาการกันได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ 2 คือประเทศสมาชิกทางตอนใต้ ซึ่งคงจะแตกออกจาก Eurozone อย่างสิ้นเชิง

• การล่มสลายของ Eurozone จะถือเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของบูรณาการทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยผลกระทบของการล่มสลายของ Eurozone จะทำให้ค่าเงินผันผวนอย่างมาก และอาจจะกระทบต่อตลาดร่วมยุโรป และในที่สุด อาจจะกระทบต่อการคงอยู่ของ EU ในระยะยาวด้วย

• สุดท้าย แน่นอนว่า การล่มสลายของ Eurozone จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ great depression คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหม่ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน– วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด ที่บาหลี อินโดนีเซีย ที่เพิ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายน ดังนี้

การจัดการภัยพิบัติ

เรื่องแรกที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การหารือในเรื่องการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะในไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ในเอกสารผลการประชุมกล่าวว่า ที่ประชุมยินดีที่ได้มีการลงนามข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติของอาเซียนขึ้น ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management (AHA Centre) โดยได้มีการเปิดศูนย์ AHA Centre อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงที่จะเพิ่มบทบาทให้กับเลขาธิการอาเซียน ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Coordinator)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมองว่า กลไกต่างๆเหล่านี้ของอาเซียนเข้าทำนอง “วัวหายล้อมคอก” โดยในช่วงวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะที่เกิดในไทย อาเซียนไม่มีบทบาทอะไรเลย นับเป็นความล้มเหลวของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ที่เมื่อเกิดวิกฤต อาเซียนก็ไม่สามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้ และผมก็ไม่แน่ใจว่า AHA Centre ในอนาคต จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ในการที่จะจัดการกับภัยพิบัติในภูมิภาค แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเดาว่า ศูนย์ดังกล่าวไม่น่าจะมีประสิทธิภาพ

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

สำหรับไฮไลท์ของการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น เรื่องสำคัญ คือ การประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับจีนโดยอาเซียนได้เน้นถึงความสำคัญของปฏิญญาแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ปี 2002 คือ Declaration on the Conduct of the Parties in the South China Sea (DOC) อาเซียนได้เน้นการแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ และพัฒนาไปสู่การจัดทำ Regional Code of Conduct อาเซียนยินดีที่ได้มีการจัดทำ Guidelines สำหรับการแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน ในช่วงเดือนกรกฎาคม อาเซียนและจีนควรจะเดินหน้าจัดทำโครงการและกิจกรรมความร่วมมือภายใต้ DOC และยินดีที่ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน เกี่ยวกับเรื่องนี้

ผมมองว่า จีนและอาเซียนไม่อยากให้ความขัดแย้งนี้ลุกลามบานปลาย จึงพยายามหันกลับมาเจรจา แต่ความขัดแย้งก็ยังคุกรุ่นและยังล่อแหลมอยู่ โดยเฉพาะระหว่างจีนกับเวียดนาม และจีนกับฟิลิปปินส์ แต่ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ร้อนแรงขึ้นมา คือ สหรัฐฯ โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การจุดประเด็นความขัดแย้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างและเหตุผลในการเพิ่มบทบาททางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาค และสหรัฐฯต้องการใช้ประเด็นความขัดแย้งนี้ ทำให้จีนและอาเซียนขัดแย้งกัน ซึ่งจะเข้าทางสหรัฐฯ ทำให้ประเทศในอาเซียนหันมาใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯมาถ่วงดุลจีน

นอกจากนี้ ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนเดินทางมาประชุมกับอาเซียน Obama ก็ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯใหม่โดยจะส่งทหารเข้ามาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคต อาจจะพัฒนาเป็นฐานทัพใหม่ของสหรัฐฯ จุดยุทธศาสตร์ที่ Darwin นี้ จะทำให้สหรัฐฯ มีกองกำลังทหารและฐานทัพที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มากขึ้น เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯกำลังจะเพิ่มบทบาททางทหาร และพร้อมที่จะเผชิญหน้าทางทหารกับจีนในทะเลจีนใต้ในอนาคต

East Asia Summit (EAS)

อีกเรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการหารือของอาเซียนกับมหาอำนาจ คือ การประชุม East Asia Summit หรือ EAS ปัจจัยที่ทำให้เป็นประเด็นร้อน คือ การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของสหรัฐฯ โดยมี Obama เข้าร่วมประชุม สหรัฐฯมองว่า การเข้าเป็นสมาชิก EAS จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทในการพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย สหรัฐฯต้องการให้ EAS มีความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่เข้มข้น และพยายามที่จะเข้ามามีบทบาทนำใน EAS ทำให้อาเซียนมีความวิตกกังวลว่า อาเซียนจะไม่สามารถคุมเกม EAS ได้

