Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ญี่ปุ่น-อาเซียน-ไทย


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2557
 
เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก Japan Institute for Social and Economic Affairs ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของ Keidanren องค์กรธุรกิจที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น โดยได้มีโอกาสพบปะหารือกับหลายภาคส่วนของญี่ปุ่น ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และนักธุรกิจ ได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่อง ซึ่งอยากจะมาสรุปวิเคราะห์ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ดังนี้
               เศรษฐกิจญี่ปุ่น
               ผมได้ฟังการบรรยายจากนักวิชาการ นักการเมือง และนักธุรกิจของญี่ปุ่นหลายคน ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ญี่ปุ่นกำลังประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ ในอดีตทศวรรษ 1960 -1970 ญี่ปุ่นเคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย คือปัญหาที่ทุกคนคาดไม่ถึง นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรทั้งหมด กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะเช่นนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า aging society หรือภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ รัฐบาลให้สวัสดิการกับประชาชนเต็มที่ รวมถึงระบบประกันสุขภาพ รัฐบาลต้องจ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลในระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากที่สุดในโลก คือ 230 % ของ GDP ญี่ปุ่น และภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ ก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งตอนนี้อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ปี ก็จะกลายเป็นอายุเฉลี่ย 75 ปี ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ก็จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
               ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามหาหนทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ล้มเหลวหมด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความพยายามการเพิ่มอัตราประชากร ญี่ปุ่นมีอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำที่สุดในโลก คือ 1.29 %  ตามหลักแล้ว อัตราการเพิ่มประชากรไม่ควรน้อยกว่า 2 % ของไทยก็น่าห่วง เพราะอัตราการเพิ่มของ ประชากรไทยอยู่ที่ 1.8 % ไทยเองในอนาคตก็จะประสบปัญหาเช่นเดียวกับญี่ปุ่น คือประชากรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น ไทยน่าจะต้องศึกษาปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรให้ดี และเตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าให้เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนญี่ปุ่น
               การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนและไทย
               อีกเรื่องที่เป็นข้อมูลสำคัญที่ได้จากการไปญี่ปุ่นในครั้งนี้คือ Keidanren ได้จัดให้ผมไปเยือนสำนักงานใหญ่ของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานใหญ่ที่สุดในอาเซียน ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าที่สำนักงานใหญ่ที่เมืองนาโกย่า และได้พบปะกับผู้บริหารของบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ Denzo Epson และ Mitsui ได้รับฟังคำบรรยายเกี่ยวกับการลงทุนในอาเซียนของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งเห็นภาพชัดว่า อาเซียนเป็นฐานใหญ่ของการลงทุนของญี่ปุ่นโดยเฉพาะไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในอาเซียน ปีที่แล้วมีการผลิตรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากว่า 1 ล้านคันในอาเซียน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของญี่ปุ่นได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของญี่ปุ่นด้วย              อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจญี่ปุ่นรู้สึกเป็นกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย และเริ่มไม่เชื่อมั่นในการลงทุนในไทย จึงทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคิดแผนสำรอง ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทยได้เสียหายหนักมาแล้วจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ ในปี 2554 และก็มาเจอความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้ออีก ยุทธศาสตร์การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ในอดีต ใช้ไทยเป็นฐานใหญ่เพียงฐานเดียว แต่ในอนาคต แผนสำรองของญี่ปุ่นที่ผมได้ยินมาคือ แผนที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Thailand+1 และ Thailand+2 คือญี่ปุ่นกำลังมีแผนจะย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปในประเทศอาเซียนอื่นเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ดังนั้น หากสถานการณ์ในเมืองไทยไม่คลีคลายโดยเร็ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยอย่างมากในอนาคต
               นอกจากนี้ นักธุรกิจญี่ปุ่นก็กำลังจับตามองการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว  AEC จะทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว แต่ในความเป็จริง AEC ยังไม่ใช่ตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว ญี่ปุ่นก็คงจะรู้ถึงข้อจำกัดตรงนี้ ดังนั้นญี่ปุ่นก็ยังไม่มียุทธศาสตร์ต่ออาเซียนทั้งกลุ่ม แต่เป็นยุทธศาสตร์ย่อยต่อแต่ละประเทศอาเซียนเสียมากกว่า
               นักธุรกิจญี่ปุ่นยังได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ซึ่งมีหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาคุณภาพของแรงงาน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหากฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย น่าจะต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว เพื่อที่จะทำให้ไทยยังคงเป็นที่ที่น่าลงทุนสำหรับญี่ปุ่น โดยผลสำรวจล่าสุดของนักลงทุนญี่ปุ่น ระบุว่าอินโดนีเซียตอนนี้กลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดไปแล้ว โดยไทยตกไปอยู่อันดับ 4 แล้ว
               ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน
               อีกเรื่องที่น่าสนใจในการไปญี่ปุ่นครั้งนี้คือเรื่องความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ ต่างก็มองตรงกัน ในการมองจีนว่าเป็นลบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะแข่งกับจีนและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ
               ผมได้มีโอกาสพบปะหารือกับ สส.ของญี่ปุ่นหลายคน ซึ่งนักการเมืองญี่ปุ่นมองจีนเป็นลบ และมองว่ายุทธศาสตร์ต่อจีนที่จำเป็นของญี่ปุ่นในขณะนี้คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน นอกจากนั้น นักการเมืองญี่ปุ่นยังมองว่า จีนจะครอบงำกรอบความร่วมมือต่างๆในภูมิภาค โดยเฉพาะกรอบ อาเซียน+3  ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องเข้าร่วม TPP ซึ่งมีสหรัฐเป็นโต้โผ เพื่อโดดเดี่ยวจีนและปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
               สำหรับนักวิชาการญี่ปุ่นก็พูดประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกับนักการเมืองญี่ปุ่น โดยเน้นในเรื่องของการเข้าร่วม TPP ของญี่ปุ่น โดยพยายามหว่านล้อมให้อาเซียนเห็นถึงผลดีของ TPP โดยเฉพาะสำหรับประเทศอาเซียนที่ยังไม่เข้าร่วม ซึ่งร่วมถึงไทยด้วย ขณะนี้มีประเทศอาเซียน 4 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่อาเซียนเราแตกแยกกันในเรื่องนี้ โดยได้สะท้อนออกมาในการไปญี่ปุ่นครั้งนี้ด้วย นักวิชาการจากสิงคโปร์ที่ไปด้วยกัน ก็พูดเชียร์ TPP เต็มที่ ทำให้เห็นชัดว่า สิงคโปร์ให้ ความสำคัญต่อสหรัฐมากกว่าอาเซียน เพราะอาเซียนไม่เคยมีท่าทีอย่างเป็นทางการที่สนับสนุน TPP ท่าทีของอาเซียนคือ อาเซียนสนับสนุนการจัดทำ FTA ในกรอบอาเซียน + 6 ที่มีชื่อย่อ RCEP
               สำหรับนักธุรกิจญี่ปุ่นก็มองจีนเป็นลบเช่นเดียวกัน แม้ว่าในอดีต ญี่ปุ่นได้เข้าไปลงทุนในจีนมหาศาล แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นกับจีนเริ่มขัดแย้งกันหนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นมีการเดินขบวนประท้วงและใช้ความรุนแรงกับธุรกิจญี่ปุ่นในจีน ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่ผมได้พบปะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ญี่ปุ่นมีแผนสำรองที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังอาเซียน หากสถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่านี้ และเริ่มมีแนวโน้มแล้วว่า การลงทุนของญี่ปุ่นในจีนลดลงไปมากในช่วงปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ก็อาจจะเป็นอานิสงส์ของอาเซียนและไทย ที่อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นจากจีนมาไทยมากขึ้นในอนาคต
               กล่าวโดยสรุป การไปญี่ปุ่นในครั้งนี้ของผม ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง บทเรียนของวิกฤติเศรษฐกิจญี่ปุ่น น่าจะทำให้ไทยตื่นตัวต่อปัญหาโครงสร้างประชากรมากขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์การลงทุนของญี่ปุ่นในไทย ซึ่งไทยก็มีการบ้านหลายเรื่องที่จะต้องรีบแก้ และสุดท้าย เรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเราก็คงจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ไทยจะได้จะเสียอย่างไรต่อสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคต