Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประชาคมโลกกับการช่วยเหลือเฮติ

ประชาคมโลกกับการช่วยเหลือเฮติ
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ที่ 22 - วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2553

เฮติ : ประเทศที่มีแต่ความโชคร้าย

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาดความรุนแรง 7.0 ริกเตอร์ ซึ่งทำให้เมืองหลวงของเฮติ คือ Port-Au-Prince พังพินาศเกือบทั้งเมือง ขณะนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังไม่แน่นอน แต่มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 200,000 คน สำหรับผู้ที่รอดชีวิตก็ประสบปัญหาอย่างหนัก ขาดทั้งน้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย จำนวนประมาณ 3.5 ล้านคน

หายนะของเฮติในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเฮติที่มีแต่ความโชคร้าย ในช่วงที่ผ่านมา เฮติได้ประสบกับภัยพิบัติ รวมทั้งความวุ่นวายทางการเมือง และเศรษฐกิจมาโดยตลอด เฮติเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา ทุก ๆ ปี จะมีพายุเฮอริเคนถล่มอยู่ประจำ ในปี 2004 ถูกพายุเฮอริเคนถล่มถึง 4 ลูก ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน

นอกจากโชคร้ายจากภัยพิบัติแล้ว เฮติยังประสบกับความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด โดยในปี 1990 ได้มีการเลือกตั้งและ Jean-Bertrand Aristide ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่เดือนก็ถูกทำรัฐประหาร ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารมีการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง โดยมีประชาชนถูกสังหารไปหลายพันคน ในช่วงปี 1994 จึงได้มีชาวเฮติอพยพหนีออกจากประเทศโดยทางเรือเพื่อที่จะมาที่สหรัฐฯ ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ประธานาธิบดี Clinton ตัดสินใจแทรกแซงทางทหารและล้มระบอบทหารในเฮติ

หลังจากนั้น ได้มีการเลือกตั้งและ Aristide ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2001 แต่หลังจากนั้น ความวุ่นวายและความรุนแรงทางการเมืองได้เกิดขึ้นอีก จนในที่สุด Aristide ได้ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งในปี 2004 และได้มีการส่งกองกำลังสันติภาพของ UN เข้าไป 9,000 คน เพื่อที่จะช่วยฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ต่อมาในปี 2006 ประธานาธิบดี Rene Preval ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทางสหประชาชาติและองค์กรต่างๆ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือ แต่เฮติก็ยังเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาค โดยประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อวันไม่ถึง 2 เหรียญ และล่าสุด เฮติก็มาประสบกับหายนะครั้งใหญ่จากแผ่นดินไหวในครั้งนี้อีก

หลังจากเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลของเฮติก็เป็นอัมพาตไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ ประเทศต่าง ๆ จึงได้พยายามเข้าไปช่วย แต่ก็ประสบกับความยากลำบาก ทั้งนี้ เพราะสนามบินชำรุด ท่าเรือถูกทำลาย ถนนหนทางก็เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และขาดแคลนทั้งทรัพยากร พลังงาน และบุคลากร

บทบาทของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ในฐานะอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และเป็นลูกพี่ใหญ่ในภูมิภาค ได้เล่นบทเป็นพระเอกในการช่วยเหลือเฮติ โดยประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศจะให้เงินช่วยเหลือเฮติในเบื้องต้น เป็นเงิน 100 ล้านเหรียญ และยังได้เชิญอดีตประธานาธิบดี George Bush กับ Bill Clinton มาช่วยระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเฮติ ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คือ Hillary Clinton ได้เดินทางไปเฮติ และได้พบปะหารือกับประธานาธิบดี Preval และให้คำมั่นสัญญาว่าสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือเฮติอย่างเต็มที่

โดยตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมเป็นต้นมา สหรัฐฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเฮติดังนี้

· ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจอดอยู่นอกชายฝั่งเฮติ และส่งเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงความ
ช่วยเหลือฉุกเฉิน

· กระทรวงกลาโหมได้รายงานว่า ได้ส่งทหารเข้าไป 4,200 คน และจะเพิ่มขึ้นอีก 6,300 คน
รวมทั้งสิ้น 10,000 กว่าคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ทหารสหรัฐฯ ได้ไปใช้ท่าเรือที่ Cap Haitian ทางเหนือของเฮติ เพื่อลำเลียงความช่วยเหลือ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้ใช้ฐานทัพเรือที่ Guantanamo ที่คิวบา ซึ่งอยู่ใกล้กับเฮติในการเป็นฐานสำคัญในการส่งความช่วยเหลือและบุคลากรไปยังเฮติ

· USAID องค์กรให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ได้จัดตั้งศูนย์กระจายอาหารและน้ำขึ้น 14
จุด รวมทั้งได้มีการจัดตั้งระบบกรองน้ำซึ่งสามารถผลิตน้ำได้ 100,000 ลิตรต่อวัน

· รัฐบาลเฮติได้อนุญาตให้สหรัฐฯเข้าควบคุมจัดการสนามบิน อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียง
วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างจากประเทศอื่น ๆ และองค์กรความช่วยเหลือ ที่ไม่สามารถเอาเครื่องบินลงจอดได้ โดยได้มีการกล่าวหาว่า ทางสหรัฐฯจะอนุญาตให้แต่เครื่องบินของสหรัฐฯ และจะเน้นในการเอาคนของสหรัฐฯและอพยพชาวอเมริกันออกจากเฮติ

World Food Program หรือ WFP ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ไม่สามารถเอาเครื่องบินลงจอดได้ เครื่องบินบางลำต้องไปจอดที่ Santo Domingo เมืองหลวงของสาธารณรัฐโดมินิแกน ประเทศเพื่อนบ้านของเฮติแทน และหลังจากนั้น ต้องใช้รถบรรทุกลำเลียงความช่วยเหลือมาทางถนน ซึ่งต้องใช้เวลานานมากเพราะถนนก็อยู่ในสภาพไม่ดี

หลายประเทศได้แสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส บราซิล และอิตาลี รวมทั้งสภากาชาด รัฐบาลฝรั่งเศสได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมากที่เครื่องบินของตนลงจอดไม่ได้ ถึงกับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสได้ทำเรื่องประท้วงไปยังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ทูตฝรั่งเศสประจำเฮติถึงกับกล่าวว่า สนามบินที่ Port-Au-Prince ได้กลายเป็นสนามบินของสหรัฐฯไปแล้ว

บทบาทของ UN

UN มีกองกำลังรักษาสันติภาพอยู่ในเฮติ และมีประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือได้เป็น
อย่างดี อย่างไรก็ตาม ที่ทำการของ UN ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UN เสียชีวิตไปหลายคน จึงทำให้ UN ไม่สามารถมีบทบาทที่ควรจะเป็นได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมเป็นต้นมา โฆษกของ UN ที่เฮติ ได้กล่าวว่า UN กำลังประสานกับองค์กรอื่น ๆ และกองกำลังรักษาสันติภาพกำลังให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มกราคม Ban Ki-moon เลขาธิการ UN ได้เดินทางไปที่เฮติ และได้กล่าวว่า สถานการณ์ในเฮติถือเป็นวิกฤตการณ์ทางด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงที่สุดในหลายสิบปีที่ผ่านมา UN ตั้งเป้าว่า จะพยายามให้ความช่วยเหลือด้านอาหารให้ได้ 2 ล้านคนต่อวัน ซึ่งถือเป็นงานที่หนักมาก และทาง UN ได้มีการระดมทุนประมาณ 560 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยประมาณ 3 ล้านคนในอีก 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขออนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อเพิ่มจำนวนกองกำลังรักษาสันติภาพในเฮติด้วย

ในส่วนของ World Food Program หรือ WFP ซึ่งเป็นกลไกของ UN ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ประสบภัยประมาณ 60,000 คนในวันที่ 17 มกราคม โดยในวันที่ 16 มกราฯ ได้ช่วยเหลือไป 40,000 คน WFP ตั้งเป้าที่จะให้ความช่วยเหลือเป็น 1 ล้านต่อวัน และเพิ่มเป็น 2 ล้านคนภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ WFP มีแผนที่จะสร้างที่พักชั่วคราวให้กับคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย 100,000 คน

ความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ

ในส่วนของ EU ได้ประกาศตั้งวงเงินช่วยเหลือ 474 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ อังกฤษได้ประกาศที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 37 ล้านเหรียญ และฝรั่งเศสประกาศยกเลิกเงินกู้จำนวน 55 ล้านเหรียญของเฮติ และประกาศให้เงินให้ความช่วยเหลือ 14 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ นอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆที่มีประชากรเพียง 4.8 ล้านคนประกาศให้เงินช่วยเหลือ 17 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ บราซิล เม็กซิโก แคนาดา ฝรั่งเศส โคลัมเบีย รัสเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ และอีกหลาย ๆ ประเทศได้จัดเครื่องบินลำเลียงความช่วยเหลือและบุคลากรไปยังเฮติ

จะเห็นได้ว่า การให้ความช่วยเหลือเฮติของประชาคมโลกในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของชาวโลกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้เห็นจำนวนเงินที่รัฐบาลไทยประกาศจะให้เงินช่วยเหลือแก่เฮติ ซึ่งเพียงแค่ 20,000 เหรียญ ผมก็รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนกว่าเราเยอะ ก็ยังประกาศให้ความช่วยเหลือมากกว่าเรา คือ 50,000 เหรียญ

ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2050

ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2050
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 17 วันศุกร์ที่ 15 - วันพฤหัสที่ 21 มกราคม 2553

ภาพรวม

ในปี 2050 คือ ในอีก 40 ปีข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯและยุโรป ซึ่งในปัจจุบันเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ในอนาคตจะสูญเสียสถานะดังกล่าว โดยการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จากเอเชียและลาตินอเมริกา ในปี 2050 60% ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G20 จะมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม ในอีก 40 ข้างหน้า GDP ต่อหัว ของประเทศเหล่านี้จะยังคงต่ำกว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยเดิม คือ กลุ่มประเทศ G7 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลก การปฏิรูปกลไกเศรษฐกิจโลกจาก G8 มาเป็น G20 ได้เริ่มชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคต

การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่

ใน 40 ข้างหน้า GDP ของ G20 จะโตโดยเฉลี่ย 3.6 % โดยในปี 2009 G20 มี GDP รวมกันมูลค่า 38 ล้านล้านเหรียญ แต่ในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านล้านเหรียญ แต่ 60% ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ 5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และเม็กซิโก ซึ่งกลุ่มนี้อาจเรียกว่า กลุ่ม BRIC+M เศรษฐกิจของกลุ่มนี้จะโต 6% ต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วน GDP ของกลุ่มนี้ใน G20 เพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2009 เป็นเกือบ 50% ในปี 2050 ในทางตรงกันข้าม GDP ของมหาอำนาจเศรษฐกิจเก่า คือ กลุ่ม G7 จะโตเพียง 2% ต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วน GDP ใน G20 ลดลงจาก 72% ในปี 2009 เหลือเพียง 40% ในปี 2050

หากปรับตัวเลขโดยใช้หลัก Purchasing Power Parity หรือ PPP (เป็นการปรับมูลค่าเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงอำนาจในการซื้อที่ต่างกันของแต่ละประเทศ) จะยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นอีก โดยในปี 2050 เศรษฐกิจของ BRIC+M จะใหญ่เป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของ G7 และจะมีสัดส่วนถึง 60% ของ GDP ของ G20 ในขณะที่ G7 จะมีสัดส่วนแค่ 28%

3 ยักษ์ใหญ่

ในปี 2050 จีน อินเดีย และสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะ จีนกับอินเดีย GDP จะเพิ่มขึ้นเกือบ 60 ล้านล้านเหรียญ แต่ความแตกต่างในเรื่อง GDP ต่อหัวระหว่าง 3 ประเทศยังมีอยู่ โดยถึงแม้ว่า GDP ของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะเพิ่มขึ้น แต่ GDP ต่อหัวยังคงต่ำอยู่ โดยรายได้เฉลี่ยของประเทศเหล่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 22,000 เหรียญต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐฯและกลุ่ม G7 เป็นอย่างมาก

การคาดการณ์ว่า ในปีอะไร เศรษฐกิจจีนจะใหญ่เท่ากับสหรัฐฯ และจะแซงสหรัฐฯ ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า จีนจะไล่ทันสหรัฐฯได้หรือไม่ แต่คำถาม คือ เมื่อไรเท่านั้นเอง จากการคำนวณของ Council on Foreign Relations ได้ฟันธงว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2032 อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักได้คำนวณว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้น สำนักหนึ่งฟันธงว่า ภายในปี 2025 GDP จีนจะเท่ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะถ้าใช้หลัก PPP มาคำนวณ และเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ไปแบบไม่เห็นฝุ่น โดยในปี 2050 เศรษฐกิจจีนจะใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ EU รวมกัน

หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ การผงาดขึ้นมาของจีนนั้น ดูเป็นเรื่องปกติ เพราะตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงศตวรรษที่ 19 จีนก็มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมาตลอด ตัวอย่างเช่นในปี 1600 เศรษฐกิจจีนก็ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า จีนจะแซงอเมริกาไปแบบไม่เห็นฝุ่นหรือไม่ บางสำนักบอกว่า จีนจะแซงไปแบบไม่เห็นฝุ่น แต่บางสำนัก ก็ประเมินว่า จีนจะแซงเมริกาไปไม่มาก โดยอ้างว่า ในปี 2009 GDP ของสหรัฐฯใหญ่กว่าจีนหลายเท่า และถ้าหากในอนาคต สหรัฐฯสามารถรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2-3 % ก็จะทำให้สหรัฐฯ ไม่ถูกจีนทิ้งห่างมากเท่าใดนัก

สำหรับจีนนั้น มีการคาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-6% ซึ่งจะทำให้ GDP ของจีนเพิ่มขึ้นจากในปี 2009 ที่มีมูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญ เป็น 45 ล้านล้านเหรียญในปี 2050 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ในปี 2050 เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ 20% แต่ถ้าปรับเป็น PPP เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯเกือบ 90%

สำหรับอินเดีย มีการคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด แต่โดยที่ในปัจจุบันเศรษฐกิจของอินเดียมีขนาดเล็กกว่าเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯมาก ดังนั้น ในปี 2050 อินเดียยังจะไล่จีนและสหรัฐฯไม่ทัน แต่ GDP ของอินเดียจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2009 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 18 ล้านล้านเหรียญในปี 2050 คือเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

สำหรับสถานะทางเศรษฐกิจของ EU นั้น ปัจจุบัน เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน EU แต่ในปี 2050 อังกฤษ จะมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน EU และเป็นอันดับ 7 ของโลก อย่างไรก็ตาม GDP ของ 4 ประเทศนี้ จะเล็กกว่า GDP ของอินเดียเกือบครึ่ง และเมื่อเทียบกับจีนแล้ว จะมีขนาดไม่ถึง 1 ใน 4 ของ GDP จีน แนวโน้มในอนาคต หาก EU จะรักษาสถานะของตน คงจะต้องเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2009 GDP ของ EU ทั้งกลุ่ม คิดเป็น 14 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งใหญ่กว่า GDP ของสหรัฐฯ เสียอีก ในปี 2050 คาดว่า EU จะมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 1.5% ซึ่งจะทำให้มี GDP ประมาณ 25 ล้านล้านเหรียญ

