ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 สิงหาคม 2557
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งล่าสุด
ที่ เนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว
ดังนี้
อาเซียนหลัง 2015
เรื่องสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การเดินหน้าการจัดทำวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลัง
2015 โดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) ได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนในช่วงหลังปี
2015 ผมดูจากเอกสารแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมในครั้งนี้ พอจะเห็นลางๆว่า ประเด็นหลักของวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลัง
2015 น่าจะมีประเด็นเหล่านี้
· กฎบัตรอาเซียน
เน้นถึงความสำคัญที่ต้องมีการแปลงกฎบัตรอาเซียนไปสู่การปฏิบัติ
· ส่งเสริมหลักการอาเซียน
จะส่งเสริมหลักการ
บรรทัดฐาน และค่านิยมของอาเซียน
เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของภูมิภาคและระเบียบปฏิบัติที่ดี
· ASEAN Centrality
ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเอกภาพของอาเซียน
ส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน
เพื่อจะทำให้อาเซียนดำรงความเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
โดยจะส่งเสริมท่าทีร่วมกันของอาเซียนในประเด็นปัญหาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้
ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนสมัยพิเศษ เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการยกระดับบทบาทของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ
ด้วยการปฏิบัติตาม Bali Concord III Plan
of Action
· การลดช่องว่างแห่งการพัฒนา
จะลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิก
ด้วยการปฏิบัติตามแผน Initiative for ASEAN
Integration (IAI) และให้มีการพัฒนาแผนงานของ IAI ในยุคหลังปี 2015 ด้วย
· เพิ่มประสิทธิภาพกลไกอาเซียน
ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงหรือ
High Level Task Force เพื่อศึกษาหามาตรการเพิ่มบทบาท สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และทบทวนบทบาทของกลไกอาเซียนทั้งหมด
แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
อีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้คือ
การติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
· ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ที่ประชุมยินดีต่อความคืบหน้า
ในการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน หรือ APSC Blueprint และจะเพิ่มความพยายามในการบรรลุมาตรการต่างๆ
ที่ยังทำไม่เสร็จภายใต้ APSC Blueprint
· ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ที่ประชุมยินดีที่ได้มีการปฏิบัติตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint เสร็จสิ้นไปถึงช่วงที่
3 ของแผนงานแล้ว และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของแผนการจัดตั้ง
AEC ในช่วงปี 2014-2015
สำหรับเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยคือ
ความคืบหน้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง
ขณะนี้ ได้มีการปฏิบัติตามแผน ASEAN
Strategic Transport 2011-2015 โดยเฉพาะความคืบหน้าในโครงการสำคัญๆ ได้แก่
ASEAN Single Aviation Market ข้อตกลง
Open Sky, ASEAN Single Shipping
Market เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง
และ ASEAN Highway Network
· ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ที่ประชุมยินดีต่อความคืบหน้าตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
หรือ ASCC Blueprint และหวังว่า จะได้มีการดำเนินงานตาม ASCC Blueprint อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
ในการประชุมในครั้งนี้
รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้ประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา และประเทศมหาอำนาจต่างๆ
อีกหลายกรอบ แต่ที่เป็นไฮไลท์คือ การประชุมระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งขณะนี้ จีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน
ทั้ง 2 ฝ่ายได้เน้นถึงความสำคัญของเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่จะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้การค้าระหว่างกัน
เพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านเหรียญในปี 2015 และ 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2020
และการลงทุนระหว่างกัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสน 5 หมื่นล้านเหรียญในอีก 6 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าอาเซียนกับจีนจะมีความใกล้ชิดกันทางเศรษฐกิจ แต่ทั้ง 2 ฝ่าย ก็มีความขัดแย้งกันโดยเฉพาะในปัญหาทะเลจีนใต้
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างจีนกับอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้แถลงว่า
พัฒนาการในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้น
และอาเซียนตอกย้ำจุดยืนของอาเซียนในเรื่องดังกล่าว โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
อาเซียนต้องการที่จะหารือกับจีน
เพื่อนำไปสู่มาตรการและกลไก เพื่อการปฏิบัติตามปฏิญญาทะเลจีนใต้
หรือที่เรียกย่อว่า DOC และต้องการให้มีการเจรจา เพื่อนำไปสู่การจัดทำระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้
หรือ Code of Conduct in the South China Sea (COC)
บทวิเคราะห์
· อาเซียนหลัง 2015
ผมมองว่า
เรื่องสำคัญที่สุดของอาเซียนขณะนี้คือ การจัดทำวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลังปี
2015 ซึ่งขณะนี้ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ที่พอจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ๆ คือ
กฎบัตรอาเซียน การส่งเสริมหลักการอาเซียน ASEAN
Centrality การลดช่องว่างแห่งการพัฒนา
และการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกอาเซียน
สำหรับเรื่องกฎบัตรอาเซียนนั้น
ผมขอเสนอว่า วิสัยทัศน์อาเซียนหลัง 2015 จะต้องทำให้กฎบัตรอาเซียน เป็นกฎบัตรของประชาชนอย่างแท้จริง
โดยจะต้องมีการแก้กฎบัตรหลายมาตรา
และต้องมีการเพิ่มมาตราให้มีการจัดตั้งกลไกของภาคประชาชน
เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการพิจารณาในระยะยาว ในเรื่องของการพัฒนากลไกฝ่ายนิติบัญญัติ
และฝ่ายตุลาการของอาเซียนด้วย
สำหรับเรื่อง
ASEAN Centrality นั้น
ผมมองว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก ในอนาคต ต้องมีการกำหนด ยุทธศาสตร์และมาตรการ ที่จะทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง
หรือเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยจะต้องมีมาตรการในการสร้างเอกภาพ และกำหนดท่าทีร่วมกันให้ได้
ที่ผ่านมา อาเซียนก็แตกแยก แตกสามัคคี และถูกแบ่งแยก และถูกปกครองมาโดยตลอด
ท่าทีอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศก็แทบจะไม่มีให้เห็นเลย
· แผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
สำหรับในเรื่องของการจัดตั้งประชาคมอาเซียนนั้น
ตามแผน จะต้องจัดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 31 ธันวาคมปีหน้า
และแม้ว่าในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะได้กล่าวไว้อย่างสวยหรูว่า
ได้มีความคืบหน้าไปมากในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน แต่ผมกลับมองว่า ในความเป็นจริงแล้ว
ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การจัดตั้งประชาคมอาเซียนยังไม่เสร็จ และมีเรื่องที่จะต้องทำต่ออีกมากหลังปี
2015
ประชาคมการเมืองและความมั่นคง
หรือ APSC การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยังไปไม่ถึงไหน
AICHR ยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการแก้ TOR ของ AICHR ใหม่ นอกจากนี้ กลไกแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียนยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง
และไม่มีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ยังเบาบางมาก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และภัยพิบัติ ปัญหากรณีพิพาทเรื่องพรมแดนยังมีอยู่
และความร่วมมือทางทหารก็ยังเบาบางมากเช่นกัน
สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น
ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีปัญหาอีกมาก และ AEC
ยังไม่ใช่ตลาดและฐานการผลิตเดียว
การเปิดเสรี 5 ด้านยังไม่สมบูรณ์
AEC ยังมีปัญหาการบูรณาการในเชิงลึกและในเชิงกว้าง
ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ
และประเทศสมาชิกยังคงมองประเทศสมาชิกอื่นว่า เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ แทนที่จะมองว่า
เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
สำหรับการพัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนนั้น
ส่วนใหญ่ก็มีแค่แผน โดยเฉพาะแผนการสร้างถนน สร้างทางรถไฟ ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือ การขาดเงินทุน
ที่จะมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ก็เหมือนกัน ในความเป็นจริงยังมีอุปสรรคอยู่มาก และยังห่างไกลจากความสำเร็จ
โดยเฉพาะในเรื่องของความร่วมมือในด้านต่างๆ คือ ในด้านการศึกษา
สวัสดิการและสิทธิทางสังคม และเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาเซียนมีความร่วมมือในเรื่องเหล่านี้ที่เบาบางมาก
เรื่องใหญ่คือ การขาดเงินทุน
และเรื่องการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนั้น
ในปี 2015 ก็ยังคงจะไม่ประสบความสำเร็จ คน 600 ล้านคนในอาเซียน ยังห่างไกลกับการที่จะมีอัตลักษณ์ร่วมกัน
ยังห่างไกลกับความรู้สึกที่มองว่า เรา 600 ล้านคน เป็นพวกเดียวกัน
และสุดท้ายก็คือ
ประชาคมอาเซียนยังห่างไกล กับการที่จะมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของประชาคมอย่างแท้จริง