Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ปี 2010 : ผลกระทบต่อโลก

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ปี 2010 : ผลกระทบต่อโลก
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการเผยแพร่เอกสารสำคัญเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ที่มีชื่อว่า National Security Strategy ซึ่งจะมีการจัดทำขึ้นทุก 4 ปี ในสมัยรัฐบาลบุช มีการทำขึ้นในปี 2002 กับ ปี 2006 สำหรับในปี 2010 นี้ ได้มีการจัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลโอบามา ซึ่งถือเป็นเอกสารสะท้อนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลโอบามา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว และผลกระทบที่จะมีต่อโลกและต่อภูมิภาค

Grand Strategy : ยุทธศาสตร์ Engagement
ในตอนต้นของเอกสารดังกล่าว ได้วิเคราะห์ถึงภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง โดยสงครามได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากสงครามอุดมการณ์มาเป็นสงครามชาติพันธุ์และสงครามศาสนา การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การไร้เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และอันตรายจากการแพร่ขยายของเชื้อโรคร้ายต่างๆ

แต่สำหรับสหรัฐ ด้านมืดของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 จากการถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย หลังจากนั้นสหรัฐก็ได้ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกลับกลุ่มอัลกออิดะห์ และทำสงครามในอิรัก

ในอนาคต สหรัฐจะยังคงเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นคงให้กับโลก โดยร่วมมือกับพันธมิตรและสถาบันระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เป้าหมายหลักคือเพื่อเอาชนะอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน และป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

Theme ของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2010 คือ การรื้อฟื้นการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ และดำเนินยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ (Engagement)

ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ในระดับโลก คือการให้ความสำคัญกับสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโลก และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน สงคราม และโรคระบาดต่างๆ

แต่การปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนั้น สหรัฐกำลังกระชับความสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจใหม่ คือ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย สหรัฐกำลังเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ และแม้กระทั่งประเทศที่เป็นศัตรู สหรัฐก็จะดำเนินยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ด้วย

ยุทธศาสตร์ระยะสั้นเฉพาะหน้า
ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์และการรื้อฟื้นความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ ถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่ปัจจุบัน สหรัฐต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายรูปแบบ จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ระยะสั้นเฉพาะหน้า

ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ ภัยจากอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันตรายที่มาจากการที่กลุ่มก่อการร้ายมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง รวมทั้งการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ไปสู่ประเทศต่างๆ ดังนั้นสหรัฐจึงกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐกำลังลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ลง พยายามส่งเสริมสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์หรือ NPT พยายามแก้ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือ พยายามไม่ให้วัตถุดิบนิวเคลียร์ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย ป้องกันการโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ และการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

สหรัฐกำลังทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เป้าหมายคือ การเอาชนะอัลกออิดะห์ ด้วยยุทธศาสตร์สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ขณะนี้ แนวหน้าของการต่อสู้อยู่ที่อัฟกานิสถานและปากีสถาน ในตะวันออกกลาง มีความพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับเพื่อนบ้าน ด้วยทางออกที่เรียกว่า two-state solution โดยการตั้งรัฐอิสราเอลคู่กับรัฐปาเลสไตน์ นอกจากนี้ ก็มีความพยายามปฏิสัมพันธ์กับโลกมุสลิมทั่วโลกด้วย

ยุทธศาสตร์ต่อเอเชีย
ในเอกสารดังกล่าว ได้ฉายภาพให้เห็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อเอเชีย โดยยุทธศาสตร์หลักคือ การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ในเอเชีย ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยเน้นกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรดังกล่าวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเทศที่มีความสำคัญคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ถูกมองว่ากำลังจะเป็นผู้นำในการจัดการกับปัญหาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค สหรัฐจึงจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสอง โดยรวมแล้ว สหรัฐจะร่วมมือกับพันธมิตร ในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค อาทิ การแพร่ขยายอาวุธร้ายแรง การก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน ปัญหาโจรสลัด ภัยจากโรคระบาด และความมั่นคงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ สหรัฐมองว่า เอเชียกำลังมีการเกิดขึ้นของศูนย์กลางอำนาจใหม่ ดังนั้น สหรัฐจึงพยายามที่จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ในเอเชีย โดยผ่านทางองค์กรในภูมิภาค เวทีหารือใหม่ๆ และการทูตระดับสูง สหรัฐจะดำเนินยุทธศาสตร์ต่อเอเชียผ่านทางพันธมิตร กระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่ และเพิ่มบทบาทในเวทีพหุภาคีต่างๆ ซึ่งรวมทั้ง ASEAN APEC และเวที East Asia Summit

สำหรับความสัมพันธ์กับจีนนั้น สหรัฐจะเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นบวก สร้างสรรค์ และสมบูรณ์เบ็ดเสร็จกับจีน สหรัฐยินดีที่จีนจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะยังคงเฝ้าระวังเกี่ยวกับการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารของจีน และเตรียมรับมือกับผลกระทบ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ของสหรัฐและพันธมิตรได้รับผลกระทบในทางลบ จากการผงาดของจีนทางทหาร สหรัฐกับจีนคงจะไม่สามารถตกลงกันได้ในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะยังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ความเห็นที่แตกต่างกันจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือในประเด็นปัญหาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับอินเดีย สหรัฐกำลังพัฒนาความสัมพันธ์ในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด บทบาทความรับผิดชอบของอินเดีย เป็นตัวอย่างในเชิงบวกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และได้เปิดโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง สหรัฐมองว่า อินเดียกำลังจะมีบทบาทความเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาของโลก โดยการเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 และบทบาทของอินเดียในการสร้างเสถียรภาพในเอเชียใต้

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่สหรัฐมองว่า กำลังเป็นศูนย์อำนาจใหม่และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือ อินโดนีเซีย โดยในเอกสารดังกล่าว ได้พูดถึงอินโดนีเซียว่า เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นสมาชิก G20 และเป็นประชาธิปไตย อินโดนีเซียจึงมีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค

บทวิเคราะห์
โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2010 ของรัฐบาลโอบามาที่ได้สรุปข้างต้นนั้น มีแนวนโยบายที่แตกต่างจากยุทธศาสตร์ในสมัยของรัฐบาลบุชอย่างเห็นได้ชัด โดยยุทธศาสตร์ในสมัยรัฐบาลบุช เป็นยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นสายเหยี่ยวแบบสุดโต่ง เป็นยุทธศาสตร์สัจนิยมแบบสุดโต่ง แต่สำหรับยุทธศาสตร์ของโอบามา มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างยุทธศาสตร์สัจนิยมกับอุดมคตินิยม และลดความเป็นสายเหยี่ยวลงไปมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์สายพิราบ แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังเป็นการผสมผสานกันของทั้งสัจนิยมและอุดมคตินิยม โดยมีความเป็นเสรีนิยมสูง โดยเฉพาะการเน้นยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งแตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชที่มองโลกในแง่ร้ายเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในลักษณะ grand strategy หรือยุทธศาสตร์ระยะยาวของโอบามานั้น แตกต่างจากยุทธศาสตร์ในสมัยบุชเป็นอย่างมาก

• อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ระยะสั้นหรือยุทธศาสตร์เฉพาะหน้า กลับปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ของโอบามาก็ไม่ได้แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชมากนัก โดยภัยคุกคามก็เหมือนกัน คือ กลุ่มก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรง ดังนั้น ถึงแม้โอบามาจะมี grand strategy ที่มีลักษณะเสรีนิยม แต่พอมาถึงยุทธศาสตร์ในระยะสั้นเฉพาะหน้า กลับมีลักษณะเป็นสัจนิยมค่อนข้างมาก
• เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของโอบามาต่อเอเชีย ก็ไม่ได้แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุช โดยยังคงเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางทหารทั้ง 5 แต่ที่จะแตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชคือ การให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะกับจีน ก็แตกต่างจากในสมัยของรัฐบาลบุช โดยโอบามาเน้นที่จะปฏิสัมพันธ์กับจีนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นและมองจีนในแง่บวกมากขึ้น
• โดยสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยผมมองว่าโดยรวมแล้ว น่าจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อโลกมากขึ้น ทั้งนี้เพราะ หากรัฐบาลโอบามาสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ คือ เน้นปฏิสัมพันธ์ ก็น่าจะทำให้เกิดความร่วมมือและสันติภาพมากขึ้นในโลก การเน้นให้ความสำคัญกับองค์การระหว่างประเทศ ก็น่าจะส่งผลดีในการสร้างความร่วมมือ ลดความขัดแย้ง และน่าจะส่งผลให้เชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก

สำหรับผลกระทบต่อเอเชียนั้น พันธมิตรทั้ง 5 น่าจะได้รับประโยชน์เหมือนเดิม โดยไทยในฐานะเป็นหนึ่งในพันธมิตรทั้ง 5 น่าจะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งรวมถึงไทย แนวโน้มคือ สหรัฐน่าจะให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น
นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับมหาอำนาจใหม่ในเอเชีย น่าจะเป็นไปในทางบวกมากขึ้น ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย เวทีพหุภาคีในภูมิภาค ก็น่าจะได้รับความสำคัญจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่ออาเซียน สุดท้าย ประเทศที่ดูแล้ว น่าจะกำลังเป็นจุดสนใจของสหรัฐเป็นอย่างมากคือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่า สหรัฐจะให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็น่าจะก่อให้เกิดผลในเชิงบว

การประชุม Strategic and Economic Dialogue ระหว่างสหรัฐ กับ จีน

การประชุม Strategic and Economic Dialogue ระหว่างสหรัฐ กับ จีน
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสำคัญระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งการประชุมดังกล่าวเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Strategic and Economic Dialogue ซึ่งในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 2 การประชุมครั้งแรกมีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีโอบามา ทางฝ่ายสหรัฐหัวหน้าคณะมี 2 คน คือ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศ และ Tim Geithner รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ส่วนทางฝ่ายจีนมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ การประชุมดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญรองลงมาจากการประชุมระดับสุดยอด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ความร่วมมือด้านความมั่นคง
ในสุนทรพจน์กล่าวสรุปปิดการประชุม Hillary Clinton ได้กล่าวชื่นชมผลการประชุม โดยบอกว่าเวทีการประชุมนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน Hillary ได้กล่าวว่า ในช่วงต้นปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองเสื่อมโทรมลงมาก อย่างไรก็ตาม กลไกหารือเวทีนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการหารือในด้านต่างๆ หลายเรื่อง

เรื่องแรกเป็นเรื่องความมั่นคง โดยได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาระหว่างประเทศอย่างละเอียด รวมถึงปัญหาอิหร่านและเกาหลีเหนือ
ในกรณีของอิหร่าน ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญที่จะบรรลุถึงข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้อิหร่านมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศ มิเช่นนั้นจะถูกโดดเดี่ยวและจะได้รับผลจากพฤติกรรมของตน

สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือ สหรัฐและจีนมีวัตถุประสงค์ตรงกันที่ต้องการสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี ปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศร่วมมือกัน ในการผลักดันข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และบังคับใช้ข้อมติดังกล่าว หลังจากเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในขณะนี้ ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่เกิดจากการที่เกาหลีเหนือจมเรือของเกาหลีใต้ Hillary ได้เน้นว่า จีนเป็นประเทศที่น่าจะกังวลที่สุดต่อสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี ดังนั้น จึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ในอนาคต สหรัฐจะร่วมมือกับประชาคมโลก และกับฝ่ายจีน เพื่อที่จะหาหนทางที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ความร่วมมือด้านพลังงาน
แต่ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ ความร่วมมือในด้านพลังงาน โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงหลายเรื่องในด้านนี้ ข้อตกลงที่สำคัญที่มีการลงนามในครั้งนี้ มีดังนี้
• มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในด้านความมั่นคงปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ โดยจะร่วมมือกันในการป้องกันและต่อต้านการค้าวัตถุดิบนิวเคลียร์อย่างผิดกฎหมาย
• มีการลงนามในแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการขุดเจาะสำรวจแก๊สธรรมชาติในจีน โดยแผนดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า U.S.-China Shale Gas Resource Task Force Work Plan
• มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตาม MOU ความร่วมมือในด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และมีการจัดทำกรอบความร่วมมือด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ระยะเวลา 10 ปี โดยในกรอบความร่วมมือดังกล่าว จะเน้นสาขาความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ น้ำ อากาศ พลังงานไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง การปกป้องธรรมชาติ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
• ได้มีการจัดการประชุมคณะทำงานของ Clean Energy Research Center เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม
• ทั้งสองฝ่ายมีแผนที่จะจัดการประชุมความร่วมมือด้านพลังงานอีกหลายเวที ได้แก่ Electric Vehicle Forum การประชุม U.S.-China Energy Policy Dialogue ครั้งที่ 5 และการประชุม U.S.-China Oil and Gas Industry Forum ครั้งที่ 10 ในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ จะมีการจัดการประชุม U.S-China Renewable Energy Forum ครั้งแรกขึ้น และได้มีการจัดการประชุม Advanced Bio-fuels Forum เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคมที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่อง U.S-China Renewable Energy Partnership
• ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำแถลงการณ์ร่วม ความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน โดยที่ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่ผลิตและบริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก จึงมีผลประโยชน์ร่วมกันและความรับผิดชอบร่วมกันในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน
• ทั้งสองฝ่ายได้ตอกย้ำจุดยืนในการสนับสนุน Copenhagen Accord ที่เป็นข้อตกลงล่าสุด ที่ตกลงกันในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปลายปีที่แล้ว

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
การประชุมในครั้งนี้ มีการหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ โดย Tim Geithner รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้กล่าวสรุปว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยดูได้จากการส่งออกของสหรัฐมาจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยได้เพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เรื่องสำคัญที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันคือ ความร่วมมือในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ในการประชุมปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้เน้นเรื่อง การปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก หลังจากนั้นทั้งสองประเทศได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการปรับสมดุล โดยทางสหรัฐได้มีการออมและลงทุนมากขึ้น และลดการกู้เงินจากต่างประเทศ ในขณะที่ทางฝ่ายจีนก็มีการบริโภคและการนำเข้ามากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความสมดุลมากขึ้น

ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันในการเพิ่มเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF

อีกเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่แต่ Geithner ได้กล่าวแต่เพียงเล็กน้อย คือ ปัญหาค่าเงินหยวนของจีน โดยได้กล่าวแต่เพียงว่า ยินดีที่ผู้นำจีนได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูประบบการแลกเปลี่ยนของจีน

แต่เรื่องที่ Geithner ดูจะให้ความสำคัญคือ การที่สหรัฐผลักดันให้จีนปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของสหรัฐในจีน ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐดูจะพอใจที่จีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การยึดหลักการกลไกตลาด การค้าเสรี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของจีน รวมทั้งการที่จีนจะเข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลง WTO ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และการที่จีนกำลังลดอุปสรรคการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐมองว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ

บทวิเคราะห์
ผมมองว่า ผลของการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกผันอีกครั้งหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากความร่วมมือเป็นความขัดแย้ง และจากความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ เราคงจำได้ว่า ในช่วงต้นปีที่แล้ว ตอนที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ ได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน ความสัมพันธ์ในช่วงปีที่แล้วดีขึ้นมากโดยเฉพาะตอนที่โอบามาเดินทางไปเยือนจีน แต่พอมาถึงช่วงต้นปีนี้ ความสัมพันธ์ก็พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเกิดความขัดแย้งหลายเรื่อง อาทิ การที่โอบามาประกาศที่จะขายอาวุธให้กับไต้หวัน และการที่โอบามาได้พบปะกับองค์ดาไล ลามะ ที่ทำเนียบขาว และต่อมาสหรัฐได้โจมตีจีนอย่างหนักในเรื่องของค่าเงินหยวน และความสัมพันธ์ดูมีแนวโน้มทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ

แต่พอมาเมื่อช่วงเดือนเมษายน ความสัมพันธ์ก็พลิกผัน โดยหู จิ่น เทา ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐ หลังจากนั้น ความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และจากการประชุม Strategic and Economic Dialogue ในครั้งนี้ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ดีมากขึ้นไปอีก

คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คำตอบของผมคือ เราต้องเข้าใจยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต่อจีน ซึ่งมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ ในบางช่วง สหรัฐจะเน้นนโยบายปิดล้อม ใช้ไม้แข็งกับจีน แต่ในบางช่วง ก็จะเปลี่ยนมาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์และใช้ไม้อ่อนกับจีน สลับกันไปนั่นเอง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ไฮไลท์อยู่ที่ความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งก็เป็นการสานต่อข้อตกลงระหว่างโอบามากับหู จิ่น เทา เมื่อปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับในด้านอื่นๆ ก็ไม่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และความขัดแย้งในเรื่องสำคัญ ยังไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด อย่างเช่น เรื่องปัญหาค่าเงินหยวน เรื่องความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่าน เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ในอนาคต เราคงจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน กลับไปกลับมา คือ บางครั้งจะมีความร่วมมือ บางครั้งก็จะขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์กึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐนั่นเอง