Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนจบ)

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนจบ)
ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2551 ปีที่ 56 ฉบับที่ 1


คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เอาผลการวิจัยของผมที่เพิ่งทำเสร็จไป มาสรุปให้ได้อ่านกัน งานวิจัยมีชื่อเรื่องว่า “ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในยุคหลัง-หลังสงครามเย็น”

งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงของเอเชียตะวันออกในอนาคต โดยได้วิเคราะห์ scenario ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบการเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ ระบบดุลแห่งอำนาจ การปะทะกันทางอารยธรรม และระบบภูมิภาคภิบาลโดยในตอนที่แล้ว ผมได้สรุปผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต และเสนอแนะแนวนโยบายต่างประเทศของไทย เพื่อรองรับต่อระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต โดยได้วิเคราะห์ถึงระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบการเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ ระบบดุลแห่งอำนาจ ไปแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อถึง scenario ของระบบภูมิภาคภิบาล และการปะทะกันทางอารยธรรม ดังนี้

ภูมิภาคภิบาล

หากวิเคราะห์ความมั่นคงระหว่างประเทศ ตามแนวอุดมคตินิยม จะเห็นภาพได้ว่า โลกกำลังจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไป เรื่องของขั้วอำนาจจะเป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัย โลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ความมั่นคงระหว่างประเทศ จะไม่ได้ถูกกำหนดโดยขั้วอำนาจหรือมหาอำนาจ แต่ความมั่นคงระหว่างประเทศในอนาคต จะมีตัวแสดงที่หลากหลาย โดยเฉพาะสถาบันระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ กฎระเบียบระหว่างประเทศ องค์กรข้ามชาติต่างๆ ดังนั้น ในอนาคตในระยะยาว ความมั่นคงระหว่างประเทศ จะมีวิวัฒนาการคล้ายการเมืองภายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และคล้ายสังคมภายในประเทศมากขึ้น การเมืองภายในประเทศ จะมีสถาบันทางสังคม รัฐบาล สภา พรรคการเมือง กลุ่มต่างๆในสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ความมั่นคงระหว่างประเทศกำลังมุ่งไปสู่ระบบที่คล้าย ๆ กับเป็นกึ่งรัฐบาล กึ่งสังคมโลก คือมีสถาบันทางสังคมระหว่างประเทศ มีองค์การระหว่างประเทศ มีกฎหมายระหว่างประเทศ

มองในแง่โอกาสของไทย ในโลกใบใหม่ที่จะเป็นโลกาภิบาล ที่ระบอบหรือสถาบันความมั่นคงระหว่างประเทศจะมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ประเทศมหาอำนาจ ขั้วอำนาจต่างๆ ลดบทบาทและอำนาจลง มองในแง่นี้ ก็อาจเป็นผลดีต่อไทย ที่จะลดภัย "อันธพาล" จากเจ้าครองโลกอย่างเช่นสหรัฐฯ ดังนั้นนโยบายไทยในระยะยาว ต้องลดนโยบาย "pro" สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กระแสโลกาภิบาลและกระแสโลกาภิวัตน์ นอกจากจะเป็นคุณ ก็จะเป็นโทษต่อรัฐไทย โดยจะทำให้รัฐไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตยลงไปเรื่อย ๆ บทบาทของรัฐจะถูกลิดรอนลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่บทบาทของระบอบระหว่างประเทศ สถาบันระหว่างประเทศ จะเพิ่มอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐไทย ที่จะต้องปฏิบัติและมีพฤติกรรมตามกฎระเบียบโลกมากขึ้น

สำหรับในระดับภูมิภาค หากวิเคราะห์ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกตามแนวเสรีนิยม จะเห็นภาพ ตามที่ได้วิเคราะห์แล้วในเรื่องโลกาภิบาลในระดับโลกคือ ขั้วอำนาจกำลังเป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัย ความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาค จะวิวัฒนาการไปสู่ความเป็นระบอบ (regime) โดยมีสถาบันทางสังคมในภูมิภาค องค์การระหว่างประเทศ กฎระเบียบระหว่างประเทศ โดยอาเซียน และ ASEAN Regional Forum (ARF) จะมีพัฒนาการเป็นสถาบันระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับนโยบายต่างประเทศไทยต่อภูมิภาคก็เช่นเดียวกันกับนโยบายไทยในระดับโลกคือ จะต้องปูพื้นฐานสำหรับโลกใบใหม่ ที่กำลังพัฒนาขึ้นในภูมิภาค คือ ภูมิภาคภิบาล (regional governance) นโยบายต่างประเทศไทย ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับ พัฒนาการของระบอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ อาเซียน ARF และสำหรับสถาบันในภูมิภาค ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตด้วย

ดังนั้น ในระยะยาว ระบบภูมิภาคภิบาล (regional governance) พัฒนาการของสถาบันและกฎระเบียบในภูมิภาคจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของประชาคมความมั่นคงอาเซียน และประชาคมความมั่นคงเอเชียตะวันออก ดังนั้น ไทยจึงต้องรีบเข้าไปมีบทบาท ในพัฒนาการของระบบภูมิภาคภิบาล ดังกล่าว

การปะทะกันระหว่างอารยธรรม

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้อีกแนวทางหนึ่ง (scenario) ที่ในระยะยาว ระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ อาจจะวิวัฒนาการเป็น 2 ขั้ว (bi-polar system) จากบทวิเคราะห์ของ Samuel Huntington ใน The Clash of Civilizations โลกกำลังจะเป็น 2 ขั้วคือ ขั้วตะวันตกกับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก และความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วนี้ จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

ใน "scenario" ของการปะทะกันระหว่างอารยธรรม เอเชียจะมีบทบาทอย่างไร ในการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ตามแนวคิดของ Huntington จีนจะเป็นตัวแสดงหลักของขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก ที่จะขัดแย้งกับสหรัฐฯและยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาวะเช่นนี้ ประเทศอื่นๆจะกำหนดท่าทีอย่างไร จะเข้าร่วมกับขั้วจีนต่อต้านตะวันตก หรือจะกำหนดท่าทีในลักษณะอื่น

ไทยจะกำหนดบทบาทอย่างไร ไทยคงไม่สามารถไปอยู่ในขั้วตะวันตกได้ เพราะไทยไม่ใช่ตะวันตก ตะวันตกก็ไม่เอาไทย นโยบายไทยใน scenario นี้ จะเข้าหาขั้วประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งก็คือจีนกับอิสลาม อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะไทยไม่ใช่อารยธรรมอิสลามหรือขงจื้อ แต่เป็นอารยธรรมพุทธ เพราะฉะนั้น ไทยจึงอาจเป็นเพียงตัวประกอบของความขัดแย้งหลัก คือความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลามและจีน คืออาจเป็นอารยธรรมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-aligned Civilization)

หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างอารยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างตะวันตกกับอิสลาม ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล Bush ในการปราบปรามขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาล Bush เชื่อในทฤษฎีโดมิโนใหม่ คือการปฏิรูประบบการเมืองในตะวันออกกลาง การใช้ลัทธิ Bush Doctrine ทำสงครามจิตวิทยา เพื่อจะกำราบขบวนการก่อการร้าย ชาวอาหรับและชาวมุสลิม แต่ยุทธศาสตร์ของ Bush กลับยิ่งเพิ่มกระแสของการเกลียดชังสหรัฐฯ และตะวันตกไปทั่วโลกอาหรับและโลกมุสลิม ขบวนการก่อการร้ายก็เพิ่มมากขึ้น

ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งถือเป็นภัยต่อไทย ไทยจึงต้องพยายามดำเนินนโยบายสายกลาง แบบ “บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” และควรจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยควรจะเป็นยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ ที่เป็นนโยบายในเชิงบวกที่จะแก้ปัญหาการก่อการร้ายสากล โดยเน้นการแก้ที่รากเหง้าของปัญหา
หากเกิดความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจะทำอย่างไร ทางออกที่ดีที่สุดคือ ไทยควรจะเป็นกลาง แต่ไทยจะเป็นกลางได้หรือไม่ อย่างที่ประธานาธิบดีบุชบอกว่า “You’re with us or you’re against us.” เมื่อไทยเป็นกลางไม่ได้ ก็ต้องพยายามปรับนโยบายให้มีความสมดุล ทำอย่างไรให้ตะวันตกรู้สึกว่า ไทยไม่ใช่ศัตรู เป็นพันธมิตร แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อไทย

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อไทย

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อไทย
ลงพิมพ์ในไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2551 ปีที่ 12 ฉบับที่ 4349

กรณีวิกฤติการเงินสหรัฐในขณะนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจฟองสบู่สหรัฐได้แตกแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

วิกฤติการเงินสหรัฐ

วิกฤติการเงินสหรัฐ ได้ส่อเค้าบานปลายมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้น เราเรียกว่าวิกฤติ subprime หรือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ต้นตอเป็นผลมาจาก ปัญหาที่เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ที่เป็นผลมาจากการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในตอนนั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ผลกระทบของวิกฤติ subprime จะไม่รุนแรงมากนัก

อย่างไรก็ตาม อยู่ดีๆเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็มีข่าวช็อคโลก เมื่อสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐคือ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย และสถานการณ์ทำท่าจะกลายเป็นภาวะลูกโซ่ หรือภาวะโดมิโน คือทำท่าว่า สถาบันการเงินจะล้มตามกันไปกันใหญ่ ต่อมา สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกสถาบันคือ Merrill Lynch ก็ถูกขายให้ Bank of America และที่น่าตกใจมากคือ American International Group หรือ AIG ดูท่าว่าจะล้มตาม

ในตอนแรก รัฐบาลสหรัฐยังกัดฟันยึดหลักการ “รัฐบาลไม่แทรกแซงกลไกตลาด” โดยยอมปล่อยให้ Lehman Brothers เจ๊ง แต่พอมาถึงกรณี AIG รัฐบาลบุชเห็นว่า คงจะปล่อยให้ล้มละลายไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบมหาศาล หลังจากนั้น รัฐบาลบุชจึงต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ด้วยการเข้ามาอุ้ม AIG ด้วยเงินกู้จำนวนถึง 85,000 ล้านเหรียญ โดยรวมแล้ว รัฐบาลบุชได้อัดฉีดเงินไปแล้วกว่า 180,0000 ล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปอุ้ม AIG ก็ยังไม่สามารถหยุดเลือดแผลวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ โดยต่อมา มีข่าวออกมาว่า Morgan Stanley และ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกสองแห่ง มีท่าว่ากำลังจะล้ม โดยราคาหุ้นของ Morgan Stanley ตกลงถึง 24% ในวันเดียว

ล่าสุด ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ รัฐบาลบุชกำลังเสนอสภาคองเกรสให้อนุมัติเงินช่วยเหลือในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นจำนวนถึง 700,000 ล้านเหรียญ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากสภา ซึ่งเงินจำนวน 700,000 ล้านเหรียญนั้น เป็นการประเมินขั้นต่ำ แต่ถ้าสถานการณ์ย่ำแย่ลง รัฐบาลบุชอาจต้องใช้เงินถึง 1 ล้านล้านเหรียญ

สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ โดยก่อนหน้านี้ Barack Obama ตกเป็นรอง John Mccain โดยเฉพาะหลังจาก Mccain ได้เลือก Sarah Palin ผู้ว่าการรัฐอลาสก้า มาร่วมชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤติการเงิน Obama ก็กลับมาเป็นต่อ ทั้งนี้เพราะคนอเมริกันมีแนวโน้มที่จะโยนความผิดไปที่พรรค Republican ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนี้ที่ทำให้เกิดวิกฤติ

โดย Obama ได้ออกมาโจมตี Mccain ที่มีแนวคิดสนับสนุนกลไกตลาดและการเปิดเสรี Mccain ได้ย้ำมาตลอดว่า การที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมระบบการเงินนั้น เป็นสิ่งไม่จำเป็น Obama ได้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิด และบอกว่าฝันร้ายของ Wall Street ในขณะนี้ เป็นผลมาจากแนวคิดแนวเดียวกับของ Mccain ที่ต่อต้านการที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมสถาบันการเงิน โดย Obama ได้เสนอแนวทางการแก้ไขระบบการเงินสหรัฐหลายประการด้วยกัน อาทิ สถาบันการเงินที่จะกู้เงินจากรัฐบาลจะต้องได้รับการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน ต้องมีการส่งเสริมองค์กรควบคุมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องจัดการกับพวกนักเล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน และต้องมีการจัดตั้งกระบวนการในการระบุถึงความเสี่ยงก่อนที่จะกลายเป็นวิกฤติ

ผลกระทบต่อไทย

โดยภาพรวมแล้ว ผลกระทบของวิกฤติการเงินสหรัฐต่อไทยนั้น ผลกระทบทางตรงอาจจะมีไม่มาก เพราะการล้มละลายน่าจะจำกัดวงอยู่ในสถาบันการเงินสหรัฐ และถ้าหากรัฐบาลบุชสามารถอัดฉีดเงินอุ้มสถาบันการเงินจำนวน 1 ล้านล้านเหรียญ ก็น่าจะเอาอยู่ นอกจากนี้วิกฤติคราวนี้ คงจะไม่ก่อให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรอบ 2 ทั้งนี้เพราะหลายๆประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทย เคยได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และได้มีมาตรการการรับมือโดยเฉพาะการสำรองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรอบ 2 เป็นไปได้ยาก หลายๆประเทศในเอเชีย เตรียมรับมือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ด้วยการหันมาเน้นกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ สร้างการรวมกลุ่มทางการค้าในภูมิภาค และแสวงหาตลาดทางเลือกอื่นๆเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐต่อไทย จะเป็นไปในลักษณะทางอ้อมมากกว่า โดยเป็นผลเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ นำไปสู่การถดถอยของการบริโภค ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ และการลงทุนของสหรัฐในไทย
วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นในประเทศต่างๆ ดัชนีราคาหุ้นได้ตกต่ำลงอย่างมาก ซึ่งรวมถึงดัชนีตลาดหุ้นของไทยก็ตกต่ำลงอย่างมาก

สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนของสหรัฐในไทยนั้น เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐลงทุนในไทย มีมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐถือเป็นประเทศที่มาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น แต่จากวิกฤติคราวนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้การลงทุนของสหรัฐในไทย ลดลงอย่างแน่นอน

สำหรับผลกระทบทางด้านการค้านั้น น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ทั้งนี้เพราะแนวโน้มการลดลงอย่างมากของการบริโภคในสหรัฐ ในอดีตนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การบริโภคในสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 4% ต่อปี ทำให้การบริโภคคิดเป็น 72% ของ GDP สหรัฐ แต่จากวิกฤติคราวนี้ คงจะทำให้การบริโภคลดลงเป็นอย่างมาก อาจถึงขั้นติดลบ คือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งการลดลงของการบริโภค จะนำไปสู่การลดลงของอุปสงค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐ

อย่าลืมว่า สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ถึงแม้ว่าหลายปีที่ผ่านมาไทยจะพยายามกระจายตลาดส่งออกมากขึ้น แต่สหรัฐก็ยังครองอันดับ 1 อยู่นั่นเอง เมื่อปีที่แล้ว ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญ หรือ เกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าหลักๆที่ไทยส่งออกไปสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบ คงหนีไม่พ้นสินค้าสิ่งทอ สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

นอกจากผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อมอีก คือเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจและการค้าโลกหดตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาดอื่นๆด้วย โดยเฉพาะ ตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
ในกรณีของจีน เริ่มมีแนวโน้มแล้วว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐที่ลดลง ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนโตเกินกว่า 10% มาโดยตลอด แต่ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นเศรษฐกิจจีนโตไม่ถึง 10% ในปีหน้า

นอกจากนี้ สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ก่อนหน้านี้ ก็มีสภาพย่ำแย่อยู่แล้ว คือ เศรษฐกิจโตเพียง 2% และเช่นเดียวกับหลายๆประเทศในเอเชีย ตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น คือตลาดสหรัฐ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือติดลบ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กลับมาหาไทย คือจะทำให้ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นได้น้อยลงด้วย