Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8

ผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 22 - วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังนี้

ผลการประชุม
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ASEAN Defence Ministers’ Meeting – Plus (ADMM-Plus) ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรก ในอดีต เคยมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง แต่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่อาเซียนประชุมกับประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดการประชุม ADMM-Plus ขึ้นนั้น น่าจะเป็นเพราะในภูมิภาคยังไม่มีเวทีหารือในระหว่างรัฐมนตรีกลาโหม ในอดีต มีเวที ASEAN Regional Forum หรือ ARF ซึ่งเป็นเวทีหารือเรื่องความมั่นคง แต่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่มีรัฐมนตรีกลาโหมเข้าร่วม

อีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะมาจากสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลัก ผมมองว่า สหรัฐคงจะไม่สบายใจที่รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มาประชุมสุมหัวรวมกันโดยไม่มีสหรัฐ ในด้านการทหารนั้น สหรัฐเน้นมากในการเป็นแกนกลางในการครอบงำและครองความเป็นเจ้าทางทหาร โดยระบบที่สหรัฐใช้มาตลอดเรียกว่า hub and spokes โดยมีสหรัฐเป็น hub และพันธมิตรทางทหารต่างๆ เป็น spokes หรือเป็นซี่ล้อ ผมเดาว่า สหรัฐคงเรียกร้องที่จะเข้ามาประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ดังนั้น จึงได้มีการหารือกันในหลายสูตร สูตรแรกน่าจะเป็น ADMM+1 แต่จะมีปัญหาว่า ถ้าจะเป็นการประชุมกับสหรัฐเพียงประเทศเดียว จะดูไม่เหมาะ แต่ถ้าจะขยายออกไป ก็จะหาข้อยุติได้ยาก หากขยายออกไปเป็น ADMM+3 หรือ ADMM+6 ก็จะไม่มีสหรัฐ ซึ่งสหรัฐคงไม่ยอมแน่ ในที่สุดจึงต้องขยายออกไปเป็น ADMM+8 โดยมีสหรัฐเข้ามาร่วมด้วย

สำหรับผลการประชุมนั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำความสำคัญของอาเซียน ในการเป็นแกนกลางของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม ADMM-Plus และที่ประชุมมองว่า ADMM-Plus จะเป็นกลไกสำคัญของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค

ที่ประชุมมองว่า ขณะนี้มีสิ่งท้าทายด้านความมั่นคงที่มีลักษณะข้ามชาติและซับซ้อน อาทิ เรื่องภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาชญากรรมข้ามชาติ และโรคระบาด โดยที่ประชุมเน้นที่จะร่วมมือกันในการบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม สำหรับในเรื่องการก่อการร้าย ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้นประเทศสมาชิก ADMM-Plus จึงควรร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างเครือข่าย และเสริมสร้างสมรรถนะในการต่อสู้กับภัยคุกคามในด้านการก่อการร้าย

ที่ประชุมได้ตกลงที่จะร่วมมือกันใน 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การบรรเทาภัยพิบัติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติการด้านการรักษาสันติภาพ และด้านสาธารณสุข

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้จัดตั้ง ASEAN Defence Senior Officials’ Meeting–Plus (ADSOM-Plus) และให้มีการจัดตั้ง Experts’ Working Groups (EWG) หรือคณะทำงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใน 5 ด้าน โดยเวียดนามกับจีนได้แสดงความสนใจที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ส่วนมาเลเซียและออสเตรเลียเสนอที่จะเป็นประธานร่วมในคณะทำงานด้านความมั่นคงทางทะเล และฟิลิปปินส์กำลังหารือกับนิวซีแลนด์ในคณะทำงานด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
ท่าทีของสหรัฐ

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ Robert Gates ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และแน่นอนในความเป็นอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่ง สหรัฐพยายามแสดงบทบาทนำในการประชุมครั้งนี้ โดยในสุนทรพจน์ของ Gates ได้เน้นว่า สหรัฐเป็นประเทศในแปซิฟิกและเป็นมหาอำนาจในเอเชีย ในอดีต สหรัฐได้เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้มาโดยตลอดและจะเกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต ดังนั้น สหรัฐจะร่วมมือในการเผชิญกับสิ่งท้าทายทางด้านความมั่นคงร่วมกัน สหรัฐเน้นว่า ความสัมพันธ์ในแบบทวิภาคีจะต้องได้รับการเสริมด้วยสถาบันพหุภาคี โดย Gates ได้เน้นถึงหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาคว่าต้องประกอบด้วย การค้าเสรี ระเบียบระหว่างประเทศที่เน้นสิทธิและความรับผิดชอบของประเทศต่างๆ เสรีภาพในการเข้าถึงน่านน้ำและน่านฟ้าสากล รวมถึงหลักการในการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้กำลัง สหรัฐมองว่า เอเชียกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายที่สำคัญคือ การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด การแย่งชิงทรัพยากร ความขัดแย้งทางพรมแดน การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

ท่าทีของจีน
ประเทศมหาอำนาจอีกประเทศที่ถูกจับตามองคือ จีน ในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จีนได้พยายามที่จะลดกระแสความตื่นตระหนกของประเทศในภูมิภาคอันเกิดมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับหลายคู่กรณี โดยเฉพาะกับสหรัฐในเรื่องเกาหลีเหนือ ทะเลเหลือง และทะเลจีนใต้ และความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะ Sensaku/Diaoyu ในสุนทรพจน์ของนายพล Liang Guanglie รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ได้พยายามที่จะลดกระแสความตึงเครียดในภูมิภาค โดยให้หลักประกันต่อประเทศในภูมิภาคว่า จีนพร้อมที่จะร่วมมือ โดยนายพล Liang ได้กล่าวย้ำว่า จีนมีนโยบายป้องกันประเทศที่มีลักษณะเป็นนโยบายในเชิงรับ การพัฒนาทางทหารของจีนก็ไม่ได้ที่จะไปคุกคามประเทศใด และจีนต้องการที่จะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
แต่เรื่องที่เป็นไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ คือเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นมา เมื่อ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้จุดประเด็นในเรื่องนี้ในระหว่างการประชุม ASEAN Regional Forum ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งท่าทีของสหรัฐที่เข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ ทำให้จีนไม่พอใจมาก จีนจึงได้ประกาศซ้อมรบและประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า หมู่เกาะ สแปรตลีย์เป็นของจีน ซึ่งก็ได้ทำให้สหรัฐรีบจับมือกับเวียดนามและเพิ่มความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน ทำให้บรรยากาศความมั่นคงในภูมิภาคตึงเครียดขึ้นมา

ในเอกสารผลการประชุม ADMM-Plus ได้มีการกล่าวว่า บางประเทศได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และที่ประชุมยินดีต่อความพยายามของฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม ในสุนทรพจน์ของรัฐมนตีรกลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า สหรัฐไม่ได้เข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน แต่ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขอย่างสันติวิธี และยินดีที่จะได้มีการหารือกันในการจัดทำ Code of Conduct สหรัฐสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบพหุภาคี และพร้อมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว จุดยืนของสหรัฐในเรื่องนี้ชัดเจนคือ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินเรือ ดังนั้นสหรัฐจึงมีพันธกรณีที่จะปฏิบัติการร่วมกับพันธมิตรในเรื่องนี้
แต่ในส่วนของจีนนั้น รัฐมนตรีกลาโหมของจีนได้กล่าวไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหรัฐ โดยบอกว่า ความขัดแย้งไม่จำเป็นจะต้องแก้ไขในแบบพหุภาคี โดยทางจีนมองว่า ADMM-Plus น่าจะร่วมมือกันในประเด็นปัญหาที่ไม่ละเอียดอ่อน

จีนพยายามที่จะไม่ให้เอาเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เข้าสู่ที่ประชุม แต่ก็มีหลายประเทศที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศอาเซียนอื่นๆ

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่4 วันศุกร์ที่ 15 - วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2553

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2010
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการโนเบลได้ตัดสินใจให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2010 ให้แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน โดยใน press release ของคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวว่า Liu ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีนมาอย่างยาวนาน และได้กล่าวถึงจีนว่า ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะนี้ จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และคนจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน การมีส่วนร่วมทางการเมืองก็เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะใหม่ของจีนย่อมหมายถึงจะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย แต่จีนได้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ชาวจีนยังถูกจำกัดเสรีภาพ

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ Liu ได้เป็นกระบอกเสียงในการผลักดันสิทธิมนุษยชนในจีน เขาได้มีส่วนร่วมในการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ปี 1989 Liu ได้เป็นคนสำคัญในการเขียนเอกสารที่เรียกว่า Charter 08 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการเรียกร้องเสรีภาพในจีน และจัดทำขึ้นมาในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จากการกระทำดังกล่าว Liu ได้ถูกจับกุมและถูกตัดสินให้ถูกจำคุกเป็นเวลานานถึง 11 ปี ขณะนี้ การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีนกำลังเกิดขึ้น โดยชาวจีนทั้งในประเทศและนอกประเทศ และ Liu ได้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลจีน
หลังจากมีการประกาศรางวัลโนเบลสันติภาพให้แก่ Liu รัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกแถลงการณ์โจมตี Liu ว่าเป็นอาชญากร ที่ละเมิดกฎหมายจีน การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu จึงเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของรางวัลโนเบล และเป็นการดูถูกรางวัลโนเบลสันติภาพ นอกจากนั้น กระทรวงต่างประเทศจีนยังได้ขู่ด้วยว่า การที่คณะกรรมการโนเบลกระทำเช่นนั้น จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่คณะกรรมการตั้งอยู่

ในตอนที่ประธานกรรมการโนเบล Thorbjorn Jagland ได้ประกาศรางวัล ได้มีการถ่ายทอดไปทั่วโลกโดย CNN และ BBC โดย Jagland ได้แสดงความเห็นว่า จีนกำลังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มหาอำนาจจะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และบอกว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่โลกภายนอกควรจะจับตามองจีนว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และประชาคมโลกควรจะมีการถกเถียงว่า เราควรอยากจะให้จีนเป็นอย่างไร ซึ่งการแสดงข้อคิดเห็นดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก มีข่าวว่า รัฐบาลจีนได้ตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดการประกาศรางวัลดังกล่าวของ BBC และ CNN ทันที นอกจากนั้น สื่อต่างๆ ในจีนก็แทบจะไม่ได้ลงข่าวในเรื่องนี้เลย

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศรางวัล ทางรัฐบาลจีนได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยในเดือนกันยายน สำนักข่าวของนอร์เวย์ได้ลงข่าวว่า คณะกรรมการโนเบลได้รับการข่มขู่จากนักการทูตจีนว่า การให้รางวัลต่อ Liu จะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างนอร์เวย์กับจีน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้พยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอินเตอร์เน็ต โดยมีการบล็อก ชื่อของ Liu และ บล็อกเว็บไซท์สื่อต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนไม่น้อยที่ได้โพสต์ข้อความสนับสนุน Liu ใน blog ต่างๆ และใน twitter มีข่าวว่าตำรวจในปักกิ่งจับกุมชาวจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะเฉลิมฉลองการที่ Liu ได้รางวัลดังกล่าว

ต่อมา รัฐบาลจีนได้เรียกทูตนอร์เวย์ที่ปักกิ่งเข้าพบเพื่อทำการประท้วง โดยย้ำว่า Liu เป็นอาชญากรและการให้รางวัลถือเป็นการขัดกับหลักการของโนเบลและจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ต่อมามีข่าวว่า จีนได้ยุติการเจรจากับนอร์เวย์ในเรื่องการจัดทำข้อตกลงทางการค้า

ปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ
สำหรับทางประเทศตะวันตกนั้น ได้สนับสนุนรางวัลสันติภาพของ Liu อย่างเต็มที่

โดยนายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ ชื่อ Jens Stoltenberg ได้แสดงความยินดีต่อ Liu และได้กล่าวว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการโนเบลเป็นการให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน Liu ได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ถึงแม้จีนจะมีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่จีนก็ยังมีสิ่งท้าทายโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน

สำหรับประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กล่าวว่า คณะกรรมการโนเบลได้เลือก Liu ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญและจะเป็นกระบอกเสียงในการเสริมสร้างค่านิยมสากล โดยเฉพาะประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่การปฏิรูปทางการเมืองยังพัฒนาไม่ทันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โอบามาได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปล่อยตัว Liu

ส่วนเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ได้กล่าวว่ารางวัลโนเบลสันติภาพของ Liu นั้น แสดงให้เห็นถึงฉันทามติระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ส่วนประเทศยุโรปก็มีปฏิกิริยาออกมาในแนวเดียวกันหมด โดยโฆษกรัฐบาลเยอรมันกล่าวว่า รัฐบาลเยอรมันต้องการให้จีนปล่อยตัว Liu เพื่อที่เขาจะมารับรางวัลที่นอร์เวย์ได้ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส Bernard Kouchner ได้กล่าวว่า ท่าทีของฝรั่งเศสก็เหมือนท่าทีของ EU ที่มีความห่วงใยต่อการที่ Liu ถูกคุมขัง และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวมาหลายครั้งแล้ว ฝรั่งเศสขอตอกย้ำข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนทางกระทรวงต่างประเทศอังกฤษได้แถลงว่า การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน รัฐบาลอังกฤษได้หยิบยกการที่ Liu ถูกคุมขังมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และอังกฤษขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง

บทวิเคราะห์
• ผมมองว่า ปัญหาจีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพในครั้งนี้ ทำให้จีนตกเป็นเป้า โดยเฉพาะในแง่ลบ ในสายตาประชาคมโลก ซึ่งถือเป็นภาพในแง่ลบของจีนที่เกิดขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จีนมีภาพในแง่บวกมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การผงาดขึ้นมาของจีน การจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2008 และความยิ่งใหญ่ของการจัด World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ แต่การให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu ทำให้ประชาคมโลกกลับมาให้ความสนใจกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งผมมองว่า เป็นจุดอ่อนที่สุดของจีนในขณะนี้

• การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ ในแง่ของจีนคงจะมองว่า เป็นการแทรกแซงการเมืองภายในของจีน ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ซึ่งในตอนนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะตะวันตก ได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อจีน

• อย่างไรก็ตาม การที่จะอธิบายถึงสาเหตุของการให้รางวัลโนเบลแก่ Liu นั้น หากมองในแง่ดี อาจอธิบายได้ว่า เป็นการกระทำที่บริสุทธิ์และจริงใจจากคณะกรรมการโนเบล ที่ต้องการส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ร้าย อาจจะมีประเด็นสงสัยว่า มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ อย่าลืมว่า คณะกรรมการโนเบลก็ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก ซึ่งมองจีนด้วยความหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตะวันตกจึงวิตกกังวลว่า ในอนาคตจีนอาจจะท้าทายระเบียบโลก และการครองโลกของตะวันตกได้ ฉะนั้น วาระซ่อนเร้นคือ การใช้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้างในการโจมตีจีน เพื่อที่จะทำให้จีนเสียชื่อ และไม่มีความชอบธรรมที่จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลก

• อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือ หลังจากนี้ การเมืองของจีนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด มีความเป็นไปได้ว่า การให้รางวัลดังกล่าว อาจจะเป็นการจุดกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนขึ้นอีกครั้ง และ รางวัลดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงทางการเมืองระหว่างผู้นำจีน ในเรื่องทิศทางการปฏิรูปทางการเมือง ในขณะที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านผู้นำของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำคนใหม่ในปี 2012 เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ในระยะยาวแล้ว พัฒนาการทางการเมืองของจีนโดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สงครามค่าเงิน

สงครามค่าเงิน
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันที่ 20 ตุลาคม 2553

ขณะนี้ กำลังมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสหรัฐกับจีนในเรื่องค่าเงินหยวน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก ทำให้มีการมองกันว่า สงครามค่าเงินได้เกิดขึ้นแล้ว คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในเรื่องค่าเงินหยวนนั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยสหรัฐมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำและทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง สหรัฐประเมินว่า ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และนำไปสู่การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน ในปี 2009 สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 227,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 2 ใน 3 ของการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับทั่วโลก สหรัฐได้กล่าวหาจีนในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1994 ต่อมาในปี 2005 สภาสูงของสหรัฐได้ลงมติจะขึ้นภาษีสินค้าจีน ถึง 27% จึงเป็นการบีบจีนให้ต้องประกาศเพิ่มค่าเงินหยวน โดยประกาศว่า จะเพิ่ม 20% ภายใน 3 ปี แต่ตั้งแต่ปี 2008 หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก จีนได้หยุดการเพิ่มค่าเงินหยวน และสหรัฐประเมินว่า จริงๆ แล้วจีนเพิ่มค่าเงินหยวนเพียง 2% เท่านั้น

หลังจากจีนถูกสหรัฐกดดันอย่างหนัก ในวันที่ 19 มิถุนายน ปีนี้ จีนจึงได้ประกาศที่จะมีการปรับค่าเงินหยวน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 6.83 หยวน ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ แต่มาถึงปัจจุบัน เงินหยวนเพิ่มค่าเพียง 2% เท่านั้น ในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 10% และกำลังจะมีการเลือกตั้งในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐบาลโอบามาจึงได้กดดันจีนอย่างหนัก

มาตรการกดดันจีนของสหรัฐ
ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการกดดันจีน
มาตรการแรกคือ ภายใต้กฎหมาย Omnibus Trade and Competitiveness Act ปี 1988 กำหนดว่า กระทรวงการคลังสหรัฐจะต้องทำรายงานเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลดังกล่าวมีนโยบายแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ (currency manipulator) ซึ่งหากประเทศใดถูกระบุว่า เป็นประเทศ currency manipulator ทางสภาคองเกรสจะออกมาตรการตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า

ต่อมา เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้มีการเสนอกฎหมายเพื่อที่จะขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้จีน โดยมองว่า การแทรกแซงค่าเงินของจีนนั้น ถือเป็นมาตรการอุดหนุนการส่งออกที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นบริษัทสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจะสามารถร้องเรียนเพื่อขอให้รัฐบาลขึ้นภาษีตอบโต้จีน สภาคองเกรสได้มีมติรับร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 349 ต่อ 78 เสียง ขั้นต่อไปคือ ต้องเสนอให้สภา senate พิจารณา ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน และถ้าผ่านสภา senate ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องลงนามรับรองกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องนี้

นอกจากนี้ Fred Bergsten นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลโอบามา ได้เสนอให้สหรัฐหาแนวร่วมกับประเทศต่างๆ ในการกดดันจีน โดยเฉพาะจาก EU และมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย กำลังมีความพยายามที่จะใช้การประชุมสุดยอด G20 ที่เกาหลี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในการกดดันจีน ก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามในการประชุมของ IMF แต่ล้มเหลว Bergsten จึงได้เสนอเพิ่มเติมว่า สหรัฐควรใช้ช่องทางของ WTO ในการออกมาตรการตอบโต้จีนในเรื่องนี้ด้วย

ท่าทีของจีน
สำหรับจีนนั้น มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในอดีต จีนมักจะยอมตามแรงกดดันของสหรัฐ แต่ในปัจจุบัน การผงาดขึ้นมาของจีนทางเศรษฐกิจ ทำให้จีนแข็งข้อกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐ โดยบอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และปฏิเสธว่า จีนไม่เคยแทรกแซงค่าเงินหยวน และได้บอกว่า สหรัฐอย่าเอาค่าเงินหยวนของจีนมาเป็นแพะรับบาปสำหรับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยจีนเน้นว่า จีนจะเดินหน้าในการปฏิรูปนโยบายค่าเงินต่อไป แต่ว่าจะเป็นในอัตราที่จีนเป็นคนกำหนด โดยจีนไม่เห็นด้วยต่อแรงกดดันที่จะให้เพิ่มค่าเงินหยวนอย่างรวดเร็ว และมองว่า การที่สหรัฐกดดันจีนในเรื่องนี้ เป็นข้ออ้างในการที่สหรัฐจะใช้มาตรการปกป้องทางการค้าและกีดกันสินค้าของจีน

นักเศรษฐศาสตร์ของจีนบางคนถึงกับมองว่า แรงกดดันของสหรัฐอาจจะมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ คือ การที่สหรัฐพยายามที่จะสกัดกั้นไม่ให้เศรษฐกิจของจีนเจริญเติบโตขึ้นมาแข่งกับสหรัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้แสดงจุดยืนต่อต้านกฎหมายที่ผ่านสภาคองเกรสที่จะลงโทษจีน และมองว่า กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้ง 2 จีนมองว่า กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักการของ WTO โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้แถลงว่า จีนต่อต้านกฎหมายดังกล่าว และมองว่า กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นมาตรการปกป้องทางการค้า ที่จะทำลายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐ เช่นเดียวกับทางกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้อ้างว่า กฎหมายดังกล่าวขัดกับหลักการของ WTO และจีนไม่เคยแทรกแซงค่าเงินหยวน

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
จากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องค่าเงินหยวนดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มที่จะถอยห่างจากหลักการกลไกตลาดเสรี และมีแนวโน้มจะใช้นโยบายปกป้องการค้า และกำลังจะเลียนแบบจีนในการแทรกแซงค่าเงินของตน

ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและบราซิล ได้มีมาตรการในการลดค่าเงิน และป้องกันไม่ให้ค่าเงินสูงขึ้น

สำหรับเงินยูโรก็มีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ซึ่งกำลังจะรับหน้าที่ประธาน G20 ได้เสนอที่จะปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนของโลก โดยเสนอให้กลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยใช้ในทศวรรษ 1970

สำหรับประเทศในเอเชียก็ได้รับผลกระทบทั่วหน้า จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในครั้งนี้ โดยค่าเงินของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคขยับตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ในขณะที่จีนไม่ยอมขึ้นค่าเงิน ทำให้ค่าเงินของประเทศในเอเชียต่อเงินเหรียญสหรัฐสูงขึ้นมาก ทำให้สินค้าส่งออกของประเทศเหล่านี้เสียเปรียบจีนมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่เป็นผลเกี่ยวโยงกันคือการที่เงินทุนต่างชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐและยุโรปได้ไหลทะลักเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้มีการหวาดวิตกว่า จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง

สำหรับประเทศไทยก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยค่าเงินบาทได้เพิ่มค่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ และมีการไหลทะลักของเงินทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศอย่างน่ากลัว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมองว่า ความร่วมมือในการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในระดับโลก จะเป็นหนทางในการป้องกันการทะลักเข้าของเงินทุนต่างชาติในไทยได้

สงครามค่าเงิน?
จากปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการพูดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สงครามค่าเงินกำลังเกิดขึ้น โดยรัฐมนตรีคลังของบราซิลได้ประกาศในช่วงปลายเดือนกันยายนว่า สงครามค่าเงินได้เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม สงครามค่าเงินในครั้งนี้ ยังไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติ ทั้งนี้เพราะประเทศที่เกี่ยวข้อง ก็พยายามที่จะไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่จะลงโทษจีนของสภาคองเกรส อาจจะไม่ผ่านสภาสูง และโอบามาอาจจะไม่ลงนาม
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามค่าเงิน ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ Timothy Geithner ต้องออกมาให้ความเห็นว่า สงครามการค้าและสงครามค่าเงินคงจะไม่เกิดขึ้น โดย Geithner ได้บอกว่า ขณะนี้สหรัฐพยายามปฏิสัมพันธ์กับจีนในเชิงบวก เพื่อที่จะให้จีนยอมเพิ่มค่าเงินหยวน

อย่างไรก็ตาม Geithner ได้เน้นว่า ปัญหาค่าเงินหยวนไม่ได้เป็นปัญหา 2 ฝ่ายระหว่าง สหรัฐกับจีนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโลก ทั้งนี้เพราะประเทศต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ดังนั้นจึงจะต้องมีความร่วมมือกันในระดับโลกเพื่อแก้ปัญหานี้

Geithner ได้ให้ความเห็นว่า การประกาศว่า จีนจะเป็น currency manipulator ในขณะนี้นั้น อาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหา ดังนั้นข่าวที่ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม คือ กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศเลื่อนการเสนอรายงานระบุว่าจีนจะเป็น currency manipulator ออกไปก่อน โดยจะรอผลการประชุม G20 ที่กรุงโซล ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้

เห็นได้ชัดว่า ท่าทีของกระทรวงการคลังสหรัฐดูอ่อนลงและพยายามประนีประนอมกับจีน โดยได้บอกว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค่าเงินหยวนของจีนได้เพิ่มขึ้นมาประมาณ 3% โดยเพิ่มในอัตรา 1% ต่อเดือน ซึ่งหากมีแนวโน้มเช่นนี้ ในระยะยาว น่าจะทำให้ค่าเงินหยวนของจีนสูงขึ้นในอัตราที่เหมาะสมได้

ดังนั้น ขณะนี้ ทุกฝ่ายก็จับตามองไปที่การประชุม G20 ว่า จะสามารถกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวนได้หรือไม่ มีบางคนมองถึงขั้นว่า อาจจะมีข้อตกลงในลักษณะ plaza accord ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ญี่ปุ่นยอมเพิ่มค่าเงินเยนในการประชุม G7 เมื่อปี 1985

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน – ญี่ปุ่น ปี 2010

ความขัดแย้งจีน – ญี่ปุ่น ปี 2010
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันที่ 7 ตุลาคม 2553

เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยประเด็นความขัดแย้งเป็นเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า Sensaku ส่วนจีนเรียกว่า Diaoyu คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งสาเหตุและผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง
เกาะ Sensaku/Diaoyu เป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก มีพื้นที่เพียง 7 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เกาะดังกล่าวมีความสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และทางด้านเศรษฐกิจ เพราะอยู่ใกล้กับเส้นทางการเดินเรือ และที่สำคัญคือ การคาดการณ์ว่า มีทรัพยากรน้ำมันอยู่เป็นจำนวนมาก

ในอดีต ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นชนะสงครามกับจีน ในปี 1895 ได้มีการทำสนธิสัญญา Shimonoseki ทำให้เกาะไต้หวันและเกาะใกล้เคียงรวมทั้งเกาะ Sensaku ตกเป็นของญี่ปุ่น โดยเกาะ Sensaku ถือเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Nansei Shoto หรือ หมู่เกาะ Ryukyu ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกินาวา

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ภายใต้สนธิสัญญา San Francisco ปี 1951 ญี่ปุ่นได้สละกรรมสิทธิ์ในเกาะไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว หมู่เกาะ Nansei Shoto (ซึ่งรวมถึง Sensaku) ตกอยู่ภายใต้การอารักขาของสหรัฐ และสหรัฐได้คืนให้ญี่ปุ่นในปี 1971 ญี่ปุ่นอ้างว่า จีนไม่ได้คัดค้านข้อตกลงในสนธิสัญญา San Francisco แต่กลับกลายเป็นว่า ในช่วงหลังจากที่ได้มีการคาดการณ์ว่า จะมีแหล่งน้ำมันมหาศาลในบริเวณเกาะ Sensaku จีนกับไต้หวันจึงได้อ้างกรรมสิทธิ์

แต่ในส่วนของจีนนั้น ได้อ้างว่า เกาะ Diaoyu เป็นของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเป็นแหล่งจับปลาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดไต้หวัน จีนได้อ้างว่า ภายใต้สนธิสัญญา San Francisco ญี่ปุ่นต้องคืนไต้หวันให้กับจีน เกาะ Diaoyu ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไต้หวัน จึงต้องคืนให้กับจีนด้วย

หลังจากนั้น ความขัดแย้งในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ จึงมีมาอย่างยืดเยื้อ และเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 1996 ญี่ปุ่นได้สร้างประภาคารบนเกาะ ซึ่งทำให้ชาวจีนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และได้พยายามเดินทางไปที่เกาะหลายครั้งเพื่อประท้วง ในปี 2004 ญี่ปุ่นได้จับกุมชาวจีน 7 คน ที่เดินทางไปที่เกาะดังกล่าว ในระยะหลัง ได้มีการเผชิญหน้ากันหลายครั้ง ระหว่างเรือรบของญี่ปุ่นกับเรือประมงของจีนและไต้หวัน

เหตุการณ์ความขัดแย้ง
สำหรับเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยในวันที่ 7 กันยายน เรือประมงจีนได้ชนกับเรือรบของญี่ปุ่น ในบริเวณเกาะดังกล่าว และญี่ปุ่นได้จับกุมลูกเรือเอาไว้ ต่อมาญี่ปุ่นได้ปล่อยตัวลูกเรือ แต่ยังคงจับกุมกัปตันเรือเอาไว้
สำหรับจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และได้ประกาศให้ญี่ปุ่นปล่อยตัวลูกเรือทั้งหมด แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ จีนจึงได้ดำเนินมาตรการโต้ตอบญี่ปุ่นหลายเรื่อง โดยดำเนินมาตรการเข้มงวดสำหรับสินค้าญี่ปุ่น และห้ามการส่งออกแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ต่อมา ได้มีการจับกุมพนักงานบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นในจีน 4 คน โดยอ้างว่า ชาวญี่ปุ่นได้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามทางทหาร นอกจากนั้น จีนยังได้ยุติการเจรจากับญี่ปุ่น ในเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนตะวันออก
ต่อมา ญี่ปุ่นยอมปล่อยตัวกัปตันเรือ จึงทำให้ความตึงเครียดทุเลาลงไป แต่ความขัดแย้งก็ยังคงคุกรุ่นอยู่

สาเหตุ
สำหรับสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในครั้งนี้นั้น ผมขอวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

• สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ การแข่งขันกันในการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ญี่ปุ่นมีความหวั่นเกรงต่อการขยายอิทธิพลของจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค ในอดีต ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งในเอเชีย แต่ปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้สูญเสียสถานะดังกล่าวให้กับจีนไปแล้ว ดังนั้นยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นคือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะการร่วมมือกับสหรัฐในการปิดล้อมจีน

สำหรับจีน ก็มองว่า ตนเองมีความชอบธรรมที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา จีนเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด เพิ่งจะมาร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง ที่ญี่ปุ่นแซงจีนขึ้นมา จีนถือว่าตนเองเป็น Middle Kingdom เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมโลกมาตลอด จีนจึงมีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นอันดับหนึ่งอีกครั้ง แต่ตอนนี้มีก้างขวางคอคือ ญี่ปุ่นและสหรัฐ

ในอดีต จีนยังไม่กล้าที่จะมีเรื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่กล้าที่จะขยายปีก แสดงแสนยานุภาพทางทหาร และตอกย้ำอำนาจอธิปไตยของจีน แต่ในปัจจุบัน การผงาดขึ้นมาของจีน กำลังจะทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต จึงทำให้จีนมีความมั่นใจในอำนาจแห่งชาติของตนมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้นโยบายต่างประเทศและท่าทีของจีนเริ่มแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ท่าทีของจีนต่อปัญหาเกาะ Sensaku/Diaoyu เปลี่ยนไปในลักษณะแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

และที่เป็นปัจจัยเสริมคือ การเปลี่ยนแปลงของอำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่จีนกำลังมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และถือเป็นดาวรุ่ง แต่ในทางกลับกัน อำนาจของญี่ปุ่นก็กำลังเสื่อมลงเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงทำให้จีนมีนโยบายแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ญี่ปุ่นก็พยายามที่จะแข่งกับจีนเพื่อรักษาสถานะเดิมของตนไว้

• สาเหตุประการที่สอง ก็มาจากความสำคัญของเกาะ Sensaku/Diaoyu ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์การทหาร เกาะดังกล่าวอยู่ใกล้กับหมู่เกาะ Ryukyu และ เกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถึงขั้นมีการมองภัยคุกคามว่า จีนอาจบุกยึดหมู่เกาะดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น ส่วนจีนเองก็กำลังมียุทธศาสตร์ทางทหารโดยใช้แนวเกาะ Sensaku/Diaoyu เป็นแนวตั้งรับหลักของจีนในยุทธศาสตร์ทางทะเล

• สาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งลำบาก เพราะทั้ง 2 ประเทศไม่ยอมรับว่า มีความขัดแย้ง โดยทางฝ่ายญี่ปุ่นก็บอกว่า ไม่มีความขัดแย้งกับจีนในเรื่องนี้ เพราะเกาะ Sensaku เป็นของญี่ปุ่น ไม่มีอะไรจะต้องเจรจากับจีนในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับท่าทีของจีนที่บอกว่า เกาะ Diaoyu เป็นของจีน และจีนถือเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ (sacred territory) โดยในปี 1992 ภายใต้กฎหมายอาณาเขตทางทะเลของจีน ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เกาะ Diaoyu เป็นดินแดนของจีน

• สาเหตุอีกประการคือ ความล้มเหลวของความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามของทั้ง 2 ประเทศที่พยายามจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยในช่วงเวลาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทุกคนได้เดินทางไปเยือนจีน และประธานาธิบดี หู จิ่น เทา และนายกรัฐมนตรี เวิน เจีย เป่า ก็ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางทหาร ทางการศึกษา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าก็เพิ่มขึ้นมาก แต่ดูเหมือนกับว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรในการป้องกันความขัดแย้งครั้งล่าสุด

ผลกระทบ
สำหรับผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในครั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้เป็นประเด็น ดังนี้

• ภาพรวม
ผมมองว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความขัดแย้งในครั้งนี้ ก็คือจีนเอง ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้พยายามอย่างยิ่งที่จะขายไอเดียเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในครั้งนี้ ได้ทำลายภาพลักษณ์ของจีน โดยเฉพาะสโลแกนเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสินติเป็นอย่างมาก พฤติกรรมของจีนได้ทำให้บรรยากาศทางการทูตในภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้านของจีน ที่เริ่มรู้สึกถึงพฤติกรรมที่แข็งกร้าวและก้าวร้าวมากขึ้นของจีน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับนโยบายใหม่ต่อจีน

• ญี่ปุ่น
ท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในครั้งนี้ ได้ทำให้ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนความรู้สึกต่อจีนไปในเชิงลบมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคือ Naoto Kan ในระหว่างการประกาศนโยบายต่อสภาญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แสดงความห่วงใยต่อการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารของจีน และได้เรียกร้องให้จีนเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในสังคมประชาคมโลก โดยนาย Kan กล่าวว่า การผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้ญี่ปุ่นมีความห่วงใยต่อแสนยานุภาพทางทหารของจีนที่ปราศจากความโปร่งใส และได้กล่าวว่า ญี่ปุ่นคงจะต้องมีการปรับนโยบายต่างประเทศและนโยบายการป้องกันประเทศใหม่ เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพในบริเวณรอบเกาะญี่ปุ่น

• สหรัฐ
ผลกระทบของความขัดแย้งในครั้งนี้ ทำให้สหรัฐมีโอกาสในการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นกระชับแน่นแฟ้นขึ้น โดยทางฝ่ายสหรัฐรวมถึง Richard Armitage อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวว่า ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่น ปี 1960 นั้น ครอบคลุมถึงดินแดนทั้งหมดที่เป็นของญี่ปุ่น รวมถึงเกาะ Sensaku ด้วย

พฤติกรรมของจีนในครั้งนี้ จะยิ่งผลักดันให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค หันไปหาสหรัฐและใกล้ชิดกับสหรัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้สหรัฐมาถ่วงดุลทางทหารกับจีน และเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางทหารต่อภัยคุกคามจากจีนในอนาคต

ก่อนหน้านี้ สหรัฐก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ทางทหารในเชิงรุกมาแล้ว โดยเฉพาะในกรณีการจุดประเด็นเรื่องความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก นำไปสู่ปฏิกิริยาลูกโซ่ จีนประกาศซ้อมรบในทะเลจีนใต้ สหรัฐก็หันไปจับมือกับเวียดนาม

• เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความขัดแย้งในครั้งนี้ คงจะทำให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศที่มีความขัดแย้งในกรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์กับจีน คงจะมีความวิตกกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คงจะมีความหวาดระแวงและมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับบทบาทของจีนในภูมิภาคมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศเหล่านี้คงจะถูกผลักไปให้ใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น

นอกจากนี้ ความขัดแย้งดังกล่าว ยังอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือในกรอบอาเซียน โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน+3 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป้าหมายระยะยาวของอาเซียน+3 คือการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก แต่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการดังกล่าว

การประชุมสุดยอด UN เรื่อง Millennium Development Goals (MDG)

การประชุมสุดยอด UN เรื่อง Millennium Development Goals (MDG)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 8 - วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2553

ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสุดยอดของ UN ในเรื่อง Millennium Development Goals (MDG) ซึ่งอาจจะแปลว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง
เมื่อปี 2000 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดที่เรียกว่า Millennium Summit ขึ้นที่ UN ในการประชุมครั้งนั้น ได้มีการจัดทำ Millennium Development Goals หรือ MDG ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมาย 8 เป้าหมาย เน้นเรื่องการช่วยเหลือประเทศยากจน โดยตั้งเป้าไว้ที่ ภายในปี 2015

สำหรับการประชุมสุดยอด MDG เมื่อปลายเดือนกันยายนนี้ เป็นการมาประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายต่างๆ และหลังจากการประชุม ได้มีการจัดทำเอกสารผลการประชุม กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย MDG โดยได้มีการตอกย้ำว่า ถึงแม้จะมีอุปสรรค โดยเฉพาะจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ในที่สุด ก็น่าจะบรรลุเป้าหมาย MDG ได้ในปี 2015

ผมจะสรุปประเด็นต่างๆ โดยไล่ไปตามเป้าหมายแต่ละเป้าหมาย ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 : การแก้ปัญหาความยากจนและความอดอยาก
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะลดจำนวนคนจนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง จากจำนวนของปี 1990 และจะลดจำนวนคนอดอยากหิวโหยให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2015

เอกสารผลการประชุมชี้ให้เห็นว่า มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาความยากจน ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 – 2009 รวมทั้งวิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงานด้วย โดยภาพรวม ประเทศกำลังพัฒนาน่าจะบรรลุเป้าหมาย MDG ได้ โดยในปี 2005 มีจำนวนคนยากจนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 เหรียญต่อวัน อยู่ประมาณ 1,400 ล้านคน แต่ในปี 2015 น่าจะลดลงเหลือประมาณ 920 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จำนวนคนที่อดอยากหิวโหยกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ในการประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ได้มีมาตรการ 2 เรื่องที่เป็นรูปธรรม เรื่องแรกได้แก่ การที่ธนาคารโลก จะเพิ่มเงินให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ประเทศยากจน โดยจะมีวงเงินประมาณ 6,000 – 8,000 ล้านเหรียญต่อปี ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ประกาศจะให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ประเทศยากจนเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านเหรียญ

เป้าหมายที่ 2 : การศึกษาขั้นประถม
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะทำให้เด็กทุกคนในโลกมีการศึกษาอย่างน้อยขั้นประถม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ โดยเด็กในประเทศที่ยากจนที่สุดโดยเฉพาะในแอฟริกา ได้รับการศึกษาขั้นประถมมากขึ้น ในปี 2000 มีเด็กที่มีการศึกษาขั้นประถมเพียง 58 % แต่ในปี 2007 เพิ่มขึ้นเป็น 74% อย่างไรก็ตาม คงเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะบรรลุเป้าหมายของ MDG ในปี 2015

ในการประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ธนาคารโลกได้ประกาศเงินให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีก 750 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะสำหรับประเทศในแอฟริกา นอกจากนั้น บริษัท Dell ได้ประกาศจะให้เงินช่วยเหลือ 10 ล้านเหรียญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา

เป้าหมายที่ 3 : ความเท่าเทียมกันทางเพศ
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าว่า จะส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและส่งเสริมบทบาทของสตรี และขจัดความแตกต่างในการศึกษาระหว่างเพศภายในปี 2015

ในการประชุมสุดยอก MDG ครั้งนี้ ได้มีบริษัทเอกชนหลายบริษัทประกาศให้เงินช่วยเหลือในด้านนี้ โดย บริษัท Ericson ได้ริเริ่มโครงการ Connect to Learn เพื่อที่จะทำให้เด็กผู้หญิงได้เข้าถึงการศึกษาขั้นมัธยมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัท UPS ได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือ 2 ล้านเหรียญ และ Exxon Mobil 1 ล้านเหรียญ

เป้าหมายที่ 4 และ 5 : สุขภาพของมารดาและเด็ก
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า จะลดจำนวนการเสียชีวิตของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปี 2015 และลดจำนวนมารดาที่เสียชีวิตจากการคลอดบุตรลดลง 3 ใน 4 ภายในปี 2015

ในการประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ไฮไลท์ของการประชุมคือ การประกาศยุทธศาสตร์สำหรับสุขภาพอนามัยของผู้หญิงและเด็ก ซึ่งจะมีวงเงินถึง 40,000 ล้านเหรียญ ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าว จะสามารถช่วยชีวิตผู้หญิงและเด็กได้ถึง 16 ล้านคน และจะป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคปอดบวมได้ถึง 120 ล้านคน รวมทั้งจะช่วยเด็กที่ขาดอาหารได้อีก 88 ล้านคน

นอกจากนี้ แคนาดายังประกาศเดินหน้าที่จะระดมทุน 10,000 ล้านเหรียญจากกลุ่มประเทศ G8 ซึ่งจะเป็นไปตามความคิดริเริ่ม Muskoka ซึ่งเป็นผลจากการประชุมสุดยอด G8 ที่แคนาดา

เป้าหมายที่ 6 : การต่อสู้กับโรคระบาด
MDG ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะลดจำนวนคนติดโรคเอดส์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 รวมทั้งลดจำนวนคนป่วยเป็นมาลาเรียและโรคติดต่ออื่นๆ ครึ่งหนึ่งภายในปี 2015

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ ในช่วงปี 2003 ถึง 2008 มีผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านโรคเอดส์เพิ่มขึ้นจาก 4 แสน เป็น 4 ล้านคน คิดเป็น 42% ของผู้ป่วย 8.8 ล้านคนที่ต้องการยาต้านโรคเอดส์ สำหรับในแอฟริกาผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ก็มีจำนวนลดลง โดยในปี 2001 มีประมาณ 2.3 ล้านคน ในปี 2008 ลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน และคนที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย และผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัดลดลง 90% ในช่วงปี 2000 – 2008

สำหรับผลการประชุม MDG ในครั้งนี้ ได้มีมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยฝรั่งเศสประกาศลงขัน 1,400 ล้านเหรียญ ใน Global Fund ส่วนอังกฤษประกาศจะเพิ่มเงินช่วยเหลือ 3 เท่า เพิ่มจาก 150 ล้านปอนด์ต่อปี เป็น 500 ล้านปอนด์ภายในปี 2014 และธนาคารโลกก็ประกาศเพิ่มเงินอีก 600 ล้านเหรียญ

เป้าหมายที่ 7 : สิ่งแวดล้อม
MDG ได้ตั้งเป้าในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และลดจำนวนคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2015
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และเรื่องปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ถึงแม้จะมีปริมาณสูงแต่มีแนวโน้มลดลง

สำหรับในการประชุม MDG ครั้งนี้ มีบริษัทเอกชนประกาศให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ อาทิ WaterHealth International ประกาศจะสร้างโรงงานผลิตน้ำสะอาด 75 แห่งในบังคลาเทศและอินเดีย ซึ่งจะทำให้คนกว่า 175,000 คนเข้าถึงน้ำสะอาด และบริษัท Pepsi ตั้งเป้าจะทำให้คน 3 ล้านคนเข้าถึงน้ำสะอาดภายในปี 2015

เป้าหมายที่ 8 : หุ้นส่วนการพัฒนา
MDG ได้ตั้งเป้าว่า ประเทศร่ำรวยจะให้เงินช่วยเหลือประเทศยากจน โดยจัดสรรเงิน 0.7% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ประเทศร่ำรวยไม่ได้จัดสรรเงินในวงเงินดังกล่าว แต่สำหรับการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ EU ได้เสนอจะให้เงินช่วยเหลือ 1,000 ล้านยูโร

อุปสรรค
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผมประเมินโดยภาพรวมว่า การบรรลุเป้าหมาย MDG ในปี 2015 ยังคงเป็นเรื่องยากมาก ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญคือ การที่ประเทศร่ำรวยไม่ได้มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประเทศยากจน โดยทุกประเทศยังคงติดอยู่กับกับดักของตรรกะสัจนิยม ที่มองว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องประเทศใครประเทศมัน ลึกๆ แล้วประเทศร่ำรวยไม่คิดที่จะช่วยเหลือประเทศยากจนอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่ทำให้เป้าหมาย MDG คงจะบรรลุได้ยาก ได้แก่ ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งได้ส่งผลทำให้ประเทศยากจนประสบความแห้งแล้งอย่างหนัก โดยเฉพาะในแอฟริกา รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤตการณ์อาหารโลก ก็ได้ทำให้เงินช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยลดน้อยถอยลงไปด้วย

สุดท้าย ผมมองว่า มาตรการส่วนใหญ่ของการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ก็เป็นเงินช่วยเหลือเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่คงจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย MDG ได้ ในปี 2015

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ครั้งที่ 2

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ครั้งที่ 2
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 2 วันศุกร์ที่ 1 - วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนกับสหรัฐ ครั้งที่ 2 ที่นครนิวยอร์ก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์ผลการประชุม ดังนี้

ผลการประชุม
จากเอกสารแถลงการณ์ร่วม สามารถสรุปเรื่องสำคัญๆ ของการประชุมได้ดังนี้
East Asia Summit
ที่ประชุมได้หารือถึงความร่วมมือในภูมิภาค และตอกย้ำความสำคัญของอาเซียนในการเป็นแกนกลางของกระบวนการการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit ซึ่งเรียกย่อว่า EAS อาเซียนยินดีต่อการที่ประธานาธิบดีโอบามาประกาศจะเข้าร่วมการประชุม EAS ในปี 2011 และรัฐมนตรีต่างประเทศ Hillary Clinton จะเข้าร่วมการประชุม EAS ในฐานะแขกของประธานที่กรุงฮานอย ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้

ความมั่นคง
เรื่องสำคัญเรื่องที่สองที่หารือกันคือ เรื่องความมั่นคง โดยที่ประชุมตอกย้ำถึงความสำคัญของเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค ความมั่นคงทางทะเล เสรีภาพในการเดินเรือ ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกฎหมายทะเล และต้องมีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี

อาเซียนกับสหรัฐเห็นตรงกันว่า การจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) จะช่วยนำไปสู่การขจัดอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งสองฝ่ายจึงต้องการให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์และภาคี SEANWFZ หารือกัน อาเซียนยินดีต่อการที่สหรัฐประกาศว่า พร้อมที่จะเจรจาในเรื่องนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่การที่สหรัฐจะภาคยานุวัติกับ SEANWFZ

ประเด็นความมั่นคงอีกเรื่องคือ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 ซึ่งทั้งสองฝ่ายมองว่า กรอบการประชุมดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งนี้อาเซียนยินดีที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐมีแผนที่จะเข้าร่วมการประชุม ADMM+8 ครั้งแรกในเดือนตุลาคมนี้

พม่า
สำหรับในเรื่องพม่านั้น อาเซียนยินดีต่อการปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐกับรัฐบาลพม่า โดยหวังว่า การปฏิสัมพันธ์ทั้งจากอาเซียนและสหรัฐ จะช่วยกระตุ้นให้พม่าเดินหน้าสู่การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้ตอกย้ำข้อเรียกร้องตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งแรก โดยขอให้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ในพม่า จะต้องมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม มีเสรี และมีความโปร่งใส เพื่อที่จะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเชื่อมั่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมขอให้พม่าร่วมมือกับอาเซียนและสหประชาชาติต่อไปในกระบวนการปรองดองแห่งชาติ

เศรษฐกิจ
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มีการหารือกันคือ ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างอาเซียนกับสหรัฐมีมูลค่าถึง 84,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 28 % ในปี 2008 สหรัฐลงทุนในอาเซียนมีมูลค่าถึง 153,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่อาเซียนลงทุนในสหรัฐมีมูลค่าถึง 13,500 ล้านเหรียญ

ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีความร่วมมือกันมากขึ้น ภายใต้ข้อตกลง ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement หรือ TIFA ซึ่งรวมถึงการเดินหน้าในการทำข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน และที่ประชุมยินดีที่ได้มีการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนกับสหรัฐเป็นครั้งแรก

ทั้งสองฝ่ายยังยินดีต่อความคืบหน้าในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบของเอเปค และการเจรจา Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมเจรจาในกรอบ TPP ด้วย

บทวิเคราะห์
• ภาพรวม

การประชุมสุดยอดอาเซียนสหรัฐครั้งที่ 2 นี้ เป็นการสานต่อจากการประชุมสุดยอด ครั้งแรก ที่สิงคโปร์ เมื่อปีที่แล้ว โดยทั้งอาเซียนและสหรัฐก็ต้องการที่จะใกล้ชิดกัน และต้องการให้มีการประชุมสุดยอด สำหรับอาเซียนก็ต้องการใกล้ชิดกับสหรัฐเพื่อให้สหรัฐเข้ามาถ่วงดุลจีนในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังหวังผลประโยชน์ทั้งทางด้านความมั่นคงและทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับในแง่ของสหรัฐนั้น ยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน สหรัฐจึงได้หันมาตีสนิทกับอาเซียนและได้ให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแข่งกับจีน

เห็นได้ชัดว่า สหรัฐใช้การประชุมครั้งนี้ ในการเดินหน้านโยบายในเชิงรุกเพื่อปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ผลการประชุมดูไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งแรก ซึ่งในการประชุมครั้งแรกนั้น มีข้อเสนอ มีความคิดริเริ่มหลายเรื่อง และถือเป็นการพลิกโฉมหน้าใหม่ของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ แต่การประชุมครั้งนี้ ดูแล้วไม่มีอะไรโดดเด่น และค่อนข้างดูกร่อย และน่าผิดหวัง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการที่มีผู้นำอาเซียนบางประเทศไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ที่สำคัญที่สุดคือ การขาดผู้นำของอินโดนีเซีย Susilo Bambang Yudhoyono ซึ่งการไม่เข้าร่วมประชุมของผู้นำอินโดนีเซียอาจจะเป็นความไม่พอใจของอินโดนีเซีย ในเรื่องสถานที่การประชุม เพราะที่ผ่านมา อาเซียนจะจัดการประชุมสุดยอดในประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น แต่ครั้งนี้ต้องไปประชุมที่สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการขัดต่อประเพณีของอาเซียน และอาจจะทำให้อาเซียนสูญเสียการเป็นแกนกลางในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจได้

• ที่น่าจะเป็นไฮไลท์คือ การที่สหรัฐประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม EAS ซึ่งผมวิเคราะห์ว่า สหรัฐคงมองว่า การเข้าร่วม EAS จะเป็นโอกาสที่สหรัฐจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและจะได้เข้ามาถ่วงดุลจีน และคงอิทธิพลของสหรัฐต่อไป

• แต่สำหรับประเด็นร้อนที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมคือ เรื่องความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งสหรัฐพยายามดึงอาเซียนมาเป็นพวกเพื่อต่อต้านจีน แต่อาเซียนคงจะระมัดระวังและไม่อยากกลายเป็นพวกสหรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้การเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจเสียดุลยภาพ ดังนั้น จึงมีข่าวออกมาว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอด ได้มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศก่อน เพื่อพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วม โดยในตอนแรก สหรัฐต้องการให้มีข้อความเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่อาเซียนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับจีน จึงได้ขอให้ตัดข้อความเกี่ยวกับเรื่องปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ออกไปจนหมด

• สำหรับในเรื่องพม่านั้น ผลการประชุมในครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เป็นเพียงแต่กล่าวซ้ำๆ ที่เคยกล่าวในหลายเวทีการประชุมมาแล้ว คือ การขอให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ได้แค่นั้น จริงๆ แล้ว เบื้องหลังน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ ผมเดาว่า สหรัฐคงต้องการที่จะกดดันพม่าในเรื่องนี้ และต้องการความร่วมมือจากอาเซียน แต่อาเซียนก็คงปฏิเสธ โดยอ้างในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก