Follow prapat1909 on Twitter

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การกอบกู้วิกฤติการเงินโลก

การกอบกู้วิกฤติการเงินโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ที่ 17 - วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม 2551

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วิกฤติการเงินสหรัฐได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก โดยในตอนแรกได้ระบาดเข้าไปในยุโรป สถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งในยุโรป ทำท่าจะล้มละลาย ตลาดหุ้นในสหรัฐและในยุโรปตกลงอย่างมาก โดยตลาดหุ้นรัสเซียตกลงถึง 19% หลังจากนั้นวิกฤติการเงินได้ระบาดไปภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก ในอเมริกาใต้ ตลาดหุ้นบราซิลตกลงถึง 5.4% ตลาดหุ้นอาร์เจนตินาตกลง 6% สำหรับตลาดหุ้นในเอเชียก็ได้ตกลงอย่างมาก เรียกว่า แดงยกแผง ท่ามกลางกระแสความหวาดวิตกถึงแนวโน้มการลุกลามของวิกฤติการเงินโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่น และตลาดหุ้นอินโดนีเซียตกลงถึง 10%

G-7

หลังจากนั้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้มีความพยายามของกลุ่มประเทศร่ำรวยและองค์กรการเงินโลก ที่จะหาหนทางในการกอบกู้วิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ ที่นับว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษ 1930

โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลัง G-7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวยที่สุด 7 ประเทศ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการในการกอบกู้วิกฤติ โดย G-7 ได้ประกาศว่าจะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับตลาดการเงิน โดยมีมาตรการสำคัญได้แก่ มาตรการสนับสนุนสถาบันการเงินและป้องกันการล้มละลาย มาตรการที่จะทำให้ตลาดการเงินและตลาดเงินกู้ขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยการให้หลักประกันต่อสถาบันการเงิน ในเรื่องของการสร้างสภาพคล่องและเงินทุน นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมให้มีการให้หลักประกันต่อบัญชีเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงของบัญชีเงินฝาก

หลังจาก G-7 ประกาศแผนปฏิบัติการออกมา รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาสนับสนุนแผนดังกล่าว โดยประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศเพื่อพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่า ขณะนี้ประชาคมโลกกำลังร่วมมือกัน และในที่สุดคงจะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ หลังจากนั้น กลุ่ม G-20 และ IMF ได้ประกาศสนับสนุนแผนดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า แผนปฏิบัติการของ G-7 ไม่น่าจะใช่แผนปฏิบัติการ เพราะเป็นเพียงการประกาศนโยบาย และหลักการอย่างกว้างๆโดยไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรม

G-20

หลังจากนั้น ในวันที่ 11 ตุลาคม ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G-20 ซึ่งประเทศสมาชิกประกอบด้วย ประเทศ G-8 บวกกับประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังมาแรง อย่างเช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ บราซิล เป็นต้น กลุ่ม G-20 ได้จัดทำแถลงการณ์ออกมา โดยต้องการส่งสัญญาณเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับระบบการเงินโลก แต่ในเนื้อหาของแถลงการณ์ก็ไม่ได้มีมาตรการเป็นรูปธรรม คล้ายๆกับแผนปฏิบัติการของ G-7 คือเป็นการประกาศนโยบายอย่างกว้างๆเท่านั้น โดยเน้นว่า กลุ่ม G-20 จะร่วมมือกันเพื่อกอบกู้วิกฤติการเงินโลก โดยจะร่วมมือกันในการส่งเสริมการควบคุม ตรวจสอบตลาดการเงินของโลก และจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับตลาดการเงินโลก

กลุ่ม G-20 นั้น รวมกันแล้วทั้งกลุ่มมีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 85% ของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการประกาศนโยบายของกลุ่มนี้ ย่อมมีน้ำหนักต่อการสร้างความเชื่อมั่น

IMF

และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมประจำปีของ IMF ที่กรุง Washington D.C. ซึ่งมีสมาชิก 185 ประเทศ ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดของการประชุมคือ มาตรการกอบกู้วิกฤติการเงินโลก โดยที่ประชุมได้ประกาศสนับสนุนแผนปฏิบัติการของ G-7 ว่า น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกได้

นาย Dominique Strauss-Kahn ผู้อำนวยการ IMF ก็ได้ออกมากล่าวว่า การประชุม IMF ได้ประสบความสำเร็จ เพราะสมาชิกมีมติเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินโลก ก่อนหน้านี้ นาย Strauss-Kahn ได้ออกมาเตือนว่า ระบบการเงินโลกกำลังจะล่มสลาย และว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้า จะชะลอตัวลงอย่างมาก และการฟื้นตัวคงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน โดยได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะตกต่ำถึงจุดเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession นาย Strauss-Kahn ยังได้เสนอว่า IMF พร้อมจะช่วยเหลือประเทศสมาชิก โดยต่อมาได้มีข่าวว่า ไอซ์แลนด์ อาจจะเป็นประเทศแรกที่จะขอความช่วยเหลือจาก IMF

สหรัฐ

สำหรับรัฐบาลสหรัฐ ในช่วงสุดสัปดาห์ ก็ได้รีบประกาศแผนกอบกู้วิกฤติการเงินสหรัฐอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐ คือ นาย Henry Paulson ได้ประกาศที่จะผลักดันแผนการใช้เงิน 700,000 ล้านเหรียญ โดยมีแผนที่จะซื้อหนี้เสียต่างๆจากทางธนาคาร และรวมถึงการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารสหรัฐหลายแห่ง แผนเหล่านี้ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐจะเข้าแทรกแซงสถาบันการเงิน หลังจากที่เคยเข้าแทรกแซงสถาบันการเงินในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930

ยุโรป

สำหรับสหภาพยุโรป ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เดินหน้าเต็มที่ในการประกาศมาตรการกอบกู้วิกฤติการเงิน โดยได้มีการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ประธาน EU ปัจจุบัน ได้พยายามผลักดันแผนกอบกู้วิกฤติของ EU โดยนาย Sarkozy ได้พยายามประสานกับผู้นำเยอรมันคือ Angela Merkel อย่างใกล้ชิด ซึ่งฝรั่งเศสกับเยอรมนีนั้น เล่นบทบาทการเป็นผู้นำของ EU มาโดยตลอด โดย EU ได้ตกลงในแผนการกอบกู้วิกฤติในลักษณะเดียวกับที่อังกฤษได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การประกาศการค้ำประกันเงินกู้ระหว่างธนาคาร และอัดฉีดเงินเข้าสู่ธนาคารเพื่อป้องกันการล้มละลาย โดยแผนของ EU ได้เลียนแบบแผนของรัฐบาลอังกฤษที่ได้ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่จะอัดฉีดเงินถึง 63,000 ล้านเหรียญ เพื่อป้องกันธนาคาร 3 แห่งไม่ให้ล้มละลาย คือ ธนาคาร Royal Bank of Scotland, HBOS และ Lloyds TSB

กล่าวโดยสรุป ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาและช่วงต้นสัปดาห์นี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั้งยุโรป และสหรัฐ ได้ประสานเป็นเสียงเดียวกันในการประกาศแผนกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ โดยการประกาศอัดฉีดเงินเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ธนาคารล้มละลาย การให้หลักประกันเงินกู้ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน แผนต่างๆทั้งของรัฐบาลประเทศต่างๆและจากการประกาศจุดยืนของ G-7 G-20 และ IMF ได้เริ่มส่งผลในทางบวกต่อระบบการเงินโลก โดยเห็นได้ชัดว่า ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ได้ปรับตัวดีขึ้น

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อสถานะอภิมหาอำนาจของอเมริกา

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อสถานะอภิมหาอำนาจของอเมริกา
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 10 - พฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม 2551

วิกฤติการเงินสหรัฐในขณะนี้ กำลังจะส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย ต่อสถานะความเป็นอภิมหาอำนาจของอเมริกา คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐ

ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามเย็น สหรัฐได้กลายเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุดในโลก โดยสหรัฐมีองค์ประกอบแห่งอำนาจ 4 ด้านด้วยกัน

องค์ประกอบที่ 1 ด้านการทหาร อำนาจทางทหารของสหรัฐ ไม่มีใครเทียบเคียงได้ งบประมาณรายจ่ายทางทหารของสหรัฐมหาศาล หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งบทหารของสหรัฐคิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบทหารของโลกรวมกันทั้งหมด ในปัจจุบัน ประมาณ 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่รองๆลงมาไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย ก็เทียบไม่ติด

องค์ประกอบที่ 2 คือ อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คิดเป็น 50% ของโลก ตอนนี้ก็ลดลงมาอยู่ประมาณ 20% แต่สหรัฐก็ยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือ GDP มีมูลค่า ประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญ

องค์ประกอบที่ 3 ทางด้านเทคโนโลยี อเมริกาก็มีความเหนือกว่าอย่างมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ อเมริกาครอบงำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่าประเทศอื่นทั้งหมด

และองค์ประกอบที่ 4 คือ ทางด้านวัฒนธรรม การครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกาออกมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ ตัวแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ระบบการเมืองประชาธิปไตย การศึกษา ภาพยนตร์ เพลง และวัฒนธรรมต่างๆอีกมากมาย การครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกา วิถีชีวิตแบบอเมริกัน กลายเป็นวิถีชีวิตที่คนต่างๆในโลกชื่นชม และอยากจะเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว

ผลกระทบของวิกฤติการเงินต่อพลังอำนาจของอเมริกา

ที่กล่าวข้างต้นนั้นคือ อำนาจของอเมริกาทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ในอนาคตกำลังมีคำถามใหญ่ในการเสื่อมถอยอำนาจของสหรัฐ โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่รุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่สุดในปี 1929

อำนาจทางทหารและอำนาจทางเทคโนโลยีนั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยเป็นที่ชัดเจนว่า อำนาจทางเศรษฐกิจของอเมริกาคงจะถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้อำนาจทางทหารและเทคโนโลยีถดถอยไปด้วย

เรามาดูรายละเอียดของอำนาจทางเศรษฐกิจ

เป็นที่แน่ชัดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐคงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ก่อนหน้านี้ มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า จีนซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก อาจแซงหน้าสหรัฐในการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการประเมินช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงิน คือ ประมาณปี 2025 หรือ 2050 แต่ผลจากวิกฤติ อาจจะทำให้จีนไล่ทันอเมริกาได้เร็วขึ้นอีก

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สหรัฐครองความเป็นเจ้าในระบบการเงินโลก แต่หลังเกิดวิกฤติ รัฐมนตรีคลังของเยอรมัน ถึงกับประกาศว่า สหรัฐกำลังจะสูญเสียสถานะการเป็นอภิมหาอำนาจในระบบการเงินโลก

นอกจากนั้น คำถามใหญ่ในอนาคตคือ นิวยอร์กจะสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกในอนาคตหรือไม่ ผมมองว่า ถึงแม้สถานะของนิวยอร์กอาจจะสั่นคลอน แต่คู่แข่งของนิวยอร์กอย่างเช่น นครลอนดอน ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ด้วย

คำถามต่อมา คือ สถานะของเงินดอลลาร์ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เงินดอลลาร์ถือเป็นเงินสกุลหลักของโลก และสามารถทำให้สหรัฐครองความเป็นเจ้าในโลกได้ แต่จากวิกฤติการเงินครั้งนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า สถานะของเงินดอลลาร์กำลังจะเสื่อมลง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมองต่อไปว่า แล้วเงินสกุลใดจะเข้ามาแทนที่เงินเหรียญสหรัฐ คำตอบก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะ เงินสกุลหลักอื่นๆของโลกก็ยังไม่สามารถขึ้นมาแทนที่เงินดอลลาร์ได้ อย่างเช่น เงินเยนของญี่ปุ่น หรือเงินยูโร ดูแล้วก็คงยากที่จะมาแทนที่เงินดอลลาร์

องค์ประกอบของพลังอำนาจสหรัฐอีกด้านหนึ่ง ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว คืออำนาจทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งผลกระทบชัดเจน คือ ความสั่นคลอนของตัวแบบทุนนิยมแบบอเมริกัน ในอดีตที่ผ่านมา หลักการเศรษฐกิจที่ครอบงำโลก เราเรียกว่า ฉันทามติวอชิงตัน (Washington consensus) ซึ่งเน้นหลักกลไกตลาด การเปิดเสรี แต่หลังจากการเกิดวิกฤติการเงินครั้งนี้ ได้ทำให้ฉันทามติวอชิงตัน สั่นคลอนลงไปเป็นอย่างมาก

ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ที่มาของวิกฤติครั้งนี้ คือ การที่รัฐบาลสหรัฐปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากเกินไป และไม่ได้เข้าไปควบคุมสถาบันการเงิน ขณะนี้ จึงเริ่มมีแนวคิดใหม่ ในการเน้นนโยบายเข้าควบคุมสถาบันการเงิน และการปฏิรูประบบการเงิน

ดูเหมือนกับว่า ตัวแบบเศรษฐกิจแบบจีน ที่เราเรียกว่า ฉันทามติปักกิ่ง ที่เน้นการที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวแบบระบบเศรษฐกิจแบบของเยอรมันและฝรั่งเศสซึ่งมีลักษณะกึ่งสังคมนิยม กำลังได้รับการสนใจมากขึ้น

ประธานาธิบดี Sarkozy ถึงกับประกาศกร้าวว่า กำลังจะจัดประชุมเวทีโลกเพื่อทบทวนระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน และประกาศว่า แนวคิดของฝรั่งเศสที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงระบบการเงินนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เช่นเดียวกับ นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ก็กล่าวโจมตีระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน โดยบอกว่าได้เคยเสนอให้มีมาตรการควบคุมระบบการเงินในการประชุม G-8 แต่ทั้งสหรัฐและอังกฤษก็ปฏิเสธข้อเสนอของนาง ในขณะที่ Putin ก็ได้กล่าวโจมตีถึงโรคระบาดวิกฤติการเงินสหรัฐที่กำลังจะเข้ามาระบาดในประเทศรัสเซีย แม้กระทั่ง George Soros นักค้าเก็งกำไรเงินตรา ที่เคยเป็นตัวการทุบค่าเงินบาทและค่าเงินของเอเชียในวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว ก็ยังยอมรับว่า ระบบทุนนิยมเสรีแบบสุดโต่ง กำลังประสบความล้มเหลว และมองว่าตัวแบบโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีได้เป็นตัวการนำไปสู่วิกฤติการณ์ในขณะนี้ Soros มองว่า เรากำลังมาถึงจุดสิ้นสุดของอุดมการณ์เสรีนิยมแบบสุดโต่ง

ดังนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่า ตัวแบบทุนนิยมเสรีแบบสุดโต่งที่สหรัฐสนับสนุนมาโดยตลอด กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน และกำลังมีการแสวงหาตัวแบบใหม่ที่ลดความสุดโต่งลง ซึ่งก็เท่ากับกระทบอย่างหนักต่อตัวแบบของอเมริกัน พูดในภาษาชาวบ้านก็คือ อเมริกากำลังเสียยี่ห้อ

แนวโน้มของระบบการเงินโลกกำลังจะเปลี่ยนไป จากระบบ 1 ขั้วอำนาจที่มีสหรัฐครองความเป็นเจ้าเพียงหนึ่งเดียว ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจที่มีหลายๆประเทศกำลังจะเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะจากยุโรปและเอเชีย

วิกฤติการเงินโลก

วิกฤติการเงินโลก
ไทยโพสต์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 4363 วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2551

ขณะนี้วิกฤติการณ์การเงินสหรัฐได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลกแล้ว เรากำลังเข้าสู่ยุควิกฤติการเงินโลก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์วิกฤติการเงินของโลก โดยมีรายละเอียดดังนี้

ยุโรป

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วิกฤติการเงินสหรัฐได้ลุกลามระบาดเข้าไปในยุโรป โดยสถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งในยุโรปทำท่าจะล้มละลาย

ในเยอรมนี รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยอุ้มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ชื่อ Hypo Real Estate ซึ่งทำท่าว่ากำลังจะล้มละลาย ในตอนแรก รัฐบาลเยอรมันอัดฉีดเงินช่วยเหลือ ประมาณ 35,000 ล้านยูโร แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ จนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ประกาศอัดฉีดเงินเข้าไปอีก 50,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ต่อมาก็มีปัญหาธนาคาร Fortis ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในเบลเยี่ยม ทำท่าว่าจะล้มอีก ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก จำนวน 10,000 ล้านยูโร แต่ก็ยังเอาไม่อยู่

ในอังกฤษ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ธนาคารหลายแห่งถูกโอนไปเป็นของรัฐบาล โดยเฉพาะ Northern Rock Bank และ Bradford & Bingley

ที่หนักหนาสาหัสอีกประเทศคือ ประเทศเกาะเล็กๆชื่อ ไอซ์แลนด์ ค่าเงิน Krona ของไอซ์แลนด์ตกต่ำลงอย่างมาก โดยรัฐบาลได้เข้าควบคุมกิจการธนาคารใหญ่อันดับ 3 ชื่อ Glitnir ในกรณีของไอซ์แลนด์นั้น เป็นกรณีพิเศษ เพราะสำหรับประเทศในยุโรปอื่นๆนั้น รัฐบาลพยายามจะช่วยเหลือธนาคาร แต่สำหรับไอซ์แลนด์นั้น วิกฤติกำลังจะทำให้ประเทศทั้งประเทศล้มละลาย ทั้งนี้เพราะธนาคารได้ขยายกิจการออกไปมาก และมีสินทรัพย์มากกว่า GDP ของประเทศถึง 10 เท่า

สำหรับประเทศในยุโรปอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า โดยธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 1ของอิตาลี ชื่อ Unicredit ก็ทำท่าว่าจะล้ม ทำให้ธนาคารต้องประกาศเพิ่มทุนอีก 6.6 พันล้านยูโรเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่น และตลาดหุ้นรัสเซีย ก็ตกลงถึง 19% ซึ่งนับว่าเป็นวันที่หุ้นตกต่ำมากที่สุดนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ดังนั้น เมื่อวิกฤติการเงินลุกลามใหญ่โตเช่นนี้ สหภาพยุโรปจึงได้จัดการประชุมสุดยอดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ ฝรั่งเศสเป็นประธาน EU จึงได้มีการประชุมกันที่กรุงปารีส แต่การประชุมก็ประสบความล้มเหลวในการประกาศแผนกอบกู้วิกฤติเช่นเดียวกับแผนของสหรัฐที่มีวงเงินถึง 700,000 ล้านเหรียญ กลายเป็นว่าแต่ละประเทศต่างคนต่างเอาตัวรอด ต้องช่วยธนาคารของตัวเอง ถึงแม้ว่า ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศส และผู้นำจากยุโรปอีกหลายชาติจะประกาศว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดการล้มละลายอย่างกรณีของ Lehman Brothers ขึ้นในยุโรป แต่ก็ไม่สามารถตกลงถึงแผนกอบกู้วิกฤติของ EU ร่วมกันได้

ละตินอเมริกา

วิกฤติการเงินสหรัฐ นอกจากได้ระบาดไปทั่วยุโรปแล้ว ยังได้ระบาดไปยังภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก สำหรับในละตินอเมริกา และในอเมริกาใต้ ก็ไม่รอดพ้นจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจ โดยตลาดหุ้นบราซิลตกลงถึง 5.4% ตลาดหุ้นอาร์เจนตินาตกลงถึง 6%

สำหรับละตินอเมริกาแล้ว วิกฤติการณ์ทางการเงินดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ เพราะได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ ปี 1995 ที่เม็กซิโก โดยในครั้งนั้น สหรัฐได้เข้ามาช่วยด้วยเงิน 50,000 ล้านเหรียญ และดูเหมือนกับว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคได้พยายามปฏิรูประบบการเงินเพื่อให้ปลอดจากวิกฤติ โดยบราซิล เม็กซิโก และชิลี ได้มีการสำรองเงินทุนระหว่างประเทศไว้ ได้มีการปฏิรูปสถาบันการเงิน และมีการควบคุมสถาบันการเงินที่เข้มงวดกวดขันมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บราซิลได้พยายามกระจายตลาดการส่งออกจากในอดีตที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐถึง 50% ในขณะนี้ ลดลงเหลือ 15% แต่ก็ยังคงมากอยู่

อย่างไรก็ตาม วิกฤติการเงินรอบใหม่คราวนี้ กำลังลุกลามระบาดไปทั่วโลก และดูเหมือนละตินอเมริกาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เอเชีย

สำหรับในเอเชีย ก็มีลักษณะคล้ายๆละตินอเมริกา คือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เอเชียได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว โดยได้มีการปฏิรูประบบการเงิน เพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และกระจายตลาดการส่งออก

แต่วิกฤติคราวนี้ ดูจะรุนแรงเกินกว่าที่เอเชียจะหลีกเลี่ยงได้ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในเอเชียได้ตกลงอย่างมาก ท่ามกลางกระแสความหวาดวิตกถึงแนวโน้มการลุกลามของวิกฤติการเงินโลก และถึงแม้ว่าสภาคองเกรสจะได้อนุมัติเงินกอบกู้วิกฤติสหรัฐจำนวน 700,000 ล้านเหรียญ และทางสหภาพยุโรปจะได้มีการประชุมสุดยอดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ทั้งในสหรัฐและในยุโรปก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นในเอเชียได้ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในเอเชีย ก็แดงยกแผง โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลงถึง 4.25% ต่ำสุดในรอบหลายปี ตลาดหุ้นฮั่งเส็งที่ฮ่องกง ตกลงถึง 4.3% ตลาดหุ้นที่เซี่ยงไฮ้ก็ตกลงถึง 5.2% และที่ตกลงอย่างมากคือตลาดหุ้นของอินโดนีเซียที่ตกลงถึง 10%

และขณะที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ คือวันพุธที่ 8 ตุลาคม ตลาดหุ้นในเอเชียยังคงดิ่งลงอย่างน่ากลัว โดยตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่นตกลงถึง 10% ซึ่งเป็นไปตามกระแสที่มาจากวอลสตรีทและดาวโจนส์ ซึ่งลดลงกว่า 500 จุด ตลาดหุ้นฮั่งเส็งตกลงอีก 5.6% ตลาดหุ้นเกาหลีตกลงอีก 6.1% และตลาดหุ้นอินโดนีเซียก็ตกลงอีก 10%

Worst case scenario ของเอเชีย ก็คือ จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรอบ 2 ได้หรือไม่ คำตอบคือ ความเป็นไปได้ของการเกิด ยังคงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะมาตรการต่างๆที่เป็นบทเรียนจากวิกฤติเมื่อ 10 ปีที่แล้วตามที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ การเพิ่มเงินทุนสำรอง การปฏิรูปสถาบันการเงิน สถาบันการเงินในเอเชียยังคงมีสถานะแข็งแกร่งอยู่ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียในปีนี้น่าจะยังคงดีอยู่

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มตลาดหุ้นในเอเชียที่ได้ตกลงอย่างมาก โดยตกลงไปแล้ว กว่า 30% ในช่วงปีนี้ น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึง ปัญหาที่จะรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มของปัญหาการส่งออก โดยในปีนี้ เราอาจจะเรียกว่าเป็นปีเผาหลอก ในปีหน้าน่าจะเป็นปีเผาจริง ทั้งนี้ เพราะผลกระทบจากสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลในปีหน้า ในที่สุดแล้วเอเชียคงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรควิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในครั้งนี้ได้

แต่ขณะนี้ หลายๆประเทศในเอเชียได้พยายามหามาตรการป้องกันด้วยการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ โดยไต้หวันได้ประกาศแผนอัดฉีด 5.6 พันล้านเหรียญ และเมื่อไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนองบประมาณเสริมจำนวนเงิน 17,000 ล้านเหรียญ สำหรับจีน ซึ่งในปีหน้าเศรษฐกิจคงจะโตไม่ถึง 10% ซึ่งคงจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะนี้รัฐบาลจีนก็กำลังจะประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

แต่จุดอ่อนของเอเชียคือ เอเชียยังคงพึ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ โดยมีสัดส่วนถึง 25% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย การใช้จ่ายในการบริโภคถดถอย ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งมีมากมายหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อโลก

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 2 วันศุกร์ที่ 3 - วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2551

วิกฤติการเงินสหรัฐ

วิกฤติการเงินสหรัฐในขณะนี้ กำลังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก วิกฤติการเงินครั้งนี้ เริ่มเป็นปัญหามาตั้งแต่เมื่อปี่ที่แล้ว ซึ่งเราเรียกว่าวิกฤติ subprime ต้นตอเป็นผลมาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ที่เป็นผลมาจากการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีข่าวช็อคโลก เมื่อสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ คือ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย และสถานการณ์ทำท่าจะลุกลามบานปลาย โดย Merrill Lynch ถูกขายให้ Bank of America และต่อมา American International Group หรือ AIG ทำท่าว่าจะล้มตาม ถึงขั้นรัฐบาลBushต้องเข้ามารีบอุ้ม AIG โดยการปล่อยเงินกู้จำนวน 85,000 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม การเข้าไปอุ้ม AIG ก็ยังไม่สามารถหยุดเลือดแผลวิกฤติครั้งนี้ได้ มีข่าวออกมาว่า Morgan Stanley และ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกสองแห่ง ก็ทำท่าว่ากำลังจะล้ม

ต่อมารัฐบาล Bush จึงได้รีบเสนอสภาคองเกรส ให้อนุมัติเงินกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจจำนวนถึง 700,000 ล้านเหรียญ แต่เมื่อวันที่ 30 กันยายนนี้ ก็มีข่าวช็อคโลกอีกครั้ง คือการที่ข้อเสนอดังกล่าวของรัฐบาล Bush ไม่ผ่านสภา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้น Dow Jones หุ้นตกลงถึง 777 จุด ถือเป็นการตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และก็พลอยทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกกันทั่วหน้า หลายฝ่ายกำลังกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า แผนการกอบกู้วิกฤติของรัฐบาลBush จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ผลกระทบต่อโลก

สถานการณ์วิกฤติการเงินสหรัฐกำลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก

วิกฤติสหรัฐได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นในประเทศต่างๆ ดัชนีราคาหุ้นได้ตกต่ำลงอย่างมาก
ผลกระทบของวิกฤติการเงินสหรัฐ อาจจะไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะสถาบันการเงินของสหรัฐเท่านั้น แต่มีแนวโน้มกำลังจะขยายวงระบาดเข้าสู่สถาบันการเงินต่างๆทั่วโลก โดยล่าสุด ได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในยุโรปหลายแห่งแล้ว และหากรัฐบาล Bushไม่สามารถอัดฉีดเงินอุ้มสถาบันการเงิน จำนวน 700,000 ล้านเหรียญได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และส่งผลให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายใหญ่โตขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า สำหรับในเอเชียนั้น วิกฤติคราวนี้ไม่น่าจะก่อให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรอบสอง ทั้งนี้เพราะหลายๆประเทศในเอเชีย เคยได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และได้มีมาตรการรับมือ โดยเฉพาะการเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งการสำรองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เป็นจำนวนมหาศาล

แต่วิกฤติคราวนี้ คงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมอย่างหนีไม่พ้น สมการง่ายๆก็คือ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกถดถอยไปด้วย โดยเฉพาะการถดถอยของการบริโภคในสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ และการลงทุนของสหรัฐในประเทศต่างๆ

ในช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี จะมีการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ โดยจะมีผู้นำของประเทศต่างๆทั่วโลกเข้าร่วมประชุมที่นิวยอร์ก สำหรับการประชุมครั้งนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุด คือเรื่องวิกฤติการเงินของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศต่างๆ ก็ออกมาในแนวเดียวกันคือ การโจมตีวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล Bush และเป็นกังวลต่อผลกระทบของวิกฤติสหรัฐต่อเศรษฐกิจโลก

ในอดีตนั้น เวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ก็มักจะมีแต่ศัตรูของสหรัฐที่ผู้นำจะใช้เป็นเวทีโจมตีสหรัฐ อย่างเช่น Fidel Castro ของคิวบา หรือ ประธานาธิบดี Mahmoud Ahmadinejad ของอิหร่าน แต่ในปีนี้กลับแตกต่างจากในอดีต เพราะกลายเป็นว่า เสียงโจมตีสหรัฐกลับมาจากพันธมิตรและคู่ค้าที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ โดยเฉพาะจากยุโรป เอเชีย และละตินอเมริกา

ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศส ได้กล่าวว่า วิกฤติคราวนี้ถือเป็นวิกฤติการเงินที่ย่ำแย่ที่สุด นับตั้งแต่ยุควิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 1930 Sarkozy ได้เสนอให้มีการจัดประชุมสุดยอดในเดือนพฤศจิกายน เพื่อหารือถึงปัญหาดังกล่าว และเพื่อที่จะพัฒนาระบบการควบคุมตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งผู้นำจากหลายๆประเทศก็สนับสนุนข้อเสนอของฝรั่งเศส

ส่วนนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี คือ Angela Merkel ก็ได้ออกมากล่าวโจมตีสหรัฐอย่างรุนแรง โดยได้บอกว่า ในการประชุม G-8 เมื่อปีที่แล้ว นางได้กระตุ้นให้สหรัฐและอังกฤษ เพิ่มการควบคุมสถาบันการเงิน และได้เสนอข้อเสนอต่างๆสำหรับการควบคุมสถาบันการเงิน แต่ทางสหรัฐก็ไม่สนใจข้อเสนอของนาง

สำหรับเลขาธิการ UN คือ Ban Ki Moon ก็ได้กล่าวว่าวิกฤติการณ์การเงินโลกในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่องานของ UN เป็นอย่างมาก เพราะเรื่องสำคัญของการประชุมในปีนี้ คือ แผนการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน ซึ่งจะพยายามผลักดันให้บรรลุเป้าหมายของ UN ที่เรียกว่า Millennium Development Goals โดย Ban ได้หวังว่าประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศร่ำรวย จะลงขันช่วยเหลือประเทศยากจน 72,000 ล้านเหรียญต่อปี แต่จากวิกฤติการเงินในขณะนี้ ก็คงจะทำให้เป้าดังกล่าวเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ Ban ยังได้กล่าวโจมตีแนวนโยบายที่สหรัฐสนับสนุนมาโดยตลอด คือ หลักการกลไกตลาดเสรี

สำหรับประธานาธิบดี Bush ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ UN เป็นครั้งที่ 8 และครั้งสุดท้ายนั้น ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประเทศต่างๆทั่วโลกว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังมีแผนการต่างๆเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโดยจะส่งเสริมเสถียรภาพของตลาดด้วยการป้องกันการล้มละลายของบริษัทใหญ่ๆ แต่สำหรับประเทศต่างๆแล้วก็มองว่า สหรัฐกำลัง มีสองมาตรฐาน คือในอดีต สหรัฐมักจะสั่งสอนประเทศต่างๆว่าต้องยึดกลไกตลาด แต่ในขณะนี้รัฐบาล Bush กำลังกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการปฏิเสธกลไกตลาด และรัฐบาลกำลังจะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดครั้งใหญ่ ด้วยแผนการอัดฉีดเงิน 700,000 ล้านเหรียญ ประเทศในเอเชียคงจำได้ดีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลสหรัฐก็ได้มีใบสั่งผ่านทาง IMF ให้ประเทศต่างๆปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความโปร่งใส และยึดกลไกตลาดมากขึ้น แต่ขณะนี้ สหรัฐกลับกำลังจะสวนทางกับคำสั่งสอนของตน

นอกจากนี้ ผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐในคราวนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกด้วย นั่นก็คือ ที่ผ่านมา สหรัฐครองความเป็นเจ้าในโลก ระบบโลกเป็นระบบหนึ่งขั้วอำนาจที่มีอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว องค์ประกอบแห่งอำนาจสหรัฐด้านหนึ่งก็คือองค์ประกอบด้านอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐ วิกฤติการเงินครั้งนี้ อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐในโลก โดย Richard Cooper ประธานสภาข่าวกรองแห่งชาติ สมัยประธานาธิบดี Clinton ถึงกลับกล่าวว่า การล่มสลายของระบบการเงินสหรัฐในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของสหรัฐในโลก

ผลกระทบก็คือ การสูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