Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่5) : Branding Thailand

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 18 กันยายน 2557             

            คอลัมน์กระบวนทรรศน์หลายตอนที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทยไปแล้ว 4 ตอน โดยได้มีการเสนอการปฏิรูปยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปฏิรูป grand strategy และปฏิรูปยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะนำเสนอข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทยอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ การปฏิรูปยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทย หรือที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ branding Thailand
ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ในอดีต ไทยมีภาพลักษณ์ที่เป็นบวกหลายด้าน เป็นสยามเมืองยิ้ม ภาพลักษณ์ที่ดีในด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และไมตรีจิตของคนไทย เป็นฐานการผลิตที่น่าลงทุน รวมทั้งสินค้า made in Thailand             
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของประเทศได้เปลี่ยนจากบวกเป็นลบมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนจากสยามเมืองยิ้ม เป็นสงครามกลางเมือง และความรุนแรง ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายอย่างหนัก ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นับเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้าง brand Thailand เป็นอย่างยิ่ง
               ดังนั้น การต่างประเทศของไทย จะต้องมีการปฏิรูปยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า branding Thailand โดยจะต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ในการกอบกู้ภาพลักษณ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น และทัศนคติที่ดีของไทย ในสายตาประเทศต่างๆทั่วโลก
โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้
·      theme และ ภาพลักษณ์ที่พึงปรารถนา
รัฐจะต้องมีการกำหนด theme ที่ชัดเจน ในการสร้างภาพลักษณ์ของไทยในระยะยาว
        ภาพลักษณ์ในแง่บวกของไทย คือ ความเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นประเทศที่สงบ สันติ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีความเป็นมิตรและวัฒนธรรมที่ดีงาม ส่วนภาพลักษณ์ในแง่ลบ คือ เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง การเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์ ศูนย์กลางการค้ายาเสพติด ศูนย์กลางการค้าบริการทางเพศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การคอร์รัปชัน และการฉ้อฉลและฉ้อโกงในสังคมไทย ไทยจึงจะต้องมียุทธศาสตร์ในการกอบกู้ภาพลักษณ์ โดยเฉพาะการขจัดภาพลักษณ์ในแง่ลบให้หมดไป และในระยะยาว จะต้องมียุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ในแง่บวกให้เกิดขึ้นในสายตาประชาคมโลก
        แนวทางหลักในการสร้างภาพลักษณ์นั้น ภาพลักษณ์ที่พึงปรารถนาของไทย ผมขอเสนอภาพลักษณ์ที่พึงปรารถนาที่เน้นลักษณะพิเศษของไทย ความเป็นไทย การที่ไทยมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน การเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธ ไทยเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้าน เช่น ศูนย์กลางทางการศึกษา ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรม และศูนย์กลางอาหารของโลก เป็นต้น
·      กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินยุทธศาสตร์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยนั้น  นักท่องเที่ยว นักลงทุน นักธุรกิจ และสื่อต่างประเทศ น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุด โดยนักท่องเที่ยวจำนวน 25 ล้านคน จะเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ของไทย ดังนั้น รัฐน่าจะมียุทธศาสตร์ในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างเต็มที่
·      สื่อมวลชน
รัฐจะต้องมียุทธศาสตร์การปฏิสัมพันธ์กับสื่อต่างประเทศ
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเมืองเป็นอย่างมาก สื่อต่างประเทศลงข่าวเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองไทยไปในทางลบมาก ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก จากสยามเมืองยิ้ม กลายเป็นสงครามชนชั้น ไทยกลายเป็น de-emerging market
ในช่วงเกิดวิกฤติการเมือง ข่าวในประเทศไทยได้แพร่ออกไปทางสื่อต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ ทั้งทางอินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ข้อมูลมีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งโดยภาพรวม ภาพลักษณ์ของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่รัฐก็ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ทันเวลา ในการสร้างความเข้าใจกับประชาคมโลกได้
รัฐควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทย โดยมียุทธศาสตร์เฉพาะสำหรับแต่ละสื่อ แต่ละช่องทาง อาทิ การมียุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยผ่านทางภาพยนตร์ ยุทธศาสตร์ผ่านทางโทรทัศน์ เพลง ชุมชนไทยในต่างประเทศ ร้านอาหารไทย และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
·      social media
               อินเทอร์เน็ตกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ social media เช่น  facebook มีคนไทยใช้ facebook กว่า 26 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนที่ใช้ภาษาต่างประเทศได้เป็นอย่างดีอยู่เป็นจำนวนมาก และสามารถเชื่อมโยงกับประชาคมโลกได้ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์ของไทย สื่อภาคประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐจึงควรให้ความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การให้ข้อมูลกับคนกลุ่มนี้ รวมถึงยุทธศาสตร์ในการสร้างภาพลักษณ์ผ่านอินเทอร์เน็ต
·      public diplomacy
นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทย และการสร้าง branding Thailand จะต้องมีแผนการรณรงค์การเข้าถึงประชาชนในประเทศต่างๆ (strategy outreach campaign) ด้วยการใช้การทูตสู่สาธารณชน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า public diplomacy
               การทูตสู่สาธารณชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทย รัฐควรมียุทธศาสตร์การทูตสู่สาธารณชนที่เป็นรูปธรรม จะต้องมียุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม หรือสาธารณชนในต่างประเทศ และรัฐไม่ควรดำเนินการทูตสู่สาธารณชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรจะใช้ภาคประชาชนของไทยในการดำเนินการทูตสู่สาธารณชนร่วมกับรัฐ ซึ่งจะมีลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนของไทยกับภาคประชาชนในต่างประเทศ
               เป้าหมายหลักคือ การสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนของไทย ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยสู่ภาคประชาชนในต่างประเทศ ในบางครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนกับภาคประชนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในการสร้างภาพลักษณ์ เพราะเป็นที่ตระหนักดีว่า หากรัฐดำเนินมาตรการในการเสริมสร้างภาพลักษณ์มากเกินไป ก็อาจจะถูกมองจากภาคประชาชนในต่างประเทศว่า เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้น ผมจึงขอเสนอว่า รัฐควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนของไทยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยให้ปรากฏในสายตาประชาคมโลก ซึ่งจะเป็นเป้าหมายในระยะยาวต่อไป  



วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียน ปี 2014

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2557               

               เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Daniel Russel อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ San Francisco ในหัวข้อ ASEAN and America : Partners for the Future ผมดูแล้วเห็นว่าเป็นสุนทรพจน์สำคัญ เป็นการประกาศยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียนล่าสุด คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จึงจะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
               ภาพรวม
               สหรัฐเป็นมหาอำนาจและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น ประธานาธิบดี Obama จึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในระยะยาวต่อภูมิภาค โดยได้เล็งเห็นว่า ศูนย์กลางของภูมิภาคอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอยู่ที่กลุ่มประเทศอาเซียน
               สหรัฐได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในระดับทวิภาคี สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทั้ง 10 ประเทศ
               สำหรับในระดับพหุภาคี สหรัฐมุ่งเป้าไปที่อาเซียน ซึ่งขณะนี้กำลังมีบูรณาการไปเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีประชากรถึง 620 ล้านคน และมี GDP รวมกันกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
               สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนนั้น กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก ในปี 2005 ได้มีการลงนามในข้อตกลง TIFA หรือ Trade and Investment Framework Agreement  หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็แน่นแฟ้นขึ้นมาก ปีที่แล้ว การค้าระหว่างสหรัฐกับอาเซียน มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญ อาเซียนจึงเป็นคู่ค้าและตลาดส่งออก อันดับ 4 ของสหรัฐ
               สำหรับความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองความมั่นคง ตั้งแต่สหรัฐให้การรับรอง Treaty of Amity and Cooperation ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก ประธานาธิบดี Obama ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุม East Asia Summit หรือ EAS ซึ่งถือเป็นมิติสำคัญของยุทธศาสตร์ rebalance  ของสหรัฐต่อเอเชีย
               ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ และผู้บัญชาการกองทัพเรือ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่ฮาวาย ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน
                East Asia Summit
               เวทีอาเซียนที่สหรัฐให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้คือ เวที East Asia Summit หรือ EAS สหรัฐเน้นว่า การเสริมสร้างสถาบันภูมิภาคให้เข้มแข็ง ถือเป็นยุทศาสตร์ระยะยาวของสหรัฐ โดยสถาบันที่เข้มแข็ง จะมีพลังสำคัญที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า peer pressure
               สหรัฐสนับสนุนการที่อาเซียนจัดตั้ง EAS เพราะจะทำให้ประเทศในภูมิภาคใกล้ชิดกันมากขึ้น EAS เป็นเวทีที่จะอุดช่องโหว่ของภูมิภาค เพราะในอดีต จะมีเอเปคเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่ยังไม่มีเวทีหารือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในระดับผู้นำประเทศ หรือในระดับสุดยอด
               ในปี 1997 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 ต่อมาได้ขยายเป็นอาเซียน + 6 ในกรอบ EAS และล่าสุดได้เพิ่มสมาชิกใหม่คือ สหรัฐและรัสเซีย ทำให้ EAS ขยายไปเป็นอาเซียน + 8 การขยายจำนวนสมาชิกของ EAS แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของอาเซียน ที่จะเป็นศูนย์กลาง หรือ hub ที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
               สหรัฐเชื่อว่า EAS จะสามารถพัฒนาไปเป็นเวทีสำคัญในการจัดการปัญหาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ EAS ยังเป็นเวทีใหม่ และสมาชิกกำลังพยายามพัฒนา EAS ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับสหรัฐนั้น การตัดสินใจเข้าร่วม EAS เพราะสหรัฐเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สหรัฐต้องการที่จะอยู่ในโต๊ะการหารือ เพื่อพัฒนาสถาบันดังกล่าวในอนาคต
               สำหรับประเด็นความร่วมมือที่สหรัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษใน EAS คือ ความร่วมมือในการจัดการ กับภัยพิบัติ ทั้งนี้เพราะ 70 % ของภัยพิบัติในโลกอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายปีละเกือบ 7 หมื่นล้านเหรียญ ดังนั้น สหรัฐจึงสนับสนุน EAS Declaration on Rapid Disaster Response และกำลังช่วยพัฒนา ASEAN’s Center for Humanitarian Assistance and Disaster Relief

