คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ธนาคารที่มีชื่อย่อว่า
AIIB (Asian Infrastructure Investment
Bank) ซึ่งจีนได้ริเริ่มขึ้น
และท่าทีของสหรัฐ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบของ AIIB ต่อระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในอนาคต
AIIB
AIIB เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลจีนได้เสนอในปี
2013 และได้เริ่มจัดตั้งในเดือนตุลาคมปี 2014 วัตถุประสงค์ของ AIIB ก็เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
โดยเฉพาะถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ
ธนาคารจะมีเงินทุนในตอนแรกประมาณ
5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนจะเป็นผู้ลงขันรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม เงินทุน 5
หมื่นล้านเหรียญของ AIIB ยังถือว่าไม่มาก
เพราะคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของเงินทุนของ ADB (Asian Development Bank) อย่างไรก็ตาม
เงินทุนของ AIIB คงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านเหรียญ เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น
โดยขณะนี้ มีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 30 ประเทศแล้ว
ปัจจัยสำคัญที่จีนผลักดัน
AIIB ส่วนหนึ่ง ก็น่าจะมาจากการที่จีนไม่พอใจในสถาบันการเงินของโลกคือ
IMF และธนาคารโลก และสถาบันการเงินในภูมิภาคคือ ADB ที่ถูกครอบงำโดยสหรัฐทั้งหมด แม้ว่าจีนและประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ จะได้เรียกร้องมานาน
ให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินเหล่านี้ ให้เปิดโอกาสให้จีนมีบทบาทมากขึ้น
แต่สหรัฐก็มีท่าทีเฉยเมยมาโดยตลอด ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนจึงได้ตัดสินใจผลักดันการจัดตั้งสถาบันการเงินขึ้นมาเอง
โดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐอีกต่อไป ก่อนหน้านี้ จีนได้ผลักดันการจัดตั้งธนาคาร BRICS
ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และตอนนี้ก็มาผลักดัน
AIIB ขึ้นมาอีก
ซึ่งเป็นการท้าทายระเบียบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐเป็นอย่างมาก
ท่าทีของสหรัฐ
ในช่วงปลายปีที่แล้ว
สหรัฐได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนในการคัดค้านข้อเสนอของจีน และได้กดดันประเทศต่างๆ
โดยเฉพาะพันธมิตร ไม่ให้ไปเข้าร่วม AIIB สหรัฐคงจะเห็นชัดว่า AIIB
จะส่งผลกระทบทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจต่อสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยสหรัฐหวังว่า ประเทศพันธมิตรของสหรัฐจะไม่เข้าร่วม
และข้อเสนอของจีนจะไปไม่รอด หรือไม่ AIIB
ก็จะมีประเทศเข้าร่วมไม่กี่ประเทศ
สหรัฐอ้างเหตุผลว่า
AIIB ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องความโปร่งใส และในเรื่องของธรรมาภิบาล
แต่ในความเป็นจริง ก็เห็นชัดว่า สหรัฐต่อต้านการจัดตั้ง AIIB
ก็เพราะเป็นความคิดริเริ่มของจีน การต่อต้านอย่างชัดเจนของสหรัฐในครั้งนี้ ทำให้เห็นชัดขึ้นถึงยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีน
และการปิดล้อมจีนทางด้านเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม
ความพยายามของสหรัฐในการสกัดการเกิดขึ้นของ AIIB ก็ไม่เป็นผล เพราะประเทศพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐเกือบทั้งหมด ตัดสินใจเข้าร่วม
AIIB โดยประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วม มีเพียงญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ ออสเตรเลียเท่านั้น ที่ยังลังเลอยู่ และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง
ประเทศอังกฤษที่เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดของสหรัฐ ก็ได้ประกาศเข้าร่วม AIIB และต่อมาเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วม AIIB ตามอังกฤษไปด้วย
บทวิเคราะห์
การจัดตั้ง
AIIB ท่าทีของสหรัฐ และการเข้าร่วม AIIB ของประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกโดยมีนัยยะสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์การจัดตั้ง AIIB ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการผงาดขึ้นของจีน และการเสื่อมถอยของอิทธิพลของสหรัฐอย่างชัดเจน
ในอดีต ในยุคสมัยที่สหรัฐครองความเป็นเจ้าและมีอำนาจล้นฟ้า ถ้าสหรัฐออกมาคัดค้าน
พันธมิตรของสหรัฐก็จะต้องถอยกันหมด แต่ในครั้งนี้ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
แม้ว่าสหรัฐจะคัดค้านอย่างเต็มที่และพยายามกดดันประเทศพันธมิตรและประเทศต่างๆไม่ให้เข้าร่วม
แต่ในที่สุด ก็แทบจะไม่มีประเทศใดสนใจการคัดแค้นและแรงกดดันจากสหรัฐเลย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน
ถึงอิทธิพลของสหรัฐที่เสื่อมถอยลงไปเป็นอย่างมาก
ที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือการตัดสินใจของอังกฤษ
ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐ ในการเข้าร่วม AIIB การตัดสินใจของอังกฤษอาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ที่สำคัญ ถึงการสิ้นสุดของศตวรรษของอเมริกา
และการเกิดขึ้นของศตวรรษแห่งเอเชีย การตัดสินใจของอังกฤษอาจเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ที่ชี้ให้เห็นว่า
สหรัฐไม่สามารถครอบงำประวัติศาสตร์โลกได้อีกต่อไป และชี้ให้เห็นถึงการอุบัติขึ้นของจีนในฐานะมหาอำนาจโลกใหม่
การที่สหรัฐคัดค้านไม่เข้าร่วม AIIB มีผล แทนที่จะโดดเดี่ยวจีน
แต่กลับกลายเป็นสหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยว เพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเกือบทั้งหมดได้กระโดดเข้าร่วม
AIIB สหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะถ้าจะคัดค้าน AIIB ต่อไป ก็จะยิ่งถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่ถ้าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก AIIB ก็ดูจะสายไปเสียแล้ว และที่สำคัญ คือสหรัฐจะเสียหน้ามาก
นับเป็นการเดินเกมทางการทูตที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง
ดูเหมือนกับว่า สหรัฐกำลังสับสนและไม่รู้ว่าจะปรับนโยบายอย่างไรดี
เพื่อรองรับต่อการเสื่อมถอยอำนาจของตน และรองรับการผงาดขึ้นมาของจีน จึงเห็นได้ชัดว่า
นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในปัจจุบัน ดูสับสนวุ่นวายและผิดพลาดไปหมด
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในตะวันออกกลาง สงครามต่อต้านการก่อการร้าย นโยบายต่อรัสเซีย
และยุทธศาสตร์ rebalancing ของสหรัฐในเอเชีย ซึ่งดูล้มเหลวหมด
สหรัฐกำลังตกที่นั่งลำบากและสับสนว่า
จะต้องปรับตัวอย่างไร สหรัฐยังคงยึดนโยบายเก่าๆ ที่ทำตัวเป็นลูกพี่ใหญ่
และบีบทุกประเทศให้เดินตามสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐลืมไปว่า อำนาจและอิทธิพลของตน ลดลงไปมากแล้ว
และสหรัฐไม่อยู่ในสถานะที่จะบีบประเทศต่างๆให้ทำตามสหรัฐได้อีกต่อไป
AIIB กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน
โดยสหรัฐได้วิตกกังวลอย่างมากว่า AIIB
จะมาลดทอนบทบาทของสถาบันการเงินที่สหรัฐครอบงำคือ IMF ธนาคารโลก และ ADB การเดินเกมกดดันให้พันธมิตรไม่เข้าร่วม AIIB สหรัฐจึงทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเดิมพันในเรื่องอิทธิพลของสหรัฐกับจีน
ซึ่งในที่สุด จีนก็เป็นฝ่ายชนะ และสหรัฐเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ผลลัพธ์ของการตั้ง
AIIB สำเร็จ ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าในอดีต สหรัฐสามารถเล่นเกมแบ่งแยกและปกครองได้
แต่ขณะนี้ จีนก็สามารถเล่นเกมแบ่งแยกได้เหมือนกัน
นั่นก็คือทำให้สหรัฐและพันธมิตรแตกแยกกัน และทำให้สถานะการเป็นผู้นำในเอเชียของสหรัฐสั่นคลอนลงไปเป็นอย่างมาก
ท่าทีของสหรัฐต่อ AIIB ในครั้งนี้
ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดถึงยุทธศาสตร์การต่อต้านจีนของสหรัฐ
สหรัฐได้ทำต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมจีนทางทหาร
การจุดประเด็นและการเข้าแทรกแซงในปัญหาทะเลจีนใต้ การผลักดัน TPP ให้เป็น FTA ของภูมิภาค โดยไม่ได้เชิญจีนให้เข้าร่วม TPP จึงเท่ากับเป็นการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น
จากเหตุการณ์ AIIB
ยิ่งทำให้เห็นชัดขึ้นว่ายุทธศาสตร์ rebalancing ของสหรัฐ ก็น่าจะเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนนั่นเอง
การจัดตั้ง AIIB
ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร
การจัดตั้ง AIIB ของจีน ยังไม่ถือว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก
เพราะในภาพรวมแล้ว อำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงเหนือกว่าจีนมาก และ AIIB ก็เป็นเพียงสถาบันการเงินในระดับภูมิภาค จีนก็คงจะเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาค
สหรัฐยังคงจะครอบงำสถาบันการเงินในระดับโลกอยู่เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่า จากความสำเร็จของการจัดตั้ง
AIIB ของจีนในครั้งนี้ น่าจะทำให้ ในอนาคต ในระยะยาว
ก้าวต่อไปของจีนก็คือการเดินหน้าผลักดันการจัดตั้งสถาบันการเงินในระดับโลกของจีนขึ้นมา
ซึ่งก็จะเป็นการท้าทายการครอบงำระเบียบการเงินโลกของสหรัฐอย่างชัดเจน
รบกวนติดตามความเคลื่อนไหวของผมได้ที่ www.drprapat.com
รบกวนติดตามความเคลื่อนไหวของผมได้ที่ www.drprapat.com