สำหรับรัสเซีย ซึ่งในอดีตและปัจจุบันเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ในปี 2050 บทบาทของรัสเซียคงจะลดลงเรื่อย ๆ และขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียก็คงจะถูกแซงโดยมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ดังนั้น ในระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ในอนาคต บทบาทของรัสเซียคงจะลดลงไปมาก

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ และตัวแสดงใหม่ ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกา จะทำให้ การแบ่งประเทศเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับกำลังพัฒนา คงจะล้าสมัย และคงจะมีคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ รวมทั้งบทบาทและโครงสร้างขององค์การระหว่างประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศในปี 2050 ยังไม่มีความชัดเจนว่า มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่จะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และอำนาจในการจัดการเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในมือของกลุ่ม G7 ต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกและสถาบันระหว่างประเทศจะมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในอนาคต และการที่ G20 มาแทนที่ G8 ก็เป็นการเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2553

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2553
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2553

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์โลกในปีนี้ โดยเรื่องสำคัญ ๆ ที่จะต้องจับตามอง มีอยู่ 6 เรื่องใหญ่ดังนี้

ปัญหาภาวะโลกร้อน

ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ผลการประชุมล้มเหลว เพราะข้อตกลงที่เรียกว่า Copenhagen Accord เป็นข้อตกลงที่เจรจากันระหว่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้เท่านั้น ข้อตกลงจึงมีปัญหาทางสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อตกลงไม่ได้กำหนดว่า จะเจรจาในรูปแบบสนธิสัญญาเมื่อใด และไม่มีการกำหนดปริมาณการตัดลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด

มี 4 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรกคือ รูปแบบของข้อตกลง โดยประเทศยากจนต้องการคงพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต เรื่องที่สอง คือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก โดยประเทศยากจนต้องการให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา เรื่องที่สาม คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง 40 % ภายในปี 2020 ส่วนประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้มีการกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก และถ้าสหรัฐฯจะตั้งเป้าก็จะลดเพียง 4% เท่านั้น ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศยากจนเรียกร้องประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่ยอมตั้งเป้าตามที่ประเทศยากจนต้องการ

ดังนั้น ในปีนี้ การเจรจาภาวะโลกร้อนจะเดินหน้าเจรจาต่อไปอย่างไร ผมมองว่า ขณะนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะตกลงกันได้ใน 4 เรื่องดังกล่าว โดยแต่ละประเทศก็พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ให้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด สหรัฐฯ ที่ควรจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำก็ล้มเหลว ดังนั้น เราคงจะไม่เห็นการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ภายในปีนี้แน่

ปัญหาการก่อการร้ายสากล

อีกเรื่องที่ต้องจับตาดูกันในปีนี้คือ ปัญหาการก่อการร้ายที่ยังคงลุกลามบานปลายไม่จบ ปีที่แล้ว Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศยุคใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโลกมุสลิม โดยเชื่อว่า กุญแจสำคัญของการลดความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลามคือ ความพยายามเข้าใจกัน และลดความมีอคติต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า แนวนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปีนี้ได้อย่างไร ในปีนี้ มีแนวโน้มว่า การก่อการร้ายจะลุกลามขยายตัว โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เยเมนและโซมาเลีย และนโยบายของ Obama จะนำไปสู่ชัยชนะในสงครามอัฟกานิสถานและปากีสถานต่อนักรบตาลีบันได้อย่างไร

สงครามในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เพราะทั้งนักรบตาลีบันและ Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหม่ของ Al Qaeda อยู่บริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน ตาลีบันได้พยายามที่จะล้มล้างรัฐบาล Karzai และได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ Obama ต้องตัดสินใจเพิ่มจำนวนทหารไปอีก 30,000 คน แต่ก็เป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมาก เพราะอาจซ้ำรอยสงครามเวียดนาม เพราะสาเหตุหลักที่ตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะชาวอัฟกานิสถานสนับสนุนตาลีบัน และต่อต้านกองกำลังต่างชาติจากนาโต้ และสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ในปีนี้ คงต้องจับตาดูว่า การบ้านชิ้นยากสุดของ Obama คือ สงครามอัฟกานิสถานจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร แต่ผมมองว่า การที่สหรัฐฯหวังที่จะเอาชนะในสงครามอัฟกานิสถานคงไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับสถานการณ์สู้รบระหว่างปากีสถานกับนักรบตาลีบันก็กำลังเข้าสู่จุดวิกฤต ปากีสถานได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมใหม่ของ Al Qaeda และตาลีบัน ขณะนี้นักรบตาลีบันได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้มีความหวาดวิตกมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงความมั่นคงปลอดภัยของความมั่นคงของอาวุธนิวเคลียร์ในปากีสถาน โดยหากตาลีบันสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้ จะทำให้รัฐบาลตาลีบันในปากีสถานมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองถึง 80 ลูก

วิกฤตนิวเคลียร์

อีกเรื่องที่ยังคงต้องจับตามองในปีนี้ คือ วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือและอิหร่าน ปีที่แล้ว เกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 2 ทำให้โลกตกตะลึง เกาหลีเหนือได้กลับมาเดินหน้าโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ที่ Yongbyon ซึ่งเกาหลีเหนือได้ปิดไปเมื่อ 2007 จึงมีความห่วงกังวลว่า เกาหลีเหนือจะเดินหน้าต่อในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับประเทศอื่นด้วย เช่นเดียวกับอิหร่านก็ยังคงเดินหน้าต่อในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว Obama ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ต่ออิหร่านและเกาหลีเหนือ โดยหันมาใช้ไม้อ่อน คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์และได้เริ่มมีการเจรจากับอิหร่านและเกาหลีเหนือ แต่ขณะนี้ผลของนโยบายปฏิสัมพันธ์ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะท่าทีของทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด

ดังนั้น ในปีนี้ คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายปฏิสัมพันธ์ของ Obama จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวอย่างไร หากเรามองโลกในแง่ดี ก็อาจจะหวังว่า การเจรจาน่าจะนำไปสู่การผ่อนคลายวิกฤตนิวเคลียร์ลงไปได้ แต่การเจรจาคงหนีไปไม่พ้น เจรจาสองฝ่ายระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ และ สหรัฐฯกับอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ คงจะต้องยอมหลายเรื่อง เช่นสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน ให้หลักประกันความมั่นคง โดยไม่ขู่จะโจมตีหรือโค่นรัฐบาลทั้งสอง ทั้งนี้ เพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือและอิหร่านจะยอมอ่อนข้อลง

สันติภาพในตะวันออกกลาง

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันในปีนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ปีที่แล้ว Obama ได้พยายามเน้นการแก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยเสนอทางแก้ที่เรียกว่า two- state solution คือ การให้รัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่เส้นทางสันติภาพในตะวันออกกลางก็เต็มไปด้วยอุปสรรค โดยในปีนี้ หากมีการผลักดันให้มีการเจรจา ก็มีหลายเรื่องที่ยากจะหาข้อยุติ อาทิ เขตแดนของรัฐปาเลสไตน์ สถานะของกรุงเยรูซาเล็ม สถานะของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 5 ล้านคน และปัญหาการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขต west bank ดังนั้น ในปีนี้จึงต้องดูว่า สันติภาพในตะวันออกกลางจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะได้รับการแก้ไขได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า เป็นเรื่องยากมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ

ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียเสื่อมโทรมลงไปมาก จนถึงขั้นมีบางคนมองว่า การเมืองโลกจะกลับไปสู่สงครามเย็นภาคสองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ว Obama ได้เดินทางไปรัสเซีย และประกาศนโยบายต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ และหลังจากได้หารือกับ Medvedev ก็ได้มีข้อตกลงกันหลายเรื่อง ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียได้เริ่มดีขึ้น โดย Obama ประสบความสำเร็จในการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง
ดังนั้น แนวโน้มในปีนี้ ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย น่าจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของการเมืองโลกนั้นสวนทางกับแนวคิดของ Obama คือ มีลักษณะเป็นโลกแห่งสัจจนิยมที่มองโลกในแง่ร้าย และมักจะมองประเทศอื่นว่าเป็นศัตรู การเมืองโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขันและความขัดแย้ง ทั้งสองประเทศก็คงจะหลีกหนีตรรกะของการเมืองโลกไปไม่พ้น

สำหรับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับจีนก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย คือ ในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่า จีนกำลังเป็นภัยคุกคาม ยุทธศาสตร์ของ Bush คือ นโยบายปิดล้อมจีน แต่มาในสมัย Obama ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯก็เปลี่ยนมาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์ โดยในช่วงปลายปีที่แล้ว การเยือนจีนของ Obama ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยได้มีการขยายความร่วมมือในหลายสาขาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐฯกับจีนจะตกลงกันได้ทุกเรื่อง ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอาจจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ความสัมพันธ์ที่ในปีนี้ดูมีแนวโน้มดีขึ้น อาจจะสะดุดลงไป ก็เป็นไปได้

วิกฤตเศรษฐกิจโลก

เรื่องสุดท้ายที่คงจะต้องจับตาดูกันในปีนี้ คือ การคลี่คลายของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปีที่แล้วประเทศต่าง ๆ ได้หาหนทางกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลทั่วโลกได้ใช้จ่ายเงินในการกอบกู้วิกฤตถึง 10 ล้านล้านเหรียญ รวมทั้งได้มีการจัดประชุมสุดยอด G20 ไปแล้ว 3 ครั้ง เพื่อประสานความร่วมมือมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบระบบการเงิน การเพิ่มบทบาทให้กับ IMF รวมทั้งการปฏิรูประบบการเงินโลก ซึ่งดูแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า มาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและมาตรการกอบกู้วิกฤตในระยะสั้นกำลังจะได้ผล

ดังนั้น ในปีนี้ จึงมีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่า วิกฤตน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ คงจะเริ่มเป็นบวก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างเช่นจีน ก็คงจะฟื้นตัวเร็วมาก และอาจจะกลับมามีอัตราการเจริญโตที่สูงเกินความคาดหมายได้

ประเมินนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 2009 และแนวโน้มในปี 2010

ประเมินนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 2009 และแนวโน้มในปี 2010
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 8 - วันพฤหัสที่ 14 มกราคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สรุปนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาล Obama ในรอบปี 2009 ที่ผ่านมา และจะประเมินและคาดการณ์แนวโน้มนโยบายในปี 2010 ด้วย

นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Obama

ในรอบปีที่ผ่านมา หลังจาก Obama ได้มาเป็นประธานาธิบดีในเดือนมกราคมปี 2009 Obama ได้ประกาศและปฏิรูปนโยบายต่างประเทศใหม่ โดยตัวอย่างของนโยบายที่เปลี่ยนไป คือ

· Obama ประกาศว่าพร้อมที่จะเจรจา แม้จะเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ โดย
ได้เสนอพร้อมที่จะเจรจากับอิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และเดินหน้าเจรจาทวิภาคี และเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ และพม่า

· เปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม โดยได้กล่าวสุนทร
พจน์ที่ไคโร เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เรียกร้องให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม เดินหน้าถอนทหารออกจากอิรัก และประกาศจะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

· ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียและจีน โดยได้เดินทางไปเยือนทั้งสองประเทศ และ
บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกันหลายเรื่อง

· จุดยืนของรัฐบาล Obama ต่อปัญหาโลกได้เปลี่ยนแปลงไปหลายเรื่อง อาทิ ท่าทีที่
เปลี่ยนแปลงไปต่อปัญหาภาวะโลกร้อน และท่าทีต่อ UN

การประเมิน

สำหรับการประเมิลผลนโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น ก็มีทั้งมุมมองที่เป็นบวกและ
เป็นลบ คือ มีทั้งที่มองว่า นโยบายประสบความสำเร็จ และที่มองว่านโยบายประสบความล้มเหลว

สำหรับที่มองว่า Obama ประสบความสำเร็จนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ คณะกรรมการ โนเบลที่ให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่ Obama โดยคณะกรรมการได้กล่าวชื่นชม Obama ว่า ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองโลก การทูตพหุภาคีได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง การเจรจาหารือได้กลับมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง Obama จึงทำให้ชาวโลกมีความหวังสำหรับอนาคตที่จะดีขึ้น

แต่สำหรับมุมมองว่า นโยบายของ Obama ประสบความล้มเหลว (ซึ่งจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม พรรครีพับริกัน) จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า Obama ก็ได้แต่พูด แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรม ปัญหาต่าง ๆ ในโลกก็ยังคงอยู่ ไม่มีปัญหาใดที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอิสราเอล – ปาเลสไตน์ เกาหลีเหนือ และอิหร่าน

สำหรับผม ผมมองว่า นโยบายของ Obama มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ประสบความสำเร็จ ในแง่ที่ได้ริเริ่มแนวนโยบายต่างๆ ที่นับว่าเป็นก้าวแรกที่ดี แต่ว่าที่ล้มเหลวคือ ยังไม่ได้มีผลอะไรออกมาเป็นรูปธรรม

ผมประเมินว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา Obama ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยได้ริเริ่มปฏิรูปนโยบายต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด ดูจะเป็นการเริ่มที่ดี นับเป็นก้าวแรกที่ดี ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อประชาคมโลก แต่คงจะเป็นการเร็วเกินไป ที่จะด่วนสรุปถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลว คงจะต้องรอดูกันยาว ๆ อีกหลายปี ถึงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

แนวโน้ม

สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในปี 2010 นี้ ก่อนอื่น ต้องมองว่า นโยบายต่างประเทศของ Obama นั้น มีลักษณะเป็นอุดมคตินิยมและเสรีนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดี เป็นการขายฝันให้แก่ชาวโลก ผมก็อยากให้ความฝันของ Obama เป็นจริง แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่า จะมีอุปสรรคอีกมากมายเหลือเกินกว่าที่ Obama จะสานฝันให้เป็นจริงได้

ในปี 2010 นี้ คงต้องจับตาดูกันว่า Obama จะสามารถสานฝันให้เป็นจริง จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกอย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน แต่ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า ในที่สุด แนวนโยบายอุดมคตินิยมและเสรีนิยมจะเจอกับอุปสรรค ทั้งนี้เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นโลกของอุดมคตินิยม และกลับเป็นโลกของสัจจนิยม ที่เน้นในเรื่องการแข่งขันต่อสู้เพื่ออำนาจระหว่างประเทศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แนวโน้มนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในปี 2010 ที่จะต้องจับตามองเป็นพิเศษ จะมีเรื่องสำคัญ ดังนี้

· นโยบายต่อปัญหาภาวะโลกร้อน

ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ผลการประชุม
เป็นที่น่าผิดหวังและถือว่าล้มเหลว เพราะข้อตกลงที่เรียกว่า Copenhagen Accord เป็นข้อตกลงที่เจรจากันระหว่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีสถานะทางกฎหมายที่เป็นปัญหาเป็นอย่างมาก และข้อตกลงไม่ได้มีการกำหนดว่า จะมีการเจรจาในรูปแบบสนธิสัญญาเมื่อใด และไม่ได้มีการกำหนดปริมาณการตัดลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด
ท่าทีของสหรัฐฯ และ Obama ถือว่าน่าผิดหวังและประสบความล้มเหลวในการประชุมที่โคเปนเฮเกน ในปีนี้ การเจรจาภาวะโลกร้อนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ท่าทีของสหรัฐฯที่ควรจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำก็ถูกจำกัด เพราะกระแสต่อต้านจากสภาคองเกรส ทำให้ในที่สุด สหรัฐฯ คงไม่สามารถที่จะเล่นบทบาทนำในการผลักดันสนธิสัญญาฉบับใหม่ภายในปี 2010 ได้

· นโยบายต่อสงครามอัฟกานิสถาน

ในปี 2010 ปัญหาที่ปวดหัวที่สุดของ Obama น่าจะเป็นสงครามในอัฟกานิสถาน การ
ตัดสินใจเพิ่มกำลังทหารเข้าไป 30,000 คน ดูจะสวนทางกับนโยบายต่างประเทศของ Obama ในด้านอื่น ๆ ที่เน้นปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ แต่การเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานถือเป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมากของ Obama เพราะอาจจะซ้ำรอยสงครามเวียดนาม เหตุผล คือ การเพิ่มกองกำลังเข้าไปจะยิ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐฯมากขึ้นจากชาวอัฟกานิสถาน สาเหตุหลักที่ตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะชาวอัฟกานิสถานสนับสนุนตาลีบัน และต่อต้านกองกำลังต่างชาติ
เพราะฉะนั้น ในที่สุดแล้ว การที่สหรัฐฯ หวังว่าจะเอาชนะในสงครามอัฟกานิสถานคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย ในปีนี้ เราจึงต้องจับตาดูกันต่อว่า การบ้านชิ้นที่ยากที่สุดของ Obama คือ สงครามอัฟกานิสถานนั้น จะประสบความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวอย่างไร

· นโยบายปฏิสัมพันธ์

หัวใจของนโยบายต่างประเทศของ Obama คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์ โดย Obama ได้
ประกาศและเริ่มปฏิสัมพันธ์ต่ออิหร่าน เกาหลีเหนือ และพม่า โดยได้เริ่มมีการเจรจาในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่าน เช่นเดียวกับในกรณีเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ ได้เริ่มเจรจาทวิภาคีกับเกาหลีเหนือในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และในกรณีของพม่าก็เช่นเดียวกัน สหรัฐฯได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ต่อพม่า จากนโยบายคว่ำบาตรมาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์ โดยสหรัฐฯเรียกนโยบายปฏิสัมพันธ์กับพม่าว่า “practical engagement” ซึ่งถ้าแปลตรงตัว คือ “ปฏิสัมพันธ์ที่ปฏิบัติได้จริง” แต่ผมคิดว่า จริง ๆ แล้ว ยุทธศาสตร์นี้น่าจะเรียกว่า ยุทธศาสตร์กึ่งปฏิสัมพันธ์กึ่งคว่ำบาตร น่าจะตรงกว่า

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ผลของนโยบายปฏิสัมพันธ์ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะท่าทีของอิหร่านยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับในกรณีเกาหลีเหนือ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงท่าที ที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด สำหรับในกรณีพม่า ก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่รัฐบาลทหารพม่าจะเปลี่ยนแปลงท่าทีในเรื่องของนโยบายปฏิรูปทางการเมือง

ดังนั้น ในปีนี้ เราคงจะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายปฏิสัมพันธ์ของ Obama จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

· นโยบายต่อโลกมุสลิม
เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงไคโร ประกาศยุคใหม่ของ
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม โดยมองว่า ไม่จำเป็นที่โลกตะวันตกกับโลกมุสลิมจะต้องขัดแย้งกัน Obama เชื่อว่ากุญแจสำคัญของการลดความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลาม คือ ต้องพยายามเข้าใจกันและลดความมีอคติต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า แนวนโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากลจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้อย่างไร และแนวคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้อย่างไร ในทางกลับกัน ในปี 2010 นี้ เราอาจจะเห็น การรื้อฟื้นของกระแสการก่อการร้ายสากล สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดยนักรบตาลีบัน ก็ไม่มีท่าทีว่าจะยุติ

อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาอิสราเอล- ปาเลสไตน์ Obama พยายามใช้วิธีที่ Obama เชื่อว่า จะใช้แก้ปัญหาได้ คือ ความพยายามที่จะเข้าใจกันและเห็นใจกัน และผลักดันแนวทางในการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์และรัฐอิสราเอลคู่กันนั้น แต่ในความเป็นจริง เส้นทางของสันติภาพในตะวันออกกลางเต็มไปด้วยอุปสรรค หลายเรื่องที่ยากที่จะหาข้อยุติ ไม่ว่าจะเป็นเขตแดนของรัฐปาเลสไตน์ สถานะของกรุงเยรูซาเล็ม สถานะของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 5 ล้านคน รวมทั้งปัญหาการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขต west bank ดังนั้น ในปี 2010 จึงต้องดูกันว่า สหรัฐฯจะสามารถผลักดันสันติภาพในตะวันออกกลางให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่ายาก

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2552 ตอนจบ

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2552 (ตอนจบ)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 1 - วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้วและตอนนี้ เป็นตอนส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะสรุปสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยผมได้จัดลำดับเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด 10 อันดับ ดังนี้

อันดับที่ 1 : ปัญหาภาวะโลกร้อนและการประชุมที่โคเปนเฮเกน
อันดับที่ 2 : วิกฤตเศรษฐกิจโลก
อันดับที่ 3 : นโยบายต่างประเทศของ Obama
อันดับที่ 4 : วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
อันดับที่ 5 : สงครามอัฟกานิสถาน
อันดับที่ 6 : สงครามปากีสถาน
อันดับที่ 7 : วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
อันดับที่ 8 : ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย
อันดับที่ 9 : ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน
อันดับที่ 10 : ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ในตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์อันดับ 1 ถึงอันดับ 5 ไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่ออันดับที่ 6 ถึงอันดับที่ 10 ดังนี้

อันดับที่ 6 : สงครามปากีสถาน

เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกในอันดับ 6 ในความคิดของผม คือ สงครามปากีสถาน
สถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารปากีสถานกับนักรบตาลีบันกำลังเข้าสู่จุดวิกฤต ขณะนี้ปากีสถานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่ของนักรบตาลีบันและ Al Qaeda ซึ่งได้ย้ายฐานมาจากอัฟกานิสถาน โดยได้ใช้บริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถานเป็นฐานที่มั่นใหญ่ และได้รุกคืบเข้าไปยึดหุบเขา Swat ซึ่งอยู่ห่างจากกรุง Islamabad เมืองหลวงของปากีสถานเพียง 100 กว่าเมตร นักรบตาลีบันจึงได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้น จึงทำให้มีความหวาดวิตกมากขึ้น ถึงความมั่นคงปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน Al Qaeda และ Bin Laden ได้เคยประกาศว่า จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาอาวุธร้ายแรง สำหรับอาวุธนิวเคลียร์นั้น ในกรณีของปากีสถานน่าเป็นห่วงมาก ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และคนในรัฐบาลบางกลุ่มก็มีใจฝักใฝ่และนิยมตาลีบันและ Al Qaeda สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ หากตาลีบันสามารถเข้ายึดกรุง Islamabad ได้และสามารถเข้ายึดกุมอำนาจรัฐปากีสถานได้ ก็จะทำให้รัฐบาลตาลีบันในปากีสถานจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองกว่า 80 ลูก

อันดับที่ 7 : วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน

เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับ 7 ในรอบปี 2552 คือ ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
ตะวันตกและสหรัฐฯ ได้กล่าวหาอิหร่านว่า กำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ตะวันตกพยายามกดดันอิหร่านด้วยวิธีต่าง ๆ โดยการนำเรื่องเข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงของ UN เพื่อผลักดันมาตรการคว่ำบาตร และหลายครั้งที่อเมริกาออกมาขู่ว่า จะใช้กำลังทหารโจมตีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านตึงเครียดอย่างหนัก โดย Bush ประกาศว่า อิหร่านเป็นหนึ่งในอักษะแห่งความชั่วร้าย ส่วนผู้นำอิหร่านคือ Ahmadinejad ก็ออกมาตอบโต้และขู่ว่าจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก

อย่างไรก็ตาม Obama ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ได้กล่าวโจมตีนโยบายของ Bush ต่ออิหร่านและประกาศว่า หากได้เป็นประธานาธิบดีก็พร้อมที่จะเจรจากับผู้นำอิหร่าน ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงไคโรประกาศศักราชของความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับโลกมุสลิมและได้กล่าวว่า สหรัฐฯ กับอิหร่านไม่ควรจะติดอยู่กับความขัดแย้งในอดีต แต่ประเทศทั้งสองควรจะพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า ดังนั้น จึงมีหลายเรื่องที่จะต้องหารือกัน ต่อมา Susan Rice ทูตประจำ UN ได้ประกาศท่าทีว่า สหรัฐฯ จะพยายามใช้ทุกวิถีทาง รวมทั้งการใช้การทูตเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงเห็นได้ชัดว่า รัฐบาล Obama ได้เปลี่ยนท่าที โดยได้หันกลับมาเน้นปฏิสัมพันธ์กับอิหร่าน กระบวนการเจรจาทางการทูตจึงได้เริ่มขึ้น

อันดับที่ 8 : ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย

เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับ 8 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย
ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์สหรัฐฯ- รัสเซียเสื่อมโทรมลงอย่างมาก จนถึงขั้นมีบางคนมองว่า การเมืองโลกกำลังจะกลับไปสู่สงครามเย็นภาค 2

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาล Obama ได้ประกาศนโยบายชัดเจนว่า ต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ และ Obama ได้เดินทางไปเยือนรัสเซีย ได้หารือกับประธานาธิบดี Medvedev และได้มีข้อตกลงกันหลายเรื่อง โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดหัวรบนิวเคลียร์ลงให้เหลือ 1 ใน 3 และจะร่วมมือกันในเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้กับวัตถุดิบนิวเคลียร์ ทั้งสองฝ่าย ยังได้หารือกันถึงกรณีของเกาหลีเหนือและอิหร่าน รวมทั้งความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย แต่เรื่องที่ยังขัดแย้งกันอยู่ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับจอร์เจียและยูเครน โดยรัสเซียไม่พอใจอย่างมากที่สหรัฐฯจะดึงเอาจอร์เจียและยูเครนมาเป็นสมาชิกนาโต้

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว การเยือนรัสเซียของ Obama ถือว่าประสบความสำเร็จ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย เห็นได้ชัดว่า Obama พยายามอย่างเต็มที่ที่จะปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียโดยเน้นปฏิสัมพันธ์ และเปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ

อันดับที่ 9 : ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน

เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 9 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในรอบปีที่ผ่านมา
ในอดีตโดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่า จีนเป็นภัยคุกคาม และยุทธศาสตร์ของ Bush คือ นโยบายกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ คือ ปิดล้อมทางทหารแต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ ยังมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ แต่ Obama มีนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนปฏิสัมพันธ์เป็นพิเศษ และพยายามที่จะลดสัดส่วนของนโยบายปิดล้อมทางทหารลง

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Obama ได้เดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก โดยได้พยายามตอกย้ำนโยบายต่างประเทศใหม่ของตน คือนโยบายปฏิสัมพันธ์ และได้พยายามขยายความร่วมมือกับจีนในทุก ๆ ด้าน การเยือนจีนของ Obama ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะได้มีการขยายความร่วมมือออกไปมากมายหลายสาขาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีครั้งใดที่จีนกับสหรัฐฯ จะมีท่าทีตรงกันได้มากมายหลายเรื่องเหมือนในครั้งนี้ โดยมีทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคงและทางทหาร ในหลาย ๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯยอมประนีประนอมและโอนอ่อนไปตามท่าทีของจีน อาทิ ปัญหาไต้หวัน และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ความร่วมมือด้านภาวะโลกร้อนก็เป็นพัฒนาการที่สำคัญ เพราะในอดีต สหรัฐฯกับจีนมีท่าทีตรงกันข้าม แต่ท่าทีของทั้งสองก็เปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นขัดแย้งกัน โดยเฉพาะในประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้

อันดับที่ 10 : ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

และสุดท้ายก็เป็นอันดับ 10 เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับ 10 คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล- ปาเลสไตน์

พัฒนาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การดำเนินนโยบายในเชิงรุกของ Obama ในสุนทรพจน์ที่กรุงไคโร ซึ่งเป็นสุนทรพจน์ประกาศยุคใหม่ความสัมพันธ์สหรัฐฯกับโลกมุสลิม Obama ได้เน้นที่จะแก้ปัญหาอิสราเอล – ปาเลสไตน์ โดยเชื่อว่า ทางแก้ที่ดีที่สุด คือ two- state solution คือ การผลักดันให้รัฐอิสราเอล และรัฐปาเลสไตน์คงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้ ปาเลสไตน์ โดยเฉพาะฮามาสจะต้องยุติความรุนแรง และยอมรับสิทธิของอิสราเอลในการคงอยู่ ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ต้องยอมรับสิทธิของปาเลสไตน์และการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ และยุติการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขต west bank
ต่อมา นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล คือ Netanyahu ได้ประกาศท่าทีของอิสราเอลต่อข้อเสนอของ Obama โดยกล่าวว่า อิสราเอลยอมรับรัฐปาเลสไตน์ แต่ก็มีเงื่อนไข โดยไม่สนใจที่จะยุติการตั้งถิ่นฐานในเขต west bank เรียกร้องให้ปาเลสไตน์ยอมรับอิสราเอลว่าเป็นรัฐของชาวยิว สำหรับสถานะของกรุงเยรูซาเล็ม ก็จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอิสลาเอล (เป็นที่รู้กันดีว่า ปาเลสไตน์ต้องการให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์) นอกจากนี้ Netanyahu ยังได้ตั้งเงื่อนไขว่า รัฐปาเลสไตน์จะต้องไม่มีกองกำลังทหาร
สำหรับปาเลสไตน์ก็ได้แสดงความผิดหวังต่อ Netanyahu โดยกล่าวว่า ท่าทีของ Netanyahu เท่ากับเป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพและทำลายความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเจรจาครั้งใหม่
โดยสรุป ถึงแม้ Obama จะมีความหวังอย่างแรงกล้าที่จะแก้ปัญหาอิสราเอล – ปาเลสไตน์ แต่เส้นทางของสันติภาพในตะวันออกกลาง ก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคนานานัปการ
เพราะในอดีตสหรัฐฯกับจีนมีท่าทีตรงกันข้าม

ประเมินนโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ในรอบ 1 ปี

ประเมินนโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ในรอบ 1 ปี
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2552

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ ซึ่งเป็นตอนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมจึงขอถือโอกาสประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในรอบ 1 ปี ดังนี้

ในภาพรวม ก็โอเค สำหรับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ว่า ก็ไม่ถึงกับมีอะไรโดดเด่น ไม่มีอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงให้เห็น แต่ก็ไม่ถึงกับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ก็จะมีปน ๆ กันไป มีทั้งเรื่องที่สำเร็จและบางเรื่องที่ดูล้มเหลว

ความสำเร็จ

เริ่มจากที่ประสบความสำเร็จก่อน เรื่องที่ประสบความสำเร็จ น่าจะเป็นเรื่องของการจัดประชุมที่ไทยเป็นประธานอาเซียน จัดประชุมสุดยอดไป 2 ครั้ง ประชุมครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อันนี้เป็นผลงานที่ออกมาดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบ ผลการประชุม เนื้อหาของการประชุม ทุกอย่างออกมาดีหมด ผมให้ A สำหรับการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

อีกครั้งหนึ่งที่จัดต่อมา คือ ในเดือนตุลาคมที่เป็นการประชุมสุดยอดครั้งที่ 15 ครั้งนี้ดูเหมือนจะแผ่วลงไป ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องโดดเด่น อันนี้ให้เกรด B แต่อันที่ล้มเหลวที่ประชุมที่พัทยานั้น ผมจะเก็บเอาไว้ก่อน แต่ตรงนี้ เอาเรื่องในแง่ของความสำเร็จก่อนละกันนะครับ

อีกจุดหนึ่งที่ผมมองว่า ค่อนข้างโดดเด่น แต่ไม่ใช่ที่ตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่เป็นที่ตัวนายกรัฐมนตรี ในการเล่นบทบาทด้านต่างประเทศ ที่ผมเห็นรัฐบาลพยายาม โดยเฉพาะนายกอภิสิทธิ์ ที่พยายามเดินทางเข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆ ในระดับโลกหลายการประชุม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสหประชาชาติในเดือนกันยายน ก็ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เป็นตัวแทนในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมการประชุม G20 ที่ลอนดอน และที่พิตต์สเบิร์ก และยังเข้าร่วมการประชุมในอีกหลายเวที ถ้าผมจำไม่ผิด คือ การประชุม World Economic Forum และในฐานะประธานอาเซียน เป็นประธานการในการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯครั้งแรก ที่สิงคโปร์ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าร่วมประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนด้วย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ตรงนี้ก็ประสบความสำเร็จพอควร ที่ทำให้ไทยชูบทบาทในระดับโลกได้เหมือนกัน ในการที่คุณอภิสิทธิ์ได้ไปเข้าร่วมในหลาย ๆ การประชุม แต่ว่า ก็ได้ระดับหนึ่ง คือว่าเราไปเข้าร่วมประชุม แต่ก็ไม่มีบทบาทอะไรที่ถือว่าโดดเด่น ซึ่งผมดูแล้ว ยังไม่ถึงจุดนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่สอง

เรื่องที่สามคือ ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศต่างๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้าน อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ไทยกับมาเลเซีย กับลาว กับเวียดนาม ก็ดูโอเค ไม่มีปัญหาอะไร ถือว่าไปได้ ผมว่ากับลาวและเวียดนาม ดูเหมือนจะเสมอตัว ไม่มีอะไรที่ดูเด่นขึ้นมา แต่กับมาเลเซีย ก็ดูจะดีขึ้นนิดหนึ่ง ตอนที่ผู้นำมาเลเซียเดินทางมาเยือนไทย มีการตกลงกันได้หลายเรื่อง ซึ่งผมรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ก็กระชับดีขึ้น ในแง่ของไทยกับมาเลเซีย

ส่วนกับประเทศมหาอำนาจ ธรรมดา เราก็ไม่ค่อยมีปัญหากับประเทศมหาอำนาจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกับสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้น ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เดินหน้าต่อในการกระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเหล่านี้ มีที่เป็น highlight หน่อย ก็ตอนที่ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนไทย และพบกับนายกอภิสิทธิ์ และไปประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ไทยเป็นประธานที่ภูเก็ต ก็ทำให้ไทยดูดีขึ้น แต่ก็น่าเสียดาย ที่ความพยายามของเราไม่ประสบความสำเร็จที่จะให้ Obama มาเยือนไทย คือเขามาได้แค่สิงคโปร์ ส่วนกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความสำเร็จ

ความล้มเหลว

ตอนนี้ เราจะมาดูในเรื่องของความล้มเหลวบ้าง ผมมองว่า ในภาพรวมแล้ว นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งผมคาดหวังว่า น่าจะมีนโยบายที่เป็นเชิงรุกมากกว่านี้ น่าจะมีการนำเสนอความคิดใหม่ ๆ ความคิดริเริ่มเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่เป็นเชิงรุกมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา เป็นในเชิงรับมากกว่า คือว่า เขามีประชุม เราก็ไปประชุมกับเขา ตามกระแสไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง รัฐบาลอภิสิทธิ์น่าจะมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากกว่านี้

มาถึงในเรื่องที่ล้มเหลว ที่ล้มเหลวที่สุด คือ ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาทุกอย่าง แย่ลงหมด ทั้งเรื่องเขาพระวิหาร เรื่องฮุนเซน ทักษิณ อะไรต่ออะไร วุ่นวายไปหมด จนมาถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ก็ยังแย่อยู่ ซึ่งเป็นความล้มเหลวของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โจทย์ใหญ่ของไทย คือ เราจะทำอย่างไรที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตรงนี้เป็นการบ้านที่ทำยากมาโดยตลอด ในตอนหลังก็แย่ลงกว่าเดิมอีก

ในการประเมินมาตรการตอบโต้ที่ค่อนข้างรุนแรงต่อฮุนเซน อันนี้ก็พูดยากเหมือนกัน ในเรื่องของการตัดสินใจที่ล่อแหลม เหมือนกับว่า ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเราใช้ไม้แข็ง ใช้ไม้เรียวตี และก็หวังว่าเขาจะยอม แต่มีอีกวิธีหนึ่ง ถ้าใช้วิธีให้รางวัล เอาขนมล่อ ก็อาจจะได้ผลดีกว่า ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้ carrot หรือ stick แต่ว่าเราก็เลือกใช้ stick ใช้มาตรการลงโทษ คือ การเรียกทูตกลับ ยุติการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ยกเลิก MOU และหวังว่า เขาจะยอม เขาจะถอย ซึ่งเขาก็ไม่ถอย และในที่สุด ก็ไม่ได้ผล ซึ่งก็กลายเป็นดาบสองคม มาตรการพวกนี้ มันอันตราย

แต่ผมก็เห็นใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือวิเคราะห์ลำบากว่า ตกลง ฮุนเซนเขาทำทั้งหมดไปเพื่ออะไร เราไม่รู้ว่า สาเหตุที่แท้จริงของเขา คืออะไร เขาไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลก่อน ๆ deal ด้วยง่ายกว่า แต่ในที่สุด ก็ต้องกลับมาดูในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของเรา ถ้าเป็นผลประโยชน์ของเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องไปยอมเขา ถ้ารัฐบาลชุดนี้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศเรา และทำให้เขาไม่พอใจ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ และผมก็คิดว่า รัฐบาลชุดนี้มีความโปร่งใสพอ ในเรื่องของนโยบายต่างประเทศและผลประโยชน์แห่งชาติ แต่ว่า มันก็เป็นดาบสองคม ที่เราไปแข็งกับเขา ซึ่งก็ทำให้เขาไม่พอใจ และก็เลยตีรวน

อีกเรื่องหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์ไทยกับพม่า ผมว่า ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าในปัจจุบัน ดูเงียบ ๆ ไป ดูไม่มีความกระชับแน่นแฟ้น ซึ่งอาจจะโยงไปถึงเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน นางอองซาน ซูจี ซึ่งนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ก็ค่อนข้างจะแข็งในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และอาจจะทำให้รัฐบาลทหารพม่า ไม่ค่อยชอบรัฐบาลชุดนี้

เรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ถ้าเราจะเลือกที่จะเป็นพลเมืองโลกที่ดี บางทีก็อาจทำให้เรากลายเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่ดี โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เลยกลายเป็นแบบนี้

และนอกจากเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว คือ เรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ล่ม ที่พัทยา ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ทำให้โอกาสของไทยในการที่เป็นประธานอาเซียนสูญเสียไป ทำให้ไทยเสียชื่อมาก ทำให้ credit ของประเทศเสียหายมาก เราจึงเปลี่ยน “โอกาส” ให้กลายเป็น “วิกฤต” ไปซะ

เรื่องที่หนึ่งคือ ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องที่สองคือ การประชุมล่มที่พัทยา ที่ผมมองว่าเป็นความล้มเหลว เรื่องที่สาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทไทยในเวทีโลก และในเวทีต่าง ๆ ถึงแม้ว่า นายกอภิสิทธิ์จะไปประชุมที่โน่นที่นี่ แต่บทบาทของไทยก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร เหมือนกับเราไปเป็นตัวประกอบ เล่นเดินตามเกมเขา เราควรจะมียุทธศาสตร์เตรียมไป ที่จะทำให้บทบาทไทยโดดเด่นขึ้นมา

ส่วนความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ก็ไม่มีอะไรที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ เช่น อัฟริกา ยุโรป ตะวันออกลาง ลาตินอเมริกา ที่อยู่ไกลออกไป ภูมิภาคเหล่านี้ เราควรจะต้องมีนโยบายในเชิงรุกด้วย แต่เราก็บุกไม่พอ

นี่เป็นทั้งหมดที่ผมได้ประเมิน สรุปนะครับ ถ้าผมจะให้เกรดก็คือ ประมาณ B หรืออาจจะต่ำกว่า B นิดหน่อย เป็น C+B- อะไรทำนองนี้

ข้อเสนอแนะ

สำหรับข้อเสนอของผม ต่อนโยบายต่างประเทศของไทยในปี 2553 คือ “นโยบายในเชิงรุก” คือ ต้องเป็นนโยบายในเชิงรุกในเรื่องของบทบาทไทยในอาเซียน บทบาทไทยในเวทีต่าง ๆ นโยบายในเชิงรุกในเรื่องที่ต้องปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่นโยบายต่างประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ คือ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และก็กับมหาอำนาจ ก็ต้องมีนโยบายในเชิงรุกด้วย

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2552 ตอนที่ 1

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2552 (ตอนที่ 1)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ที่ 25 - วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2552

คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะสรุปสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยผมได้จัดลำดับเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด 10 อันดับ ดังนี้

อันดับที่ 1 : ปัญหาภาวะโลกร้อนและการประชุมที่โคเปนเฮเกน
อันดับที่ 2 : วิกฤตเศรษฐกิจโลก
อันดับที่ 3 : นโยบายต่างประเทศของ Obama
อันดับที่ 4 : วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
อันดับที่ 5 : สงครามอัฟกานิสถาน
อันดับที่ 6 : สถานการณ์ปากีสถาน
อันดับที่ 7 : วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน
อันดับที่ 8 : ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซีย
อันดับที่ 9 : ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน
อันดับที่ 10 : ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์


อันดับที่ 1 : ปัญหาภาวะโลกร้อนและการประชุมที่โคเปนเฮเกน

ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของโลก แต่พิธีสารเกียวโตกำลังจะหมดอายุลงในปี 2012 การประชุมที่โคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นก้าวสำคัญของประชาคมโลกที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

การประชุมครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมถึง 192 ประเทศ และประชุมระหว่างวันที่ 7 -18 ธันวาคม มีเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้อยู่ 4 เรื่อง คือ เรื่องรูปแบบของข้อตกลง การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน

สำหรับเรื่องความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบของข้อตกลงนั้น ความขัดแย้งหลักเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศรวยกับประเทศยากจน โดยประเทศยากจนต้องการคงพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต

เรื่องที่สองที่มีความขัดแย้งกันอย่างหนัก คือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนตั้งเป้าหมายให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา

อีกเรื่องที่ถกเถียงกันมากที่สุด คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก โดยท่าทีของประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 แต่สำหรับท่าทีของประเทศร่ำรวยนั้น อย่างเช่นท่าทีของสหรัฐฯ คือ จะลดการปล่อยก๊าซลงเพียง 4 %

สำหรับเรื่องที่สี่ที่ตกลงกันไม่ได้ คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1 % ของ GDP ในขณะที่สหรัฐฯ ไม่เคยประกาศท่าทีในเรื่องนี้

ความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนมีลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด

สำหรับผลการประชุมที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมปรากฏว่า เป็นที่น่าผิดหวังและล้มเหลวเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อตกลงที่เรียกว่า Copenhagen Accord เป็นข้อตกลงที่เจรจากันระหว่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย บราซิล และอัฟริกาใต้เท่านั้น โดยประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 190 ประเทศเพียงแต่ “รับทราบ” (take note) แต่ไม่ได้ “ยอมรับ” (approve) ในข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าว จึงมีสถานะทางกฎหมายที่เป็นปัญหาเป็นอย่างมาก และข้อตกลงไม่ได้มีการกำหนดว่า จะมีการเจรจาในรูปแบบสนธิสัญญาเมื่อไร ในข้อตกลงมีแต่พูดถึงเรื่องการกำหนดปริมาณอุณหภูมิที่ 2 องศา และจะมีการตั้งวงเงินช่วยเหลือประเทศยากจนประมาณ 100,000 ล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2020 แต่ที่น่าผิดหวังคือไม่ได้มีการกำหนดปริมาณการตัดลดก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด

อันดับที่ 2 : วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ในรอบปีที่ผ่านมา ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ โดยวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ปี 2008 หลังจากนั้น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก กระทบต่อสถาบันการเงินและธนาคาร รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนั้น ยังได้ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกเสื่อมถอย นำไปสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี

ในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ได้หาหนทางในการกอบกู้วิกฤต โดยเฉพาะมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านล้านเหรียญ

สำหรับมาตรการความร่วมมือในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุด คือ G20 โดยได้มีการประชุมสุดยอดไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 ครั้งที่สองที่กรุงลอนดอนในเดือนเมษายน และครั้งที่สามที่เมืองพิตต์สเบิร์กในเดือนกันยายน โดยเรื่องหลัก ๆ เป็นความร่วมมือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสร้างกลไกควบคุมตรวจสอบระบบการเงิน การเพิ่มบทบาทให้กับ IMF รวมทั้งการปฏิรูประบบการเงินโลก

ในรอบปีที่ผ่านมา มาตรการกอบกู้วิกฤตดูจะได้ผล ซึ่งเห็นแนวโน้มว่า วิกฤตน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และเศรษฐกิจของประเทศสำคัญได้เริ่มเป็นบวก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่น จีน ได้ฟื้นตัวเร็วมากและได้กลับมามีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากเกินความคาดหมาย

อันดับที่ 3 : นโยบายต่างประเทศของ Obama

เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามของโลก คือ นโยบายต่างประเทศของ Obama ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นวิสัยทัศน์ใหม่และความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปนโยบายต่างประเทศและปฏิรูปโลกใหม่ โดยตัวอย่างของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯที่เปลี่ยนแปลงไป คือ

· Obama ประกาศพร้อมจะเจรจา แม้จะเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ โดยได้เสนอที่พร้อมจะเจรจากับอิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และเดินหน้าเจรจาทวิภาคี และเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ พม่า และคิวบา

· ได้เดินหน้าถอนทหารออกจากอิรัก

· ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยได้เริ่มเจรจากับรัสเซีย และบรรลุข้อตกลงหลายเรื่อง

· เปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม

· จุดยืนของรัฐบาล Obama ต่อปัญหาโลกได้เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ท่าทีที่
เปลี่ยนแปลงไปในปัญหาภาวะโลกร้อน ท่าทีต่อ UN ปฏิสัมพันธ์กับจีน ฯลฯ
Obama ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ โดยคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวชื่นชม
Obama ว่า ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองโลก การทูตพหุภาคีได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง การเจรจาหารือได้กลับมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง Obama จึงทำให้โลกและประชาชนในโลกมีความหวังสำหรับอนาคตที่จะดีขึ้น

อันดับที่ 4 : วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับสี่ คือ เรื่องวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือช๊อกโลกด้วยการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ได้ทำให้โลกตกตะลึงมาแล้วในปี 2006 เมื่อเกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังทำให้คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อประกาศยกเลิกสัญญาสงบศึกระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และในช่วงเดือนกรกฎาคม เกาหลีเหนือยังได้ขู่ว่า จะยิงขีปนาวุธถล่มเกาะฮาวายของสหรัฐฯ ด้วย

สำหรับสหรัฐฯก็รู้ดีว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นการทดสอบรัฐบาล Obama ประธานาธิบดี Obama จึงได้ออกมาประกาศว่า จะดำเนินมาตรการตอบโต้ต่อการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ ได้ออกมาในรูปของมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติที่เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาล Obama ได้เปลี่ยนท่าทีลดความแข็งกร้าวและหันมาเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ จึงทำให้ความตึงเครียดได้ลดลงในช่วงปลายปีนี้

อันดับที่ 5 : สงครามอัฟกานิสถาน

เรื่องที่มีความสำคัญต่อโลกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน โดยในรอบปีที่ผ่านมา สถานการณ์ได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ทั้งนักรบตาลีบันและ
Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ โดยมีแหล่งซ่องสุมใหม่อยู่ที่พรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน โดย
ตาลีบันพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาล Karzai และได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯจึงได้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ต่ออัฟกานิสถาน โดย Obama ได้ประกาศเพิ่มทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานกว่า 30,000 คน แต่ก็ตั้งเป้าว่า 18 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยจะมีการพัฒนากองกำลังของอัฟกานิสถาน เพื่อให้ต่อสู้กับฝ่ายของตาลีบันได้

ปัญหาอัฟกานิสถานนับเป็นปัญหาที่ปวดหัวที่สุดของ Obama ซึ่งดูจะสวนทางกับนโยบายต่างประเทศของ Obama ในด้านอื่น ๆ ที่จะเน้นปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ แต่ดูเหมือนกับว่า Obama ไม่มีทางเลือก

(โปรดติดตามอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)

Obama กับสงครามอัฟกานิสถาน

Obama กับสงครามอัฟกานิสถาน
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 18 - วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2552

ปัญหาด้านนโยบายต่างประเทศที่เป็นเรื่องปวดหัวที่สุดของ Obama คือ ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน และเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ Obama ได้ตัดสินใจประกาศนโยบายใหม่ต่ออัฟกานิสถาน คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ สุนทรพจน์ประกาศนโยบายใหม่ต่ออัฟกานิสถานของ Obama ดังนี้

สุนทรพจน์ของ Obama

Obama ได้ใช้โอกาสในการกล่าวสุนทรพจน์ให้แก่โรงเรียนทหารที่ West Point โดยเนื้อหาเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกาศนโยบายใหม่ต่ออัฟกานิสถาน ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ในตอนแรก Obama ได้ย้อนกลับไปถึงต้นตอของสงครามในอัฟกานิสถานว่าเกิดจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปี 2001 โดยได้มีผู้ก่อการร้ายจากเครือข่าย Al Qaeda ก่อวินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ ทำให้มีคนตายเกือบ 3,000 คน ฐานใหญ่ของ Al Qaeda อยู่ในอัฟกานิสถาน และได้รับการสนับสนุนปกป้องจากรัฐบาลตาลีบัน ต่อมา สหรัฐฯจึงได้ส่งกำลังทหารบุกอัฟกานิสถานเพื่อล้มล้างรัฐบาลตาลีบัน และบดขยี้เครือข่าย Al Qaeda และอเมริกาสามารถบุกเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้ ต่อมาได้มีการจัดประชุมของ UN และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น โดยมีประธานาธิบดี คือ Hamid Karzai

อย่างไรก็ตาม ต่อมา สถานการณ์ในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เพราะทั้งนักรบตาลีบันและ Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ โดยแหล่งซ่องสุมใหม่ของ Al Qaeda อยู่บริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน ตาลีบันได้พยายามที่จะล้มล้างรัฐบาล Karzai และได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากขึ้นเรื่อย ๆ

Obama ได้เล่าต่อว่า ในขณะที่ภัยคุกคามหนักขึ้น แต่กำลังทหารของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานกลับมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับในอิรัก คือ มีอยู่ประมาณ 30,000 คน เมื่อเทียบกับสมัยสงครามอิรักซึ่งมีทหารอเมริกันอยู่ถึง 160,000 คน ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสู้กับตาลีบันและ Al Qaeda และไม่สามารถที่จะฝึกกองกำลังของอัฟกานิสถานขึ้นมาได้

และด้วยเหตุนี้เองที่ Obama จึงได้ให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ต่ออัฟกานิสถาน และขณะนี้การทบทวนยุทธศาสตร์ได้เสร็จสิ้นแล้ว และสหรัฐฯได้มียุทธศาสตร์ใหม่ต่ออัฟกานิสถานแล้ว โดยจะมีการเพิ่มทหารสหรัฐฯเข้าในอัฟกานิสถานกว่า 30,000 คน และ 18 เดือนหลังจากนั้น จะเริ่มถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยจะมีการพัฒนากองกำลังของอัฟกานิสถาน

Obama กล่าวว่าเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ยังไม่เปลี่ยน คือ การเอาชนะ Al Qaeda ทั้งในอัฟกานิสถานและในปากีสถาน และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะมีการดำเนินการ โดยการปฏิเสธแหล่งซ่องสุมของ Al Qaeda และการตีกลับการลุกคืบของตาลีบัน และปฏิเสธการล้มล้างรัฐบาล Karzai รวมทั้งการพัฒนากองกำลังของอัฟกานิสถาน

Obama บอกว่า จะมี 3 ยุทธศาสตร์หลัก

ยุทธศาสตร์แรกจะเป็นยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่จะตีกลับการลุกคืบของตาลีบัน และพัฒนาความสามารถของกองกำลังอัฟกานิสถานในช่วง 18 เดือนข้างหน้า กองกำลังของสหรัฐฯที่จะเพิ่มขึ้น 30,000 คนนั้น จะถูกส่งเข้าไปในช่วงต้นปี 2010 เพื่อเข้าไปรักษาเมืองที่สำคัญ ๆ

ส่วนยุทธศาสตร์ที่สอง สหรัฐฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรและสหประชาชาติ เพื่อทำให้ยุทธศาสตร์ด้านพลเรือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเน้นส่งเสริมให้รัฐบาล Karzai มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนยุทธศาสตร์ที่สาม จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ความสำเร็จในอัฟกานิสถานขึ้นอยู่กับความร่วมมือของปากีสถาน โดยขณะนี้เชื้อโรคร้ายได้แพร่เข้าสู่ปากีสถานแล้ว โดยเฉพาะในเขตพรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถาน การก่อวินาศกรรมในปากีสถานได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก กองทัพปากีสถานได้สู้รบอย่างหนักกับนักรบตาลีบันในเขตทางตะวันตกของปากีสถาน ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯกับปากีสถานมีศัตรูร่วมกัน สหรัฐฯ จะช่วยพัฒนาสมรรถนะภาพของปากีสถานในการสู้กับตาลีบัน

บทวิเคราะห์

ผมมองว่าสุนทรพจน์ของ Obama ในครั้งนี้ เป็นความพยายามของ Obama ที่จะแก้ไขปัญหาที่ปวดหัวที่สุดของ Obama คือ สงครามในอัฟกานิสถาน การตัดสินใจเพิ่มกองกำลังทหารเข้าไป ดูจะสวนทางกับนโยบายต่างประเทศของ Obama ในด้านอื่น ๆ ที่จะเน้นปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ แต่ดูเหมือนกับว่า Obama ไม่มีทางเลือก

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ใหม่ของ Obama ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้าง ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้

· การเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานถือเป็นเกมที่ค่อนข้างเสี่ยงมากสำหรับ
Obama ในประวัติศาสตร์มีทั้งกรณีที่สำเร็จและล้มเหลว ในกรณีที่ประสบความสำเร็จอาจจะเป็นกรณีอิรัก แต่ในกรณีที่ล้มเหลวคือ ในสมัยสงครามเวียดนาม ซึ่งหากมองว่า อาจจะซ้ำรอยสงครามเวียดนามนั้น เหตุผลคือ การเพิ่มกองกำลังเข้าไปจะยิ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐมากขึ้นจากชาวอัฟกานิสถาน และสาเหตุหลักที่ตาลีบันได้ยึดครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะชาวอัฟกานิสถานสนับสนุนตาลีบันและต่อต้านกองกำลังต่างชาติ

· หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ exit strategy ของ Obama คือ การพัฒนากองกำลัง
อัฟกานิสถานเพื่อสามารถสู้กับตาลีบันได้ และสหรัฐฯก็จะได้ถอนกำลังทหารออก แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแม้ว่า สหรัฐฯจะได้พยายามฝึกทหารอัฟกานิสถานจำนวน 90,000 คน แต่ก็ดูจะไม่สามารถจะสู้กับนักรบตาลีบันได้ ที่ยุ่งไปกว่านั้น คือ กองทัพอัฟกานิสถานถูกครอบงำโดยชนเผ่า Tajiks แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่า Pashtuns ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน ชาว Pashtuns สนับสนุนตาลีบัน และนักรบตาลีบันเกือบทั้งหมดก็เป็นชาว Pashtuns

· ปัญหาใหญ่ประการที่สามคือ รัฐบาลของ Hamid Karzai มีปัญหาในเรื่อง
ความชอบธรรม โดยถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นเพียงรัฐบาลหุ่นของสหรัฐฯ

· ปัญหาอีกประการคือ การที่ Obama ได้ประกาศที่จะถอนทหารออกจาก
อัฟกานิสถานในอีก 18 เดือนคือ ในเดือนกรกฎาคมปี 2011 การประกาศเช่นนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเป็นโอกาสที่นักรับตาลีบันจะไม่เคลื่อนไหวและรอให้ทหารอเมริกันถอนออกไป หลังจากนั้น จึงจะเปิดฉากการโจมตีครั้งใหม่

สำหรับ Obama แล้ว ก็อาจจะมองว่า การประกาศกำหนดเวลาการถอนทหาร จะเป็นการบอกชาวอเมริกันว่า สงครามในอัฟกานิสถานไม่ใช่เป็นสงครามที่ยืดเยื้อไม่มีที่สิ้นสุด และจะเป็นการบีบในรัฐบาล Karzai รีบปฏิรูปโดยเร็ว นอกจากนั้น ยังเป็นการประกาศให้ชาวอัฟกานิสถานเห็นว่า สหรัฐไม่ได้ต้องการยึดครองอัฟกานิสถาน แต่ในขณะเดียวกัน การประกาศเช่นนั้น จะเปิดโอกาสให้ตาลีบันรอไปอีก 18 เดือน และรอให้อเมริกาถอนทหารออกไป และค่อยเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่

· อีกปัญหาหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหม่ของ Obama คือ ความร่วมมือของปากีสถาน
ในสุนทรพจน์ของ Obamaได้เน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ในอัฟกานิสถานจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อปากีสถานให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะการทำลายแหล่งซ่องสุมของตาลีบันและ Al Qaeda ในปากีสถาน แต่ผู้นำทหารของปากีสถาน ก็มองสงครามในอัฟกานิสถานต่างจากสหรัฐฯ โดยเชื่อว่า การก่อการร้ายของตาลีบันจะยุติก็ต่อเมื่ออเมริกาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และต้องการให้มีข้อตกลงทางการเมือง โดยจะต้องดึงเอาตาลีบันมาเจรจาด้วย โดยจะต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จากรัฐบาล Karzai มาเป็นรัฐบาลที่ Pashtuns ซึ่งปากีสถานสนับสนุนและเป็นพวกเดียวกับปากีสถาน จะต้องมีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น

· เพราะฉะนั้น ในที่สุดแล้วการที่สหรัฐฯหวังจะเอาชนะในสงครามอัฟกานิสถานจึง
ไม่ใช่เรื่องง่าย การกำจัดตาลีบันอาจจะเป็นไปไม่ได้ อเมริกาอาจจะทำให้เพียงแค่ลดบทบาท และป้องกันไม่ให้ตาลีบันกลับคืนสู่อำนาจเท่านั้น

ดังนั้น เราจึงต้องจับตาดูกันต่อว่า การบ้านชิ้นที่ยากที่สุดของ Obama คือ สงครามอัฟกานิสถานนั้น ในที่สุดแล้ว Obama จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

การประชุมปัญหาโลกร้อนที่ Copenhagen

การประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนที่ Copenhagen
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2552

ขณะนี้กำลังมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ประเด็นสำคัญของการเจรจา และแนวโน้มผลการประชุม ดังนี้

การประชุมที่โคเปนเฮเกน

พิธีสารเกียวโต ตั้งแต่ปี 1997 ได้กำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่พิธีสารเกียวโตกำลังจะหมดอายุลงในปี 2012 การประชุมที่โคเปนเฮเกน จึงจะเป็นก้าวสำคัญของประชาคมโลก ว่าจะกำหนดกฎเกณฑ์ในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างไรภายหลังปี 2012

การประชุมครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมถึง 192 ประเทศ และมีผู้นำประเทศเข้าร่วมกว่า 120 คน การประชุมเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม และกำหนดจะสิ้นสุดในวันที่ 18 ธันวาคม ในช่วงสัปดาห์แรก เป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ แต่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ได้เริ่มเดินทางมาประชุมในระดับสุดยอด ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 16-18 ธันวาคม จะมีผู้นำโลก อย่างเช่น Barack Obama นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ Gordon Brown เลขาธิการ UN Ban Ki-moon ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy และนายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh เป็นต้น

รูปแบบข้อตกลง

ในการประชุมครั้งนี้ มีเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้อยู่ 4 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ เรื่องรูปแบบของข้อตกลง เรื่องที่สอง คือ การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เรื่องที่สาม คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก และเรื่องที่สี่ คือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน

สำหรับเรื่องแรกเป็นความขัดแย้งในเรื่องรูปแบบของข้อตกลง โดยความขัดแย้งหลัก อยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน โดยประเทศยากจนต้องการคงพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องมีการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต

โดยท่าทีของประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้มีการต่ออายุพิธีสารเกียวโตออกไป ทั้งนี้ เพราะข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้ให้ประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพราะกำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรมต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับการยกเว้น นอกจากนี้ ในพิธีเกียวโตกำหนดให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศยากจนด้วย กลุ่มของประเทศยากจนที่สำคัญที่สุดในการเจรจาครั้งนี้คือ กลุ่ม 77 หรือ G 77 ซึ่งประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาถึง 130 ประเทศ ท่าทีของ G77 คือ การต่ออายุพิธีสารเกียวโตออกไป และยืนยันให้ประเทศภาคีพิธีสารเกียวโตจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีใหม่ภายหลังปี 2012

อย่างไรก็ตาม การจะต่ออายุพิธีสารเกียวโตออกไปได้รับการคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯต่อต้านพิธีสารเกียวโตมาโดยตลอด โดยในสมัยรัฐบาล Bush ไม่ได้ให้สัตยาบันและถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโต สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีข้อผูกมัดในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก แทนที่จะทำด้วยความสมัครใจ และสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยที่พิธีสารเกียวโตยกเว้นความรับผิดชอบของประเทศกำลังพัฒนาในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น สหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงต้องการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่แทนที่พิธีสารเกียวโต

การกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

เรื่องที่สองที่มีความขัดแย้งกันอย่างหนัก คือการกำหนดระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งความขัดแย้งก็เป็นเหมือนเรื่องอื่น คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน โดยท่าทีของประเทศยากจนคือ การตั้งเป้าหมายที่จะให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1- 1.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมมีท่าทีว่าที่ประชุมควรจะตั้งเป้าไว้ที่ 2 องศา ซึ่งเป็นท่าทีที่กลุ่ม G8 ได้ตกลงกันเมื่อตอนประชุมสุดยอดในเดือนกรกฎาคม

มีการประเมินว่า หากต้องการไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องตัดลงก๊าซเรือนกระจกลงถึง 20-45 % ภายในปี 2020 และถ้าหากต้องการให้อุณหภูมิเพิ่มไม่เกิน 1-1.5 องศา ก็หมายความว่าประเทศอุตสาหกรรมจะต้องตัดลดก๊าซเรือนกระจกลงกว่า 45% ภายในปี 2020 ซึ่งคงเป็นสิ่งประเทศอุตสาหกรรมคงจะยอมรับได้ยาก

การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก

อีกเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก โดย pattern ก็เหมือนความขัดแย้งในเรื่องอื่น ๆ คือ เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน
โดยท่าทีของประเทศกำลังพัฒนาคือ เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2020 โดยจีนกับอินเดียมีท่าทีร่วมกับประเทศยากจนอื่น ๆ แต่สำหรับจีนซึ่งขณะนี้กลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 1 ของโลก ถึง 20 % แต่ในพิธีสารเกียวโต จีนถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิดชอบในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก จีนจึงถูกกดดันอย่างหนักจากประเทศต่าง ๆ ล่าสุด ท่าทีของจีนคือ จีนจะลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่จะคิดในสัดส่วนการปล่อยก๊าซต่อหัว ซึ่งถ้าคิดในสัดส่วนการปล่อยก๊าซต่อหัวแล้ว จีนจะอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก ส่วนอินเดีย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 5 % แต่ถ้าคิดเป็นต่อหัว อินเดียจะอยู่ในอันดับที่ 66 ของโลก ดังนั้นท่าทีของอินเดียจึงเหมือนจีน คือ การจัดสรรความรับผิดชอบจะต้องใช้เกณฑ์ต่อหัวเป็นหลัก

สำหรับท่าทีของประเทศอุตสาหกรรมนั้น สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากจีน (15.5%) ท่าทีของสหรัฐฯ คือ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 4% ภายในปี 2020 (ซึ่งแตกต่างจากข้อเรียกร้องของประเทศยากจนเป็นอย่างมากที่เรียกร้องให้ลดลง 40%) สหรัฐฯ ยังยืนกรานที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีนและอินเดียจะต้องมีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับ EU ปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 18% เป็นอันดับสามรองจากจีนและสหรัฐฯ แต่ EU ประกาศจะตัดลดก๊าซลง 20-30% และสำหรับญี่ปุ่น ซึ่งปล่อยก๊าซเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 3.3% ประกาศจะตัดลดก๊าซลง 25%
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ยังมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างท่าทีของประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนในเรื่องนี้

การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจน

สำหรับเรื่องที่สุดท้ายที่ยังตกลงกันไม่ได้และยังหาข้อสรุปไม่ได้ คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนในการปรับตัวจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน และเพื่อใช้ในการปรับลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศยากจน ในพิธีสารเกียวโตมีการระบุแต่เพียงหลักการว่าประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือยากจนในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้มีการกำหนดเป็นตัวเลขจำนวนเงิน

ได้มีการศึกษาถึงจำนวนเงินที่จะต้องใช้ โดยนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ ได้ประเมินว่าจะต้องมีเม็ดเงินประมาณ 100,000 ล้านเหรียญต่อปี ส่วนทาง UN ได้ประเมินว่าจะต้องใช้เม็ดเงินกว่า 500,000 ล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่ EU ประเมินว่าต้องใช้เงินประมาณ 150,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่สหรัฐฯไม่เคยพูดถึงเรื่องจำนวนเงิน

สำหรับท่าทีของประเทศยากจนนั้น เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินประมาณ 1% ของ GDP ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงินก็หลายแสนล้านเหรียญต่อปี ท่าทีของจีนก็เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนา คือ เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP

ในขณะที่ประเทศร่ำรวยที่ออกมาประกาศชัดเจนกว่าเพื่อนคือ EU ที่ประกาศตั้งวงเงิน 150,000 ล้านเหรียญต่อปีภายในปี 2020 ในขณะที่ญี่ปุ่น นาย Hatoyama ได้ประกาศ Hatoyama Initiative โดยจะเพิ่มวงเงินให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน แต่ยังไม่ได้กำหนดตัวเลข สำหรับสหรัฐฯ ไม่เคยประกาศท่าทีในเรื่องนี้
แนวโน้มผลการประชุม

จะเห็นได้จากการวิเคราะห์ข้างต้นว่า ยังมีหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ต่างฝ่ายต่างก็พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้กับประเทศอื่นให้มากที่สุด ในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคมนี้จะเป็นวันสุดท้ายของประชุม คาดว่า จะมีความพยายามประนีประนอมในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะใน 4 เรื่องใหญ่ ๆ ข้างต้น ผมคาดเดาว่า ผลการประชุมในลักษณะสนธิสัญญาคงเป็นไปไม่ได้ แต่การประชุมคงน่าจะไม่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในที่สุด น่าจะมีการประนีประนอมกันและผลการประชุมน่าจะออกมาในลักษณะที่เป็นข้อตกลงในหลักการกว้าง ๆ ส่วนรายละเอียดคงจะต้องเจรจากันต่อ อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ ในที่สุด อาจจะตกลงกันแม้กระทั่งในหลักการกว้าง ๆ ก็ไม่ได้ และอาจจะต้องเลื่อนการประชุมออกไปเป็นกลางปี 2010

การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน

การประชุมภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน
ปีที่ 57 ฉบับที่ 12 วันศุกร์ที่ 11 - วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2552

ในช่วงระหว่างวันที่ 7 – 18 ธันวาคมนี้ กำลังมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของการประชุมดังกล่าวดังนี้

ภูมิหลัง

การประชุมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมีขึ้นครั้งแรกในปี 1992 ที่นคร รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเราเรียกกันย่อ ๆ ว่า Earth Summit หรือ Rio Summit และมีการจัดทำข้อตกลงของ UN ที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC)
หลังจากนั้น ในปี 1997 ได้มีการจัดทำพิธีสารเกียวโต โดยให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ต่อมา ในปลายปี 2007 ได้มีการจัดประชุมที่บาหลี และได้มีการจัดทำ Bali Roadmap ที่เป็นกรอบกว้าง ๆ สำหรับการเจรจาสนธิสัญญาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนฉบับใหม่ หลังจากพิธีสารเกียวโตหมดอายุลงในปี 2012 โดยตั้งเป้าว่าจะใช้เวลาในการเจรจา 2 ปี และจะให้การเจรจาสิ้นสุดลงในปี 2009
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาหลายครั้ง และการประชุมที่โคเปนเฮเกนก็ได้รับการคาดหวังว่า จะสามารถบรรลุสนธิสัญญาฉบับใหม่ได้ โดยได้มีการมองว่า ข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ทั้งนี้ เพราะกำหนดให้เฉพาะประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจก และสหรัฐซึ่งเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดก็ถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโต ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่จะมีประสิทธิภาพดีกว่าพิธีสารเกียวโต

โคเปนเฮเกน

สำหรับการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนนั้น มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมถึง 192 ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 15,000 คน และมีผู้นำประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คน ผู้นำโลกที่สำคัญที่จะเข้าร่วมการประชุม อาทิ ประธานาธิบดี Barack Obama นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Gordon Brown ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy และ นายกรัฐมนตรีอินเดีย Manmohan Singh

ในช่วง 2 -3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนท่าทีของประเทศสำคัญ โดยเฉพาะจากสหรัฐ จีนและอินเดีย จึงจะทำให้มีการคาดหวังค่อนข้างสูงในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ กลุ่มภาคประชาสังคมก็ได้มีการเดินขบวนประท้วง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรป

ประเด็นการเจรจา

สำหรับเรื่องสำคัญของการเจรจาในครั้งนี้ จะเป็นการสานต่อจาก Bali Roadmap ซึ่งเน้นเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก การถ่ายโอน clean technology ให้กับประเทศกำลังพัฒนา และการช่วยเหลือประเทศยากจน Bali Roadmap ได้กำหนด 4 เสาหลัก สำหรับการประชุม คือ 1) การเจรจาลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงภายใน 2020 2) ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน 3) ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศร่ำรวยเพื่อช่วยในการปรับตัว และ 4) จะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่ประเทศยากจน

ท่าทีของประเทศต่าง ๆ

· สหรัฐ

สหรัฐเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอดีตเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้เป็นอันดับ
สองรองจากจีน สัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ 15 .5 % สำหรับท่าทีล่าสุดของสหรัฐ คือ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 17% จาก ระดับของปี 2005 ให้ได้ภายในปี 2020 ซึ่งถ้าปรับเป็นตัวเลข โดยใช้ฐานของระดับการปล่อยก๊าซในปี 1990 แล้ว สหรัฐจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 4 % เท่านั้น สหรัฐไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงแบบเดียวกับพิธีสารเกียวโตที่จะบีบบังคับประเทศภาคีให้ต้องปฏิบัติตามแทนที่จะทำด้วยความสมัครใจ สหรัฐยืนกรานที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะ จีน อินเดีย บราซิล จะต้องมีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

· สหภาพยุโรป หรือ EU

EU ปล่อยก๊าซกระจกคิดเป็น 18% เป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐ EU ประกาศข้อเสนอที่ดูไปไกลกว่าเพื่อนในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมด้วยกัน โดยประกาศจะตัดลดลง 20 -30 % จากระดับปี 1990 ภายในปี 2020 ซึ่งเปรียบเทียบกับสหรัฐที่จะลดลง 4 % เท่านั้น นอกจากนั้น EU ยังประกาศที่จะตั้งวงเงินช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาถึง 150,000 ล้านเหรียญต่อปีภายในปี 2020

· ญี่ปุ่น

สำหรับญี่ปุ่น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 3.3 % ท่าทีของญี่ปุ่นใกล้เคียงกับท่าทีของ EU คือ ประกาศจะตัดลดก๊าซลง 25% ภายในปี 2020 นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น คือ Hatoyama ได้ประกาศความคิดริเริ่ม Hatoyama หรือ Hatoyama Initiative ซึ่งจะเพิ่มวงเงินให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา

· จีน

ขณะนี้ จีนกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับหนึ่งของโลกถึง 20.7 % ในพิธีสารเกียวโต จีนถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่ต้องมีความรับผิดชอบในการตัดลดก๊าซเรือนกระจก แต่ขณะนี้ จีนกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากประเทศต่าง ๆ ที่จะให้ตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง ท่าทีของจีนคือ ประกาศว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลง แต่จะคิดในสัดส่วนการปล่อยก๊าซต่อหัว ซึ่งถ้าคิดเป็นการปล่อยก๊าซต่อหัวแล้ว จีนจะจัดอยู่ในอันดับ 30 ของโลก โดยจีนประกาศว่า ต้องการให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2020 ซึ่งจะสูงกว่าที่ประเทศร่ำรวยได้ประกาศไว้ นอกจากนี้ จีนยังเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินคิดเป็น 1% ของ GDP เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน

· อินเดีย

อินเดียปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 5% แต่
ถ้าคิดเป็นต่อหัว อินเดียจะอยู่ที่อันดับ 66 ของโลก ดังนั้น ท่าทีของจีนและอินเดียจึงเหมือนกัน คือ การจัดสรรความรับผิดชอบจะต้องใช้เกณฑ์ต่อหัวเป็นหลัก ท่าทีของอินเดียจึงเหมือนจีน โดยประกาศว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยใช้หลักเกณฑ์ต่อหัว และเช่นเดียวกับจีน อินเดียได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2020

· ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน

ประเทศกำลังพัฒนาจะมีท่าทีแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้ว จะมีท่าทีคล้าย ๆ จีนและอินเดีย คือเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยตัดลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% และเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 0.5 – 1 % ของ GDP เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงินก็คงจะหลายแสนล้านเหรียญต่อปี

การคาดการณ์ผลการประชุม

กระบวนการเจรจาในเรื่องนี้จริงๆ ได้ผ่านมา 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่การประชุมที่บาหลี ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า ได้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน ต่างฝ่ายต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตน พยายามปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่น จุดยืนของประเทศต่าง ๆ จึงกลายเป็นว่า พยายามให้ประเทศตนรับผิดชอบต่อเรื่องนี้น้อยที่สุด และปัดความรับผิดชอบไปให้ประเทศอื่นมากที่สุด ดังนั้น เป้าหมายของเจรจาที่ตั้งไว้ใน Bali Roadmap ที่จะให้บรรลุถึงสนธิสัญญาฉบับใหม่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้
มีความเป็นไปได้ 4 แนวทาง ในแง่ของผลการประชุมครั้งนี้

1) ข้อตกลงในลักษณะสนธิสัญญา ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้
2) ข้อตกลงในหลักการกว้าง ๆ ส่วนรายละเอียดก็คงจะต้องเจรจากันภายหลัง
3) เลื่อนการประชุมออกไปเป็นกลางปี 2010
4) การประชุมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งผมดูแล้วว่า ประเทศต่าง ๆ ก็ต้องการที่ให้การประชุมที่โคเปนเฮเกนประสบความสำเร็จและต้องการให้ตกลงกันให้ได้ ก่อนที่พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2012 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ผลการประชุมน่าจะออกมาในแนวทางที่ 2 ซึ่งจะเป็นข้อตกลงทางการเมืองและหลักการอย่างกว้าง ๆ ส่วนรายละเอียดและการเจรจาสนธิสัญญา ก็คงจะเป็นขั้นตอนต่อไปของการเจรจาซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 2010

Obama เยือนจีน ตอนจบ

Obama เยือนจีน (ตอนจบ)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม 2552

ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก ที่สำคัญคือได้มีการหารือกับผู้นำจีน คือ Hu Jintao หลังการหารือ ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมสัมพันธภาพระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (Joint Statement on US-China Relationship)

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ได้สรุปวิเคราะห์แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวต่อให้จบ ดังนี้
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

สำหรับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ในแถลงการณ์ร่วมกล่าวว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะร่วมมือกันในการทำให้เศรษฐกิจโลกเจริญเติบโตในลักษณะที่สมดุลและยั่งยืน

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการประชุม G20 ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินโลก และจะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของ G20 ให้ G20 พัฒนาไปเป็นเวทีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ G20 ตกลงที่จะให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้สถาบันมีความชอบธรรม มีความเชื่อมั่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะต้องมีการปฏิรูปโควต้าและสัดส่วนอำนาจในการลงคะแนนเสียงใน IMF และธนาคารโลก โดยจะต้องเพิ่มเสียง และการมีส่วนร่วมให้กับประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับในประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีนั้น ทั้งสองฝ่ายเพียงตกลงว่าจะหาหนทางที่จะแก้ความขัดแย้งทางการค้าและการลงทุน และจะให้มีการเจรจาสนธิสัญญาด้านการลงทุนทวิภาคีโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้การเจรจารอบโดฮาประสบความสำเร็จภายในปี 2010 สำหรับเวทีการหารือด้านเศรษฐกิจนั้น ได้มีการประชุม US – China Joint Commission on Commerce and Trade มาถึง 20 ครั้งแล้ว

ผมมองว่า ในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในประเด็นเรื่อง G20 และสถาบันการเงินโลก เห็นได้ชัดว่าท่าทีของสหรัฐฯ เป็นการโอนอ่อนตามท่าทีของจีนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของการหารือในครั้งนี้คือ ประเด็นความขัดแย้งทวิภาคีทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก่อนหน้านี้ มีข่าวกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง ในลักษณะที่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของทั้งสองประเทศต่อสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ ปัญหาเรื้อรังอีกเรื่องคือ ปัญหาค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งสหรัฐฯได้พยายามมาหลายปีแล้วที่จะให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน แต่จีนก็ยืนกรานที่จะไม่ยอมตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ดังนั้น เราคงต้องจับตาดูกันว่า ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวบ่อนทำลายความพยายามของ Obama ที่จะปฏิสัมพันธ์กับจีนหรือไม่

ปัญหาสิ่งแวดล้อม

อีกเรื่องที่ Obama ประสบความสำเร็จอย่างมากในครั้งนี้คือ การหารือกับจีนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องภาวะโลกร้อน โดยในแถลงการณ์ร่วม ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันที่จะต้องร่วมหารือกันอย่างสร้างสรรค์ในปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการประชุมครั้งสำคัญในเดือนธันวาคมที่โคเปนเฮเกน ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนตรงกัน โดยยึด Bali Action Plan เป็นหลัก ทั้งจีนและสหรัฐฯ มีจุดยืนตรงกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีว่าการประชุมที่โคเปนเฮเกนจะต้องมีการกำหนดเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกด้วย ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการนำไปสู่ผลการประชุมที่ประสบความสำเร็จที่โคเปนเฮเกน

ผมมองว่า ประเด็นความร่วมมือด้านภาวะโลกร้อนระหว่างจีนกับสหรัฐฯในครั้งนี้ เป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก เพราะในอดีต สหรัฐฯกับจีนมีท่าทีในเรื่องนี้ที่อยู่ตรงกันข้ามกัน โดยสหรัฐฯ ไม่สนใจพิธีสารเกียวโต และไม่ยอมตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่จีนในอดีตก็มีท่าทีว่าจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงได้รับการยกเว้นในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ท่าทีของทั้งสองประเทศในครั้งนี้เปลี่ยนแปลงลงไปมาก และชี้ให้เห็นว่า ในภาพรวมสหรัฐฯกับจีนสามารถที่จะมีจุดยืนร่วมกันในหลาย ๆ เรื่องอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ความร่วมมือด้านพลังงาน

อีกเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

· โดยได้มีการลงนามในพีธีสารระหว่างกระทรวงพลังงานสหรัฐฯกับของจีนเพื่อที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยพลังงานสะอาด (Clean Energy Research Center)

· ได้มีความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าทีมีชื่อภาษาอังกฤษว่า US-China Electric Vehicles Initiative โดยจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับสองประเทศในอนาคต

· มีความร่วมมือในด้านพลังงานทดแทน คือ US-China Renewable Energy Partnership

· ได้มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือด้านพลังงาน (US-China Energy Cooperation Program) โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้งเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

· ได้มีการจัดประชุม US-China Energy Policy Dialogue ครั้งที่ 4

· การจัดประชุม US – China Oil and Gas Industry Forum ครั้งที่ 9

· ได้มีโครงการความร่วมมือใหม่ที่มีชื่อว่า US-China Shale Gas Resource Initiative เพื่อพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของจีน

· มีการจัดการประชุม Executive Committee Meeting of the Global Nuclear Energy Partnership ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ

ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงกันในเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้มีการจัดตั้งกลไกใหม่ที่มีชื่อว่า US – China Joint Commission on Science and Technology Cooperation และจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์อวกาศและการสำรวจอวกาศด้วย

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการติดต่อในระดับประชาชนต่อประชาชน และจะให้มีการจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ โดยในขณะนี้ มีนักศึกษาจีนเกือบ 100,000 คนที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ ในขณะที่มีนักศึกษาอเมริกันอยู่ในจีนประมาณ 20,000 คน สหรัฐฯ ได้ตั้งเป้าว่า จะส่งนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนในช่วงอีก 4 ปีข้างหน้า และกำลังจะมีการประชุม US- China Cultural Forum ครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ

ปัญหาสิทธิมนุษยชน

สำหรับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนว่าแต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกทางเดินของตน และแต่ละประเทศควรจะเคารพในตัวแบบการพัฒนาของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายตระหนักดีว่า สหรัฐฯและจีนยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งสองฝ่ายก็จะจัดการประชุมหารือในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010

ผมมองว่า แถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ แตกต่างจากในอดีต เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะมีท่าทีที่แข็งกร้าวและกล่าวโจมตีจีนอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ แต่ในครั้งนี้ ท่าทีของ Obama ได้อ่อนลงไปอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า Obama ต้องการจะประนีประนอมกับจีนอย่างเต็มที่ จึงไม่อยากหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาทำให้จีนไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม ผมเดาว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ คงจะไม่พอใจต่อท่าทีของ Obama

และโดยภาพรวมแล้ว พรรครีพับริกันและฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐ คงจะมองว่า การดำเนินนโยบายปฏิสัมพันธ์กับจีนของ Obama เป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่า จีนเป็นภัยคุกคาม ดังนั้น การปฏิสัมพันธ์จะยิ่งทำให้จีนแข็งแกร่งขึ้นมา ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามหนักขึ้น และมองว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯน่าจะเป็นการปิดล้อมจีนมากกว่า

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ปี 2009

ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ปี 2009
ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2552

ปัจจุบัน กำลังมีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบหรือระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ดังนี้

ระเบียบเศรษฐกิจโลกเก่า

ระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน มีชื่อว่า Bretton Woods System ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสหรัฐเป็นตัวแสดงหลัก ระบบ Bretton Woods มีลักษณะสำคัญคือ ตั้งอยู่บนหลักการที่เรียกว่า ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน กลไกตลาด การเปิดเสรี การค้าเสรี นอกจากนี้ ระบบ Bretton Woods ยังมีสถาบันสำคัญ 3 สถาบัน ได้แก่ GATT ซึ่งค้ำจุนระบบการค้าเสรี และ IMF กับ ธนาคารโลก ซึ่งค้ำจุนระบบการเงินเสรี ระบบ Bretton Woods ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน โดยถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนจาก GATT มาเป็น WTO แต่โดยหลักๆแล้ว ก็ยังเป็นระบบเดิม

ผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน วิกฤตได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อบกพร่องของระบบ Bretton Woods ซึ่งสามารถแยกแยะเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้

· การขาดกลไกควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ จริงๆแล้ว ต้นเหตุหลักของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ คือการขาดกลไกควบคุมสถาบันการเงินในระดับโลก แต่การประชุมสุดยอด G20 3 ครั้งที่ผ่านมา ก็ล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือไม่สามารถตกลงกันได้ ที่จะให้มีการจัดตั้งกลไกควบคุมสถาบันการเงินอย่างแท้จริง ตัวการสำคัญคือ สหรัฐที่ต้องการเตะถ่วงเรื่องนี้ สหรัฐไม่ต้องการกลไกควบคุมสถาบันการเงินโลก เพราะกลัวว่าอาจจะขัดกับผลประโยชน์ของสหรัฐ จุดมุ่งหมายใหญ่ของสหรัฐคือ การครองความเป็นเจ้าในระบบการเงินโลกต่อไป

· ความล้มเหลวของ WTO ในการเป็นกลไกเปิดเสรีการค้าโลก การเจรจารอบ Doha ทำท่าว่าจะล่ม ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างนำไปสู่การเกิดขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต สาเหตุหลักของความล้มเหลวในการเจรจารอบ Doha คือ การที่ประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนตกลงกันไม่ได้ โดยเฉพาะในการเปิดเสรีสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและบริการ การงัดข้อกันและการชะงักงันของการเจรจา เป็นเพราะระบบการค้าโลกได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจ (ซึ่งมีสหรัฐผูกขาดอำนาจ) ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ จึงมีการถ่วงดุลกันและกัน ไม่มีใครสามารถจะครอบงำ ผูกขาดกำหนดหลักเกณฑ์ทางการค้าแต่เพียงผู้เดียวได้อีกต่อไป

· ปัญหาขั้นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคือ ปัญหาในด้านโครงสร้าง โดยจะเห็นได้จากความล้มเหลวของ IMF ในการเล่นบทบาทควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน การประชุม G20 ที่ผ่านมา ก็พยายามจะเพิ่มบทบาทให้กับ IMF และปฏิรูป IMF แต่ปัญหาใหญ่ของการปฏิรูป IMF คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศเศรษฐกิจใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา แต่ที่ผ่านมา IMF ไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพราะมีการจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับสหรัฐและยุโรป โดยสหรัฐเป็นประเทศเดียวที่มี veto power และมีอำนาจในการลงคะแนนเสียงถึง 20% ในขณะที่ยุโรปมีอำนาจในการลงคะแนนเสียงถึง 30 % ผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดโดยคนยุโรปมาตลอด ในขณะที่ธนาคารโลก ปัญหาก็เหมือนกับ IMF คือตะวันตกครอบงำ และประธานธนาคารโลกก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาตลอด

· กลไก G7 G8 ก็ไม่สามารถเล่นบทผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป G8 ขาดความชอบธรรมในการเป็นเวทีแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก เพราะ G8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน G8 จึงประสบกับวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก ประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G8 โดยเฉพาะจีนและอินเดีย

· วิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ทำให้อำนาจของสหรัฐและตะวันตกตกต่ำลง ได้ทำลายชื่อเสียงของอเมริกาในฐานะผู้นำโลก ถือเป็นความล้มเหลวทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ของตะวันตก ความอ่อนแอของตะวันตกในครั้งนี้ได้ชี้ชัดว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังจะแปรเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจที่สหรัฐเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจที่มีมหาอำนาจอื่นๆมีบทบาทมากขึ้น

สหรัฐกำลังจะสูญเสียสถานะความเป็นมหาอำนาจในระบบการเงินโลกหรือไม่ นิวยอร์กจะสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินโลกหรือไม่ และสถานะของเงินดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือไม่
วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อฉันทามติวอชิงตัน ทำให้ฉันทามติวอชิงตันสั่นคลอนลงไปมาก และเริ่มเสื่อมความนิยมลง การที่รัฐบาลสหรัฐและยุโรปได้เข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ก็เท่ากับเป็นการทำลายหลักการฉันทามติวอชิงตันของตนเอง

· สาเหตุใหญ่ของปัญหาข้างต้น ก็เป็นผลมาจากการสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองของระบบ Bretton Woods ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 60 ปีที่แล้ว บนพื้นฐานของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจของตะวันตก แต่ในขณะนี้ โครงสร้างของอำนาจเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก


ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

ด้วยปัจจัยดังกล่าวต่างๆข้างต้น จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลก ปัจจัยสำคัญคือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ขณะนี้ ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจใหม่ มีสัดส่วนคิดเป็น 40% ของเศรษฐกิจโลก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เศรษฐกิจของกลุ่มนี้ มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6% ต่อปี ในขณะที่กลุ่มประเทศร่ำรวยอัตราเฉลี่ยประมาณ 2-3% และหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยและติดลบ

เอเชียถือเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐ และอินเดียก็ตามมาติดๆ และในอนาคต จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

ในขณะที่สัดส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐต่อเศรษฐกิจโลกลดลงเรื่อยๆ คือลดลงจาก 50% เหลือเพียง 20% ในปัจจุบัน แต่การผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้สัดส่วนเศรษฐกิจของจีนต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอีกไม่นานเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าเศรษฐกิจของสหรัฐ และจีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระเบียบเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์คือ การที่กลไก G20 ได้กลายเป็นกลไกหลักแทนที่ G7 G8 ในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก สมาชิกครึ่งหนึ่งของกลุ่ม G20 มาจากประเทศกำลังพัฒนา ในจำนวนนี้มีประเทศเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี

แต่จริงๆแล้ว ผมก็ยังมองว่า G20 ยังไม่มีความชอบธรรมในการเป็นกลไกบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจโลก เพราะ G20 เป็นกลุ่มที่อเมริกาตั้งขึ้นมา ประเทศที่เป็นสมาชิก G20 ก็เป็นประเทศที่อเมริกาเลือกเข้ามาทั้งหมด ดังนั้น ในที่สุดแล้ว อเมริกาจะยังคงครอบงำ G20 อยู่ คำถามใหญ่คือว่า จะมีความชอบธรรมอย่างไรที่ 20 ประเทศนี้ จะมาเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของประเทศอื่นๆอีกเกือบ 180 ประเทศ ผมคิดว่า เวทีและกลไกที่มีความชอบธรรมที่สุด น่าจะเป็นสหประชาชาติ

อีกเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อคือ เรื่องการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก โดยได้มีข้อเสนอให้มีการเพิ่มโควตาและอำนาจการลงคะแนนเสียง ให้กับประเทศในเอเชีย เพิ่มขึ้น 10% แต่ในการประชุม G20 ที่พิตส์เบิร์ก ตกลงที่จะเพิ่มให้เพียง 2.5 % นอกจากนี้ ควรจะต้องมีการยกเลิกสิทธิ veto ของสหรัฐ และผู้อำนวยการ IMF คนใหม่น่าจะมาจากคนที่ไม่ใช่ยุโรป รวมทั้งประธานธนาคารโลกคนใหม่ ก็ควรจะมาจากประเทศที่ไม่ใช่สหรัฐด้วย

Obama เยือนจีน ตอนที่ 1

Obama เยือนจีน (ตอนที่ 1)
สยามรัฐสัปดาหวิจาณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน - วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2552

ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก ที่สำคัญคือได้มีการหารือกับผู้นำจีน คือ Hu Jintao หลังการหารือ ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมสัมพันธภาพระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (Joint Statement on US-China Relationship) คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า จะสรุปวิเคราะห์แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

ก่อนอื่น ผมจะขอกล่าวถึงภูมิหลังยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อจีน โดยในสมัยรัฐบาล Bush กลุ่มอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามมากขึ้น และมองว่าเป้าหมายหลักของจีนคือ การก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้น ข้อสรุปของยุทธศาสตร์ Bush คือ นโยบายปิดล้อม เพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายของอิทธิพลจีน อย่างไรก็ตาม การดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนอย่างเต็มรูปแบบเหมือนยุทธศาสตร์ปิดล้อมสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็นทำได้ยาก เพราะจีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ไปแล้ว ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ Bush ในทางปฏิบัติจึงมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ คือ ปิดล้อมทางการทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ

ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ ยังมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ แต่ Obama มีนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนการปฏิสัมพันธ์เป็นพิเศษ และพยายามที่จะลดสัดส่วนของนโยบายปิดล้อมลง

ภาพรวมการเยือนจีนของ Obama

ความสัมพันธ์สหรัฐ- จีน กำลังจะกลายเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก โดยในการเยือนจีนของ Obama ครั้งแรกนี้ Obama พยายามตอกย้ำนโยบายต่างประเทศใหม่ของตน คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์ โดยได้พยายามขยายความร่วมมือกับจีนในทุก ๆ ด้าน

ผมมองว่า ในภาพรวม การเยือนจีนของ Obama ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ดูจากรายละเอียดแถลงการณ์ร่วมที่ได้มีการขยายความร่วมมือไปมากมายหลายสาขา อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ Obama ในการสานฝันให้เป็นจริงโดยเฉพาะนโยบายปฏิสัมพันธ์และเน้นความร่วมมือกับจีน ไม่เคยมีครั้งใดที่จีนกับสหรัฐฯ จะมีท่าทีตรงกันได้มากมายหลายเรื่องเหมือนกับในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐฯกับจีนจะตกลงกันได้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและการค้ายังคงตกลงกันไม่ได้และไม่ได้ปรากฏผลข้อตกลงเรื่องนี้ในแถลงการณ์ร่วม อีกเรื่องที่ยังคงเป็นปัญหาขัดแย้งกัน ก็คือ เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งผมจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

ความร่วมมือด้านทหารและความมั่นคง

ในแถลงการณ์ร่วม ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญต่อเวทีหารือใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น คือ US-China Strategic and Economic Dialogue ซึ่งได้ประชุมไปครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี และกำลังจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่ง ในช่วงกลางปี 2010 ทั้งสองฝ่ายเน้นที่จะเพิ่มการหารือแลกเปลี่ยนกันในทุกระดับ โดยจะให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประจำทุกปี

สำหรับความร่วมมือทางด้านการทหารนั้น ก็มีพัฒนาการที่สำคัญ คือ นายพล Xu Caihou รองประธานคณะกรรมาธิการทหารของจีนได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯในเดือนตุลาคม และนายพล Chen Binde ผู้นำกองทัพของจีนก็กำลังจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ คือ Robert Gates ก็กำลังจะเดินทางไปเยือนจีนเช่นเดียวกัน ในแถลงการณ์ร่วมได้บอกว่า ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมให้มีโครงการความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯและจีนตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย

ผมมองว่า ความร่วมมือทางทหารที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นพัฒนาการที่สำคัญ ทั้งนี้ เพราะในอดีต ทหารของทั้งสองฝ่ายมีความหวาดระแวงกันสูงมาก และมักจะมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู

ในแถลงการณ์ร่วมยังได้เน้นว่า ทั้งสองฝ่ายจะพยายามสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน โดยจีนได้ย้ำว่า จะเดินหน้าพัฒนาอย่างสันติ และจะส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่ง ในขณะที่สหรัฐฯ ก็กล่าวว่า ยินดีที่จีนประสบความสำเร็จ รุ่งเรือง และแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีโลก ทั้งสองฝ่ายย้ำว่า จะเสริมสร้างความสัมพันธ์จีน – สหรัฐฯ ที่มีลักษณะเป็นเชิงบวก สร้างสรรค์ มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จและเน้นความร่วมมือกัน

ปัญหาไต้หวัน

ในแถลงการณ์ร่วม ได้บอกว่า ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาไต้หวัน โดยจีนได้เน้นว่า ปัญหาไต้หวันเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน และหวังว่า สหรัฐฯจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาและสนับสนุนท่าทีของจีน ในขณะที่สหรัฐฯก็บอกว่า สหรัฐฯมีนโยบายจีนเดียว และจะยึดมั่นในหลักการของแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ เกี่ยวกับเรื่องไต้หวัน สหรัฐฯยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันดีขึ้น และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มการหารือและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งสองฝ่ายได้ตอกย้ำคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ตั้งแต่ปี 1998 ว่าจะไม่มุ่งเป้าอาวุธนิวเคลียร์ไปยังอีกประเทศหนึ่ง

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์(NPT) บทบาทของ IAEA และข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความพยายามที่จะป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ ผู้นำทั้งสองเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดประชุมสุดยอดคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ และทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเห็นโลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะร่วมมือกันในการทบทวนสนธิสัญญา NPT ในปี 2010 และจะให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา CTBT ซึ่งย่อมาจาก Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty นอกจากนี้ ทางฝ่ายจีนได้ให้ความสำคัญต่อความคิดริเริ่มของสหรัฐฯที่จะจัดประชุมสุดยอดเกี่ยวกับความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในเดือนเมษายน ปี 2010

ผมมองว่า ผลการเยือนจีนของ Obama และรายละเอียดของแถลงการณ์ร่วมชี้ให้เห็นว่า ในหลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องที่สหรัฐฯยอมประนีประนอมและโอนอ่อนตามท่าทีของจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ตรงนี้ ดูแล้วจีนจะเป็นฝ่ายยอมเดินตามท่าทีของสหรัฐฯ ก็เป็นลักษณะแลกเปลี่ยนกัน ยื่นหมูยื่นแมวกัน

ปัญหาเกาหลีเหนือ

สำหรับในประเด็นปัญหาด้านเกาหลีเหนือนั้น ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อกระบวนการเจรจา 6 ฝ่าย และการปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วม กันยายน 2005 รวมทั้งความต้องการที่จะให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การสถาปนาความสัมพันธ์ให้อยู่ในระดับปกติ และส่งเสริมให้มีสันติภาพที่มั่นคงถาวรในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายจีนได้แสดงความยินดีที่ได้เริ่มมีการติดต่อกันในระดับสูงระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ หวังว่า การเจรจา 6 ฝ่ายจะได้มีการจัดประชุมโดยเร็ว

ปัญหาอิหร่าน

ทั้งสองฝ่ายแสดงความห่วงใยต่อพัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับกรณีปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน แต่ก็ยินดีที่ได้มีการเจรจาหารือที่เจนีวา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 5 กับอิหร่าน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะแก้ไขปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และทั้งสองฝ่ายตอกย้ำว่า การเจรจาน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหานี้อย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ และได้เรียกร้องให้อิหร่านปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงและกับ IAEA

( โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)

Obama ประกาศนโยบายต่อเอเชีย

Obama ประกาศนโยบายต่อเอเชีย
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 54 ฉบับที่ 9 วันศุกร์ที่ 20 - พฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2552

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่อเอเชียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดย Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

พันธมิตร

ในตอนต้น Obama ได้กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียต่อสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญในเรื่องการค้า และเอเชียยังเป็นจุดอันตรายของการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และยังเป็นแหล่งซ่องสุมสำคัญของขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรง Obama กล่าวว่า การแก้ปัญหาความมั่นคงทางด้านพลังงาน และปัญหาภาวะโลกร้อนจะไม่ประสบความสำเร็จหากปราศจากความร่วมมือจากประเทศในเอเชีย

Obama จึงตอกย้ำว่า ด้วยความสำคัญของเอเชียดังกล่าว และเพื่อจะเผชิญกับสิ่งท้าทายร่วมกัน สหรัฐฯ จึงต้องการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและสร้างหุ้นส่วนใหม่ ๆ กับประเทศในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ ยังคงตอกย้ำความสำคัญของพันธมิตรทั้ง 5 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์

จีน

แต่ประเทศที่ Obama ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ จีน ซึ่ง Obama มีกำหนดการจะไปเยือนหลังการประชุม APEC Obama ได้แสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อจีน โดยเน้นว่า โลกที่มีการติดต่อเชื่อมโยงกัน อำนาจไม่จำเป็นต้องเป็นเกมที่มีผู้แพ้ผู้ชนะ ประเทศหนึ่งไม่จำเป็นต้องกลัวความสำเร็จของอีกประเทศหนึ่ง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงจะร่วมมือกับจีนในประเด็นปัญหาที่มีความสนใจร่วมกัน ทั้งนี้ เพราะสิ่งท้าทายในศตวรรษที่ 21 ไม่สามารถแก้ได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น สหรัฐฯ และจีน จะได้ประโยชน์ร่วมกัน หากร่วมมือกันเผชิญกับสิ่งท้าทาย และนี่ก็คือ เหตุผลที่สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับความพยายามของจีนที่จะเล่นบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นในเวทีโลก

Obama ย้ำว่า สหรัฐฯไม่มีนโยบายปิดล้อมจีน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนจะไม่กระทบกระเทือนพันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาค ในทางตรงกันข้าม จีนที่ผงาดขึ้นมาด้วยความเข้มแข็งและมั่งคั่ง จะนำไปสู่ความเข็มแข็งของประชาคมโลก

ดังนั้น สหรัฐฯ จะกระชับความสัมพันธ์กับจีนทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ กับจีน คงจะไม่เห็นด้วยกันทุกเรื่อง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง สิทธิมนุษยชน สหรัฐฯ จะยังคงส่งเสริมค่านิยมพื้นฐานของสหรัฐฯ

เวทีพหุภาคี

นอกจากความสัมพันธ์ทวิภาคีแล้ว สหรัฐฯเชื่อว่า พัฒนาการขององค์กรพหุภาคี จะนำไปสู่ความมั่นคงและความรุ่งเรืองในภูมิภาค Obama บอกว่าในอดีต สหรัฐฯ ได้ถอยห่างออกจากองค์กรพหุภาคีต่าง ๆ ในภูมิภาค แต่วันเวลาเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว ในอนาคต สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จะเข้าร่วมในการหารือเกี่ยวกับอนาคตของภูมิภาค และจะเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในองค์กรต่าง ๆ ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นและจะถูกวิวัฒนาการขึ้นในอนาคต

Obama ตอกย้ำว่า เวที APEC จะยังคงส่งเสริมการค้าและความรุ่งเรืองในภูมิภาค และอาเซียนจะเป็นเวทีหารือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Obama จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯที่จะพบปะกับผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะเข้าร่วมกับเวที East Asia Summit (EAS) หรือ อาเซียน +6 อย่างเป็นทางการในอนาคต

เกาหลีเหนือ

ในสุนทรพจน์ของ Obama ได้กล่าวถึงปัญหาของเกาหลีเหนือ โดยได้กล่าวโจมตีเกาหลีเหนือว่า ได้เลือกหนทางการเผชิญหน้า และการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ แต่หนทางดังกล่าว ได้รับการตอบสนองด้วยมาตรการคว่ำบาตร และได้มีข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ที่จำกัดบทบาทของเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธร้ายแรง

Obama เสนอว่า ยังมีอีกหนทางหนึ่งที่เกาหลีเหนือควรจะเลือกเดิน สหรัฐฯ พร้อมที่จะเสนอทางเลือกใหม่ให้เกาหลีเหนือ โดยแทนที่จะถูกโดดเดี่ยว เกาหลีเหนือจะมีอนาคตใหม่ในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก แต่หนทางดังกล่าวของเกาหลีเหนือ คือ เกาหลีเหนือจะต้องกลับเข้าสู่การเจรจา 6 ฝ่าย ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในอดีต กลับเข้ามาเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) และทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

พม่า

เรื่องสุดท้ายที่ Obama ได้กล่าวในสุนทรพจน์คือ นโยบายต่อพม่า โดยได้กล่าวว่า สหรัฐฯได้มีนโยบายใหม่ต่อพม่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯไม่ประสบความสำเร็จ แต่มาตรการปฏิสัมพันธ์ของประเทศอื่นก็ไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันประชาธิปไตยในพม่าเช่นเดียวกัน สหรัฐฯ จึงได้ทบทวนนโยบายใหม่ โดยจะเป็นการผสมผสานระหว่างมาตรการปฏิสัมพันธ์และมาตรการคว่ำบาตร ขณะนี้ สหรัฐฯได้ติดต่อเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลทหารพม่า โดยเงื่อนไขเจรจาคือ มาตรการคว่ำบาตรจะยังคงมีอยู่จนกว่าพม่าจะมีมาตรการเป็นรูปธรรมสู่การปฏิรูปประชาธิปไตย และหากพม่าเดินทางไปในทิศทางดังกล่าว ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯก็จะดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่พม่าจะต้องทำคือ การปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดรวมทั้ง นางอองซาน ซูจี ยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย และหารืออย่างจริงจังระหว่างรัฐบาล ฝ่ายค้าน และชนกลุ่มน้อย

บทวิเคราะห์

· ภาพรวม : โดยภาพรวมแล้ว สุนทรพจน์ของ Obama ในครั้งนี้ถือเป็นการประกาศนโยบาย
ต่อเอเชียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ แต่เมื่อผมได้อ่านและได้วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าวแล้ว ก็รู้สึกผิดหวัง เพราะโดยภาพรวมแล้ว ไม่ได้มีอะไรใหม่ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำจุดยืนที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯได้เคยกล่าวไปแล้ว

หากเปรียบเทียบสุนทรพจน์ของ Obama ตั้งแต่เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า สุนทรพจน์ในครั้งนี้ ไม่มีความโดดเด่น และผมไม่ถือว่าเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ เราคงจำกันได้ว่า สุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นสุนทรพจน์ที่มีความโดดเด่นมากและเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ หลังจากนั้น Obama ก็มีสุนทรพจน์ที่โดดเด่นและเป็นประวัติศาสตร์หลายครั้ง อาทิ สุนทรพจน์ที่กรุงไคโร เป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ประกาศท่าทีใหม่ต่อโลกมุสลิม และสุนทรพจน์ที่ Obama กล่าวที่ UN เมื่อตอนเดือนกันยายน ก็เป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯประกาศนโยบายใหม่ต่อโลก

· พันธมิตร : หากวิเคราะห์ในแง่เนื้อหาของสุนทรพจน์ ก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะแทบไม่มี
อะไรใหม่ อาทิ จุดยืนของสหรัฐฯ ต่อพันธมิตรทั้ง 5 ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และเหมือนกับจุดยืนของรัฐบาล Bush ผมเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯต่อพันธมิตร ในยุค Obama ก็จะไม่เปลี่ยนไปจากในสมัยรัฐบาล Bush นั่นคือ ยุทธศาสตร์ hub and spokes โดยมีสหรัฐฯ เป็น hub หรือ ดุมล้อ และมีพันธมิตรเป็น spokes หรือ เป็นซี่ล้อ

· จีน : สำหรับนโยบายที่ Obama ประกาศต่อจีนนั้น ก็ไม่มีอะไรใหม่ มีลักษณะเน้น
ความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯในอนาคต ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯต่อจีนนั้น จะมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ โดยเน้นปฏิสัมพันธ์ทางการทูตหรือเศรษฐกิจ แต่เน้นปิดล้อมทางทหาร

· เวทีพหุภาคี : นโยบายของ Obama ต่อเวทีพหุภาคีในภูมิภาคที่ประกาศในครั้งนี้ ก็ไม่มีอะไร
ใหม่ คือ เป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาล Obama จะให้ความสำคัญต่อเวทีพหุภาคีในเอเชียมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ การที่ Obama ประกาศว่า สหรัฐฯ จะเข้าร่วมเวที EAS อย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเป็นการประกาศท่าทีอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ ต่อเวที EAS เป็นครั้งแรก ซึ่งการประกาศเช่นนี้น่าจะนำไปสู่ การที่สหรัฐฯ คงจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก EAS ในอนาคต และเราคงต้องเปลี่ยนชื่อ EAS จากอาเซียน +6 ไปเป็น อาเซียน +7
ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือการที่ Obama พูดว่า สหรัฐฯ ในฐานะประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพราะฉะนั้น สหรัฐฯจะเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในองค์กรต่าง ๆ ที่เหมาะสมที่จะถูกจัดตั้งขึ้นและวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ ซึ่งตรงนี้ ผมตีความว่า สหรัฐฯกำลังบอกว่า สถาปัตยกรรมในภูมิภาคหรือประชาคมในภูมิภาคต้องมีสหรัฐฯอยู่ด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการพูดกันการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชีย อย่างเช่น อาเซียน +3 ซึ่งจะไม่มีสหรัฐฯ

· พม่าและเกาหลีเหนือ : สำหรับประเด็นสุดท้ายที่ผมจะขอวิเคราะห์คือ ท่าทีของ Obama
ต่อเกาหลีเหนือและพม่าในสุนทรพจน์ ซึ่งก็เหมือนเรื่องอื่น ๆ คือ ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงการตอกย้ำนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ได้เคยประกาศออกมาหมดแล้ว