               ปัญหาทะเลจีนใต้
               อีกเรื่องที่สหรัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐไม่ใช่คู่กรณีพิพาทในปัญหาดังกล่าว สหรัฐจึงมีจุดยืนที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพในทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อสหรัฐ เพราะกว่า 50 %  ของการขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมัน ต้องผ่านทะเลจีนใต้ ดังนั้นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ คือ เสรีภาพในการเดินเรือ หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
               สหรัฐโจมตีจีนว่า ปีนี้ ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้น เพราะพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของจีน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก ต่อการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน และการที่จีนจะยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ เมื่อเร็วๆนี้ การที่จีนส่งแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในบริเวณหมู่เกาะ Paracel ซึ่งเวียดนามได้ อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง
               ณะเดียวกัน ประเทศคู่กรณีต่างพยายามสร้างเสริมกำลังทางทหารเข้าไปในบริเวณที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของจีนในเรื่องนี้ นับว่าน่าเป็นห่วงมาก
               สหรัฐพยายามที่จะช่วยลดความตึงเครียด และช่วยให้มีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี สหรัฐได้ร่วมมือกับอาเซียนในการจัดทำ Code of Conduct นอกจากนี้ สหรัฐสนับสนุนให้มีการสร้าง peer pressure เพื่อกดดันจีน
               ในปฏิญญาปี 2002 จีนและอาเซียนได้ตกลงกันว่า จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำจำกัดความชัดเจนว่า อะไรคือกิจกรรมดังกล่าว สหรัฐจึงสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหารือกันเพื่อให้มีคำจำกัดความที่ชัดเจน สหรัฐเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ยุติกิจกรรมทุกอย่างที่จะก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งในระยะยาว สหรัฐหวังว่า สถาบันที่เข้มแข็งจะสามารถกดดันสมาชิก หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีได้
               บทวิเคราะห์
สุนทรพจน์ที่ผมได้สรุปข้างต้น เป็นการฉายภาพให้เห็นยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียนที่เป็นทางการล่าสุด อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ประกาศอาจจะไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่แท้จริง และยุทธศาสตร์ที่แท้จริงก็มักจะไม่ประกาศ ดังนั้น จึงมี hidden agenda หรือวารซ้อนเร้นมีอยู่มากมายในการเมืองระหว่างประเทศ
สำหรับ hidden agenda ของสหรัฐที่ไม่ประกาศต่อภูมิภาค มีหลายเรื่อง ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักคือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า การปิดล้อมจีน การป้องกันไม่ให้ประเทศในภูมิภาครวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ และยุทธศาสตร์การปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น ยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียนก็จะเป็นไปเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ใหญ่ข้างต้น คือ การครองความเป็นเจ้า ตีสนิทกับอาเซียนเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีน การเข้าร่วม EAS เพื่อป้องกันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกัน โดยไม่มีสหรัฐ
การที่สหรัฐให้ความสำคัญกับ EAS เป็นพิเศษนั้น เพราะสหรัฐต้องการที่จะเข้าครอบงำ EAS และผลักดันให้เป็นเวทีหารือด้านความมั่นคงในภูมิภาค ก่อนหน้านี้ สหรัฐได้เข้าครอบงำเอเปค ซึ่งเป็นเวทีหารือทางเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว
อีกเรื่องที่สำคัญมากสำหรับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคคือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งหลังจากสหรัฐจุดประเด็นในเรื่องนี้ มาตั้งแต่ปี 2010 ขัดแย้งก็ลุกลามบานปลายขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสหรัฐอยู่เบื้องหลัง ยุแหย่ให้คู่กรณีขัดแย้งกันหนักขึ้น
การจุดประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ สหรัฐจะได้ประโยชน์ 5 ประการ
ประการแรก ทำให้อาเซียนทะเลาะกับจีนหนักขึ้น ซึ่งสหรัฐจะได้ประโยชน์ เพราะประเทศอาเซียนจะใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น เพื่อหวังเอาสหรัฐไปถ่วงดุลจีน
ประการที่สอง การที่สหรัฐเข้ามายุ่งเรื่องนี้ทำให้จีนโกรธ และก้าวร้าวมากขึ้น ซึ่งเข้าทางสหรัฐ ประเทศเพื่อนบ้านหวาดระแวงจีนมากขึ้น ก็จะมาใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนประสบความสำเร็จ
ประการที่สาม ปัญหาทะเลจีนใต้ทำให้ประเทศอาเซียนแตกแยกกัน อาเซียนอ่อนแอลง ก็เข้าทางสหรัฐที่ไม่ต้องการให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ
ประการที่สี่ ปัญหาทะเลจีนใต้จะเป็นข้ออ้างอย่างดี ในการที่สหรัฐจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่
ประการที่ห้า นั่นคือ เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐ ในการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคเอเชียนั่นเอง