ดังนั้น ในการประชุมสุดยอด EAS ในครั้งนี้ อาเซียนจึงได้ตอกย้ำจุดยืนของอาเซียน ที่ต้องการให้ EAS เป็นเวทีหารือในระดับผู้นำเท่านั้น และเป็นเวทีหารือประเด็นปัญหา ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างกว้างๆ โดยจะเน้นสาขาความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน พลังงาน การศึกษา สาธารณสุข และการจัดการภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการประนีประนอมกับสหรัฐฯ อาเซียนจึงยอมที่จะหารือในประเด็นด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในสาขาที่สหรัฐฯต้องการ คือ ความมั่นคงทางทะเล อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย ปัญหาโจรสลัด และปัญหาการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

นอกจากนี้ ในการประชุม EAS ในครั้งนี้ ได้มีการจัดทำปฏิญญาขึ้น 2 ฉบับ ฉบับแรกเกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ และฉบับที่ 2 เป็นการกำหนดหลักการกว้างๆของกรอบความร่วมมือ EAS

ผมมองว่า การประชุม EAS ในครั้งนี้ โดดเด่นขึ้นมามาก ทั้งนี้ เพราะการเข้าร่วมของสหรัฐฯ เห็นได้ชัดว่า ขณะนี้ EAS ได้กลายเป็นกลไกที่โดดเด่นกว่าอาเซียน+3 ไปแล้ว โดยการประชุม EAS ครั้งนี้ มีปฏิญญา 2 ฉบับ ในขณะที่ การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ไม่มีอะไรโดดเด่น จึงนับเป็นพัฒนาการที่สำคัญว่า ในอนาคตกรอบอาเซียน+3 และ EAS จะพัฒนากันไปอย่างไร ในอดีต อาเซียนให้ความสำคัญกับกรอบอาเซียน+3 มากกว่า EAS โดยตั้งเป้าว่า จะให้อาเซียน+3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯมองว่า อาเซียน+3 กีดกันสหรัฐฯ พัฒนาการของอาเซียน+3 จึงช้าลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ EAS ก็โดดเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้วยการผลักดันจากสหรัฐฯ

ASEAN Community in a Global Community of Nations

และอีกเรื่องที่อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเป็น theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” โดยอินโดนีเซียต้องการเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และเพิ่มบทบาทอาเซียนในการจัดการปัญหาของโลก

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ อินโดนีเซียได้ผลักดันเอกสาร Bali Concord III โดยเป็นเอกสารกำหนดรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก เป้าหมายสำคัญของเอกสารดังกล่าว คือ จะทำให้ท่าทีของอาเซียนในประเด็นปัญหาของโลกมีความเป็นเอกภาพ และจะมีการเพิ่มบทบาทและท่าทีร่วมของอาเซียนในเวทีพหุภาคีต่างๆ นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มสมรรถภาพของอาเซียนที่จะเข้าไปแก้ปัญหา และตอบสนองต่อปัญหาของโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากดูในรายละเอียดแล้ว Bali Concord III ก็เป็นเอกสารที่น่าผิดหวัง ผิดกับ Bali Concord I ที่เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ของอาเซียน และ Bali Concord II ก็เป็นเอกสารจัดตั้งประชาคมอาเซียน แต่ Bali Concord III แทบจะไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย ในแง่ของยุทธศาสตร์ของอาเซียนในเวทีโลก มีแต่การพูดถึงหลักการกว้างๆ ซึ่งไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย ผมมองว่า นับเป็นความล้มเหลวของอินโดนีเซีย ที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในฐานะประธานอาเซียน และผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการจัดการปัญหาของโลก ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย เช่นเดียวกับเอกสาร Bali Concord III ก็เป็นเอกสารที่ว่างเปล่า

ผมวิเคราะห์ว่า ยุทธศาสตร์ลึกๆของอินโดนีเซียในการผลักดันเรื่องนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นมหาอำนาจ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก กับบทบาทของอินโดนีเซียในฐานะสมาชิก G20 อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และอาจกล่าวได้ว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ตามทฤษฎีแล้ว ก็น่าจะเป็นการดี ที่อาเซียนจะสามารถมีบทบาทในเวทีโลกได้ แต่ปัญหาสำคัญ คือ ในทางปฏิบัติ อาเซียนยังไม่สามารถเล่นบทบาทนี้ได้ จริงๆแล้ว อาเซียนไม่ควรทำเรื่องเกินตัว อาเซียนยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกหลายเรื่อง คือ การทำให้ประชาคมอาเซียนมีความสมบูรณ์ การทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และการทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง