Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่1)

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่ 1)
ไทยโพสต์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4433 วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 2551

Barack Obama จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า มีการคาดหมายกันมากว่า รัฐบาล Obama จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ และในอีกหลายๆตอนต่อไป จะได้วิเคราะห์ถึงแนวนโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลก สำหรับในตอนแรกนี้ จะเน้นนโยบายในภาพรวม หรือยุทธศาสตร์ใหญ่ที่เรียกว่า Grand strategy

ปัญหาท้าทายนโยบายต่างประเทศ Obama

Obama จะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบโลก และมีปัญหาใหญ่ๆเผชิญหน้าอยู่มากมาย ดังนั้น จากปัญหาท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า จึงถือเป็นโอกาสของ Obama ที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในการผลักดันวิสัยทัศน์เพื่อปฏิรูประบบโลกในอนาคต

ในขณะนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐ ได้มีทั้งนักการเมืองและนักวิชาการออกมาเสนอข้อเสนอต่างๆมากมาย เกี่ยวกับแนวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในอนาคต เพื่อเผชิญกับปัญหาสำคัญๆ ปัญหาที่เด่นชัดก็คือ นโยบายสหรัฐต่ออิรักและอัฟกานิสถาน นโยบายของสหรัฐต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่มีลักษณะเป็นปัญหาที่คงจะต้องใช้เวลาในการแก้ในระยะยาว เช่น เรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลก เรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การจัดการกับกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการปฏิรูปองค์การระหว่างประเทศ ที่ดูเหมือนกับจะไม่สามารถปรับตัวให้รวดเร็วกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

แนวทางในการแก้ปัญหาแนวทางหนึ่งคือ การที่ Obama จะแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเริ่มจากปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดก่อน แล้วค่อยๆไปแก้ปัญหาที่มีความสำคัญรองลงไป แต่การแก้ปัญหาแบบนี้ มีลักษณะเป็นการแก้แบบค่อยเป็นค่อยไป และเป็นการมองปัญหาว่าแต่ละปัญหาเป็นอิสระจากกัน ซึ่งอาจจะประสบความล้มเหลวได้

Grand strategy

ดังนั้น จึงมีแนวทางในการแก้ปัญหาอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งผมเห็นด้วย คือ การแก้ปัญหาแบบมองปัญหาแบบองค์รวม และมองปัญหาแต่ละเรื่องว่ามีการเชื่อมโยงกัน ดังนั้น Obama จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์แบบเป็นองค์รวมและสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ

หัวใจของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ สหรัฐจะต้องผลักดันให้มีการเจรจาในระดับโลก ซึ่งคงไม่ใช่การเจรจาแบบครั้งเดียวจบ แต่คงจะต้องมีลักษณะการเจรจาหลายครั้ง ที่มีลักษณะ “ยื่นหมูยื่นแมว” กับประเทศหลักๆในโลก ในสมัยรัฐบาล Bush นโยบายต่างประเทศสหรัฐเน้นนโยบาย “ข้ามาคนเดียว” โดยสหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาคมโลกและประเทศอื่นเท่าที่ควร

Grand strategy ของ Obama อาจจะเริ่มด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ โดยฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งท้าทายประชาคมโลก และเน้นถึงความจริงใจของสหรัฐที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังจากนั้น ก็จะมีการเจรจาหารือกันแบบไม่เป็นทางการกับประเทศที่สำคัญๆ โดยเฉพาะพันธมิตรยุโรป สหภาพยุโรป พันธมิตรในเอเชีย รวมทั้งประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่คือ จีน อินเดีย และบราซิล

การเจรจาในระดับโลก จะเป็นการผสมผสานกันทั้งมาตรการที่เป็นสนธิสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศ และมาตรการอื่นๆที่มีลักษณะไม่ผูกพันมากนัก

หัวใจของการเจรจาระดับโลกคือ การแลกเปลี่ยนในลักษณะ “ยื่นหมูยื่นแมว” ซึ่งจะเป็นในลักษณะ สหรัฐยอมในบางเรื่อง และประเทศอื่นๆยอมในบางเรื่อง ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาล Bush ท่าทีของสหรัฐมีลักษณะแข็งกร้าวและไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้ประชาคมโลกไม่สามารถหาข้อยุติใดๆได้ และล้มเหลวในการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเจรจารอบ Doha การปฏิรูปองค์กรโลก เช่น UN IMF และธนาคารโลก รวมทั้งความล้มเหลวในการเจรจาแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

ตัวอย่างของการเจรจาในระดับโลกที่มีลักษณะที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า grand bargain มีดังนี้

· ในด้านการค้า: สหรัฐและยุโรป อาจจะเสนอข้อเสนอใหม่ๆในการเจรจา WTO รอบ Doha โดยเฉพาะข้อเสนอในการเปิดเสรีสินค้าเกษตร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยการนำของบราซิลและอินเดีย อาจจะปรับเปลี่ยนท่าทีในการประนีประนอมการเปิดเสรีในด้านการค้าบริการและสินค้าอุตสาหกรรม

· ในประเด็นปัญหาด้านภาวะโลกร้อน: สหรัฐและ EU ควรจะตกลงที่จะให้มีการกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากสหรัฐแสดงจุดยืนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการประนีประนอมแล้ว (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล Bush) ทางฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนและอินเดีย ก็อาจจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น และอาจจะยอมที่จะตกลงที่จะมีการกำหนดระดับของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนลงด้วย

· ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปองค์กรโลก: การมองประเด็นปัญหาโลกในลักษณะองค์รวม จะทำให้สหรัฐเห็นว่า ปัญหาการเจรจาเรื่องภาวะโลกร้อนนั้น เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาเรื่องอื่นๆด้วย โดยเฉพาะท่าทางของจีนและอินเดีย จะเชื่อมโยงกับประเด็นของการปฏิรูปองค์กรเศรษฐกิจโลกด้วย หมายความว่า มีความเป็นไปได้ว่า จีนและอินเดียจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น หากทั้งสองประเทศเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจโลก ระบบการค้าโลก และระบบการเงินโลก มีความเป็นธรรมาภิบาลมากขึ้น คือ หากสหรัฐและยุโรปจะผลักดันให้มีการปฏิรูป IMF และธนาคารโลกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการยกเลิกการผูกขาดตำแหน่งผู้อำนวยการ IMF ให้กับคนยุโรป และการผูกขาดประธานธนาคารโลกให้กับคนอเมริกัน

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ grand bargain ของสหรัฐ นอกจากจะลดการผูกขาดองค์การสหประชาชาติ IMF และธนาคารโลกแล้ว สหรัฐควรที่จะยกระดับการเจรจา G20 มาแทนที่การเจรจา G8 อย่างถาวร ซึ่งหากสหรัฐแสดงถึงความใจกว้างเช่นนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐมากขึ้น ทั้งในด้านการค้า การเงิน พลังงาน และการเจรจาสิ่งแวดล้อมโลก

การปฏิรูประบบโลกในลักษณะ grand bargain ได้ส่อเค้าให้เห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของยุโรปที่จะให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกใหม่ โดยได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบการเงินโลกใหม่ที่เรียกว่า Bretton Woods II ในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

รัฐบาล Obama จึงควรจะเข้ามาสานต่อและผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบโลกอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ไม่ใช่แต่สหรัฐจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูป แต่ประชาคมโลกโดยรวม ก็จะได้รับประโยชน์จากการสร้างระเบียบโลกใหม่ของ Obama ด้วย

มุมไบ: การก่อการร้ายระลอกใหม่

มุมไบ: การก่อการร้ายระลอกใหม่
ไทยโพสต์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4419 วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2551

เหตุการณ์การก่อการร้าย

เมื่อช่วงประมาณวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอินเดีย ที่เมืองมุมไบ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยกลุ่มก่อการร้ายได้เข้าโจมตีโรงแรมชื่อดัง 2 แห่ง รวมทั้งภัตตาคาร สถานีรถไฟ และโรงพยาบาลในช่วงเวลาพร้อมๆกัน มีผู้คนเสียชีวิตไปเกือบ 200 คน

เหตุการณ์การก่อการร้ายได้เริ่มขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยกลุ่มก่อการร้ายได้บุกเข้ากราดยิง และขว้างระเบิด เข้าใส่ผู้คนที่สถานีรถไฟในเมืองมุมไบ และในเวลาเดียวกัน ได้มีระเบิดใกล้กับสนามบินของเมืองมุมไบ นอกจากนี้ ยังมีการบุกเข้าไปในโรงแรมหรูชื่อดังของมุมไบ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก โรงแรมหนึ่งชื่อ Taj Mahal และอีกโรงแรมหนึ่งชื่อ Trident Oberoi โดยเฉพาะโรงแรม Taj Mahal นั้น ถือได้ว่าเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงที่สุดโรงแรมหนึ่งของอินเดีย

ในอดีตนั้น เมืองมุมไบเคยถูกก่อวินาศกรรมหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุด โดยเมื่อปี 2003 มีคนเสียชีวิตไป 50 คนจากระเบิดนอกโรงแรม Taj Mahal และในปี 2006 มีคนเสียชีวิตไปอีก 180 คน จากระเบิดที่สถานีรถไฟ 7 แห่ง แต่การก่อวินาศกรรมครั้งล่าสุด ถือว่ารุนแรงที่สุด และถือว่าเป็นระลอกใหม่ของการก่อการร้ายสากล ที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนกับว่าทำท่าจะเพลาลง

กลุ่มก่อการร้าย

หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การก่อการร้ายครั้งนี้ เป็นฝีมือของใคร ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจน มีอยู่หลายทฤษฎี

ทฤษฎีแรก มุ่งเป้าไปที่กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงในอินเดียเอง โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ ก็ได้มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Deccan Mujahideen ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่หลายคนก็สงสัยว่า อาจจะไม่ใช่ตัวการที่แท้จริง

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีการก่อวินาศกรรมในอินเดียหลายครั้ง ในกรุง New Delhi, Bangalore และ Jaipur โดยกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมในอินเดีย ที่มีชื่อว่า Indian Mujahideen ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญ กลุ่ม Indian Mujahideen นี้ เป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอินเดีย ซึ่งวิวัฒนาการมาจากกลุ่มก่อการร้ายในแคชเมียร์ โดยกลุ่มนี้ต้องการที่จะปลุกระดมคนมุสลิมในอินเดีย ซึ่งมีจำนวน 150 ล้านคน ให้ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับชาวฮินดู

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีที่ 2 ที่มุ่งเป้าไปที่ปากีสถาน ดูมีน้ำหนักมากกว่า โดยนายกรัฐมนตรีของอินเดีย คือ Manmohan Singh ได้กล่าวว่า การโจมตีนั้น เป็นการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายภายนอกประเทศ ต่อมารัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียคือ Pranab Mukherjee ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว เชื่อมโยงกับปากีสถาน โดยล่าสุด ทางตำรวจได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่ง และจากการสอบสวนได้มีรายงานข่าวว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นชาวปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ผู้นำปากีสถานก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า ปากีสถานไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ต่อมา ได้มีการระบุถึงกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นตัวการสำคัญ ซึ่งกลุ่มที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษคือ กลุ่ม Lashkar-e-Toiba ซึ่งมีฐานอยู่ใกล้เมือง Lahore ในปากีสถาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับไล่อินเดียออกจากแคชเมียร์ และจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นทั่วอินเดีย กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับ Taliban และ al-Qeada ทางรัฐบาลอินเดียได้กล่าวหา Lashkar และปากีสถานว่า อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในเขตแคชเมียร์ และเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายในอินเดีย

เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีรายงานข่าวถึงความเคลื่อนไหวของ Lashkar ว่า ได้ย้ายฐานที่ตั้งจากในเขตแคชเมียร์ของปากีสถาน เข้าไปอยู่ในเขตเดียวกับ Taliban และ al-Qeada ในแนวพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน Lashkar ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการเข้าไปปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน เพื่อโจมตีกองกำลังสหรัฐด้วย และ Lashkar ก็ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักวางแผนของ al-Qeada

Ayman al-Zawahiri ผู้นำ al-Qeada อันดับ 2 รองจาก Bin laden ได้เคยประกาศกร้าวว่า เป้าหมายของ al-Qeada คือ การทำลายกระบวนการสันติภาพระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และต้องการที่จะปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ al-Qeada นั้น ได้เคยขู่หลายครั้งที่จะโจมตีอินเดีย ในปี 2006 กลุ่มก่อการร้ายชาวอาหรับ สมาชิก al-Qeada ได้พยายามก่อวินาศกรรมเมือง Goa ทางตะวันตกของอินเดีย เป้าหมายการโจมตีของ al-Qeada ล่าสุดในอินเดีย คือ การโจมตีศูนย์กลางทางศาสนาของชาวยิวทางตอนใต้ของเมืองมุมไบ

ผลกระทบต่อโลก

การก่อการร้ายระลอกใหม่ที่เมืองมุมไบในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน

· ประการที่ 1 หากทฤษฎีแรกเป็นจริง นั่นก็คือ แนวโน้มของการก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอินเดีย ซึ่งมักจะหมายถึงกลุ่ม Indian Mujahideen ดังนั้น หากกลุ่มมุสลิมที่มีอยู่ในอินเดียถึง 150 ล้านคน ถ้าแนวคิดหัวรุนแรงเริ่มระบาด ก็จะก่อให้เกิดแนวรบของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ในอดีต อินเดียเคยภาคภูมิใจว่า ชาวมุสลิมในอินเดียไม่มีกลุ่มหัวรุนแรง ถึงขั้นประธานาธิบดี Bush เคยกล่าวชมนายกรัฐมนตรีอินเดียในตอนพบปะหารือกันเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่า “อินเดียถึงแม้จะมีชาวมุสลิมถึง 150 ล้านคน แต่ก็ไม่ได้เป็นสมาชิก al-Qeada เลยแม้แต่คนเดียว”

ชาวมุสลิมในอินเดียอยู่ในสถานะหมิ่นเหม่ที่จะถูกปลุกปั่นให้มีแนวคิดหัวรุนแรงได้ง่าย ทั้งนี้ เพราะความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมที่ฝังรากลึกมานาน และยังมีปัญหาแคชเมียร์ที่สร้างความแตกแยกให้กับคนทั้งสองศาสนา ในอินเดียนั้น ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยที่รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การงาน และรายได้ เมื่อเทียบกับชาวฮินดู

· ผลกระทบประการที่ 2 เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กำลังมีกระบวนการสันติภาพ และความขัดแย้งกำลังลดลง แต่จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มุมไบ ทำให้อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศอีกครั้งหนึ่ง

· ผลกระทบประการสุดท้ายจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในครั้งนี้ คือ ผลกระทบต่อสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่า กำลังประสบความสำเร็จ และดูเหมือนกับว่า การก่อการร้ายกำลังลดลง แต่เหตุการณ์มุมไบ ถือเป็นจุดเปลี่ยนผันอีกครั้งหนึ่งในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกับกลุ่ม al-Qeada ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่า al-Qeada กำลังสูญเสียบทบาทลง ดังนั้น หาก al-Qeada ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมชาวมุสลิมในอินเดีย ให้เข้าร่วมกับขบวนการหัวรุนแรงมากขึ้น ก็คงจะเป็นฝันร้ายของประชาคมโลก ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคต

วิกฤติอินเดีย-ปากีสถาน

วิกฤติอินเดีย-ปากีสถาน
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 19-วันพฤหัสที่ 25 ธันวาคม 2551

การก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่มุมไบเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน แต่ผลกระทบเรื่องใหญ่ที่ตามมาก็คือ อันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งหลังจากการก่อการร้ายที่มุมไบ ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานก็เข้าขั้นวิกฤติ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะได้วิเคราะห์ถึงที่มาของวิกฤติดังกล่าว โดยจะวิเคราะห์ถึงบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายที่น่าจะเป็นตัวการการก่อวินาศกรรมที่มุมไบ และผลกระทบที่ตามมา ต่อความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถาน

กลุ่มก่อการร้าย Lashkar-e-Taiba (LeT)

หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มุมไบ ในตอนแรก ยังไม่มีความแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของใคร ตอนแรก กลุ่ม Deccan Mujahideen ได้ออกมารับผิดชอบ แต่ต่อมา ก็มีความเข้าใจว่าเป็นกลุ่มเดียวกับ Indian Mujahideen ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการจับกุมผู้ก่อการร้ายได้ ซึ่งเป็นชาวปากีสถาน และหลังจากได้มีการสืบสวนสอบสวน หลักฐานต่างๆได้ชี้ไปว่า คงไม่ใช่ฝีมือจากกลุ่ม Indian Mujahideen แต่น่าจะเป็นฝีมือจากกลุ่มก่อการร้ายชาวปากีสถานที่อันตรายที่สุดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า Lashkar-e-Taiba หรือเรียกย่อว่า LeT

ถึงแม้กลุ่ม LeT จะได้เคยมีฐานที่มั่นอยู่ในเขตแคชเมียร์ แต่กลุ่มดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นองค์กรของชาวแคชเมียร์ แต่สมาชิกประกอบด้วยชาวปากีสถาน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแคว้นปัญจาบ โดยทางอินเดียได้กล่าวหาว่ากลุ่ม LeT ได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและอาวุธ รวมทั้งการฝึกฝน จากหน่วยงานข่าวกรองของรัฐบาลปากีสถาน ซึ่งมีชื่อหน่วยงานว่า Inter-Service Intelligence (ISI)

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของกลุ่มก่อการร้าย LeT ก็ไม่ได้เกี่ยวกับแคชเมียร์โดยตรง แต่กลับมีอุดมการณ์คล้ายกับกลุ่ม al-Qeada คือ การมีแนวคิดมุสลิมหัวรุนแรง และต้องการที่จะจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น โดยเฉพาะที่อินเดีย

ดังนั้น ในช่วงที่อินเดียค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ ในการมีสันติภาพ ความมั่งคั่ง รวมทั้งพัฒนาการประชาธิปไตย ที่มีการแยกศาสนาออกจากการเมือง และมีระบบการเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ พัฒนาการเหล่านี้ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของกลุ่ม LeT ที่จะจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในอินเดีย

นอกจากนี้ ในระยะหลังๆ การที่อินเดียร่วมมือกับสหรัฐและตะวันตก ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้ LeT ถึงกับประกาศว่า อินเดียเป็นหนึ่งใน “อักษะระหว่างสหรัฐ ยิว และฮินดู” ที่จะต้องได้รับการต่อต้านด้วยการใช้กำลัง

ด้วยอุดมการณ์ดังกล่าว การโจมตีของ LeT ในเมืองมุมไบ จึงน่าจะเป็นความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจอินเดียถดถอย ทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเมืองและสังคมเปิดของอินเดีย และก่อให้เกิดความแตกแยกกันทางเชื้อชาติศาสนา

อาจจะกล่าวได้ว่า รองจาก al-Qeada แล้ว LeT ถือได้ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียใต้ที่สำคัญที่สุด และมีเครือข่ายทั่วโลกเหมือน al-Qeada โดยขอบข่ายการดำเนินการ การหาแหล่งเงิน และการหาสมาชิกนั้น ครอบคลุมประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน อิรัก เอเชียกลาง ยุโรป แอฟริกา และออสเตรเลีย

วิกฤติอินเดีย-ปากีสถาน

ดังนั้น หลังจาก LeT ได้ก่อวินาศกรรมในเมืองมุมไบ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่หลังจากเหตุการณ์มุมไบ ความสัมพันธ์ก็เข้าขั้นวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติคือ การที่อินเดียเชื่อว่า การก่อการร้ายที่มุมไบเป็นฝีมือของ LeT ซึ่งมีรัฐบาลปากีสถานรู้เห็นเป็นใจ และอาจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศทำให้อภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ก็อยู่เฉยไม่ได้ ถึงขั้น Condoleezza Rice ต้องรีบเดินทางไปเจรจาห้ามศึก เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม

ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานครั้งใหม่ อาจนำไปสู่สงคราม ซึ่งในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา มีการรบกันถึง 4 ครั้ง
รัฐบาล Bush จึงได้พยายามกดดันให้รัฐบาลปากีสถาน จัดการกับกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ รัฐบาลปากีสถานก็ตอบสนองต่อแรงกดดันจากสหรัฐ ด้วยการกวาดจับผู้ก่อการร้ายได้หลายคน ในจำนวนผู้ก่อการร้ายที่กวาดจับได้ครั้งล่าสุดนั้นมี Zaki-ur-Rehman Lakhvi ผู้นำคนหนึ่งของกลุ่ม LeT รวมอยู่ด้วย ซึ่งทางตำรวจอินเดียระบุว่าเป็นคนวางแผนก่อวินาศกรรมที่มุมไบ

ทางฝ่ายอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานมีความจริงใจที่จะไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ในอดีตอินเดียมองว่า รัฐบาลปากีสถานได้ใช้กลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งกลุ่ม LeT ต่อสู้กับอินเดียในลักษณะสงครามตัวแทน โดยกลุ่มเหล่านี้ มักจะชูเรื่องความขัดแย้งแคชเมียร์เป็นประเด็นหลัก รัฐบาลปากีสถานมักจะอ้างมาตลอดว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะยุติขบวนการก่อการร้ายคือ การแก้ปัญหาแคชเมียร์

ทางฝ่ายอินเดียได้เรียกร้องให้ทางปากีสถานส่งตัวผู้ก่อการร้ายที่จับได้ประมาณ 20 คนให้กับอินเดีย แต่ทางฝ่ายปากีสถานก็ปฏิเสธ

นอกจากนี้ ตำรวจอินเดียยังได้กล่าวหาว่า กลุ่ม LeT ได้ฝึกฝนผู้ก่อการร้ายประมาณ 30 คนมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ในแหล่งซ่องสุม 3-4 แห่งในปากีสถาน อย่างไรก็ตาม ในการก่อวินาศกรรมที่มุมไบนั้น เป็นการปฏิบัติการโดยกลุ่ม LeT จำนวน 10 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวปากีสถานและถูกทางอินเดียสังหารไป 9 คน อย่างไรก็ตาม ทางปากีสถาน ก็ยังคงยืนยันและปฏิเสธว่า กลุ่มก่อการร้ายที่มุมไบนั้น ไม่ใช่ชาวปากีสถาน

สถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ จึงนำไปสู่ความตึงเครียด ถึงขั้นที่มีชาวอินเดียเสนอให้รัฐบาลใช้กำลังทหารโจมตีปากีสถาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดีย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคือ Manmohan Singh ยังแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำสงครามกับปากีสถาน

สำหรับทางฝ่ายปากีสถานนั้น ประธานาธิบดีปากีสถานคือ Asif Ali Zardari ก็ได้สั่งการให้กองทัพปากีสถานเตรียมพร้อม หลังจากได้รับสัญญาณ โดยเฉพาะคำขู่จากรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย คือ นาย Pranab Mukherjee

นอกจากนี้ ความตึงเครียดล่าสุด ก็กำลังจะเปิดแผลเก่าคือ ความขัดแย้งแคชเมียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งแคชเมียร์นั้น มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 ทั้งสองประเทศได้เปิดสงครามรบกันมาแล้วหลายครั้งเพื่อแย่งชิงแคชเมียร์ เมื่อตอนปลายปี 2001 ได้มีกลุ่มก่อการร้ายโจมตีรัฐสภาของอินเดีย ซึ่งในตอนนั้น อินเดียก็กล่าวหากลุ่ม LeT ว่าอยู่เบื้องหลัง และเกือบจะทำให้ทั้งสองประเทศเข้าสู่สงครามอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ได้มีความพยายามในการเจรจาหยุดยิง และสันติภาพก็ดูว่าจะเกิดขึ้นในแคชเมียร์ อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายที่มุมไบ และความตึงเครียดอินเดีย-ปากีสถานครั้งล่าสุด ก็ทำให้หลายฝ่ายกลัวว่า ความขัดแย้งแคชเมียร์กำลังจะปะทุขึ้นอีก

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2025

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2025
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่12 วันศุกร์ที่ 12-วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 2551

เมื่อเร็วๆนี้ สภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐ (National Intelligence Council) ได้เผยแพร่เอกสารการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์โลกถึงปี 2025 เอกสารมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Global Trends 2025” ผมเห็นว่า เป็นเอกสารสำคัญ จึงจะนำมาสรุปวิเคราะห์ในคอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้

ระบบโลกใหม่

เอกสารดังกล่าวได้คาดการณ์ว่า ระบบโลกในปี 2025 จะมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยจะมีการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะจะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางเศรษฐกิจและความร่ำรวยจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก อิทธิพลของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในปี 2025 ระบบโลกจะเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจในปัจจุบัน ไปสู่การเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ และช่องว่างแห่งอำนาจ จะแคบลงระหว่างประเทศรวยกับประเทศยากจน สำหรับสหรัฐ ถึงแม้ในปี 2025 จะยังคงเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจมากที่สุดอยู่ก็ตาม แต่อำนาจของสหรัฐจะลดลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในปี 2025 ระบบโลกจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยจะมีแนวโน้มของการกระจายอำนาจมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะการผงาดขึ้นของมหาอำนาจใหม่ ความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรโลก ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ รวมทั้งจะมีการเกิดขึ้นของการรวมกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ และการเกิดขึ้นของเครือข่ายและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ การที่ระบบโลกจะมีการหลากหลายของตัวแสดง มีความไม่แน่นอนว่า จะนำไปสู่ การเพิ่มขึ้นของความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือจะนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย

มหาอำนาจใหม่

เอกสาร Global Trends 2025 เน้นถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางเศรษฐกิจ และการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่ ซึ่งเรียกรวมกันว่ากลุ่ม BRIC ซึ่งย่อมาจาก Brazil, Russia, India และ China โดย GDP ของกลุ่มประเทศนี้ในปี 2040-2050 จะเท่ากับ GDP ของกลุ่ม G7 โดยจีนจะเป็นประเทศที่ผงาดขึ้นมาโดดเด่นที่สุด ในช่วง 20 ปีข้างหน้า การผงาดขึ้นมาของจีนจะส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุด เอกสารดังกล่าวประเมินว่า ในปี 2025 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ

สำหรับการประเมินของหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่นั้น ผมเห็นด้วยกับการผงาดขึ้นมาของกลุ่ม BRIC แต่ประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วย คือ การประเมินว่า ในปี 2025 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 จากแหล่งข้อมูลหลายๆแหล่งได้ชี้ให้เห็นว่า ภายในปี 2025 จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐ โดยเฉพาะถ้าเราปรับตัวเลขโดยคำนึงถึง Purchasing Power Parity หรือ PPP

ปัญหาข้ามชาติใหม่ๆ

ในปี 2025 เอกสารของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า จะมีประเด็นปัญหาข้ามชาติใหม่ๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกี่ยวกับทรัพยากร โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนพลังงาน อาหาร และน้ำ

ธนาคารโลกได้ประเมินว่า ภายในปี 2030 ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นถึง 50% นอกจากนั้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำจะเข้าสู่จุดวิกฤติ โดยในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีคนในโลกถึง 1,400 ล้านคนใน 36 ประเทศ ที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือปัญหาภาวะโลกร้อน จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร โดยหลายๆภูมิภาคจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะนำไปสู่การขาดแคลนน้ำ และการลดลงของผลผลิตด้านการเกษตร

ปัญหาข้ามชาติใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในอีก 20 ปีข้างหน้าคือ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร โดยปัญหานี้ จะเกิดขึ้นทั้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา โดยปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปัญหาอื่นๆมากมาย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน แต่สำหรับตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปกับญี่ปุ่น จะประสบปัญหาตรงข้ามกับประเทศยากจนคือ ปัญหาการลดลงของจำนวนประชากร ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว

สำหรับทวีปแอฟริกา จะยังคงเป็นทวีปที่ล้าหลังที่สุดในด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยทวีปแอฟริกาจะมีความเปราะบางมากที่สุด ทั้งด้านความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ วิกฤติการเพิ่มขึ้นของประชากร ความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง และการไร้เสถียรถาพทางการเมือง

ความขัดแย้ง

เอกสาร Global Trends 2025 ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2025 โลกจะยังประสบกับภัยคุกคาม ทั้งในรูปแบบของการก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ที่จะมีสาเหตุมาจากการแย่งชิงทรัพยากร

สำหรับปัญหาการก่อการร้ายนั้น ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะยังคงไม่หมดไป อย่างไรก็ตาม เอกสารประเมินว่า อาจจะมีแนวโน้มลดลง หากตะวันออกกลางสามารถเดินหน้าพัฒนาทางเศรษฐกิจ และปัญหาการว่างงานของคนหนุ่มสาวได้รับการแก้ไข

ในประเด็นนี้ ผมขอวิเคราะห์ขัดแย้งกับเอกสารของรัฐบาลสหรัฐว่า สหรัฐมองสาเหตุของการก่อการร้ายมาจากปัญหาความยากจนในตะวันออกกลาง ซึ่งผมคิดว่าเป็นการมองที่หยาบเกินไป และเป็นการมองปัญหาไม่ตรงจุด รากเหง้าของปัญหาการก่อการร้ายมีหลายสาเหตุ ทั้งมาจากการแพร่ขยายของอุดมการณ์หัวรุนแรง แนวโน้มการปะทะกันทางอารยธรรม และการดำเนินนโยบายผิดพลาดของสหรัฐต่อโลกมุสลิมและตะวันออกกลาง ดังนั้น หากปัญหารากเหง้าเหล่านี้ ไม่ได้รับการแก้ ปัญหาการก่อการร้ายก็จะไม่มีทางหมดไป

เอกสาร Global Trends 2025 ยังได้วิเคราะห์ต่อไปว่า ในปี 2025 การแพร่ขยายของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ อาจจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐวิตกกังวลมากที่สุดคือ การที่ในอนาคต กลุ่มก่อการร้าย จะใช้อาวุธชีวภาพ และอาวุธนิวเคลียร์ก่อวินาศกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

สำหรับรูปแบบของการขัดแย้งในอนาคต หน่วยข่าวกรองสหรัฐมองว่า อาจจะมีรูปแบบใหม่ เป็นลักษณะความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะการที่หลายๆประเทศมองถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงาน จะทำให้มีการตื่นตัว ในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งพลังงานในอนาคต ซึ่งในที่สุด อาจนำไปสู่การขัดแย้งระหว่างประเทศ

ผมมองว่า แม้ว่าในอนาคต ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร อาจจะเป็นจริง ตามการคาดการณ์ของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ แต่สิ่งที่เอกสารฉบับนี้มองข้ามไปคือ ความขัดแย้งในรูปแบบเดิมๆ จะยังคงไม่หมดไป ซึ่งผมคิดว่า จะยังคงเป็นความขัดแย้งหลักในอีก 20 ปีข้างหน้าคือความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งในปัจจุบัน เป็นต้นตอของความขัดแย้งและสงครามทั่วโลก

กล่าวโดยสรุป เอกสาร Global Trends 2025 ของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ โดยภาพรวมแล้ว การคาดการณ์ส่วนใหญ่ ผมเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูง อย่างไรก็ตาม เอกสารฉบับนี้ มีลักษณะมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของหน่วยงานข่าวกรองของทุกประเทศ ที่หน้าที่หลักคือ ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคาม ดังนั้น เอกสารฉบับนี้ จึงค่อนข้างที่จะเน้นด้านลบมากเกินไปคือ เน้นภัยคุกคามมากจนเกินไป และมองข้ามอีกด้านหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นโลกในแง่ดีและเป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีการพูดถึงเลยในเอกสารฉบับนี้

Obama กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ

Obama กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ที่ 5-วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม 2551

ทีมเศรษฐกิจ

หลังจากที่ Obama ชนะการเลือกตั้ง แต่ในตอนนี้ ยังต้องรอถึงเดือนมกราคมปีหน้า ถึงจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ในช่วงที่ระหว่างรออยู่ Obama จึงรีบเดินหน้า หาคนที่จะมาดำรงตำแหน่งต่างๆในรัฐบาล และที่คงจะมีความสำคัญมากที่สุดคือ ทีมเศรษฐกิจ

ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดตำแหน่งหนึ่งคือ ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่ง Obama ได้เลือก Tim Geithner ให้มาเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลของเขา ปัจจุบัน Geithner เป็นหัวหน้าธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก Geithner มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน ซึ่งถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่ง Geithner ได้ทำงานอยู่ในกระทรวงการคลังสหรัฐเป็นเวลา 13 ปี โดยเข้าทำงานตั้งแต่ปี 1988 และได้ไต่เต้าจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลงานด้านกิจการต่างประเทศ ในสมัยของประธานาธิบดี Clinton ในช่วงที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ล่าสุด Geithner ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ Lehman Brothers และการเจรจาเพื่อเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่คือ AIG

สำหรับตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งคือ ตำแหน่งผู้อำนวยการของ National Economic Council (NEC) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการประสานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในสมัยรัฐบาล Clinton ได้ริเริ่มจัดตั้งกลไกนี้ขึ้นมา Clinton ได้ใช้ประโยชน์จาก NEC ค่อนข้างมากในการประสานนโยบาย แต่พอมาถึงสมัยรัฐบาล Bush NEC ก็ถูกลดความสำคัญลง พอมาถึงสมัย Obama ดูเหมือนกับว่า Obama คงจะรื้อฟื้นกลไกนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

และคนที่ Obama เลือกให้มาคุม NEC คือ Larry Summers อดีตรัฐมนตรีคลังในสมัย Clinton Summers นั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง และมีประวัติผลงานมากมาย ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์มือหนึ่งอีกคนหนึ่ง Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นคนละพรรค Kissinger แม้จะเป็น Republican แต่ก็ยังเคยกล่าวชม Summers โดย Kissinger ถึงกับเคยกล่าวว่า ประธานาธิบดีทุกคน ควรจะต้องเอา Larry Summers เข้ามาร่วมรัฐบาล และ Obama ก็ได้ทำเช่นนั้น โดย Obama ได้บอกว่า Summers จะเล่นบทบาทสำคัญ โดยเป็นตัวประสานนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

ทั้ง Tim Geithner และ Larry Summers ถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์สายกลาง เป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ดังนั้น การตัดสินใจเลือกทั้ง 2 คน แสดงให้เห็นว่า Obama ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ มากกว่าอุดมการณ์ อย่างไรก็ตาม Summers ไม่ค่อยปรากฏบทบาทต่อสาธารณะเท่าไหร่ ในขณะที่ Geithner ค่อนข้างจะมีความยืดหยุ่นสูง และเข้าได้กับทั้ง Democrat และ Republican

นโยบายเศรษฐกิจของ Obama

นอกจากเรื่องการจัดทีมเศรษฐกิจแล้ว Obama ได้เดินหน้าประกาศนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้ โดย Obama ได้ประกาศแผนการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงเดือนแรกหลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี คือในช่วงต้นปี 2009 ซึ่งรวมถึงนโยบายด้านภาษี นโยบายการสร้างงาน นโยบายด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ และการศึกษา

สำหรับมาตรการที่สำคัญที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการอัดฉีดเงินเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 5 แสนล้านเหรียญ ในขณะนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่า วงเงินเพิ่มเติมที่จะกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจจะมีวงเงินมากเท่าใด แต่จากสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่ยังคงทรุดหนัก ทำให้มีกระแสข่าวออกมาว่า วงเงินอัดฉีดอาจจะขยับขึ้นไปถึง 7 แสน ล้านเหรียญ

อุปสรรค

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Obama กำลังจะเดินเครื่องเต็มที่ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถือว่า Obama กำลังเจอการบ้านที่หนักหนาสาหัส มีอุปสรรคปัญหาหลายเรื่องที่ Obama คงจะต้องประสบ และฟันฝ่ามรสุมต่างๆ

· อุปสรรคประการแรกคือ สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ อยู่ในอาการทรุดหนัก ถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษ 1930 ในตอนที่ Bush ได้มาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ เศรษฐกิจยังอยู่ในสภาวะที่ดี รัฐบาลมีสภาวะงบประมาณเกินดุล ในปี 2001 แต่ในปี 2009 ปีที่ Obama จะเป็นประธานาธิบดี มีการคาดการณ์กันว่า จะมีการขาดดุลงบประมาณมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญ

· ปัญหาอีกประการที่จะตามมาคือ เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็จะมีกระแสโดยเฉพาะจากพรรค Democrat ที่จะผลักดันมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งObama ก็คงจะต้องเจอศึกหนัก จากพรรค Democrat ของตัวเอง และจากสภาคองเกรส

· ปัญหาประการที่สาม ที่จะเป็นผลมาจากการเลือกทีมเศรษฐกิจของ Obama คือ กลุ่มที่สนับสนุน Obama คงจะรู้สึกถูกหักหลัง เพราะคนเป็นจำนวนมากที่เลือก Obama เพราะต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป แต่คนเหล่านี้ รู้สึกผิดหวังที่ทีมเศรษฐกิจของ Obama เป็นคนที่มาจากสมัยของรัฐบาล Clinton คือ ทั้ง Summers และ Geithner เคยทำงานในกระทรวงการคลังในสมัย Clinton

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนทีมเศรษฐกิจของ Obama อาจให้เหตุผลว่า Obama ตัดสินใจถูกต้องแล้ว เพราะเมื่อดูประวัติของรัฐบาล Clinton แล้ว ก็ประสบความสำเร็จในด้านนโยบายเศรษฐกิจไม่น้อย ดังนั้น การเอาทีมของ Clinton มา ก็เท่ากับเป็นการเอาประสบการณ์อันมีค่า โดยเฉพาะประสบการณ์การกอบกู้วิกฤติการณ์ทางการเงิน เพราะทั้งสองคนเคยมีประสบการณ์ในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งที่ เม็กซิโก ละตินอเมริกา รัสเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

· สำหรับปัญหาสุดท้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทีมเศรษฐกิจของ Obama คือ ยังมีความไม่แน่นอนว่า ทีมเศรษฐกิจดังกล่าว จะมี teamwork มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการ NEC ของ Summers มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เหมาะกับ Summers เพราะ Summers นั้น เป็นคนที่ค่อนข้างจะแข็ง และไม่ประนีประนอม แต่ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ต้องประสานฝ่ายต่างๆ หลายคนมองว่า จริงๆแล้ว Summers น่าจะกลับไปเป็นรัฐมนตรีคลัง น่าจะเหมาะกว่า

ผลการประชุม APEC 2008 ที่เปรู

ผลการประชุม APEC 2008 ที่เปรู
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน-วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2551

เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

วิกฤติเศรษฐกิจโลก

Highlight ของการประชุมครั้งนี้ หนีไม่พ้นการหารือเรื่องวิกฤติการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยได้มีการจัดทำแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ต่างหาก แยกออกจากปฏิญญาสรุปผลการประชุม โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงท่าทีของผู้นำ APEC ต่อสถานการณ์วิกฤติการเงินโลก โดยได้กล่าวว่า ผู้นำ APEC ได้หารือกันต่อวิกฤติการเงินโลก และมาตรการต่างๆที่สมาชิก APEC ได้ดำเนินการ

แถลงการณ์ APEC กล่าวอย่างมั่นใจว่า จะสามารถกอบกู้วิกฤติในครั้งนี้ได้ภายใน 18 เดือน โดยได้มีการดำเนินการในการสร้างเสถียรภาพให้กับภาคการเงิน และ APEC จะเดินหน้าต่อและร่วมมือกัน เพื่อดำเนินมาตรการในอนาคต

APEC สนับสนุนสถาบันการเงินระหว่างประเทศและธนาคารของภาคเอกชน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะอยู่รอดได้ APEC ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการปฏิรูปภาคการเงิน ในขณะที่ระบบการเงินมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เครื่องมือในการตรวจสอบควบคุมก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิกฤติครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ในการพัฒนามาตรฐานของบรรษัทภิบาล การจัดการความเสี่ยง และความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคการเงิน

APEC สนับสนุนปฏิญญา Washington (Washington Declaration) ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดกลุ่ม G 20 และ APEC สนับสนุนหลักการที่จะชี้นำแผนปฏิบัติการสำหรับการปฏิรูปตลาดการเงิน ดังนั้น APEC จึงสนับสนุนนโยบายหลักๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทางด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเสียงของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ให้มีบทบาทมากขึ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

APEC ได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB และ Inter- American Development Bank และธนาคารเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ในการที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์การเงิน APEC สนับสนุนบทบาทของ IMF เป็นพิเศษ โดยบอกว่า IMF นอกจากจะมีบทบาทในการสอดส่องดูแลระบบการเงินแล้ว ยังควรร่วมมือกับสถาบันการเงินอื่นๆ ในการเพิ่มบทบาทในการมีมาตรการควบคุมตรวจสอบ และควรมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า

นอกจากนี้ APEC ยังได้ย้ำว่า มีความเสี่ยงที่ เมื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดลง อาจนำไปสู่แนวโน้มของการออกมาตรการกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์ทรุดหนักลง APEC จึงสนับสนุนปฏิญญา Washington ในการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ APEC ยังพยายามที่จะผลักดันการเจรจา WTO รอบ Doha ให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว

ผมประเมินว่า แถลงการณ์ของ APEC เกี่ยวกับวิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ ถึงแม้ดูคร่าวๆแล้ว จะมีการใช้ภาษาที่สวยหรู แต่ถ้าดูให้ละเอียดจริงๆแล้ว จะพบว่า ไม่มีอะไรใหม่ในแถลงการณ์ของ APEC โดยเกือบทั้งหมดที่ APEC พูดมา เป็นการย้ำนโยบายและมาตรการของกลุ่ม G 20 ซึ่งหลักๆแล้ว ก็เป็นแนวนโยบายของสหรัฐนั่นเอง ถ้าดูให้ละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่า แถลงการณ์เป็นประกาศนโยบายกว้างๆ ที่ไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย

ซึ่งผลการประชุมที่ออกมาเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ติดตามการประชุม APEC มาโดยตลอด ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย 10 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ความร่วมมือ APEC แทบไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย มีเพียงแต่การแสดงหลอกคนดู มีการประกาศนโยบายที่สวยหรู และการถ่ายภาพร่วมกันเป็นประจำทุกปีเท่านั้น

บูรณาการทางเศรษฐกิจ

ผมอยากจะกล่าวว่า APEC นั้นถูกอเมริกาครอบงำมาโดยตลอด ดังนั้น เรื่องที่ APEC ให้ความสำคัญก็คือเรื่องที่อเมริกาให้ความสำคัญนั่นเอง และขณะนี้ เรื่องหนึ่งที่อเมริกาให้ความสำคัญมากใน APEC ก็คือ การผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP)

ในการประชุม APEC ที่เปรูในครั้งนี้ อเมริกาก็ผลักดันเรื่องนี้อีก ในปฏิญญาผลการประชุม APEC ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นลำดับแรก ปฏิญญาได้กล่าวว่า การประชุม APEC ปีที่แล้ว ที่ออสเตรเลีย APEC ได้ตกลงกันถึงเป้าหมายระยะยาว ที่จะส่งเสริมบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ประชุม APEC ในครั้งนี้ ได้รับรองแผนปฏิบัติการสำหรับบูรณาการทางเศรษฐกิจของ APEC (2009 work plan for the APEC Regional Economic Integration: REI) โดย APEC เน้นว่า จะเดินหน้าต่อไปในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ

· ความคืบหน้าของประเทศสมาชิก APEC ในการเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย Bogor ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะให้ APEC เป็นเขตการค้าเสรีในปี 2010 สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และภายใน 2020 สำหรับประเทศกำลังพัฒนา

· เรื่องที่สอง คือ เรื่องการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค หรือ FTAAP โดยที่ประชุมสุดยอด APEC ได้ขอให้เจ้าหน้าที่และรัฐมนตรี APEC ศึกษาถึงความเป็นไปได้และทางเลือกของการจัดตั้ง FTAAP รวมทั้งการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และลู่ทางการเจรจาจัดตั้ง FTAAP ในอนาคต

· สำหรับเรื่องที่สาม คือ การผลักดันแผนปฏิบัติการการอำนวยความสะดวกทางการค้าของ APEC แผนที่สอง (APEC’s second Trade Facilitation Action Plan: TFAP II) เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการค้าลงอีก 5% ระหว่างปี 2007-2010

สำหรับเรื่องการผลักดันบูรณาการทางเศรษฐกิจในกรอบ APEC นั้น ผมมองว่า เป็นท่าทีของสหรัฐ โดยเฉพาะการผลักดัน FTAAP นั้น วาระซ่อนเร้นของสหรัฐ คือ การจัดตั้ง FTAAP ขึ้นมาเพื่อป้องกันการร่วมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆในเอเชีย ก็ไม่เล่นด้วยกับสหรัฐ เพราะคงรู้ว่า สหรัฐจะมาไม้ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนมีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศเล็กๆอย่างไทย ก็มีท่าทีแบบสงวนท่าที ท่าทีกำกวม ในลักษณะบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ข้อเสนอของสหรัฐในการจัดตั้ง FTAAP น่าจะไปไม่รอด

กล่าวโดยสรุป การประชุมสุดยอด APEC ที่เปรู ในปี 2008 นี้ ผลการประชุมก็เหมือนกับในหลายๆปีที่ผ่านมา คือ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ดูแล้วน่าจะเป็นการเสียเวลาที่มาประชุมกันทุกปีโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร จริงๆแล้ว ถ้าจะเลิกการประชุมสุดยอด APEC ก็คงจะไม่เสียหายอะไร แต่สาเหตุที่ APEC จะยังคงมีชีวิตรอดต่อไปได้ก็คือ แรงสนับสนุนจากสหรัฐ ลูกพี่ใหญ่ใน APEC สำหรับสหรัฐแล้ว APEC ยังคงมีประโยชน์อย่างมากต่อสหรัฐ เพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการคงอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคต่อไป และ APEC จะเป็นกลไกสำคัญในการเป็นตัวกัน ไม่ให้ประเทศในเอเชีย รวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