Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 2)

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 2)

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 – วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของประชาคมโลก ต่อวิกฤติลิเบีย โดยได้วิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของ UNSC มหาอำนาจสหรัฐฯ ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้มีพัฒนาการความเคลื่อนไหวของประชาคมโลก ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดเขตห้ามบิน (no-fly zone) คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อ โดยเฉพาะเกี่ยวกับข้อเสนอ no-fly zone ดังนี้

ข้อเสนอเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวในประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะ อังกฤษ และ สหรัฐฯ ในการผลักดัน มาตรการเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone โดยในสหรัฐฯได้มีสมาชิกสภาคองเกรสหลายคน ได้ออกมาผลักดันในเรื่องนี้

บุคคลที่ออกมาเสนอเรื่องนี้ที่โดดเด่นคือ John McCain ซึ่งเป็น ส.ว. พรรครีพับลิกัน (เคยเป็นคู่แข่งของ Obama ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี) ได้ออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า สหรัฐฯมีงบประมาณทางทหารกว่า 5 แสนล้านเหรียญ แต่กลับไม่สามารถจัดการกับเครื่องบินของลิเบียได้ เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาล Obama ดำเนินมาตรการจัดตั้งเขต no-fly zone และบอกว่า ในอดีต สหรัฐฯก็เคยทำสำเร็จมาแล้วในอิรัก

สำหรับในฟากของพรรคเดโมแครต ก็มีกระแสเรียกร้องเช่นเดียวกัน โดย ส.ว. John Kerry ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา ก็เห็นด้วยกับ John McCain ในการกำหนด no-fly zone และได้กล่าวว่า นานาชาติและนาโต้ ไม่ควรนิ่งเฉย และปล่อยให้ Gaddafi ใช้เครื่องบินรบเข่นฆ่าประชาชน

โดยหากได้มีการกำหนด no-fly zone ขึ้นมา ก็น่าจะเป็นมหาอำนาจหลักๆ คือ สหรัฐฯ และอังกฤษ ที่จะเป็นผู้ดำเนินการ เหมือนอย่างที่ทั้ง 2 ประเทศ เคยดำเนินการในอิรักเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 โดยในตอนนั้น เครื่องบินรบของสหรัฐฯและอังกฤษ ได้ปฎิบัติการป้องกันไม่ให้ Saddam Hussein นำเครื่องบินรบขึ้น เพื่อโจมตีชาวอิรักนิกายชีอะห์ ทางภาคใต้ของอิรัก

ท่าทีของรัฐบาล Obama

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama ออกมาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ no-fly zone โดย Robert Gates รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวเตือนสภาคองเกรสว่า การจัดตั้งเขต no-fly zone เหนือลิเบียนั้น จะต้องเริ่มด้วยการโจมตีฐานทัพอากาศของลิเบีย ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากในลิเบียซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวาง ก่อนหน้านี้ Gates ได้กล่าวสุนทรพจน์เตือนว่า สหรัฐฯควรจะหลีกเลี่ยงสงครามใหญ่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในอิรัก และอัฟกานิสถาน โดย Gates ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้ง no-fly zone ในลิเบียนั้น จะกินอาณาเขตกว้างขวาง ต้องใช้เครื่องบินรบเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกองกำลังของสหรัฐฯในอิรัก และอัฟกานิสถานด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของสหรัฐฯหลายคน ได้ออกมาเตือนว่า no-fly zone อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีอุปสรรคด้านการเมือง และการทูต

Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาตอกย้ำว่า สหรัฐฯคงจะยังไม่ตัดสินในการดำเนินมาตรการนี้ โดยเสริมว่า ประเทศในภูมิภาคคงไม่ต้องการเห็นการแทรกแซงทางการทหารของตะวันตก

อุปสรรค

ผมขอประมวลอุปสรรคในการดำเนินมาตรการจัดตั้งเขต no-fly zone ซึ่งแบ่งเป็นข้อๆได้ ดังนี้

• สงคราม

อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้รัฐบาล Obama ไม่กล้าดำเนินมาตรการ no-fly zone เพราะกังวลว่า
การดำเนินมาตรการดังกล่าว จะนำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย นำไปสู่สงครามใหญ่ ทั้งนี้ เพราะการประกาศ no-fly zone เท่ากับเป็นการประกาศสงคราม และจะต้องมีสงครามเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะถ้าสหรัฐฯจะบังคับใช้เขต no-fly zone สหรัฐฯต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นควบคุมน่านฟ้าของลิเบีย ซึ่งเครื่องบินจะปลอดภัยได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ต้องทำลายฐานทัพอากาศ เครื่องบิน และปืนต่อสู้อากาศยาน ของลิเบีย ซึ่งเท่ากับเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบแล้ว นอกจากนั้น มีแนวโน้มว่า Gaddafi ก็คงจะต่อสู้อย่างที่สุด และเหตุการณ์ก็คงจะบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่อย่างแน่นอน


• อิรัก

ในอดีต เคยมีการใช้มาตรการ no-fly zone หลายครั้ง แต่ยังมีข้อถกเถียงว่า มาตรการดังกล่าว
จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแคไหน อย่างเช่น ในกรณีของอิรัก ภายหลังสงครามอ่าว เมื่อปี 1991 สหรัฐฯและพันธมิตรได้บังคับใช้มาตรการ no-fly zone ต่ออิรัก โดยหวังว่า จะนำไปสู่การโค่นรัฐบาล Saddam Hussein แต่ในที่สุด ก็ไม่ได้ผล ดังนั้น มาตรการ no-fly zone ในกรณีของลิเบีย ก็ไม่มีหลักประกันว่า จะนำไปสู่การโค่น Gaddafi ลงได้

• UNSC

การบังคับใช้ no-fly zone นั้น ถือเป็นการทำสงคราม ดังนั้น ตามหลักแล้ว ก่อนที่จะดำเนิน
มาตรการดังกล่าว ทางฝ่ายตะวันตก จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ก่อน ซึ่งในข้อมติของ UNSC ที่ได้ออกมาเกี่ยวกับเรื่องลิเบียเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม ก็ไม่ได้มีการระบุถึงมาตรการ no-fly zone และขณะนี้ ก็ไม่มีแนวโน้มว่า สมาชิก UNSC ต้องการที่จะให้มีมาตรการดังกล่าว โดยมีความเป็นได้ว่า ถ้าทางตะวันตกเสนอเรื่องนี้เข้าไป รัสเซีย กับจีน ก็คงจะไม่เห็นด้วย

• โลกอาหรับ และโลกมุสลิม

อุปสรรคอีกประการ ของการดำเนินมาตรการ no-fly zone คือ ทางฝ่ายโลกอาหรับ และโลก
มุสลิม คงจะมองว่า เป็นการแทรกแซงทางทหารของตะวันตก ดังนั้น ทางโลกอาหรับ และโลกมุสลิม คงจะไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ และอาจจะยิ่งเข้าทาง Gaddafi ที่ได้ประกาศออกมาแล้วว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นแผนการของสหรัฐฯและตะวันตกที่ต้องการครอบครองประเทศ และน้ำมันของลิเบีย

แนวโน้ม

จากการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า มาตรการ no-fly zone คงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama คงจะตกอยู่ในสภาวะตกที่นั่งลำบาก โดยขณะที่รัฐบาล Obama ระมัดระวัง ไม่ให้สหรัฐฯถูกดึงเข้าไปสู่สงครามใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน เสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ทั้งจากฝ่ายเสรีนิยม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ได้บีบให้รัฐบาล Obama จะต้องดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อหยุดยั้งการเข่นฆ่าประชาชนของ Gaddafi

นอกจากนี้ ฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาล Gaddafi ซึ่งได้มีการจัดตั้งสภารัฐบาลแห่งชาติชั่วคราว (Interim National Government Council) โดยการนำของอดีตรัฐมนตรียุติธรรม คือ Mustafa Abdel-Jalil ได้เรียกร้องให้ตะวันตกดำเนินมาตรการมากกว่าเขต no-fly zone เสียอีก โดยได้เรียกร้องให้ตะวันตกแทรกแซงทางทหาร ด้วยการโจมตีเป้าหมายทางทหารของรัฐบาล Gaddafi

แต่ขณะนี้ ดูเหมือนกับรัฐบาลตะวันตก โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินมาตรการทางทหารใดๆ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการเพียงแค่มาตรการคว่ำบาตรเท่านั้น ซึ่งดูแล้ว มาตรการคว่ำบาตรคงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆได้
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทางฝ่ายตะวันตก ก็อาจต้องกลับมาพิจารณามาตรการทางทหารอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ ทางฝ่ายทหารตะวันตกก็กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆอยู่

คงต้องจับตาดูกันต่อว่า สถานการณ์ในลิเบียจะคลี่คลาย หรือจะลุกลามบานปลายใหญ่โตอย่างไรในอนาคต