Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2554

ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ได้ลุกลามใหญ่โตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เป็นปัญหายืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่กรณีเข้าพระวิหาร มาจนถึงการปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้เกิดการปะทะกันขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนั้น กัมพูชาเสนอเรื่องไปที่ UNSC และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ UNSC ได้ประชุมพิจารณาเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตครั้งใหญ่ของไทย ที่ไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะไทยคิดว่า เจรจา 2 ฝ่าย ไทยจะได้เปรียบ แต่ถ้ากลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ มี UN เข้ามายุ่ง หรือมีอาเซียนเข้ามายุ่ง จะทำให้ไทยเสียเปรียบ เพราะอาจมีบางประเทศถือหางกัมพูชา ในทางกลับกัน กัมพูชาพยายามยกระดับปัญหานี้ โดยดึงเอา UN และอาเซียนเข้ามา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ

ผลการประชุม UNSC ออกมาว่า ให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงอย่างถาวร และแก้ปัญหาโดยการเจรจา และสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหา

ต่อมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่อินโดนีเซีย การที่อาเซียนเข้ามามีบทบาท ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางการทูตครั้งใหญ่ของไทยเช่นกัน โดยน่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียน ที่ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก

หลังจากการประชุม หลายๆฝ่ายมองว่า สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย เพราะฝ่ายไทยกับฝ่ายกัมพูชาจะได้มาเจรจากัน ทางอินโดนีเซียก็จะเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการจะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา

แต่ในที่สุด ความคาดหวังก็ล้มเหลวหมด โดยเกิดการปะทะกันครั้งใหม่ ในช่วงปลายเดือนเมษายน ผมมองว่า สิ่งที่ควรจะเกิดและมีผลลัพท์ในทางบวก ก็ล้มเหลว โดยไม่มีความคืบหน้าทางการทูต มาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ แม้ว่าจะมีการประชุม JBC ที่โบกอร์ อินโดนีเซีย แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไรที่เป็นรูปธรรม การประชุม GBC ก็ถูกยกเลิกการประชุมไป เพราะไทยแสดงท่าทีไม่อยากไปประชุมที่อินโดนีเซีย รวมถึงเรื่องสถานะของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ที่ควรจะดำเนินการให้รวดเร็ว แต่ก็ติดขัดมาโดยตลอด

ท่าทีของไทย ก็มีความแตกแยก โดยกระทรวงต่างประเทศคิดแบบหนึ่ง ฝ่ายทหารคิดอีกแบบหนึ่ง ทางกระทรวงต่างประเทศมองในแง่ของการประนีประนอม ในเรื่องการให้อินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา ส่วนทางฝ่ายทหารมีท่าทีแข็งกร้าว ไม่ยอม เพราะฉะนั้น ฝ่ายไทยจึงตกลงกันไม่ได้

ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทางกัมพูชาคิดว่า จะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะเป้าหมายสูงสุดของกัมพูชา คือ ความต้องการขยายปัญหานี้ให้ไปสู่ระดับสากล คือ เวที UNSC ซึ่งวิถีทางที่จะนำไปสู่ UNSC คือ ต้องขยายความขัดแย้งนี้ให้รุนแรงมากขึ้น ให้กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แน่นอนว่า UNSC จะต้องเข้ามายุ่งแน่ โดยกัมพูชาหวังว่า เมื่อ UN เข้ามาแล้ว ความพยายามผลักดันเรื่องแผนการจัดการเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา จะประสบความสำเร็จ และอาจนำไปสู่การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อน แต้มต่อของกัมพูชา คือ การเป็นประเทศเล็ก ซึ่งเมื่อมีเรื่องกับประเทศใหญ่ คือ ไทย ก็จะได้รับความเห็นใจ

ส่วนเป้าหมายของไทย ก็เช่นเดียวกัน คือ การป้องกันไม่ให้เสียดินแดน โดยเฉพาะเขตพื้นที่ทับซ้อน ไทยกลัวว่า แผนการจัดการพื้นที่โดยรอบเขาพระวิหาร ซึ่งจะกินเข้ามาสู่พื้นที่ทับซ้อน อาจจะนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคตได้ ยุทธศาสตร์ของไทย คือ การจำกัดวงให้ปัญหาเป็นปัญหาทวิภาคี และไม่ให้ลุกลามเป็นปัญหาพหุภาคี ซึ่งจะเข้าทางกัมพูชา และยุทธศาสตร์อีกประการ คือ การชะลอไม่ให้ UNESCO รับรองแผนการจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา

แนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มของสถานการณ์ กำลังจะคลี่คลายเข้าสู่กระบวนการทางการทูต โดยในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกษิต ได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และได้เจรจาตกลงในเรื่องสถานะของผู้สังเกตการณ์เรียบร้อยแล้ว และในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า นายกฯอภิสิทธิ์ อาจจะได้มีโอกาสหารือกับ ฮุน เซน และในช่วงกลางเดือนนี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ก็มีความเป็นไปได้ว่า รัฐมนตรีกลาโหมไทยกับกัมพูชา อาจจะได้มีโอกาสหารือกัน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม GBC

อีกเวทีหนึ่งที่จะต้องจับตามอง คือ UNESCO และการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะประชุมกันในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ โดยไทยได้เรียกร้องให้ชะลอการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยได้บอกว่าการขึ้นทะเบียนเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง และผลกระทบของการขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีปัญหาเป็นพื้นที่ทับซ้อน และน่าจะรอจนกว่า การดำเนินงานด้านเขตแดน โดย JBC จะแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน กัมพูชาได้ทิ้งไพ่ใบสำคัญลงมาอีกใบหนึ่ง โดยได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลก เพื่อให้ตีความใหม่เกี่ยวกับคำตัดสินเกี่ยวกับกรณีเขาพระวิหาร เมื่อปี 1962 โดยขอให้ตีความคำตัดสินที่บอกว่า เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น จะรวมถึงเขตพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ หลังจากมีข่าวเรื่องนี้ออกมา นายกฯอภิสิทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เตรียมตัวที่จะต่อสู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยหากศาลโลกตัดสินใจที่จะพิจารณาคำร้องของกัมพูชา ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี กว่าที่จะตีความออกมา
ข้อเสนอท่าทีไทย

จากสถานการณ์และแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น ผมขอเสนอว่า ไทยควรจะมีท่าที ดังนี้

• ไทยต้องการเน้นกลไกทวิภาคี ซึ่งถ้าจะเจรจาทวิภาคีได้นั้น ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ทั้ง 2 ฝ่าย
ต้องเห็นด้วย แต่สิ่งที่เรามองข้ามไป คือ ในอดีต กลไกทวิภาคีใช้ได้ เพราะทางฝ่ายกัมพูชา ยินดีที่จะเจรจากับฝ่ายไทย และไม่ได้มองว่า จะต้องไปดึงเอาใครเข้ามาช่วย แต่มันเกิดอะไรขึ้น ที่ทำให้กัมพูชา ในขณะนี้ ไม่ไว้ใจไทยในการเจรจาทวิภาคี และไม่อยากที่จะเจรจาทวิภาคีกับไทย กัมพูชาจึงต้องพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ไปสู่เวทีพหุภาคี เราต้องหาคำตอบว่า จะทำอย่างไร ให้กัมพูชากลับมาให้ความไว้วางใจต่อเวทีทวิภาคีอีกครั้งหนึ่ง

• แต่ขณะนี้ มันได้เลยจุดที่เราจะปิดห้องคุยกันเพียง 2 คนไปแล้ว ไทยไม่สามารถจำกัดวงให้
เป็นเวทีทวิภาคีเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะอาเซียนกับ UN ได้เข้ามายุ่งแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไทยจึงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ขณะนี้ กลไกเจรจามีลักษณะเป็นเวทีคู่ขนาน คือ มีกลไกทวิภาคีและกลไกพหุภาคีอยู่คู่กัน โดยเปรียบเหมือนว่า แม้ว่าเราจะปิดห้องคุยกัน 2 คน (ทวิภาคี) แต่ในห้องนั้น ก็มีคนอยู่เต็มไปหมด (พหุภาคี) ที่คอยดู และบางคนก็เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย ในการคุยกันของ 2 คนนั้น

• ไทยจึงควรจะต้องปรับนโยบายใหม่ โดยยอมรับความเป็นจริงว่า ขณะนี้ ปัญหาได้บานปลายออกไปแล้ว โดยไทยน่าจะมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายสูงสุดของเรา คือ เราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร แทนที่จะมาหมกมุ่นอยู่กับการถกเถียงในการตีความว่า เรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องทวิภาคีหรือเรื่องพหุภาคีกันอยู่ไม่จบไม่สิ้น

• ไทยควรจะวางตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่ไปเถียงกับเด็ก ควรจะมีความอดกลั้นมากกว่านี้ ควรจะมีความใจเย็นมากกว่านี้ ผมคิดว่า เราใจร้อนเกินไป แข็งกร้าวเกินไป เราควรพยายามหาลู่ทางนำไปสู่กระบวนการเจรจาทางการทูต เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธี และหาสูตรที่ลงตัวในการเจรจา แม้ว่าทางฝ่ายกัมพูชาจะมีท่าทีแข็งกร้าวและยั่วยุ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เปรียบเหมือนกับกัมพูชาเป็นเด็ก ก็อาจจะโยเย งอแง และเกเร แต่ในแง่ของไทย ที่เป็นประเทศที่ใหญ่กว่า เมื่อมีเรื่องกัน ก็เหมือนกับผู้ใหญ่มีเรื่องกับเด็ก คนอื่นก็ต้องมองว่า เรารังแกเด็ก เราจึงเสียเปรียบในสายตาประชาคมโลก

• ผมมองว่า ช่องทางการเจรจาทางการทูตยังไม่ได้ถูกปิดและยังไม่ถึงทางตัน เพราะยังมีช่องทางการเจรจาอีกหลายช่องทาง นายกฯอภิสิทธิ์ ก็จะเจอกับนายกฯฮุน เซน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังจะเจอกัน สิ่งเหล่านี้ เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กระบวนการทางการทูตกำลังจะกลับมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้

• ผมขอเน้นว่า เป้าหมายของไทย คือ ไม่ต้องการให้เรื่องลุกลามกลับไปที่ UNSC อีก แต่ทางกัมพูชา ก็มีเป้าหมายตรงกันข้าม ยุทธศาสตร์ของกัมพูชา ที่จะให้เรื่องนี้กลับไปที่ UNSC คือ ต้องทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น และทำให้การประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนล้มเหลว ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของไทย คือ ต้องไม่ให้เข้าทางกัมพูชา ไทยต้องป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ต้องทำให้การประชุมทวิภาคีและการประชุมอาเซียนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้

จุดล่อแหลมที่เรื่องนี้อาจจะกลับไปที่ UNSC อีกครั้ง คือ ในเดือนมิถุนายนนี้ ฝรั่งเศสจะเป็นประธาน UNSC และเราก็รู้ดีว่า ฝรั่งเศสสนับสนุนกัมพูชามาโดยตลอด ฝันร้ายของไทยจะมาถึง หาก UNSC จะมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งผมเดาว่า การพิจารณาครั้งที่ 2 นี้ UN คงจะเข้ามายุ่งเต็มตัว โดยอาจจะมีข้อมติออกมา และจะมีการส่งผู้สังเกตการณ์ของ UN เข้ามา หรือถ้าจะเป็น worst-case scenario ของไทย คือการที่ UN จะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาในเขตพื้นที่ทับซ้อน

• การปะทะกันทางทหารเป็นดาบ 2 คม โดยทางกัมพูชาต้องการให้เกิดการปะทะเพื่อผลักดันเรื่องไป UNSC ส่วนไทยก็อาจจะมองว่า การปะทะกันทางทหาร อาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้ UNESCO ชะลอในเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้น ไทยจึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า การปะทะกันทางทหาร จะช่วยใครกันแน่ คือ จะช่วยกัมพูชานำเรื่องเข้า UNSC หรือจะช่วยไทยในการชะลอเรื่องมรดกโลก

• กล่าวโดยสรุป ทางออกของความขัดแย้งไทย-กัมพูชา หัวใจ คือ การเจรจา ประนีประนอม โดยในขั้นต้น จะต้องมีการหยุดยิงและถอนทหารออกจากเขตพิพาท หลังจากนั้น จะต้องมีการเจรจากันในรายละเอียด ซึ่งมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการปักปันเขตแดน ปัญหาเขตทับซ้อน ปัญหาการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันของทั้ง 2 ชาติ ลดกระแสเกลียดชัง และกระแสชาตินิยมสุดโต่ง การมีสัมพันธ์ที่ดี และทั้ง 2 ชาติ เป็นมิตรไมตรีจิตต่อกัน จะเป็นยาแก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุด

Trans-Pacific Partnership หรือ TPP : ผลกระทบต่อไทย

Trans-Pacific Partnership หรือ TPP : ผลกระทบต่อไทย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 6 – วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2554

แนวโน้มที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย คือ ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะผลักดันการจัดตั้ง FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือเรียกย่อว่า TPP คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ FTA ดังกล่าว โดยจะวิเคราะห์ถึง ภูมิหลัง สาเหตุ ผลกระทบต่อไทย และข้อเสนอท่าทีไทย ดังนี้

ภูมิหลัง

ในการประชุมเอเปค ที่โยโกฮามา ญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2010 สหรัฐฯได้ผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค เพื่อมาแข่งกับประชาคมอาเซียน สหรัฐฯกลัวว่า เอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และอิทธิพลของสหรัฐฯจะลดลง ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การรื้อฟื้นเอเปค ด้วยการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งหัวใจของประชาคมดังกล่าว คือ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) ซึ่งหัวใจของ FTAAP คือ การจัดตั้ง FTA ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP

ในระหว่างการประชุมเอเปคที่โยโกฮามา ได้มีการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรกขึ้น ระหว่างผู้นำ 9 ประเทศที่สนใจจะเข้าร่วม TPP ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่ และอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

สหรัฐฯบอกว่า TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง จะครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ จะเป็น FTA ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด สหรัฐฯมีแผนที่จะขยายจำนวนสมาชิก จาก 9 ประเทศ ให้ขยายไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมสมาชิกเอเปคทั้งหมด ซึ่งจะมีปริมาณการค้ารวมกัน คิดเป็น 40 % ของการค้าโลก TPP จึงจะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สหรัฐฯกำลัง lobby ประเทศต่างๆอย่างหนักให้เข้าร่วม TPP มากขึ้น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แสดงความสนใจ และสหรัฐฯกำลังเจรจากับ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

ซึ่งสำหรับไทย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา Barbara Weisel ผู้ช่วย USTR ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อชักชวนให้ไทยเข้าร่วม TPP โดย Weisel ได้บอกว่า การค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศจะเพิ่มขึ้น หากไทยเข้าร่วม TPP ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจา TPP ไปแล้ว 6 รอบ โดยตั้งเป้าว่า จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย ในเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังสงวนท่าทีในเรื่องนี้อยู่

สาเหตุ

สำหรับสาเหตุ หรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯพยายามผลักดัน TPP นั้น สาเหตุหลัก คือ เพื่อเป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน+3 (ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ กับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) หากอาเซียน+3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก เศรษฐกิจโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้ว คือ ขั้วสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกจึงท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากต่อผลประโยชน์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯในภูมิภาค มีการประเมินโดยนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯว่า FTA ในกรอบอาเซียน+3 จะกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯปีละ 25,000 ล้านเหรียญ สหรัฐฯจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่ม และทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่ใหญ่กว่า คือให้เป็นส่วนหนึ่งของกรอบเอเปค โดยมี TPPเป็นหัวใจ หรือเป็นแกนกลาง

ผลกระทบต่อไทย

คำถามสำคัญในขณะนี้ต่อไทย คือ ไทยจะเข้าร่วม TPP ดีหรือไม่ และการเข้าร่วม TPP จะมีผลดี-ผลเสียต่อไทยอย่างไร ผมขอวิเคราะห์ผลดี-ผลเสียในชั้นต้น ดังนี้

• ผลดี
เรามาเริ่มต้นที่ผลดีก่อน หากไทยเข้าร่วม TPP ผลดีตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ เศรษฐกิจไทยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้าไทยกับภูมิภาคจะเพิ่มมากขึ้น การลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตจะลดลง

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไป คือ หากไทยเข้าร่วม TPP ก็เท่ากับเราจะมี FTA กับ 9 ประเทศ แต่หากวิเคราะห์ 9 ประเทศเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า เกือบทั้งหมด เรามี FTA กับประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว การเข้าร่วม TPP ก็จะไม่ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมากนัก คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเปรู เรามี FTA ทวิภาคีอยู่แล้ว ส่วนบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ก็เป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งมี FTA ในกรอบ AFTA กับไทยอยู่แล้ว และประเทศเหล่านี้ก็กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดังนั้น จึงเหลือ 2 ประเทศ คือ ชิลีและสหรัฐฯ ที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย สำหรับชิลี ไทยค้าขายกับชิลีน้อยมาก จึงไม่น่ามีผลอะไร เพราะฉะนั้น ในที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ที่จะได้ต่อไทย คือ ผลประโยชน์ที่จะได้จากสหรัฐฯนั่นเอง แต่ประเด็น คือ เราเคยเจรจา FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯมาแล้ว ในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ และเราคงจำกันได้ว่า มีหลายสาขาที่เราจะเสียเปรียบสหรัฐฯ แม้ว่าเราอาจจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางตัวไปสหรัฐฯมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องแลกกับการที่ไทยจะต้องเปิดเสรีการค้าภาคบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน และการเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า บวก ลบ คูณ หาร แล้ว จะคุ้มกันหรือไม่

สำหรับผลดีตามหลักรัฐศาสตร์นั้น ประเด็นแรก ภาษาอังกฤษเรียกว่า fear of exclusion คือ หากประเทศต่างๆในภูมิภาคเข้าร่วม TPP แต่ไทยไม่ได้เข้าร่วม เราก็จะเสียเปรียบ เราจะตกรถไฟสาย TPP

ส่วนผลดีอีกประการ คือ ผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ หากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้สหรัฐฯพอใจ ไทยก็จะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯต่อไป

• ผลเสีย

เรามาดูผลเสียกันบ้าง หากไทยเข้าร่วม TPP อาจส่งผลกระทบในทางลบหลายประการ ประการแรก เป็นผลเสียตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งจะกระทบต่อไทยหลายสาขา อาทิ เกษตร การค้าภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน

สำหรับผลเสียตามหลักรัฐศาสตร์นั้น มีดังนี้

- หากมีการจัดตั้ง TPP สหรัฐฯจะครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป
- เอเชียตะวันออกจะรวมกลุ่มกันไม่สำเร็จ
- TPP จะกระทบต่อ FTA ที่ไทยมีอยู่แล้ว ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะ FTA ในกรอบอาเซียน+1 (อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย)
- จะกระทบต่อแผนการจัดตั้ง FTA ในกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6
- นอกจากนั้น TPP จะลดบทบาทของอาเซียนลง และจะทำให้เอเปคมีบทบาทมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป สหรัฐฯจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการจัดตั้ง TPP แต่สำหรับไทย อาจจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ผลเสียกลับมีมากมายหลายประการ

ข้อเสนอท่าทีไทย

จากการวิเคราะห์ผลดี-ผลเสียดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นเพียงการวิเคราะห์ในชั้นต้น ชี้ให้เห็นว่า ผลดีก็มี แต่ผลเสียก็ไม่น้อย ดังนั้น จึงควรมีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียด ลึกซึ้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุป เพื่อกำหนดท่าทีไทยให้ชัดเจนต่อไป

แต่จากการวิเคราะห์ผลกระทบของผมในชั้นต้น ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ ผลดี-ผลเสีย ยังไม่ชัดเจน ผมจึงเห็นว่า ท่าทีไทยในขณะนี้ จึงควรมีลักษณะ wait and see แต่หากในอนาคต หลังจากมีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียดแล้ว และหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว คือ หากผลดีมากกว่าผลเสีย ไทยก็ควรเข้าร่วม TPP

อย่างไรก็ตาม หากดูสถานการณ์ในขณะนี้ ถ้าไทยเข้าร่วม TPP กับ 9 ประเทศ ไทยก็ไม่น่าจะได้ผลดีอะไรมากนัก ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์ผลดี-ผลเสีย คือ จำนวนสมาชิก โดยหากในอนาคต จำนวนสมาชิก TPP เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการชั่งน้ำหนักของผลดี-ผลเสีย

กล่าวโดยสรุป ท่าทีไทยในขณะนี้ ควรใช้นโยบายการทูตที่ไทยใช้ได้ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด คือ การดูทิศทางลม โดยหากในอนาคต มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยก็อาจจะต้องเข้าร่วม เพื่อไม่ให้ตกรถไฟ แต่ผมมองว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ยังไม่จำเป็นที่ไทยจะต้องรีบโดดเข้าร่วม TPP

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนจบ)

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ประจำวันศุกร์ที่ 29 เมษายน– วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 ซึ่งเป็นตอนที่ 2 ไปแล้ว โดยได้วิเคราะห์คำแถลงของ Kurt Campbell อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้แถลงนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯล่าสุดต่อเอเชีย ต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรสไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยได้สรุป วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ที่ 2 ในด้านการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน และยุทธศาสตร์ที่ 4 ในเรื่อง สถาปัตยกรรมในภูมิภาค ไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้จะเป็นตอนจบ โดยจะสรุปยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของผมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้าย ยุทธศาสตร์ที่ 5 ของสหรัฐฯต่อเอเชียนั้น จะเน้นความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าในเชิงรุก ปี 2011 จะเป็นปีสำคัญที่สหรัฐฯจะแสดงบทบาทสำคัญของสหรัฐฯในภูมิภาค โดยจะเน้นการเร่งบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยสหรัฐฯจะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ 1 คือ เรื่องการให้สัตยาบันต่อข้อตกลง FTA ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้
เรื่องที่ 2 คือ การเจรจา FTA ในกรอบของ TPP และ
เรื่องที่ 3 คือ การจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค

แนวทางสำคัญในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในเอเชีย และเพิ่มการส่งออกของสหรัฐฯ คือ ข้อตกลง FTA ในกรอบ TPP

และในปี 2011 นี้ สหรัฐฯจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี จะเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญในการปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาค และกำหนดทิศทางของเอเปค ซึ่งจะสะท้อนถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ส่งเสริม บูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และสร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจและแรงงานของสหรัฐฯ ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมการในการประชุมสุดยอด ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ที่ฮาวาย

บทวิเคราะห์

• ภาพรวม
โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่า การประกาศยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียในครั้งนี้ ไม่ได้มีอะไร
ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ บุคคลสำคัญในรัฐบาล Obama ได้ออกมากล่าวหลายครั้งแล้ว แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากการประกาศนโยบายดังกล่าว คือ วาระซ่อนเร้น หรือยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ
ผมมองว่า สหรัฐฯมียุทธศาสตร์แท้จริง ซึ่งเป็นวาระซ่อนเร้น ที่ Campbell ไม่ได้ประกาศ อยู่ 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน
ยุทธศาสตร์แรกที่เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด คือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์การทำให้สหรัฐฯเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากภูมิภาค

• ช่องทางการดำเนินยุทธศาสตร์
ข้อสังเกตประการที่ 2 ของผม คือ สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้น ผ่านหลาย
ช่องทาง
ช่องทางแรก คือ ช่องทางทวิภาคี ซึ่งมีลักษณะเป็น hub and spokes โดยมีสหรัฐฯเป็น hub และพันธมิตรเป็น spokes
อีกช่องทาง เป็นช่องทางพหุภาคี ซึ่งที่ผ่านมา มีเอเปคเป็นกลไกหลัก แต่ในอนาคต จะมีกลไกพหุภาคีเพิ่มเติมขึ้นมา โดยเฉพาะ TPP และ Lower Mekong Initiative เป็นต้น
ส่วนอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเป็นช่องทางที่มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯจะผลักดันเป็นช่องทางเสริมขึ้นมา คือ ช่องทางไตรภาคี หรือความสัมพันธ์ 3 ฝ่าย ซึ่งขณะนี้ มีการประชุมไตรภาคี สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลี และสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย แล้ว ในอนาคต คงต้องจับตามองว่า จะมีช่องทางไตรภาคีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่

• พันธมิตรใหม่
ข้อสังเกตอีกประการของผม คือ แนวโน้มที่สหรัฐฯกำลังเน้นที่จะขยายพันธมิตร และประเทศ
หุ้นส่วนออกไป จากเดิมที่มีแค่ 5 ประเทศ ที่เป็นพันธมิตรหลัก คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย ฟิลิปปินส์ แต่ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯต้องการที่จะใกล้ชิดกับอีกหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ซึ่งแนวโน้มการขยายพันธมิตรออกไป จะกระทบต่อสถานะการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯจะมีตัวเลือกมากขึ้น ไทยมีแนวโน้มจะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯลดลง ในขณะที่ อินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯมากขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานะของไทยตกต่ำลงมากในเวทีระหว่างประเทศ สถานะการเป็นผู้นำในอาเซียนก็ตกต่ำลง และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด ทำให้การเป็นพันธมิตรของไทยในสายตาสหรัฐฯตกต่ำลงมาก ไทยกลายเป็นพันธมิตรที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่สามารถเป็นผู้นำอาเซียนได้

• ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน
อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน ซึ่ง
Campbell ไม่ได้ประกาศออกมาเป็นทางการ แต่ผมมองว่า ขณะนี้ China factor กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนการทูตสหรัฐฯในภูมิภาค เพราะสหรัฐฯหวาดวิตกว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง จึงพยายามดำเนินยุทธศาสตร์สกัดกั้นอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ต่อจีนนั้น มีลักษณะ กึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิสัมพันธ์ คือ ปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ก็มีการใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งสลับกันไป เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะมีลักษณะทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งควบคู่กันไป

• สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกประการที่ Campbell ไม่ได้พูดถึง คือ ยุทธศาสตร์การทำให้สหรัฐฯ
กลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ถูกเปิดเผยออกมาแล้วจากสุนทรพจน์ของ Clinton เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว สหรัฐฯจะเป็นแกนกลาง หรือเป็น hub อยู่วงในสุด และมีพันธมิตรเป็น spokes อยู่วงที่ 2 ส่วนวงถัดมา เป็นเวทีพหุภาคี ในระดับอนุภูมิภาค ที่สำคัญ คือ TPP และ LMI ส่วนวงนอกสุด จะเป็นเวทีเอเปค

• ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ
สุดท้าย ในเรื่องยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯในภูมิภาค หัวใจของยุทธศาสตร์สหรัฐ คือ การผลักดันการจัดตั้ง FTA ในกรอบ TPP ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเอเปคด้วย โดยสหรัฐฯมีแผนจะขยาย TPP ให้ครอบคลุมสมาชิกเอเปคทั้งหมด และจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ซึ่งการผลักดัน FTA ของสหรัฐฯนั้น นอกจากสหรัฐฯจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคแล้ว สหรัฐฯจะบรรลุวัตถุประสงค์อีกประการที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ TPP และ FTAAP ในกรอบเอเปค จะเป็นตัวกันการที่เอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน +3 ซึ่งสหรัฐฯกลัวมากว่า การที่อาเซียน+3 จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลประโยชน์และการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ ในภูมิภาค

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ไน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22-วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2554

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม Kurt Campbell อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯต่อเอเชีย ต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรส คอลัมน์โลกทรรศน์ จะสรุป และวิเคราะห์คำแถลงดังกล่าว โดยได้แบ่งเป็น 3 ตอน ตอนที่ 1 คือ ตอนที่แล้ว ได้สรุปยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภาพรวม และยุทธศาสตร์ที่ 1 ซึ่งเน้นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรหลักไปแล้ว สำหรับคอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเป็นตอนที่ 2 โดยจะสรุปยุทธศาสตร์ที่ 2 ในด้านการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน และยุทธศาสตร์ที่ 4 ในเรื่อง สถาปัตยกรรมในภูมิภาค ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ขยายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 ของสหรัฐฯต่อเอเชีย คือ การขยายความสัมพันธ์กับประเทศและหุ้นส่วนใหม่ๆ คือ

อินเดีย : รัฐบาล Obama พยายามที่จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับอินเดียให้มากขึ้น โดยอินเดียกำลังจะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

อินโดนีเซีย : สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซีย กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว Obama ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก ทำให้ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก สหรัฐฯกำลังเพิ่มความร่วมมือกับอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ ที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน และสหรัฐฯกำลังจะเข้าร่วมประชุม East Asia Summit ที่อินโดนีเซีย สหรัฐฯกำลังมองเห็นบทบาทของอินโดนีเซียที่กำลังผงาดขึ้นมาในเวทีโลก

มาเลเซีย : อีกประเทศที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ มาเลเซีย ซึ่งความสัมพันธ์ทวิภาคีกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันในการเจรจา FTA ในกรอบ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP

เวียดนาม : ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปฏิสัมพันธ์กับเวียดนามได้เพิ่มขึ้นมาก และเวียดนามเป็นอีกหนึ่ง ประเทศที่กำลังเจรจา TPP กับสหรัฐฯ ในการพบปะกันระหว่าง Hillary Clinton กับนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นระดับที่เรียกว่า หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หรือ strategic partnership อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงห่วงกังวลต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

สิงคโปร์ : อีกประเทศที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ สิงคโปร์ โดยสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าร่วม TPP และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม TPP รอบที่ 6

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ความสัมพันธ์กับจีน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน โดยสหรัฐฯต้องการมีความสัมพันธ์กับจีนที่มีลักษณะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ และเป็นไปในเชิงบวก ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน กำลังมาถึงจุดสำคัญ การจัดการกับความสัมพันธ์ที่จะมีทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือ จะส่งผลต่อภูมิภาคโดยรวม

ในช่วงปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง ในแง่ของความร่วมมือ และความสัมพันธ์ที่เป็นไปในเชิงบวกนั้น เห็นได้จากการที่ ประธานาธิบดี Hu Jintao ได้เดินทางไปประชุม Nuclear Security Summit ในเดือนเมษายนที่สหรัฐฯ และจีนได้ร่วมมือกับสหรัฐฯในการสนับสนุนข้อมติคว่ำบาตรอิหร่านใน UNSC นอกจากนี้ Hu Jintao ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลของการเยือนในครั้งนั้น จีนได้แสดงความห่วงใยเป็นครั้งแรกต่อปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และจีนสัญญาว่าจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหา Darfur รวมทั้งปัญหาอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯกับจีนก็มีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่องไต้หวัน ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงยึดนโยบายจีนเดียว บนพื้นฐานของแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ รวมทั้ง Taiwan Relations Act อีกเรื่องที่ขัดแย้งกัน คือ กรณีของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งในคำแถลงของ Campbell ได้กล่าวตอกย้ำถึงท่าทีของสหรัฐฯในเรื่องนี้ว่า สหรัฐฯยึดมั่นในหลักการเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจับกุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งผู้สื่อข่าวทั้งชาวจีน และชาวต่างชาติ และสหรัฐฯจะกดดันจีนในเรื่องเกาหลีเหนือและอิหร่านต่อไป

ความขัดแย้งใหญ่อีกเรื่อง คือ ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯมีเป้าหมายที่จะให้จีนลดอุปสรรคทางการค้าลง กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯกำลังตรวจสอบว่า จีนได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎเกณฑ์ทางการค้าของสหรัฐฯหรือไม่ ปีที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ตรวจสอบกรณีการนำเข้าจากจีน ถึง 6 กรณี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการทุ่มตลาด นอกจากนี้ USTR ได้นำเรื่องฟ้องร้องต่อ WTO กล่าวหาจีนในการละเมิดข้อตกลง WTO ถึง 3 กรณี

ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯจะกดดันจีนต่อไปในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการค้า การลงทุน รวมถึงเรื่องของการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือ การกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวนนั่นเอง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : สถาปัตยกรรมในภูมิภาค

รัฐบาล Obama มีนโยบายที่จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ในองค์กรพหุภาคีในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการที่สหรัฐฯจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

Campbell ได้เน้นว่า APEC จะยังคงเป็นองค์กรหลักในภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯจะสนับสนุนเต็มที่ นอกจากนี้ สหรัฐฯจะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับสถาบันในภูมิภาค โดยเฉพาะกับอาเซียน ซึ่งมีอยู่หลายกรอบ อาทิ ASEAN Regional Forum (ARF ) การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM+8 รวมทั้ง การประชุม East Asia Summit หรือ EAS

สำหรับ EAS นั้น สหรัฐฯจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยสหรัฐฯจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EAS ในปีนี้ โดยสหรัฐฯมีแผนจะใช้เวที EAS ในการผลักดันความร่วมมือในด้านยุทธศาสตร์และการเมือง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ ความมั่นคงทางทะเล และการจัดการภัยพิบัติ ปีที่แล้ว Hillary Clinton ได้เข้าร่วม EAS เป็นครั้งแรก ปีนี้ Obama จะเข้าร่วม EAS ที่อินโดนีเซีย และจะผลักดันความร่วมมือ 3 เรื่องดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯครั้งที่ 3 ด้วย

สำหรับกรอบพหุภาคีอีกกรอบหนึ่ง ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญคือ Lower Mekong Initiative (LMI) ซึ่งเป็นกรอบสำคัญที่สหรัฐฯจะปฏิสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีที่แล้ว มีการประชุมในกรอบนี้หลายครั้ง ซึ่งมี ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เข้าร่วม โดยเน้นความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน

(โปรดอ่านต่อตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า ซึ่งจะกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของผมต่อยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ดังกล่าว)