Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 หน้า 4

ภาพรวม

ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 26-27 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในระดับอื่นๆของอาเซียน เช่น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วย โดยการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินภารกิจการเป็นประธานอาเซียนของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลไทย ได้ออกมาเน้นว่า การที่ไทยสามารถจัดประชุมครั้งนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ จะมีความสำคัญอย่างมากกับไทย เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณออกไปทั่วโลกว่า ไทยยังคงสามารถเป็นผู้นำของภูมิภาคได้อยู่ และเป็นการเรียกความเชื่อมั่นและฟื้นฟูภาพลักษณ์ในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกของไทย หลังจากที่ในรอบปีที่ผ่านมา ต่างชาติได้สูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อไทยไปมาก

ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในครั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายหลักไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ การอนุวัติข้อผูกพันภายใต้กฎบัตรอาเซียน การฟื้นฟูอาเซียนให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการเสริมสร้างการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์สำหรับประชาชนทุกคนในภูมิภาค และสำหรับเอกสารหลักของการประชุมสุดยอดในครั้งนี้คือ การลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแผนงานสำหรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

ไทยได้รับหน้าที่เป็นประธานอาเซียน มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และจะมีวาระถึงสิ้นปีนี้ โดยในช่วงที่ไทยเป็นประธาน จะมีการจัดประชุมสุดยอดในไทย 2-3 ครั้ง นอกจากนี้ จะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีอีกหลายครั้ง จึงนับเป็นโอกาสทองของไทย ที่จะพลิกฟื้นบทบาทนำของไทยในอาเซียน ซึ่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ บทบาทนำของไทยในอาเซียนได้ลดลง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น จึงทำให้ “โอกาส” กลายเป็น “วิกฤติ” โดยไทยได้กลายเป็นตัวตลกในเวทีระหว่างประเทศ เพราะได้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการประชุมไม่รู้กี่ครั้ง จนทำให้ในที่สุด การประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจาต้องเลื่อนไปเป็นเดือนเมษายน สถานที่จัดประชุมก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนเป็นเรื่องตลกระหว่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลสมชาย ก็หนีคนเสื้อเหลืองไปจัดที่เชียงใหม่ พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตอนแรกว่าจะกลับมาจัดที่กรุงเทพ แต่ก็กลัวเสื้อแดง จึงจะหนีไปจัดที่ภูเก็ต แต่ในที่สุด ก็มาจัดที่หัวหินแทน

กฎบัตรอาเซียน

คำขวัญหรือสโลแกนของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ “กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน” โดยทางรัฐบาลไทยได้บอกว่า คำขวัญดังกล่าว นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของการที่กฎบัตรอาเซียน ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของอาเซียนจะมีผลบังคับใช้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์ต่างๆที่อาเซียน รวมทั้งคนไทยจะได้รับ จากข้อบทต่างๆของกฎบัตร

แต่ผมมองว่า กฎบัตรอาเซียนยังมีข้อบกพร่องหลายเรื่อง และผมไม่เห็นด้วยกับคำขวัญดังกล่าวว่า “กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน” ในตอนแรกที่จะมีการร่างกฎบัตร ผมมีความคาดหวังสูง โดยมองว่ากฎบัตรอาเซียนจะเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุด และจะเป็นการพลิกโฉมหน้า พลิกประวัติศาสตร์ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม กฎบัตรที่ได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีที่แล้ว กลายเป็นกฎบัตรที่ดูแล้วอ่อน และไม่มีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น กลายเป็นกฎบัตรที่สะท้อนสภาวะปัจจุบันของอาเซียน มากกว่าจะเป็น Blueprint หรือ Roadmap ของความร่วมมืออาเซียนในอนาคต

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมมองว่า “ กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน” นั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้เพราะในกฎบัตร ไม่มีการระบุถึงกลไกที่จะให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจในกิจกรรมของอาเซียนเลย

และถึงแม้จะมีการกำหนดกลไกสิทธิมนุษยชนไว้ในกฎบัตร แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกลไกดังกล่าว ผมจึงกลัวว่า ในขั้นตอนเจรจากำหนดรูปร่างหน้าตาของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังมีระบอบเผด็จการอย่างเช่น พม่า ลาว เวียดนาม ก็คงจะตัดแขนตัดขากลไกดังกล่าว จนในที่สุด คงจะไม่เหลืออะไร

กฎบัตรอาเซียนยังคงยึดหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศสมาชิก เป็นกฎเหล็กของอาเซียนต่อไป ทั้งๆที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันอย่างมากว่า หลักการดังกล่าว ควรจะมีความยืดหยุ่น และอาเซียนควรจะมีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศสมาชิกได้ หากเรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องภายใน ส่งผลกระทบต่ออาเซียนโดยรวม

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

เรื่องสำคัญของการประชุมสุดยอดในครั้งนี้คือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลีในปี 2003 ได้มีการจัดทำ Bali Concord II ขึ้น ซึ่งตกลงจะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น โดยจะมี 3 ประชาคมย่อย ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงนั้น ล่าสุดกำลังจะมีการลงนามรับรอง Blueprint ของประชาคมการเมืองและความมั่นคง ในการประชุมสุดยอดที่หัวหิน โดยประชาคมจะเน้นการเสริมสร้างกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง แต่ผมมองว่า จุดอ่อนของประชาคมอาเซียนคือ กลไกดังกล่าวมีลักษณะมุ่งเน้นการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐ แต่ในปัจจุบันและในอนาคต ความขัดแย้งส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในรัฐ แต่มีลักษณะข้ามชาติ กลไกอาเซียนจึงไม่มีประสิทธิภาพรองรับต่อความขัดแย้งในรูปแบบใหม่

จุดอ่อนอีกประการของประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนคือ ความร่วมมือทางทหารที่เบาบางมาก เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่อาเซียนก่อตั้งมา 40 กว่าปีแล้ว แต่ไม่มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเลย ก็เพิ่งจะมีการประชุมครั้งแรกเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ดังนั้นหากอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือทางทหารอย่างจริงจัง การพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมความมั่นคงอย่างแท้จริงก็คงจะไม่เกิดขึ้น

การจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนอย่างแท้จริง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ เพราะยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งกรณีพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศสมาชิกยังมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังคงกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหาร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเป็นศัตรู

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สำหรับประชาคมเศรษฐกิจนั้น ได้มีการจัดทำแผนงานหรือ Blueprint ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว โดยประชาคมเศรษฐกิจตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นตลาดร่วมภายในปี 2015 แต่ถ้าดูตามทฤษฎีแล้ว ตลาดร่วมอาเซียนจะเป็นตลาดร่วมที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ เพราะตามทฤษฎี ตลาดร่วมจะต้องมี 4 เสรี คือเสรีการค้าสินค้า เสรีการค้าภาคบริการ เสรีในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ขณะนี้ อาเซียนพร้อมเพียงแค่เปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการเท่านั้น แต่อาเซียนยังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีด้านเงินทุนและแรงงาน

การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาใหญ่คือช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ประเทศอาเซียนยังคงมองประเทศสมาชิกอื่นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาเซียนยังมีปัญหาบูรณาการในเชิงลึกคือ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อาเซียนจะจัดตั้งตลาดร่วมอย่างสมบูรณ์แบบ และอาเซียนยังมีปัญหาบูรณาการในเชิงกว้างด้วย คือ ถึงแม้อาเซียนจะรวมตัวกันอย่างเข้มข้นแค่ไหน หรือในเชิงลึกแค่ไหน แต่อาเซียนก็ยังเป็นกลุ่มของประเทศเล็กๆ 10 ประเทศเท่านั้น อาเซียนจึงกำลังถึงทางตันในบูรณาการในเชิงกว้างด้วย

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community เรียกย่อว่า ASCC ล่าสุดกำลังจะมีการลงนามรับรอง Blueprint ของ ASCC ในการประชุมสุดยอดที่หัวหิน ASCC ให้ความสำคัญกับ 5 เรื่องด้วยกันได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการประชาธิปไตย หลายประเทศสมาชิกยังเป็นเผด็จการ จึงทำให้ความร่วมมือของอาเซียนในเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถึงแม้ในกฎบัตรอาเซียนจะระบุไว้ในมาตรา 14 ว่า จะมีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้น แต่ผมเกรงว่า อำนาจหน้าที่ของกลไกนี้ จะถูกตัดทอนลงจนไม่มีประสิทธิภาพ

และเป้าหมายของ ASCC ในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ก็ดูจะเป็นความฝัน เพราะจริงๆแล้ว แต่ละประเทศสมาชิกยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในเรื่องระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติ

ดังนั้น การจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2015 จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนยังมีปัญหาในด้านสังคมและวัฒนธรรมอีกมาก ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการขาดอัตลักษณ์ร่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประชาชนอาเซียนยังมีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปัญหาการทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และปัญหาที่ประชาชนไม่มีความรู้เรื่องอาเซียน

วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 22 วันศุกร์ที่ 20 - วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552


ในช่วงปลายเดือนนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยเรื่องที่สำคัญของการประชุมคือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ภูมิหลัง

แผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลีปี 2003 โดยได้มีการจัดทำ Bali Concord II ซึ่งกำหนดจะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 (แต่ต่อมาร่นมาเป็นปี 2015) โดยประชาคมอาเซียนจะมี 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community เรียกย่อว่า ASCC ต่อมาในปี 2004 ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการหรือ Plan of action ขึ้น ล่าสุดอาเซียนกำลังจัดทำแผนงานหรือ Blueprint ของ ASCC โดยจะมีการลงนามรับรอง Blueprint ในการประชุมสุดยอดที่หัวหินปลายเดือนนี้ ผมจะใช้ร่าง Blueprint เป็นหลักในการวิเคราะห์

สำหรับ ASCC นั้น มีเป้าหมายหลักที่จะทำให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและก่อให้เกิดเอกภาพ โดยเสริมสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน และทำให้เกิดเป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่และสวัสดิการของประชาชนดีขึ้น ASCC ให้ความสำคัญกับ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เรื่องแรกที่ ASCC ให้ความสำคัญคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นการศึกษาให้เป็นวาระของอาเซียน การสร้างสังคมความรู้ โดยส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสริมสร้างทักษะในการประกอบการ สำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

สวัสดิการสังคม

ASCC จะส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยลดความยากจนและส่งเสริมการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม เน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสังคมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) ในการกำจัดความยากจนและความหิวโหย และ ASCC จะให้ความมั่นใจว่า ประชาชนอาเซียนทุกคนมีอาหารพอเพียงตลอดเวลา และให้ความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหาร เน้นการเข้าถึงการรักษาสุขภาพ การบริการทางการแพทย์ และยาที่เพียงพอและราคาถูก รับประกันอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด และพร้อมรับกับภัยพิบัติและประชาคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

สิทธิมนุษยชน

ในร่าง Blueprint ของ ASCC ได้กล่าวว่า อาเซียนมีพันธกรณีในการส่งเสริมความยุติธรรม และสิทธิของประชาชน โดยเน้นการปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานการดำรงชีวิตสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

เกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนนี้ ผมมีความเห็นว่า Blueprint ของ ASCC ควรให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ โดยน่าจะครอบคลุมถึงเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการติดต่อในระดับประชาชนต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการประชาธิปไตย หลายประเทศสมาชิกยังเป็นเผด็จการ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบจริงๆก็มีเพียงไม่กี่ประเทศ จึงทำให้ความร่วมมือของอาเซียนในเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าในกฎบัตรอาเซียนจะระบุไว้ในมาตรา 14 ว่า จะมีการจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้นมา แต่ผมเกรงว่าในที่สุด อำนาจหน้าที่ของกลไกนี้ จะถูกตัดทอนลง จนไม่มีประสิทธิภาพ

สิ่งแวดล้อม

ในร่าง Blueprint ของ ASCC ได้กล่าวว่า อาเซียนจะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสะอาด โดยการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติ อนุรักษ์ดิน น้ำ แร่ธาตุ และพลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศ และอาเซียนจะมีส่วนร่วมในความพยายามของโลก ในการจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและคุ้มครองชั้นโอโซน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า เป้าหมายของ ASCC ดูจะสวยหรูเกินความเป็นจริง เพราะความร่วมมือในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นสิ่งท้าทายความร่วมมือของอาเซียนเป็นอย่างมาก

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า นับเป็นปัญหาใหญ่ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียป่าไป 1.04% ต่อปี สำหรับปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็มีปัญหาหลายเรื่องด้วยกัน ระบบนิเวศของปะการังถูกทำลายไปแล้ว 80% นอกจากนี้ ยังมีปัญหาพืชและสัตว์กำลังจะสูญพันธุ์ รวมทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำก็กำลังลดถอยลงเป็นอย่างมาก สำหรับปัญหามลพิษในอากาศและน้ำนั้น ปัญหาใหญ่คือ ปัญหาควันไฟป่าจากอินโดนีเซีย สำหรับปัญหาภาวะโลกร้อน ก็ส่งผลกระทบ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวน 2 ตันต่อคนต่อปี

ถึงแม้ว่าอาเซียนจะได้ประกาศมาตรการต่างๆในการแก้ปัญหาวิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ปรากฎอยู่ใน Blueprint ของ ASCC แต่ในทางปฏิบัติ ผมเกรงว่า อาเซียนคงจะประสบปัญหาหลาย เรื่อง โดยเฉพาะปัญหาการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆในประเทศสมาชิกที่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา

การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

เรื่องสุดท้ายที่ ASCC ให้ความสำคัญคือ การสร้างอัตลักษณ์ของเซียน โดยจะเน้นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมและส่งเสริมความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และอารยธรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่เป็นหนึ่งเดียว และค้นหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน และสร้างอาเซียนที่มีประชาชนเป็นแกนนำ โดยสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคม

ผมมองว่า เป้าหมายของ ASCC ในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนข้างต้น ดูจะเป็นความฝัน เพราะจริงๆแล้ว จุดอ่อนของอาเซียนเรื่องหนึ่งก็คือ แต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในเรื่องของระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนาและเชื้อชาติ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของอาเซียนคือ จะทำอย่างไรที่จะสร้างประชาคม โดยมีอัตลักษณ์ร่วมกันอย่างแท้จริง

อุปสรรค

กล่าวโดยสรุป การจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน อย่างแท้จริงในปี 2015 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนยังมีปัญหาเรื่องสังคมวัฒนธรรมอีกมาก ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประชาชนยังมีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปัญหาช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ปัญหาการทำให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และปัญหาที่ประชาชนไม่มีความรู้เรื่องอาเซียน

สุดท้าย ผมอยากจะเสริมว่า ใน Blueprint ของ ASCC น่าจะมีหัวข้อเพิ่มขึ้นมา 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ASCC กับประเทศนอกภูมิภาค

สำหรับเรื่องการทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น ควรจะมีการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคประชาสังคม ในการสร้าง ASCC ควรมีการจัดตั้งกลไกอาเซียนที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ในลักษณะ “สภาที่ปรึกษาอาเซียน” (ASEAN Consultative Council) และควรมีมาตรการส่งเสริม Track III ของอาเซียนหรือ Track ของภาคประชาสังคมของอาเซียนอย่างจริงจัง

สำหรับความสัมพันธ์ของ ASCC กับประเทศนอกภูมิภาคนั้น ใน Blueprint ควรมีการกล่าวถึง ASCC+1 คือ ความสัมพันธ์ทางด้านสังคมวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา นอกจากนี้ ในกรอบอาเซียน+3 ควรมีการต่อยอดเป็น ASCC+3 โดยเป็นการต่อยอดจากประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ให้พัฒนาไปเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน

ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน
ไทยโพสต์ วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 หน้า 4

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยเรื่องที่สำคัญของการประชุมคือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน ซึ่งมีประเด็นสำคัญๆดังนี้

ภูมิหลัง

แนวคิดเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี ในปี 2003 โดยได้มีการจัดทำ Bali Concord II ซึ่งตกลงกันว่าจะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 (แต่ต่อมาร่นมาเป็นปี 2015) โดยประชาคมอาเซียนจะมี 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมวัฒนธรรม

สำหรับประชาคมการเมืองความมั่นคงนั้น ต่อมาในปี 2004 ได้มีการจัดทำ แผนปฏิบัติการ หรือ Plan of action ขึ้น ซึ่งมีการบรรจุมาตรการต่างๆเพื่อไปสู่การจัดตั้งประชาคม และล่าสุด อาเซียนกำลังมีการจัดทำแผนงานหรือ Blueprint ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่า Plan of action โดยกำลังจะมีการลงนามรับรอง Blueprint ในการประชุมสุดยอดที่หัวหินปลายเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ร่าง Blueprint ขณะนี้ ยังไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน ผมจึงจะใช้เอกสาร Plan of action เป็นหลักในการวิเคราะห์ ซึ่งคาดว่าประเด็นหลักๆใน Blueprint และใน Plan of action คงจะไม่ต่างกัน

ใน Plan of action ได้แบ่งเรื่องหลักๆในการสร้างประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน คือเรื่องการพัฒนาทางการเมือง การพัฒนาบรรทัดฐาน กลไกป้องกันความขัดแย้ง กลไกแก้ไขความขัดแย้ง

ซึ่งในประเด็นนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า คำนิยามและรูปร่างหน้าตาของประชาคมความมั่นคงอาเซียนนั้น ที่ได้รับการให้คำนิยามจากรัฐบาลของอาเซียนนั้น แตกต่างไปค่อนข้างมากจากคำนิยามของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องประชาคมความมั่นคง ซึ่งสำหรับทฤษฎีประชาคมความมั่นคงในแวดวงวิชาการนั้น มีหลายประเด็นที่แตกต่างจากคำนิยามของประชาคมอาเซียน โดยประเด็นหลักที่นักวิชาการให้ความสำคัญคือ ประชาคมความมั่นคงจะต้องมีการกำหนดนโยบายร่วมกัน การรับรู้ถึงภัยคุกคามร่วมกัน มีอัตลักษณ์ร่วม มีความร่วมมือทางทหาร มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และมีสถาบันที่เป็นทางการ ประเด็นต่างๆเหล่านี้ แตกต่างจากประชาคมความมั่นคงอาเซียนที่รัฐบาลอาเซียนได้กำหนดขึ้นมาเอง

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญคือ กลไกการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งของประชาคมอาเซียน มีลักษณะมุ่งเน้นแก้ความขัดแย้งระหว่างรัฐ แต่โลกในยุคปัจจุบัน ความขัดแย้งส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในรัฐ แต่มีลักษณะข้ามชาติ ดังนั้น กลไกอาเซียนจึงอาจจะไม่มีประสิทธิภาพรองรับกับความขัดแย้งในรูปแบบใหม่

การพัฒนาทางการเมือง

ประเด็นที่ Plan of action ให้ความสำคัญคือ เรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการติดต่อในระดับประชาชนต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง อาเซียนยังมีปัญหามากมายเกี่ยวกับพัฒนาการประชาธิปไตย หลายประเทศสมาชิกยังเป็นเผด็จการ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบก็มีเพียงไม่กี่ประเทศ นอกจากนี้ ถึงแม้ในกฎบัตรอาเซียนจะระบุว่า จะมีการจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมา แต่ผมเกรงว่า ในที่สุด อำนาจหน้าที่ของกลไกนี้ จะถูกตัดทอนลง จนกลายเป็นแค่เสือกระดาษ

การพัฒนาบรรทัดฐาน

อีกเรื่องหนึ่งที่ Plan of action ให้ความสำคัญคือ การพัฒนาบรรทัดฐาน คือกฎเกณฑ์ ข้อตกลงต่างๆของอาเซียน ขณะนี้ ข้อตกลงหลักๆของอาเซียนมี สนธิสัญญาสมานฉันท์และความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation) กฎบัตรอาเซียน สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความตกลงการต่อต้านการก่อการร้ายของอาเซียน

ในอนาคต ผมมองว่า อาเซียนคงจะต้องพัฒนาขยายการทำสนธิสัญญาและข้อตกลงให้ครอบคลุมในด้านต่างๆต่อไป โดยผมอยากจะให้มองสหภาพยุโรป วิวัฒนาการของสหภาพยุโรปที่เป็นมาโดยตลอด ตั้งแต่การจัดตั้งประชาคมยุโรป ก็มีสนธิสัญญารองรับ ต่อมา การจัดตั้งสหภาพยุโรปก็มีสนธิสัญญา Maastricht อาเซียนควรจะดูตัวอย่างจากยุโรป และควรพัฒนาความร่วมมือในอนาคต โดยมีสนธิสัญญารองรับ

การป้องกันความขัดแย้ง

ประชาคมความมั่นคงอาเซียน จะเน้นในการสร้างกลไกป้องกันความขัดแย้ง ซึ่งกลไกที่สำคัญคือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกย่อว่า CBM (Confidence building measures) หรือมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การจัดประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน การจดทะเบียนการซื้อขายอาวุธในอาเซียน (ASEAN arms register) และการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม การพัฒนามาตรการเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และผมไม่แน่ใจว่า จะทันในปี 2015 หรือไม่ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนนั้น ยังมีความร่วมมือที่เบาบางมาก และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริง ที่อาเซียนก่อตั้งมา 41 ปีแล้ว แต่ไม่มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเลย ก็เพิ่งจะมีประชุมครั้งแรกเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง การประชุมที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพปลายเดือนนี้ ก็จะเป็นการประชุมครั้งที่ 3 เท่านั้น ดังนั้น หากอาเซียนยังไม่มีความร่วมมือทางทหารอย่างจริงจัง การพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมความมั่นคงอาเซียนอย่างแท้จริง ก็คงจะไม่เกิดขึ้น

การแก้ไขความขัดแย้ง

อีกเรื่องหนึ่งที่ Plan of action กล่าวถึงคือ การพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งมีการระบุถึงกลไกต่างๆที่จะเป็นการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม มีกลไกหนึ่งที่สหประชาชาติใช้อย่างได้ผลคือ กองกำลังรักษาสันติภาพ (peace keeping force) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า อาเซียนควรมีการจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของอาเซียนหรือไม่ อินโดนีเซียดูจะผลักดันเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่ก็มีหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ยังมีระบอบเผด็จการในอาเซียน ยังคงหวาดระแวงว่า กองกำลังรักษาสันติภาพอาเซียน อาจเป็นกลไกที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน โดยเฉพาะการเข้ามาทำให้ระบอบเผด็จการของตนสั่นคลอนลง ดังนั้น ขณะนี้ อาเซียนจึงไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องนี้ แต่ผมมองว่า เราควรผลักดันการจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของอาเซียนให้เกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นกลไกในการรักษาสันติภาพในอาเซียนแล้ว ยังจะทำให้อาเซียนมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในกรอบของการส่งกองกำลังอาเซียนเข้าร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ

เรื่องสุดท้ายที่เราควรให้ความสำคัญคือ การกำหนดความสัมพันธ์ของประชาคมอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีหลายระดับ ระดับแรกเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะอาเซียน+1 คือความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรอาเซียนจะทำให้เกิดดุลยภาพแห่งอำนาจในภูมิภาคขึ้น และทำอย่างไรประชาคมความมั่นคงอาเซียนจึงจะกลายเป็นแกนหลักของสถาบันความมั่นคงในภูมิภาค อาเซียนจะต้องพยายามเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจให้ดี โดยไม่ไปใกล้ชิดกับมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งมากเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์ของประชาคมอาเซียนในกรอบอาเซียน+3 อีก ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป้าหมายระยะยาวคือ การพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ผมมองว่าการพัฒนาตรงนี้ น่าจะเป็นการต่อยอดไปจากประชาคมความมั่นคงอาเซียน ขยายออกไปเป็นประชาคมความมั่นคงเอเชียตะวันออก ซึ่งอาจจะเป็นเป้าหมายในระยะยาว

สำหรับความสัมพันธ์ของอาเซียนในอีกกรอบหนึ่งคือ East Asia Summit ซึ่งเป็นกรอบอาเซียน+6 ผมมองว่า กรอบนี้ วัตถุประสงค์หลักคือ การดึงเอาอีก 3 ประเทศเข้ามา คือ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อถ่วงดุลจีน แต่ก็กำลังจะเป็นดาบสองคม เพราะอาเซียน+6 กำลังจะเป็นตัวทำลายการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก เพราะในอนาคตอาจจะมีสหรัฐเข้ามาเป็นสมาชิกอีก ซึ่งจะทำให้อัตลักษณ์ร่วมของประชาคมเอเชียตะวันออกพังทลายลง ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้อาเซียนพัฒนาความสัมพันธ์ในกรอบนี้ให้เข้มข้นขึ้น อาเซียนไม่ควรเพิ่มความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองความมั่นคงในกรอบนี้

สำหรับกรอบสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงคือ ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งผมเห็นว่ายังมีประโยชน์อยู่ แต่ประชาคมความมั่นคงอาเซียนจะต้องเล่นบทบาทนำใน ARF ต่อไปให้ได้

อุปสรรค

สุดท้ายผมอยากกล่าวว่า การจัดตั้งประชาคมความมั่นคงอาเซียนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ เพราะยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กรณีพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศสมาชิกยังมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังคงกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหาร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเป็นศัตรู หากอาเซียนแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ การจัดตั้งประชาคมความมั่นคงอาเซียนอย่างแท้จริง ก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่3)

นโยบายต่างประเทศของ Obama : ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่ 3)
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2552 หน้า 4

ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ภายหลังการสาบานตน ซึ่งนับเป็นสุนทรพจน์แรกของ Obama และนับเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์

ในด้านนโยบายต่างประเทศ ในสุนทรพจน์ดังกล่าว Obama ได้ประกาศต่อประชาคมโลกว่า สำหรับประชาชนทุกคนและทุกรัฐบาล ที่เฝ้าดูการกล่าวสุนทรพจน์ ควรจะรู้ว่า อเมริกาจะเป็นมิตรกับทุกประเทศและกับทุกคน โดยเฉพาะทุกคนที่แสวงหาอนาคตสำหรับสันติภาพและเกียรติภูมิ และอเมริกาก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำของประชาคมโลกอีกครั้งหนึ่ง

Obama กล่าวว่า ชัยชนะของอเมริกาต่อลัทธิ Fascism และ Communism นั้น ไม่ได้มาจากการใช้อาวุธ แต่มาจากอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น และพันธมิตรที่เหนียวแน่น ชาวอเมริกันในยุคนั้น เข้าใจดีว่า อำนาจอย่างเดียวไม่สามารถปกป้องสหรัฐได้ อเมริกาไม่มีสิทธิ์จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ อำนาจต้องมีความชอบธรรม ความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐจะเกิดขึ้น จากเป้าหมายที่มีความชอบธรรม

Obama จึงได้กล่าวว่า หากเราใช้หลักการข้างต้นที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มานำทาง เราก็จะสามารถเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆได้ ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศและความเข้าใจระหว่างประเทศ สหรัฐก็จะปลดปล่อยประเทศอิรักกลับไปสู่ชาวอิรัก ผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ลดภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ และแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

Obama พยายามฉายภาพให้เห็นว่า สหรัฐจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอารยธรรมได้ โดยเชื่อว่า ความขัดแย้งในรูปแบบเก่า กำลังจะหมดไป โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติศาสนา และเมื่อโลกกำลังจะเล็กลงเรื่อยๆ ความเป็นมนุษยชาติร่วมกันก็จะชัดเจนขึ้น Obama จึงได้กล่าวกับโลกมุสลิมว่า อเมริกาหวังว่า จะแสวงหาหนทางที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และความเคารพซึ่งกันและกัน ในตอนท้าย Obama ได้กล่าวถึงประชาชนในประเทศยากจนว่า อเมริกามุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนยากจนทั่วโลก

นั่นคือ การขายฝันให้กับชาวอเมริกันและชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่ยากกว่าการขายฝันคือการสานฝันให้เป็นจริง

ในโลกแห่งคววามเป็นจริง มันคงเป็นสิ่งไม่ใช่ง่ายเลย ที่ Obama จะสานฝันให้เป็นจริง ยุคสมัยที่อเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก กำลังจะหมดไป ระบบหนึ่งขั้วอำนาจกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ดังนั้น Obama จึงจะประสบความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆในการจะผลักดันนโยบายของเขาให้เป็นจริง ยุคสมัยที่อเมริกาจะผูกขาดอำนาจและทุกสิ่งทุกอย่างในโลกกำลังจะหมดไป

การบ้านชิ้นใหญ่ที่สุดของ Obama คือ การกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะในขณะนี้ วิกฤติการเงินโลก ยังไม่หยุดแต่กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่แนวโน้มของกระแสการปกป้องทางการค้าและการลงทุน การเสื่อมลงของสถาบันการเงินโลก บทบาทที่ตกต่ำลงของเงินดอลลาร์ และความยากลำบากในการปฏิรูประบบการเงินโลก

การบ้านชิ้นใหญ่อีกอันหนึ่งของ Obama คือ นโยบายต่อตะวันออกกลาง ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้ประกาศจะถอนทหารออกจากอิรัก และเราคงจะเริ่มเห็น Obama ค่อยๆถอนทหารออกจากอิรัก แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มากว่า หลังจากนั้น สถานการณ์ของอิรักจะเป็นอย่างไร

ที่หนักไปกว่านั้นคือ สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ซึ่งจะเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ต่อ Obama เหมือนกับ Obama กำลังเดิมพันความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศของเขา ด้วยการประกาศว่า อัฟกานิสถานคือแนวรบที่สำคัญที่สุดในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สงครามในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งท้าทาย ต่อสหรัฐและ NATO เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ถึงแม้ Obama จะพยายามส่งสัญญาณต่อโลกมุสลิมว่า สหรัฐจะปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่ แต่สำหรับชาวมุสลิมจำนวนมาก บททดสอบของนโยบาย Obama คงจะมีหลายเรื่องทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bush ก็เข้าข้างอิสราเอลอย่างออกนอกหน้า แต่สำหรับ Obama น่าจะเพิ่มแรงกดดันให้อิสราเอลประนีประนอมกับปาเลสไตน์มากขึ้น แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่า Obama จะประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง

บททดสอบอีกเรื่องหนึ่งสำหรับโลกมุสลิมคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ซึ่งตามที่ Obama ประกาศ ก็คงจะเป็นความพยายามใช้การเจรจาทางการทูตและปฏิสัมพันธ์กับอิหร่าน เพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

สำหรับเอเชียนั้น คงจะไม่ค่อยมีความสำคัญนักในสายตาของ Obama ที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่คือความสัมพันธ์กับจีน โดยเฉพาะขณะนี้ จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและอิทธิพลของจีนกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน จึงถือเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล Obama

ดังนั้น ความคาดหวังของชาวโลกต่อรัฐบาล Obama ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้นนั้น จึงอาจจะเป็นการคาดหวังที่เกินเลยจากความเป็นจริง เพราะมันเป็นสิ่งยากเหลือเกิน หรือในบางเรื่องอาจจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำให้ความคาดหวังของชาวโลกเป็นจริง เราคงต้องยอมรับโลกแห่งความเป็นจริงว่า สันติภาพในตะวันออกกลาง คงจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ การเจรจาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ก็จะยังคงหาข้อยุติไม่ได้ เช่นเดียวกับการเจรจา WTO รอบ Doha ก็ยังจะหาข้อยุติไม่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็คงจะยังมีอยู่อีกต่อไป

ข้อจำกัดที่สำคัญยิ่งต่อ Obama ในการเดินหน้าสานฝันนโยบายต่างประเทศคือ วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ ซึ่งคงจะทำให้ Obama ใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และ Obama คงจะไม่มีเวลาเหลือในการที่จะแก้ปัญหาสำคัญของชาวโลก

ข้อจำกัดประการที่ 2 ของ Obama คือปัญหาต่างๆ วิกฤติต่างๆที่จะประดังเข้ามา ทำให้ตั้งตัวไม่ติด โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอิรัก อิหร่าน ซึ่งในกรณีของอิหร่าน Obama อาจจะต้องเลือกระหว่างการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน หรือเลือกอยู่กับอิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์ สงครามในอัฟกานิสถานก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และอาจจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว นำไปสู่การจลาจลวุ่นวายทางการเมือง

ข้อจำกัดที่ 3 ที่ Obama ต้องเผชิญคือ แนวโน้มในระบบโลก ยุคสมัยแห่งโลกหนึ่งขั้วอำนาจกำลังเปลี่ยนไป อำนาจทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ กำลังมีการกระจายตัวมากขึ้น นำไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งหมายความว่า จะมีประเทศต่างๆที่จะเป็นอิสระจากสหรัฐ และต่อต้านสหรัฐ และนโยบายของสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญยิ่งที่ Obama จะผลักดันนโยบายต่างประเทศให้บรรลุเป้าหมายได้

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่2)

นโยบายต่างประเทศของ Obama : ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่ 2)
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2552 หน้า 4

Obama กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ คาดกันว่า รัฐบาล Obama จะปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ได้วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของ Obama ในตอนที่ 1 ไปแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อในตอนที่ 2 ซึ่งจะเน้นนโยบายต่างประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีเรื่องใหญ่ๆดังนี้

นโยบายการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก

ขณะนี้ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือ วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ปีที่แล้ว วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก รัฐบาล Bush ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G 20 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ผลการประชุมก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะไม่ได้มีลักษณะเป็นการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง คาดว่าในปีนี้ วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะยังคงลุกลามขยายตัวต่อไป และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ความล้มเหลวของการประชุม G 20 สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีของรัฐบาล Bush ซึ่งบริหารประเทศได้ในอีกไม่กี่วัน ในขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่คือ Obama กลับไม่ได้มีบทบาทในการประชุม จึงมีการคาดหวังกันมากว่า รัฐบาล Obama คงจะมีท่าทีที่แตกต่างจากรัฐบาล Bush แต่เราคงจะต้องรอถึงเดือนเมษายน จึงจะเห็นท่าทีของรัฐบาล Obama อย่างชัดเจน ในการประชุมสุดยอด G 20 ครั้งหน้าว่า จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูประบบการเงินโลกได้มากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น การบ้านใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาล Obama คือ การผลักดันนโยบายการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก และโดยเหตุที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ จุดกำเนิดมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ดังนั้น รัฐบาล Obama จึงมีพันธกรณีอย่างสำคัญยิ่ง ที่จะต้องเล่นบทบาทการกอบกู้วิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ โดย Obama คงจะต้องร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ ในการแสวงหามาตรการร่วมกัน ในการจัดการกับการไหลเวียนของเงินทุน พัฒนากฎเกณฑ์เพื่อความโปร่งใสในระบบการเงิน และปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างจริงจัง

มาตรการที่สำคัญที่สุดในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกคือ จะต้องมีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง อย่างถอนรากถอนโคน ไม่ว่าจะเป็นกลไกในการตรวจสอบระบบการเงินโลก การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการปฏิรูปสถาบันการเงินโลก

Obama คงจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากในการปฏิรูปสถาบันการเงินโลก โดยเฉพาะการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก ที่ผ่านมา IMF มีปัญหามากในเรื่องของระบบธรรมาภิบาล IMF ไม่มีธรรมาภิบาลในกลไกบริหารจัดการ เพราะมีการจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับสหรัฐและยุโรป และสหรัฐเป็นประเทศเดียวที่มี veto power ผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดโดยคนยุโรป ในขณะที่ ประธานธนาคารโลก ก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาโดยตลอด

ที่ผ่านมา สหรัฐต่อต้านการปฏิรูประบบการเงินโลกมาโดยตลอด เราก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาล Obama ซึ่งมีแนวนโยบายเปิดกว้าง อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจังในอนาคตได้

นโยบายการค้า

วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกโดยรวม โดยจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าในปีนี้ ปริมาณการค้าจะหดตัวซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1982

ในสหรัฐ ก็มีแนวโน้มที่น่ากลัวของกระแสปกป้องทางการค้า ขณะนี้สภาคองเกรส ซึ่งมีพรรค Democrat ครองเสียงข้างมาก และรัฐบาลใหม่คือรัฐบาล Obama ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรค Democrat ที่มีชื่อเสียงในแนวนโยบายปกป้องทางการค้า มีแนวโน้มว่ารัฐบาล Obama จะมาช่วยอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐ และจะมีมาตรการในการให้เงินอุดหนุน ซึ่งจะเป็นนโยบายปกป้องทางการค้าทางอ้อม นอกจากนี้ การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน ก็อาจจะเป็นประเด็นสำคัญนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้

พรรค Democrat มักมีนโยบายปกป้องทางการค้า ทั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค ชนชั้นแรงงานมักจะได้รับผลกระทบตกงานจากการเปิดเสรีทางการค้า

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศจุดยืนหลายครั้ง ในเรื่องนโยบายการค้า โดยถึงแม้ในภาพรวมจะบอกว่าสนับสนุนการค้าเสรี แต่ก็ได้กล่าวเป็นห่วงต่อแนวโน้มที่ FTA จะส่งผลกระทบในทางลบ ต่อการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม Obama ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับเขตการค้าเสรีอเมริกากลาง (Central American Free Trade Area: CAFTA) นอกจากนี้ Obama ยังมองว่า เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งเป็น FTA ระหว่างสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อคนงานอเมริกัน Obama ถึงกับประกาศกร้าวในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะพบปะกับผู้นำของแคนาดาและเม็กซิโก เพื่อที่จะหารือถึงการแก้ไขข้อตกลง NAFTA

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า นโยบายการค้าภายใต้รัฐบาล Obama คงจะชะลอการเจรจา FTA และจะมีนโยบายต่อต้านการค้าเสรีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

นโยบายต่อมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังมีการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เรียกย่อว่า BRIC ซึ่งย่อมาจาก Brazil, Russia, India, China ในอดีต กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกหรือกลุ่ม G 7 มีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็น 65%ของเศรษฐกิจโลก แต่ในอนาคต อาจจะภายในปี 2030 กลุ่มประเทศ BRIC จะผงาดขึ้นมา และมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับกลุ่ม G 7

ดังนั้น โจทย์ใหญ่อีกอันหนึ่งของรัฐบาล Obama ก็คือ จะมีนโยบายอย่างไรต่อมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ หากมองโลกในแง่ร้าย อาจจะมองว่า นโยบายของสหรัฐต่อมหาอำนาจใหม่ อาจจะมีลักษณะของความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมองโลกในแง่ดี ซึ่งน่าจะเป็นมุมมองของรัฐบาล Obama ซึ่งมีแนวนโยบายเสรีนิยมที่มองโลกในแง่ดี ก็น่าจะมองว่า อเมริกา คงจะต้องมีความร่วมมือกับประเทศเหล่านี้มากขึ้น

ดังนั้น จึงเป็นที่คาดว่า นโยบายของรัฐบาล Obama ต่อจีน ซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง คงจะมีแนวนโยบาย ที่จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับจีนมากขึ้น โดยคงจะมีความพยายามทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ที่จะดึงจีนให้มาเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจโลกของอเมริกา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาความขัดแย้งกันหลายเรื่องที่รัฐบาล Obama คงจะต้องหาทางแก้ไข โดยเฉพาะจุดยืนที่แตกต่างกันในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เรื่องการเจรจา WTO รอบ Doha และเรื่องค่าเงินหยวน

สำหรับนโยบายต่อรัสเซียนั้น คาดว่ารัฐบาล Obama คงจะต้องพยายามลดกระแสความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย และคงจะพยายามเพิ่มการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับรัสเซีย และพยายามที่จะให้รัสเซียร่วมมือกับสหรัฐในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงาน การค้า และการเงิน

สำหรับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งก็คือ อินเดีย ผมมองว่า รัฐบาล Obama คงจะเดินหน้าปฏิสัมพันธ์กับอินเดียในเชิงบวกมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะสหรัฐคงจะได้รับผลประโยชน์มากมาย หากดึงอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 21 วันศุกร์ที่ 13 - วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนที่หัวหิน และเรื่องที่สำคัญที่จะหารือกันคือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2015 คอลัมน์โลกทัศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์เกี่ยวกับรายละเอียดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนี้

ภูมิหลัง

แนวคิดเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2003 ในการประชุมสุดยอดบาหลีที่อินโดนีเซีย ได้มีการจัดทำ Bali Concord II ขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่า จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 (ต่อมาได้ร่นมาเป็นปี 2015) โดยประชาคมอาเซียนจะมี 3 เสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

สำหรับประชาคมเศรษฐกิจนั้น ในปี 2004 ได้มีการทำแผนปฏิบัติการ กำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งประชาคม และต่อมาเมื่อปี 2007 ได้มีการจัดทำแผนงานหรือ Blueprint ซึ่งมีรายละเอียดมากขึ้น เกี่ยวกับแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ผมจะใช้เอกสาร Blueprint มาวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ ดังนี้

ตลาดร่วมอาเซียน

ใน Blueprint ได้มีการพูดถึงการจะจัดตั้งตลาดร่วมอาเซียน โดยจะมี 5 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่

1. การไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า
2. การไหลเวียนอย่างเสรีของบริการ
3. การไหลเวียนอย่างเสรีของการลงทุน
4. จะให้มีการไหลเวียนที่มีความเสรีมากขึ้น สำหรับเงินทุน และ
5. การไหลเวียนเสรีสำหรับแรงงานมีฝีมือ

สำหรับการเปิดเสรีการค้าสินค้านั้น จะเน้นการลดภาษีลงให้เหลือ 0% และจะมีการขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญของการเปิดเสรีการค้า

สำหรับการเปิดเสรีการค้าบริการนั้น อาเซียนตั้งเป้าหมายว่า จะเปิดเสรีโดยเริ่มต้นจากสาขา 4 สาขาด้วยกัน ได้แก่ การขนส่งทางอากาศ E-ASEAN ด้านสุขอนามัยและการท่องเที่ยว ซึ่งจะเปิดเสรีให้ได้ภายในปี 2010 และหลังจากนั้น จะเปิดเสรีทุกสาขาที่เหลือภายในปี 2015 อย่างไรก็ตาม สาขาที่น่าจะมีปัญหาคือ การเปิดเสรีสาขาการเงิน โดยอาจจะต้องนำเอาสูตร ASEAN-X คือประเทศไหนพร้อมก็เปิดเสรีไปก่อน ส่วนประเทศไหนไม่พร้อมก็เข้ามาร่วมด้วยทีหลัง

สำหรับการเปิดเสรีด้านการลงทุนนั้น อาเซียนได้มีกรอบความตกลงในเรื่องการจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน หรือ ASEAN Investment Area (AIA) และภายใต้ Blueprint มีแผนที่จะทำความตกลงใหม่เรียกว่า ASEAN Comprehensive Investment Agreement ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการปกป้องการลงทุน การมีกฎระเบียบด้านการลงทุนที่มีความโปร่งใส ส่งเสริมอาเซียนให้เป็นเขตการลงทุนเดียว และเปิดเสรีระบอบการลงทุนของสมาชิกอาเซียน ที่จะนำไปสู่การลงทุนเสรีและเปิดกว้างภายในปี 2015

สำหรับในด้านการไหลเวียนของเงินทุนนั้น อาเซียนยังไม่สามารถตั้งเป้าหมายให้เสรี 100% ได้ จึงได้แค่ตั้งเป้าหมายให้การไหลเวียนของเงินทุนมีความเสรีมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับในด้านการไหลเวียนของแรงงานนั้น อาเซียนก็ยังไม่สามารถเปิดเสรี 100% ได้ Blueprint ได้แต่เพียงตั้งเป้าหมายเปิดเสรีเฉพาะแรงงานมีฝีมือเท่านั้น

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นตลาดร่วมภายในปี 2015 นั้น ถ้าดูตามทฤษฎีแล้ว จะเป็นตลาดร่วมที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะ ตามทฤษฎีแล้ว ตลาดร่วมจะต้องมี 4 เสรี คือ เสรีในการค้าสินค้า เสรีการค้าภาคบริการ เสรีในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ดังนั้น ในอนาคต อาเซียนคงจะต้องหารือว่า เราจะเป็นตลาดร่วมแบบไหน ถ้าเราต้องการเป็นตลาดร่วมอย่างแท้จริง ก็คงจะต้องมีการหารือกันถึงเรื่องการเปิดเสรีด้านเงินทุน และด้านแรงงาน ซึ่งคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

การลดช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน

ใน Blueprint ได้มีการกล่าวถึง Initiative for ASEAN Integration (IAI) ซึ่งมีมาตรการในการลดช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจนในอาเซียน ซึ่งหลังจากอาเซียนรับสมาชิกใหม่เข้ามา อาเซียนก็เหมือนแตกออกเป็น 2 ขั้ว คือ ประเทศพี่เก่า 6 ประเทศ ที่มีฐานะดีกว่า กับประเทศน้องใหม่ 4 ประเทศ ที่มีฐานะยากจน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ของอาเซียน ยังไม่มีเอกภาพ เพราะกลไกอาเซียนนั้น หลักๆ จะมี 2 กลไก คือ กลไกการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กับกลไกการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมักจะมีปัญหาขัดแย้งกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ปัญหาลดช่องว่าง คือ ในขณะที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจเน้น IAI แต่ในกรอบของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อปี 2001 ได้มีการจัดทำปฏิญญา เพื่อลดช่องว่างเหมือนกัน และดูเหมือนกับว่าทั้ง 2 กลไกนี้ ไม่ได้มีการประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ ล่าสุดผมก็ได้ข่าวมาว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นกลไกของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กำลังผลักดันการจัดทำ ASEAN Development Goals (ADG) ในลักษณะคล้ายๆ กับ Millennium Development Goals (MDG) ของ UN ผมจึงสงสัยว่า เรื่อง ADG จะอยู่ตรงไหนใน Blueprint ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน

ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่หลายกรอบด้วยกัน กรอบแรกคือ กรอบอาเซียน+1 ในขณะนี้ความสัมพันธ์ก็ราบรื่นดี โดยเฉพาะกับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และ EU โดยอาเซียนเน้นการเจรจา FTA กับประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐ ยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงควรมีการผลักดันการเจรจา FTA อาเซียน-สหรัฐ และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐขึ้นเป็นครั้งแรก

มิติที่สองคือความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ควรมีการผลักดัน ให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกขึ้น โดยจะเป็นการต่อยอดออกไปจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

อีกมิติหนึ่งคือ อาเซียนในเวทีโลก อาเซียนยังมีปัญหาอย่างมากให้การกำหนดท่าทีร่วมกันในเวทีโลก จะเห็นได้ว่า ท่าทีของอาเซียนใน WTO ก็ไปคนละทิศละทาง

เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง ที่มิติความสัมพันธ์อาเซียนกับมหาอำนาจเศรษฐกิจที่ผมกล่าวข้างต้น กลับแทบไม่ได้มีการกล่าวถึงเลยใน Blueprint

สหภาพอาเซียน

ใน Blueprint ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ได้มีการพูดว่า อาเซียนจะมีการพัฒนาเป็นอะไรภายหลังปี 2015 ผมขอเสนอความเห็นว่า อาเซียนน่าจะพัฒนาไปเป็นสหภาพอาเซียน (ASEAN Union) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ กับสหภาพยุโรปนั่นเอง โดยควรมีการพัฒนาระบบการเงินอาเซียนให้เป็นระบบเดียวกัน คือ ให้มีการจัดตั้งสหภาพการเงินอาเซียน หรือ ASEAN Monetary Union ซึ่งในระยะยาว จะพัฒนาไปเป็นเงินสกุลอาเซียน และจัดตั้งธนาคารกลางอาเซียนขึ้น นอกจากนี้ การที่จะเป็นสหภาพอาเซียนได้ อาเซียนจะต้องมีการกำหนดนโยบายร่วมที่เป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะนโยบายการค้า นโยบายอุตสาหกรรม นโยบายเกษตร และนโยบายต่างประเทศ

อุปสรรค

ที่กล่าวมาข้างต้น ในเรื่องของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและสหภาพอาเซียนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ เพราะยังมีอุปสรรคหลายประการ ปัญหาใหญ่ของอาเซียนคือ ช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ซึ่งยังคงมีความแตกต่างกันมาก ระหว่างประเทศรวยซึ่งเป็นสมาชิกเก่า เช่น สิงคโปร์ กับประเทศสมาชิกน้องใหม่ ที่ยังคงมีความยากจนอยู่มาก โดยเฉพาะลาว กัมพูชา และพม่า ประเทศอาเซียนยังคงมองประเทศสมาชิกอื่นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาเซียนยังมีปัญหาทั้งบูรณาการในเชิงลึกและในเชิงกว้าง ปัญหาบูรณาการในเชิงลึกคือ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งตลาดร่วมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ ในขณะที่ปัญหาบูรณาการในเชิงกว้าง ก็คือ ถึงแม้อาเซียนจะรวมตัวกันอย่างเข้มข้นแค่ไหน หรือในเชิงลึกแค่ไหน แต่อาเซียนก็ยังเป็นกลุ่มของประเทศเล็กๆ 10 ประเทศเท่านั้น อาเซียนจึงกำลังถึงทางตันในบูรณาการในเชิงกว้างด้วย

การประชุม World Economic Forum ปี 2009

การประชุม World Economic Forum ปี 2009
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 20 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552

ตามปกติแล้ว ในปีที่ผ่านๆมา การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมือง Davos ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จะเป็นการประชุมประจำปี เป็นที่รวมของนักธุรกิจบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ซึ่งมักจะเน้นในเรื่องของความสำเร็จของระบบทุนนิยมโลก แต่การประชุมในปีนี้ แตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะโลกกำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ระบบทุนนิยมโลกกำลังประสบกับวิกฤติครั้งใหญ่ เรื่องที่สำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องการพูดจากันเกี่ยวกับทางออกของวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่น่าสังเกตคือ ประธานธนาคารใหญ่ๆของตะวันตกแทบจะไม่ได้มาประชุม รวมทั้งทางฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ ก็แทบจะไม่ได้ส่งใครมาเลย อเมริกาคงจะรู้ตัวดีว่า ถ้ามา ก็คงจะถูกรุมโจมตีว่า อเมริกาคือต้นเหตุของวิกฤติคราวนี้

นาย Klaus Schwab ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานการประชุม WEF ได้กล่าวเปิดการประชุมเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยมองโลกในแง่ดีว่า สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่กับวิกฤติการเงินโลกนั้น กำลังเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ วิกฤติได้เป็นนาฬิกาปลุกให้เราต้องปฏิรูปสถาบันการเงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปแนวความคิดของเรา โดยวิกฤตินั้น น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่าน นำไปสู่การวางรากฐานใหม่ สำหรับโลกที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะมีความมั่งคั่งมากขึ้นในยุคหลังวิกฤติ โดยนาย Schwab ได้เสนอให้การประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ 5 ประการ

ประการแรกคือ ต้องสนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของกลุ่ม G 20 ในการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติ

วัตถุประสงค์ประการที่ 2 คือ จะต้องแน่ใจว่า เรามองโลกในลักษณะที่เป็นองค์รวมและเป็นระบบ

วัตถุประสงค์ประการที่ 3 จะต้องเริ่มกระบวนการในการปฏิรูปสถาบันการเงินโลกใหม่ ขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับความสลับซับซ้อนและแรงกดดันมากกว่าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสถาบันการเงินเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้น และเราจะต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอำนาจโลก จากตะวันตกไปตะวันออก และจากเหนือไปใต้

วัตถุประสงค์ประการที่ 4 จะต้องมีการปรับปรุงรากฐานทางจริยธรรมสำหรับธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจเป็นตัวแสดงทางสังคมที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ บทบาทของ WEF ตั้งแต่ 1971 ก็เน้นที่การที่ภาคธุรกิจจะต้องตอบสนองไม่ใช่แต่ผู้ถือหุ้น แต่ต้องตอบสนองต่อสังคมโดยรวม ในคำพูดของ Schwab คือ เราจะต้องเปลี่ยนจาก “ego capitalism” ไปสู่ “eco capitalism”

และวัตถุประสงค์ประการสุดท้ายคือ จะต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจโลกใหม่ กลไกตลาดจะต้องอยู่ในกรอบของการควบคุมตรวจสอบ

และนั่นก็คือสุนทรพจน์กล่าวเปิดการประชุมของประธาน WEF ซึ่งก็คงเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะหลังจากนั้น ตัวแทนของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจใหม่ก็ได้กล่าวโจมตีสหรัฐอย่างหนัก

นายกรัฐมนตรีของจีน Wen Jiabao ซึ่งเดินทางมาประชุม WEF เป็นครั้งแรก ได้กล่าวโจมตีสหรัฐอย่างหนัก โดยได้กล่าวว่าสาเหตุของวิกฤติได้เกิดมาจาก นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่เหมาะสม จากบางประเทศ และตัวแบบการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนคงหมายถึงสหรัฐนั่นเอง คงหมายถึงการออมที่ต่ำและการบริโภคที่สูงสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ และความล้มเหลวของการควบคุมตรวจสอบทางการเงิน

สำหรับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย Vladimir Putin ได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า การควบคุมตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ นำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินปัจจุบัน นอกจากนั้น Putin ยังโจมตีการที่โลกพึ่งพาเงินดอลลาร์มากเกินไป โดยกล่าวว่าการพึ่งพามากเกินไป ในการที่ดอลลาร์เป็นเงินสำรองเพียงสกุลเดียว ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก

ในขณะที่ทางผู้นำยุโรปก็ได้ผลักดันที่จะให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี นาง Angela Merkel ได้กล่าวในระหว่างการประชุม WEF เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ ให้มีลักษณะคล้ายๆกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และจะต้องมีการปฏิรูปหลักการทางด้านเศรษฐกิจใหม่ที่ Merkel เรียกว่า “กฎบัตรใหม่สำหรับระเบียบเศรษฐกิจโลก” ( a new charter for a global economic order) โดย Merkel ได้เสนอว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างองค์กรเศรษฐกิจโลกใหม่นั้น อาจจะเริ่มจากการประชุมสุดยอดของ G 20 ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุง London ในช่วงเดือนเมษายนนี้ และหลังจากนั้น ก็น่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของสหประชาชาติ ซึ่งในที่สุด จะมีการจัดตั้งสิ่งที่ Merkel เรียกว่า UN Economic Council หรือคณะมนตรีเศรษฐกิจของสหประชาชาติ ซึ่งจะมีบทบาทเหมือนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั่นเอง

ส่วน Angel Gurria เลขาธิการของ OECD ได้กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับการเงินและธุรกิจโลกใหม่ เราต้องการการควบคุมสอดส่องที่ดีขึ้น บรรษัทภิบาลและการประสานงานที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องการการกระชับความร่วมมือในระดับพหุภาคี โดยจะต้องมีการหาหนทางในการสร้างดุลยภาพระหว่างรัฐบาลและกลไกตลาด โดยมองว่า พลังอำนาจของกลไกตลาดจะมีบทบาทสำคัญในการขยายความมั่งคั่ง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ สถาบันพหุภาคีต่างๆ อาทิ OECD IMF WTO และธนาคารโลก ต่างก็มีบทบาทสำคัญ และหวังว่า การประชุม WEF ในครั้งนี้ จะสามารถพัฒนาแผนการการกระชับความร่วมมือกันได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายต่างๆจะได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลก แต่สหรัฐก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะต่อต้านการปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน รัฐมนตรีคลังคนใหม่คือนาย Geithner ก็ไม่ยอมเดินทางไปร่วมประชุม WEF โดยบอกว่าจะเน้นการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ โดยกำลังพยายามผลักดันเงินอัดฉีดก้อนใหม่มูลค่า 8 แสนล้านเหรียญ และเราก็คงจะต้องรอถึงเดือนเมษายน ที่จะเห็นประธานาธิบดี Obama เข้าร่วมการประชุม G 20 และตอนนั้นถึงอาจจะค่อยเห็นแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ

กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ว่าการประชุม World Economic Forum ในครั้งนี้ จะมีความพยายามอย่างยิ่งจากหลายฝ่ายในการที่จะปฏิรูประบบการเงินโลก แต่ในที่สุด คงจะขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐจะเอาหรือไม่ เพราะถึงแม้สหรัฐอาจจะแผ่วลงไปจากการเกิดวิกฤติ แต่สหรัฐก็ยังคงเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินมากที่สุดในโลก สหรัฐยังคงควบคุมสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะ IMF และธนาคารโลก

แต่โดยภาพรวมแล้ว สหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการปฏิรูประบบการเงินโลก โดยในสมัยประธานาธิบดี Bush ได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า การปฏิรูประบบการเงินโลก จะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ระบบกลไกตลาด และการค้าเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน ดังนั้น สหรัฐคงจะคัดค้านอย่างเต็มที่ต่อข้อเสนอการปฏิรูปที่จะเป็นการทำลายทุนนิยมแบบอเมริกัน

ประธานาธิบดี Obama (2)

ประธานาธิบดี Obama (2)
สยามรัฐสัปดาหวิจาณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 19 วันศุกร์ที่ 30 มกราคม - วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552

Barack Obama ก็ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว โดยในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา Obama ได้เข้าสู่พิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอย่างเป็นทางการ มีชาวอเมริกันเดินทางมาร่วมในพิธีที่กรุง Washington D.C. กว่า 2 ล้านคน และยังมีคนทั่วโลกอีกนับพันล้านคน ที่เฝ้าดูพิธีดังกล่าวทางโทรทัศน์อีกด้วย

หลังจากเข้ารับตำแหน่ง Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งสุนทรพจน์ดังกล่าว นับเป็นสุนทรพจน์แรกของ Obama ในฐานะประธานาธิบดี นับเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีต สุนทรพจน์ในตอนสาบานตนของประธานาธิบดีบางคน ได้กลายเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ ที่โดดเด่นมากคือ สุนทรพจน์ของ John F. Kennedy สำหรับสุนทรพจน์ของ Obama คงต้องรอให้ประวัติศาสตร์ตัดสินถึงคุณค่าของสุนทรพจน์ดังกล่าว แต่หลังจากผมฟังและอ่านดู ผมก็คิดว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีเยี่ยมอันหนึ่งทีเดียว จึงอยากจะเอามาสรุป วิเคราะห์ ในคอลัมน์โลกทรรศน์ ในวันนี้

Obama เปิดฉากสุนทรพจน์โดยไม่พูดพล่ามทำเพลงมาก คือตอกย้ำปัญหาที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งถือเป็นวิกฤติหนัก เหมือน Obama พยายามจะทำให้คนอเมริกันที่ฟังสุนทรพจน์ของเขา เตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับภาวะวิกฤติของประเทศ

Obama ได้กล่าวว่า ขณะนี้ เรากำลังอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติ ประเทศยังอยู่ในสภาวะสงคราม โดยเฉพาะกับเครือข่ายการก่อการร้ายสากล เศรษฐกิจของประเทศก็เจอมรสุมหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่รับผิดชอบของคนบางกลุ่ม และเป็นผลมาจากการล้มเหลวของสหรัฐ ในการที่จะตัดสินใจเลือกทางเลือก และเตรียมตัวประเทศสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่

แต่ถึงแม้ Obama จะพูดถึงวิกฤติ ต่อมาในสุนทรพจน์ก็ได้กล่าวว่า ถึงแม้เราจะเผชิญกับสิ่งท้าทายมากมาย แต่ Obama ก็จะพยายามกระตุ้นให้คนอเมริกัน มีความหวังและความมุ่งมั่นที่จะกอบกู้วิกฤติ

โดย Obama ได้กล่าวว่า ในวันนี้ พวกเรามารวมกันอยู่ที่นี่ เพราะเราเลือกความหวังเหนือความกลัว และเราเลือกความสามัคคีเหนือความขัดแย้ง

Obama ได้กระตุ้นชาวอเมริกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะตอกย้ำจิตวิญญาณของชาวอเมริกันที่จะเลือกประวัติศาสตร์ที่ดีกว่า ที่จะเดินหน้าต่อไป ที่จะผลักดันแนวความคิดที่สูงส่งที่ได้ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และสิ่งนี้ก็คือ สิ่งที่พระเจ้าได้ประทานให้ว่า ทุกคนจะต้องเท่าเทียมกัน ทุกคนจะต้องมีเสรีภาพ และทุกคนจะต้องมีโอกาสที่จะแสวงหาความสุขของตน

Obama ได้ตอกย้ำว่า ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐนั้นไม่ได้ได้มา โดยอยู่เฉยๆ แต่เราต้องสร้างมันขึ้นมา ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐถูกสร้างขึ้นมาด้วยความอุตสาหะของชาวอเมริกัน ชาวอเมริกันทั้งชายและหญิงตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้ต่อสู้และเสียสละ และทำงานเพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า นี่คือการเดินทางในอดีตของชาวอเมริกัน และเราก็กำลังเดินทางในเส้นทางนั้นอยู่

Obama กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุดและร่ำรวยที่สุดในโลก แต่เวลาของการปกป้องผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และการไม่กล้าตัดสินใจ เวลานั้นได้ผ่านไปแล้ว นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะลุกขึ้นยืนและเริ่มเดินหน้าเพื่อปฏิรูปอเมริกา

มีบางคนยังคงตั้งคำถามต่อความทะเยอทะยานของเรา และบอกว่าอาจจะเป็นความทะเยอทะยานมากเกินไป แต่ Obama ได้ตอบโต้ว่า คนที่ไม่เชื่อในเรื่องของการปฏิรูป คือคนที่ไม่เข้าใจว่า ขณะนี้ รากฐานของอเมริกาได้เปลี่ยนไปแล้ว การถกเถียงกันทางการเมืองในอดีต ใช้ไม่ได้อีกแล้ว คำถามที่เราจะถามวันนี้ จะไม่ใช่คำถามที่ว่า รัฐบาลจะเล็กไปหรือใหญ่ไป แต่จะเป็นคำถามว่า รัฐบาลจะทำงานได้หรือไม่ และคงจะไม่มีคำถามว่า กลไกตลาดจะดีหรือเลว คำตอบก็คือว่า พลังอำนาจของกลไกตลาดได้สร้างความมั่งคั่ง แต่จากวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้ทำให้เราตระหนักว่า หากไม่มีกลไกตรวจสอบ กลไกตลาดอาจจะเดินหน้าไปอย่างควบคุมไม่ได้

สำหรับในเรื่องนโยบายต่างประเทศนั้น Obama ได้ตอกย้ำประเด็นเดียวกัน ในแง่ที่ว่า เราจำเป็นจะต้องเลือกหรือไม่ ระหว่างความมั่นคงปลอดภัยกับอุดมการณ์ของเรา ซึ่ง Obama ก็ปฏิเสธว่า เราไม่ต้องเลือก เราสามารถทำทั้งสองสิ่งได้ โดยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐได้ให้ความสำคัญกับนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน อุดมการณ์ดังกล่าวยังคงใช้ได้กับประชาคมโลก ดังนั้น Obama จึงได้ประกาศต่อประชาคมโลกว่า สำหรับประชาชนทุกคนและทุกรัฐบาลที่เฝ้าดูการกล่าวสุนทรพจน์อยู่ในขณะนี้ ควรจะรู้ว่า อเมริกาเป็นมิตรกับทุกประเทศและกับทุกคน โดยเฉพาะทุกคนที่แสวงหาอนาคตสำหรับสันติภาพและเกียรติภูมิ และอเมริกาก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำของประชาคมโลกอีกครั้งหนึ่ง

Obama ได้ย้อนกลับไปกล่าวถึงการต่อสู้กับลัทธิ Fascism และ Communism ซึ่งชัยชนะครั้งนั้น ไม่ได้มาจากอาวุธ แต่มาจากอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นและการสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่น ชาวอเมริกันในรุ่นนั้นเข้าใจดีว่า อำนาจอย่างเดียวไม่สามารถปกป้องเราได้ และอเมริกาไม่มีสิทธิ์จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ อำนาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยการใช้อย่างมีความชอบธรรม ความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐเกิดขึ้น จากเป้าหมายที่มีความชอบธรรม และพลังอำนาจจากการที่อเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมโลก

Obama จึงได้กล่าวว่า หากเราใช้หลักการข้างต้นที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มานำทาง เราก็สามารถที่จะเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆได้ แต่ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ก็ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศและความเข้าใจระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น หากสหรัฐเดินตามแนวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแนวนี้ สหรัฐก็จะปลดปล่อยประเทศอิรักไปสู่ชาวอิรัก ผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน พยายามลดภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ และแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม Obama ยังมีท่าทีแข็งขันโดยเฉพาะกับเรื่องการก่อการร้าย แม้ว่าเรื่องอื่นๆจะมีท่าทีประนีประนอมอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะ Obama คงรู้ดีว่า ชาวอเมริกันยังห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย โดย Obama ได้ประกาศกร้าวว่า แต่สำหรับกลุ่มที่มีเป้าหมายในการก่อการร้ายและเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ Obama ก็พูดกับกลุ่มนี้ว่า จิตวิญญาณของเราจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และไม่มีทางถูกทำลาย และพวกคุณไม่มีทางที่จะชนะเรา และเราจะชนะกลุ่มก่อการร้ายในที่สุด

ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Obama ได้พยายามที่จะฉายให้เห็นภาพว่า สหรัฐจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางด้านอารยธรรมได้ โดย Obama ประกาศว่า มรดกตกทอดของสหรัฐนั้น ถือเป็นความแข็งแกร่งไม่ใช่ความอ่อนแอ โดยบอกว่า อเมริกาคือประเทศชาติของทั้งชาวคริสต์และมุสลิม ทั้งของชาวยิวและฮินดู อเมริกาได้ถูกหล่อหลอมด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากทุกๆแห่งในโลก และอเมริกาได้ผ่านบทเรียนอันแสนสาหัสมาแล้วจากสงครามกลางเมืองและการแบ่งแยกสีผิว และทำให้อเมริกาในปัจจุบันมีความสามัคคีและเข้มแข็งขึ้น จากประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้เราเชื่อว่า ความขัดแย้งในรูปแบบเก่ากำลังจะหมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และเมื่อโลกกำลังจะเล็กลงเรื่อยๆ ความเป็นมนุษยชาติร่วมกันก็จะเปิดเผยชัดเจนขึ้น

Obama จึงได้กล่าวกับโลกมุสลิมว่า อเมริกาหวังว่าเราจะแสวงหาหนทางที่เดินไปข้างหน้าด้วยกัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และความเคารพซึ่งกันและกัน

ในตอนจบ Obama ได้กล่าวถึงประชาชนในประเทศยากจนว่า อเมริกามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนยากจนทั่วโลก และได้กล่าวกับประเทศร่ำรวยทั้งหลายว่า ประเทศร่ำรวยคงไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในประเทศยากจนได้ และประเทศร่ำรวยจะไม่สามารถบริโภคทรัพยากรของโลก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบได้อีกต่อไป โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และอเมริกาก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่า สุนทรพจน์ของ Obama หลังการสาบานตนในครั้งนี้ ถือเป็นสุนทรพจน์ที่ดีเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ และ Obama ได้ทำสำเร็จอีกครั้งในการขายฝันให้แก่ชาวอเมริกันและชาวโลก แต่สิ่งที่ยากกว่าการขายฝันก็คือ การสานฝันให้เป็นจริง ดังนั้น เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Obama จะประสบความสำเร็จในการสานฝันให้เป็นจริง และเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐและของโลกได้หรือไม่

ประธานาธิบดี Obama

ประธานาธิบดี Obama
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2552

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ เป็นเย็นวันที่ 20 มกราคม ซึ่งในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า Barack Obama ก็จะเข้าสู่พิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กว่า 2 ล้านคน และคงจะมีคนอีกหลายพันล้านคนทั่วโลกเฝ้าดูพิธีดังกล่าวทางโทรทัศน์ด้วย

การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ Obama ถูกมองว่า เป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของการเมืองสหรัฐฯ และต่อโลก ผมคิดว่าน่าจะเป็นการสาบานตนที่สำคัญที่สุด นับตั้งแต่ John F. Kennedy เข้ารับตำแหน่งเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว

เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง ต่อการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ Obama นั้น ก็เพราะ Obama จะเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่อย่างเหลือเชื่อของการเมืองสหรัฐฯ สำหรับตัว Obama เองก็เป็นลูกครึ่ง บิดาเป็นชาวเคนยา มารดาเป็นชาวอเมริกัน ดังนั้นในตัว Obama เอง ก็เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา Obama เป็นคนหนุ่มไฟแรง ในช่วงระหว่างการหาเสียง คำที่ Obama ใช้มากที่สุดก็คือคำว่า “change” โดย Obama ได้ประกาศที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง จะปฏิรูปการเมืองสหรัฐฯ จะปฏิรูปสังคมสหรัฐฯ และจะปฏิรูปนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ดังนั้น Obama จึงได้จุดประกายขายฝัน ให้กับคนอเมริกันและคนทั้งโลกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Obama ได้รับความนิยมอย่างมากคือบุคลิกภาพของเขา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงอเมริกาไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งสอดรับกับความต้องการของคนอเมริกันในขณะนี้ ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง การนำเสนอนโยบายของโอบามาในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง ก็โดนใจคนอเมริกัน เป็นนโยบายที่จะนำคนอเมริกาให้ผ่านพ้นวิกฤต นโยบายสังคมที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน และคนชั้นกลาง และนโยบายต่างประเทศ ที่เน้นการกอบกู้ศักดิ์ศรีของสหรัฐฯ กลับคืนมา ในสายตาประชาคมโลก

ดังนั้น ชาวอเมริกันและชาวโลกจึงมีความคาดหวังต่อประธานาธิบดีคนใหม่คนนี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ประธานาธิบดี Obama กำลังประสบกับการบ้านและภารกิจที่หนักอึ้ง ทั้งนี้เพราะปัญหาใหญ่ๆ กำลังรอให้ Obama แก้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤตสหรัฐฯ และวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งหนักหนาสาหัสและรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวิกฤตการณ์ในภูมิภาคต่างๆ ตะวันออกกลางยังคงลุกเป็นไฟอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อิรัก อิหร่าน และอัฟกานิสถาน รวมทั้งการผงาดขึ้นมาของรัสเซียและจีน Obama คงจะลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะจัดสรรเวลาให้กับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาภายในประเทศและปัญหาภายนอกประเทศ ปัญหาต่างๆ ที่จะรุมเร้าเข้ามา ผมคิดว่าจะหนักหนาสาหัสทีเดียว

ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดที่ Obama จะต้องรีบทำคือ การกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ Obama ไม่ได้รีรอ ได้รีบตั้งจัดทีมเศรษฐกิจเรียบร้อยไปแล้ว โดยตำแหน่งที่สำคัญคือรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่ง Obama ได้เลือก Tim Geithner ให้มาเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลของเขา ปัจจุบัน Geithner เป็นหัวหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก Geithner มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่ง และได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเจรจาเพื่อเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่คือ AIG

สำหรับตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งคือ ตำแหน่งผู้อำนวยการ National Economic Council ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการประสานนโยบายเศรษฐกิจ คนที่ Obama เลือกให้มาคุมคือ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังในสมัย Clinton

นอกจากเรื่องการจัดทีมเศรษฐกิจแล้ว Obama ได้เดินหน้าประกาศนโยบายเศรษฐกิจ โดยมาตรการสำคัญที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่า จะมีการอัดฉีดเงิน เพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ อีกอย่างน้อย 5 แสนล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Obama จะเดินเครื่องเต็มที่ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ อยู่ในอาการทรุดหนัก และรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930

สำหรับในเรื่องนโยบายต่างประเทศนั้น Obama มีแนวอุดมการณ์เสรีนิยม มีแนวนโยบายสายพิราบ Obama ได้เน้นว่านโยบายต่างประเทศ จะต้องมีการยกเครื่องใหม่ และมองโลกในแง่ดี และพยายามย้ำเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ และการกอบกู้ชื่อเสียงของสหรัฐฯ ดังนั้น หาก Obama บรรลุการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศได้จริง ก็น่าจะเป็นผลดีต่อโลก โดยน่าจะทำให้โลกมีเสถียรภาพและสันติภาพมากขึ้น

แต่มีโจทย์ใหญ่สำหรับ Obama หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่อตะวันออกกลาง อิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย Obama เน้นการกลับไปฟื้นฟูพันธมิตร หุ้นส่วนและสถาบันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ สำหรับในเอเชีย Obama น่าจะให้ความสำคัญกับเวทีอาเซียนมากขึ้น และสำหรับนโยบายต่อมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะกับจีนและรัสเซียนั้น Obama ก็มีแนวโน้มว่า จะลดความตึงเครียดและมีนโยบายปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมมองว่า ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ที่ Obama จะประสบความสำเร็จ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้ขายฝันให้ชาวอเมริกันและชาวโลก และก็ขายฝันสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่สิ่งที่ยากกว่าการขายฝันก็คือ การสานฝันให้เป็นจริง

ดังนั้น ในช่วงอีก 4 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเป็น 8 ปีก็ได้ เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Obama ในที่สุดแล้ว จะประสบความสำเร็จ กลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลก ที่ได้ปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่ระเบียบโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือ Obama จะเป็นเพียงประธานาธิบดีที่มีผลงานแค่พอใช้ได้ คือ ประสบความสำเร็จในบางเรื่องและล้มเหลวในบางเรื่อง หรือ Obama จะกลายเป็นประธานาธิบดีที่ประสบความล้มเหลว เหมือนอย่างที่อดีตประธานาธิบดี Bush ได้ถูกตราหน้า ก็ยังไม่มีใครจะรู้ได้

วิกฤติอิสราเอล-ปาเลสไตน์

วิกฤติอิสราเอล-ปาเลสไตน์
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17 วันศุกร์ที่ 16-วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2552

ความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ได้เกิดขึ้นอีกเมื่อช่วงต้นปีนี้ โดยในครั้งนี้ อิสราเอลได้โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก เพื่อที่จะทำลายล้างกลุ่ม Hamas โดยกลุ่ม Hamas ได้ตอบโต้ด้วยการยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล อิสราเอลได้บอกว่าการโจมตีฉนวนกาซานั้น ได้มุ่งเป้าไปที่ฐานที่มั่นของ Hamas แต่ฐานของ Hamas ก็อยู่ในเขตที่มีประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีประชาชน เด็กและผู้หญิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ยอดล่าสุดก็เข้าใกล้หลักพันคนเข้าไปทุกทีแล้ว จากการกระทำของอิสราเอล ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงไปทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิม

ภูมิหลัง

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์นั้น ยืดเยื้อ ยาวนาน โดยเริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้มีการจัดตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในดินแดนซึ่งเคยเป็นดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ตั้งแต่นั้นมา ได้มีการต่อสู้รบพุ่งกันมาตลอดเพื่อแย่งชิงดินแดน โดยทางชาติอาหรับได้ร่วมกับปาเลสไตน์ในการรบกับอิสราเอลมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะอิสราเอลได้ ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็อยู่ในสถานะไม่มีเสถียรภาพ เพราะชาวปาเลสไตน์บางส่วนได้เข้าร่วมกับขบวนการก่อการร้าย Hamas และ Hizbullah และปฏิบัติการก่อการร้ายต่ออิสราเอลมาโดยตลอด

ได้มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ หรือมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐ แต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ความพยายามครั้งล่าสุด เมื่อช่วงปลายปี 2007 โดยรัฐบาล Bush ได้จัดการประชุมสุดยอด เพื่อสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง ที่เมือง Annapolis โดยอิสราเอลและปาเลสไตน์ตกลงเจรจาที่จะทำสนธิสัญญาสันติภาพ ภายในสิ้นปี 2008 อย่างไรก็ตาม การเจรจาก็ล้มเหลวในที่สุด เพราะทางฝ่ายอิสราเอลไม่สามารถที่จะยุติการก่อสร้างในเขต West Bank และยอมแบ่งแยกกลุ่มเยรูซาเล็ม ส่วนทางฝ่ายปาเลสไตน์ รัฐบาล Abbas ก็ไม่สามารถควบคุมกลุ่ม Hamas ซึ่งยังคงปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง Hamas ถือได้ว่าเป็นตัวการทำลายการเจรจาสันติภาพในครั้งนี้ เพราะ Hamas ไม่พอใจอย่างมากที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจา ความรุนแรงในฉนวนกาซาภายใต้การนำของ Hamas ได้ทวีความรุนแรงขึ้น และสงครามครั้งใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อ Hamas ยิงจรวดมาตกในเขตอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ จนอิสราเอลทนไม่ไหวจึงต้องโจมตีฉนวนกาซา และหมายมั่นที่จะทำลายกลุ่ม Hamas ให้สิ้นซาก

สำหรับเป้าหมายของอิสราเอลในครั้งนี้ คือต้องการทำลายฐานที่มั่นของ Hamas ให้สิ้นซาก โดยขณะที่ผมเขียนบทความนี้ การสู้รบก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป โดยอิสราเอลกำลังจะส่งทหารราบเข้าไปในเขตฉนวนกาซา เพื่อที่จะเข้าไปให้ถึงฐานที่มั่นของ Hamas และทำลายให้หมดสิ้น แต่อิสราเอลก็รู้ดีว่า ในที่สุดอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดกลุ่ม Hamas ให้หมดไป ในที่สุด ผลของสงครามคราวนี้ อาจจะเป็นแค่เพียงการหยุดยิง กลุ่ม Hamas อาจจะได้รับความเสียหาย แต่ว่ายังคงมีชีวิตอยู่ ในขณะเดียวกัน อิสราเอลก็จะรู้สึกปลอดภัยจากการโจมตีของ Hamas ได้แค่ชั่วคราว

สำหรับกลุ่ม Hamas นั้น ก็มีเป้าหมายที่แน่นอน โดยยุทธศาสตร์คือ การต่อต้านอิสราเอล และเป้าหมายสูงสุดคือ การเอาดินแดนของปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอลมาทั้งหมด ดังนั้น สำหรับHamas แนวการแก้ปัญหาที่จะแบ่งดินแดน เป็นรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์นั้น คงจะยอมรับไม่ได้ ทางเดียวเท่านั้นที่อิสราเอลจะประสบชัยชนะในครั้งนี้คือ การทำลาย Hamas อย่างสิ้นซาก แต่หาก Hamas สามารถอยู่รอด ไม่ถูกทำลายล้าง นั่นก็เท่ากับชัยชนะของ Hamas ซึ่งสถานการณ์นี้ ก็จะกลับไปเหมือนกับสงครามในเลบานอนในปี 2006 ที่อิสราเอลพยายามทำลายล้างกลุ่ม Hizbullah แต่ไม่สำเร็จ และการคงอยู่ของ Hizbullah เท่ากับเป็นชัยชนะของ Hizbullah ต่ออิสราเอล และการคงอยู่ของ Hamas ก็เท่ากับเป็นชัยชนะของ Hamas ต่ออิสราเอลเหมือนกัน

การแก้ไขปัญหา

หลังจากเกิดวิกฤติการณ์ สหรัฐซึ่งน่าจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา แต่กลับเมินเฉย โดยปล่อยให้ทางสหภาพยุโรปและอียิปต์ เป็นหัวหอกในการดำเนินการทางการทูต โดยประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศว่า เขาเข้าใจความต้องการของอิสราเอลที่จะปกป้องตัวเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของรัฐบาล Bush ที่ว่าอิสราเอลไม่มีทางเลือกที่จะต้องโจมตี หลังจากที่ถูกกลุ่ม Hamas ยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอล นับตั้งแต่อิสราเอลถอนตัวออกจากฉนวนกาซาในปี 2005

ส่วน Barack Obama ซึ่งต้องรอถึงวันที่ 20 มกราคม ถึงจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่กล้าเข้าไปแทรกแซงนโยบายของรัฐบาล Bush แต่การเฉยเมยของ Obama ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและในยุโรป อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า เมื่อ Obama เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาคงจะปรับเปลี่ยนนโยบายสหรัฐต่อตะวันออกกลาง โดยคงจะมีความพยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ในส่วนของสหภาพยุโรป ก็ได้มีความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงคราม โดยเฉพาะประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ก็พยายามเล่นบทบาทนำ จุดยืนของ EU คือ การเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการทางทหารโดยอิสราเอล ในขณะเดียวกัน ก็ให้กลุ่ม Hamas ยุติการยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล

และเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ตกลงในข้อมติ เรียกร้องให้มีการหยุดยิง และให้อิสราเอลถอนทหารออกจากฉนวนกาซา การลงมติในครั้งนี้ ทางสหรัฐงดออกเสียง จึงทำให้ข้อมติอันนี้ ผ่านที่ประชุม แต่ตอนแรกมีการคาดการณ์กันว่า สหรัฐคงจะ veto ข้อมติดังกล่าว เพื่อให้อิสราเอลมีเวลาบดขยี้กลุ่ม Hamas อย่างไรก็ตาม การที่อเมริกางดออกเสียง อาจจะแสดงให้เห็นว่า แรงกดดันนานาชาติและฉันทามติได้เกิดขึ้น ซึ่งมองว่า ความรุนแรงในครั้งนี้ ควรจะยุติได้แล้ว

ข้อมติดังกล่าว น่าจะเพิ่มแรงกดดันให้อิสราเอลยุติการดำเนินการทางทหารต่อกลุ่ม Hamas อย่างไรก็ตาม อิสราเอลกลับเฉยเมยต่อข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง โดยอ้างว่า อิสราเอลไม่สามารถยุติการปฏิบัติการทางทหารได้ เพราะทางฝ่าย Hamas ยังคงยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทางฝ่ายปาเลสไตน์และ Hamas ก็ปฏิเสธข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงเช่นเดียวกัน

สำหรับท่าทีของกลุ่มประเทศอาหรับ ก็ดูจะเฉื่อยชาและไม่สามารถมีท่าทีร่วมได้ ทั้งนี้เพราะอาหรับได้แตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านอิสราเอลอย่างเต็มที่ ซึ่งมี อิหร่าน ซีเรีย กลุ่ม Hizbullahในเลบานอน และกลุ่ม Hamas ในขณะที่ชาติอาหรับอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่ม pro ตะวันตก และต้องการมีสันติภาพกับอิสราเอล ซึ่งได้แก่ อียิปต์ จอร์แดน รัฐบาลของนาย Abbas ในเขต West Bank และซาอุดีอาระเบีย

กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในครั้งนี้ คงจะเป็นอีกฉากหนึ่งของสงครามอันยืดเยื้อยาวนานระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่คงจะหาข้อยุติได้ยากเต็มที ผลกระทบจากสงครามคราวนี้ ก็คือ อาจทำให้กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ พังทลายลง ก่อนหน้านี้ เคยมีความหวังว่า ปัญหานี้ อาจจะแก้ด้วยการยอมรับรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ ได้ทำให้ความหวังดังกล่าวดูริบหรี่ลงทุกที