ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ปี 2010
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 22 วันศุกร์ที่ 19 - วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 32-33
เมื่อเร็วๆนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก ได้เข้าสู่จุดวิกฤติ โดยได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันหลายเรื่อง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ประเด็นความขัดแย้ง และสาเหตุของความขัดแย้งดังนี้
ประเด็นความขัดแย้ง
ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนในสมัยรัฐบาล Obama โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้ว ถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีมาก โดยเฉพาะผลการเยือนจีนของ Obama ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ดูได้จากแถลงการณ์ร่วม ที่ได้มีการประกาศขยายความร่วมมือไปมากมายหลายสาขา อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ นับเป็นความสำเร็จในนโยบายปฏิสัมพันธ์และเน้นความร่วมมือกับจีน
แต่อยู่ๆ ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนมกราคมปีนี้ ความสัมพันธ์ก็เกิดพลิกผันกลับตาลปัตรกันหมด โดยเริ่มมาจากกรณี Google ประกาศถอนตัวออกจากจีน และที่เป็นประเด็นทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนักคือ การที่สหรัฐประกาศขายอาวุธให้กับไต้หวัน และยังมีเรื่อง ดาไล ลามะ ความขัดแย้งทางการค้า และการคว่ำบาตรอิหร่าน
ความขัดแย้งเรื่องแรก เกิดขึ้นในเดือนมกราคม โดยบริษัท Google ได้ประกาศที่จะถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่าถูกล้วงข้อมูลและถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์ ต่อมารัฐบาลสหรัฐได้ออกมาสนับสนุนท่าทีของ Google โดย Hillary Clinton ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนที่เซนเซอร์อินเตอร์เน็ต ต่อมา Obama มีท่าทีว่า รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับกรณีของ Google ในจีน และกำลังแสวงหาคำตอบจากรัฐบาลจีน แต่รัฐบาลจีนก็ได้ตอบกลับว่า บริษัทต่างชาติจะสามารถทำธุรกิจในจีนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของจีน และสหรัฐควรจะยุติการกล่าวหาที่ไม่มีมูล
ต่อมา เมื่อปลายเดือนมกราคม ก็ได้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐกับจีน โดยรัฐบาล Obama ได้ประกาศว่า จะขายอาวุธให้กับไต้หวัน คิดเป็นมูลค่า 6 พันล้านเหรียญ ซึ่งสหรัฐมองว่า การขายอาวุธดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อการป้องกันไต้หวัน โดยภายใต้ Taiwan Relations Act ปี 1979 รัฐบาลสหรัฐจะต้องจัดหาอาวุธให้กับไต้หวัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง โดยได้เรียกทูตสหรัฐประจำกรุงปักกิ่ง และประท้วงว่าสหรัฐแทรกแซงกิจการภายในของจีน จีนประกาศจะตัดความสัมพันธ์ทางทหาร และประกาศมาตรการคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐที่ขายอาวุธให้กับไต้หวัน โดยบริษัทที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ Boeing ซึ่งในปัจจุบัน จีนใช้เครื่องบิน Boeing กว่าครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ จีนยังได้ขู่ด้วยว่าความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ของโลก ก็จะได้รับผลกระทบ
เรื่องต่อมาที่จีนกับสหรัฐกำลังขัดแย้งกัน คือ เรื่องธิเบต โดยรัฐบาล Obama ได้ประกาศว่า Obama จะพบปะกับ ดาไล ลามะ ที่ทำเนียบขาวในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ โดยสหรัฐได้บอกว่า ตั้งแต่ปี 1990 ประธานาธิบดีของสหรัฐทุกคนได้พบปะกับ ดาไล ลามะ จึงถือเป็นเรื่องปกติ และ ดาไล ลามะก็เป็นผู้นำจิตวิญญาณชาวธิเบตที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จีนได้ตอบโต้ว่า การพบปะจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้ประกาศคัดค้านการพบปะและขอให้สหรัฐเข้าใจว่า ปัญหาธิเบตมีความละเอียดอ่อนมาก และขอให้สหรัฐยอมรับว่าธิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน จีนจึงขอให้ยกเลิกการพบปะดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อความสัมพันธ์
ต่อมาก็เป็นเรื่อง ความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งกำลังเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ โดยเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกแถลงการณ์โจมตีสหรัฐว่า กำลังมีมาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มมากขึ้น และจีนก็ตกเป็นเหยื่อของมาตรการที่ไม่เป็นธรรม ทั้งสองประเทศ ขณะนี้ กำลังทำสงครามการค้า โดยการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าของกันและกัน ในส่วนของอเมริกา ก็กล่าวหาจีนหลายเรื่อง โดยเฉพาะในกรณีค่าเงินหยวนของจีนซึ่งอเมริกามองว่า มีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้สินค้าจีนได้เปรียบ นอกจากนี้ กฎหมายสหรัฐได้ระบุให้กระทรวงการคลัง ทำรายงานระบุประเทศ ที่มีนโยบายค่าเงินที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องประกาศภายในวันที่ 25 เมษายนนี้ จึงเป็นไปได้ว่าในฝ่ายจีน คงจะพยายามเพิ่มค่าเงินหยวนประมาณ 3-5% เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้จากกฎหมายดังกล่าว แต่การเพิ่มค่าเงินหยวนเพียง 3% คงจะลดแรงกดดันได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะท่าทีของสหรัฐต้องการให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวนมากกว่านี้
เรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน ก็เป็นอีกเรื่องที่จีนกับสหรัฐกำลังขัดแย้งกัน โดยสหรัฐมองว่า จีนไม่ให้ความร่วมมือต่อข้อเสนอของสหรัฐ ในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในคณะมนตรีความมั่นคง แต่สำหรับจีนนั้น มีผลประโยชน์หลายเรื่องในอิหร่าน โดยเฉพาะจีนนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเป็นอันดับ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย และจีนยังมีโครงการที่จะเข้าไปสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลายแห่ง ดูเหมือนว่าจีนพยายามเชื่อมเรื่องอิหร่านกับเรื่องไต้หวัน โดยจีนพยายามกดดันสหรัฐให้ยุติการขายอาวุธให้กับไต้หวัน เพื่อแลกกับความร่วมมือของจีนในการคว่ำบาตรอิหร่าน
นอกจากนี้ ความขัดแย้งยังอาจส่งผลกระทบต่อแผนการเยือนของบุคคลสำคัญ โดย Robert Gates รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอาจจะยกเลิกการเยือนจีน เช่นเดียวกับทางจีน ประธานาธิบดี Hu Jin Tao อาจจะยกเลิกการเยือนสหรัฐในปีนี้ และการแลกเปลี่ยนการติดต่อระหว่างผู้นำทหารระดับสูงก็อาจจะยุติลง
บทวิเคราะห์
คำถามใหญ่คือ เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ อะไรเป็นสาเหตุให้อยู่ดีๆความสัมพันธ์ก็เกิดพลิกผันกลับตาลปัตร
ผมมองว่า มีปัจจัยหรือสาเหตุสองระดับ ระดับแรก เป็น immediate cause หรือสาเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆในขณะนี้ และ underlying cause หรือสาเหตุพื้นฐาน
สำหรับสาเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น อาจเป็นไปได้ว่า Obama อาจจะต้องการลดกระแสการโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่มองว่า Obama ยอมจีนมากเกินไป จึงหันกลับมาใช้ไม้แข็งกับจีน และอีกสาเหตุหนึ่ง อาจจะมาจากปฏิกิริยาของสหรัฐต่อท่าทีของจีนในเรื่องต่างๆ ที่สหรัฐมองว่า มีท่าทีในเชิงลบและแข็งกร้าว ตัวอย่างเช่น ท่าทีของจีนในการเจรจาภาวะโลกร้อนที่ Copenhagen ซึ่งจีนมีท่าทีแข็งกร้าวมาก และไม่ร่วมมือกับสหรัฐ จีนไม่ยอมร่วมมือในการคว่ำบาตรอิหร่าน การประกาศขายอาวุธให้ไต้หวันอาจจะเป็นความพยายามส่งสัญญาณว่า Obama ก็แข็งกร้าวได้เหมือนกัน คือจะไม่ใช่ยอมจีนในทุกๆเรื่อง
ในส่วนของจีนนั้น ท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะ จีนอยากจะลอง test รัฐบาล Obama ว่าจะยอมอ่อนข้อให้จีนได้แค่ไหน โดยจีนอาจจะตีความว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาล Obama เน้นนโยบายปฏิสัมพันธ์และยอมอ่อนข้อให้กับจีนเป็นอย่างมาก Obama เองก็พูดหลายครั้งว่า สหรัฐต้องการความร่วมมือจากจีนในการแก้ปัญหาของโลก จีนจึงอาจคิดว่า สหรัฐต้องพึ่งพาความร่วมมือจากจีน จึงทำให้จีนมีอำนาจการต่อรองและถือไพ่เหนือกว่า จึงกล้าจะแข็งกร้าวกับสหรัฐ
สำหรับปัจจัยพื้นฐานนั้น ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆคือ การผงาดขึ้นมาของจีน ในอนาคต (ภายในปี 2020-2025) จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จีนกำลังจะพัฒนาไปเป็นอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และในขณะที่จีนผงาดขึ้นมา อำนาจของสหรัฐก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ทำให้สถานะของสหรัฐตกลงไปมาก และคงจะทำให้ผู้นำจีนมีความเชื่อมั่น และมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐจะมาสั่งสอนและบีบให้จีนทำตาม ผู้นำจีนอาจจะเริ่มมีความเชื่อว่า สหรัฐไม่มีความสำคัญต่อจีนเหมือนในอดีต โดยตลาดภายในของจีน ได้เติบโตขึ้นมาแทนที่ตลาดสหรัฐ การส่งออกเริ่มเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกมากขึ้น จีนมีเงินทุนเหลือเฟือ มีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลกถึง 2 ล้านล้านเหรียญ สิ่งเหล่านี้ ทำให้จีนไม่ต้องง้อสหรัฐอีกต่อไป และทำให้จีนลดการประนีประนอมต่อสหรัฐมากขึ้น
สำหรับปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐคือ ยุทธศาสตร์พื้นฐานของสหรัฐต่อจีน คือมองว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามมากขึ้น เป็นคู่แข่ง และท้าทายการเป็นเจ้าครองโลกของสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ และมองว่า เป้าหมายหลักของจีนคือ การกล่าวขึ้นมาเป็นเจ้าในระดับภูมิภาค และในระยะยาว ก็จะเป็นในระดับโลก ดังนั้น ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐ คือนโยบายปิดล้อมจีน เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายปิดล้อมจีนอย่างเต็มรูปแบบ ทำได้ยาก เพราะจีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐจึงมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะการปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์หลักของ Obama ต่อจีน มีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ โดยในช่วงปีที่แล้ว เราเห็น Obama มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการปฏิสัมพันธ์เป็นพิเศษ แต่จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า Obama กำลังปรับสัดส่วนให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยหันไปเพิ่มสัดส่วนของนโยบายปิดล้อม และลดการปฏิสัมพันธ์ลง อีกนัยหนึ่งคือ การเพิ่มการใช้ไม้แข็ง และลดการใช้ไม้อ่อน เพื่อให้นโยบายมีความสมดุลมากขึ้นนั่นเอง