Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วิกฤตทิเบต

วิกฤตทิเบต

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์


ตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดเหตุความวุ่นวายขึ้นในทิเบต และขณะนี้ประชาคมโลกก็กำลังจับตามองวิกฤตครั้งนี้ว่าจะเป็นอย่างไร คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์ในทิเบต โดยจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมา มาตรการของรัฐบาลจีน ปฏิกริยาจากประชาคมโลก และแนวโน้มในอนาคต


ประวัติความเป็นมา


ทิเบตเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ย้อนกลับไปได้นับเป็นพันปี แต่ในหลายยุคหลายสมัย จีนพยายามที่จะขยายอิทธิพล และยึดครองทิเบตหลายครั้ง จนมาสำเร็จในปี 1951 จีนได้ส่งทหารเข้ายึดครองทิเบต และผนวกทิเบตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างถาวร


อย่างไรก็ตาม ชาวทิเบตก็ไม่ยินยอมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของจีน และได้มีการต่อต้านตลอดเวลาเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 1959 ได้มีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ แต่จีนก็ได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบตคือ ดาไลลามะ ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่อินเดีย และตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นตั้งแต่นั้นมา


สำหรับจีน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้ใช้นโยบาย “กลืนชาติ” โดยได้ส่งทหารและคนจีนเข้าไปในทิเบตเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ มีทหารจีนอยู่ในทิเบตประมาณ 250,000 คน และมีคนจีนที่อพยพเข้าไปอยู่ในทิเบตถึง 7,500,000 คน กลายเป็นคนจีนมีจำนวนมากกว่าคนทิเบตซึ่งมีเพียง 6 ล้านคน ชาวทิเบตจึงกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศของตนเอง และรัฐบาลจีนได้ใช้นโยบายกลืนชาติโดยบังคับให้เรียนภาษาจีน รวมทั้งในเรื่องการศึกษา ศาสนา ปัจจุบันฐานะของคนจีนในทิเบตดีกว่าชาวทิเบตเป็นอย่างมาก


อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประชาคมโลกได้ให้ความสนใจในปัญหาทิเบต โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีผู้ที่เห็นใจต่อการเรียกร้องการปกครองตนเองของชาวทิเบต แต่ในที่สุดแล้วก็ยอมรับอธิปไตยของจีนต่อทิเบต และไม่มีประเทศไหนที่จะกล้ารับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของดาไลลามะ
ในปี 2005 รัฐบาลจีนได้พยายามมีนโยบายประนีประนอมมากขึ้น โดยนาย Wen Jiabao นายกรัฐมนตรีจีน ได้เสนอที่จะเจรจากับดาไลลามะ แต่การเจรจาก็ไม่คืบหน้า ดาไลลามะเองในตอนหลังก็มีจุดยืนอ่อนลง โดยยอมรับอธิปไตยของจีนและไม่เรียกร้องเอกราช แต่สิ่งที่เรียกร้องคือ การปกครองตนเอง

สถานการณ์การต่อต้านจีนของชาวทิเบต ในที่สุดก็มาถึงจุดระเบิด โดยเมื่อวันที่10 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการเดินขบวนฉลองครบรอบวันที่ชาวทิเบตลุกฮือขึ้นต่อต้านจีนในปี 1959 และในที่สุด การเดินขบวนก็บานปลาย โดยรัฐบาลจีนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้เดินขบวนเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา จีนอ้างว่ามีคนตายประมาณ 10 กว่าคน แต่ทางฝ่ายดาไลลามะอ้างว่า มีคนตายมากกว่านั้นอาจจะถึง 100 คน


สถานการณ์ล่าสุด ถึงแม้ในกรุงลาซาเหตุการณ์จะสงบลง แต่การประท้วงต่อต้านได้ขยายวงออกไปสู่มณฑลอื่นๆ ของจีนที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่ ได้แก่ มณฑล กานซู เสฉวน และชิงไห่


มาตรการของรัฐบาลจีน


วิกฤตทิเบต ถือว่าเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี และเกิดขึ้นในจังหวะที่จีนจะจัดกีฬาโอลิมปิค ถือเป็นฝันร้ายของรัฐบาลจีน จีนจึงประสบกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือ จีนไม่ต้องการให้มีการนองเลือดในช่วงเวลาก่อนกีฬาโอลิมปิค แต่ขณะเดียวกัน การใช้ไม้อ่อนอาจจะทำให้รัฐบาลจีนถูกมองว่าอ่อนแอ และอาจนำไปสู่การลุกฮือต่อต้านมากขึ้น


การจัดโอลิมปิคในเดือนสิงหาคมนี้ จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะใช้กีฬาโอลิมปิคเป็นโอกาสทองของจีนที่จะประกาศศักดาความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของจีนต่อสายตาชาวโลก ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องการนองเลือดในทิเบต ประเด็นนี้เองที่นับว่าเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลจีนไม่กล้าที่จะทำอะไรเพราะกลัวกระทบต่อกีฬาโอลิมปิค จึงทำให้จีนในขณะนี้จึงกลายเป็นเป้านิ่งที่ถูกโจมตีอย่างหนักในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ท่าทีของจีนต่อความขัดแย้งในแคว้นดาฟู ท่าทีของจีนต่อปัญหาพม่า ปัญหาซินเจียง ปัญหาไต้หวัน และการโจมตีว่าจีนสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทั่วโลก ทั้งนี้เพราะหวังผลในเรื่องน้ำมันและพลังงาน
ในอดีตหากไม่มีโอลิมปิค เป็นที่คาดว่า จีนคงใช้กำลังเข้าปราบปรามชาวทิเบตอย่างราบคาบ แต่ในขณะนี้จีนคงไม่กล้าทำเช่นนั้น


ในอดีต จีนพยายามใช้ทั้งไม้อ่อน และไม้แข็งกับปัญหาทิเบต โดยได้พยายามเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจของทิเบต โดยสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองโดยชาวทิเบตว่า เพื่อผลประโยชน์ของชาวจีนที่อพยพเข้าไปในทิเบต และเป็นแผนการกลืนชาติโดยการทำลายวัฒนธรรมทิเบต ซึ่งดาไลลามะเรียกว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม (cultural genocide)


ปฏิกิริยาจากประชาคมโลก


หลังจากเกิดเหตุความวุ่นวายในทิเบต ชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ออกมาเดินขบวนประท้วง โดยเป้าคือสถานทูตจีนในหลายๆประเทศ เช่น ที่ลอนดอน นิวเดลี กาฐมาณฑุ ออสเตรเลีย ชิคาโก และที่ตึกสำนักงานใหญ่ของ UN ที่นิวยอร์ค


สำหรับดาไลลามะ ได้ออกมาขอให้ยุติความรุนแรง และขอให้รัฐบาลจีนเจรจากับชาวทิเบต นอกจากนี้ ยังขอให้องค์การระหว่างประเทศและ UN เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยประกาศว่าการกระทำของจีนถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม


สำหรับทางตะวันตกก็ได้มีปฏิกริยา โดยทาง EU ได้มีแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลจีนยุติความรุนแรง แต่ EU ก็ไม่กล้าไปไกลถึงขั้นคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิค


สำหรับประเทศที่ดูจะวุ่นวายมากที่สุด คือสหรัฐฯ ซึ่งยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน ดังนั้น การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในของจีน ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมและการสกัดกั้นอิทธิพลของจีน โดยสหรัฐฯเน้นการเข้าไปยุ่งกับกรณีไต้หวันละ ทิเบต เป็นพิเศษ


โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 มีนาฯ โฆษกทำเนียบขาวได้ออกมาขอให้จีนเคารพในวัฒนธรรมของทิเบต และเสียใจที่เกิดความรุนแรง และตอกย้ำนโยบายของบุชที่ขอให้รัฐบาลจีนเจรจาหารือกับดาไลลามะ


นอกจากนั้น ทูตสหรัฐฯประจำจีน ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน และได้ตอกย้ำจุดยืนของสหรัฐฯที่ไม่ต้องการเห็นจีนใช้กำลัง


สำหรับประธานาธิบดีบุช ขณะนี้ยังไม่ได้ออกมากล่าวอะไร อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บุชได้พบปะกับดาไลลามะ โดยได้เชิญดาไลลามะมารับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของสภาคองเกรส โดยบุชได้กล่าวยกย่องดาไลลามะ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดการเจรจากับดาไลลามะ


ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯคือ การที่ Condoleezza Rice รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวขอให้จีนยุติการใช้ความรุนแรง และรู้สึกเสียใจที่การเดินขบวนอย่างสันตินำไปสู่การสูญเสียชีวิต Rice ยังเสนอให้จีนให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และให้รัฐบาลจีนปลดปล่อยชาวทิเบตที่ถูกคุมขัง


แนวโน้ม


เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า วิกฤตทิเบตจะพัฒนาไปอย่างไร แต่ผมดูแล้ว รัฐบาลจีนคงจะไม่กล้าใช้ความรุนแรงมากไปกว่านี้ เพราะกลัวผลกระทบต่อกีฬาโอลิมปิค ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่รัฐบาลจีนจะจำยอมที่จะประนีประนอมกับดาไลลามะมากขึ้น และอาจนำไปสู่การเจรจาเพื่อให้ชาวทิเบตมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม หลังจากกีฬาโอลิมปิคผ่านไปแล้ว คือ หลังจากเดือนสิงหาคม จีนอาจปรับนโยบายใหม่และอาจหันกลับมาใช้ไม้แข็งในการปราบปรามชาวทิเบตอย่างรุนแรง กระแสกดดันจากภายนอกก็คงจะทำอะไรจีนไม่ได้ เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ ซึ่งไม่มีใครกล้าที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของจีน UN ก็คงไม่สามารถจะมีบทบาทอะไรได้ ทั้งนี้เพราะ จีนเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งคงจะ veto ข้อเสนอของตะวันตกที่จะให้ UN เข้ามามีบทบาทในปัญหานี้อย่างแน่นอน

การประชุมสุดยอด NATO โรมาเนีย

การประชุมสุดยอด NATO โรมาเนีย

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์


เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ได้มีการประชุมสุดยอด NATO ที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

NATO ก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งพันธมิตร
ทางทหาร เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง บทบาทของ NATO ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดย NATO ได้ปรับเปลี่ยนภารกิจจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์มาเป็นบทบาทรักษาสันติภาพทั่วทวีปยุโรป โดยในปี 1995 เป็นครั้งแรกที่ NATO ได้จัดตั้งกองกำลังนานาชาติ เพื่อรักษาสันติภาพในบอสเนีย ต่อมาในปี 1999 NATO ดำเนินมาตรการทางทหาร เพื่อให้ยูโกสลาเวียถอนทหารออกจากโคโซโว

ในยุคหลังสงครามเย็นนี้ เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯต้องการใช้ประโยชน์จาก NATO ในการครองความเป็นเจ้า ทั้งในทวีปยุโรปและในระดับโลก

ในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ บทบาทของ NATO ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และแนวโน้ม NATO กำลังจะกลายเป็นพันธมิตรทางทหารในระดับโลก และขอบข่ายการปฏิบัติงานของ NATO ก็กำลังขยายไปทั่วโลก

ตะวันออกกลาง

สำหรับการประชุมสุดยอดของ NATO ครั้งล่าสุดที่กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนียนั้นได้มีการจัดทำเอกสารผลการประชุม ที่เรียกว่า Bucharest Declaration หรือปฏิญญาบูคาเรสต์ โดยเรื่องที่ NATO ให้ความสำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ บทบาทของ NATO ในอัฟกานิสถาน NATO ได้ส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน โดยภารกิจหลักเพื่อปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงและผู้ก่อการร้าย ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทของ NATO ในอัฟกานิสถาน และยินดีที่ประเทศสมาชิกจะได้ส่งกองกำลังเพิ่มเติมเข้าไป
ผมมองว่า กองกำลัง NATO ในอัฟกานิสถานนั้น มีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่ง ที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ NATO ที่ขยายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะบทบาทการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอัฟกานิสถานถือเป็นสมรภูมิที่สำคัญยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของอิรัก ไม่ได้มีกองกำลัง NATO เข้าร่วมกับกองกำลังของสหรัฐฯ แต่ NATO ก็มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือฝึกกองกำลังของอิรักเป็นจำนวนกว่า 1 หมื่นคน
คาบสมุทรบอลข่าน

อีกภูมิภาคหนึ่งที่ NATO ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ คาบสมุทรบอลข่าน โดยเฉพาะกรณีของโคโซโว NATO ได้มีบทบาทมาโดยตลอด ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้ตอกย้ำว่า คาบสมุทรบอลข่านมีความสำคัญอย่างยิ่ง และย้ำถึงบทบาทของกองกำลัง NATO ในโคโซโว ที่เรียกย่อว่า KFOR และเน้นด้วยว่า กองกำลัง KFOR จะยังอยู่ในโคโซโวต่อไปภายหลังที่โคโซโวประกาศเอกราชไปแล้ว

ผมมองว่า สหรัฐฯและ NATO ต้องการขยายบทบาทเข้าครอบงำคาบสมุทรบอลข่าน ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ใหญ่คือ การเพิ่มบทบาท และยุทธศาสตร์ปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซีย

นอกจากกรณีของโคโซโวแล้ว ปฏิญญาบูคาเรสต์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของ NATO ในการกระชับความร่วมมือกับบอสเนีย มอนเตนีโกร และเซอร์เบีย โดย NATO ได้ตัดสินใจที่จะเชิญบอสเนียและมอนเตนีโกร มาหารือในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงอนาคตของการเป็นสมาชิก NATO ด้วย สำหรับในกรณีของเซอร์เบียนั้น NATO จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับเซอร์เบียและพยายามจะนำเซอร์เบียมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมในยุโรป

แต่ผมมองว่า ปัญหาใหญ่ของ NATO ในบอลข่านคือ ผลกระทบจากการประกาศเอกราชของโคโซโว ซึ่งทำให้เซอร์เบียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เบียกับตะวันตก เสื่อมทรามลงไปเรื่อย ๆ รวมทั้งมีแนวโน้มที่คาบสมุทรบอลข่านอาจจะลุกเป็นไฟ เนื่องด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่เป็นผลมาจากการประกาศเอกราชของโคโซโว โดยมีแนวโน้มที่ชาว Serb, Albanian และ Croat อาจจะมีความขัดแย้งและความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ NATO ในอนาคต
หุ้นส่วนระดับโลก (global partnership)

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แนวโน้มของ NATO คือ พยายามที่จะพัฒนาไปเป็นพันธมิตรทางทหารในระดับโลก และเพิ่มขอบข่ายการปฏิบัติการไปทั่วโลก ดังนั้นในปฏิญญาบูคาเรสต์จึงได้ตอกย้ำนโยบายของ NATO ที่จะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในลักษณะเป็นหุ้นส่วน โดยได้กล่าวว่ามีถึง 17 ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก NATO ที่ได้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการต่าง ๆ ของ NATO

และที่สำคัญก็คือ การกระชับความสำคัญกับประเทศในเอเชียตะวันออก ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนต์ สิงค์โปร์ และเกาหลีใต้ ที่ได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมกับกองกำลัง NATO ในอัฟกานิสถาน

สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

บทบาทหลักของ NATO อีกเรื่องหนึ่งในยุคหลัง 11 กันยาฯ คือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งบทบาทในการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และป้องกันการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล โดยเน้นถึงการป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง

ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้เน้นถึงการป้องกันการพัฒนาขีปนาวุธและการพัฒนาระบบการป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธ โดยสหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งระบบดังกล่าวขึ้นในยุโรป แต่ก็ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อรัสเซีย เพราะรัสเซียมองว่า วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯคือ การมุ่งเป้ามาที่รัสเซีย

รัสเซีย

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง NATO กับรัสเซียนั้น เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง โดยในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ NATO กับรัสเซีย โดยเน้นว่า ถึงแม้ท่าทีในหลายๆเรื่องของรัสเซียจะเป็นที่น่าวิตกกังวล แต่ NATO ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับรัสเซียในเรื่องที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย และการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดย NATO ย้ำว่า นโยบายขยายสมาชิกใหม่และระบบป้องกันขีปนาวุธไม่ได้เป็นการคุกคามต่อความสัมพันธ์ระหว่าง NATO กับรัสเซีย

แต่ผมมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตก NATO และรัสเซียเสื่อมทรามลงอย่างมาก
โดยรัสเซียมองว่า ตะวันตกและ NATO กำลังมีนโยบายปิดล้อมรัสเซียโดยดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นประเทศสมาชิก และขยายอิทธิพลเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือในยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง สำหรับในกรณีของโคโซโว รัสเซียก็คัดค้านอย่างเต็มที่ ต่อการที่ตะวันตกสนับสนุนการประกาศเอกราชของโคโซโว

การขยายสมาชิกใหม่

เรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประชุมสุดยอดที่โรมาเนียคือ ประเด็นเรื่องการขยายสมาชิกใหม่ โดยในปฏิญญาบูคาเรสต์ ได้กล่าวถึง การเชิญ อัลบาเนีย และโครเอเชียเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่

สำหรับในกรณีของยูเครนและจอร์เจียนั้น ถึงแม้สหรัฐฯจะผลักดันเต็มที่ แต่ในที่สุด ที่ประชุม NATO ตัดสินใจไม่รับทั้ง 2 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกในขณะนี้ โดยในปฏิญญาเพียงแต่กล่าวว่า ประเทศทั้งสอง จะเป็นสมาชิกของ NATO ในอนาคต แต่ในขณะนี้ คงจะต้องดำเนินการในกรอบที่เรียกว่า membership action plan หรือ แผนปฏิบัติการที่จะเป็นสมาชิกก่อน

ในประเด็นนี้ ผมขอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ในตอนแรกสหรัฐฯพยายามผลักดันเต็มที่ ที่จะให้ยูเครนและจอร์เจียเป็นสมาชิกใหม่ โดยวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯคือ ต้องการเข้าไปมีบทบาทในเทือกเขาคอเคซัส และเขตสหภาพโซเวียตเดิม เพื่อลดอิทธิพลของรัสเซียและปิดล้อมรัสเซีย อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ ประเทศในยุโรปไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ โดยมองว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับรัสเซียมากเกินไป โดยเฉพาะ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า พันธมิตร NATO กำลังสั่นคลอน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับพันธมิตรในยุโรป โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องยุทธศาสตร์ต่อรัสเซีย โดยสหรัฐฯต้องการใช้ไม้แข็ง ในขณะที่ยุโรปต้องการใช้ไม้อ่อนและไม่ต้องการเผชิญหน้า โดยยุโรปไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯที่จะต้องเร่งรีบดึงเอาจอร์เจียและยูเครนมาเป็นสมาชิก และมองว่า เร็วเกินไปและจะเป็นการสร้างความขัดแย้งกับรัสเซียมากเกินไป