Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

วิกฤตยูเครน (ตอน 2 )


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่  3 เมษายน 2557 


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ที่มาที่ไปของวิกฤตยูเครน รวมทั้งท่าทีของมหาอำนาจต่างๆไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อโดยจะเน้นไปที่บทบาทของรัสเซียและแนวโน้มของวิกฤตว่า จะลุกลามบานปลายออกไปอย่างไร

               ยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

               สำหรับปูติน การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ของรัสเซีย ปูตินและผู้นำรัสเซียจึงมองว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ในช่วงหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และในยุคหลังสงครามเย็น ตะวันตกโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมีแผนการปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซีย และขยายอิทธิพลของตะวันตกเข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ยุโรปตะวันออก เทือกเขา Caucasus เอเชียกลาง และคาบสมุทร Balkan ปูตินจึงมีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะสถาปนาเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซียขึ้นมาใหม่ และทำให้รัสเซียกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่ง

               ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของรัสเซียในขณะนี้คือ การกลับเข้าไปมีอิทธิพลในยุโรปตะวันออก เทือกเขา Caucasus เอเชียกลาง และคาบสมุทร Balkan และหมากตัวแรกที่รัสเซียเดินคือ การผนวกคาบสมุทร Crimea กลับมาเป็นของรัสเซีย โดยรัสเซียอ้างว่า รัสเซียมีความชอบธรรม ที่จะแทรกแซงใน Crimea เพื่อปกป้องชาวรัสเซียใน Crimea ซึ่งมีอยู่ถึง 60 %

               คำถามสำคัญของโลกในขณะนี้คือ รัสเซียจะหยุดอยู่ที่ Crimea หรือจะรุกคืบเข้าผนวกดินแดนต่างๆที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งผมจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ที่รัสเซียจะส่งทหารเข้าแทรกแซงและผนวกดินแดนเหล่านี้ ดังนี้

               Ukraine

               บริเวณที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่รัสเซียจะใช้กำลังทหารบุกเข้ายึดและผนวกเป็นของรัสเซียคือ ทางตะวันออกของ Ukraine ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย โดยที่ผ่านมา ก็ได้มีการชุมนุมสนับสนุนรัสเซียในเมือง Donetsk ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตะวันออกของ Ukraine

               ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวทางทหารโดยรัสเซียได้ส่งกองกำลังทางทหาร 3 - 8 หมื่นคน มาประชิดพรมแดน Ukraine รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่พร้อมจะบุกเข้าไปใน Ukraine กองกำลังรัสเซียกระจุกตัวทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของ Ukraine ซึ่งคงจะมุ่งเป้าไปที่เมือง Donetsk

               ผู้บัญชาการกองกำลังนาโต้ได้วิเคราะห์ว่า กองกำลังรัสเซียอาจจะบุกทางตะวันออกและทางใต้ของ Ukraine และอาจจะยึดทางใต้ของ Ukraine ทั้งหมด ซึ่งจะเชื่อมกับคาบสมุทร Crimea และเขต Trans-Dniester ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ Moldova

               อนาคตของ Ukraine จึงขึ้นอยู่กับท่าทีของ Ukraine ต่อตะวันตกและรัสเซีย โดยหาก Ukraine จะเป็นรัฐกันชนระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย ปูตินก็อาจจะยอมรับได้ แต่หาก Ukraine จะเอียงไปทางตะวันตก และเข้าเป็นสมาชิก EU และนาโต้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น ปูตินก็จะยอมรับไม่ได้

               ข้อมูลข่าวกรองตะวันตกล่าสุด ได้ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่รัสเซียจะบุก Ukraine ทางตะวันออก โดยวิเคราะห์ว่า การเสริมสร้างกำลังทหารของรัสเซียตามพรมแดน Ukraine นั้น มีลักษณะเหมือนกับตอนที่รัสเซียกำลังจะบุก Chechnya และ Georgia

               Moldova

               อีกประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต และล่อแหลมต่อการที่รัสเซียจะบุกคือ ประเทศ Moldova โดยเฉพาะในเขต Trans-Dniester ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของ Moldova ติดกับ Ukraine เขตนี้ได้ประกาศเป็นเอกราชจาก Moldova มาตั้งแต่ปี 1990 และประชากรในเขตนี้ส่วนใหญ่ก็พูดภาษารัสเซีย นาโต้ได้เตือนว่า Trans-Dniester น่าจะเป็นเป้าหมายลำดับต่อไปของรัสเซีย

               นอกจากนี้ ยังมีเขต Gagauzia ซึ่งอยู่ทางใต้ของ Moldova เป็นเขตปกครองตนเอง ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีการทำประชามติ และ 98 % สนับสนุนการเข้าร่วม Eurasian Union ที่รัสเซียเป็นผู้ริเริ่ม

               อย่างไรก็ตาม Moldova กำลังจะลงนามในข้อตกลงกับ EU ดังนั้น รัสเซียจะต้องคิดหนัก หากตัดสินใจจะผนวกเขต Trans-Dniester

                Caucasus

               ในปี 2008 รัสเซียได้ทำสงครามกับ Georgia มาแล้ว ในตอนนั้นเรื่องสำคัญคือ South Ossetia และ Abkhazia ต้องการประกาศเอกราชแต่ Georgia ไม่ยอม จึงส่งกองกำลังเข้าไปใน South Ossetia รัสเซียจึงได้ตัดสินใจช่วย South Ossetia ด้วยการบุก Georgia

               สาเหตุสำคัญของสงครามปี 2008 เป็นทั้งเรื่องเชื้อชาติและเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องเชื้อชาติคือ ชาว Ossetia มีที่ตั้งดั้งเดิมอยู่ในรัสเซียและมีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์กับรัสเซีย แต่ในศตวรรษที่ 13 ได้ถูกรุกรานจากมองโกล ทำให้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในบริเวณเทือกเขา Caucasus ในปัจจุบัน South Ossetia ต้องการไปรวมกับชาติพันธุ์เดียวกันคือ  North Ossetia ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองในรัสเซีย แต่ Georgia ไม่ยอม จึงเกิดสงครามขึ้น

               และอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์คือการที่ Georgia ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย และไปใกล้ชิดกับสหรัฐและตะวันตก ปี 2006 ตะวันตกเชิญ Georgia มาเป็นสมาชิกนาโต้ ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่รัสเซียบุก Georgia เสมือนเป็นสงครามสั่งสอนให้ Georgia และประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเห็นเป็นบทเรียนว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากประเทศเหล่านี้ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย

               ขณะนี้รัสเซียได้ประกาศให้การยอมรับการประกาศเอกราชของ  South Ossetia และ Abkhazia แล้ว แต่ Georgia และตะวันตกไม่ยอมรับ ดังนั้น ชนวนสงครามระหว่างรัสเซียกับ  Georgia ยังมีอยู่ และอาจจะปะทุขึ้นใหม่ในอนาคตได้

               อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศอื่นๆในเขต Caucasus คือ Armenia และ Azerbaijan ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับรัสเซีย เพราะมีชาวรัสเซียอาศัยอยู่น้อยมาก และทั้ง 2 ประเทศก็พยายามที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย โดย Armenia ก็ได้ประกาศเข้าร่วม Eurasian Union ที่รัสเซียริเริ่มด้วย

               Baltic

               Latvia, Lithuania และ Estonia ก็เป็นอดีตสหภาพโซเวียต แต่ได้แยกออกมาเป็นประเทศเอกราชภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

               ใน Latvia และ Estonia มีชาวรัสเซียอาศัยอยู่ประมาณ 26 % และทั้งสองประเทศก็มีกฎหมายว่า คนในประเทศจะมีสัญชาติได้จะต้องพูดภาษา Latvia และ Estonia ได้ ทำให้ชาวรัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมากและไม่ต้องการมีสัญชาติ Latvia และ Estonia จึงทำให้ถูกกีดกันในเรื่องของการทำงาน ปูตินก็ได้แสดงความไม่พอใจและเห็นใจชาวรัสเซีย และปูตินก็ได้พูดอยู่เสมอว่า รัสเซียมีความชอบธรรมที่จะปกป้องชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน ที่รัสเซียจะพยายามเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศเหล่านี้รวมทั้งอิทธิพลทางทหารด้วย

               อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นสมาชิก EU และนาโต้ การที่รัสเซียจะใช้กำลังบุกเข้าไปจึงเป็น

เรื่องยาก

               เอเชียกลาง

               ประเทศในเอเชียกลางก็เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะทางเหนือของ Kazahkstan  ประชากรกว่าครึ่งเป็นชาวรัสเซีย อย่างไรก็ตาม Kazahkstan มีความใกล้ชิดกับรัสเซียดีอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา

               สำหรับประเทศในเอเชียกลางอื่นๆ มีชาวรัสเซียไม่มาก และประเทศเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดรัสเซียดีอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้น้อย ที่รัสเซียจะเข้าแทรกแซงทางทหารในเอเชียกลาง

               Belarus

               สำหรับประเทศสุดท้ายที่จะวิเคราะห์คือ Belarus ซึ่งก็เป็นอดีตสหภาพโซเวียต แต่โดยภาพรวมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง Belarus กับรัสเซียถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมีชาวรัสเซียอยู่ประมาณ 8 % แต่ประชากรของ Belarus กว่า 70 % พูดภาษารัสเซียได้ และ Belarus ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ Belarus ประกาศจะเข้าร่วม Eurasian Union ด้วย

               กล่าวโดยสรุป ประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต กำลังอยู่ในสถานะล่อแหลม วิกฤติยูเครนมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายออกไป เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า รัสเซียจะเดินหมากอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางตะวันออกของ Ukraine ก็คงเป็นบริเวณที่เราจะต้องจับตาดูกันแบบตาไม่กระพริบทีเดียว