Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ปี 2010 (ตอน 2)

สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 27 ฉบับที่ 23 วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์- วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2553 หน้า 32-33

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดพัฒนาการความขัดแย้งใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่ประธานาธิบดี Obama ได้พบปะกับ ดาไล ลามะ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะมาวิเคราะห์ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
Obama พบ ดาไล ลามะ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศว่า Obama จะพบปะกับ ดาไล ลามะที่ทำเนียบขาว ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยสหรัฐได้บอกว่า ตั้งแต่ปี 1990 ประธานาธิบดีของสหรัฐทุกคนได้พบปะกับ ดาไล ลามะ จึงถือเป็นเรื่องปกติ และดาไล ลามะก็เป็นผู้นำจิตวิญญาณชาวธิเบต ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่รัฐบาลจีนก็ได้ประกาศคัดค้านการพบปะ และขอให้ยกเลิกการพบปะดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama ก็ไม่สนใจต่อคำคัดค้านจากทางฝ่ายจีน และได้เดินหน้าจัดการพบปะดังกล่าวขึ้น ตามกำหนดคือ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยหลังจากการพบปะ รัฐบาลสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ มีใจความว่า ประธานาธิบดี Obama ได้พบปะกับ ดาไล ลามะที่ทำเนียบขาว Obama ได้ย้ำว่า สหรัฐจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการรักษาอัตลักษณ์ของธิเบต ทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และภาษา และจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวธิเบต Obama ได้กล่าวชื่นชมนโยบายของ ดาไล ลามะ ที่เน้นเดินสายกลาง โดยเน้นการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง และความพยายามในการเจรจากับรัฐบาลจีน Obama ย้ำว่า รู้สึกยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา

หลังจากการพบปะ ดาไล ลามะ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยได้บอกว่า ได้ยกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องธิเบตในการหารือกับ Obama แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียด เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในธิเบต ดาไล ลามะ ได้กล่าวชื่นชมสหรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้นำของประชาธิปไตยและเสรีภาพ นอกจากนี้ ดาไล ลามะ ยังได้พบกับ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐด้วย
ปฏิกิริยาจากรัฐบาลจีน

ภายหลังการพบปะ รัฐบาลจีนได้ออกมากล่าวโจมตีรัฐบาล Obama อย่างรุนแรง โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้แถลงว่า การพบปะดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง และบอกว่า การพบปะดังกล่าวเป็นการละเมิดสิ่งที่สหรัฐได้ยอมรับมาในอดีตว่า ธิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน และสหรัฐจะไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของธิเบต และสหรัฐได้ละเมิดบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก พฤติกรรมของสหรัฐถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน และได้ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของชาวจีนเป็นอย่างมาก จีนขอแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และคัดค้านการพบปะดังกล่าว จีนขอเรียกร้องให้สหรัฐพิจารณาท่าทีของจีน และออกมาตรการที่จะขจัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และขอให้สหรัฐยุติการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต่อต้านรัฐบาลจีน

ถึงแม้ว่า ดาไล ลามะ จะประกาศว่า สิ่งที่ต้องการคือ การปกครองตนเองของชาวธิเบต แต่ไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน อย่างไรก็ตาม จีนก็ถือว่า ดาไล ลามะ คือผู้แบ่งแยกดินแดน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน คือ Cui Tiankai ได้เรียกทูตสหรัฐประจำจีนคือ Jon Huntsman เข้าพบ เพื่อประท้วงการกระทำของสหรัฐด้วย

บทวิเคราะห์

• ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐที่เกิดขึ้นล่าสุดในกรณีเรื่องธิเบตนี้ เป็นความต่อเนื่องของความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสอง ที่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม โดยเริ่มจากกรณี Google ประกาศถอนตัวจากจีน การที่สหรัฐประกาศขายอาวุธให้กับไต้หวัน ความขัดแย้งทางการค้า และการคว่ำบาตรอิหร่าน
• สำหรับสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ในส่วนของทางสหรัฐ Obama อาจจะต้องการลดกระแสการโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่มองว่า Obama ยอมจีนมากเกินไป จึงหันกลับมาใช้ไม้แข็งกับจีน และอีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะมาจากปฏิกิริยาของสหรัฐต่อท่าทีของจีนในเรื่องต่างๆ ที่สหรัฐมองว่า มีท่าทีในเชิงลบและแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สหรัฐจะหยิบเอาไพ่ธิเบตมาเล่นกับจีน แต่สหรัฐก็ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ลุกลามบานปลายใหญ่โต จึงได้จัดให้ผู้นำทั้งสองได้พบปะกันในลักษณะ low profile โดยไม่ให้มีสื่อเข้าไปทำข่าวหรือถ่ายรูป ซึ่งน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐถือว่าการพบปะดังกล่าว เป็นการพบปะแบบส่วนตัว ไม่ได้เป็นทางการ เพื่อลดกระแสความไม่พอใจจากจีน ดังนั้น การพบปะในครั้งนี้ จึงไม่ถือเป็นการเผชิญหน้ากับจีนอย่างเต็มที่ เพราะในอดีต ในปี 2007 ประธานาธิบดี Bush ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่พบปะกับ ดาไล ลามะ อย่างเป็นทางการที่สภาคองเกรส
แต่ก่อนหน้านี้ Obama ได้เลื่อนการพบปะกับ ดาไล ลามะ ในช่วงก่อนที่ Obama จะเดือนทางไปเยือนจีนในช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการมีเรื่องกับจีนก่อนไปเยือน แต่การเลื่อนการพบปะก็ได้ถูกโจมตีจากหลายๆฝ่ายในสหรัฐ ดังนั้น การตัดสินใจพบปะกับ ดาไล ลามะ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในสายตาของรัฐบาล Obama จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะกำลังเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังใช้ไม้แข็งกับจีนในหลายๆเรื่อง
• ในส่วนของจีน ในอดีต จีนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจทุกครั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐพบปะกับ ดาไล ลามะ แต่ในครั้งนี้ ดูปฏิกิริยาจีน จะรุนแรงกว่าทุกครั้ง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ท่าทีของจีนมีลักษณะแข็งกร้าวต่อสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจีนอาจจะลอง test รัฐบาล Obama ว่า จะยอมอ่อนข้อให้กับจีนแค่ไหน 1 ปีที่ผ่านมา Obama เน้นนโยบายปฏิสัมพันธ์ และยอมอ่อนข้อให้กับจีนเป็นอย่างมาก Obama เองก็พูดหลายครั้งว่า สหรัฐต้องการความร่วมมือจากจีนในการแก้ปัญหาของโลก จีนจึงอาจคิดว่าสหรัฐต้องพึ่งพาความร่วมมือจากจีน จึงทำให้จีนมีอำนาจการต่อรองและถือไพ่เหนือกว่า จึงกล้าที่จะแข็งกร้าวกับสหรัฐมากขึ้น
• สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น แนวโน้มคงจะชัดว่า คงจะทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมโทรมลงไปอีก ผมมองว่า จีนคงจะกำลังมองหามาตรการตอบโต้สหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนใช้วิธีตอบโต้การที่ผู้นำยุโรปบางประเทศพบปะกับ ดาไล ลามะ ด้วยการยกเลิกการเยือนระดับสูง โดยจีนได้ใช้มาตรการดังกล่าวกับฝรั่งเศสและเยอรมนีมาแล้ว ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า จะมีการประกาศยกเลิกการเยือนสหรัฐของประธานาธิบดี Hu Jin Tao ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐ และอาจจะมีการระงับการติดต่อระหว่างผู้นำทหารระดับสูง รวมทั้งจีนอาจจะตีรวนในประเด็นปัญหาต่างๆที่สหรัฐต้องการความร่วมมือจากจีน อาทิ ปัญหาอิหร่าน เกาหลีเหนือ และภาวะโลกร้อน