คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว
ผมได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์หลังรัฐประหารปีที่แล้ว
ซึ่งสหรัฐกดดันไทยอย่างหนัก ทำให้ไทยได้หันเข้าหาจีนและประเทศในเอเชียอย่างชัดเจน
สำหรับคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ
ถึงความสัมพันธืไทย-สหรัฐในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงหลังจากการเยือนไทยของนายแดเนียล
รัสเซล และแนวโน้มความสัมพันธ์ในอนาคต ดังนี้
ในบริบทดังกล่าวข้างต้น ผมเดาว่า สหรัฐฯคงจะมองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร
และก่อนที่นายรัสเซลจะเดินทางมาเยือนไทย ผมก็เดาว่า การมาเยือนของนายรัสเซลในครั้งนี้
ถึงแม้จะเป็นแค่ระดับอธิบดี แต่ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ ที่จะได้มาพบปะกับรัฐบาลไทยในปัจจุบัน
ผมคิดว่า สหรัฐฯคงอ่านเกมออกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อเมริกาคงจะต้องพยายามกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย
อเมริกาคงจะปรับเปลี่ยนท่าทีให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ในการสนับสนุนการปฏิรูปของไทย
และอเมริกาคงจะกลับมาแข่งกับอิทธิพลของจีนในไทย ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของอเมริกาเอง
เพราะโจทย์ใหญ่ของสหรัฐมี 4 โจทย์ คือ หนึ่ง ครองความเป็นเจ้า
สอง สกัดจีน สาม กันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกัน และสี่ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ถ้าสหรัฐต้องการที่จะรักษา
4 ตัวนี้ไว้ สหรัฐต้องปรับนโยบาย ด้วยการเข้าหาอาเซียนและไทยมากขึ้น
แต่ก็กลับกลายเป็นเรื่องคาดเดาผิด เพราะกลายเป็นว่า
ตอนนายรัสเซลมาเยือนไทย เขาไปกล่าวสุนทรพจน์ที่จุฬาฯ ประเด็นหลักที่นายรัสเซลมาพูดที่จุฬาฯ
คือ เรื่องการไม่เห็นด้วยกับกฎอัยการศึก การเร่งรัดให้ไทยเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย
และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งตรงนี้ก็เข้าใจได้ว่า เป็นท่าทีจุดยืนมาตรฐานของรัฐบาลสหรัฐต่อสถานการณ์แบบนี้
เขาก็ต้องพูดแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่ผมรู้สึกว่า อเมริกาน่าจะ offside เกินไป คือเรื่องของการพาดพิงกระบวนการถอดถอน
และสรุปเอาเลยว่า น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมทั้งมีข่าวออกมาว่าสถานทูตสหรัฐจะออกไปพบปะกับเสื้อแดง
หลังจากนั้น รัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจ และได้เชิญอุปทูตสหรัฐไปพบที่กระทรวงต่างประเทศ
และมีกระแสต่อต้านต่างๆตามมา
ถ้าอเมริกามาครั้งนี้ เพื่อต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย
ผมคิดว่าล้มเหลว เพราะการเยือนไทยของนายรัสเซลในครั้งนี้
กลับทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐแย่ลง และอาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อความสัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียนด้วย
เพราะอย่าลืมว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ก็มีสถานะไม่ต่างจากไทย
ประเทศอาเซียนบางประเทศ คงจะจับตาดูว่า อเมริกาเริ่มจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอาเซียนมากขึ้น
เพราะฉะนั้น คงจะไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ นี่เป็นผลกระทบประการที่หนึ่ง
ผลกระทบประการที่สอง คือปัญหาในลักษณะแบบนี้
น่าจะทำให้ไทยกับจีน สนิทกันมากขึ้น เพราะการผงาดขึ้นมาของจีน ตอนนี้ จีนเป็นอันดับหนึ่งในหลายๆ
เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ในขณะที่สหรัฐ ในระยะยาว จะเสื่อมอำนาจลง
แนวโน้มในระยะยาว ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ
ไทยจะให้ความสำคัญกับมหาอำนาจในภูมิภาคมากขึ้น คือ ความสัมพันธ์ไทย-จีน
ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-อินเดีย จะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ จะลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ
นี่เป็นแนวโน้มในระยะยาว เพราะอเมริกาจะเสื่อมลงแน่ และเอเชียจะผงาดขึ้นมาแน่
จีนผงาดแน่ อาเซียนผงาดแน่ แนวโน้มนี้ จะผลักดันไทยให้ไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
การเดินเกมของอเมริกาที่ผิดพลาดในครั้งนี้ จะเป็นตัวเร่ง ทำให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
เร็วขึ้น และเข้มข้นมากขึ้น
ผลกระทบดังกล่าวข้างต้น ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของอเมริกาเลย
เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐทรุดหนักลง
การครองความเป็นเจ้า อเมริกายังคงต้องการไทยในฐานะที่จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ในการปิดล้อมและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน
แต่ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของอเมริกา น่าจะกระเทือน จากการที่ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐทรุดหนักลง
และอาจจะลามไปถึงความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐด้วย
เช่นเดียวกับการที่สหรัฐมีจุดมุ่งหมาย
ที่จะป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกัน โดยไม่มีสหรัฐ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา
อเมริกาพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ให้อาเซียน +3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก เพราะสหรัฐกลัวว่า ถ้า 13 ประเทศมารวมกลุ่มกันแล้ว จะกีดกันอเมริกาออกไป สหรัฐเลยไปผลักดันสนับสนุน TPP และ APEC แต่ผมเกรงว่า จากสถานการณ์นี้ ยิ่งจะทำให้ประเทศในเอเชีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย จะให้น้ำหนักกับการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียมากขึ้น
ตอนนี้ ไทยต้องตัดสินใจในการเข้าร่วม FTA 2 ตัว คือ RCEP กับ TPP สำหรับ RCEP คือ FTA ที่มีอาเซียนเป็นแกน
จะเป็น FTA อาเซียน + 6 ส่วน TPP คือ FTA ที่สหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่
ตอนนี้มี 12 ประเทศ ไทยยังไม่เข้าร่วม TPP แต่เข้าร่วม RCEP ที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอนที่โอบามามาเยือนไทย
รัฐบาลก็ประกาศว่า สนใจอยากจะเข้า TPP แต่ตอนหลังก็ถอยออกมา
ผมมองว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ยิ่งจะทำให้ไทยตัดสินใจง่ายขึ้น ในการที่จะเลือก RCEP
แทนที่จะเลือก TPP ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐ
เพราะสหรัฐต้องการให้ประเทศในภูมิภาคเข้าไปเป็นสมาชิก TPP เยอะๆ
โดยสหรัฐมาล็อบบี้ไทยอยู่หลายปี ให้ไทยไปร่วม แต่เราก็ไม่กล้าไปร่วม เพราะว่าเราดูแล้วว่า
น่าจะมีความสุ่มเสี่ยง เพราะ TPP จะกลับไปเหมือน FTA ไทย-สหรัฐ ที่อเมริกาบีบเราให้เปิดทุกสาขา นอกจากนี้ TPP อาจจะมี hidden agenda แอบแฝงเรื่องการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
โดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ เพราะ TPP ไม่ได้เชิญจีนเข้าร่วม
ไทยเลยคิดหนักว่า ถ้าเราไปร่วม TPP แล้ว จีนจะคิดอย่างไร
สถานการณ์ขณะนี้ อาจจะทำให้ไทย ซึ่งพูดมาตลอดว่า
จะไม่เลือกข้าง การเลือกข้างคือ การเป็นพวกจีนหรือพวกสหรัฐ
เราบอกว่าจะไม่เลือกข้าง option สุดท้ายคือการเลือกข้าง
แต่ผมเกรงว่า ในระยะยาว ในที่สุดแล้วเราอาจจะต้องเลือกข้าง
เราอาจจะเอียงไปข้างจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นดาบสองคม อันนี้ก็ต้องระวัง
เพราะถ้าเราเอียงไปข้างจีนมากเกินไป ก็จะไม่ดี
ผมคิดว่า ทางที่ดีที่สุดของเราคือ เราควรจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ
รวมทั้งสหรัฐด้วย ทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างเราคือ อย่าไปมีเรื่องกับอเมริกา
และควรทำอย่างที่ไทยเราทำมาตลอดคือ เราต้องเดินสายกลาง เราต้องสนลู่ลม
เราอย่าไปชนกับใคร ต้องเข้าได้กับทุกฝ่าย
ไทยต้องประคอง
ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปทะเลาะกับอเมริกา ซึ่งยังเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอยู่
ดีที่สุดของไทยคือ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ ไม่เลือกข้าง อันนี้เป็น ideal situation ที่ดีที่สุดของเรา
ที่นี้เราจะทำอย่างไรกับตะวันตก
ที่ยังไม่เข้าใจเรา ตรงนี้รัฐบาลทำน้อยไป รัฐบาลจะต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจน
เพราะเหลือตะวันตกเท่านั้น ที่ยังไม่เข้าใจเรา ประเทศอื่นๆ เข้าใจเราหมดแล้ว
เพราะฉะนั้น เราต้องมียุทธศาสตร์ไปชี้แจงให้ตะวันตกเข้าใจว่า ตอนนี้เราอยู่ในสถานะอะไร
เรากำลังเดินหน้าปฏิรูปอย่างไร เราจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่
ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องรีบทำ ผมคิดว่าตะวันตกเข้าใจเราผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อตะวันตกที่เสนอข่าวเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยที่บิดเบือนมาก
อันนี้เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่เราจะต้องคิดว่าจะทำ PR กับตะวันตกอย่างไร