Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

เอเชีย ปี 2013



เอเชีย ปี 2013

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556


คอลัมน์กระบวนทัศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ในปี 2013 นี้  ดังนี้

ระบบเศรษฐกิจเอเชีย

ในปีนี้ ระบบเศรษฐกิจเอเชียจะยังคงเดินหน้า ผงาดขึ้นมาในยุค The Rise of Asia พลวัตทางเศรษฐกิจโลกกำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมายังเอเชีย ขณะนี้ เอเชียค้าขายกันกว่า 60 % เศรษฐกิจรวมกันมีมูลค่าเกือบ 20 ล้านล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเอเชีย ขณะนี้ กำลังมีกระแสที่สวนทางกัน โดยขณะที่ระบบเศรษฐกิจกำลังก้าวหน้า แต่ระบบการเมืองความมั่นคงของเอเชียกำลังเดินสวนทาง มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยม นำไปสู่ความขัดแย้งทางดินแดน และความตึงเครียดทางทหาร ดูเหมือนกับว่า ระบบเศรษฐกิจเอเชียและระบบความมั่นคงเอเชีย ไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียวกันเสียแล้ว แต่อาจจะกำลังจะเคลื่อนเข้ามาประทะกัน
กล่าวอีกในหนึ่ง ภูมิภาคเอเชียกำลังถูกกดดันด้วยพลังที่ขัดแย้งกัน ในมิติหนึ่ง ก็เป็นพลังของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้ประเทศ เศรษฐกิจ และประชาชนใกล้ชิดกัน โดยสะท้อนออกมาในรูปแบบของการค้าในภูมิภาค ซึ่งมีสูงถึง 60 % แต่ขณะเดียวกัน พลังของลัทธิชาตินิยม ก็กำลังจะคุกคามทำให้ภูมิภาคแตกสลาย
สำหรับระบบเศรษฐกิจในเอเชีย ขณะนี้ กำลังมีจีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน และกำลังมีแนวโน้มของการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็กำลังมีการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยม และเร่งเสริมสร้างกำลังทางทหารกันเป็นการใหญ่ ประเทศต่างๆในเอเชีย แม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่บูรณาการกัน แต่ประเทศเหล่านี้กลับหันไปหาสหรัฐฯ ไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ โดยมีจีนเท่านั้นที่ยกเว้นไม่ได้เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ
การผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชีย กำลังท้าทายบทบาทและอำนาจทางเศรษฐกิจของอเมริกาในภูมิภาค การค้าการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาค กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ก็เกิดขึ้นมากมาย ระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกันโดยไม่มีสหรัฐฯ โดยนอกจากข้อตกลงทวิภาคีที่มีอยู่มากมายแล้ว ยังมีข้อตกลงพหุภาคี โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางอยู่หลายข้อตกลง นอกจากนี้ กำลังมีการเจรจา FTA ระหว่างญี่ปุ่น จีน เกาหลี และในกรอบอาเซียน  + 3 ก็มีการเพิ่มวงเงิน Chiang Mai Initiative มีมูลค่าสูงถึง 240,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประกาศระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา ที่จะเจรจา FTA ในกรอบอาเซียน + 6 ที่มีชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ซึ่งน่าจะมาเป็นคู่แข่งกับ FTA ที่สหรัฐฯ กำลังผลักดัน คือ TPP


ระบบความมั่นคงเอเชีย

ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจเอเชียกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ระบบความมั่นคงของภูมิภาคกับเดินสวนทาง ขณะนี้กำลังมีความขัดแย้งกันอย่างหนักระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในเรื่องดินแดน ความขัดแย้งทางด้านความมั่นคงกำลังจะลุกลามบานปลายส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของเอเชียด้วย ขณะนี้ กำลังมีความขัดแย้งกัน ทั้งในทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ บูรณาการทางเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยทำให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพ แต่กลับกลายเป็นว่าความขัดแย้งทางการเมือง กำลังจะทำให้การผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของเอเชียดูเปราะบาง
ตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ในกรณีพิพาทเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตียวหยู ซึ่งทำให้คนจีนเดินขบวนประท้วงญี่ปุ่นในหลายเมืองใหญ่ของจีน นักธุรกิจญี่ปุ่นถูกทำร้าย เที่ยวบินหลายพันเที่ยวบินระหว่างจีนกับญี่ปุ่นถูกยกเลิก บริษัทใหญ่ๆของญี่ปุ่นต้องปิดโรงงานในจีน รวมทั้งสินค้าญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถยนต์ญี่ปุ่นที่ขายในจีน ก็มีปริมาณลดลงเป็นอย่างมาก และญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน นักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศก็ลดลงเป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ตกต่ำลงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ในปี 1972
นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นในกรณีเกาะด็อกโด และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนหลายประเทศ ความขัดแย้งเหล่านี้กำลังจะทำให้ภูมิภาคเอเชียคล้ายกับคาบสมุทรบอลข่านในช่วงศตวรรษที่แล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนาม และจีนกับฟิลิปปินส์ ก็เสื่อมทรามลงเป็นอย่างมาก อาเซียนในฐานะสถาบันในภูมิภาคก็กำลังแตกแยกกันอย่างหนัก  ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ถือเป็นปัญหาใหญ่มากที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าหรือความขัดแย้งทางทหารในภูมิภาคได้ ทั้งจีนและประเทศอาเซียนที่เป็นประเทศคู่กรณี โดยเฉพาะเวียดนามและฟิลิปปินส์ ก็กำลังปลุกกระแสลัทธิชาตินิยมกันเต็มที่ ขณะนี้ ความขัดแย้งยังคุกรุ่นและยังล่อแหลมอยู่ ตัวแปรสำคัญคือสหรัฐฯ ซึ่งต้องการใช้ประเด็นความขัดแย้งนี้ ในการเพิ่มบทบาททางทหารของตน และต้องการยุแหย่ให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ถือเป็นความขัดแย้งที่หนักที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คือสงครามอาจจะเกิดขึ้นได้ และอาจลุกลามบานปลาย หากสหรัฐฯ เข้าแทรกแซง และเกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีน


ความขัดแย้งจีนสหรัฐฯ

ต้นตอของปัญหา คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ กำลังวิตกกังวลว่า จีนจะผงาดขึ้นมาแข่งกับตน จึงมียุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน และพยายามยุแหย่ให้ประเทศเพื่อนบ้านทะเลาะกับจีน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และระหว่างจีนกับอาเซียนในทะเลจีนใต้ จีนไม่พอใจสหรัฐฯ เป็นอย่างมากที่เข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ ถือหางเวียดนาม และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็เข้าแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นด้วย โดยท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ คือ ถือหางญี่ปุ่นอย่างชัดเจน จีนจึงมองว่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ คือ ต้องการให้จีนกับอาเซียน และจีนกับญี่ปุ่น ทะเลาะกัน และต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน   
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ขณะนี้ กำลังมีนโยบายเชิงรุกอย่างหนัก โดยเน้นการสร้างพันธมิตร เน้นสร้างความขัดแย้ง และเน้นการปิดล้อมจีน ประธานาธิบดีโอบามา ก็เพิ่งมาเยือนไทยและกระชับพันธมิตรทางทหารกับไทย รวมทั้ง การไปเยือนพม่าและกัมพูชาด้วย นอกจากนี้สหรัฐฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในเวทีต่างๆ ของอาเซียน ทั้งในกรอบอาเซียนสหรัฐฯ และกรอบ EAS เพื่อแข่งกับอิทธิพลของจีนในอาเซียน
ส่วนจีนก็พยายามตอบโต้ยุทธศาสตร์การปิดล้อมของสหรัฐฯ ด้วยการเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียน แต่ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าชนกับสหรัฐฯและอาเซียนในเรื่องทะเลจีนใต้ อิทธิของจีน เห็นได้ชัดจากการที่กัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนปีที่แล้ว ถือหางจีนเต็มที่ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว
ดังนั้น จีนกับสหรัฐฯ กำลังแข่งขันกันในมิติด้านความมั่นคง และผลลัพธ์ของการแข่งขันคือ ความขัดแย้งจีนกับญี่ปุ่น และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ทั้งสองประเทศแข่งขันกันอย่างหนัก โดยประเด็นหลักคือ การแข่งขันกันในการจัดทำ FTA ในภูมิภาค จีนสนับสนุน RCEP เต็มที่ ในขณะที่สหรัฐฯผลักดัน TPP สหรัฐฯ มี hidden agenda ที่จะผลักดัน TPP เพื่อเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมและโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ และใช้เป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ เป็นตัวกันในการจัดตั้ง FTA ในกรอบอาเซียน + 3 แต่การเจรจาบรรลุข้อตกลง TPP ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้สหรัฐฯ วิตกกังวลว่า หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง TPP ได้ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย จะหันไปให้ความสำคัญกับ RCEP ซึ่งมีจีนสนับสนุนอยู่ ดังนั้นการแข่งขันกันระหว่าง TPP กับ RCEP กำลังจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็กำลังจะเข้มข้นขึ้นด้วย  


อาเซียน

ดังนั้น การที่ระบบการเมืองความมั่นคงในภูมิภาค และระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค กำลังระส่ำระสาย ก็จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนด้วย
ที่ผ่านมา อาเซียนค่อนข้างจะเสียเครดิต ในฐานะที่เป็นสถาบันความมั่นคงในภูมิภาค แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคได้เลย
มิหนำซ้ำ อาเซียนกำลังจะถูกระบบความมั่นคง และความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ทำให้อาเซียนแตกแยก ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ เมื่อกลางปีที่แล้ว อาเซียนก็ขัดแย้งกันถึงขั้นแตกหัก เรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ปัญหาทะเลจีนใต้ โดยมีกัมพูชาถือหางจีน ไม่ยอมตามคำขอของเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่ต้องการให้ใส่ข้อความเกี่ยวกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในแถลงการณ์ร่วม แต่ในที่สุดก็ตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีของอาเซียน ที่ไม่มีแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
สำหรับกรอบการประชุมอื่นๆของอาเซียน ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความขัดแย้งในภูมิภาค  โดยเฉพาะเวที ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่เป็นเวทีหารือทางด้านความมั่นคงที่สำคัญในภูมิภาค แต่ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะเรื่องความขัดแย้งสำคัญๆ ก็ไม่สามารถนำมาหารือในเวทีนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ ปัญหาไต้หวัน และปัญหาอินเดีย-ปากีสถาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในมิติด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแข่งขันกันระหว่าง TPP กับ RCEP ก็ส่งผลกระทบต่ออาเซียนด้วย ทั้งสหรัฐฯ และจีน ก็คงต้องการให้อาเซียนแตกแยก และ RCEP และ TPP ก็จะทำให้อาเซียนแตกแยก ที่เห็นชัดคือ TPP ที่ขณะนี้มี 4 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม แต่อีก 6ประเทศ ยังไม่เข้าร่วม
ความแตกแยกเช่นนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา อาเซียนพยายามผลักดันหลักการเรื่อง ASEAN Centrality คือ การที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค แต่การแตกแยกและการไม่มีเอกภาพของอาเซียน จะทำให้อาเซียนเล่นบทบาทนี้ยากขึ้นทุกที
ดังนั้น อาเซียนจะต้องรีบกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างเอกภาพและยุติความแตกแยก และกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อมหาอำนาจ โดยเฉพาะต่อสหรัฐฯ และจีน และรีบเร่งในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของอาเซียนในการเป็นกลไกจัดการความขัดแย้งในภูมิภาค และทำให้ระบบความมั่นคงในภูมิภาคมีเสถียรภาพและเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะต้องพยายามทำให้ระบบความมั่นคงเอเชียไม่เดินสวนทางกับระบบเศรษฐกิจเอเชีย หากอาเซียนประสบความสำเร็จ อาเซียนก็จะผงาดขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ The Rise of Asia ใน ศตวรรษที่ 21

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 (ตอนจบ)



แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 คือปีนี้ โดยเฉพาะในประเด็นสถานการณ์ความมั่นคงโลกไปแล้ว สำหรับตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ในภูมิภาคสำคัญๆ คือยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย

ภาพรวม
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ มีแนวโน้มทั้งที่เป็นบวก และแนวโน้มที่เป็นลบ โดยรวม ยังไม่มีความแน่นอนว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีขึ้นหรือเลวลง
สำหรับปัจจัยที่เป็นลบนั้น เรื่องแรกคือสถานการณ์วิกฤต Eurozone ซึ่งน่าจะยังคงเป็นวิกฤตอยู่ ส่วนเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็กำลังจะเผชิญกับมรสุมวิกฤตหนี้ นอกจากนี้ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือประเทศกลุ่ม BRIC ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ที่ในช่วงที่ผ่านมา ถูกมองว่ากำลังผงาดขึ้นมาเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ แต่ปีที่แล้วและปีนี้ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังทรุดตัวลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้ดีขึ้น คือ การที่วิกฤต Eurozone มีแนวโน้มจะดีขึ้น ธนาคารกลางยุโรปออกมาส่งสัญญาณว่า จะเข้ามากอบกู้วิกฤต Eurozone อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความมั่นใจในตลาดการเงิน มากขึ้น ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเกิดขึ้นในปีที่แล้ว แต่ในปีนี้ น่าจะฟื้นตัว รัฐบาลจีนได้ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากหลีกเลี่ยงหน้าผาการเงิน (fiscal cliff) ไปได้อย่างหวุดหวิด ทำให้ สหรัฐฯหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินและการถดถอยทางเศรษฐกิจไปได้ระยะหนึ่ง

วิกฤต Eurozone
สำหรับเรื่องที่ต้องจับตามองมากที่สุด ยังคงเป็นเรื่องวิกฤต Eurozone วิกฤตหนี้ยุโรป เข้าขั้นวิกฤต โดยในตอนแรกรัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และ โปรตุเกส แต่ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลี และสเปน วิกฤต Eurozone ได้ส่งกระทบผลต่อเศรษฐกิจโลก สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า กำลังจะเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่
ปีที่แล้ว สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ได้มีแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเกิดขึ้นในหลายประเทศสมาชิก Eurozone อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มในทางบวก แต่สัญญาณในเชิงลบก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลข GDP ซึ่งกรีซ ติดลบถึง 7 %  GDP ของอิตาลี เสปน และโปรตุเกส ก็มีแนวโน้มจะลดลงมาก
ดังนั้นแม้ว่าปีที่แล้ว สถานการณ์วิกฤต Eurozone จะดูดีขึ้น แต่ก็ยังไม่พ้นวิกฤต และยังคงน่าเป็นห่วง โดยมีหลายปัจจัย ที่จะทำให้วิกฤตลุกลามบานปลาย จนอาจเกิดเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ได้ในปีนี้ โดยยังมีความไม่แน่นอนว่ากรีซจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายได้หรือไม่ และหากกรีซล้มละลาย วิกฤตจะลามเข้าสู่อิตาลี และเสปนหรือไม่ มีแนวโน้มว่า ประเทศสมาชิก Eurozone อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหนักขึ้น และอาจเกิดความไร้เสถียรภาพทางการเงิน และทางการเมืองด้วย หากกรีซล้มละลาย กรีซอาจถูกขับออกจาก Eurozone ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจของยุโรปและระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม
ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษคือ เสปน ซึ่งสถานการณ์ไม่ค่อยดี ธนาคารหลายแห่งกำลังมีปัญหา หนี้ภาครัฐสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเสปนเป็นอะไรไป หรือกลายเป็นมีสภาพเหมือนกรีซ ก็อาจจะเป็นงานหนักมาก ที่จะกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของสเปน เพราะเสปนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ไม่เหมือนกรีซ ที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่ามาก

สหรัฐฯ
สำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี นี้ก็น่าห่วง โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีปัญหาทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก สำหรับปัจจัยภายในคือ ปัญหาภาวะหนี้สินของภาครัฐ ซึ่งมีสูงถึง 16 ล้านล้านเหรียญ แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถหลีกเลี่ยง ภาวะหน้าผาการเงิน หรือ fiscal cliffไปได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็น่าจะเป็นเพียงการหยุดยั้งปัญหาไว้เพียงชั่วคราว เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงอยู่ในภาวะอันตราย และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

เอเชีย
ตัวแปรสำคัญในเอเชียที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก คือ เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจจีนซึ่งในอดีตเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนประสบกับภาวะถดถอยชะลอตัว ทั้งในแง่ผลผลิตทางอุตสาหกรรม การลงทุน การค้าปลีก และการส่งออก อุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกก็อ่อนตัวลงมาก
ตัวแปรสำคัญอีกประเทศคือ เศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีความเสี่ยงอยู่มาก ปีที่แล้วญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า อันเนื่องมาจากการปิดโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ ที่เป็นผลมาจากภัยพิบัติ Tsunami ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ดังนั้นในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกในปีนี้ ยังคงมีความเสี่ยงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในปีที่แล้ว ยังคงจะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจเอเชียประสบปัญหา ความไม่แน่นอน คือ keyword ของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
ตามที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีปัญหามาจากวิกฤตหนี้ 16 ล้านล้านเหรียญ ดังนั้น วิกฤตหนี้ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2013 แม้ว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่า และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในปีนี้ก็ตาม แต่เศรษฐกิจของเอเชียก็ผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปในยุคโลกาภิวัตน์

TPP และ RCEP
อีกเรื่องที่จะต้องจับตามองสำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ คือ ความเคลื่อนไหวในการจัดทำ FTA ในภูมิภาค โดยเฉพาะการผลักดัน TPP หรือ Trans- Pacific Partnership โดยสหรัฐฯ ในขณะที่อาเซียนก็พยายามผลักดัน FTA ตัวใหม่ของอาเซียนที่มีชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP
สำหรับ TPP รัฐบาล Obama กำลังมีนโยบายผลักดัน TPP อย่างเต็มที่ โดยจะให้เป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูงและมีความก้าวหน้ามากที่สุด และมีแผนที่จะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสหรัฐฯมีวาระซ่อนเร้นที่จะผลักดัน TPP เพื่อเป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ และ TPP จะเป็นตัวกันการจัดตั้ง  FTA ในกรอบ ASEAN +3 โดยการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ จะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก สหรัฐฯจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐฯ ด้วยการเสนอ TPP ขึ้นมา นอกจากนี้ TPP ยังเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนอีกด้วย
รัฐบาล Obama ตั้งเป้าว่า จะต้องเจรจา TPP ให้เสร็จภายในปีนี้ โดยในปีนี้จะมีการเจรจากันอย่างเข้มข้น ระหว่างสหรัฐฯกับอีก 10 ประเทศสมาชิก ในระหว่างการเยือนเอเชียของ Obama ในช่วงปลายปีที่แล้ว ก็ได้ประกาศ deadline คือเดือนตุลาคมปีนี้ ที่จะต้องเจรจาให้เสร็จ อย่างไรก็ตาม การเจรจา TPP คงจะมีความยุ่งยากสลับซับซ้อน เพราะมีหลายเรื่องหลายประเด็น ที่ผ่านมา สหรัฐฯก็เคยตั้ง deadline ให้เจรจาเสร็จในปี 2011 แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงมีความเป็นไปได้ว่า การเจรจา TPP อาจจะไม่ยุติภายในปีนี้ ซึ่งก็ทำให้สหรัฐฯวิตกกังวลมากว่า หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง TPP ได้ ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะในเอเชียจะเสื่อมศรัทธา เหมือนกับการเจรจา WTO รอบ โดฮา แล้วก็อาจจะหันไปให้ความสำคัญกับ FTA ของอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะ RCEP ดังนั้น รัฐบาล Obama จึงมีเดิมพันสูง ที่จะต้องผลักดัน TPP ให้สำเร็จ เพราะยุทธศาสตร์ใหญ่ของรัฐบาล Obama คือการกลับมาผงาดในเอเชีย และ TPP ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ ดังนั้นหากการเจรจา TPP ล้มเหลว ก็อาจถือเป็นการพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ และเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล Obama ที่จะทำให้สหรัฐฯกลับมาเป็นผู้นำในภูมิภาค
ตามที่ได้กล่าวข้างต้น เดิมพันสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะต้องเจรจา TPP ให้สำเร็จ ก็คือ TPP มีคู่แข่งคือ RCEP เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผู้นำอาเซียนได้ร่วมประชุมกับผู้นำของอีก 6 ประเทศที่มี FTA กับอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ทั้ง 16 ประเทศได้ประกาศเริ่มเจรจา RCEP โดยมีเป้าหมายที่จะให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงภายในปี 2015 เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศที่ผลักดัน RCEP คือ จีน ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็ผลักดัน FTA ในกรอบ +3 มาโดยตลอด แต่ถูกญี่ปุ่นต่อต้าน จีนจึงหันมาสนับสนุน FTA ในกรอบ ASEAN+6 แทน ซึ่งก็มีชื่อใหม่ในปัจจุบันคือ RCEP นั่นเอง ดังนั้นหาก TPP ประสบความล้มเหลว ประเทศในภูมิภาคก็จะหันไปให้ความสำคัญกับ RCEP การแข่งขันกันระหว่าง TPP กับ RCEP ก็คือการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมทั้งการแข่งขันระหว่าง TPP กับ RCEP จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนด้วย เพราะมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯและจีน จะทำให้อาเซียนแตกแยก และ RCEP และ TPP ก็จะทำให้อาเซียนแตกแยก เช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ เห็นชัดเจนแล้วว่า อาเซียนแตกออกเป็นสองฝ่าย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน เข้าร่วม TPP ไปแล้ว ในขณะที่ไทยก็ยังกลัวๆกล้าๆอยู่ และอีก 4 ประเทศก็ยังไม่เข้าร่วม ซึ่งได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ซึ่งให้ความสำคัญกับ RCEP มากกว่า ความแตกแยกเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังนั้น หากอาเซียนไม่กำหนดยุทธศาสตร์ให้ดี ในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและจีน และหากอาเซียนไม่มียุทธศาสตร์ที่ดีต่อ TPP และ RCEP บทบาทของอาเซียนก็จะลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2013 (ตอนที่1)



แนวโน้มสถานการณ์โลกปี 2013 (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2556


คอลัมน์กระบวนทัศน์ในวันนี้เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ ผมจึงจะมาวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปีนี้ โดยตอนที่ 1 จะวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงโลก ส่วนตอนหน้าจะวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ความมั่นคงโลก 
·         ตะวันออกกลาง
ปีนี้ ภูมิภาคที่จะต้องจับตามองมากที่สุดคือ ตะวันออกกลาง ซึ่งน่าจะเป็นภูมิภาคที่มีปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ความขัดแย้ง สงคราม และการก่อการร้าย
ประเทศที่ต้องจับตามองมากที่สุดคือ อิหร่าน โดยเฉพาะวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน ที่คงจะเป็นปัญหาต่อเนื่อง มาจากปีที่แล้ว ตะวันตกกำลังวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์อิหร่านกับตะวันตกโดยเฉพาะกับสหรัฐฯและอิสราเอล ตึงเครียดขึ้นมาก จนอาจถึงขั้นสงคราม แนวโน้มคือ อิสราเอลและสหรัฐฯ อาจจะตัดสินใจโจมตีอิหร่าน เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ โดย scenario ที่น่าจะเป็นไปได้คือ อิสราเอลร่วมกับสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินหรือขีปนาวุธโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
 อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายฝ่ายออกมากล่าวเตือนถึงผลกระทบในทางลบหากเกิดสงคราม โดยเฉพาะสงครามอาจลุกลามบานปลาย อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบ Hormuz โจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ และสนับสนุนการก่อการร้ายทั่วโลก รวมทั้งอาจเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งใหม่
จุดอันตรายอีกจุดคือ ซีเรีย ซึ่งเป็นวิกฤตที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว กำลังกลายเป็นสงครามกลางเมือง ที่มีผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่าหกหมื่นคน ปีนี้มีแนวโน้มว่า สงครามกลางเมืองอาจรุนแรงมากขึ้น จนถึงขั้นที่อาจจะมีการแทรกแซงจากภายนอกโดยเฉพาะการแทรกแซงจากตะวันตก เหมือนในกรณีของลิเบีย ที่ NATO เข้าแทรกแซง แต่ในกรณีของซีเรียอาจไม่ง่าย เพราะ จีน รัสเซีย และอิหร่าน สนับสนุนรัฐบาล Assad อยู่
หลายฝ่ายมองว่า มาตรการทางการทูตล้มเหลว จึงได้เรียกร้องให้มีการใช้มาตรการทางทหาร เพื่อโค่นล้มรัฐบาล Assad ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประชาคมโลกจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับปัญหานี้ ที่กำลังจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ และจุดที่จะทำให้เกิดวิกฤตหนักขึ้นคือ รัฐบาล Assad อาจตัดสินใจใช้อาวุธเคมีในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน
นอกจากนี้ มีอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาความวุ่นวายในปี 2013  ดังนี้
-                       ลิเบีย : อาจจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง ที่ใช้ลิเบียเป็นฐานที่มั่นใหม่
-                       เยเมน : สถานการณ์ความมั่นอาจจะทรุดหนักลง โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง และแนวโน้มการเพิ่มบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายในเยเมน
-                       เลบานอน : ความขัดแย้งในซีเรียอาจลุกลามบานปลายเข้าสู่เลบานอน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่มคริสต์กับมุสลิม
-                       อิรัก : ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สหรัฐฯบุกยึดครองอิรักในปี 2003 สถานการณ์ความวุ่นวายและความรุนแรง ก็มีมาโดยตลอด และน่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังคงมีบทบาทอยู่
-                       จอร์แดน : อาจจะเกิดการแพร่ขยายของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่เราเรียกว่า Arab Spring
-                       อียิปต์ : การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ ยังคงไม่เรียบร้อย และอาจเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ที่เป็นผลมาจาก การปฏิรูปทางการเมือง และภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ทรุดหนักลง
-                       ซาอุดิอาระเบีย : อาจเกิดการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ที่เป็นผลมาจากกระแส Arab Spring
-                       ตุรกี  : ก็อาจเกิดความไม่สงบ โดยเฉพาะทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นเขตของชาวเคิร์ด ที่ได้ต่อสู้แบ่งแยกดินแดนมาอย่างยืดเยื้อ

·         การก่อการร้ายสากล
การก่อการร้ายสากล จะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกต่อไปในปีนี้ แม้ว่า Osama Bin Laden ผู้นำ Al-Qaeda จะได้ถูกสังหารไปแล้ว แต่ในปีนี้สถานการณ์การก่อการร้าย จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และทำท่าว่า จะทรุดหนักลงเสียด้วยซ้ำ โดยเหตุการณ์ Arab Spring กลับเป็นตัวช่วย ทำให้กลุ่มก่อการร้ายฉวยโอกาสจากความวุ่นวายทางการเมือง และสุญญากาศแห่งอำนาจ ในการเพิ่มบทบาทของตน
                        การสูญเสีย Bin Laden ไป ไม่ได้ทำให้ Al-Qaeda อ่อนแอลงไปมากนัก ผู้นำคนใหม่คือ Ayman al-Zawahiri ยังคงเดินหน้าปลุกระดมและเรียกร้องให้มีการก่อวินาศกรรมทั่วโลก
                แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ องค์กรสาขาของ Al-Qaeda และแนวร่วมของ Al-Qaeda ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียใต้
-                      Lashkar e Tayyiba: หรือเรียกย่อว่า LeT ซึ่งมีฐานอยู่ในปากีสถาน มีบทบาทในการก่อวินาศกรรมที่เมืองมุมไบ ในปี 2008 ในปีนี้ คงต้องจับตามองบทบาทของ LeT ซึ่งพยายามที่จะยุแหย่ให้เกิดสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน LeT มีเครือข่าย หรือ cell ทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรปและตะวันออกกลาง
-                      AQIM: ซึ่ง ย่อมาจาก Al-Qaeda in the Islamic Maghreb เป็นองค์กรสาขาของ Al-Qaeda ในแอฟริกาเหนือ และเป็นพันธมิตรกับกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศมาลี (Mali) ชื่อ Ansar al Dine และขณะนี้ได้ยึดครองพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศแล้ว AQIM ถูกสงสัยว่า อยู่เบื้องหลังการสังหารทูตสหรัฐฯในลิเบีย นอกจากนี้ กลุ่มยังได้อาวุธจากการล่มสลายของรัฐบาล Gaddafi ทำให้กลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีอาวุธมากที่สุด
-                      AQAP: ซึ่งย่อมาจาก Al-Qaeda in the Arabian Peninsula บทบาทและสมาชิกได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ฐานที่มั่นสำคัญของ AQAP อยู่ในเยเมน และได้พยายามก่อวินาศกรรมในอเมริกามาแล้วสามครั้ง แต่ไม่สำเร็จ รัฐบาลเยเมนก็อ่อนแอ AQAP  จึงได้ฉวยโอกาส ในการเพิ่มบทบาทขึ้นเป็นอย่างมาก
-                      ซีเรีย: จากความวุ่นวายในซีเรีย ทำให้ Al-Qaeda  กำลังมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้น ผู้นำ Al-Qaeda ได้เรียกร้องให้ผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงจากทั่วโลกเดินทางมาซีเรีย ในสถานการณ์สงครามทางกลางเมือง กลุ่มก่อการร้ายได้ขยายตัว และ Al- Qaeda ก็กำลังจะใช้ซีเรียเป็นฐานในการก่อวินาศกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน คือ จอร์แดน ตุรกี อิรัก และเลบานอนด้วย อย่างไรก็ตาม จุดอันตรายของสถานการณ์การก่อการร้ายในซีเรียคือ การที่อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพของรัฐบาล Assad อาจจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้าย
สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ก็ยังคงน่าเป็นห่วง รัฐบาลสหรัฐฯประกาศจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 และมีแนวโน้มจะลดกำลังทหารลงในปีนี้ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ NATO จะลดกำลังลง ก็อาจจะทำให้นักรบตาลีบันเหิมเกริมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานทรุดหนักลง เช่นเดียวกับในปากีสถาน ก็มีแนวโน้มว่า สงครามจะลุกลามบานปลาย นักรบตาลีบันก็กำลังก่อความวุ่นวายมากขึ้น

·        เอเชียตะวันออก
สำหรับสถานการณ์ความมั่นคงโลกอีกเรื่อง ที่ต้องจับตามองปีนี้ คือ กรณีพิพาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และจีนกับอาเซียนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
 ต้นตอของปัญหาคือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน สหรัฐฯกำลังวิตกกังวลว่า จีนจะผงาดขึ้นมาแข่งกับตนสหรัฐฯ จึงมียุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหาร และพยายามยุแหย่ให้ประเทศเพื่อนบ้านทะเลาะกับจีน จึงทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตียวหยู และกรณีพิพาทระหว่างจีนกับอาเซียนในทะเลจีนใต้ จีนไม่พอใจสหรัฐฯเป็นอย่างมาก ที่สหรัฐฯได้ส่งกองกำลังทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือออสเตรเลีย โดยมองว่า พันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และจีนก็ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งทะเลจีนใต้ โดยมองว่า สหรัฐฯต้องการให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน และต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน
ดังนั้น จุดอันตรายที่สุดในภูมิภาคอาเซียนคือ สงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะความขัดแย้งอาจลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นสงครามใหญ่ หากสหรัฐฯเข้าแทรกแซง และเกิดความขัดแย้งทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีน
นอกจากนี้ จุดอันตรายอีกจุดคือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะเซนกากุ หรือเกาะเตียวหยู โดยจุดที่น่าห่วงคือ ขณะนี้ญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่โดยนายอาเบะ นายกรัฐมนตรี มีแนวนโยบายต่างประเทศแบบแข็งกร้าวเป็นสายเหยี่ยว พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งอาจเป็นชนวนให้ความขัดแย้ง ลุกลามบานปลายได้ และเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งอาจกลายเป็นสงครามใหญ่ หากสหรัฐฯเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่น และเกิดความขัดแย้งทางทหารกับจีน

(โปรดติดตามอ่านต่อ ตอนต่อไป ซึ่งจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก)