Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียน ปี 2014

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2557               

               เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Daniel Russel อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ San Francisco ในหัวข้อ ASEAN and America : Partners for the Future ผมดูแล้วเห็นว่าเป็นสุนทรพจน์สำคัญ เป็นการประกาศยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียนล่าสุด คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จึงจะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
               ภาพรวม
               สหรัฐเป็นมหาอำนาจและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น ประธานาธิบดี Obama จึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในระยะยาวต่อภูมิภาค โดยได้เล็งเห็นว่า ศูนย์กลางของภูมิภาคอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอยู่ที่กลุ่มประเทศอาเซียน
               สหรัฐได้ดำเนินยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในระดับทวิภาคี สหรัฐมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทั้ง 10 ประเทศ
               สำหรับในระดับพหุภาคี สหรัฐมุ่งเป้าไปที่อาเซียน ซึ่งขณะนี้กำลังมีบูรณาการไปเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีประชากรถึง 620 ล้านคน และมี GDP รวมกันกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
               สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนนั้น กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก ในปี 2005 ได้มีการลงนามในข้อตกลง TIFA หรือ Trade and Investment Framework Agreement  หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็แน่นแฟ้นขึ้นมาก ปีที่แล้ว การค้าระหว่างสหรัฐกับอาเซียน มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญ อาเซียนจึงเป็นคู่ค้าและตลาดส่งออก อันดับ 4 ของสหรัฐ
               สำหรับความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองความมั่นคง ตั้งแต่สหรัฐให้การรับรอง Treaty of Amity and Cooperation ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก ประธานาธิบดี Obama ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุม East Asia Summit หรือ EAS ซึ่งถือเป็นมิติสำคัญของยุทธศาสตร์ rebalance  ของสหรัฐต่อเอเชีย
               ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ และผู้บัญชาการกองทัพเรือ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่ฮาวาย ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน
                East Asia Summit
               เวทีอาเซียนที่สหรัฐให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้คือ เวที East Asia Summit หรือ EAS สหรัฐเน้นว่า การเสริมสร้างสถาบันภูมิภาคให้เข้มแข็ง ถือเป็นยุทศาสตร์ระยะยาวของสหรัฐ โดยสถาบันที่เข้มแข็ง จะมีพลังสำคัญที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า peer pressure
               สหรัฐสนับสนุนการที่อาเซียนจัดตั้ง EAS เพราะจะทำให้ประเทศในภูมิภาคใกล้ชิดกันมากขึ้น EAS เป็นเวทีที่จะอุดช่องโหว่ของภูมิภาค เพราะในอดีต จะมีเอเปคเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่ยังไม่มีเวทีหารือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในระดับผู้นำประเทศ หรือในระดับสุดยอด
               ในปี 1997 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน + 3 ต่อมาได้ขยายเป็นอาเซียน + 6 ในกรอบ EAS และล่าสุดได้เพิ่มสมาชิกใหม่คือ สหรัฐและรัสเซีย ทำให้ EAS ขยายไปเป็นอาเซียน + 8 การขยายจำนวนสมาชิกของ EAS แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของอาเซียน ที่จะเป็นศูนย์กลาง หรือ hub ที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
               สหรัฐเชื่อว่า EAS จะสามารถพัฒนาไปเป็นเวทีสำคัญในการจัดการปัญหาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ EAS ยังเป็นเวทีใหม่ และสมาชิกกำลังพยายามพัฒนา EAS ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับสหรัฐนั้น การตัดสินใจเข้าร่วม EAS เพราะสหรัฐเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สหรัฐต้องการที่จะอยู่ในโต๊ะการหารือ เพื่อพัฒนาสถาบันดังกล่าวในอนาคต
               สำหรับประเด็นความร่วมมือที่สหรัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษใน EAS คือ ความร่วมมือในการจัดการ กับภัยพิบัติ ทั้งนี้เพราะ 70 % ของภัยพิบัติในโลกอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งสร้างความเสียหายปีละเกือบ 7 หมื่นล้านเหรียญ ดังนั้น สหรัฐจึงสนับสนุน EAS Declaration on Rapid Disaster Response และกำลังช่วยพัฒนา ASEAN’s Center for Humanitarian Assistance and Disaster Relief

               ปัญหาทะเลจีนใต้
               อีกเรื่องที่สหรัฐให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐไม่ใช่คู่กรณีพิพาทในปัญหาดังกล่าว สหรัฐจึงมีจุดยืนที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพในทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อสหรัฐ เพราะกว่า 50 %  ของการขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมัน ต้องผ่านทะเลจีนใต้ ดังนั้นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ คือ เสรีภาพในการเดินเรือ หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
               สหรัฐโจมตีจีนว่า ปีนี้ ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้น เพราะพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของจีน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก ต่อการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน และการที่จีนจะยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ เมื่อเร็วๆนี้ การที่จีนส่งแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในบริเวณหมู่เกาะ Paracel ซึ่งเวียดนามได้ อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าว ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง
               ณะเดียวกัน ประเทศคู่กรณีต่างพยายามสร้างเสริมกำลังทางทหารเข้าไปในบริเวณที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของจีนในเรื่องนี้ นับว่าน่าเป็นห่วงมาก
               สหรัฐพยายามที่จะช่วยลดความตึงเครียด และช่วยให้มีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี สหรัฐได้ร่วมมือกับอาเซียนในการจัดทำ Code of Conduct นอกจากนี้ สหรัฐสนับสนุนให้มีการสร้าง peer pressure เพื่อกดดันจีน
               ในปฏิญญาปี 2002 จีนและอาเซียนได้ตกลงกันว่า จะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำจำกัดความชัดเจนว่า อะไรคือกิจกรรมดังกล่าว สหรัฐจึงสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหารือกันเพื่อให้มีคำจำกัดความที่ชัดเจน สหรัฐเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ยุติกิจกรรมทุกอย่างที่จะก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งในระยะยาว สหรัฐหวังว่า สถาบันที่เข้มแข็งจะสามารถกดดันสมาชิก หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีได้
               บทวิเคราะห์
สุนทรพจน์ที่ผมได้สรุปข้างต้น เป็นการฉายภาพให้เห็นยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียนที่เป็นทางการล่าสุด อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ประกาศอาจจะไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่แท้จริง และยุทธศาสตร์ที่แท้จริงก็มักจะไม่ประกาศ ดังนั้น จึงมี hidden agenda หรือวารซ้อนเร้นมีอยู่มากมายในการเมืองระหว่างประเทศ
สำหรับ hidden agenda ของสหรัฐที่ไม่ประกาศต่อภูมิภาค มีหลายเรื่อง ที่เป็นยุทธศาสตร์หลักคือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า การปิดล้อมจีน การป้องกันไม่ให้ประเทศในภูมิภาครวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ และยุทธศาสตร์การปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น ยุทธศาสตร์สหรัฐต่ออาเซียนก็จะเป็นไปเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ใหญ่ข้างต้น คือ การครองความเป็นเจ้า ตีสนิทกับอาเซียนเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีน การเข้าร่วม EAS เพื่อป้องกันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกัน โดยไม่มีสหรัฐ
การที่สหรัฐให้ความสำคัญกับ EAS เป็นพิเศษนั้น เพราะสหรัฐต้องการที่จะเข้าครอบงำ EAS และผลักดันให้เป็นเวทีหารือด้านความมั่นคงในภูมิภาค ก่อนหน้านี้ สหรัฐได้เข้าครอบงำเอเปค ซึ่งเป็นเวทีหารือทางเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว
อีกเรื่องที่สำคัญมากสำหรับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคคือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งหลังจากสหรัฐจุดประเด็นในเรื่องนี้ มาตั้งแต่ปี 2010 ขัดแย้งก็ลุกลามบานปลายขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสหรัฐอยู่เบื้องหลัง ยุแหย่ให้คู่กรณีขัดแย้งกันหนักขึ้น
การจุดประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ สหรัฐจะได้ประโยชน์ 5 ประการ
ประการแรก ทำให้อาเซียนทะเลาะกับจีนหนักขึ้น ซึ่งสหรัฐจะได้ประโยชน์ เพราะประเทศอาเซียนจะใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น เพื่อหวังเอาสหรัฐไปถ่วงดุลจีน
ประการที่สอง การที่สหรัฐเข้ามายุ่งเรื่องนี้ทำให้จีนโกรธ และก้าวร้าวมากขึ้น ซึ่งเข้าทางสหรัฐ ประเทศเพื่อนบ้านหวาดระแวงจีนมากขึ้น ก็จะมาใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนประสบความสำเร็จ
ประการที่สาม ปัญหาทะเลจีนใต้ทำให้ประเทศอาเซียนแตกแยกกัน อาเซียนอ่อนแอลง ก็เข้าทางสหรัฐที่ไม่ต้องการให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ
ประการที่สี่ ปัญหาทะเลจีนใต้จะเป็นข้ออ้างอย่างดี ในการที่สหรัฐจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่
ประการที่ห้า นั่นคือ เป้าหมายสูงสุดของสหรัฐ ในการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคเอเชียนั่นเอง