Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 1)

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย ปี 2011 (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15-วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2554

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม Kurt Campbell อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯต่อเอเชีย ต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาคองเกรส คอลัมน์โลกทรรศน์ จะสรุป และวิเคราะห์คำแถลงดังกล่าว โดยจะแบ่งเป็น 3 ตอน ตอนที่ 1 จะสรุปยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภาพรวม และยุทธศาสตร์ที่ 1 ซึ่งเน้นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรหลัก สำหรับในตอนที่ 2 จะสรุปยุทธศาสตร์ที่ 2 ในด้านการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน และยุทธศาสตร์ที่ 4 ในเรื่อง สถาปัตยกรรมในภูมิภาค ส่วนในตอนที่ 3 ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้าย จะสรุปยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของผมต่อยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ดังกล่าว

ภาพรวม

ในตอนต้นของคำแถลง Campbell ได้กล่าวถึงความสำคัญของเอเชียต่อสหรัฐฯว่า ประวัติศาสตร์โลกในศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนขึ้นในเอเชีย อิทธิพลของภูมิภาคกำลังเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคตและความสำเร็จของสหรัฐฯ เอเชียกำลังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการจัดการปัญหาของโลก

อย่างไรก็ตาม เอเชียยังมีสิ่งท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเกาหลีเหนือและพม่า การแข่งขันทางทหาร การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ การก่อการร้าย วิกฤติการเงิน ความยากจน รัฐบาลที่อ่อนแอ กรณีพิพาทเรื่องพรมแดน การแข่งขันในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน รวมถึงปัญหาข้ามชาติอื่นๆ ปัญหาเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐฯจะต้องร่วมมือกับประเทศต่างๆในภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

Campbell ได้กล่าวเหมือนกับเป็น grand strategy ของสหรัฐฯว่า การเป็นผู้นำของสหรัฐฯในภูมิภาค ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในระยะยาว รัฐบาล Obama จึงมีนโยบายที่จะปฏิสัมพันธ์ และเล่นบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาค พลังอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเปลี่ยนขั้วจากตะวันตกมาตะวันออก และเอเชียจะเป็นแกนหลักของการเปลี่ยนขั้วดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะนำไปสู่ทั้งสิ่งท้าทาย และโอกาสสำหรับสหรัฐฯ ดังนั้น สหรัฐฯจะต้องเผชิญกับสิ่งท้าทาย และตักตวงโอกาส ด้วยยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์อย่างเข้มข้น และสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ

รัฐบาล Obama ได้กำหนดยุทธศาสตร์ต่อเอเชียไว้ 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร

ยุทธศาสตร์นี้จะเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ของสหรัฐฯ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์ ความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ถือเป็นรากฐานสำคัญของยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐฯในภูมิภาค

ญี่ปุ่น : การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ถือเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ในเอเชีย ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นยังคงเข้มข้น และครอบคลุมเบ็ดเสร็จ

เกาหลีใต้ : สหรัฐฯกำลังพัฒนาพันธมิตรทางทหารกับเกาหลีใต้ และตอกย้ำพันธกรณีที่จะปกป้องเกาหลีใต้ และจะคงกองกำลังทางทหารในคาบสมุทรเกาหลีต่อไป

นอกจากนี้ มีกรอบความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกิดขึ้น ซึ่งเล่นบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะ การเผชิญกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ในการประชุมรัฐมนตรี 3 ฝ่าย หรือ ไตรภาคี ระหว่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในเดือน ธันวาคม ปีที่แล้ว ทั้ง 3 ประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วม กำหนดจุดยืนร่วมกัน ต่อกรณีปัญหาเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในกรอบการเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

ออสเตรเลีย : ซึ่งก็เป็นแกนหลักของความมั่นคงในภูมิภาคเช่นเดียวกัน ออสเตรเลียเป็นประเทศนอกนาโต้ ที่ส่งกองกำลังทหารจำนวนมากที่สุดไปร่วมรบในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ สหรัฐฯได้พัฒนากรอบความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Trilateral Strategic Dialogue ด้วย

ฟิลิปปินส์ : สหรัฐฯร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในด้านความมั่นคงทางทะเล และการจัดการภัยพิบัติ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมครั้งแรก ระหว่าง ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่าง กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ของสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์

ไทย : สำหรับไทย ที่เป็นพันธมิตรในเอเชียตะวันออกที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้มีความร่วมมือกันหลายเรื่อง โดยกองทัพเรือไทยกับสหรัฐฯร่วมมือกันในการจัดส่งเรือรบไปยังเขตน่านน้ำโซมาเลีย เพื่อจัดการกับปัญหาโจรสลัด นอกจากนี้ ไทยได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN ใน Darfur ด้วย

ความสัมพันธ์ทางทหาร ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย และฟิลิปปินส์ ได้ครอบคลุมถึงการซ้อมรบร่วม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง การให้ความช่วยเหลือในด้าน logistics การพัฒนาบุคลากร และฝึกอบรมต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการรักษาสันติภาพ และการปราบปรามโจรสลัด

(โปรดอ่านต่อตอนที่ 2 ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า ซึ่งจะกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ในด้านการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ต่อจีน และยุทธศาสตร์ที่ 4 ในเรื่อง สถาปัตยกรรมในภูมิภาค)