Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ไน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22-วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2554

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม Kurt Campbell อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯต่อเอเชีย ต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรส คอลัมน์โลกทรรศน์ จะสรุป และวิเคราะห์คำแถลงดังกล่าว โดยได้แบ่งเป็น 3 ตอน ตอนที่ 1 คือ ตอนที่แล้ว ได้สรุปยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภาพรวม และยุทธศาสตร์ที่ 1 ซึ่งเน้นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรหลักไปแล้ว สำหรับคอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเป็นตอนที่ 2 โดยจะสรุปยุทธศาสตร์ที่ 2 ในด้านการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน และยุทธศาสตร์ที่ 4 ในเรื่อง สถาปัตยกรรมในภูมิภาค ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ขยายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 ของสหรัฐฯต่อเอเชีย คือ การขยายความสัมพันธ์กับประเทศและหุ้นส่วนใหม่ๆ คือ

อินเดีย : รัฐบาล Obama พยายามที่จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับอินเดียให้มากขึ้น โดยอินเดียกำลังจะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

อินโดนีเซีย : สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซีย กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว Obama ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก ทำให้ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก สหรัฐฯกำลังเพิ่มความร่วมมือกับอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ ที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน และสหรัฐฯกำลังจะเข้าร่วมประชุม East Asia Summit ที่อินโดนีเซีย สหรัฐฯกำลังมองเห็นบทบาทของอินโดนีเซียที่กำลังผงาดขึ้นมาในเวทีโลก

มาเลเซีย : อีกประเทศที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ มาเลเซีย ซึ่งความสัมพันธ์ทวิภาคีกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันในการเจรจา FTA ในกรอบ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP

เวียดนาม : ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปฏิสัมพันธ์กับเวียดนามได้เพิ่มขึ้นมาก และเวียดนามเป็นอีกหนึ่ง ประเทศที่กำลังเจรจา TPP กับสหรัฐฯ ในการพบปะกันระหว่าง Hillary Clinton กับนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นระดับที่เรียกว่า หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หรือ strategic partnership อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงห่วงกังวลต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม

สิงคโปร์ : อีกประเทศที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ สิงคโปร์ โดยสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าร่วม TPP และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม TPP รอบที่ 6

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ความสัมพันธ์กับจีน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน โดยสหรัฐฯต้องการมีความสัมพันธ์กับจีนที่มีลักษณะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ และเป็นไปในเชิงบวก ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน กำลังมาถึงจุดสำคัญ การจัดการกับความสัมพันธ์ที่จะมีทั้งการแข่งขัน และความร่วมมือ จะส่งผลต่อภูมิภาคโดยรวม

ในช่วงปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง ในแง่ของความร่วมมือ และความสัมพันธ์ที่เป็นไปในเชิงบวกนั้น เห็นได้จากการที่ ประธานาธิบดี Hu Jintao ได้เดินทางไปประชุม Nuclear Security Summit ในเดือนเมษายนที่สหรัฐฯ และจีนได้ร่วมมือกับสหรัฐฯในการสนับสนุนข้อมติคว่ำบาตรอิหร่านใน UNSC นอกจากนี้ Hu Jintao ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลของการเยือนในครั้งนั้น จีนได้แสดงความห่วงใยเป็นครั้งแรกต่อปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และจีนสัญญาว่าจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหา Darfur รวมทั้งปัญหาอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯกับจีนก็มีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่องไต้หวัน ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงยึดนโยบายจีนเดียว บนพื้นฐานของแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ รวมทั้ง Taiwan Relations Act อีกเรื่องที่ขัดแย้งกัน คือ กรณีของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งในคำแถลงของ Campbell ได้กล่าวตอกย้ำถึงท่าทีของสหรัฐฯในเรื่องนี้ว่า สหรัฐฯยึดมั่นในหลักการเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจับกุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งผู้สื่อข่าวทั้งชาวจีน และชาวต่างชาติ และสหรัฐฯจะกดดันจีนในเรื่องเกาหลีเหนือและอิหร่านต่อไป

ความขัดแย้งใหญ่อีกเรื่อง คือ ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯมีเป้าหมายที่จะให้จีนลดอุปสรรคทางการค้าลง กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯกำลังตรวจสอบว่า จีนได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎเกณฑ์ทางการค้าของสหรัฐฯหรือไม่ ปีที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ตรวจสอบกรณีการนำเข้าจากจีน ถึง 6 กรณี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการทุ่มตลาด นอกจากนี้ USTR ได้นำเรื่องฟ้องร้องต่อ WTO กล่าวหาจีนในการละเมิดข้อตกลง WTO ถึง 3 กรณี

ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯจะกดดันจีนต่อไปในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการค้า การลงทุน รวมถึงเรื่องของการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คือ การกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวนนั่นเอง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : สถาปัตยกรรมในภูมิภาค

รัฐบาล Obama มีนโยบายที่จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ในองค์กรพหุภาคีในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการที่สหรัฐฯจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

Campbell ได้เน้นว่า APEC จะยังคงเป็นองค์กรหลักในภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯจะสนับสนุนเต็มที่ นอกจากนี้ สหรัฐฯจะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับสถาบันในภูมิภาค โดยเฉพาะกับอาเซียน ซึ่งมีอยู่หลายกรอบ อาทิ ASEAN Regional Forum (ARF ) การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM+8 รวมทั้ง การประชุม East Asia Summit หรือ EAS

สำหรับ EAS นั้น สหรัฐฯจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยสหรัฐฯจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EAS ในปีนี้ โดยสหรัฐฯมีแผนจะใช้เวที EAS ในการผลักดันความร่วมมือในด้านยุทธศาสตร์และการเมือง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ ความมั่นคงทางทะเล และการจัดการภัยพิบัติ ปีที่แล้ว Hillary Clinton ได้เข้าร่วม EAS เป็นครั้งแรก ปีนี้ Obama จะเข้าร่วม EAS ที่อินโดนีเซีย และจะผลักดันความร่วมมือ 3 เรื่องดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯครั้งที่ 3 ด้วย

สำหรับกรอบพหุภาคีอีกกรอบหนึ่ง ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญคือ Lower Mekong Initiative (LMI) ซึ่งเป็นกรอบสำคัญที่สหรัฐฯจะปฏิสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีที่แล้ว มีการประชุมในกรอบนี้หลายครั้ง ซึ่งมี ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เข้าร่วม โดยเน้นความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน

(โปรดอ่านต่อตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า ซึ่งจะกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของผมต่อยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ดังกล่าว)