Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

จีนผงาดในการประชุมสุดยอดกับอาเซียนที่พนมเปญ

เมื่อต้นเดือนนี้ มีการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ และเรื่องที่ดูจะเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุด คือการประชุมอาเซียนกับจีน จีนผงาดและเป็นพระเอกในการประชุมครั้งนี้

อาเซียน+3

ก่อนอื่นผมขอกล่าวถึงการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หรือกรอบอาเซียน+3 ที่เคยได้รับความสนใจอย่างมาก เคยมีการพูดกันว่า เรากำลังจะมีกองทุนการเงินแห่งเอเชีย กำลังจะมีเงินสกุลแห่งเอเชีย จะมีเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก แต่ว่ามาในครั้งนี้
อาเซียน+3 ดูจืดและเฉื่อยลงไป แต่มี อาเซียน+1 คือ อาเซียน+ จีนมีความสำคัญโดดเด่นมากกว่า แสดงให้เห็นว่า ทั้งสามประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องของความร่วมมือกัน

อาเซียน-จีน

ทีนี้ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาที่อาเซียน +1 อาเซียนกับจีนได้ทำความตกลงกันหลายฉบับ ผมว่าน่าจะเป็นการประชุมสุดยอดที่มีลงนามความตกลงกันระหว่างอาเซียนกับจีนมากที่สุด

ที่สำคัญก็คือการลงนามความตกลง Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation คือกรอบความตกลงความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งในนั้นมีข้อตกลงหลายเรื่องด้วยกัน ที่สำคัญคือการจะจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนขึ้น ภายในปี 2010 สำหรับ 6 ประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม สำหรับประเทศน้องใหม่ ก็จะขยับอีก 5 ปี คือภายในปี 2015 กำหนดว่าจะเริ่มเจรจากันในปีหน้า นอกจากนั้น ยังมีกรอบที่เรียกว่า“ early harvest ” เป็น “ fast track “ คือการเจรจาในสาขาบางสาขาที่จะสามารถลดภาษีตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว จะเริ่มเจรจากันและให้เสร็จสิ้นภายในปี 2003 หรือ 2004 ซึ่งในสาขาเหล่านี้จะมีสินค้าเกษตรรวมอยู่ด้วย
การค้าระหว่างอาเซียนกับจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงปีสองปีนี้ รวมทั้งการลงทุนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ตัวเลขการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแต่ว่าในแง่ของอัตราการเพิ่มถือว่ามากที่สุด ถ้ามีเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน ตลาดจะมีขนาดถึง 1,700 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในหรือ GDP จะมีถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และการค้าอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในอนาคต
สำหรับในด้านอื่น จีนมาคราวนี้เรียกว่ายิงกระสุนหลายนัดทีเดียว มีการลงนามในความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ลงนามในปฏิญญาร่วมในเรื่องของปัญหาทางด้านความั่นคงที่เป็นปัญหาใหม่ๆ และมีการทำความตกลงเป็นปฏิญญาในปัญหาทะเลจีนใต้ หรือปัญหาหมู่เกาะ Spratlys เป็นปัญหาความขัดแย้งและเจรจากันมานาน ในที่สุดก็ตกลงกันได้ รู้สึกว่าเป็นไพ่ใบสำคัญของจีนที่จีนได้ทิ้งลงมา ในการที่จีนยอมลงนามในปฏิญญาในเรื่องนี้กับอาเซียน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศอาเซียน ลดความหวาดระแวงจีนลงไปมาก ดูเหมือนว่าจีนจะได้ประโยชน์จากการประชุมอาเซียนครั้งนี้มากทีเดียว
จีนมีขนมหวานให้อาเซียนเต็มไปหมด จีนยังมีของขวัญอีก 2 ชิ้น จีนประกาศว่าพร้อมจะภาคยานุวัติในสนธิสัญญาสมานฉันท์และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีมหาอำนาจชาติไหนที่จะยอมรับสนธิสัญญานี้ แต่จีนก็พร้อม และของขวัญชิ้นสุดท้ายป็นเรื่องของสนธิสัญญาที่จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ อาเซียนพยายามให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ยอมรับในสนธิสัญญาฉบับนี้ และจีนก็ประกาศว่าจีนพร้อมที่จะดำเนินการ

อาเซียน-ญี่ปุ่น

สำหรับญี่ปุ่นได้สูญเสียสถานะความเป็นผู้นำอย่างมาก ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตกต่ำและจีนก็ผงาดขึ้นมา กลายเป็นว่า จีนเป็นฝ่ายรุก ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรับ พยายามตามให้ทันจีน เพราะจีนรุดหน้าไปมากในเรื่องของกลไกความร่วมมือต่างๆ ในการประชุมสุดยอดกับอาเซียนคราวนี้ญี่ปุ่นก็คงไม่อยากน้อยหน้าจีน มีการทำปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น “ Comprehensive Economic Partnership” ในปฏิญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นกลัวๆ กล้าๆ ญี่ปุ่นยังไม่กล้าฟันธงแบบจีน คือเป็นเขตการค้าเสรีไปเลย ญี่ปุ่นพยายามเลี่ยงใช้คำ เพราะยังไม่แน่ใจนักในเรื่องเขตการค้าเสรี จึงออกมาเป็นว่า ปฏิญญาระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นจะทำให้มีโอกาสในเรื่องของตลาดเพิ่มมากขึ้น จะมีความเป็นเสรีทางการค้าและการลงทุน จะพูดในลักษณะกว้างๆ แต่ก็มีทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีความตกลงที่จะมีองค์ประกอบของเขตการค้าเสรีได้ภายใน 10 ปี แต่ก็เปิดช่องไว้ว่า ความตกลงนี้อาจเป็นในลักษณะทวิภาคี คืออาจจะเป็น ญี่ปุ่น- สิงคโปร์ ญี่ปุ่น-ไทย แต่ไม่ใช่กับอาเซียนทั้งกลุ่ม ซึ่งเทียบกับความตกลงเขตการค้าเสรีจีนกับอาเซียนไม่ได้เลย ขณะนี้จีนดูน่าตื่นเต้น ในแง่ของนโยบายในเชิงรุก ส่วนญี่ปุ่นก็พยายามจะสู้ แต่ก็มีปัญหาภายใน ก็เลยกลัวๆกล้าๆ

อาเซียน-อินเดีย

สำหรับอาเซียนกับอินเดียก็เป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก และในแถลงการณ์ร่วม มีการพูดถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องสำคัญเรื่องคือความร่วมมือในด้านความมั่นคง ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญที่อินเดียจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ในการที่จะมาถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาค ทางด้านเศรษฐกิจ จะมีการเจรจาในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับAFTA และจะมีเขตเศรษฐกิจที่เรียกว่า “India- Asean Regional Trade and Investment Area” จะเป็นเขตการค้า การลงทุนระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ซึ่งจะมีลักษณะของเขตการค้าเสรีปนๆอยู่ด้วย ผมมองในแง่ของอินเดีย ก็มีศักยภาพ แต่ว่าคงต้องเป็นในระยะยาว ขณะนี้ การค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียมีน้อยมาก

อาเซียน-ออสเตรเลีย

สำหรับความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่อาจจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียด้วย

อาเซียน-สหรัฐฯ

สำหรับอเมริกากับอาเซียน ยังไม่ได้มีการประชุมสุดยอด แต่ได้ข่าวว่า ประเทศไทยเราจะใช้โอกาสในการจัดประชุม APEC ในปีหน้า จัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯขึ้น ขณะนี้กำลังมีแนวโน้มชัดเจนว่า ประเทศมหาอำนาจกำลังแข่งกันเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯคงจะยอมไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในการประชุม APEC ที่เม็กซิโก อเมริกาได้ประกาศข้อเสนอ “Enterprise for ASEAN Initiative“ ซึ่งเป็น

ข้อเสนอจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอาเซียนในลักษณะทวิภาคี ขณะนี้อเมริกากำลังเจรจากับสิงคโปร์อยู่ อีกไม่นานคงจะเจรจาสำเร็จ อันนี้ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งนะครับ อเมริกาพยายามที่จะก้าวเข้ามารักษาผลประโยชน์แข่งกับจีนและญี่ปุ่น
จากปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ อาเซียนมีการเจรจาจับคู่กับประเทศนอกภูมิภาค กับจีน กับญี่ปุ่น กับอินเดีย และออสเตรเลีย สหรัฐฯ ทีนี้ก็มองได้สองแง่มุม ในแง่มุมหนึ่ง อาจเป็นความต้องการของอาเซียนเอง ที่ต้องการประเทศนอกภูมิภาคมาถ่วงดุลกัน อาเซียนคงไม่อยากให้ภูมิภาคนี้ถูกครอบงำโดยจีน ในอีกแง่มุมหนึ่ง ประเทศมหาอำนาจอื่น อาทิ อเมริกาหรือญี่ปุ่น ก็คงไม่อยากให้จีนครอบงำหรือเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้แต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงพยายามที่จะเข้ามาใกล้ชิดกับอาเซียนมากขึ้น ก็เป็นความต้องการทั้งสองด้านครับ

สุดท้ายทั้งหมดนี้ ผมมองว่า ภาพที่ขาดไป คือเขตการค้าเสรี หรือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป และอีกอย่างที่ขาดไป ที่ไม่มีพูดถึงในเวทีอาเซียนคราวนี้คือเรื่อง Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD ฝ่ายไทยไม่ได้พยายามเอาเข้าอาเซียนและให้อาเซียนยอมรับและช่วยกันสนับสนุน สิ่งที่เราน่าจะทำ แต่เราไม่ได้ทำ !

สงครามอิรัก: ผลกระทบต่อไทย

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ : ปีที่ 55 ฉบับ 22 วันศุกร์ที่ 22 - พฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551

ผมอยากจะวิเคราะห์ว่า ในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อการเมืองระหว่างประเทศ หากมีสงครามเกิดขึ้น ก็มีความไม่แน่นอนที่ว่าอเมริกาจะชนะได้อย่างรวดเร็วหรือจะเป็นสงครามยืดเยื้อ

ตะวันออกกลางจะลุกเป็นไฟ

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นความไม่แน่นอนและสร้างความไม่สบายใจคือ หากมีการบุกอิรัก ตะวันออกกลางจะลุกเป็นไฟหรือไม่ อิรักจะโจมตีอิสราเอลหรือไม่โดยอาวุธร้ายแรงต่างๆ เช่นอาวุธเคมี หรืออาวุธเชื้อโรค แล้วปัญหาที่ตามมาคือ อิสราเอลจะตอบโต้หรือไม่ อิสราเอล มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง เพราะฉะนั้นในแง่ของ “worst case scenario” สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดได้ ก็คืออิสราเอลอาจจะตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์

จุดยืนของไทย

ในแง่ของไทย ผมอยากจะวิเคราะห์ต่อไปว่า หากเกิดสงครามขึ้น ไทยเราควรจะมีจุดยืนอย่างไร ถ้าสงครามเกิดขึ้นโดยมีการสร้างความชอบธรรมของสงครามนั้นโดยผ่านคณะมนตรีความมั่นคง ไทยเราก็คงจะไม่มีความยากลำบากใจนัก ในการสนับสนุนข้อมติของสหประชาชาติแต่ถ้ามีการบุกอิรักโดยไม่ได้ผ่านคณะมนตรีความมั่นคง อย่างที่อเมริกาเคยขู่บ่อยๆ ในกรณีเช่นนั้นจะทำให้รัฐบาลไทยมีความยากลำบากในการที่จะกำหนดจุดยืนว่าจะเอายังไง ท่าทีของไทยที่ผมอยากจะเน้นคือ เราต้องพยายามสร้างจุดสมดุลย์ของผลประโยชน์แห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในแง่ของพันธกรณีที่ไทยมีอยู่กับสหรัฐอเมริกา ทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคง ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และการทูต กับอีกด้านหนึ่งผลเสียที่จะตามมา จากการที่เราไปเข้าข้างหรือร่วมมือกับอเมริกามากเกินไป เป็นผลลบในการที่อาจจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน อาจจะทำให้เราเป็นศัตรูกับโลกอาหรับ อาจจะมีการต่อต้านจากชาวไทยมุสลิมและไทยจะตกเป็นเป้าของการก่อการร้ายมากขึ้น ตรงนี้เป็นการเดินอยู่บนเส้นด้ายที่เราคงจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เป้าหมายหลักของเราคือ จะต้องเดิน “ทางสายกลาง” เข้าทำนอง “บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” จะทำอย่างไรที่เราจะร่วมมือกับสหรัฐฯโดยไม่เป็นปฎิปักษ์ต่อโลกอาหรับ นี่คงจะเป็นโจทย์ที่สำคัญในกรณีถ้าจะเกิดสงครามขึ้น ยังมีอีกหลายกรณีที่เราคงต้องคิดต่อ รัฐบาลอาจจะต้องเตรียมแผนรองรับไว้ สมมุติว่าเราจำเป็นต้องสนับสนุนอเมริกา เราจะสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ในแง่ของทางด้านการทหาร ในแง่ของทางด้านการทูต

ผลกระทบต่อขบวนการก่อการร้ายตอนนี้เรามาดูต่อไปว่า หากเกิดสงครามขึ้น จะส่งผลกระทบต่อขบวนการก่อการร้ายสากลหรือไม่ สงครามจะทำให้
การก่อการร้ายรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในรัฐบาลสหรัฐฯมองว่า ถ้าอเมริกาสามารถที่จะถล่มอิรักและประสบความสำเร็จในสงครามครั้งนี้ จะส่งผลกระทบ การก่อการร้ายสากลจะลดลง แต่ถ้ามองเหรียญอีกด้านหนึ่ง ก็จะเป็นในทางกลับกันก็ได้ สงครามที่มีต่ออิรักจะทำให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์ต่ออเมริกาหนักขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกอาหรับและโลกมุสลิม ซึ่งก็ยิ่งไปกระตุ้นการก่อการร้ายสากลนั้นให้รุนแรงมากขึ้น ท่าทีของเราจะเป็นอย่างไรถ้าในกรณีที่การก่อการร้ายสากลจะรุนแรงขึ้น เราต้องมาดูว่าเราจะมีมาตรการอะไรบ้างในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมาตรการสำคัญๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตรรวมทั้งสหรัฐฯด้วย การเข้มงวดกวดขันการเข้าออกประเทศ การเพิ่มมาตรการในเรื่องของการอายัดบัญชีทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นแหล่งเงินสนับสนุนการก่อการร้าย การบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงการลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านการก่อการร้าย นี้เป็นท่าทีของไทยที่เราอาจดำเนินไปได้ในการจะเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้นในเรื่องของการต่อต้านการก่อการร้าย

ผลกระทบต่ออาวุธร้ายแรง

ประเด็นต่อไปที่ผมจะวิเคราะห์ต่อคือ หากอเมริกาจะทำสงครามกับอิรัก ผลกระทบในเรื่องของอาวุธร้ายแรงจะเป็นอย่างไรต่อไป อาวุธร้ายแรง คือ อาวุธเชื้อโรค อาวุธเคมี อาวุธนิวเคลียร์อาวุธเหล่านี้จะมีน้อยลงหรือมีมากขึ้น แนวโน้มขณะนี้คือว่า ประเทศต่างๆกำลังพัฒนาอาวุธเหล่านี้มากขึ้น ประเด็นที่เกี่ยวกับอาวุธร้ายแรงจะเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องประเทศที่ผลิตอาวุธ ที่อเมริกาประกาศว่าเป็นประเทศอันธพาล ได้แก่ อิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือ เยเมน ซูดาน โซมาเลีย ประเทศเหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ขึ้นกับว่าอเมริกาจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการทำสงครามกับอิรัก ถ้าสามารถยึดครองอิรักได้แล้ว ประเทศเป้าหมายต่อไปจะเป็นใคร จะเป็นอิหร่าน เกาหลีเหนือ เยเมน ซูดาน โซมาเลียหรือลิเบีย จะหยุดอยู่แค่นี้หรือไม่ หรือจะยิ่งสร้างความปั่นป่วน สร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่ออเมริกาเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งต่างๆความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น จะทอดยาวออกไปอย่างไรต่อไป เป็นสิ่งที่คาดการณ์ลำบาก
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ผลกระทบสำคัญอีกด้านที่จะเกิดขึ้น คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เป็นประเด็นที่กระทบต่อเราทุกคน ถ้าเศรษฐกิจ
โลกไม่ดี ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ถ้าสงครามไม่ยืดเยื้อ ผลกระทบอาจมีไม่มากนัก แต่ถ้าสงครามยืดเยื้อและลุกลามใหญ่โต ผลกระทบอาจจะมาก ภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอย ตลาดหุ้น ราคาหุ้นอาจจะตกต่ำ ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นและจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปหมด ผลกระทบต่อเราอย่างมากคือราคาน้ำมัน ซึ่งก็จะสูงขึ้นมากและจะทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับเรื่องของการท่องเที่ยว การลงทุน ในเรื่องของบรรยากาศการทำธุรกิจต่างๆ

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของไทยเป็นสิ่งที่เราจะต้องเตรียมพร้อมไว้ ผมหวังว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เราก็ควรจะเตรียมการป้องกันสำหรับสิ่งเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้

ผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สุดท้าย ผมอยากจะพูดถึงผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์
ไม่ค่อยดีนัก ได้มีเหตุการณ์ระเบิดที่บาหลี และดูท่าเหมือนกับว่าขบวนการก่อการร้ายกำลังจะปฏิบัติการรุนแรงมากขึ้น ประเด็นสำคัญที่เราจะต้องวิเคราะห์และจับตามองกันต่อไปคือ ถ้าหากเกิดสงครามขึ้นในอิรัก สงครามดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคของเราอย่างไร ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ว่า หากอเมริกาโจมตีอิรัก ความเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้าย อาจรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะการโจมตี การก่อวินาศกรรม สถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯและตะวันตก
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเครือข่ายขบวนการก่อการร้ายที่สำคัญชื่อว่า “Jemmah Islamiyah “ ครอบ
คลุมทั้งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เครือข่ายดังกล่าวได้รับการจับตามองและทางฝ่ายอเมริกาก็กล่าวหาว่า เครือข่ายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับเครือข่าย “ al Qaeda ”เพราะ ฉะนั้น ความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ คงเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง ในแง่ของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

สถานการณ์การก่อการร้ายปี 2009

ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 33 วันศุกร์ที่ 8 - วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2552

เมื่อไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลสหรัฐได้เผยแพร่เอกสารรายงานการประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายสากลล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้นำเอกสารรายงานดังกล่าวมาสรุปวิเคราะห์ดังนี้

Al-Qaeda

โดยภาพรวมแล้ว รายงานพยายามชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการก่อการร้ายที่ลดลง โดยเฉพาะเครือข่าย Al-Qaeda ได้ลดบทบาทลง อย่างไรก็ตาม Al-Qaeda ยังคงเป็นภัยการก่อการร้ายที่สำคัญที่สุด ต่อสหรัฐและพันธมิตร โดย Al-Qaeda หลังจากถูกปรามปรามอย่างหนักในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แต่ปัจจุบัน ได้กลับมารวมตัวกันใหม่ และมีฐานที่มั่นใหม่อยู่ในบริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถานโดยได้มีการทดแทนผู้นำที่ถูกจับกุมและสังหารไป และได้ใช้ฐานที่มั่นในการหลบซ่อน ฝึกผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ และใช้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับเครือข่ายทั่วโลก รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ในการวางแผน การโจมตี การก่อวินาศกรรม และส่งผู้ก่อการร้ายเข้าก่อวินาศกรรมในอัฟกานิสถาน

สำหรับสถานการณ์ของกลุ่มก่อการร้ายเครือข่ายAl-Qaedaในอิรักนั้น ซึ่งเราเรียกว่า Al-Qaeda in Iraq หรือ AQI ภัยคุกคามก็ลดลง โดยดัชนีชี้วัดที่สำคัญของ AQI คือ ระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งได้ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์ในโซมาเลีย ในปลายปี 2006 เอธิโอเปียได้ส่งทหารเข้าไปในโซมาเลียเข้าไปเพื่อปราบปรามกลุ่ม Al-Qaeda อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2007 ผู้นำ Al-Qaedaได้เรียกร้องให้มีการทำสงครามศาสนา เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากชาวมุสลิมในโซมาเลีย เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของเอธิโอเปีย และการโจมตี การก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้าย ก็ยังคงมีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สำหรับกลุ่ม Al-Qaeda in Yemen ในช่วงที่ผ่านมาได้โจมตีเป้าหมายของรัฐบาลเยเมนและสหรัฐหลายครั้ง เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนกันยายน ปีที่แล้ว โดยเป็นการก่อวินาศกรรมที่สถานทูตสหรัฐในเยเมน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 18 คน สำหรับ Al-Qaeda อีกกลุ่มหนึ่งคือ Al-Qaeda in Islamic Maghreb (AQIM) ก็ได้มีความเคลื่อนไหวในการสร้างเครือข่ายการก่อการร้าย โดยเฉพาะใน อัลจีเลียและทางตอนเหนือของทวีปอัฟริกา

Taliban

กลุ่มก่อการร้ายที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม Taliban ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการเข้าควบคุมดินแดนในอัฟกานิสถานและปากีสถาน Taliban ได้โจมตีกองกำลังสหรัฐและนาโต้มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และนักรบ Taliban ได้โจมตีและรุกคืบเข้าไปในบริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดย Talibanได้รุกคืบเข้าไปในหุบเขา Swat ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงของปากีสถานคือ กรุง Islamabad

อิหร่าน

ในรายงานดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐ ได้กล่าวโจมตีอิหร่านว่า เป็นประเทศที่ ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายที่สำคัญที่สุด และการที่อิหร่านสนับสนุนการก่อการร้าย ได้ทำให้ความพยายามที่จะแก้ปัญหาการก่อการร้ายนั้นสะดุด โดยทางสหรัฐได้กล่าวหาว่า อิหร่านได้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มด้วยกัน อาทิ กลุ่ม Hizballah ในเลบานอน กลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์ ได้แก่ กลุ่ม HAMAS และกลุ่ม Palestinian Islamic Jihad นอกจากนี้ อิหร่านยังสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนิกายชีอะห์ในอิรัก รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงในอัฟกานิสถาน และในคาบสมุทรบอลข่าน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานของรัฐบาลสหรัฐ ได้ประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาค ได้ทำให้กลุ่ม Jemaah Islamiya หรือกลุ่ม JI และกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ อ่อนแอลง มาตรการก็มีทั้งการบังคับใช้กฎหมาย งานข่าวกรอง และการจับกุม และได้มีความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนจากสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม 6 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2002 กลุ่มก่อการร้าย JI ถึงแม้จะอ่อนแอลง แต่ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐและตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถานการณ์ความขัดแย้งทางใต้ของฟิลิปปินส์ ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม Moro Islamic Liberation Front ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ล่าสุด ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้นในเกาะมินดาเนา สำหรับสหรัฐ ก็สนับสนุนกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม Moro รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบริเวณที่เสี่ยงต่อการก่อการร้าย และสหรัฐพยายามที่จะโดดเดี่ยวกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึง JI และ Abu Sayyaf ด้วย ล่าสุด ฝ่ายทหารฟิลิปปินส์พยายามที่จะทำลายฐานที่มั่นของขบวนการการก่อการร้ายในหมู่เกาะซูลู และทางตอนกลางของเกาะมินดาเนา
สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในอินโดนีเซียมีแนวโน้มดีขึ้น โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามใช้ไม้แข็ง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประหารชีวิตผู้ก่อการร้ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อวินาศกรรมที่เกาะบาหลี นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายที่มีชื่อว่า Palembang Cell

ไทย

ในรายงานของรัฐบาลสหรัฐ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การก่อการร้ายในไทยด้วย โดยได้กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นไปด้วยดี สำหรับสถานการณ์ในภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยและสหรัฐได้แสดงความเป็นห่วงกังวล ถึงแนวโน้มที่กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติอาจจะเข้ามามีบทบาทและร่วมมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในปัญหาภาคใต้ของไทยโดยตรง และยังไม่มีหลักฐานถึงการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยกับเครือข่ายการก่อการร้ายในภูมิภาค
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมในการลาดตระเวนช่องแคบมะละการ่วมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ไทยยังได้ร่วมมือกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ในการปฏิเสธไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้ไทยเป็นฐานที่มั่น ในอดีตไทยเคยถูกใช้เป็นทางผ่านของขบวนการก่อการร้ายในภูมิภาค หลักฐานสำคัญคือการจับกุม ฮัมบาลี ผู้นำของกลุ่ม JI เมื่อปี 2003

สรุป

จะเห็นได้ว่า เอกสารรายงานประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายปี 2009 ของรัฐบาลสหรัฐ โดยภาพรวมมองว่า การก่อการร้ายมีแนวโน้มลดลง
แต่ผมมองว่า รัฐบาลสหรัฐเขียนเข้าข้างตนเองมากเกินไป โดยพยายามจะโยงว่าการลดลงของการก่อการร้าย คือความสำเร็จของการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ
ผมยังไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า การก่อการร้ายจะมีแนวโน้มลดลงจริงหรือไม่ มี 2 เรื่องที่ดูเหมือนสหรัฐได้มองข้ามไป แต่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ที่จะชี้ให้เห็นว่า การก่อการร้ายอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
เรื่องที่หนึ่ง การก่อการร้ายที่มุมไบเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์การก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา การก่อการร้ายที่มุมไบเป็นเครื่องเตือนให้ชาวโลกตระหนักว่า เรื่องการก่อการร้ายยังไม่จบ การก่อการร้ายที่มุมไบจึงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านอีกครั้งหนึ่งในสงครามการก่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะกับกลุ่ม Al-Qaeda โดยหากAl-Qaeda ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมชาวมุสลิมในอินเดีย ซึ่งมีกว่า 150 ล้านคน ให้เข้าร่วมกับขบวนการหัวรุนแรงมากขึ้น ก็คงจะเป็นฝันร้ายของประชาคมโลกในสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคต

เรื่องที่สองคือ บทบาทของกลุ่มตาลีบันที่กำลังเพิ่มบทบาทขึ้นอย่างน่ากลัว ทั้งในปากีสถานและอัฟกานิสถาน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การรุกคืบของตาลีบันในปากีสถาน ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปบุกยึดหุบเขา Swat ซึ่งอยู่ห่างจากกรุง Islamabad เพียง 100 กิโลเมตรเท่านั้น ฝันร้ายของมนุษยชาติอาจเกิดขึ้น หากตาลีบันสามารถเข้ายึดกรุง Islamabad ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการยึดอำนาจรัฐของปากีสถานแต่ปากีสถานมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากอาวุธนิวเคลียร์ตกอยู่ในมือของนักรบตาลีบัน ก็จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก