Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 3 )

ประชาคมโลกกับวิกฤติลิเบีย (ตอนที่ 3 )

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ประจำวันศุกร์ที่ 18 – วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของประชาคมโลกต่อวิกฤติลิเบีย โดยเน้นการวิเคราะห์เรื่องข้อเสนอเขตห้ามบิน หรือ no-fly zone ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพัฒนาการ ความเคลื่อนไหวของนานาชาติต่อวิกฤติลิเบีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะวิเคราะห์ต่อ โดยจะเน้นวิเคราะห์ทางเลือกต่างๆที่มีการถกเถียงกันอยู่ ในการนำไปสู่มาตรการที่จะโค่นรัฐบาล Gaddafi ซึ่งจะมีรายละเอียด ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 : สงคราม

ได้มีข้อเสนอให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ แทรกแซงทางทหาร ด้วยการทำสงคราม ส่งทหารบุกลิเบียเพื่อโค่น Gaddafi ซึ่งทางเลือกนี้ จะเหมือนกับมาตรการทางทหารในปี 2003 ในการบุกอิรักของสหรัฐฯ และโค่นรัฐบาล Saddam Hussein อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้คงเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ Robert Gates และผู้นำทหารหลายคน ก็ไม่เห็นด้วยต่อการส่งทหารเข้าไปในลิเบีย

นอกจากนี้ สหรัฐฯมองว่า ลิเบียไม่มีความสำคัญพอ ทั้งในด้านผลประโยชน์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่จะทำให้สหรัฐฯต้องแทรกแซงทางทหาร ซึ่งตอนนี้ สหรัฐฯก็ปวดหัวอยู่มากแล้วในสงครามในอิรัก และอัฟกานิสถาน รัฐบาล Obama จึงมีท่าทีชัดเจนว่า สหรัฐฯคงจะไม่แทรกแซงทางทหารในประเทศที่ไม่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ

และยังมีความไม่แน่นอนด้วยว่า หากการแทรกแซงทางทหาร และโค่นล้ม Gaddafi ลงได้ จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ที่น่ากังวลคือ อาจจะมีผู้นำคนใหม่ที่ต่อต้านตะวันตก หรือลิเบีย อาจจะเข้าสู่สภาวะสุญญากาศแห่งอำนาจ เกิดสภาวะอนาธิปไตย และเป็นรัฐล้มเหลว ซึ่งอาจทำให้กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ฉวยโอกาสจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้

ทางเลือกที่ 2 : เขตห้ามบิน หรือ no-fly zone

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับทางเลือกนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกสภาคองเกรสหลายคนสนับสนุนทางเลือกนี้ อังกฤษและฝรั่งเศสก็สนับสนุนมาตรการนี้ แต่ก็มีหลายๆประเทศ ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ โดยอาจสรุปปัญหาของมาตรการ no-fly zone เป็นข้อๆ ได้ดังนี้

• สงคราม : อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่กล้าดำเนินมาตรการ no-fly
zone เพราะกังวลว่า จะนำไปสู่สงครามใหญ่ เพราะหากจะบังคับใช้ no-fly zone ตะวันตกต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นควบคุมน่านฟ้าลิเบีย ซึ่งต้องทำลายฐานทัพอากาศ เครื่องบิน และปืนต่อสู้อากาศยานของลิเบีย และ Gaddafi ก็คงจะต่อสู้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นสงครามใหญ่ในที่สุด

• ไม่มีหลักประกันว่า no-fly zone จะบรรลุเป้าหมายในการโค่นรัฐบาล Gaddafi ลงได้ ทั้งนี้
no-fly zone จะไม่กระทบต่อการใช้เฮลิคอปเตอร์ รถถัง และกองกำลังภาคพื้นดิน ของ Gaddafi ดังนั้น no-fly zone จะไม่ได้ช่วยฝ่ายต่อต้าน Gaddafi และกองทัพลิเบียก็ไม่ได้เน้นการโจมตีฝ่ายต่อต้านทางอากาศอยู่แล้ว

• ปัญหาอีกประการของ no-fly zone รวมถึงการใช้มาตรการทางทหารอื่นๆ คือ การที่วิกฤติลิเบีย
อาจจะเปลี่ยนเรื่อง จากเรื่องของการลุกฮือขึ้นของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ กลายเป็นเรื่องตะวันตกแทรกแซงทางทหารในโลกอาหรับ และโลกมุสลิม โดยสงครามระหว่างตะวันตก กับ Gaddafi จะกลายเป็นเรื่องราวที่เราคุ้นกันดี คือ ตะวันตกแทรกแซงโลกมุสลิม และโลกอาหรับ เพื่อต้องการน้ำมัน ซึ่งจะเข้าทางของ Gaddafi ซึ่งได้ประกาศมาตลอดว่า วิกฤติในครั้งนี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ จักรวรรดินิยมตะวันตกที่ต้องการครอบครองลิเบีย สงครามอิรักได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากโลกอาหรับ ทำให้ชาวอาหรับหวาดระแวงเป็นอย่างมากต่อการใช้กำลังทางทหารของตะวันตก

• อุปสรรคอีกประการของ no-fly zone คือ ตามหลักแล้ว การดำเนินมาตรการดังกล่าว จะต้อง
ได้รับการอนุมัติจาก UNSC แต่ก็มีแนวโน้มชัดเจนว่า รัสเซียกับจีน ไม่เห็นด้วย และคงจะวีโต้ข้อเสนอดังกล่าว

• และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอด EU แม้ว่าแถลงการณ์ผลการประชุม
จะประกาศว่า EU กำลังพิจารณาทุกทางเลือกเพื่อปกป้องประชาชนชาวลิเบีย แต่ก็ไม่ได้มีการพูดถึงมาตรการ no-fly zone แม้ว่า อังกฤษกับฝรั่งเศส จะพยายามผลักดันในเรื่องนี้แล้วก็ตาม

ทางเลือกที่ 3 : no-drive zone

สำหรับทางเลือกที่ 3 ในการโค่นรัฐบาล Gaddafi คือ การใช้มาตรการ no-drive zone หรือการตั้งเขตห้ามการเคลื่อนย้ายกำลังทางทหารทางภาคพื้นดิน ซึ่งมาตรการนี้ จะเน้นการห้ามเคลื่อนย้ายรถถัง และทหารราบของ Gaddafi อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของมาตรการนี้ ก็คล้ายๆกับมาตรการ no-fly zone แต่จะยิ่งมีความลำบากมากขึ้น เพราะจะต้องใช้กำลังทหารเป็นจำนวนมาก ต้องแทรกแซงทางทหารมากยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของมาตรการนี้ โดยเฉพาะหากจะใช้แต่เครื่องบินในการโจมตีเป้าหมายทางภาคพื้นดิน ดังนั้น หากจะใช้มาตรการนี้ให้ได้ผล ในที่สุด ก็จะต้องส่งกองกำลังทหารเข้าไปในลิเบีย ซึ่งก็จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ และคงจะหาประเทศที่จะสนับสนุนได้ยาก

ทางเลือกที่ 4 : สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน Gaddafi

มาตรการนี้ได้รับความสนใจจากหลายประเทศตะวันตก ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน Gaddafi อังกฤษได้ส่งหน่วยรบพิเศษ SAS เข้าไปติดต่อกับกลุ่มกบฏฝ่ายต่อต้าน Gaddafi แล้ว ส่วนฝรั่งเศส ได้รับรองรัฐบาลของฝ่ายต่อต้านซึ่งมีชื่อว่า National Transition Council ว่า เป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมของลิเบีย ส่วน EU แม้ว่าจะสนับสนุนรัฐบาลของฝ่ายกบฏ แต่ยังไม่ได้ให้การรับรองทางการทูตอย่างเป็นทางการ สำหรับ Obama ก็ได้ส่งทูตพิเศษเพื่อไปหารือกับฝ่ายต่อต้าน Gaddafi ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ ก็อาจจะมีปัญหาเหมือนกัน โดยตัวอย่างสำคัญในอดีต คือ การที่ตะวันตกและสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายต่อต้านสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน แต่ต่อมา กลุ่มที่สหรัฐฯให้การสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือทางทหาร กลับกลายเป็นกลุ่มนักรบตาลีบัน และกลายมาเป็นศัตรูสำคัญของสหรัฐฯในปัจจุบัน

ทางเลือกที่ 5 : การทูตเชิงบีบบังคับ (coercive diplomacy)

จากการวิเคราะห์ทางเลือกทางทหารข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีปัญหาทุกทางเลือก ดังนั้น ขณะนี้ ตะวันตกจึงมุ่งไปสู่การใช้มาตรการการทูตเชิงบีบบังคับ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ 5 ที่จะใช้ในการโค่นรัฐบาล Gaddafi จุดเน้นของมาตรการนี้ คือ การขู่ว่าจะใช้กำลัง และการกดดันในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างของมาตรการนี้ คือ การที่ Obama ได้ออกมากล่าวในเชิงขู่และบีบบังคับ Gaddafi ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ประชาคมโลกมีความรับผิดชอบที่จะต้องป้องกันการเข่นฆ่าประชาชนชาวลิเบีย เหมือนกับที่ประชาคมโลกได้เคยทำในกรณีความขัดแย้งในรวันดา และบอสเนียในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดย Obama กล่าวว่า สหรัฐฯ จะใช้หลายมาตรการ เพื่อบีบให้ Gaddafi ยอมสละอำนาจ สหรัฐฯ กำลังพยายามกดดัน Gaddafi มากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังพิจารณามาตรการต่างๆทุกมาตรการ (รวมถึงมาตรการทางทหารด้วย) โดยบอกว่า สหรัฐฯ กำลังร่วมมือกับประชาคมโลก และร่วมมือกับฝ่ายต่อต้าน Gaddafi ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

EU ก็ได้ดำเนินมาตรการการทูตเชิงบีบบังคับเช่นเดียวกัน โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า Gaddafi จะต้องยอมสละอำนาจ และขณะนี้ EU ได้เพิ่มแรงกดดันจากนานาชาติ

นาโต้ ก็ได้ดำเนินมาตรการกดดันทางทหาร ด้วยการส่งเรือรบลอยลำนอกชายฝั่งลิเบีย และส่งเครื่องบินตรวจการ บินอยู่ใกล้ชายฝั่งลิเบีย

แต่ปัญหาของมาตรการนี้ คือ อาจจะไม่ได้ผลที่จะบีบให้ Gaddafi ยอมสละอำนาจได้

ทางเลือกที่ 6 : มาตรการคว่ำบาตร

สำหรับทางเลือกสุดท้าย คือ มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นมาตรการที่ UNSC ได้มีข้อมติออกมาแล้ว และประเทศตะวันตกได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวไปแล้ว โดยมีการอายัดบัญชีทรัพย์สินของ Gaddafi ในธนาคารสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 30,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ ก็มีมาตรการการห้ามผู้นำลิเบียเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงการขับลิเบียออกจากการเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เหล่านี้ ในที่สุด ก็อาจจะไม่ได้ผล

กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ประชาคมโลกอยู่ในสภาวะ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ไม่รู้ว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรดี เพื่อจะขับ Gaddafi ให้ลงจากอำนาจ มาตรการทางทหารก็เสี่ยงเกินไป ขณะนี้ จึงมีลักษณะของการผสมผสาน ระหว่างทางเลือกที่ 4, 5 และ 6 คือการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน Gaddafi การใช้การทูตเชิงบีบบังคับ และมาตรการคว่ำบาตร แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า ทั้ง 3 มาตรการที่ประชาคมโลกใช้อยู่นั้น จะบรรลุเป้าหมาย คือการกดดันให้ Gaddafi สละอำนาจลงได้