Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

ความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 25 กรกฏาคม 2556



เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่บรูไน โดยในการประชุมครั้งนี้ เรื่องสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายในปี 2015 คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ดังนี้

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ในแผนงานหรือ blueprint การจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ( ASEAN Political-Security Community : APSC) มีเรื่องหลักๆ ที่เป็นหัวใจของ APSC คือ การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การพัฒนาบรรทัดฐาน การป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง และการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่บรูไน มีความคืบหน้าในด้านสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ได้จัดทำปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration) และได้มีการจัดทำรายงานประจำปี ของ AICHR นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดให้มีการประชุมหารือกับ AICHR ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย
สำหรับความร่วมมือในประเด็นปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่นั้น ก็กำลังจะมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ  ที่จะมีขึ้นที่ประเทศลาวในช่วงเดือนกันยายนนี้
ในด้านยาเสพติดข้ามชาติ ก็กำลังมีการสานต่อจากปฏิญญาผู้นำอาเซียน ที่จะให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดภายในปี 2015 โดยได้มีการจัดประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม  ปี 2012 ที่ประเทศไทย และกำลังจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ที่บรูไน ในเดือนกันยายนนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจึงกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนในด้านยาเสพติด  เพิ่มความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหานี้
สำหรับปัญหาด้านการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ในปี 2011 ได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียน ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในภูมิภาค โดยขณะนี้ได้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการประชุมของคณะทำงานด้านการค้ามนุษย์ ในเดือนมิถุนายน ที่เวียดนาม เพื่อจัดทำร่างอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์
สำหรับในเรื่องการจัดการภัยพิบัตินั้น ที่ประชุมได้กระตุ้นให้กลไกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนร่วมมือกัน โดยการใช้ ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response เป็นหลักในการจัดการกับปัญหานี้ นอกจากนี้ จะมีการซ้อมปฏิบัติการทางทหารของอาเซียนในการจัดการภัยพิบัติ ที่เวียดนาม ในเดือนตุลาคมนี้ และความคืบหน้าในการจัดตั้ง ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management นอกจากนี้ มีการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ และมีข้อเสนอให้มีการจัดทำปฏิญญาอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนตุลาคมนี้
จะเห็นได้ว่า จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่บรูไนในครั้งนี้ ความคืบหน้าในการจัดตั้ง APSC ก็คืบหน้าไปได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชนและด้านประเด็นปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการพัฒนากลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งของอาเซียน นอกจากนี้ การจัดตั้ง APSC ยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กรณีพิพาทพรมแดน ประเทศสมาชิกยังมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการทหาร ดังนั้น ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015 ซึ่งเป็นวันประกาศตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ผมก็มองว่า การจัดตั้ง APSC ยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์อย่างแน่นอน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ในแผนงานหรือ blueprint การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) นั้น เป้าหมายคือการจัดตั้งตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยจะมีการเปิดเสรี 5 ด้าน คือ สินค้า บริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ
สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้ง AEC นั้น ดูจะมีความคืบหน้าไปได้ดีกว่าอีก 2 ประชาคม โดยขณะนี้ ได้มีความคืบหน้าการดำเนินการตาม AEC Blueprint ไปมากแล้ว โดยสาขาที่มีความคืบหน้าไปมาก ในการเปิดเสรีเพื่อเข้าสู่ AEC อาทิ สาขาการเงิน พลังงาน อุตสาหกรรม ไอซีที เกษตร การท่องเที่ยว และการขนส่ง
นอกจากนี้ ขณะนี้ กำลังมีมาตรการเสริมเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคล คือ จะให้บุคคลที่มีสัญชาติประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ต้องมีวีซ่าในการเดินทางในอาเซียน และการจัดทำ ASEAN Common Visa สำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติอาเซียน เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคคลทางด้านธุรกิจและการท่องเที่ยว
สำหรับความคืบหน้าใน Master Plan on ASEAN Connectivity ที่ประชุมได้เน้นถึงความสำคัญของการระดมทุนทรัพยากรทางการเงิน ด้วยการใช้ประโยชน์จากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน และการส่งเสริมหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ขณะนี้ ASEAN Connectivity Coordinating Committee ก็กำลังติดต่อกับประเทศคู่เจรจา และภาคเอกชน ในการแปลงแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในหลายเรื่องในการจัดตั้ง AEC แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการเปิดเสรีในหลายๆด้าน โดยเฉพาะในด้านการค้าภาคบริการ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ ปัญหาใหญ่ของอาเซียน คือช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ยังคงมีความแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ ประเทศอาเซียนยังคงมองประเทศอื่นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจแทนที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งตลาดร่วมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015 AEC ที่จะถูกประกาศจัดตั้งขึ้นนั้น ก็จะยังคงมีความไม่สมบูรณ์

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
สำหรับประชาคมย่อยที่ 3 ของประชาคมอาเซียน คือประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  (ASEAN Socio- Cultural Community: ASCC) นั้น ใน blueprint ของ ASCC ได้เน้นความร่วมมือใน 5 ด้านด้วยกัน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมในสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่บรูไน ที่ประชุมได้แสดงความยินดีที่ได้มีการจัดการประชุมประเมินผลความคืบหน้า ASCC Blueprint เมือเดือนมิถุนายน ที่บรูไน
ในด้านสิทธิเด็กและสตรี ก็ได้มีการจัดตั้ง ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children (ACWC) ขึ้น โดยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานบริการทางสังคมของ ACWC ขึ้น เพื่อป้องกัน ปกป้อง และช่วยเหลือสตรีและเด็กที่จะเป็นเหยื่อของความรุนแรงในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่อาวุโส ร่วมมือกันในการจัดการกับปัญหาควันไฟป่า และที่ประชุมได้ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันต่อ ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำ ASEAN Climate Change Initiative และ ASEAN Action Plan on Joint Response to Climate Change และอินโดนีเซียได้เสนอให้มีการจัดตั้ง Regional Climate Change Database center ขึ้น
สำหรับในด้านการปกป้องทางสังคม ได้มีการจัด Workshop on Strengthening Social Protection in ASEAN เมื่อเดือนมิถุนายน ที่อินโดนีเซีย โดยได้มีข้อเสนอให้มีการจัดทำปฏิญญาในด้านการปกป้องทางสังคมของอาเซียนขึ้น
นั่นก็เป็นความคืบหน้าในการจัดตั้ง ASCC อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่คงต้องรอผลการประเมินความคืบหน้า อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และเช่นเดียวกับ APSC และ AEC การจัดตั้ง ASCC ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนยังมีปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การที่อาเซียนไม่มีอัตลักษณ์ร่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และประชาชนยังมีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น การที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ก็จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2015