บทนำ
ปัจจุบัน
ประเทศไทยเริ่มนับถอยหลังในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปี
ก็จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ขณะนี้ ทุกภาคส่วนมีการตื่นตัวเป็นอย่างมากในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ
ก็กำลังเดินหน้ากันอย่างเต็มที่ ในการเตรียมความพร้อมดังกล่าว
และด้วยความตื่นตัวเรื่องอาเซียนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถานศึกษาต่างๆ จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านอาเซียนขึ้นเป็นจำนวนมาก
โดยขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐหลายกระทรวง ได้มีการจัดตั้งกองอาเซียนขึ้น อาทิ กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บางกระทรวงมีการจัดตั้ง
ASEAN Unit ขึ้น ส่วนภาคเอกชน
สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม มีการตื่นตัวในเรื่องนี้มาก โดยสภาหอการค้าได้จัดตั้งกลไกที่เรียกว่า
AEC Prompt ขึ้น ภาคประชาสังคมมีการจัดตั้ง ASEAN Watch
ส่วนสถาบันการศึกษามีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนขึ้น อาทิ ธรรมศาสตร์
จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง มีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาขึ้นแล้ว
และกำลังมีแนวโน้มว่า ในอนาคต มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะมีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพิ่มขึ้นอีกมาก
อย่างไรก็ตาม
หน่วยงานด้านอาเซียนศึกษาต่างๆดังกล่าวข้างต้น
ยังขาดการเชื่อมโยงด้านข้อมูลและขาดความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งหากหน่วยงานเหล่านี้
ได้มีความร่วมมือระหว่างกัน จะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากขึ้น
ดังนั้น ศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีดำริ
ริเริ่มในการสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาขึ้น ทั้งในระดับประเทศ
และในระดับภูมิภาคอาเซียน
การจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาในประเทศไทย
สำหรับแผนที่จะมีการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาขึ้นนั้น
หลักๆ มี 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายในประเทศไทย
และเครือข่ายกับประเทศสมาชิกอาเซียน
สำหรับเครือข่ายในประเทศไทยนั้น
จะแบ่งเป็นการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ 4 เครือข่ายด้วยกัน คือ เครือข่ายภาคกลาง
มีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง
เครือข่ายภาคเหนือ มีจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง และเครือข่ายภาคใต้ มีจังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลาง
ที่ผ่านมา
ได้มีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายด้านอาเซียนศึกษาในประเทศไทยขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีนี้
ในเขตภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ
ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุมกว่า 70 หน่วยงาน
ต่อมา
ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น
โดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า
140 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากสถาบันการศึกษาทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รวมทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และ NGO ด้วย
และในวันที่
13 ธันวาคมนี้ ก็จะมีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายในภาคเหนือ โดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า
100 คน
และในช่วงต้นปีหน้า
จะมีการจัดประชุมสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาในภาคใต้ โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียนศึกษา
มหาวิทยาธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยกำหนดจะจัดขึ้นที่หาดใหญ่
จังหวัดสงขลา
สำหรับผลการประชุม
2 ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง ถึงกิจกรรมด้านอาเซียนศึกษาของหน่วยงานต่างๆ
โดยเฉพาะความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของหน่วยงานต่างๆ และมีการระดมสมองเพื่อสร้างเครือข่ายด้านอาเซียนศึกษาในภูมิภาค
โดยได้มีการตกลงกันในหลักการว่า ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นแม่ข่ายหลักของเครือข่ายอาเซียนศึกษาในระดับประเทศ
แต่สำหรับในระดับภูมิภาค ได้มีการตกลงกันว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จะเป็นแม่ข่ายหลัก ของเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆนั้น
จะเริ่มด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งก็มีแผนในหลายด้าน อาทิ
การจัดทำ Directory
เอกสารคู่มือว่า หน่วยงานไหนทำอะไรในด้านอาเซียนบ้าง ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนบ้าง
นอกจากนี้ จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลในเว็บไซต์ ในลักษณะการเชื่อมลิงค์ต่างๆ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในด้านต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นด้านวิจัย ฝึกอบรม รวมทั้งแชร์ข้อมูลเอกสาร หนังสือ บทความ
รายงานการวิจัยต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้
ในอนาคตจะมีการจัดตั้งเครือข่ายย่อยที่เน้นเฉพาะเรื่อง เช่น
เครือข่ายการทำวิจัยเกี่ยวกับอาเซียน และมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยต่างๆ
มีเครือข่ายด้านฝึกอบรม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านฝึกอบรม และร่วมมือในการจัดฝึกอบรมร่วมกัน
สำหรับความร่วมมืออีกด้านหนึ่งที่สำคัญ
คือ การสร้างเครือข่ายในการเป็นคลังสมอง หรือ Think Tank ในด้านอาเซียนศึกษา โดยหากคลังสมองต่างๆ
ที่ทำเรื่องอาเซียน สามารถจัดตั้งเครือข่ายคลังสมองด้านอาเซียนได้สำเร็จ
เครือข่ายดังกล่าวจะสามารถศึกษาประเด็นปัญหาร่วมกัน นโยบายด้านอาเซียน
และสามารถเสนอเป็น ยpolicy recommendation คือเป็นข้อเสนอนโยบายด้านอาเซียนให้กับสังคมและรัฐบาล
ซึ่งความร่วมมือในทุกด้าน จะเป็นในลักษณะ pool resource คือการระดมทรัพยากรร่วมกัน
โดยที่แต่ละหน่วยงานมีทรัพยากรจำกัด เครือข่ายจะช่วยได้มากในการระดมทรัพยากร นอกจากนี้
หากศูนย์ใดศูนย์หนึ่งเสนอข้อเสนอให้กับรัฐบาล ก็อาจไม่มีน้ำหนัก
แต่หากเสนอในนามเครือข่าย 20-30 สถาบัน ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น ในระยะยาว เครือข่ายดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานต่างๆ
ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะแก่ประเทศและสังคมต่อไป
การจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
แผนการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษานั้น
ไม่ใช่จะทำเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะมีการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนศึกษาในระดับภูมิภาคอาเซียนโดยรวมด้วย
คือการจัดตั้งเครือข่ายที่มีสมาชิกเป็นศูนย์อาเซียนศึกษาจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน 10
ประเทศ ซึ่งจะมีชื่อเครือข่ายว่า Network of ASEAN Studies
นอกจากนี้ แผนระยะยาวคือ การสร้าง global network คือ
เครือข่ายในระดับโลก ที่ศึกษาด้านอาเซียน
โดยจะขยายเครือข่ายออกไปครอบคลุมศูนย์หรือสถาบันอาเซียนของประเทศอื่นๆทั่วโลก
และในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ
ศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ได้จัด “ Regional Workshop on
Network of ASEAN Studies”ขึ้น
โดยมีศูนย์อาเซียนศึกษาจากอินโดนีเซียเข้าร่วมเกือบ 10 ศูนย์ ในส่วนของไทย มีศูนย์อาเซียนศึกษาของจุฬาฯ
สิงคโปร์มีศูนย์อาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัย NUS และ Nanyang
มาเลเซียมี University of Malaya และสถาบันอาเซียนศึกษาของ
University Teknologi MARA และมีศูนย์และสถาบันจากบรูไน
กัมพูชา และเวียดนามเข้าร่วมด้วย ที่ประชุมมีมติอย่างเป็นทางการ ให้มีการจัดตั้ง Network
of ASEAN Studies ขึ้น โดยศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม
ให้เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย และจะจัดประชุมประจำปีครั้งแรกของเครือข่ายขึ้น ในเดือนกันยายนปีหน้า
ที่ประเทศไทย
กล่าวโดยสรุป
การสร้างเครือข่ายอาเซียนศึกษาขึ้น ทั้งในประเทศไทยและในอาเซียน
ได้มีความคืบหน้าไปมาก และในอนาคต หากเครือข่ายได้พัฒนาไปอย่างสมบูรณ์
เครือข่ายดังกล่าวก็จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อม ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และจะทำให้ประชาคมอาเซียน
มีความเข้มแข็งมากขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งก็หวังว่า
ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะสามารถเป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนาเครือข่ายดังกล่าว
และจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป