ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ปี 2010 (ตอนที่ 5)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 50 วันศุกร์ที่ 3 - วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2553
คอลัมน์โลกทรรศน์ได้วิเคราะห์ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ มาแล้ว 4 ตอน ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่อถึงพัฒนาการความขัดแย้งล่าสุด โดยเป็นความขัดแย้งทางทหาร ดังนี้
ภาพรวม
เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้เผยแพร่รายงานประจำปี วิเคราะห์บทบาททางทหารของจีน โดยรายงานดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Annual Assessment of China’s Military ซึ่งเป็นรายงานที่ต้องนำเสนอต่อสภาคองเกรสเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ รายงานดังกล่าวได้วาดภาพการขยายแสนยานุภาพของจีนว่า กำลังเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐมากขึ้น
ในตอนต้นของรายงาน ได้กล่าวถึงภูมิหลังว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนได้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจทำให้จีนสามารถปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่ การทำให้กองทัพจีนทันสมัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนสามารถที่จะใช้อำนาจทางทหารในการเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการทูต และเพื่อกดดันความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ
จะเห็นได้ว่า บทบาทของกองทัพจีนได้เปลี่ยนไปจากการป้องกันประเทศจีน มาเป็นการเพิ่มบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น โดยในรายงานดังกล่าวของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ระบุว่า จีนกำลังขยายแสนยานุภาพออกไปเรื่อยๆ และกำลังมีอำนาจทางทหารเหนือกว่าไต้หวัน และขีดความสามารถทางทหารของจีน ได้ขยายออกไป จะทำให้จีนสามารถโจมตีบริเวณที่อยู่ห่างไกลถึงเกาะกวม ที่เป็นอาณาเขตของสหรัฐ จีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธที่สามารถโจมตีเรือรบสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ รายงานได้ประเมินว่า แนวโน้มอำนาจทางทหารของจีน จะเปลี่ยนแปลงดุลยภาพทางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ในอดีต ยุทธศาสตร์ทหารจีนจะเน้นการเตรียมพร้อมที่จะป้องกันประเทศ โดยมีแนวรับตั้งแต่ญี่ปุ่นลงมาจนถึงทะเลจีนใต้ แต่ในปัจจุบัน นักยุทธศาสตร์ทางทหารจีน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ที่จะทำให้กองทัพจีนมีขีดความสามารถในการโจมตีไกลออกไปมากถึง เกาะกวม ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสำหรับญี่ปุ่นและเวียดนามนั้น ซึ่งทั้ง 2 ประเทศก็มีความตึงเครียดทางทหารกับจีนอยู่ ได้มีรายงานจากประเทศทั้ง 2 ถึงความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน ใกล้ญี่ปุ่นและเวียดนาม อย่างผิดปกติ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
แสนยานุภาพทางทหารของจีน
ในรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐระบุว่า ขณะนี้ จีนกำลังพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในทุกๆ ด้าน โดย จีนได้พัฒนาขีปนาวุธที่มีความทันสมัยเป็นจำนวนมาก พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ มีเรือดำน้ำที่มีอาวุธที่ทันสมัย เพิ่มศักยภาพสำหรับกองทัพอากาศ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพในการทำสงครามในอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า cyber warfare และจีนยังได้พัฒนาระบบการทำสงครามในอวกาศอีกด้วย
ที่สหรัฐเป็นห่วงเป็นอย่างมาก คือ การพัฒนาขีปนาวุธ โดยเฉพาะขีปนาวุธโจมตีเรือรบของสหรัฐ ซึ่งสามรถยิงไปได้ไกลถึง 1,000 ไมล์ สหรัฐถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ เพราะขีปนาวุธดังกล่าว อาจโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ด้วย ซึ่งจะทำให้การครอบงำทางทะเลของสหรัฐอ่อนลงไป
อีกเรื่องที่สหรัฐกำลังห่วงมากคือ การพัฒนาความสามรถของจีนในการทำสงครามในอินเตอร์เน็ต โดยในรายงานของกระทรวงกลาโหมได้กล่าวหาจีนว่า กองทัพจีนได้จัดตั้งหน่วยทำสงครามด้านข้อมูล ซึ่งกำลังพัฒนาไวรัสหลายตัว เพื่อที่จะโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของศัตรู รวมทั้งกำลังพัฒนาระบบการป้องกันเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของจีนจากการถูกโจมตี เป้าหมายสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ศัตรูเจ้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำสงคราม โดยความสามารถของจีนในการโจมตีทางอินเตอร์เน็ตนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ของจีน ในการทำสงครามรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “สงครามอสมมาตร” โดยการใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของศัตรูที่เข้มแข็งกว่า อย่างเช่น สหรัฐ
ในรายงาน ได้กล่าวถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐที่ถูกโจมตีอยู่บ่อยๆ ซึ่งทางสหรัฐกล่าวหาว่า ต้นตอของการโจมตีมาจากประเทศจีน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า กองทัพจีนมีส่วนรู้เห็นมากน้อยเพียงใด ล่าสุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้รายงานว่า ระบบพัฒนาอาวุธล่าสุดของสหรัฐที่มีชื่อว่า Joint Strike Fighter ถูกเจาะข้อมูลหรือ ถูก hack โดยทางฝ่ายสหรัฐเชื่อว่า เป็นการเจาะข้อมูลมาจากประเทศจีน เพื่อต้องการจารกรรมข้อมูลความลับทางทหารของสหรัฐ
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้รายงานว่า ขณะนี้ จีนกำลังมีการเพิ่มงบประมาณทางทหารที่สูงมาก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศงบประมาณทหารในปีนี้ มีมูลค่า 78,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 7.5 เปอร์เซ็นต์ โดยงบทหารของจีนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐเชื่อว่า ตัวเลขงบทหารที่แท้จริงของจีนสูงกว่าที่ทางการจีนประกาศ โดยประเมินว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านเหรียญ
รายงานได้โจมตีจีนด้วยว่า ไม่มีความโปร่งใสทางทหาร ดังนั้น จึงมีความไม่แน่นอนในประเด็นที่ว่า จีนจะใช้อำนาจทางทหารอย่างไร ความไม่โปร่งใสของจีนจะนำไปสู่การเข้าใจผิดและการคำนวณที่ผิดพลาดทางด้านการทหารระหว่าง 2 ประเทศ
ในอดีต สหรัฐพยายามที่จะเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางทหารกับจีน เพื่อลดความหวาดระแวง และส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สหรัฐประกาศจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน เมื่อช่วงต้นปีนี้ ทำให้จีนตัดสินใจระงับการแลกเปลี่ยนทางทหารกับสหรัฐ รัฐมนตรีกลาโหม Robert Gates ได้เรียกร้องให้ฝ่ายจีน กลับมาปฏิสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐใหม่ แต่จีนก็ไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องแต่อย่างใด
ไต้หวันและหมู่เกาะสแปรตลีย์
ในรายงานของกระทรวงกลาโหมได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาไต้หวัน โดยมองว่า ขณะนี้จีนกำลังสร้างเสริมกำลังทางทหาร โดยมุ่งเป้าไปที่ไต้หวัน ทั้งนี้เพื่อที่จะป้องปรามไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราช และเพื่อที่จะกดดันให้ไต้หวันยอมเจรจากับจีนในทิศทางที่จีนต้องการ นอกจากนี้ จีนยังพยายามที่จะป้องปรามและป้องกันไม่ให้สหรัฐให้ความช่วยเหลือไต้หวัน ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง รายงานสรุปว่า ขณะนี้ ดุลแห่งอำนาจทางทหารในช่องแคบไต้หวันนั้น จีนแผ่นดินใหญ่กำลังได้เปรียบไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุด ความขัดแย้งทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐก็เกิดขึ้น ในกรณีของความความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในระหว่างการประชุม ARF ที่กรุงฮานอย ได้ประกาศว่า สหรัฐถือว่า เรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องสำคัญมาก และสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ สหรัฐสนับสนุนการเจรจาและไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังในการแก้ปัญหา ซึ่งท่าทีของสหรัฐทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น จีนจึงได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และกองทัพจีนได้ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะอย่างเด็ดขาด ทางฝ่ายสหรัฐก็ตอบโต้ด้วยการเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับเวียดนาม
ในตอนท้ายของรายงาน กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้แสดงจุดยืนว่า สหรัฐมีความรับผิดชอบ ที่จะต้องตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน และเพื่อป้องปรามความขัดแย้ง โดยสหรัฐจะดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังทางทหารในภูมิภาค การพัฒนาศักยภาพทางทหาร กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร สหรัฐจะต้องแสดงให้เห็นว่า สหรัฐมีความสามารถที่จะรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐที่ไม่ได้ประกาศออกมา ก็คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหารนั่นเอง