Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภัยคุกคามสหรัฐฯ ปี 2011

ภัยคุกคามสหรัฐฯ ปี 2011

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ – วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2554

ทุกๆปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเผยแพร่เอกสารการประเมินสถานการณ์ภัยคุกคาม สำหรับในปีนี้ ได้มีการเผยแพร่เอกสารประจำปี 2011 เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว ดังนี้

การก่อการร้าย

ในเอกสารดังกล่าว ได้ระบุว่า ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุด โดยองค์กร Al Qaeda ยังคงเป็นอันตรายอยู่ ยังคงมีเป้าหมายที่จะก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ ในสหรัฐฯและยุโรป ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของเครือข่าย Al Qaeda ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะ Al Qaeda in the Arabian Peninsula (AQAP) และ Al-Shabaab ในโซมาเลีย ซึ่งมีแผนจะก่อวินาศกรรมหลายจุด แผนของ AQAP นั้น เน้นการโจมตีในเยเมน และซาอุดิอาระเบีย แต่ก็มีแผนที่จะโจมตีประเทศสหรัฐฯและเป้าหมายในโลกตะวันตกด้วย เช่นเดียวกับ Al-Shabaab แม้จะมีเป้าหมายหลักในโซมาเลีย แต่ก็มีแผนจะโจมตีแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯด้วย นอกจากนี้ มีองค์กร Tehrik-e-Taliban Pakistan ซึ่งอยู่เบื้องหลังแผนก่อวินาศกรรมที่ Times Square นครนิวยอร์ก และสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เมือง Peshawar ในปากีสถาน ส่วนกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ คือ Al Qaeda in the land of the Islamic Maghreb และ Lashkare-e-Tayyiba

อาวุธร้ายแรง

อีกเรื่องที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯในปี 2011 คือ การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดยมีทั้งประเทศที่พยายามจะพัฒนาอาวุธร้ายแรง รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายที่อยากจะได้อาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง

สำหรับประเทศที่สหรัฐฯหมายหัว คือ อิหร่าน โดยในเอกสารดังกล่าว ได้โจมตีอิหร่านว่า ได้ละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และประเมินว่า อิหร่านยังคงเปิดทางเลือกในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯก็ยังไม่แน่ใจว่า อิหร่านได้ตัดสินใจพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แล้วหรือยัง แต่ที่มีหลักฐานชัดเจน คือ อิหร่านได้เพิ่มสมรรถภาพแร่ยูเรเนียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯประเมินว่า ขณะนี้อิหร่านมีสมรรถภาพพอที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะสามารถพัฒนาแร่ธาตุยูเรเนียมเพียงพอที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังได้ส่งออกขีปนาวุธไปหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงอิหร่าน และซีเรีย และได้ช่วยซีเรียในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ แต่ได้ถูกทำลายไปเมื่อปี 2007 ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทางฝ่ายเกาหลีเหนือได้ให้คณะผู้มาเยือนจากสหรัฐฯเยี่ยมชมโรงงานเพิ่มสมรรถภาพแร่ยูเรเนียมที่เมือง Yongbyon นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังได้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล ชื่อว่า Taepo Dong 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป สามารถยิงมาถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯได้

อัฟกานิสถาน และปากีสถาน

อีกเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐฯถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ คือ สงครามในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งมีลักษณะเป็นสงครามกองโจร และการก่อการร้าย นำโดยนักรบ Taliban ซึ่งจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ต่อสหรัฐฯในปี 2011 โดยฝ่าย Taliban ได้พยายามปลุกระดมให้ชาวอัฟกานิสถานเชื่อว่า กองกำลังนานาชาติและสหรัฐฯนั้นเป็นกองกำลังที่มายึดครองประเทศ และรัฐบาล Karzai ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรม

ส่วนสถานการณ์ในปากีสถานนั้น นักรบ Taliban ร่วมกับ Al Qaeda ทำสงครามกับรัฐบาลปากีสถาน ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา กองกำลังของรัฐบาลจะปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ และยังไม่สามารถยุติการขยายวงของสงครามในปากีสถานได้

เอเชียตะวันออก

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้น เอกสารประเมินภัยคุกคามประจำปีนี้ ได้เน้นไปที่เกาหลีเหนือ และจีน ในฐานะเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯในภูมิภาค

สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือนั้น เป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ที่เกาหลีเหนือได้โจมตีเกาะ Yeonpyeong ของเกาหลีใต้ ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯมองว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายใน โดยเป็นความพยายามที่จะทำให้ทายาททางการเมืองของ Kim Jong Il คือบุตรชาย ชื่อ Kim Jong Un ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งจากฝ่ายทหาร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของอำนาจยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะหาก Kim Jong Il เสียชีวิต ก่อนที่บุตรชายของเขาจะสามารถรวบอำนาจให้อยู่ในมือได้ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือได้ส่งสัญญาณว่า ต้องการกลับมาเจรจา โดยอาจเป็นเพราะต้องการลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร และต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือต้องการได้รับการยอมรับว่า มีสถานะเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า การประเมินภัยคุกคามในปีนี้ ได้มองจีนในแง่ลบเพิ่มมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าว ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การผงาดขึ้นมาของจีน และพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของจีนในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ทำให้การมองจีนเปลี่ยนไป โดยหลายๆประเทศมีความไม่แน่ใจในยุทธศาสตร์ของจีน โดยเฉพาะการสนับสนุนรัฐบาลเกาหลีเหนือ และท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการเผชิญหน้ากับญี่ปุ่น พฤติกรรมของจีนทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยมีความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์กับจีน ขณะนี้ได้มีความกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมและเป้าหมายของจีน ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯได้ประเมินว่า ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จะทำให้จีนมีพฤติกรรมที่แข็งกร้าวมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน

บทวิเคราะห์

• ในภาพรวม การประเมินภัยคุกคามของสหรัฐฯในปีนี้ เมื่อเทียบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ในสมัยรัฐบาล Obama จะเห็นได้ว่า 2 ปีที่แล้ว Obama พยายามจะเปลี่ยนการมองภัยคุกคามในมุมมองใหม่ โดยเน้นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น ภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจ แต่ในปีนี้ หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯได้กลับมามองภัยคุกคามในรูปแบบเดิม คือ การก่อการร้าย อาวุธร้ายแรง และภัยคุกคามจากจีน

• สำหรับประเด็นภัยคุกคามจากจีนนั้น เป็นแนวโน้มที่สำคัญ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯไม่เคยมองจีนในแง่ลบ เท่ากับเอกสารในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่สำคัญในปีนี้ โดยผมมองว่า การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว จะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ จีน-ญี่ปุ่น และจีน-อินเดีย และจุดอันตรายอีกจุดหนึ่งที่เอกสารดังกล่าวไม่ได้พูดถึง คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

• อีกเรื่องที่ต้องจับตามองในปีนี้คือ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยมีแนวโน้มว่า ความ
ขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีน่าจะมีความยืดเยื้อต่อไป โดยยังไม่สามารถหาสูตรการเจรจาที่ลงตัวได้ ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ดังนั้น ในปีนี้ เกาหลีเหนืออาจดำเนินมาตรการเพื่อกดดัน และเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ ด้วยการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 หรืออาจทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล หรืออาจโจมตีเกาหลีใต้ครั้งใหม่

• สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในปีนี้ ภูมิภาคที่ล่อแหลม คือ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
โดยเฉพาะคาบสมุทรอาระเบีย อัฟริกาตะวันออก โซมาเลีย และเยเมน ในปีนี้ จะเป็นปีครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ 11 กันยา จึงมีแนวโน้มว่า Al Qaeda คงจะหาทางก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์ดังกล่าว

• สำหรับสงครามในอัฟกานิสถาน และปากีสถานนั้น ก็น่าเป็นห่วง ทั้งนี้เพราะนักรบ Taliban ได้
ยึดครองพื้นที่ในอัฟกานิสถาน และปากีสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอัฟกานิสถาน ฝ่าย Taliban เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นงานยากสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสบปัญหาความแตกแยกในพันธมิตร NATO ที่บางประเทศต้องการถอนทหารออกไป ปากีสถานก็กำลังกลายเป็นสมรภูมิใหญ่ในสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ปากีสถานได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของทั้ง Al Qaeda และ Taliban ซึ่งได้ยึดครองพื้นที่ในปากีสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ

• ส่วนเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือและอิหร่านนั้น ก็มีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไปในปีนี้ โดย
เกาหลีเหนือคงจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขายเทคโนโลยีให้กับประเทศอื่น เช่นเดียวกับอิหร่านก็คงจะเดินหน้าพัฒนาต่อ ในสิ่งที่อิหร่านเรียกว่า โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ แต่ทางฝ่ายสหรัฐฯเรียกว่า โรงงานอาวุธนิวเคลียร์