Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

ระเบียบโลกใหม่ปี 2020 : ผลกระทบและการปรับตัวของไทย (ตอนจบ)

ระเบียบโลกใหม่ปี 2020 : ผลกระทบและการปรับตัวของไทย (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ภูมิหลังของระเบียบโลกปี 2020 โดยได้พูดถึงระเบียบโลกในยุคหลังสงครามเย็น และระเบียบโลกในปัจจุบันไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในตอนนี้ ซึ่งจะเป็นตอนจบ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อถึงแนวโน้มระเบียบโลกใหม่ในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้า คือ ประมาณปี 2020 และผลกระทบ รวมทั้งข้อเสนอการปรับตัวของไทย เพื่อรองรับต่อระเบียบโลกใหม่ดังกล่าว

ระเบียบโลกใหม่ปี 2020

ตอนนี้ เรามาดูกันถึงอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้าว่า ระเบียบโลกใหม่ในปี 2020 จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

• ขั้วอำนาจของระเบียบโลกใหม่
ผมมองว่า ระเบียบโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า สหรัฐฯจะยังคงเป็นอันดับ 1 อยู่ โดยอำนาจทาง
ทหาร สหรัฐฯจะยังคงแข็งแกร่งอยู่

แต่อำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ อาจจะแผ่วลง จีนคงจะผงาดขึ้นมา แต่อเมริกายังจะเหนือกว่าจีนอยู่ ในแง่ของขนาดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่หากมองไปถึงอีก 20-30 ปีข้างหน้า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ในด้านการเมือง อเมริกาจะยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองในระเบียบโลกอยู่ จากการที่ครอบงำโลกมานาน และจะยังคงครอบงำโลกต่อไป ตัวอย่างอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐฯ เช่น อิทธิพลใน UN ในการจัดการด้านความมั่นคง อิทธิพลใน NATO ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ มีพันธมิตรอยู่ทั่วโลก อย่างเช่น ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย จะยังคงเป็นพันธมิตรหลักๆของสหรัฐฯ ผมคิดว่า อีก 10 ปี ข้างหน้า ก็ยังคงจะไม่เปลี่ยน เพราะอำนาจทางทหาร สหรัฐฯ ก็มั่นคง อำนาจทางการเมือง ก็มั่นคง เพราะฉะนั้น เวลาสหรัฐฯพูดอะไร ประเทศอื่นก็ต้องฟัง เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาในโลก ประเทศต่างๆก็ต้องมองหาอเมริกาว่า จะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ปัญหาลิเบีย ก็ต้องมองไปที่อเมริกาว่า สหรัฐฯจะมีบทบาทในการโค่น Gaddafi ลงไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น อเมริกายังคงเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาของโลกอยู่ ใน UN อเมริกายังมีอิทธิพลอยู่มาก อย่างเช่น เลขาธิการ UN ก็ต้องได้รับการยอมรับจากอเมริกา เวทีเศรษฐกิจโลกก็ชัด ถึงแม้ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะแผ่วลง แต่การบริหารจัดการเศรษฐกิจโลก กลไกสำคัญ คือ G8, G20, IMF และ World Bank ซึ่งกลไกเหล่านี้ อเมริกาครอบงำอยู่ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ในปี 2020 ขั้วอำนาจของระเบียบโลก จะไม่เป็น unipolar หรือขั้วเดียวอย่างสมบูรณ์แบบ แต่จะเป็นระบบลูกผสม กึ่งขั้วเดียวกึ่งหลายขั้ว หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า uni-multipolar คือ หนึ่งขั้วแบบ 20 ปีที่แล้ว ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะชัดขึ้น ซึ่งจะทำให้ระเบียบโลกพัฒนาไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ระเบียบโลกจึงกำลังจะเปลี่ยนผ่านอย่างช้าๆจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ แต่ก็ยังไปไม่ถึงจุดนั้น คือ ในปี 2020 จะยังไม่เป็นระบบหลายขั้วอำนาจอยู่ดี แต่จะเป็นอย่างที่ผมบอก คือ เป็นระบบลูกผสม กึ่งหนึ่งขั้วกึ่งหลายขั้ว

ในปี 2020 อเมริกาจะไม่ได้โดดเด่นอยู่บนยอดปิระมิดแต่เพียงผู้เดียวเหมือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่จะมี จีนและอินเดีย ไล่ตามขึ้นมา จะทำให้ระเบียบโลกเปลี่ยนไป และสหรัฐฯจะคุมเกมได้ยากขึ้น เพราะมหาอำนาจใหม่จะมีอำนาจมากขึ้น และจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น เพราะมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะจีน มีความทะเยอทะยานมาก ในการที่จะผงาดขึ้นมา และเศรษฐกิจของจีนกำลังจะใหญ่ขึ้นมาเทียบเท่าอเมริกาแล้ว และจีนก็ไม่ชอบอเมริกา และต้องการแข่งกับอเมริกา

เพราะฉะนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเพิ่มมากขึ้น ปีที่แล้ว เราได้เห็นแล้วว่า อเมริกากับจีนขัดแย้งกันหลายเรื่อง

ผมมองว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอเมริกาจะมีความรุนแรงเป็นอันดับ 1 ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย จะมีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 รัสเซียมีอำนาจการต่อรองเพิ่มมากขึ้น โดยมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล รัสเซียไม่ชอบสหรัฐฯ เพราะมองว่า สหรัฐฯกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย (เหมือนกับจีน ซึ่งก็มองว่าอเมริกากำลังปิดล้อมจีนอยู่) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตก จึงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะ หากอเมริกายังคงพยายามขยายอิทธิพลเข้าสู่เขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ยุโรปตะวันออก ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต อาทิ ยูเครน คาบสมุทรบอลข่าน และเทือกเขาคอเคซัส

เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก็เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว โดยในสมัยรัฐบาลบุช สหรัฐฯตัดสินใจจะดึงยูเครนและจอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิกนาโต้ ซึ่งทำให้รัสเซียโกรธมาก นำไปสู่สงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย ในปี 2008 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัสเซียพร้อมที่จะใช้กำลังทางทหาร ในอนาคต ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตก จึงอาจจะรุนแรงมากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนและรัสเซีย มีแนวโน้มขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต่างกับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่บางประเทศ อย่างเช่น บราซิล ซึ่งไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางทหาร แต่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น บราซิลจะไม่ขัดแย้งกับอเมริกามากเท่าไร เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ยอมอเมริกามาตลอด อินเดียก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับอเมริกา เพราะอินเดียยอมอเมริกา ต่างกับจีนและรัสเซีย ที่ไม่ยอมอเมริกา

• การปะทะกันทางอารยธรรม

ลักษณะอีกประการของระเบียบโลกใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้า คือ แนวโน้มของการปะทะ
กันทางอารยธรรม (clash of civilizations) ตามทฤษฎีของ Huntington ซึ่งประเด็นหลักของทฤษฎีนี้ คือ ความขัดแย้งในโลกในอนาคต จะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์

10 ปีที่แล้ว ในปี 2001 เกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ชี้ให้เห็นในระดับหนึ่งว่า การปะทะกันทางอารยธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว จากการที่ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบอเมริกา และเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ และหลังจากนั้น การก่อการร้ายก็เพิ่มขึ้นทั่วโลก กลุ่มหัวรุนแรงที่มีอุดมการณ์ในแนวเดียวกับ al Qaeda และ Bin Laden เพิ่มขึ้นทั่วโลก เป้าหมาย คือ การตั้งรัฐอิสลามขึ้น ด้วยการปกครองโดยผู้นำศาสนา และขจัดอิทธิพลของตะวันตกให้หมดไปจากโลกมุสลิม

ความขัดแย้งทางอารยธรรม อีก 10 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่า อาจจะรุนแรงมากขึ้น ชาวมุสลิมเคร่งศาสนามากขึ้น มีแนวคิดต่อต้านตะวันตก ต่อต้านโลกาภิวัฒน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหัวรุนแรงมองว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมมุสลิมกำลังถูกทำลาย และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกระแสโลกาภิวัฒน์ และค่านิยมตะวันตกที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ชาวมุสลิมได้รับผลกระทบจากค่านิยมตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ จริยธรรมเริ่มเสื่อมลง สังคมมุสลิมเสื่อมลง กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงจึงยอมไม่ได้ และต้องการที่จะปกป้องศาสนา โดยมองว่า ทุกอย่างที่เป็นตะวันตกเป็นสิ่งชั่วร้ายทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องทำสงครามศาสนา หรือ Jihad กับโลกตะวันตก

• โลกาภิบาล

ลักษณะประการที่ 3 ของระเบียบโลกใหม่ในปี 2020 คือ โลกาภิบาล ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า
global governance คือ จะมีการบริหารจัดการในระดับโลกมากขึ้น โลกจะมีลักษณะเป็นประชาคมโลกมากขึ้น ประเทศต่างๆจะตระหนักมากขึ้นว่า โลกมีปัญหาร่วมกัน ทุกประเทศจะต้องร่วมกันแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น บทบาทขององค์การระหว่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ไม่มีประเทศไหนจะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้แต่เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโลกร่วมกันแก้ ในอนาคต ปัญหาในลักษณะนี้จะเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การที่ประเทศต่างๆจะร่วมมือกันมากขึ้น

• ทรัพยากร

ลักษณะประการที่ 4 ของระเบียบโลกปี 2020 คือ ความขัดแย้งในอนาคต จะเป็นความขัดแย้ง
ในการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการแย่งชิง น้ำ น้ำมัน และอาหาร ในปี 2020 ทรัพยากรและพลังงาน จะลดลง จะเกิดการแย่งชิงกันมากขึ้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า น้ำสะอาดจะลดน้อยลง อาจเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามแย่งชิงทรัพยากรน้ำในอนาคต อย่างเช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีปัญหาเรื่องแม่โขง คือ จีนสร้างเขื่อนกันน้ำไว้ใช้คนเดียว หน้าแล้ง น้ำก็แห้ง ประเทศปลายน้ำก็ไม่มีน้ำใช้ ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่พอใจจีนที่กักน้ำไว้ใช้คนเดียว ปัญหาในทำนองนี้ อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นสงครามได้

ผลกระทบและการปรับตัวของไทย

จากการวิเคราะห์แนวโน้มระเบียบโลกปี 2020 ดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร และไทย
จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับต่อผลกระทบดังกล่าวอย่างไร

ผมขอเสนอแนวทางการปรับตัวของไทยเป็นข้อๆ ดังนี้

• การที่ระเบียบโลกในปี 2020 จะมีลักษณะเป็นระบบลูกผสม คือ หนึ่งขั้วผสมหลายขั้ว
หมายความว่า ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการที่จะรองรับระเบียบโลกใหม่ ในอดีต เราพึ่งพาอเมริกาประเทศเดียว แต่ในอนาคต เราจะต้องปรับยุทธศาสตร์การทูตให้ใกล้ชิดกับมหาอำนาจใหม่มากขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้า เราจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจ โดยต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อเข้าหามหาอำนาจใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะกับ จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล

นอกจากนี้ ยังมีมหาอำนาจใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ในปี 2050 ได้มีการจัดอันดับว่า ประเทศใดจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ 20 อันดับแรกของโลก เพราะฉะนั้น ประเทศใน 20 อันดับนี้ เราจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยน และให้ความสำคัญกับประเทศเหล่านี้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เม็กซิโก อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี แอฟริกาใต้ ซาอุดิอาระเบีย และอียิปต์ เป็นต้น

• สำหรับปัญหาการก่อการร้าย การปะทะกันทางอารยธรรม และความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์
และศาสนา ซึ่งจะเป็นแนวโน้มในอนาคตนั้น ไทยจะต้องเตรียมที่จะรับมือในเรื่องนี้ เราคงจะต้องพยายามที่จะ หาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องศาสนา เราจะต้องพยายามไม่เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางอารยธรรม โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลาม

• สำหรับเรื่อง ธรรมาภิบาล หรือ global governance นั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า
องค์การระหว่างประเทศจะมีบทบาทมากขึ้น ทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค ระดับโลก เช่น UN ในระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน เพราะฉะนั้น ไทยจะต้องรีบเข้าไปมีบทบาทในองค์กรเหล่านี้ โดยเฉพาะในอาเซียน เราจะต้องมีบทบาทนำ

• สำหรับแนวโน้ม The Rise of Asia หรือการผงาดขึ้นมาของเอเชียนั้น ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ไทยจะต้องเตรียมยุทธศาสตร์เพื่อที่จะทำให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของ “ศตวรรษแห่งเอเชีย”

• ส่วนความขัดแย้งเหนือ-ใต้ ที่จะยังคงมีอยู่ต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น ไทยต้องมี
ยุทธศาสตร์รองรับว่า เราจะมีท่าทีอย่างไรในการเจรจาเหนือ-ใต้ เราจะมีท่าทีอย่างไรในการเจรจาภาวะโลกร้อน และการเจรจาในเวที WTO

• ส่วนเรื่องสุดท้าย คือ เรื่องความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร เราต้องเตรียมรับมือ เพราะ
ไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพลังงาน รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ซึ่งควรเป็นวาระแห่งชาติเรื่องหนึ่ง ประเทศอย่างเช่น จีนและอินเดีย เอาจริงเอาจังมากกับเรื่องนี้ จีนมียุทธศาสตร์ชัดเจนมากในการที่จะไปแสวงหาแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะ น้ำมัน จากทั่วโลก โดยไปตีสนิทกับประเทศที่มีน้ำมัน อย่างเช่น ซูดาน อิหร่าน แต่ไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ในเชิงรุกในเรื่องนี้