Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การประชุม World Economic Forum ปี 2011

การประชุม World Economic Forum ปี 2011

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554


ในช่วงวันที่ 26-30 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุม World Economic Forum ครั้งล่าสุด ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

การประชุม World Economic Forum

World Economic Forum หรือเรียกย่อว่า WEF ถือเป็นเวทีการประชุมของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีต ผู้เข้าร่วมประชุมเป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ แต่ในปัจจุบัน ได้ขยายวงออกไป โดยมีผู้นำรัฐบาล ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ NGO และนักวิชาการ เข้าร่วมประชุมด้วย เวที WEF ถึงแม้จะไม่ใช่เวทีที่เป็นทางการที่จะตกลงแก้ไขปัญหาของโลกได้ แต่ก็เป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของโลก แนวโน้ม และแนวทางการแก้ไข

สำหรับในปีนี้ WEF จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม โดยเป็นการประชุมประจำปีครั้งที่ 41 มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คน จากประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศ ซึ่งมีทั้งจากภาคธุรกิจ รัฐบาล ประชาสังคม และนักวิชาการ โดยมีผู้นำทางภาคธุรกิจเข้าร่วมกว่า 1,400 คน และมีผู้นำประเทศเข้าร่วมกว่า 35 คน ประเทศกลุ่ม G20 ให้ความสำคัญต่อการประชุมในครั้งนี้ โดยรัฐบาล G20 ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ซึ่งมีทั้งผู้นำประเทศ และรัฐมนตรี

สำหรับ theme ของการประชุมในปีนี้ คือ “Shared Norms and the New Reality” โดย Klaus Schwab ประธานการจัดงาน ได้กล่าวถึง theme ของการประชุมว่า ระเบียบโลกใหม่กำลังเกิดขึ้น จากการย้ายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจจากตะวันตกมาตะวันออก และจากประเทศฝ่ายเหนือสู่ประเทศฝ่ายใต้ (จากประเทศรวยสู่ประเทศจน) องค์กรและกลไกในระดับโลก ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกอย่างรวดเร็ว ดังนั้น theme ของการประชุมในครั้งนี้ จะมีการให้คำนิยามกับระเบียบโลกใหม่ และหารือถึงบรรทัดฐานร่วมกันที่จำเป็นสำหรับความร่วมมือในระดับโลก นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการระบุถึงประเด็นปัญหาใหม่ๆของโลกในอนาคต และวิธีการแก้ไข

การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่

สำหรับระเบียบโลกใหม่ ที่เป็นเรื่องสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ได้เน้นไปที่การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน และอินเดีย

สำหรับการผงาดขึ้นมาของจีนนั้น ได้รับความสนใจมากที่สุด เห็นได้จากการประชุมกลุ่มย่อย มีเรื่องเกี่ยวกับจีนมากที่สุด ตัวอย่างหัวข้อการประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับจีน คือ “Insights on China” “อนาคตของวิสาหกิจจีน” “ผลกระทบของจีนต่อการค้าโลก” และ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจีนยุคใหม่” ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจที่จีนจะให้ความสำคัญอย่างมากต่อการประชุมในครั้งนี้ โดยได้ส่งคณะเข้าร่วมประชุมมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยจำนวนผู้แทนจีนที่เข้าร่วมมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับอินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมา ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมมากเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน โดยผู้แทนเพิ่มขึ้น 4 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่กลุ่มประเทศ G20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่ และ G20 ก็กำลังจะมาแทนที่ G8 ซึ่งเป็นกลุ่มของมหาอำนาจเก่า รัฐบาล G20 ก็ให้ความสำคัญโดยส่งผู้นำประเทศหรือรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม
ในทางกลับกัน สหรัฐฯกลับลดบทบาทลงใน WEF ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ บทบาทของสหรัฐฯก็ลดลงไปมากในเวทีนี้
การประชุมในปีนี้ จึงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ และการผงาดขึ้นมาของเอเชีย และการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ จากตะวันตกมาสู่กลุ่มมหาอำนาจใหม่ โดยข้อสรุปที่ชัดเจนจากการประชุม คือ เอเชียกำลังผงาดขึ้นมา ในขณะที่อำนาจของสหรัฐฯกำลังเสื่อมลง

Global Risks 2011

อีกเรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุม คือ การหารือถึงปัญหาสำคัญของโลกในอนาคต โดยได้มีการเผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า Global Risks 2011 จัดทำโดย WEF ซึ่งสรุปได้ว่า ปัญหาสำคัญของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีเรื่องเหล่านี้ คือ

• ช่องว่างทางเศรษฐกิจ
ปัญหาสำคัญเรื่องแรกที่สำคัญ คือ ช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน และช่องว่าง
ระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศ ผลพวงของโลกาภิวัฒน์ตกอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย คือ คนรวยเท่านั้น แม้ว่า การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ จะทำให้ช่องว่างดังกล่าวลดลง แต่ในภาพรวมแล้ว ยังเป็นปัญหาใหญ่ ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนในประเทศ กำลังห่างออกไปเรื่อยๆ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

• วิกฤติเศรษฐกิจโลก
ในอนาคต เศรษฐกิจโลกจะยังประสบกับปัญหาหลายเรื่อง ได้แก่ การไม่สมดุลในเศรษฐกิจ
มหภาค ความผันผวนของอัตราค่าเงิน วิกฤติทางการเงิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นผลมาจากความตึงเครียด ระหว่างการผงาดขึ้นมา และความร่ำรวยของมหาอำนาจใหม่ ในขณะที่มหาอำนาจเก่า กำลังประสบกับภาวะหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก คือ การประสานความร่วมมือกันในระดับโลก แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างประเทศต่างๆ

• ทรัพยากร
ปัญหาใหญ่ของโลกอีกเรื่อง คือ ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะ น้ำ อาหาร และ
พลังงาน การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร และการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ ก่อให้เกิดความต้องการทรัพยากรอย่างมหาศาล นำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต WEF ได้คาดการณ์ว่า ภายในช่วง 20 ปีข้างหน้า ความต้องการ น้ำ อาหาร และพลังงาน จะเพิ่มขึ้น ถึง 30-50 %

• ความมั่นคง
สำหรับปัญหาความมั่นคงในอนาคต จะมีหลายเรื่อง WEF ได้เน้นปัญหาการแพร่ขยาย
ของอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ไปสู่ประเทศต่างๆมากขึ้น อีกเรื่องที่ที่ประชุมให้ความสำคัญ คือ ปัญหาความมั่นคงในเครือข่าย internet ซึ่งจะมีหลายเรื่องที่จะเป็นปัญหาความมั่นคงในอนาคต อาทิ เรื่อง อาชญากรรมใน internet รวมไปถึง cyber warfare หรือ สงครามที่จะต่อสู้กันใน internet นอกจากนี้ เรื่องการก่อการร้าย ก็ได้เป็นเรื่องสำคัญของการประชุม โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดสนามบินที่กรุงมอสโก รวมถึงการเกิดเหตุการณ์จลาจลในตูนิเซีย และอียิปต์

• ความล้มเหลวของโลกาภิบาล
รายงานของ WEF ได้วิเคราะห์ว่า ในอนาคต จะมีปัญหาใหญ่ๆที่จะเกิดขึ้นหลายเรื่อง ซึ่งจะต้อง
มีกลไกในระดับโลกที่เรียกว่า โลกาภิบาล (global governance หรือ องค์กรโลก และกลไกในระดับโลก) มาจัดการกับปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของโลกในอนาคต คือ องค์กรโลก ที่ปรับตัวไม่ทันกับการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก ประเทศสมาชิกในองค์กรโลกขัดแย้งกันอย่างหนัก จนทำให้กลไก และองค์กรโลกเป็นอัมพาต ผลที่ตามมาคือ ความล้มเหลวของการเจรจา WTO รอบ Doha และความล้มเหลวของการเจรจาภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน และ แคนคูน สำหรับ G20 ซึ่งได้กลายเป็นกลไกใหม่ ในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจโลก ในการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุดที่เกาหลีใต้ ก็ประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกัน