Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม

ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่เวียดนาม
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ASEAN Connectivity
ไฮไลท์ของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ การจัดทำ Master Plan on ASEAN Connectivity หรือแผนแม่บทในการเชื่อมโยงอาเซียน ที่มาของแนวคิดเรื่อง ASEAN Connectivity นี้ เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประเทศไทย เมื่อปลายปี 2009 โดยมองว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 นั้น ประชาคมอาเซียนจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในด้านสินค้า บริการ ทุน และคน ใน Master Plan ได้มีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ สำหรับช่วงปี 2011 ถึง 2015 เพื่อเชื่อมอาเซียนใน 3 ด้าน ด้านแรกเรียกว่า physical connectivity คือการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ ด้านที่ 2 institutional connectivity เป็นการเชื่อมโยงกันทางสถาบัน และด้านที่ 3 people-to-people connectivity คือการเชื่อมโยงกันในระดับประชาชน

สำหรับในด้าน physical connectivity นั้น อุปสรรคสำคัญคือ เส้นทางคมนาคม เครือข่ายถนนที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงเส้นทางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านท่าเรือและสนามบิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสารสนเทศด้วย ดังนั้น ในแผนแม่บทจึงได้มีมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นในเรื่องของการจัดสร้างระบบคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สำหรับโครงการสำคัญคือ การจัดทำเครือข่าย ASEAN Highway Network และการจัดทำเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์ถึงคุนหมิง

สำหรับในด้าน institutional connectivity นั้น มีอุปสรรคในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงาน อาเซียนจึงจะต้องมีการจัดการกับอุปสรรคที่มิใช่ภาษี และจัดทำข้อตกลงในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการขนส่ง ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่า physical connectivity นั้น เน้นในเรื่องของ hard infrastructure ส่วน institutional connectivity นั้นเน้น soft infrastructure

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า การจัดทำ Master Plan ในครั้งนี้ ถือเป็นความคืบหน้าและเป็นความสำเร็จในการเดินหน้าสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 และถือเป็นไฮไลท์และความสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ ถ้าผมจำไม่ผิด ไทยเป็นคนที่ริเริ่มและผลักดันในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก

สถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้ตอกย้ำ การที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเน้นดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ด้าน ด้านแรกคือ การเร่งบูรณาการของอาเซียน เพื่อที่จะทำให้ความร่วมมืออาเซียนมีความเข้มข้น และอาเซียนจะได้เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมได้ ด้านที่ 2 เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคในกรอบต่างๆ ทั้งอาเซียน+1 อาเซียน+3 EAS ARF และ ADMM Plus

สำหรับในกรอบอาเซียน+1 นั้น ในการประชุมครั้งนี้ มีความสำเร็จและความคืบหน้าหลายด้านกับประเทศคู่เจรจา โดยได้มีการประชุมสุดยอดและข้อตกลงหลายเรื่องกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่

• ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียขึ้น ในวันที่ 30 ตุลาคม
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนนั้น ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแปลงปฏิญญาร่วมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะครอบคลุมช่วงปี 2011-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ สำหรับหุ้นส่วนอาเซียน-อินเดีย สำหรับปี 2010-2015
• การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น มีการจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับปฏิญญาโตเกียวในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นด้วย นอกจากนั้น ได้มีการจัดประชุม Mekong-Japan Summit เป็นครั้งที่ 2 ด้วย
• สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี มีการจัดทำปฏิญญาร่วมการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
• ในวันที่ 30 ตุลาคม ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2
• ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 2 ที่มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก เมื่อปลายเดือนกันยายน

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 นั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำว่า อาเซียน+3 จะยังคงเป็นกลไกหลักในการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งจะเป็นเป้าหมายระยะยาว

สำหรับในกรอบการประชุม East Asia Summit หรือ EAS นั้น ที่ประชุมได้เชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ EAS อย่างเป็นทางการ โดยในการประชุมครั้งนี้ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เข้าร่วมประชุม EAS ด้วย
ผมมองว่า จากการประชุมครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า อาเซียนได้เดินหน้าในการที่จะผลักดันให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยได้มีความเคลื่อนไหวและความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกรอบอาเซียน+1 อาเซียน+3 และ EAS

ปัญหาพม่า
ปัญหาพม่าเป็นประเด็นร้อนทุกครั้งในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายต่างๆ ก็ให้ความสนใจว่า อาเซียนจะมีท่าทีอย่างไรต่อการที่พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เมื่อดูจากเอกสารผลการประชุม พอคาดเดาได้ว่า อาเซียนคงจะมีถ้อยคำที่ประนีประนอม ซึ่งผลการประชุมก็ออกมาในทำนองนี้ คือ อาเซียนยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าที่จะให้มีการเลือกตั้ง และขอให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเน้นว่า พม่าควรจะร่วมมือกับอาเซียนและ UN ต่อไป จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำของเอกสารการประชุม ภาษาที่ใช้ค่อนข้างจะอ่อนมาก และไม่ได้มีการกดดันพม่าแต่อย่างใด

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในการประชุมครั้งนี้ คือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือหมู่เกาะ สแปรตลีย์ ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นมา ในช่วงเดือนกรกฎาคมในการประชุม ASEAN Regional Forum โดยสหรัฐได้เป็นคนจุดชนวนประเด็นนี้ขึ้นมา และทำให้จีนไม่พอใจประกาศซ้อมรบและทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีของฝ่ายต่างๆ คือ ต้องการที่จะลดความตึงเครียดในเรื่องนี้ลง และพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเจรจา ในเอกสารผลการประชุม อาเซียนได้ตอกย้ำความสำคัญของปฏิญญาในการแก้ปัญหานี้ ระหว่างอาเซียนกับจีน ที่ได้ลงนามกันไปเมื่อปี 2002 และอาเซียนหวังว่า ทุกฝ่ายจะยึดมั่นในปฏิญญาดังกล่าว และเดินหน้าสู่การจัดทำ code of conduct ในการแก้ไขปัญหานี้ อาเซียนรู้สึกยินดีต่อแนวโน้มในทางบวกระหว่างอาเซียนกับจีน เพราะกำลังจะมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกับจีนในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอด EAS Hillary Clinton ได้เดินหน้าต่อ ในการจุดประเด็นความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดย Clintonได้ย้ำว่า ความขัดแย้งจะต้องแก้ไขด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐมีผลประโยชน์แห่งชาติในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ และเมื่อเกิดความขัดแย้งในเรื่องนี้ สหรัฐก็มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างสันติวิธีด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม Clinton ได้กล่าวในเชิงบวกว่า เห็นด้วยที่จีนกำลังจะเจรจากับอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเจรจา code of conduct และสหรัฐก็ได้แสดงจุดยืนว่า พร้อมที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมองว่า สหรัฐยังคงพยายามเดินหน้าเปิดประเด็นในเรื่องนี้ต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นจุดอ่อนของจีน และจะเป็นจุดที่สหรัฐจะเข้ามาเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการปิดล้อมจีน อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มแล้ว อาเซียนก็ไม่อยากให้ปัญหานี้บานปลาย ต้องการให้ความตึงเครียดลดลง จีนเองก็คงไม่อยากจะให้เกิดความตึงเครียดมากไปกว่านี้ จึงยอมที่จะกลับมาเจรจากับอาเซียน

Hillary Clinton ประกาศนโยบายสหรัฐฯ ต่อเอเชีย

Hillary Clinton ประกาศนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 5 - วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2553

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์สำคัญที่ฮาวาย ประกาศนโยบายสหรัฐต่อเอเชีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

สุนทรพจน์ของ Hillary Clinton
สุนทรพจน์ดังกล่าว มีหัวข้อว่า “America’s Engagement in the Asia – Pacific” ในตอนแรก Clinton ได้เน้นว่า เป้าหมายใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ การเป็นผู้นำของสหรัฐ Clinton ได้ใช้คำใหม่ สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ว่า “forward deployed diplomacy” ซึ่งน่าจะแปลว่า การทูตในเชิงรุก โดยจะมีการใช้เครื่องมือทางการทูตในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และสถาบันในภูมิภาค

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในเอเชียจะเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นอันดับแรก อันดับสองเป็นความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ๆ และอันดับสามจะเป็นปฏิสัมพันธ์กับสถาบันในภูมิภาค

สำหรับความสัมพันธ์กับพันธมิตรนั้น สหรัฐจะเน้นพันธมิตรทั้ง 5 คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งพันธมิตรทั้ง 5 จะเป็นเสาหลักของนโยบายสหรัฐ โดยสหรัฐจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น สำหรับญี่ปุ่นเพิ่งครบรอบ 50 ปี ของสนธิสัญญาความร่วมมือทางความมั่นคง ส่วนเกาหลี ปีนี้ครบรอบ 60 ปีของสงครามเกาหลี ปีหน้าก็จะครบรอบ 60 ปี พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับออสเตรเลีย ส่วนพันธมิตรของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไทยและฟิลิปปินส์นั้น สหรัฐจะร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง

สำหรับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ๆ นั้น อินโดนีเซียกำลังเล่นบทบาทนำในภูมิภาค ในปีหน้าจะเป็นประธานอาเซียน ในเดือนหน้า โอบามาจะเดินทางไปอินโดนีเซีย และจะมีการลงนามในข้อตกลง Comprehensive Partnership Agreement อีกประเทศที่สำคัญคือ เวียดนาม ความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจได้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น และขณะนี้ความร่วมมือได้ขยายไปสู่ด้านความมั่นคงทางทะเล และด้านการป้องกันประเทศ ส่วนสิงคโปร์ก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำอาเซียน และมีบทบาทในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกรอบใหม่ที่เรียกว่า Trans Pacific Partnership หรือ TPP

สำหรับมหาอำนาจที่สำคัญในภูมิภาคคือ อินเดียและจีน สำหรับความสัมพันธ์กับอินเดียนั้น ถือว่ากำลังได้รับการยกระดับ ที่เรียกว่า U.S. – India Strategic Dialogue โอบามากำลังจะเดินทางไปเยือนอินเดีย สำหรับความสัมพันธ์กับจีนนั้นมีความซับซ้อน แต่จะไม่เป็นประโยชน์หากสหรัฐกับจีนเป็นศัตรูกัน ดังนั้น สหรัฐพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวกและร่วมมือกับจีน หลายคนในจีนอาจจะมองว่าสหรัฐกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน แต่ Clinton ก็เน้นว่าสหรัฐไม่มีนโยบายเช่นนั้น

สำหรับบทบาทของสหรัฐในเวทีพหุภาคีนั้น Clinton ได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐอย่างแข็งกร้าวว่า หากในเวทีไหนมีการหารือกันและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ สหรัฐจะต้องมีส่วนและมีที่นั่งในเวทีนั้น Clinton ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับอาเซียนซึงกระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก อีกเวทีที่สำคัญคือ เอเปค ซึ่งสหรัฐพยายามที่จะทำให้เอเปคกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดในปีหน้า นอกจากนี้ สหรัฐยังมีนโยบายในการเสริมสร้างเวทีในระดับอนุภูมิภาค หรือที่ Clinton ใช้คำว่า mini-laterals ตัวย่างสำคัญคือ เวที Lower Mekong Initiative

สำหรับเวที East Asia Summit หรือ EAS นั้น Clinton ได้ประกาศจุดยืนของสหรัฐต่อเวที EAS ว่า สหรัฐเห็นด้วยที่อาเซียนจะมีบทบาทนำ แต่สหรัฐต้องการให้ EAS เป็นเวทีปฏิสัมพันธ์ที่มีเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะในประเด็นด้านยุทธศาสตร์และการเมือง ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่อง การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และความมั่นคงทางทะเล

ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐกับพันธมิตร หุ้นส่วน และเวทีในภูมิภาคนั้น จะมีสหรัฐเล่นบทบาทนำใน 3 เรื่องด้วยกันคือ เรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน

สำหรับในด้านเศรษฐกิจ เป้าหมายของสหรัฐคือ การขยายการส่งออกและการลงทุนในภูมิภาค สหรัฐจะดำเนินนโยบายผ่านทางเอเปค G20 และความสัมพันธ์ทวิภาคี ในการเปิดตลาด และสร้างความโปร่งใส แต่ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐน่าจะอยู่ที่การผลักดัน Trans Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งเป็นข้อตกลงจัดตั้ง FTA ซึ่งขณะนี้มี 9 ประเทศเข้าร่วม และในอนาคตจะมีการขยายสมาชิกออกไปเรื่อยๆ

สำหรับทางด้านความมั่นคง ขณะนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐกำลังจัดทำเอกสารสำคัญเรียกว่า Global Posture Review ซึ่งจะมีการกำหนดแผนการคงกองกำลังทหารของสหรัฐในภูมิภาคต่อไป โดย Clinton เน้นว่า สหรัฐจะเพิ่มบทบาททางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเพิ่มบทบาทให้เกาะกวมเป็นฐานทัพทางทหารที่สำคัญ นอกจากนี้ สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในความร่วมมือด้านทหาร สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐจะเพิ่มบทบาทกองทัพเรือในสิงคโปร์ และจะปฏิสัมพันธ์ทางทหารเพิ่มมากขึ้นกับฟิลิปปินส์และไทย สำหรับออสเตรเลียก็จะมีการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน และสหรัฐได้มีความร่วมมือกับกองทัพเรืออินเดียในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย

สำหรับด้านสิทธิมนุษยชน Clinton ได้เน้นโจมตีรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และได้บอกว่า เอเชียขณะนี้ มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ 3 คน แต่ทั้ง 3 คน ถูกจับกุมหรือไม่ก็ต้องลี้ภัย 3 คนนั้น คือ อองซาน ซูจี ดาไล ลามะ และ Liu Xiaobo ดังนั้น ในการปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนที่มีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน สหรัฐจะพยายามกระตุ้นให้มีการปฏิรูป ในตอนท้าย Clinton ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งในพม่าจะไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

บทวิเคราะห์
• สุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่อเอเชียของ Clinton ในครั้งนี้ ดูคร่าวๆ แล้ว อาจจะดูเหมือนเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่ โดยมีการใช้คำใหม่ว่า forward deployed diplomacy แต่ถ้าดูในรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรใหม่ คือมีลักษณะเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เสียมากกว่า เมื่อวิเคราะห์สุนทรพจน์ของ Clinton แล้วก็เห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐไม่เคยเปลี่ยนคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า Clinton พูดคำว่า leadership หลายครั้ง โดยเน้นว่า สหรัฐจะต้องเป็นผู้นำในภูมิภาค ถึงแม้ Clinton จะปฏิเสธ แต่ผมเชื่อว่า ลึกๆ แล้วสหรัฐมียุทธศาสตร์ในการปิดล้อมจีน โดยเฉพาะทางทหาร นอกจากนี้ สหรัฐมียุทธศาสตร์ที่จะต้องป้องกันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ Clinton ประกาศก็เป็นไปตามบทวิเคราะห์ของผม ที่กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ต้องการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากรูปข้างล่างนี้

• แต่ประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นแนวโน้มเกิดขึ้นชัดเจนในเรื่องบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคคือ นโยบายในเชิงรุกของสหรัฐ โดยเฉพาะในปีนี้ เราเห็นสหรัฐ active มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบทวิภาคี สหรัฐก็กำลังรุกหนัก โดยเฉพาะการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินโดจีน ในเวทีพหุภาคี สหรัฐก็ active มากเป็นพิเศษ กับอาเซียน และรีบกระโดดเข้าร่วมในเวที EAS และประชุมสุดยอดกับอาเซียนไปแล้ว 2 ครั้ง ส่งทูตไปประจำอาเซียน รัฐมนตรีกลาโหมก็เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 เช่นเดียวกับเวทีเอเปค สหรัฐก็กำลังรุกหนักในการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP ทางด้านการทหาร สหรัฐก็ active มากเป็นพิเศษ อาทิ การซ้อมรบในทะเลเหลือง และการจุดประเด็นเรื่องความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จะเห็นได้ว่า สหรัฐ ขณะนี้กำลัง active มาก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งทั้งรัฐบาลไทยและภาควิชาการของไทย ที่จะต้องติดตามวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และเราจะต้องตามให้ทันว่า สหรัฐกำลังทำอะไร เวลาสหรัฐจะรุก จะรุกหนักมาก จนเราอาจจะตามไม่ทัน ตั้งรับไม่ทัน ตามเกมไม่ทัน ไทยคงจะต้องเตรียมตั้งรับให้ดี กับการรุกหนักของสหรัฐต่อภูมิภาคในอนาคต

• สำหรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐทางด้านเศรษฐกิจนั้น สิ่งที่จะต้องจับตามองและต้องวิเคราะห์กันให้ดีคือ การที่สหรัฐพยายามจะผลักดัน TPP ให้เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุด ในตอนแรกมีแค่ 6 ประเทศ แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 9 ประเทศแล้ว โดยประเทศที่ 9 ที่เข้าร่วมคือ มาเลเซีย ดังนั้น คำถามสำคัญในแง่ของไทยคือ ท่าทีของไทยจะเป็นอย่างไร ไทยควรที่จะเข้าร่วม TPP หรือไม่ จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP