Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผลการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย

ผลการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2554

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งล่าสุด ที่โฮโนลูลู ฮาวาย โดยสหรัฐฯเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ ผลการประชุม ดังนี้

ผลการประชุมเอเปค

• WTO
การประชุมครั้งนี้ เรื่องสำคัญมี 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ การกำหนดท่าทีของเอเปค ต่อการ
เจรจา WTO รอบโดฮา เรื่องที่ 2 คือ ความร่วมมือด้านการค้าและเขตการค้าเสรี
สำหรับเรื่องการเจรจารอบโดฮานั้น ในเอกสารปฏิญญาผลการประชุม กล่าวว่า ที่ประชุมวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่คืบหน้าของการเจรจา และยอมรับว่า การที่จะบรรลุประเด็นหารือทุกเรื่องในอนาคต คงเป็นไปได้ยาก จึงไม่น่าจะสามารถจบการเจรจารอบนี้ได้ หากท่าทีการเจรจาและรูปแบบการเจรจา ยังเป็นเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม สมาชิกเอเปคจะพยายามเดินหน้าต่อไป เพื่อที่จะให้การเจรจาจบลงให้ได้ และที่ประชุมขอให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐมนตรี WTO สำรวจวิถีทางใหม่ๆและแนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของการเจรจา

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตอกย้ำการต่อต้านมาตรการปกป้องทางการค้า โดยสมาชิกเอเปคจะไม่เพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมจนถึงปี 2015 และที่ประชุมขอให้สมาชิก WTO ในการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 8 ในเดือนธันวาคม ปีนี้ ตอกย้ำถึงนโยบายต่อต้านการปกป้องทางการค้าด้วย

• ความร่วมมือทางการค้า
ปฏิญญาโฮโนลูลู เน้นว่า พันธกิจสำคัญของเอเปค คือ การเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ และการ
ขยายการค้า โดยได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาการค้าและการลงทุนใหม่ๆ และข้อตกลงการค้า โดยเฉพาะ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของบูรณาการทางเศรษฐกิจของเอเปค
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้ตกลงกันในเรื่องความร่วมมือทางการค้าเรื่องอื่นๆ อาทิ การส่งเสริมบทบาทของ SME การปรับปรุงประสิทธิภาพของ supply-chain เพิ่มขึ้น 10% ภายในปี 2015 เรื่อง APEC Travel Facilitation Initiative เรื่องความมั่นคงทางอาหาร และการเปิดเสรีการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น

Trans-Pacific Partnership (TPP)

นอกจากการประชุมสุดยอดเอเปคแล้ว การประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้ ได้มีการจัดประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศสมาชิก TPP เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยผู้นำของ 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยได้มีการประชุมกัน ในวันที่ 12 พฤศจิกายน หลังการประชุม ได้มีการเผยแพร่เอกสารแถลงการณ์ผลการประชุม ซึ่งกล่าวว่า ผู้นำทั้ง 9 ประเทศ ได้ตกลงกันเกี่ยวกับเค้าโครงของข้อตกลง TPP และประสบความสำเร็จในการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลง FTA ที่จะมีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จและทันสมัย ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าในทุกเรื่อง โดยที่ประชุม ตั้งเป้าหมายว่า จะเร่งรีบในการบรรลุข้อตกลง TPP ให้ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยอมรับว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนอีกหลายเรื่อง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเจรจา โดยที่ประชุมได้ขอให้ทีมเจรจา ประชุมกันครั้งต่อไปในช่วงต้นเดือนธันวาคม และกำหนดกรอบเวลาของการประชุมในปี 2012

โดยหลังจากการประชุม ประธานาธิบดี Obama ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คงจะสามารถบรรลุข้อตกลง TPP และลงนามกันได้ภายในปี 2012
เป้าหมายระยะยาวของ TPP คือ การจัดตั้ง FTA ให้ครอบคลุมภูมิภาคแปซิฟิก ที่ประชุมจึงต้องการที่จะขยายจำนวนสมาชิกออกไป จาก 9 ประเทศ โดยได้ขอให้ทีมเจรจา หารือกับประเทศอื่นๆ เพื่อชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก TPP ในอนาคต

สำหรับในเรื่องสมาชิกใหม่นั้น ก่อนการประชุมเพียง 1 วัน ญี่ปุ่นก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ที่จะเข้าร่วม TPP และหลังจากนั้น แคนาดา และเม็กซิโก ก็ได้ประกาศจะเข้าร่วมกับ TPP ด้วย ดังนั้น ขณะนี้ TPP จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จาก 9 ประเทศ เป็น 12 ประเทศ


บทวิเคราะห์
• เอเปค
ผมมองว่า การประชุมเอเปคในครั้งนี้ประสบความล้มเหลว ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของ
รัฐบาล Obama ที่ก่อนหน้านี้ หมายมั่นปั้นมือว่า จะให้การประชุมครั้งนี้ เป็นการรื้อฟื้นบทบาทของเอเปค และจะทำให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาค แต่ดูจากผลการประชุมแล้ว ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะจากผลการประชุมที่ผมสรุปไปข้างต้น แทบจะไม่มีอะไรที่มีผลเป็นรูปธรรมเลย โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการประชุมเอเปค ปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่น การประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเท่านั้น แต่ยังถอยหลังลงคลองอีกด้วย
ผมขอย้อนไปสรุปการประชุมปีที่แล้ว เพื่อที่จะให้เห็นภาพเปรียบเทียบกับการประชุมในครั้งนี้ การประชุมเอเปคที่ญี่ปุ่น นับเป็นการพลิกฟื้นครั้งสำคัญของเอเปค โดยได้มีการตกลงกัน ที่จะจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้น โดยหัวใจของประชาคมเอเปค คือ การจัดตั้ง Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP โดยตั้งเป้าว่า FTAAP จะถูกจัดตั้งขึ้น ด้วยข้อตกลงการค้าที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ โดยจะเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว อาทิ FTA อาเซียน+3 อาเซียน+6 และ TPP
โดยสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปคขึ้นมา เพื่อมาแข่งกับประชาคมอาเซียน เพราะกลัวว่า ประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯ ต้องการใช้ FTAAP เป็นตัวกันการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกรอบอาเซียน +3 ที่ไม่มีสหรัฐฯ
ดังนั้น หากการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ญี่ปุ่น ถือเป็นการรื้อฟื้นเอเปค แต่สำหรับการประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้ เอเปคได้ถอยหลังลงคลองอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆเลย เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมเอเปค ไม่มีความคืบหน้าในการจัดตั้ง FTAAP และไม่ได้มีการพูดถึง TPP ในปฏิญญาโฮโนลูลูเลย เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯล้มเหลวในการที่จะใช้ TPP เป็นแกนของ FTAAP ผมเดาว่า ความล้มเหลวครั้งนี้ น่าจะเกิดมาจาก การที่ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน คงไม่เห็นด้วย และคงจะต่อต้านข้อเสนอของสหรัฐฯอย่างเต็มที่


• TPP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สหรัฐฯจะประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการประชุมสุดยอดเอเปคที่
ฮาวายในครั้งนี้ แต่สหรัฐฯก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในกรอบ TPP โดยเฉพาะการบีบให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับ TPP สำเร็จ จึงเห็นได้ว่า แนวโน้มในอนาคต สหรัฐฯคงจะหันมาให้ความสำคัญกับ TPP เป็นหลัก และจะพัฒนาให้เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป แต่สหรัฐฯคงอาจจะต้องทิ้งแนวคิด ที่จะเชื่อม TPP กับเอเปค เพราะคงจะถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากจีน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็ล้มเหลวที่ไม่สามารถผลักดันให้มีการลงนามในข้อตกลง TPP ระหว่าง 9 ประเทศได้ ในการประชุมที่ฮาวายในครั้งนี้
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของสหรัฐฯนั้น คือ จะขยายจำนวนสมาชิก TPP จาก 9 ประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็เป็น 12 ประเทศแล้ว ต่อไปให้ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ TPP ซึ่งจะมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ จะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค TPP จึงจะเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯในการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 – วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554

ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 19 ที่บาหลี อินโดนีเซีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะมีเรื่องสำคัญๆอะไรบ้าง ดังนี้

ประชาคมอาเซียน

เรื่องแรกที่จะเป็นไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การเดินหน้าจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 ซึ่งผมมองว่า โดยภาพรวมแล้ว การเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน เป็นไปได้ด้วยดี ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ คงไม่มีปัญหาอะไรสำคัญ

อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นไปได้ ที่เรื่องเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะในไทย กัมพูชา และเวียดนาม อาจจะกลายเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนจะหยิบยกขึ้นหารือ โดยเฉพาะการพัฒนามาตรการและกลไกของอาเซียน ในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ

แต่ผมมองว่า ในช่วงวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในไทย อาเซียนไม่มีบทบาทอะไรเลย นับเป็นความล้มเหลวของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ที่เมื่อเกิดวิกฤต อาเซียนก็ไม่อาจช่วยเหลือประเทศสมาชิกได้ นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1997 และต่อมา วิกฤตพายุนาร์กิส ที่ถล่มพม่า เมื่อปี 2008 โดยอาเซียนแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในการช่วยเหลือพม่า กลับกลายเป็นว่า UN กลายเป็นตัวแสดงสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ และในวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทย และอีกหลายประเทศ อาเซียนก็ไม่มีบทบาทอะไรเลยอีกเช่นกัน ทั้งๆที่อาเซียนมีปฏิญญาจัดการภัยพิบัติ มาตั้งแต่ปี 1976 และต่อมา มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ แต่เป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ข้อตกลงเหล่านี้ กลายเป็นเพียงแค่ “เศษกระดาษ”

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ อาจจะมีการหารือถึงการพัฒนากลไกการจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อาเซียนไม่สามารถช่วยเหลือสมาชิกในยามวิกฤตได้ ก็เพราะอาเซียนยังไม่ได้เป็นประชาคมอย่างแท้จริง เรายังไม่มีอัตลักษณ์ร่วม ประเทศสมาชิก ลึกๆแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ที่จะต้องช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง

อาเซียนกับมหาอำนาจ

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ไฮไลท์น่าจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจเป็นหลัก โดยจะมีทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียน+1 อาทิ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-สหรัฐฯ การประชุมสุดยอดอาเซียน+ 3 และการประชุมสุดยอด East Asia Summit หรือ EAS อีกด้วย

สำหรับในกรอบของ อาเซียน+1 นั้น ที่น่าจับตามอง คือ การประชุมสุดยอด อาเซียน-จีน เพราะก่อนหน้านี้ อาเซียนกับจีน มีปัญหากันในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีน ในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้มีการจัดทำ Guidelines สำหรับการแปลงปฏิญญา Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea ให้ไปสู่การปฏิบัติ ผมเดาว่า ผลการประชุมน่าจะออกมา ในทำนองที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา และจะเดินหน้าในการจัดทำ Code of Conduct ต่อไป โดยอาเซียนและจีน ก็ไม่อยากให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค คือ เรื่องการจัดทำ FTA ในกรอบต่างๆ ขณะนี้ อาเซียนมี FTA อยู่หลายกรอบ ทั้งในกรอบ อาเซียน+1 อาทิ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น และมีข้อเสนอ FTA ในกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6 อีกด้วย ที่ประชุมครั้งนี้ จะได้พิจารณาข้อเสนอของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่า อาเซียนจะบูรณาการ FTA ต่างๆเหล่านี้อย่างไร ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ใช้คำว่า อาเซียน + + FTA ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่า จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และที่จะทำให้เรื่องยุ่งมากขึ้น ก็คือ การผลักดันของสหรัฐฯที่จะตั้ง FTA ในกรอบเอเปค ที่เรียกว่า TPP เพื่อมาแข่งกับ FTA ของอาเซียนอีกด้วย

ไฮไลท์อีกเรื่องของการหารือระหว่างอาเซียนกับมหาอำนาจ คือ การหารือในกรอบ East Asia Summit หรือ EAS โดยปัจจัยที่จะทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา คือ การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯมองว่า การเข้าร่วม EAS จะทำให้สหรัฐฯมีบทบาทในการพัฒนาและเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และการเป็นสมาชิก EAS จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียโดยไม่มีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯมองว่า ความร่วมมือ อาเซียน+3 เข้มข้นกว่า EAS ดังนั้น ท่าทีของสหรัฐฯ คือ การเข้ามาปรับเปลี่ยน EAS ให้มีความร่วมมือที่เข้มข้น และพยายามเข้ามามีบทบาทนำใน EAS

จากท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้อาเซียนวิตกกังวลว่า อาเซียนจะไม่สามารถคุมเกม EAS ได้ และสหรัฐฯจะเข้าครอบงำ ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนคงจะตอกย้ำท่าทีของอาเซียน ซึ่งคงจะขัดแย้งกับท่าทีของสหรัฐฯหลายเรื่อง อาทิ อาเซียนต้องการให้ EAS เป็นเวทีหารือในระดับผู้นำเท่านั้น และไม่ต้องการให้ EAS เป็นสถาบันที่เป็นทางการ ในขณะที่สหรัฐฯต้องการตรงกันข้าม สหรัฐฯต้องการให้ EAS เป็นองค์กรความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค แต่อาเซียนก็ไม่เห็นด้วย เราคงจะต้องจับตามองว่า ผลการประชุม EAS ในครั้งนี้จะออกมาอย่างไร แต่ผมเดาว่า ทั้ง 2 ฝ่ายคงจะประนีประนอมกัน และอาจจะออกมาในลักษณะ “พบกันครึ่งทาง”

อาเซียนในเวทีโลก

และเรื่องที่น่าจะมีความสำคัญในการประชุมครั้งนี้อีกเรื่อง คือ เรื่องที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเป็น theme ของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย คือ “ASEAN Community in a Global Community of Nations” โดยอินโดนีเซียต้องการพัฒนาท่าทีร่วมของอาเซียนในเวทีโลก และเพิ่มบทบาทอาเซียนในการจัดการกับปัญหาของโลก โดยในการประชุมครั้งนี้ น่าจะมีการลงนามในปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนกับ UN

แต่โดยรวมแล้ว ผมประเมินว่า เป้าหมายของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ ประสบความล้มเหลว เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนและผลักดันเรื่องนี้ แต่บทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการจัดการปัญหาของโลก ก็ไม่มีให้เห็นเลย จริงๆแล้ว วาระซ่อนเร้นของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ คือ การใช้ประโยชน์จากอาเซียน ในการผลักดันให้อินโดนีเซียผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคและในระดับโลกนั่นเอง

ผลการประชุม G20 ที่ฝรั่งเศส

ผลการประชุม G20 ที่ฝรั่งเศส

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 – วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2554

เมื่อช่วงวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด G20 ครั้งล่าสุด ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ผลการประชุม

• การปฏิรูประบบเงินตราระหว่างประเทศ
เรื่องแรกที่ประชุมกัน คือ เรื่องการปฏิรูประบบเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมมองว่า มี
ความคืบหน้าในการปฏิรูประบบ เพื่อให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะต่อการไหลเวียนของเงินทุน
เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สหรัฐฯให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะการผลักดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ในเอกสารผลการประชุม ระบุว่า ที่ประชุมต้องการให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน และค่าเงินสกุลต่างๆ เป็นไปตามกลไกตลาด ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการบิดเบือนค่าเงิน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Barack Obama ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ยินดีต่อผลการประชุม ที่จะให้มีการผลักดันค่าเงินให้เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างรวดเร็วมากขึ้น และยินดีที่จะให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องของค่าเงิน นอกจากนี้ Obama ยังยินดี ที่จีนได้แสดงจุดยืนที่จะเพิ่มค่าเงินหยวน

• วิกฤต Eurozone
แต่เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ในการประชุม G20 ในครั้งนี้ คือ เรื่องวิกฤต Eurozone โดย
ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่มีมาตรการในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ มาตรการเพิ่มทุนของธนาคารในยุโรป และมาตรการเพิ่มเงินทุนให้กับกองทุนกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone คือ กองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) และที่ประชุมได้แสดงความยินดี ที่การประชุมสุดยอด Eurozone มีมาตรการเหล่านี้ออกมา และแสดงความยินดีต่ออิตาลี ที่กำลังจะประสบปัญหาวิกฤตหนี้ ที่ได้เชิญให้ IMF เข้าไปช่วยดูแลให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาของอิตาลี

• บทบาทของ IMF
หัวใจสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ การที่จะให้ IMF มีบทบาทมากขึ้น ในการกอบกู้
วิกฤต Eurozone โดยที่ประชุมได้ตกลงกันว่า จะให้ IMF มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF ซึ่งมาตรการเพิ่มเงินทุนให้ IMF นั้น เริ่มมาตั้งแต่การประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 2009 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลัง G20 ไปศึกษาทางเลือกต่างๆในการเพิ่มเงินทุนให้กับ IMF

• บทบาทของ G20
อีกเรื่องที่ประชุมกันในครั้งนี้ คือ การกำหนดบทบาทของ G20 ในอนาคต ซึ่งที่ประชุมตกลงที่จะให้ G20 เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการสิ้นสุดบทบาทของฝรั่งเศสในการเป็นประธาน G20 โดยได้กำหนดว่า เม็กซิโก จะเป็นประธาน G20 ในปี 2012 และในปี 2013-2015 จะมีรัสเซีย ออสเตรเลีย และตุรกี เป็นประธาน G20 ตามลำดับ และหลังจากปี 2015 เป็นต้นไป จะมีการใช้หลักเกณฑ์การเป็นประธาน G20 โดยหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยจะเริ่มจากภูมิภาคเอเชียก่อน ซึ่งภูมิภาคเอเชียมีสมาชิก G20 อยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ภายหลังการประชุม G20 ในครั้งนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicholas Sarkozy ในฐานะประธานการประชุม ได้ออกมาแถลงข่าวถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุม G20 ได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือในการกอบกู้วิกฤต Eurozone และเน้นว่า G20 ตกลงที่จะเพิ่มเงินใน IMF โดยจะกำหนดมาตรการต่างๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ส่วนผู้อำนวยการ IMF คือ Christine Lagarde ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้นำ G20 ตกลงที่จะเพิ่มเงินใน IMF ซึ่งในขณะนี้ IMF มีเงินทุนเพียงพอที่จะช่วยเหลือประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิกฤตการเงินบานปลาย G20 ก็ตกลงว่า จะเพิ่มเงินให้ความช่วยเหลือใน IMF

บทวิเคราะห์

• ภาพรวม
ในภาพรวมแล้ว ผมประเมินว่า การประชุม G20 ในครั้งนี้ ประสบความล้มเหลว เพราะ
โดยรวมแล้ว ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีผลการประชุมอะไรที่ถือได้ว่า เป็นรูปธรรมเลย มีแต่การประกาศอย่างกว้างๆ ที่แทบจะจับต้องไม่ได้ เรื่องสำคัญที่สุดที่ชาวโลกจับตามองผลการประชุมในครั้งนี้ คือ บทบาทของ G20 ในการกอบกู้วิกฤต Eurozone ก็น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ผลการประชุมออกมาอย่างชัดเจนว่า G20 แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย มีแต่การพูดถึงผลการประชุมสุดยอด Eurozone อย่างกว้างๆ แต่ G20 ก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ยกเว้นการบอกว่า จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF ซึ่งเป็นการพูดอย่างกว้างๆ และไม่ได้ตกลงว่า จะเพิ่มเงินเข้าไปเท่าใด

สำหรับผมแล้ว ไม่แปลกใจที่การประชุม G20 ครั้งนี้ จะประสบความล้มเหลว และไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เพราะนี่ คือ แนวโน้มของ G20 ที่กำลังถูกลดบทบาทลง G20 มีบทบาทที่โดดเด่นที่สุดในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008-2009 แต่หลังจากนั้น บทบาทก็ลดลง โดยการต่อสู้และวาระซ่อนเร้นที่สำคัญใน G20 คือ การต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจเก่ากับมหาอำนาจใหม่ คือ การต่อสู้ระหว่างตะวันตกกับกลุ่ม BRIC คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน มหาอำนาจใหม่ ต้องการมีบทบาทมากขึ้น แต่ตะวันตกพยายามจะลดบทบาทและจำกัดบทบาทของมหาอำนาจใหม่ลง ดังนั้น G20 จึงตกลงอะไรกันไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันเลย และเรื่องที่เห็นชัดเจนถึงความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่มนี้ คือ ประเด็นเรื่องการกอบกู้วิกฤต Eurozone นั่นเอง

• EFSF
สิ่งที่กลุ่ม Eurozone ต้องการ คือ การที่จะให้ประเทศสมาชิก G20 ลงขัน ใส่เงินเพิ่มเข้าไป
ในกองทุน EFSF แต่สมาชิก G20 ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Eurozone ก็ไม่สนใจเลย และไม่มีใครประกาศจะลงขันในกองทุนนี้ ในการประชุมสุดยอด Eurozone เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ประชุมตกลงที่จะเพิ่มเงินใน EFSF ขึ้นเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ว่าในความเป็นจริง ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน

• IMF
เช่นเดียวกัน กลุ่ม Eurozone ต้องการให้กลุ่มสมาชิก G20 ลงขันเพิ่มเงินใน IMF เพื่อจะมา
ช่วยกอบกู้วิกฤตหนี้ Eurozone มีการคาดหวังกันอย่างมากว่า กลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะ จีน จะลงขันเพิ่มเงินใน IMF
ที่ผ่านมา IMF ก็มีบทบาทอยู่บ้าง ในการกอบกู้วิกฤตหนี้ของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกว่า troika ซึ่งประกอบด้วย EU ธนาคารกลางยุโรป และ IMF โดย troika มีบทบาทในการประเมินและปล่อยกู้ให้กับกรีซ อย่างไรก็ตาม เป็นที่วิตกว่า วิกฤตอาจลุกลามบานปลายเข้าสู่อิตาลีและสเปน แม้ว่า อิตาลีจะได้เชื้อเชิญให้ IMF เข้ามาช่วย แต่ IMF ก็มีเงินไม่พอ หากอิตาลีประสบกับวิกฤตหนี้เหมือนในกรณีของกรีซ

แต่ในที่สุด สมาชิก G20 ที่ไม่ใช่สมาชิก Eurozone ก็ไม่มีประเทศไหนเลยที่ประกาศจะเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุน IMF อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ BRIC ก็ไม่สนใจที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF เพราะลึกๆแล้วประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต้องการเข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤต Eurozone เพราะคิดว่า “ธุระไม่ใช่” และคิดว่า ผลกระทบยังไกลตัว แม้ว่า ก่อนการประชุม หลายฝ่ายคิดว่า จีนจะเข้ามามีบทบาท แต่ในที่สุด จีนก็ปฏิเสธที่จะเพิ่มเงินเข้าไปใน IMF และ EFSF