Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

จีน-สหรัฐฯ กับสงคราม cyberwarfare



จีน-สหรัฐฯ กับสงคราม cyberwarfare


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2556

           สงครามในรูปแบบใหม่ คือ สงครามในอินเทอร์เน็ต ซึ่งประเทศต่างๆ เริ่มที่จะทำสงคราม ที่เรียกว่า cyberwarfare กันบ้างแล้ว และจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ cyberwarfare ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ดังนี้
              
รายงานของ Mandiant
                    ในช่วงที่ผ่านมา เครือข่าย hacker ของจีน ถูกมองว่าเป็นมือสมัครเล่น ที่ต้องการเจาะข้อมูลของรัฐบาลและบริษัทธุรกิจต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้เริ่มมองว่า การจารกรรมทางอินเทอร์เน็ต เป็นฝีมือของพวกมืออาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ได้มีความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆว่า จีนกำลังเป็นตัวการสำคัญของการ hack ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการขโมยความลับทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ ของตะวันตก เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้มีหลักฐานและสัญญาณแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนอาจจะมีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย Eric Schmidt, CEO ของ Google ได้เคยกล่าวว่า จีน เป็นประเทศที่ hack ข้อมูลของบริษัทต่างชาติมากที่สุด

               ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีรายงานของบริษัท Mandiant ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม hacker โดยได้กล่าวว่า กลุ่ม hacker เหล่านี้ ได้ hack เข้าไปในเครือข่ายของบริษัทตะวันตก เพื่อขโมยข้อมูลความลับทางธุรกิจ

และที่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา คือ ข้อมูลที่ว่า เครือข่าย hacker เหล่านี้ แท้ที่จริงแล้ว เป็นกลุ่มของหน่วยงานหนึ่งในกองทัพจีน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Unit 61398 มีสำนักงานตั้งอยู่ชานนครเซี่ยงไฮ้ และมีบุคลากรหลายพันคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รายงานดังกล่าว ได้ระบุว่า กลุ่ม hacker กลุ่มนี้ ซึ่งมีชื่อว่า APT1 เป็นกลุ่ม hacker ที่มีความสามารถมากที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง  Mandiant ได้อ้างว่า hacker ของ Unit 61398 นี้ ได้เข้าไปขโมยพิมพ์เขียวทางด้านเทคโนโลยี ข้อมูลแผนการเจรจา และข้อมูลกระบวนการผลิตของบริษัทตะวันตก โดยเฉพาะบริษัทอเมริกัน กว่าร้อยบริษัท นอกจากนี้ กลุ่ม hacker ยังสามารถเจาะเข้าไปในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของบริษัทที่ทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และ hack เข้าไปในเครือข่ายของบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับท่อส่งน้ำมันและพลังงานของสหรัฐฯ ไม่มีใครรู้ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับบริษัทเหล่านี้ มีมูลค่าเท่าไร แต่ชาวอเมริกัน เริ่มมีความเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆว่า จีนคือตัวการสำคัญในเรื่องนี้

               Mandiant ได้วิเคราะห์ว่า เป้าหมายของจีนในการ hack ข้อมูลเหล่านี้ คือ การสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทของจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญ ที่จีนตั้งเป้าว่า จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ในอนาคต Mandiant อ้างว่า hacker ของจีน ได้มีส่วนในการสนับสนุนความพยายามของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีน คือ CNOOC ที่จะซื้อกิจการของบริษัทก๊าซธรรมชาติอเมริกัน ที่มีชื่อว่า Chesapeake Energy นอกจากนี้ ที่เป็นกรณีที่ฮือฮากันมากที่สุด คือ รายงานของหนังสือพิมพ์ New York Times ที่ระบุว่า ในขณะที่บริษัท Coca-Cola กำลังเจรจาเพื่อที่จะซื้อบริษัทน้ำผลไม้ของจีนอยู่นั้น Unit 61398 ก็ได้ hack เข้าไปในฐานข้อมูลของบริษัท Coca-Cola เพื่อค้นหาข้อมูล โดยเฉพาะแผนการเจรจาของบริษัท

              
ปฏิกิริยา
               หลังจากที่มีรายงานของ Mandiant ออกมา รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาแถลงว่า จีนเองนั่นแหละ คือเหยื่อของการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่น และจีนก็มีกฎหมายที่ห้ามการ hack ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต การกล่าวหาจีนโดยไม่มีหลักฐานเช่นนี้ ถือว่าบริษัท Mandiant ไม่มีความรับผิดชอบและไม่มีความเป็นมืออาชีพ

               นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า รายงานของ Mandiant มีลักษณะของการมีอคติที่โจมตีจีน ในลักษณะ Blame China First  โดยในหลายกรณี บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา อาทิ Apple, Facebook, Twitter บริษัทเหล่านี้ก็ถูก hack ข้อมูลทั้งสิ้น แต่หลักฐานก็มีแนวโน้มว่า กลุ่ม hacker น่าจะมาจากยุโรปตะวันออกมากกว่า และการโจมตีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของบริษัท Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็น่าจะเป็นการโจมตีจาก hacker ชาวอิหร่าน ดังนั้น นอกจากจีนแล้ว ก็ยังมี รัสเซีย บัลแกเรีย โรมาเนีย และยูเครน ที่มีการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตมากเช่นเดียวกัน แท้ที่จริงแล้ว สหรัฐฯ เอง ก็มีการกระทำที่มีลักษณะเป็นการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเหมือนกับประเทศอื่นเช่นกัน โดยมีหลักฐานและรายงานข่าวออกมาเช่นกันว่า สหรัฐฯเองก็พยายามไป hack ข้อมูลของประเทศอื่นด้วย


               แนวโน้ม
               ผลกระทบจากรายงานของ Mandiant อาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านจีนมากขึ้น โดยหากรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า รัฐบาลจีนมีส่วนร่วมรู้เห็นในเรื่องนี้ ก็คงจะลุกลามกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการทูต และคงจะก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจีนในสภา Congress มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การผลักดันมาตรการคว่ำบาตร และมาตรการตอบโต้จีน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ

โดยหลังจากที่มีรายงานของ Mandiant ออกมา รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศที่จะเพิ่มมาตรการการป้องกันการขโมยความลับทางการค้าในอินเทอร์เน็ต และมาตรการเชิงรุกในสงคราม cyberwarfare และจีน ก็ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง ในแถลงการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

               ผมมองว่า รายงานของ Mandiant ในเรื่องการ hack ข้อมูลความลับทางธุรกิจของจีนในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม cyberwarfare ที่กำลังลุกลามขยายตัวไปครอบคลุมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องนี้กำลังถูกมองในสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า เป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เมื่อช่วงปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อทำสงคราม cyberwarfare โดยมองว่า ภัยคุกคามรูปแบบใหม่คือ ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และข้อมูลที่อยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก

               อีกนัยหนึ่ง ความมั่นคงของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ พลังงาน การเงิน การธนาคาร การขนส่ง การคมนาคม และข้อมูลทางทหาร ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ จำเป็นต้องพึ่งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น จึงทำให้เกิดความเปราะบาง ทำให้เกิดภัยคุกคามได้ง่าย กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มองว่า ขณะนี้ มีหลายประเทศที่เข้ามา hack ข้อมูลของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สถานการณ์ภัยคุกคามในโลกอินเทอร์เน็ต ได้วิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว พร้อมกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยี เครื่องมือในการ hack ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มที่ต้องการสร้างความเสียหายให้กับสหรัฐฯ ปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ศัตรูของสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องสร้างอาวุธที่มีราคาแพงอีกต่อไป แต่ก็สามารถคุกคามสหรัฐฯ ได้ ด้วยการใช้สงคราม cyberwarfare

               กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังลุกลามเข้าสู่สมรภูมิหรือแนวรบใหม่ ที่เรียกว่า cyberwarfare สงครามในโลกอินเทอร์เน็ต กำลังจะกลายเป็นสมรภูมิเทียบเท่ากับ สมรภูมิทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งในอนาคต cyberwarfare จะทวีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ



วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

แนวโน้มโลกปี 2030



แนวโน้มโลกปี 2030


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่21 กุมภาพันธ์ 2556



             เมื่อเร็วๆนี้ สภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสาร “Global Trends 2030” วิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์โลก ในปี 2030 ซึ่งเป็นเอกสารที่น่าสนใจ ผมจึงจะเอามาสรุปวิเคราะห์ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้


การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจโลก
เอกสารดังกล่าว ได้วิเคราะห์ว่า ภายในปี 2030 จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของประเทศต่างๆ ครั้งใหญ่ เอเชียจะแซงอเมริกาและยุโรป ในเชิงอำนาจโลก โดยคิดจาก GDP ขนาดของประชากร การใช้จ่ายทางทหาร และการลงทุนในเทคโนโลยี ก่อนปี 2030 จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐฯ นอกจากนั้น จะมีมหาอำนาจใหม่ ผงาดขึ้นมา โดยเฉพาะ อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และตุรกี โดยเศรษฐกิจของยุโรป ญี่ปุ่นและรัสเซีย จะเสื่อมลงเรื่อยๆ


เศรษฐกิจโลก
สำหรับเศรษฐกิจโลก ภายในปี 2030 จะยังคงไร้เสถียรภาพ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆและของภูมิภาคต่างๆ จะเติบโตในอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก
วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะสถานการณ์ที่จะต้องจับตามองเป็นพิเศษในอนาคตอันใกล้ คือ วิกฤต Eurozone ที่ยังคงไม่จบ โดยหากกรีซล้มละลาย และต้องถูกขับออกจาก Eurozone ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก

ทิศทางของเศรษฐกิจโลกในปี 2030 จะขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ระบบเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ยุคหลายขั้วอำนาจ โดยจะมีจีนที่จะเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ที่มาแรงที่สุด แม้ว่าในอนาคต อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงก็ตาม โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนมีอัตราการเจริญเติบโต เฉลี่ย 10% ต่อปี แต่คาดว่าภายในปี 2020 การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน น่าจะลดลงมาเหลือประมาณ 5% ต่อปี แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็จะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม


ความมั่นคงโลก
สำหรับแนวโน้มอีกเรื่องของโลก ในปี 2030 คือประเด็นด้านความมั่นคง
แนวโน้มในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งและสงครามได้ลดลง โดยความขัดแย้งภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ก็มีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งและสงครามภายในประเทศ กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีปัญหาในเรื่องของชนกลุ่มน้อยต่างชาติพันธุ์ อาทิ ปัญหาชาวเคิร์ดในตุรกี และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิม ทางภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งและสงครามในทวีปแอฟริกา ก็ยังสูงอยู่ ทั้งนี้ ก็เพราะความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธุ์และเผ่าพันธุ์ ที่มีความขัดแย้งกันอย่างหนักในแอฟริกา
ส่วนความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ยังมีอยู่ และอาจเพิ่มมากขึ้นได้ หากเกิดความไม่สมดุลในระเบียบความมั่นคงโลก โดยเฉพาะ หากสหรัฐฯ ไม่สามารถเล่นบทบาทเป็นผู้คุมเกมความมั่นคงโลกได้ ก็อาจนำไปสู่การไร้เสถียรภาพโดยเฉพาะ ในตะวันออกกลางและในเอเชีย หากระบบความมั่นคงโลกระส่ำระสาย และขาดสมดุล และหากตัวแสดงสำคัญ มองว่า รูปแบบความร่วมมือในปัจจุบัน ไม่ได้ประโยชน์ ก็จะนำไปสู่การแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การก่อการร้ายสากล น่าจะมีแนวโน้มลดลงในปี 2030 แต่นั่นก็ไม่หมายความว่าสถานการณ์การก่อการร้ายจะหมดไป แต่อาจจะทุเลาลง

ส่วนภูมิภาคที่น่าจะมีปัญหาด้านความมั่นคงมากที่สุดคือ ตะวันออกกลางและเอเชียใต้
โดยเฉพาะตะวันออกกลาง จะวุ่นวายมากขึ้นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอิหร่าน โดยหากอิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ ก็จะทำให้ภูมิภาควุ่นวายมากขึ้น แต่หากรัฐบาลประชาธิปไตยในตะวันออกกลางมีเสถียรภาพ และหากเกิดข้อตกลงแก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ได้สำเร็จ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อภูมิภาค

สำหรับในเอเชีย เอเชียใต้จะยังคงมีความวุ่นวายต่อไป ในช่วง 15 - 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในปากีสถาน และอัฟกานิสถาน สำหรับเอเชียตะวันออก มีแนวโน้มที่ระบบความมั่นคงในภูมิภาค จะพัฒนาไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ แต่ขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกยังขาดสถาบันความมั่นคงในภูมิภาคที่จะจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดความขัดแย้งต่างๆ ตัวแปรสำคัญ คือ การหวาดกลัวการผงาดขึ้นมาของจีน การเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยมในจีน และความไม่แน่นอนในเรื่องบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาค


ปัญหาด้านประชากรและทรัพยากร
ในปี 2030 โลกจะเผชิญกับปัญหาใหญ่ๆ อื่นๆ อีก นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงแล้ว ก็ยังจะมีปัญหาด้านประชากร ซึ่งภายในปี 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8.3 พันล้านคน และปัญหาที่จะตามมา คือ ปัญหาโครงสร้างอายุของประชากร โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ในประเทศอุตสาหกรรม ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ ก็จะมีปัญหาการย้ายถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของสังคมเมืองด้วย

สำหรับปัญหาในด้านทรัพยากรนั้น ความต้องการอาหาร น้ำ และพลังงานจะเพิ่มขึ้นถึง 35 – 50 % ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และการบริโภคของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในมิติใหม่ คือความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้

ระเบียบโลกใหม่ ?             
จากแนวโน้มต่างๆเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นใน ปี 2030 จึงนำไปสู่คำถามสำคัญว่า ระเบียบโลกใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ แทนที่ระเบียบโลกเก่า ที่มีสหรัฐฯ และตะวันตกเป็นผู้นำ

ดังนั้น บทบาทของสหรัฐฯ ในช่วง 15 – 20 ปีข้างหน้า จึงมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางระเบียบโลกในอนาคต คำถามสำคัญ คือ สหรัฐฯ จะสามารถที่จะร่วมมือกับมหาอำนาจใหม่ในการปฏิรูประเบียบโลกได้หรือไม่ ถึงแม้ว่า อำนาจของสหรัฐฯ กับตะวันตกจะเสื่อมถอยลง เมื่อเทียบกับอำนาจของมหาอำนาจใหม่ แต่บทบาทของสหรัฐฯ ในอนาคตก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า ในปี 2030 สหรัฐฯ น่าจะยังคงเป็นมหาอำนาจอำดับ 1 อยู่ต่อไป ทั้งนี้เพราะ สหรัฐฯ มีมิติแห่งอำนาจ ทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม และมรดกตกทอดจากการเป็นผู้นำโลกมาตลอดในช่วงศตวรรษที่ 20 – 21 จุดแข็งของสหรัฐฯ คือ การที่มีทั้ง hard power และ soft power อย่างไรก็ตาม การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ จะทำให้ระบบหนึ่งขั้วอำนาจจบสิ้นลง รวมทั้งระเบียบโลกที่อเมริกาสร้างขึ้น ที่เรียกว่า Pax Americana ซึ่งเป็นยุคสมัยที่อเมริกาครองความเป็นเจ้า มาตั้งแต่ ปี 1945 ก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ

แต่การเสื่อมถอยของ Pax Americana หรือระเบียบโลกของอเมริกา ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีระเบียบโลกใหม่เข้ามาแทนที่ได้ ภายในปี 2030 ก็ยังไม่น่าจะมีประเทศใดมาแทนที่สหรัฐฯ ได้