Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554 (ตอนที่ 2)

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2554 (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 13 มกราคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2554 คือในปีนี้ไปแล้ว ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ โดยจะเป็นตอนที่ 2 ต่อจากตอนที่แล้ว ซึ่งจะมีเรื่องสำคัญ ที่จะต้องจับตามองในปีนี้อยู่อีกหลายเรื่อง ดังนี้

การก่อการร้าย

ในปีนี้ คาดว่า สถานการณ์ภัยคุกคามต่อโลกจะมีหลายเรื่อง คือจะมีทั้งเรื่องการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และขีปนาวุธ ปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ที่เป็นเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ รวมทั้งปัญหาโจรสลัด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าจะรุนแรงที่สุด คือ เรื่องปัญหาการก่อการร้ายสากล โดยสถานการณ์การก่อการร้าย และการก่อวินาศกรรม ในปีนี้ จะยังคงมีอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก

สำหรับภูมิภาคที่ล่อแหลมต่อการก่อการร้าย น่าจะยังคงเป็น ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ โดยเฉพาะสงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน จะยังคงยืดเยื้อต่อไป (เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งผมจะแยกเป็นหัวข้อต่างหาก) นอกจากนี้ คาบสมุทรอาระเบีย อัฟริกาตะวันออก โซมาเลีย และเยเมน น่าจะเป็นสมรภูมิสำคัญของสงครามการก่อการร้ายในปีนี้

องค์กร Al Qaeda ถึงแม้จะมีบทบาทลดลง แต่องค์กรแนวร่วมอุดมการณ์กับ Al Qaeda ที่กระจายอยู่ทั่วโลกมุสลิม มีแนวโน้มจะเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยแนวโน้มของ Al Qaeda จะมีอยู่ 5 มิติด้วยกัน มิติที่ 1 คือ องค์กร Al Qaeda ดั้งเดิม ที่เป็นแกนกลางของการก่อการร้าย จะเป็นองค์กรหลักในการกำหนดทิศทางของแนวร่วมก่อการร้ายทั่วโลก มิติที่ 2 คือ เครือข่ายที่เป็นแนวร่วมกับเครือข่าย Al Qaeda โดยเฉพาะกลุ่ม Taliban ในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน มิติที่ 3 คือ แนวร่วมของ Al Qaeda ในโลกมุสลิม ซึ่งมีหลายกลุ่ม อาทิ Al Qaeda in the Arabian Peninsula กลุ่ม Lashkar e-Tayyiba ในอินเดีย และปากีสถาน Al Qaeda in Iraq กลุ่ม Islamic Jihad Union และ Islamic Movement of Uzbekistan และ Turkistani Islamic Party ในแคว้นซินเจียงของจีน มิติที่ 4 คือ กลุ่มก่อการร้าย ที่เรียกว่า home grown terrorist ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นในยุโรปและสหรัฐฯ แต่มีอุดมการณ์ร่วมกับ Al Qaeda และมิติที่ 5 คือ อุดมการณ์ของ Al Qaeda คือการทำสงครามศาสนาต่อต้านตะวันตก ซึ่งอุดมการณ์ดังกล่าวได้แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม
ในปี 2011 จะเป็นปีครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ จึงมีแนวโน้มว่า Al Qaeda คงจะหาหนทางในการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ดังกล่าว

สถานการณ์การก่อการร้ายในปีนี้ และในอนาคต จึงยังคงจะลุกลามบานปลายต่อไป

สงครามอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ สถานการณ์สงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน โดยสงครามในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ นักรบ Taliban และ Al Qaeda ได้ฟื้นคืนชีพ แหล่งซ่องสุมใหญ่อยู่บริเวณพรมแดนของปากีสถาน และอัฟกานิสถาน นักรบ Taliban ได้ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถานมากขึ้นเรื่อยๆ และกองกำลังนาโต้และสหรัฐฯ กำลังตกที่นั่งลำบาก แม้ว่าขณะนี้เป็นช่วงฤดูหนาว การสู้รบอาจจะดูลดลง แต่มีความเป็นไปได้ว่า หลังฤดูหนาว การสู้รบจะกลับมารุนแรงอีก ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือการจะทำให้ฝ่าย Taliban อ่อนแอลง และทำให้กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถาน เข้มแข็งขึ้น แต่ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ขณะนี้ ฝ่าย Taliban กลับเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล Karzai ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นงานยากขึ้นเรื่อยๆสำหรับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาความแตกแยกในพันธมิตรนาโต้ โดยหลายประเทศต้องการถอนทหาร สหรัฐฯเอง ก็ประกาศจะค่อยๆถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แต่ผมดูแล้ว คงยาก ที่สหรัฐฯจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานได้ ในทางตรงข้าม ในอนาคต อาจจะต้องเพิ่มกองกำลังมากขึ้นอีก

สำหรับสถานการณ์ในปากีสถาน ก็กำลังหนักหนาสาหัสเช่นเดียวกัน ปากีสถานกำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ ในสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ และเช่นเดียวกับในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน ได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุม ของทั้ง Al Qaeda และ Taliban และนักรบ Taliban ในปากีสถาน ได้รุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงของปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ

วิกฤตินิวเคลียร์

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้ คือ วิกฤตินิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ และอิหร่าน ซึ่งยืดเยื้อมาหลายปี และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ น่าเป็นห่วงว่า เกาหลีเหนือ จะเดินหน้าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และพยายามขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับประเทศอื่นต่อไป เช่นเดียวกับอิหร่าน ก็น่าจะเดินหน้าต่อ ในการพัฒนา สิ่งที่อิหร่านเรียกว่า โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ แต่ทางฝ่ายตะวันตก เรียกว่า โรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าในสมัยรัฐบาลโอบามา จะได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ต่ออิหร่าน และเกาหลีเหนือโดยใช้ไม้อ่อน คือ การเจรจากับทั้ง 2 ประเทศ แต่ขณะนี้ การเจรจาก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ท่าทีของอิหร่าน และเกาหลีเหนือ ยังไม่เปลี่ยนแปลง ที่จะยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด ตะวันตกพยายามกดดันอิหร่านด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการคว่ำบาตรในคณะมนตรีความมั่นคงของ UN แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับในกรณี เกาหลีเหนือ ซึ่งแตกต่างจากอิหร่าน อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ที่ผ่านมา การเจรจา 6 ฝ่ายก็ล้มเหลว และไม่สามารถหาสูตรลงตัวที่จะทำให้เกาหลีเหนือกลับมาเจรจา 6 ฝ่ายอีก โดยเกาหลีเหนือ ต้องการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯก็ตั้งเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือ ต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แต่เกาหลีเหนือไม่มีทางยอม ดังนั้น วิกฤติเกาหลีเหนือ คงจะยืดเยื้อต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ว่า ในปีนี้ เกาหลีเหนืออาจจะทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ครั้งที่ 3 เพื่อกดดันสหรัฐฯไปเรื่อยๆ

การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ผมจะวิเคราะห์ คือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งในปีนี้ คงต้องจับตามองว่า จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆเปลี่ยนไป โดยอำนาจทางเศรษฐกิจของตะวันตกกำลังลดลง ในขณะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของเอเชีย และละตินอเมริกา กำลังผงาดขึ้นมา โดยประเทศที่น่าจับตามองคือ ประเทศ BRIC คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ในอนาคต กลุ่ม BRIC จะมีอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอำนาจของตะวันตก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระเบียบเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ คือ การที่กลไก G20 กลายเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก สมาชิกครึ่งหนึ่งของ G20 มาจากประเทศกำลังพัฒนา และ 5 ประเทศ มาจากเอเชีย อย่างไรก็ตาม ระเบียบเศรษฐกิจโลกในปี 2554 นี้ กำลังถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีความแน่นอน เพราะกลุ่ม G20 เอง หลังจากเคยโดดเด่นในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่หลังจากนั้น บทบาทก็เริ่มตกลง ดังนั้น ระเบียบเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่ไม่มีความแน่นอน ในเรื่องของกฎเกณฑ์ ตัวแสดง ผู้นำ และองค์กรหลัก คือ ขณะที่ตะวันตก คือ กลุ่ม G7 และ G8 กำลังลดบทบาทลง แต่สหรัฐฯยังคงพยายามครองความเป็นเจ้า และไม่ต้องการให้ G20 มีบทบาทมากเกินไป ในขณะที่เวทีพหุภาคีในระดับโลกก็ประสบปัญหา โดยเฉพาะ UN , WTO , IMF และธนาคารโลก ดังนั้น ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ในปีนี้ คงต้องจับตามองว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ขึ้นมากน้อยเพียงใด มหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน อำนาจในการจัดการเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในมือของตะวันตกต่อไปหรือไม่ และ G20 จะมาแทนที่ G 8 ได้หรือไม่ เราคงต้องจับตามองในปี 2554 นี้ ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น