Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน – ญี่ปุ่น ปี 2010

ความขัดแย้งจีน – ญี่ปุ่น ปี 2010
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันที่ 7 ตุลาคม 2553

เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยประเด็นความขัดแย้งเป็นเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือเกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า Sensaku ส่วนจีนเรียกว่า Diaoyu คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งสาเหตุและผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง
เกาะ Sensaku/Diaoyu เป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก มีพื้นที่เพียง 7 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เกาะดังกล่าวมีความสำคัญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และทางด้านเศรษฐกิจ เพราะอยู่ใกล้กับเส้นทางการเดินเรือ และที่สำคัญคือ การคาดการณ์ว่า มีทรัพยากรน้ำมันอยู่เป็นจำนวนมาก

ในอดีต ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นชนะสงครามกับจีน ในปี 1895 ได้มีการทำสนธิสัญญา Shimonoseki ทำให้เกาะไต้หวันและเกาะใกล้เคียงรวมทั้งเกาะ Sensaku ตกเป็นของญี่ปุ่น โดยเกาะ Sensaku ถือเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Nansei Shoto หรือ หมู่เกาะ Ryukyu ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกินาวา

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ภายใต้สนธิสัญญา San Francisco ปี 1951 ญี่ปุ่นได้สละกรรมสิทธิ์ในเกาะไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว หมู่เกาะ Nansei Shoto (ซึ่งรวมถึง Sensaku) ตกอยู่ภายใต้การอารักขาของสหรัฐ และสหรัฐได้คืนให้ญี่ปุ่นในปี 1971 ญี่ปุ่นอ้างว่า จีนไม่ได้คัดค้านข้อตกลงในสนธิสัญญา San Francisco แต่กลับกลายเป็นว่า ในช่วงหลังจากที่ได้มีการคาดการณ์ว่า จะมีแหล่งน้ำมันมหาศาลในบริเวณเกาะ Sensaku จีนกับไต้หวันจึงได้อ้างกรรมสิทธิ์

แต่ในส่วนของจีนนั้น ได้อ้างว่า เกาะ Diaoyu เป็นของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเป็นแหล่งจับปลาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดไต้หวัน จีนได้อ้างว่า ภายใต้สนธิสัญญา San Francisco ญี่ปุ่นต้องคืนไต้หวันให้กับจีน เกาะ Diaoyu ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไต้หวัน จึงต้องคืนให้กับจีนด้วย

หลังจากนั้น ความขัดแย้งในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ จึงมีมาอย่างยืดเยื้อ และเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 1996 ญี่ปุ่นได้สร้างประภาคารบนเกาะ ซึ่งทำให้ชาวจีนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และได้พยายามเดินทางไปที่เกาะหลายครั้งเพื่อประท้วง ในปี 2004 ญี่ปุ่นได้จับกุมชาวจีน 7 คน ที่เดินทางไปที่เกาะดังกล่าว ในระยะหลัง ได้มีการเผชิญหน้ากันหลายครั้ง ระหว่างเรือรบของญี่ปุ่นกับเรือประมงของจีนและไต้หวัน

เหตุการณ์ความขัดแย้ง
สำหรับเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยในวันที่ 7 กันยายน เรือประมงจีนได้ชนกับเรือรบของญี่ปุ่น ในบริเวณเกาะดังกล่าว และญี่ปุ่นได้จับกุมลูกเรือเอาไว้ ต่อมาญี่ปุ่นได้ปล่อยตัวลูกเรือ แต่ยังคงจับกุมกัปตันเรือเอาไว้
สำหรับจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และได้ประกาศให้ญี่ปุ่นปล่อยตัวลูกเรือทั้งหมด แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธ จีนจึงได้ดำเนินมาตรการโต้ตอบญี่ปุ่นหลายเรื่อง โดยดำเนินมาตรการเข้มงวดสำหรับสินค้าญี่ปุ่น และห้ามการส่งออกแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ต่อมา ได้มีการจับกุมพนักงานบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นในจีน 4 คน โดยอ้างว่า ชาวญี่ปุ่นได้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตหวงห้ามทางทหาร นอกจากนั้น จีนยังได้ยุติการเจรจากับญี่ปุ่น ในเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนตะวันออก
ต่อมา ญี่ปุ่นยอมปล่อยตัวกัปตันเรือ จึงทำให้ความตึงเครียดทุเลาลงไป แต่ความขัดแย้งก็ยังคงคุกรุ่นอยู่

สาเหตุ
สำหรับสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในครั้งนี้นั้น ผมขอวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

• สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ การแข่งขันกันในการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ญี่ปุ่นมีความหวั่นเกรงต่อการขยายอิทธิพลของจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค ในอดีต ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งในเอเชีย แต่ปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้สูญเสียสถานะดังกล่าวให้กับจีนไปแล้ว ดังนั้นยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นคือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะการร่วมมือกับสหรัฐในการปิดล้อมจีน

สำหรับจีน ก็มองว่า ตนเองมีความชอบธรรมที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา จีนเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด เพิ่งจะมาร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง ที่ญี่ปุ่นแซงจีนขึ้นมา จีนถือว่าตนเองเป็น Middle Kingdom เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมโลกมาตลอด จีนจึงมีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นอันดับหนึ่งอีกครั้ง แต่ตอนนี้มีก้างขวางคอคือ ญี่ปุ่นและสหรัฐ

ในอดีต จีนยังไม่กล้าที่จะมีเรื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่กล้าที่จะขยายปีก แสดงแสนยานุภาพทางทหาร และตอกย้ำอำนาจอธิปไตยของจีน แต่ในปัจจุบัน การผงาดขึ้นมาของจีน กำลังจะทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต จึงทำให้จีนมีความมั่นใจในอำนาจแห่งชาติของตนมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้นโยบายต่างประเทศและท่าทีของจีนเริ่มแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ท่าทีของจีนต่อปัญหาเกาะ Sensaku/Diaoyu เปลี่ยนไปในลักษณะแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

และที่เป็นปัจจัยเสริมคือ การเปลี่ยนแปลงของอำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่จีนกำลังมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และถือเป็นดาวรุ่ง แต่ในทางกลับกัน อำนาจของญี่ปุ่นก็กำลังเสื่อมลงเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงทำให้จีนมีนโยบายแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ญี่ปุ่นก็พยายามที่จะแข่งกับจีนเพื่อรักษาสถานะเดิมของตนไว้

• สาเหตุประการที่สอง ก็มาจากความสำคัญของเกาะ Sensaku/Diaoyu ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์การทหาร เกาะดังกล่าวอยู่ใกล้กับหมู่เกาะ Ryukyu และ เกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถึงขั้นมีการมองภัยคุกคามว่า จีนอาจบุกยึดหมู่เกาะดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น ส่วนจีนเองก็กำลังมียุทธศาสตร์ทางทหารโดยใช้แนวเกาะ Sensaku/Diaoyu เป็นแนวตั้งรับหลักของจีนในยุทธศาสตร์ทางทะเล

• สาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งลำบาก เพราะทั้ง 2 ประเทศไม่ยอมรับว่า มีความขัดแย้ง โดยทางฝ่ายญี่ปุ่นก็บอกว่า ไม่มีความขัดแย้งกับจีนในเรื่องนี้ เพราะเกาะ Sensaku เป็นของญี่ปุ่น ไม่มีอะไรจะต้องเจรจากับจีนในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับท่าทีของจีนที่บอกว่า เกาะ Diaoyu เป็นของจีน และจีนถือเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ (sacred territory) โดยในปี 1992 ภายใต้กฎหมายอาณาเขตทางทะเลของจีน ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า เกาะ Diaoyu เป็นดินแดนของจีน

• สาเหตุอีกประการคือ ความล้มเหลวของความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามของทั้ง 2 ประเทศที่พยายามจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยในช่วงเวลาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทุกคนได้เดินทางไปเยือนจีน และประธานาธิบดี หู จิ่น เทา และนายกรัฐมนตรี เวิน เจีย เป่า ก็ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางทหาร ทางการศึกษา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าก็เพิ่มขึ้นมาก แต่ดูเหมือนกับว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรในการป้องกันความขัดแย้งครั้งล่าสุด

ผลกระทบ
สำหรับผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในครั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้เป็นประเด็น ดังนี้

