Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ไทย สหรัฐ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 3)

ความสัมพันธ์ไทย สหรัฐ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ตอนที่ 3)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 44 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตอนที่ 2 ไปแล้ว ซึ่งได้พูดถึงความสัมพันธ์ตั้งแต่อดีต จนมาถึงความสัมพันธ์ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐต่อ โดยจะพูดถึงความสัมพันธ์ในยุครัฐบาลทักษิณ ดังนี้

1.7 ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในยุครัฐบาลทักษิณ
1.7.1 สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

สำหรับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในยุครัฐบาลทักษิณค่อนข้างยุ่งยากสลับซับซ้อน
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ตอนวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 1997 ในตอนนั้น สหรัฐไม่ช่วยเราและยังมีเสียงบอกว่าสหรัฐเข้ามาฉวยโอกาส ตักตวงผลประโยชน์และใช้ IMF เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จนดูน่าเกลียด

หลังวิกฤติเศรษฐกิจ คนไทยจึงไม่ชอบอเมริกา เราเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วงหลัง ๆ โดนโจมตีอย่างหนักว่า เป็นลูกไล่อเมริกา พรรคไทยรักไทยก็ถือโอกาสโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก็เสียคะแนนไปมากจากเรื่องนี้ รัฐบาลทักษิณเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็รู้ดีว่า คนไทยตอนนี้ไม่ชอบอเมริกา รัฐบาลจะเสียทันทีหากถูกมองว่าเป็นลูกไล่สหรัฐ

เพราะฉะนั้น ตอนแรกรัฐบาลทักษิณก็ถอยห่าง ไม่ได้ไปยุ่งกับอเมริกา หันมาให้ความสำคัญเพื่อนบ้าน อินเดีย เอเชีย จีน ฯลฯ

จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยา ปี 2001 ขึ้นมา สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปหมด ตอนแรก เราก็บอกว่าเราจะเป็นกลาง แต่ต่อมาก็เป็นกลางไม่ได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา นโยบายไทยต่อสหรัฐกลายเป็นเหมือนเราเดินอยู่บนเส้นด้าย เราจะถอยจากอเมริกาก็ไม่ได้ ถ้าเขาโกรธ เราก็จะเสียประโยชน์ จะใกล้มากก็ไม่ได้ เดี๋ยวประชาชนจะต่อว่า จะกลายเป็นชักศึกเข้าบ้าน ทำให้ไทยเป็นเป้าของการก่อการร้าย และเป็นศัตรูกับโลกมุสลิม

ใกล้ชิดมากก็ไม่ได้ ถอยออกมามากก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องพลิ้วไปพลิ้วมาตลอดสมัยของรัฐบาลทักษิณ

ตัวอย่างเช่น พออเมริกาบุกอิรัก เราก็ไม่สนับสนุนอเมริกา เพราะเราไม่อยากเป็นศัตรูกับโลกมุสลิม แต่พออเมริกาชนะสงครามอิรัก เราเห็นท่าไม่ดี จึงต้องรีบกลับไปปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐใหม่ ทักษิณจึงต้องรีบเดินทางไปเยือนสหรัฐ ในเดือนมิถุนายนปี 2003 พอกลับมา เราก็ได้พันธมิตรนอกนาโต้และ FTA การเจรจา FTA ก็เริ่มต้นขึ้น และไทยก็ส่งทหารไปอิรัก

แต่หลังจากนั้น ก็เริ่มมีปัญหาอีก คือเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ที่รุนแรงมากขึ้น เริ่มมีคนสงสัยว่า เพราะเราส่งทหารไปอิรักหรือไม่ เพราะเราไปเข้าใกล้อเมริกามากเกินไปหรือไม่ เพราะเป็นพันธมิตรกับอเมริกาหรือไม่ รัฐบาลก็ต้องถอยอีก โดยรีบถอนทหารออกจากอิรัก

เป็น pattern ชัดเจนว่าในสมัยรัฐบาลทักษิณ ไทยเราก็เล่นกับสหรัฐแบบนี้

1.7.2 เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญในความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในยุครัฐบาลทักษิณก็คือ การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับสหรัฐ
“Enterprise for Asean Initiative” (EAI) เป็นนโยบายใหม่ของ Bush ซึ่งได้ประกาศในระหว่างการประชุม APEC ที่เม็กซิโก ในปี 2002 ถือเป็นการเปิดฉากการเริ่มเจรจา FTA ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเริ่มจาก FTA สหรัฐ-สิงค์โปร์ ซึ่งเจรจากันเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว

ประเทศที่สองคือประเทศไทย เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายอยากจะเจรจากัน ก็มีขั้นตอน อเมริกาจะเป็นผู้ตั้งเงื่อนไขมากกว่า เพราะไทยอยากจะทำกับสหรัฐมากกว่าที่สหรัฐอยากจะทำกับไทย เงื่อนไขก็เช่นว่า จะต้องเป็นสมาชิก WTO จะต้องมีการทำ Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) หรือกรอบความตกลงว่าด้วยเรื่องการค้าและการลงทุนกับสหรัฐก่อน ไทยได้เริ่มทำ TIFA ในช่วงปี 2002 ซึ่งเมื่อทำเสร็จ จึงเริ่มเจรจากัน

สำหรับประเด็นการเจรจา อเมริกาเสนอว่า FTA ไทย-สหรัฐจะต้องเป็น FTA Plus คือ ต้องมีอะไรที่มากกว่าการเปิดเสรีทางการค้า ต้องเป็นการเจรจาแบบ “across the board” คือต้องเปิดเสรีทุกสาขา โดยอ้างว่า ที่สหรัฐเจรจามาแล้วกับสิงค์โปร์ เม็กซิโก และชิลี เป็น across the board ทั้งนั้น

ที่ใกล้เคียงกับ across the board คือ FTA ไทย-ออสเตรเลียซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก เพราะการค้าขายของไทยกับออสเตรเลียมีแค่ 2% ของการค้ารวมของไทยเท่านั้น แต่กับอเมริกานั้นมากมายมหาศาล ตลาดอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย มีสัดส่วนประมาณ 20-30%

ใน fact sheet เรื่อง FTA ไทย-สหรัฐ ที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาว เนื้อหาใจความหลักคือ การโน้มน้าวให้คนอเมริกันเชื่อว่า อเมริกาจะได้ประโยชน์จากการทำ FTA กับไทย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลไทย เพราะรัฐบาลก็พยายามโน้มน้าวคนไทยว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากการทำ FTA เหมือนกัน

ใน fact sheet ดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 18 การค้ารวมในปี 2002 อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 16 สำหรับสินค้าเกษตรของสหรัฐ
หลังจากที่มีการตกลงที่จะเริ่มเจรจากันในเดือนตุลาคมปี 2003 พอมาถึงเดือนมิถุนายนปี 2004 ก็เริ่มมีการเจรจากันครั้งแรกที่ฮาวาย และการเจรจารอบสุดท้ายคือรอบที่ 5 มีขึ้นที่เชียงใหม่

ฝ่ายไทยมีอดีตทูตประจำกรุงวอชิงตันดีซี คือ ทูตนิตย์ พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าทีมในการเจรจา

ในการเจรจา อเมริกาก็บีบให้ต้องเจรจาทุกเรื่อง ทั้งสินค้าเกษตร NTB มาตรฐานสินค้า ภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เรื่องระเบียบศุลกากร ฯลฯ

หลังจากเริ่มมีการเจรจา ก็เริ่มมีเสียงต่อต้านจากกลุ่มต่าง ๆ ของไทยโดยเฉพาะจากทางฝ่ายวิชาการ สำหรับภาคเอกชนกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ คือ ธุรกิจส่งออก สิ่งทอ สินค้าเกษตร แต่กลุ่มที่จะเสียประโยชน์คือกลุ่มการค้าภาคบริการ กลุ่มนี้ก็ออกมาต่อต้าน

ดังนั้น การเจรจาครั้งสุดท้ายที่เชียงใหม่ ก็ไม่ได้ข้อยุติสำหรับประเด็นการเจรจาในเรื่องต่าง ๆ ต่อมาเมื่อได้มีการยุบสภาในช่วงปี 2005 และเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐก็สะดุดหยุดลงตั้งแต่นั้นมา