Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Obama เยือนไทย


Obama เยือนไทย


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555



                ในช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ประธานาธิบดี Obama จะเดินทางมาเยือนไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ Obama ในการมาไทย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะตอบคำถามสำคัญว่า ทำไม Obama ต้องมาเยือนไทย และไทยทำไมถึงอยากให้ Obama มาไทย และจากการที่ไทยได้ส่งสัญญาณว่า จะเข้าร่วม FTA ตัวใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า TPP นั้น การตัดสินใจดังกล่าว จะส่งผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบต่อไทยอย่างไร


ยุทธศาสตร์ของ Obama ต่อภูมิภาค
                ยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯและของ Obama ต่อภูมิภาคเอเชียคือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า แต่ในขณะนี้ จีนกลายเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯในภูมิภาค เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯอีกประการคือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า สหรัฐฯใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า hub and spoke โดยสหรัฐฯเป็น hub เป็นดุมล้อ เป็นศูนย์กลาง และประเทศพันธมิตรต่างๆเป็น spoke หรือเป็นซี่ล้อ สำหรับยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนนั้น สหรัฐฯจำเป็นต้องตีสนิทกับอาเซียนเพื่อดึงอาเซียนให้ออกมาจากอิทธิพลของจีน โดยในสมัย Obama สหรัฐฯได้มีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนมาแล้ว 3 ครั้ง เข้าเป็นสมาชิก Eas Asia Summit (EAS) และเข้ามายุ่งในเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และทำให้อาเซียนแตกกันด้วย
สำหรับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ Obama ก็กำลังผลักดัน FTA ตัวใหม่ คือ TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งอเมริกาจะเป็นศูนย์กลางของ TPP โดยได้ดึงเอา 4 ประเทศอาเซียนเข้าไปใน TPP แล้ว คือ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ และไทยกำลังจะเป็นประเทศอาเซียนประเทศที่ 5 ที่จะเข้าร่วม เพราะฉะนั้น อาเซียนก็แตกกันอีกในเรื่อง TPP โดยมี 5 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม แต่อีก 5 ประเทศยังไม่เข้าร่วม

ยุทธศาสตร์ของ Obama ต่อไทย
                ที่กล่าวข้างต้นคือ ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯต่ออาเซียน สำหรับในแง่ยุทธศาสตร์ต่อไทยนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ต่ออาเซียน ในปัจจุบัน แม้ว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯจะดูราบรื่นดี  แต่หากดูแนวโน้ม จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐไม่กระชับแน่นแฟ้นเหมือนในอดีต โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในสมัยสงครามเย็น ที่ไทยเป็น 1 ใน 5 พันธมิตรหลักของสหรัฐฯในเอเชีย โดยความขัดแย้งทางการเมืองของไทย รวมทั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจและทางการทูตของไทยที่ตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้ไทยสูญเสียบทบาทการเป็นผู้นำอาเซียน สูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และสูญเสียสถานะการเป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งของสหรัฐฯ อเมริกาจึงเริ่มมองไทยว่า มีค่าน้อยลงเรื่อยๆ และได้เริ่มแสวงหาพันธมิตรใหม่แทนที่ไทย โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และพม่า
                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสำคัญของไทยต่อสหรัฐฯจะลดลง แต่ในสายตาของสหรัฐฯ ไทยยังคงมีความสำคัญอยู่บ้าง เพราะเป็นประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ไทยเป็นหมากตัวหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน โดยสหรัฐฯจะไม่ยอมให้ไทยเป็นบริวารของจีน นอกจากนี้ ไทยยังมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจาก อินโดนีเซีย
และด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างตันนี้เอง ทำให้ Obama ตัดสินใจมาเยือนไทยในครั้งนี้

ยุทธศาสตร์ไทยต่อสหรัฐฯ
                แต่สำหรับไทย เหตุผลสำคัญที่ไทยอยากให้ Obama มาเยือนไทยคือ ไทยยังคงต้องให้ความสำคัญต่อสหรัฐฯในยุทธศาสตร์การทูตของไทยต่อไป ทั้งนี้เพราะ สหรัฐฯยังคงเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ผลประโยชน์ในด้านต่างๆที่ไทยจะได้จากสหรัฐฯมีอยู่มาก ทั้งผลประโยชน์ด้านการเมือง การทหาร สหรัฐฯยังคงคุมเกมการเมืองโลก และการทหารโลก สหรัฐยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย การลงทุนจากสหรัฐฯ มีความสำคัญมาก เงินดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก สหรัฐฯยังคงคุมเกมเศรษฐกิจโลก การค้าโลก และการเงินโลกอยู่
TPP
                และเรื่องสำคัญที่จะเป็นไฮไลต์ของการเยือนไทยของ Obama คือ การที่ไทยจะประกาศเข้าร่วม TPP ซึ่งผมมองว่า คงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ต้องการเอาใจ Obama เหมือนการมอบของขวัญให้กับ Obama ในการเยือนไทย แต่การตัดสินใจเข้าร่วม TPP ก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทั้งนี้เพราะมีข้อดี ข้อเสีย ของการเข้าร่วม ผมจึงขอวิเคราะห์ประเด็นนี้อย่างละเอียดดังนี้
·       ภูมิหลัง
                รัฐบาล Obama ได้ผลักดันการจัดตั้ง FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP โดยบอกว่า TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง จะเป็น FTA ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยมีแผนที่จะขยายจำนวนสมาชิกจาก 9 ประเทศ ให้ขยายครอบคลุมประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ผ่านมา สหรัฐฯก็ล็อบบี้ประเทศต่างๆอย่างหนักให้เข้าร่วม TPP รวมทั้งไทยด้วย
                สำหรับปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯผลักดัน TPP คือ เพื่อเป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันอกโดยเฉพาะในกรอบอาเซียน+3 โดยหากอาเซียน+3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก เศรษฐกิจโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้ว คือ ขั้วสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ดังนั้น การรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก จึงจะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก สหรัฐจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐฯ ด้วยการเสนอ TPP ขึ้นมาแทน นอกจากนี้สหรัฐจะใช้ TPP เป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย
·       ผลกระทบต่อไทย
                สำหรับคำถามสำคัญในขณะนี้คือ การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศจะเข้าร่วม TPP นั้น จะส่งผลดี ผลเสียต่อไทยอย่างไร
                ในแง่ผลดีนั้น ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้คือ เหมือนกับไทยกำลังจะมี FTA กับสหรัฐฯ แต่ประเด็นคือเราเคยเจรจา FTA กับสหรัฐฯมาแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณ แม้ว่าเราอาจจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางตัวไปสหรัฐมากขึ้น แต่ก็มีหลายสาขาที่เราจะเสียเปรียบ โดยเฉพาะการค้าภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา การเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า บวก ลบ แล้ว จะคุ้มกันหรือไม่
                สำหรับผลดีอีกประการคือ ผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ คือ หากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้สหรัฐฯพอใจ การเยือนไทยของ Obama จะมีความหมาย Obama จะพอใจ ไทยจะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯต่อไป
                อย่างไรก็ตาม ผลเสียจากการเข้าร่วม TPP ต่อไทย ก็มีหลายประการ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งจะกระทบต่อไทยในหลายสาขา โดยเฉพาะภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญา
                นอกจากนี้ TPP จะกระทบต่อ FTA ที่ไทยมีอยู่แล้ว ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะ FTA ในกรอบอาเซียน+1 รวมทั้งจะกระทบต่อแผนการจัดตั้ง FTA ในกรอบอาเซียน +3 และ อาเซียน+6 ด้วย
TPP เป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ จีนไม่ได้รับการเชิญจากสหรัฐฯให้เข้าร่วม TPP การเข้าร่วม TPP ของไทย เท่ากับเป็นการเอียงไปเป็นพวกสหรัฐฯ ซึ่งก็คงจะทำให้จีนไม่พอใจ
นอกจากนั้น TPP จะลดบทบาทของอาเซียนลง และเท่ากับเป็นการแบ่งแยก ทำให้อาเซียนแตกโดยขณะนี้ มี 5 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม แต่อีก 5 ประเทศก็ไม่เข้าร่วม และแนวโน้มการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบเอเชีย +3 ก็คงจะไม่สำเร็จ
กล่าวโดยสรุป สหรัฐฯคงจะได้ประโยชน์มากมายมหาศาลจากการจัดตั้ง TPP แต่สำหรับไทย อาจจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ผลเสียกลับมีมากมายหลายประการ

โจทย์วิจัยประชาคมอาเซียน


โจทย์วิจัยประชาคมอาเซียน


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน
   2555


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องทิศทางการวิจัยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน โดยตอนแรก จะพูดถึงประสบการณ์การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนของผม และจะกล่าวถึงข้อเสนอโจทย์วิจัยและหัวข้อวิจัยในอนาคต
ประสบการณ์การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาเซียน
ประสบการณ์ในเรื่องอาเซียนของผม ยาวนานประมาณ 30 ปี โดยจุดเริ่มต้น เริ่มตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐ ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ก็สนใจเรื่ององค์การระหว่างประเทศ ช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก อยู่ในช่วงเวลาประมาณปี ค.ศ.1981-1984 ผมสนใจศึกษาองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนและสหประชาชาติ
ต่อมาในปี 1985 ผมเรียนจบกลับมาเมืองไทยและสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศได้ และได้ทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 1985-1998 ตอนที่ผมเข้าไปตอนแรกอยู่กรมเศรษฐกิจ และโอนไปอยู่กรมอาเซียน ในปี 1986 ถึงปี 1989 ผมจึงได้จับเรื่องอาเซียนมาโดยตลอด ตอนที่ผมอยู่กรมอาเซียน การศึกษาของผมไม่ได้เป็นแบบนักวิชาการ แต่เป็นแบบนักปฏิบัติ คือ ศึกษาในแง่การตอบโจทย์ว่า ไทยควรมีนโยบายอย่างไรต่ออาเซียน ตอนนั้นไม่ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนมาเป็นเวลา 10 ปี กล่าวคือ มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 2 ในปี 1977 และจะประชุมครั้งที่ 3 ในปี 1987
ก่อนจะมีการประชุมครั้งที่ 3ไทยก็ active มาก รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศตื่นเต้นที่จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดที่กรุงมะนิลา ในปี 1987 โจทย์สำคัญในตอนนั้น คือ ไทยจะเอาอย่างไร ไทยพร้อมหรือยัง ที่จะเข้าร่วมกับอาเซียน อาเซียนพร้อมหรือยังที่จะเป็น  FTA อาเซียนพร้อมหรือยัง ที่จะเป็นตลาดร่วม นั่นคือ คำถามเมื่อปี 1986 ผมก็ต้องพยายามตอบโจทย์เหล่านี้ ผมได้ศึกษาว่า ไทยจะได้จะเสียอย่างไร ถ้าเราเข้าร่วม FTA หรือถ้าเป็นตลาดร่วม ตอนนั้นมีการระดมสมองกันใหญ่
                สำหรับผลการศึกษาในตอนนั้นสรุปได้ว่า ไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมและจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนแต่อินโดนีเซียไม่พร้อม เราก็เลยไปได้ไม่ถึงฝั่ง คือ ในปี  1987 อาเซียนตกลงกันไม่ได้ที่จัดตั้ง FTA เรามาตกลงกันได้ในปี 1992 ภายหลังจากที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน เสนอการจัดตั้ง AFTA ในปี 1991
                ผมจำได้ว่า มีงานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญมากที่ได้ศึกษาตอนที่อยู่กรมอาเซียน คือ เรื่องข้อเสนอของออสเตรเลียที่จะจัดตั้ง APEC ในปี 1989 รัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ ให้ศึกษาว่าไทยจะได้จะเสียอย่างไร ผลการศึกษาของผม คือ ไทยน่าจะเอาอาเซียนเป็นหลักและไม่ควรสนับสนุนการจัดตั้ง APEC เพราะ APEC จะถูกมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐ ครอบงำ (ซึ่งในที่สุดก็เป็นจริง) ในมุมมองของกรมอาเซียน ถ้า APEC ถูกจัดตั้งขึ้นมา จะทำให้ความร่วมมืออาเซียนเจือจางลง
                หลังจากนั้น ผมก็ไปประจำการอยู่ญี่ปุ่น 4 ปี ก็ห่างเหินจากการศึกษาอาเซียนไปพักหนึ่ง แต่พอกลับมาเมืองไทย ในปี 1993 ก็ไปอยู่กรมเอเชียตะวันออก ซึ่งในตอนนั้น กรมเอเชียตะวันออกยังดูแล เรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนอยู่ ผมจึงได้กลับมาทำเรื่องอาเซียนต่อ โดยทำในส่วนของความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงทางอาเซียน รวมทั้งอยู่ในคณะทำงานจัดประชุม ASEAN Regional Forum ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในปี 1994 ผมได้ช่วยศึกษาว่า ท่าทีของไทยต่อ ARF ควรจะเป็นอย่างไร ไทยจะได้อะไรเสียอะไร และจะผลักดันอะไรใน ARF
หลังจากนั้น ปลายปี 1998 ผมก็ออกจากกระทรวงการต่างประเทศย้ายมาเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีเวลาทำวิจัยได้เต็มที่ ผมได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอาเซียนอย่างเต็มที่ และได้มีผลงานวิจัยและงานเขียนเกี่ยวกับอาเซียนออกมาหลายชิ้น โดยในปี 2002 ผมได้วิจัยให้กับสภาวิจัยแห่งชาติ เรื่อง อาเซียนในศตวรรษที่ 21 หลังจากนั้น ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนอีกหลายเรื่อง เช่น การรวมกลุ่มเอเชียตะวันออก ซึ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน +3 และได้พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ชื่อ ประชาคมเอเชียตะวันออก
                ปัจจุบันหนังสือที่ผมพิมพ์เกี่ยวกับอาเซียนทั้งหมด น่าจะมีกว่า 10 เล่ม โดยได้ทำวิจัยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และ ได้พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรื่อง ประชาคมอาเซียนในปีที่แล้ว ซึ่งก็กำลังขายดีตอนนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 5 แล้ว นอกจากนี้ในช่วงปี 2009 ไทยเป็นประธานอาเซียน สกว.ได้สนับสนุนให้ผมทำโครงการอาเซียนศึกษา โดยได้มีการจัดสัมมนา ระดมสมอง อภิปราย และพิมพ์เอกสารผลการประชุมออกมาเป็นหนังสือได้ 4-5 เล่ม
 ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาขึ้น โดยผมเป็นผู้อำนวยการก่อตั้งคนแรก ศูนย์ได้ตั้งมาตั้งแต่ประมาณปลายปีที่แล้ว แต่มาเจอปัญหาน้ำท่วม จึงหยุดชะงักไปหลายเดือน แต่ก็ได้กลับมาตั้งหลักได้ใหม่ประมาณต้นปีนี้
                สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนที่ผมทำอยู่ในขณะนี้ ท่านผู้อ่านก็คงจะเดาออกว่า น่าจะเน้นเรื่องอะไร เรื่องที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ การเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียน ที่ผ่านมา ผมได้เป็นที่ปรึกษาของ ก.พ. ในโครงการเตรียมความพร้อมข้าราชการสู่ประชาคมอาเซียน โดยได้มีการจัดทำแผนเตรียมบุคลากรภาครัฐระยะ 4 ปี และจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ผมได้เป็นที่ปรึกษาให้กับ กพร.ในการทำ road map แผนเตรียมความพร้อมของภาครัฐ รวมทั้งการจัดทำตัวชี้วัดหรือ KPI ให้กับ กพร. ในการติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย
                โจทย์วิจัยประชาคมอาเซียน
                จากประสบการณ์การศึกษาและวิจัยในเรื่องอาเซียนของผมมาหลายปีที่กล่าวข้างต้น จึงน่าจะเป็นพื้นฐานในการช่วยให้เรามองว่า การวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนในอนาคต ควรจะมุ่งไปในทิศทางใด คำถามสำคัญคือ โจทย์วิจัยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนคืออะไร เราควรจะทำวิจัยเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับอาเซียน
                ผมมองว่างานวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนในอนาคต ควรแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
งานวิจัยในเชิงวิชาการ
รูปแบบที่ 1 คือ งานวิจัยในลักษณะที่เน้นเกี่ยวกับ ทฤษฎี เชิงวิชาการ มีลักษณะเป็นในเชิงพรรณนาและเชิงอธิบาย ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า description และ explanation
โจทย์วิจัยโจทย์แรกคือ คำถามที่ว่า ตกลงอาเซียนคืออะไรกันแน่ อาเซียน คือ ประชาคม หรือเป็นระบอบระหว่างประเทศ หรือเป็นเพียงแค่ระบบที่ 10 ประเทศมารวมกัน (system of states) หรือจะเป็นภูมิภาคภิบาล (regional governance)
ในเรื่องเกี่ยวกับประชาคมนั้น มีทฤษฎีที่เกี่ยวกับประชาคมระหว่างประเทศ หรือ ประชาคมความมั่นคงอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น Karl Deutsch ศึกษาเรื่องประชาคมความมั่นคง (security community) ทฤษฎีของ Deutsch ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ และประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 จะตรงกับประชาคมที่นักวิชาการมองหรือไม่
เรามีทฤษฎีที่เรียกว่า global governance หรือโลกาภิบาล ซึ่งจะมาวิเคราะห์อาเซียนได้อย่างไร อาเซียนจะมีลักษณะเป็นภูมิภาคภิบาล หรือ regional governance ได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎี constructivism ที่มองว่า การสร้างประชาคมอาเซียนจะต้องเน้นการสร้างอัตลักษณ์และบรรทัดฐาน (identity and norms)
สำหรับทฤษฎีหลักของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ ทฤษฎี realism ซึ่งเน้นในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ก็น่าจะมาวิเคราะห์อาเซียนได้ โดยเฉพาะอุปสรรคของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน อาเซียนขณะนี้ยังมีความแตกแยกกันอยู่ ประเทศสมาชิกยังคิดในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ดังนั้นอาเซียนจะเป็นได้แค่ system of states หรือไม่ คือมาร่วมมือกัน แต่ไม่ได้เป็นประชาคมอย่างแท้จริง เรื่องการเมือง เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นปัจจัยสำคัญทำให้อาเซียนแตกแยก จากกรณีความขัดแย้งล่าสุดในเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งเกิดจากการที่กัมพูชาไปเข้าข้างจีน ในขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามก็มีสหรัฐถือหางอยู่ และจึงเห็นได้ชัดว่า มหาอำนาจพยายามที่จะทำให้อาเซียนแตกแยก ซึ่งทฤษฎี realism จะอธิบายได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับอาเซียน ที่เรายังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด เช่น ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการปัญหาข้ามชาติ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
บทบาทของประเทศสมาชิกต่อการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ก็ยังไม่มีคนศึกษามากนัก
นอกจากนั้น อาเซียนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่เราอยู่ในบริบทของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีมหาอำนาจเป็นตัวแสดงหลัก เพราะฉะนั้น น่าจะมีการศึกษาอย่างละเอียดถึงบทบาทของมหาอำนาจต่ออาเซียน ควรมีการศึกษาว่า สหรัฐกำลังทำอะไรอยู่  จีนกำลังทำอะไรอยู่ และอีกเรื่องที่ควรศึกษา คือ บทบาทของอาเซียนในการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค หรือ core of regional architecture 
งานวิจัยในเชิงนโยบาย
อีกรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเกี่ยวกับอาเซียนในอนาคต คือ การศึกษาวิจัยแบบ policy research คือ เป็นการตอบโจทย์และนำเสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย
แน่นอนว่า ขณะนี้สิ่งที่คนไทยอยากรู้มากที่สุด คือ ไทยควรมียุทธศาสตร์อย่างไรต่ออาเซียน ไทยควรมียุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนอย่างไร ประชาคมอาเซียนจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร และไทยจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร
โจทย์วิจัยอีกโจทย์ที่สำคัญ คือ การศึกษาเสนอภาพและแนวนโยบายของอาเซียนในอนาคต ประเด็น คือ ประชาคมอาเซียนในปี 2015 จะยังไม่ใช่ประชาคมที่สมบูรณ์แบบ ถ้าเราจะสร้างประชาคมที่สมบูรณ์แบบ เราจะสร้างอย่างไร
ประชาคมอาเซียนจะยังไม่ใช่ประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ถ้าเราต้องการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราจะต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีโจทย์วิจัยอื่นๆอีกหลายเรื่อง ที่ควรจะมีการศึกษากันในอนาคต คือ
-                   เราจะปรับปรุงกฎบัตรอาเซียนอย่างไร
-                   เราจะทำอย่างไรให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
-                   หลัง 2015 อาเซียนจะเป็นอย่างไร ADB ได้ศึกษาไว้บ้างแล้ว ว่า ในปี 2030 GDP ของอาเซียนรวมกันจะมีมูลค่าประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ อาเซียนจะใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลกระทบอย่างไร อาเซียนจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ เป็นขั้วเศรษฐกิจใหม่ของโลกได้หรือไม่
-                   ความสัมพันธ์อาเซียน +1 คือ ความสัมพันธ์อาเซียนกับมหาอำนาจ ควรจะเป็นไปในทิศทางใด
-                   อาเซียน +3 จะพัฒนาไปเป็นอะไร อาเซียน +3 จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกได้หรือไม่
-                   East Asia Summit หรือ EAS จุดยืนของไทยคืออะไร ไทยควรสนับสนุนให้ EAS พัฒนาไปในทิศทางใด
-                   สุดท้าย ไทยยังสับสนว่า จะเอาอย่างไรกับ FTA ที่มีอยู่มากมายหลายกรอบ ทั้ง FTA อาเซียน +1 FTA อาเซียน +3 ซึ่งก็ยังไม่เกิด และญี่ปุ่นพยายามผลักดัน FTA ในกรอบอาเซียน +6 (CEPEA) นอกจากนี้ สหรัฐกำลังผลักดัน FTA ตัวใหม่ คือ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP อาเซียนจะเอาอย่างไรกับ FTA ต่างๆเหล่านี้
นี่คือโจทย์วิจัยใหม่ๆที่เรายังไม่ได้ศึกษาวิจัยกันอย่างละเอียดเลย