• ภาพรวม
ผมมองว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความขัดแย้งในครั้งนี้ ก็คือจีนเอง ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้พยายามอย่างยิ่งที่จะขายไอเดียเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในครั้งนี้ ได้ทำลายภาพลักษณ์ของจีน โดยเฉพาะสโลแกนเรื่องการผงาดขึ้นมาอย่างสินติเป็นอย่างมาก พฤติกรรมของจีนได้ทำให้บรรยากาศทางการทูตในภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้านของจีน ที่เริ่มรู้สึกถึงพฤติกรรมที่แข็งกร้าวและก้าวร้าวมากขึ้นของจีน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับนโยบายใหม่ต่อจีน

• ญี่ปุ่น
ท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนในครั้งนี้ ได้ทำให้ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนความรู้สึกต่อจีนไปในเชิงลบมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคือ Naoto Kan ในระหว่างการประกาศนโยบายต่อสภาญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แสดงความห่วงใยต่อการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารของจีน และได้เรียกร้องให้จีนเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในสังคมประชาคมโลก โดยนาย Kan กล่าวว่า การผงาดขึ้นมาของจีน ทำให้ญี่ปุ่นมีความห่วงใยต่อแสนยานุภาพทางทหารของจีนที่ปราศจากความโปร่งใส และได้กล่าวว่า ญี่ปุ่นคงจะต้องมีการปรับนโยบายต่างประเทศและนโยบายการป้องกันประเทศใหม่ เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพในบริเวณรอบเกาะญี่ปุ่น

• สหรัฐ
ผลกระทบของความขัดแย้งในครั้งนี้ ทำให้สหรัฐมีโอกาสในการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เพื่อดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นกระชับแน่นแฟ้นขึ้น โดยทางฝ่ายสหรัฐรวมถึง Richard Armitage อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวว่า ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่น ปี 1960 นั้น ครอบคลุมถึงดินแดนทั้งหมดที่เป็นของญี่ปุ่น รวมถึงเกาะ Sensaku ด้วย

พฤติกรรมของจีนในครั้งนี้ จะยิ่งผลักดันให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค หันไปหาสหรัฐและใกล้ชิดกับสหรัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้สหรัฐมาถ่วงดุลทางทหารกับจีน และเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางทหารต่อภัยคุกคามจากจีนในอนาคต

ก่อนหน้านี้ สหรัฐก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ทางทหารในเชิงรุกมาแล้ว โดยเฉพาะในกรณีการจุดประเด็นเรื่องความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก นำไปสู่ปฏิกิริยาลูกโซ่ จีนประกาศซ้อมรบในทะเลจีนใต้ สหรัฐก็หันไปจับมือกับเวียดนาม

• เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความขัดแย้งในครั้งนี้ คงจะทำให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศที่มีความขัดแย้งในกรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์กับจีน คงจะมีความวิตกกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คงจะมีความหวาดระแวงและมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับบทบาทของจีนในภูมิภาคมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศเหล่านี้คงจะถูกผลักไปให้ใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น

นอกจากนี้ ความขัดแย้งดังกล่าว ยังอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือในกรอบอาเซียน โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน+3 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป้าหมายระยะยาวของอาเซียน+3 คือการพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก แต่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการดังกล่าว

การประชุมสุดยอด UN เรื่อง Millennium Development Goals (MDG)

การประชุมสุดยอด UN เรื่อง Millennium Development Goals (MDG)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 58 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 8 - วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2553

ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสุดยอดของ UN ในเรื่อง Millennium Development Goals (MDG) ซึ่งอาจจะแปลว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง
เมื่อปี 2000 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดที่เรียกว่า Millennium Summit ขึ้นที่ UN ในการประชุมครั้งนั้น ได้มีการจัดทำ Millennium Development Goals หรือ MDG ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมาย 8 เป้าหมาย เน้นเรื่องการช่วยเหลือประเทศยากจน โดยตั้งเป้าไว้ที่ ภายในปี 2015

สำหรับการประชุมสุดยอด MDG เมื่อปลายเดือนกันยายนนี้ เป็นการมาประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายต่างๆ และหลังจากการประชุม ได้มีการจัดทำเอกสารผลการประชุม กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย MDG โดยได้มีการตอกย้ำว่า ถึงแม้จะมีอุปสรรค โดยเฉพาะจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ในที่สุด ก็น่าจะบรรลุเป้าหมาย MDG ได้ในปี 2015

ผมจะสรุปประเด็นต่างๆ โดยไล่ไปตามเป้าหมายแต่ละเป้าหมาย ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 : การแก้ปัญหาความยากจนและความอดอยาก
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะลดจำนวนคนจนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง จากจำนวนของปี 1990 และจะลดจำนวนคนอดอยากหิวโหยให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2015

เอกสารผลการประชุมชี้ให้เห็นว่า มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาความยากจน ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 – 2009 รวมทั้งวิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงานด้วย โดยภาพรวม ประเทศกำลังพัฒนาน่าจะบรรลุเป้าหมาย MDG ได้ โดยในปี 2005 มีจำนวนคนยากจนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 เหรียญต่อวัน อยู่ประมาณ 1,400 ล้านคน แต่ในปี 2015 น่าจะลดลงเหลือประมาณ 920 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จำนวนคนที่อดอยากหิวโหยกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ในการประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ได้มีมาตรการ 2 เรื่องที่เป็นรูปธรรม เรื่องแรกได้แก่ การที่ธนาคารโลก จะเพิ่มเงินให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ประเทศยากจน โดยจะมีวงเงินประมาณ 6,000 – 8,000 ล้านเหรียญต่อปี ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ เกาหลีใต้ ประกาศจะให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรแก่ประเทศยากจนเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านเหรียญ

เป้าหมายที่ 2 : การศึกษาขั้นประถม
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2015 จะทำให้เด็กทุกคนในโลกมีการศึกษาอย่างน้อยขั้นประถม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ โดยเด็กในประเทศที่ยากจนที่สุดโดยเฉพาะในแอฟริกา ได้รับการศึกษาขั้นประถมมากขึ้น ในปี 2000 มีเด็กที่มีการศึกษาขั้นประถมเพียง 58 % แต่ในปี 2007 เพิ่มขึ้นเป็น 74% อย่างไรก็ตาม คงเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะบรรลุเป้าหมายของ MDG ในปี 2015

ในการประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ธนาคารโลกได้ประกาศเงินให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีก 750 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะสำหรับประเทศในแอฟริกา นอกจากนั้น บริษัท Dell ได้ประกาศจะให้เงินช่วยเหลือ 10 ล้านเหรียญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา

เป้าหมายที่ 3 : ความเท่าเทียมกันทางเพศ
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าว่า จะส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและส่งเสริมบทบาทของสตรี และขจัดความแตกต่างในการศึกษาระหว่างเพศภายในปี 2015

ในการประชุมสุดยอก MDG ครั้งนี้ ได้มีบริษัทเอกชนหลายบริษัทประกาศให้เงินช่วยเหลือในด้านนี้ โดย บริษัท Ericson ได้ริเริ่มโครงการ Connect to Learn เพื่อที่จะทำให้เด็กผู้หญิงได้เข้าถึงการศึกษาขั้นมัธยมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัท UPS ได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือ 2 ล้านเหรียญ และ Exxon Mobil 1 ล้านเหรียญ

เป้าหมายที่ 4 และ 5 : สุขภาพของมารดาและเด็ก
เป้าหมาย MDG ได้ตั้งเป้าไว้ว่า จะลดจำนวนการเสียชีวิตของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปี 2015 และลดจำนวนมารดาที่เสียชีวิตจากการคลอดบุตรลดลง 3 ใน 4 ภายในปี 2015

ในการประชุมสุดยอด MDG ครั้งนี้ ไฮไลท์ของการประชุมคือ การประกาศยุทธศาสตร์สำหรับสุขภาพอนามัยของผู้หญิงและเด็ก ซึ่งจะมีวงเงินถึง 40,000 ล้านเหรียญ ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าว จะสามารถช่วยชีวิตผู้หญิงและเด็กได้ถึง 16 ล้านคน และจะป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคปอดบวมได้ถึง 120 ล้านคน รวมทั้งจะช่วยเด็กที่ขาดอาหารได้อีก 88 ล้านคน

นอกจากนี้ แคนาดายังประกาศเดินหน้าที่จะระดมทุน 10,000 ล้านเหรียญจากกลุ่มประเทศ G8 ซึ่งจะเป็นไปตามความคิดริเริ่ม Muskoka ซึ่งเป็นผลจากการประชุมสุดยอด G8 ที่แคนาดา

เป้าหมายที่ 6 : การต่อสู้กับโรคระบาด
MDG ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะลดจำนวนคนติดโรคเอดส์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 รวมทั้งลดจำนวนคนป่วยเป็นมาลาเรียและโรคติดต่ออื่นๆ ครึ่งหนึ่งภายในปี 2015

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ ในช่วงปี 2003 ถึง 2008 มีผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านโรคเอดส์เพิ่มขึ้นจาก 4 แสน เป็น 4 ล้านคน คิดเป็น 42% ของผู้ป่วย 8.8 ล้านคนที่ต้องการยาต้านโรคเอดส์ สำหรับในแอฟริกาผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ก็มีจำนวนลดลง โดยในปี 2001 มีประมาณ 2.3 ล้านคน ในปี 2008 ลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน และคนที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย และผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัดลดลง 90% ในช่วงปี 2000 – 2008

สำหรับผลการประชุม MDG ในครั้งนี้ ได้มีมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยฝรั่งเศสประกาศลงขัน 1,400 ล้านเหรียญ ใน Global Fund ส่วนอังกฤษประกาศจะเพิ่มเงินช่วยเหลือ 3 เท่า เพิ่มจาก 150 ล้านปอนด์ต่อปี เป็น 500 ล้านปอนด์ภายในปี 2014 และธนาคารโลกก็ประกาศเพิ่มเงินอีก 600 ล้านเหรียญ

เป้าหมายที่ 7 : สิ่งแวดล้อม
MDG ได้ตั้งเป้าในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และลดจำนวนคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2015
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และเรื่องปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ถึงแม้จะมีปริมาณสูงแต่มีแนวโน้มลดลง

สำหรับในการประชุม MDG ครั้งนี้ มีบริษัทเอกชนประกาศให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ อาทิ WaterHealth International ประกาศจะสร้างโรงงานผลิตน้ำสะอาด 75 แห่งในบังคลาเทศและอินเดีย ซึ่งจะทำให้คนกว่า 175,000 คนเข้าถึงน้ำสะอาด และบริษัท Pepsi ตั้งเป้าจะทำให้คน 3 ล้านคนเข้าถึงน้ำสะอาดภายในปี 2015

เป้าหมายที่ 8 : หุ้นส่วนการพัฒนา
MDG ได้ตั้งเป้าว่า ประเทศร่ำรวยจะให้เงินช่วยเหลือประเทศยากจน โดยจัดสรรเงิน 0.7% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ประเทศร่ำรวยไม่ได้จัดสรรเงินในวงเงินดังกล่าว แต่สำหรับการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ EU ได้เสนอจะให้เงินช่วยเหลือ 1,000 ล้านยูโร

อุปสรรค
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผมประเมินโดยภาพรวมว่า การบรรลุเป้าหมาย MDG ในปี 2015 ยังคงเป็นเรื่องยากมาก ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญคือ การที่ประเทศร่ำรวยไม่ได้มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประเทศยากจน โดยทุกประเทศยังคงติดอยู่กับกับดักของตรรกะสัจนิยม ที่มองว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องประเทศใครประเทศมัน ลึกๆ แล้วประเทศร่ำรวยไม่คิดที่จะช่วยเหลือประเทศยากจนอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่ทำให้เป้าหมาย MDG คงจะบรรลุได้ยาก ได้แก่ ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งได้ส่งผลทำให้ประเทศยากจนประสบความแห้งแล้งอย่างหนัก โดยเฉพาะในแอฟริกา รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤตการณ์อาหารโลก ก็ได้ทำให้เงินช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยลดน้อยถอยลงไปด้วย

สุดท้าย ผมมองว่า มาตรการส่วนใหญ่ของการประชุมสุดยอด MDG ในครั้งนี้ ก็เป็นเงินช่วยเหลือเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่คงจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย MDG ได้ ในปี 2015