Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทย

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะนำเสนอยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทยดังนี้

            ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

            ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 ประชาคมย่อยได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

               สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community  หรือเรียกย่อว่า ASCC โดย ASCC จะให้ความสำคัญกับ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               ด้านการพัฒนามนุษย์ จะเน้นในเรื่องความร่วมมือทางด้านการศึกษา

               ด้านสวัสดิการสังคม ASCC จะส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยลดความยากจนและส่งเสริมการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

                ด้านสิทธิทางสังคม อาเซียนมีพันธกรณีในการส่งเสริมความยุติธรรม และสิทธิของประชาชน โดยเน้นการปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน และยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานการดำรงชีวิต สำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

               สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมใน Blueprint ของ ASCC ได้เน้นว่า อาเซียนจะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสะอาด

               และสำหรับในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ ASCC ให้ความสำคัญคือ จะเน้นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน

               ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทย

               ไทยควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเข้าสู่ ASCC ได้อย่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรมีรูปร่างหน้าตาดังนี้

               วิสัยทัศน์ ของยุทธศาสตร์ ASCC ของไทยคือ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

โดยจะมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้

               ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนามนุษย์

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ ส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำในด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน

               โดยจะมีกลยุทธ์หลักๆ คือ การส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียนมากขึ้น การส่งเสริมและเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีในด้านการศึกษา การส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค

               ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้ คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และให้ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมสวัสดิการสังคมมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือของ ASCC การส่งเสริมความร่วมมือในด้านสวัสดิการสังคมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และการมีมาตรการรองรับผลกระทบทางสังคม ที่เป็นผลมาจากประชาคมอาเซียน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของไทย

               การจัดการกับภัยพิบัติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ โดยกลยุทธ์ที่สำคัญของไทยในด้านนี้คือ การส่งเสริมการสร้างระบบบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับภูมิภาค ให้มีบูรณาการ โดยให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความร่วมมือในด้านนี้ และให้ไทยมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการภัยพิบัติในอาเซียน

               ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ การส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิ และให้ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการสำหรับสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ การส่งเสริมความร่วมมือในการคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาส ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การคุ้มครองสิทธิแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน โดยการกำหนดมาตรการบริหารจัดการกับปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมายในไทย และกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบในทางลบจากแรงงานต่างด้าว 

               ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การปรับประสานกฎระเบียบด้านมาตรฐานและมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างศักยภาพของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

               ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้ คือ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะ และวัฒนธรรมของอาเซียน

               ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมการตระหนักการรับรู้เกี่ยวกับอาเซียน และความรู้สึกของการเป็นประชาคม ด้วยการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาเซียน เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาคมอาเซียน

               นอกจากนี้ กลยุทธ์อีกประการคือ การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน ด้วยการพัฒนาความร่วมมือเชื่อมโยงด้านศิลปวัฒนธรรมกับประเทศอาเซียน การพัฒนาจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นประตูวัฒนธรรมสู่อาเซียนหรือ ASEAN Culturul Gateway รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในประชาคมอาเซียน ในมิติทางสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Cultural Literacy) ให้แก่ประชาชนและสังคมไทยด้วย