Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนที่ 1)

สรุปสถานการณ์โลกปี 2553 (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ที่ 24 - วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้และตอนหน้า จะเป็นตอนส่งท้ายปีเก่าและที่ผมได้เคยทำมาทุกปีคือ จะสรุปเหตุการณ์สถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยจะเลือกมา 10 เรื่อง และจัดอันดับเป็นสถานการณ์โลก Top 10 สิบเรื่องทีมีความสำคัญที่สุด โดยหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับคือ จะวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ใด จะมีผลกระทบต่อโลกมากที่สุด ในปีนี้ ผมจะเรียงลำดับจากอันดับ 10 มาจนถึงอันดับ 1

อันดับที่ 10 ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
สำหรับสถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 10 และถือเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่วิกฤติที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามในอนาคตได้ คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือที่เราเรียกกันว่า ความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ยืดเยื้อมานานแล้ว ด้วยความสำคัญของหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งทางด้านการทหารและทางด้านเศรษฐกิจ จึงมีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน โดยเฉพาะจีนได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทั้งหมด ส่วนเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน อ้างสิทธิ์เป็นบางส่วน ในอดีต ความขัดแย้งเคยนำไปสู่สงครามมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะระหว่างจีนกับเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งเริ่มทุเลาลง เพราะจีนต้องการเอาใจอาเซียน จึงได้ทำปฏิญญาแก้ไขปัญหากับอาเซียนในปี 2002 แต่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้จีนมีนโยบายแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อปัญหานี้

จนในที่สุด ปัญหาก็มาปะทุขึ้น ระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่ฮานอย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประเทศที่จุดชนวนปัญหาครั้งใหม่คือ สหรัฐฯ Hillary Clinton ได้ประกาศท่าทีของสหรัฐฯ ว่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและสหรัฐฯ จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯ ทำให้จีนไม่พอใจมาก หลังจากนั้น กองทัพจีนได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และได้ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างเด็ดขาด ซึ่งปฏิกิริยาของจีนทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ นำไปสู่ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม เรือรบของสหรัฐฯ ชื่อ John McCain และเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington ได้จอดเทียบท่าที่เมืองดานัง เวียดนามได้ออกมาประณามจีน ในการส่งเรือรบเข้าไปในเขตหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเวียดนามถือว่าเป็นของตน

พฤติกรรมของจีนในเรื่องนี้ ทำให้จีนเสียหายมาก เพราะก่อนหน้านี้ยุทธศาสตร์ของจีนคือ การลดความหวาดระแวงจีน ด้วยสโลแกน Peaceful Rise หรือการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ

อันดับที่ 9 รางวัลโนเบลสันติภาพ
เมื่อเดือนตุลาคม คณะกรรมการโนเบลได้ประกาศให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2010 แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน แต่หลังจากการประกาศ รัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกมาโจมตี Liu ว่าเป็นอาชญากร รัฐบาลจีนได้พยายาม lobby อย่างหนักไม่ให้ประเทศต่างๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมพิธีมอบรางวัล โดยมี 65 สถานทูตได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีที่กรุงออสโล แต่ก็มีเพียง 17 ประเทศที่บอยคอตพิธี ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศเผด็จการ ต่อต้านตะวันตก และมีผลประโยชน์กับจีน

สำหรับพิธีให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu นั้น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดย Liu ไม่ได้ไปรับ และไม่มีผู้แทนมารับรางวัลดังกล่าว ผู้จัดจึงปล่อยให้เก้าอี้สำหรับ Liu นั้นว่าง

การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจีนเป็นอย่างมาก ทำให้จีนตกเป็นเป้าในแง่ลบ ในสายตาประชาคมโลก ก่อนหน้านี้ จีนมีภาพในแง่บวกมาโดยตลอด โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจ การจัดกีฬาโอลิมปิก 2008 และ World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ แต่การให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu ทำให้ประชาคมโลกหันมามองเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน และกลายเป็นภาพลบที่สุดของจีน ปฏิกิริยาของรัฐบาลจีนยิ่งทำให้จีนเสียชื่อหนักขึ้น การที่จีนบอยคอตพิธีให้รางวัลในครั้งนี้ ทำให้มีการเอาจีนมาเปรียบเทียบกับเยอรมนีในสมัยนาซีของ Hitler ทั้งนี้เพราะ การที่ไม่มีคนมารับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา มีอยู่ครั้งเดียวที่ไม่มีผู้มารับรางวัล ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1936 โดยผู้ได้รางวัลในปีนั้นคือ Carl von Ossietzky ผู้ต่อสู้เพื่อสันติภาพชาวเยอรมันผู้ถูกคุมขัง และ Hitler ปฏิเสธไม่ให้เขามาเข้าร่วมพิธี

อันดับที่ 8 ประชาคมโลกกับการช่วยเหลือเฮติ
เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 8 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ การเกิดแผ่นดินไหวในเฮติและความช่วยเหลือของประชาคมโลก โดยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ทำให้เมืองหลวงของเฮติพังพินาศเกือบทั้งเมือง มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 แสนคน นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในรอบปี 2010

หลังแผ่นดินไหว ประชาคมโลกได้ระดมการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งน่าจะเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยสหรัฐฯ ในฐานะอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก และเป็นลูกพี่ใหญ่ในภูมิภาคได้เล่นบทเป็นพระเอกในการให้ความช่วยเหลือ โดยได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจอดนอกชายฝั่ง และส่งทหารกว่า 1 หมื่นคนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ส่วนทางสหประชาชาติมีกองกำลังรักษาสันติภาพอยู่ในเฮติ Ban Ki-moon เลขาธิการ UN ได้กล่าวว่า สถานการณ์ในเฮติถือเป็นวิกฤตการณ์ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้ว การช่วยเหลือเฮติของประชาคมโลกในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวโลกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

ข่าวเรื่องเฮติเป็นข่าวใหญ่ในช่วงต้นปี แต่พอมาถึงช่วงกลางปีและปลายปี ข่าวเรื่องเฮติก็ได้จางหายไปจากพื้นที่ข่าวของสื่อมวลชนโลก ชาวโลกก็ได้ลืมหายนะในเฮติไปอย่างรวดเร็ว

อันดับที่ 7 พม่า
สำหรับเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 7 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่า ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน คือ การเลือกตั้ง การปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ข้อสงสัยเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ

สำหรับในเรื่องการเลือกตั้งนั้น ครั้งสุดท้ายที่พม่าได้มีการเลือกตั้งคือ ในปี 1990 คือเมื่อ 20 ปีมาแล้ว แต่หลังจากถูกกดดันจากนานาชาติมานาน รัฐบาลเผด็จการทหารจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียง 80% คือ พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งเป็นพรรคที่รัฐบาลทหารตั้งขึ้นมา และผู้นำทหารหลายคนก็ลาออกไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของพรรค เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็คงจะเป็นรัฐบาลทหารเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดทหารมาเป็นชุดพลเรือนเท่านั้น

ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และปราศจากความโปร่งใส ดังนั้น จึงได้รับการโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายตะวันตก ประธานาธิบดีโอบามา ได้โจมตีการเลือกตั้งว่า ไม่ free และ ไม่ fair ทำให้การเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรมและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดกว่า 2 พันคน รัฐบาลตะวันตกอื่นๆ ก็มีท่าทีในทำนองเดียวกัน Ban Ki-moon เลขาธิการ UN ได้แสดงจุดยืนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม มีจีนกับอาเซียนเท่านั้นที่แสดงความยินดีกับการเลือกตั้งในครั้งนี้

และในขณะที่ทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งในพม่า รัฐบาลทหารก็ใช้ยุทธศาสตร์ที่แยบยลเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ในวันที่ 12 พฤศจิกายน

นอกจากนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีข่าวเกี่ยวกับพม่าอีกเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลก โดยได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma ระบุว่า มีหลักฐานว่า พม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยเป็นข้อมูลที่ได้มาจากอดีตทหารพม่า ซึ่งได้เคยทำงานในโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Mandalay นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากชาวพม่า ตีพิมพ์ในรายงานของนักวิชาการออสเตรเลียว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยเหลือพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ที่เมือง Naung Laing ซึ่งคาดว่า จะสร้างเสร็จในปี 2012 และพม่าจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในปี 2020
ต่อมา Wikileaks ได้เผยแพร่โทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐฯ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสงสัยในเรื่องนี้ แต่โดยสรุป ยังมีไม่หลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง และเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง

อันดับที่ 6 เกาหลีเหนือ
สำหรับสถานการณ์โลกที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 6 ในรอบปี 2010 คือสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ โดยในเดือนมีนาคม เรือรบเกาหลีใต้ชื่อ Cheonan ได้ถูกระเบิดตอร์ปิโดจมลง มีลูกเรือเสียชีวิต 46 คน เกาหลีใต้เชื่อว่า เป็นฝีมือของเรือดำน้ำเกาหลีเหนือ และต่อมาเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ไปที่เกาะ Yeonpyeong โจมตีเป้าหมายฐานทัพทหารของเกาหลีใต้ รวมทั้งบ้านเรือนของประชาชนบนเกาะ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 1953 ที่เกาหลีเหนือยิงปืนใหญ่เข้าสู่เป้าหมายที่เป็นพลเรือน มีชาวเกาหลีใต้เสียชีวิต 4 คน

หลังเหตุการณ์ได้มีปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ โดยประธานาธิบดีโอบามาได้แสดงจุดยืนว่า สหรัฐฯ จะปกป้องพันธมิตรคือ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ขอประณามการโจมตีของเกาหลีเหนือ ต่อมา สหรัฐได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน George Washington เดินทางสู่คาบสมุทรเกาหลี ส่วนญี่ปุ่นได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ประเทศที่จะมีบทบาทกดดันเกาหลีเหนือคือ จีน แต่ท่าทีของจีนกลับไม่ประณามเกาหลีเหนือ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้กล่าวว่า ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ควรจะแสวงหาสันติภาพ และว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็ว

Wikileaks เปิดเผยข้อมูลลับ พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

Wikileaks เปิดเผยข้อมูลลับ พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์?
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์ Guardian ได้ตีพิมพ์ข้อมูลที่ได้มาจาก Wikileaks เป็นโทรเลขลับรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องเกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้จะสรุปวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ดังนี้

ข้อมูลลับเรื่องโรงงานนิวเคลียร์
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ปี 2004 สถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับข้อสงสัยที่พม่าจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ทราบ ซึ่งเป็นข้อมูลลับ โดยในโทรเลขดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ได้มีนักธุรกิจต่างชาติทำงานในพม่า ซึ่งชื่อของเขาได้ถูกลบออก (ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์ Guardian น่าจะเป็นคนลบออก) ได้บอกกับเจ้าหน้าที่สถานทูตว่า ได้ยินข่าวลือว่า รัฐบาลพม่ากำลังแอบสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ใกล้เมือง Minbu นักธุรกิจคนนั้นได้บอกว่า ได้เห็นเรือขนาดใหญ่บรรทุกเหล็กเส้นขนาดใหญ่ และเขาได้ถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เมือง Minbu ชาวบ้านก็เล่าให้ฟังว่า เรือขนาดใหญ่บรรทุกเหล็กเส้นมาทุกสัปดาห์ เหล็กเส้นจะเอามาใช้ก่อสร้างโรงงานที่ไม่มีการเปิดเผย ในความเห็นของนักธุรกิจคนนั้น ดูจากปริมาณและความใหญ่ของเหล็กเส้น คิดว่าน่าจะเอามาสร้างสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่กว่าโรงงาน

เจ้าหน้าที่สถานทูตได้ให้ความเห็นในโทรเลขลับว่า ข่าวลือเกี่ยวกับการสร้างโรงงานิวเคลียร์ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2002 โดยได้มีข่าวลือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับพม่าในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ต่อมาในปี 2003 ได้มีข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ สถานทูตสรุปว่า ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ข่าวลือเกี่ยวกับการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ก็หนาหูขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ

ข้อมูลลับความสัมพันธ์พม่ากับเกาหลีเหนือ
สำหรับโทรเลขลับอีกฉบับหนึ่ง สถานทูตรายงานในวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2004 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของเกาหลีเหนือในการพัฒนาขีปนาวุธในพม่า โดยในโทรเลขดังกล่าวได้รายงานรายละเอียดว่า ได้ข้อมูลมาว่า มีชาวเกาหลีเหนือประมาณ 300 คน ทำงานอยู่ในสถานที่ลับทางตะวันตกของเมือง Minbu บุคคลที่ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกลบชื่อออกในโทรเลขที่หนังสือพิมพ์ Guardian ตีพิมพ์ ได้ให้ข้อมูลว่า ชาวเกาหลีเหนือได้มาช่วยสร้างขีปนาวุธ SAM ให้พม่า นอกจากนี้ ก็กำลังก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใต้ดินขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสูงถึง 500 ฟุต

จากข้อมูลดังกล่าว เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากคำบอกเล่าของแหล่งข้อมูลดังกล่าว เกี่ยวกับการที่เกาหลีเหนือช่วยพม่าสร้างขีปนาวุธ และสร้างสิ่งก่อสร้างลึกลับใต้ดินนั้น ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลที่สถานทูตได้จากแหล่งข่าวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สถานทูตระบุว่า จากข้อมูลดังกล่าว ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยพม่าในด้านใดบ้าง แหล่งข้อมูลยังไม่สามารถยืนยันได้เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นทางสถานทูตจึงมองว่า ข้อมูลดังกล่าว เมื่อใช้ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ น่าจะบ่งชี้ถึงความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือกับพม่าว่า กำลังแอบทำอะไรบางอย่างที่มีความสำคัญทางทหาร แต่จะเป็นอะไรนั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

บทวิเคราะห์
• จากข้อมูลโทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐฯ ที่ได้ถูกเผยแพร่ออกมาทาง Wikileaks นั้น ทำให้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวหนาหูขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องทั้ง 2 นี้ แต่เมื่อดูจากข้อมูลในโทรเลขลับของสถานทูตสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง และไม่สามารถยืนยันได้ว่า เกาหลีเหนือแอบช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

• ก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลลับของสถานทูตสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูล จากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma โดยได้เผยแพร่บทความระบุว่า มีหลักฐานว่า พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยเป็นข้อมูลที่ได้มาจากอดีตทหารพม่า ซึ่งได้ให้ข้อมูลและรูปภาพเกี่ยวกับโรงงานนิวเคลียร์ของพม่า โดยอดีตทหารพม่าผู้นี้ได้เคยทำงานที่โรงงานพิเศษ ซึ่งต่อมาเขาก็พบว่า เป็นโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Thabeikkyin ทางเหนือของ Mandalay

ดังนั้น ประเด็นก็คือ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่มีข้อสงสัย ผมเห็นว่า จะต้องมีการตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยจะต้องมีกลไกในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็น IAEA หรือ อาเซียน

หากพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านติดกับพม่า ไทยและอาเซียนคงจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ คงจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความชัดเจน

• สำหรับในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้มีการตีพิมพ์รายงานของนักวิชาการออสเตรเลีย โดยข้อมูลได้มาจากชาวพม่าที่แปรพักตร์ โดยบอกว่า กองทัพพม่าได้จัดตั้งฐานการพัฒนานิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2000 โดยโรงงานอยู่ใต้ดินในภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Naung Laing ใกล้เมือง Pyin Oo Lwin รายงานระบุว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยเหลือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ Naung Laing ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2012 และพม่าจะสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในปี 2020

กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่า เกาหลีเหนือช่วยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้กับพม่า ที่น่าจะสามารถมีหลักฐานและยืนยันได้ น่าจะเป็นการที่เกาหลีเหนือช่วยพม่าพัฒนาขีปนาวุธ ฐานปล่อยจรวด อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีทางทหารเท่านั้น