Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่ 1)

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตอนที่ 1

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2556


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ และอีกหลายๆตอนข้างหน้า จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องยุทธศาสตร์ของไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยในตอนแรกนี้ ผมจะวิเคราะห์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยจะวิเคราะห์ผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไทย หน่วยงานต่างๆ ของไทยได้ทำอะไรไปมากน้อยแค่ไหนในเรื่องของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง

 ในเรื่องยุทธศาสตร์ไทยต่อ AEC นั้น ผมขอเกริ่นไว้ก่อนเลยว่า เราควรจะมียุทธศาสตร์ทั้งในแง่ที่เราจะเตรียมตัวของเราเองอย่างไร แล้วเราก็ควรจะมียุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ในการที่จะเข้าไปผลักดัน และสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

ผลกระทบของ AEC ต่อไทย และความพร้อมของไทย
ก่อนอื่น เราจะต้องทำ SWOT analysis คือ การวิเคราะห์ผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อไทย รวมทั้งจุดอ่อน จุดแข็งของไทย

ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกย่อว่า สภาพัฒน์ฯ หรือ สศช. ได้มีการวิเคราะห์ระดับความพร้อมของสินค้าและบริการของไทยเพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งก็ได้แบ่งออกมาว่า มีสินค้าและบริการอะไรบ้าง สินค้าตัวใด บริการตัวใด เราได้เปรียบ เราเสียเปรียบ และที่ได้เปรียบนั้น เรามีพร้อมแค่ไหน มีไม่พร้อมมากน้อยแค่ไหน

แต่กล่าวโดยสรุป เรายังไม่ได้มีการทำการบ้านในการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน นอกจากนั้นไทย โดยรวมแล้ว เราก็ไม่พร้อม หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่พร้อม


ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 ตามทฤษฏีแล้ว หลังจากเราทำ SWOT analysis ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะต้องเอาแผนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของสภาพัฒน์ฯ มาดู และต้องเอา AEC Blueprint มาดู

โจทย์ของเราคือ ยุทธศาสตร์ไทยต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนควรจะเป็นอย่างไร ตัวยุทธศาสตร์อาจจะใช้ได้หลายชื่อ อาจจะเป็น roadmap สู่ประชาคมอาเซียน หรือยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ได้แต่ประเด็นหลักก็คือ ยุทธศาสตร์ไทยต่ออาเซียนนั่นเอง

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้น ควรจะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือยุทธศาสตร์ในการที่เราจะเตรียมตัวเราให้พร้อม เตรียมตัวประเทศไทยให้พร้อม นั่นคือ ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ที่ปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์อาเซียนของสภาพัฒน์ฯ แต่ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ไทยต่ออาเซียนนั้น เราเตรียมตัวเราให้พร้อมนั้นยังไม่พอ แต่เราจะต้องมียุทธศาสตร์ด้วยว่า เราจะเอาอย่างไรกับอาเซียน เราต้องมียุทธศาสตร์ในการที่เราจะเข้าไปสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย โดยเราจะต้องเอา AEC Blueprint มาดูว่า ตรงไหนเราจะบุก ตรงไหนเราจะรับ ตรงไหนเราจะรุก ตรงไหนเราจะผลักดัน เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทยที่สมบูรณ์จึงต้องมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ เตรียมตัวเราให้พร้อม ส่วนที่ 2 คือ การมียุทธศาสตร์ว่า เราจะเอาอย่างไรกับอาเซียน

ในส่วนแรกคือ ยุทธศาสตร์เตรียมเราให้พร้อม ซึ่งจะปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์อาเซียนของสภาพัฒน์ฯ โดยเป็นผลมาจากการประชุม workshop 2 - 3 ครั้ง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมียุทธศาสตร์อยู่ด้วยกัน 8 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การเตรียมประเทศไทยให้พร้อม แต่ผมขอย้ำว่า ยุทธศาสตร์ 8 ยุทธศาสตร์ของสภาพัฒน์ฯ เป็นยุทธศาสตร์การเตรียมประเทศไทยให้พร้อม แต่ยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์ต่ออาเซียนทั้งหมด โดยยุทธศาสตร์ทั้ง 8 มีดังนี้

-                   ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างการแข่งขันทางการค้า การบริการ และการลงทุน
-                   ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสังคม
-                   ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ logistics
-                   ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
-                   ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้า
-                   ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน
-                   ยุทธศาสตร์ที่ 7 เป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
-                   ยุทธศาสตร์ที่ 8 เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง

กล่าวโดยสรุป ในส่วนของแผนการเตรียมความพร้อมของไทยที่สภาพัฒน์ฯได้ทำขึ้นมานั้น เป็นส่วนหนึ่งยุทธศาสตร์ไทยต่ออาเซียน แต่ตามที่ได้เรียนไปแล้วในตอนต้นว่า ยุทธศาสตร์ของสภาพัฒน์ฯ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เป็นแค่การเตรียมเราให้พร้อม เป็นยุทธศาสตร์ที่เตรียมประเทศไทยให้พร้อม

แต่เราจะต้องมียุทธศาสตร์อีกชุดหนึ่ง ที่ระบุว่า ไทยจะเอาอย่างไรกับอาเซียน เราจะเข้าไปสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างไร เราจะมีนโยบายในเชิงรุกต่อ AEC อย่างไร เราจะทำให้ไทยมีบทบาทนำในประชาคมอาเซียนได้อย่างไร

การจะตอบคำถามเหล่านี้ เราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์อีกชุดหนึ่ง ซึ่งการที่จะให้ได้มาซึ่งยุทธศาสตร์นี้ เราจะต้องเข้าไปดูใน AEC Blueprint และวิเคราะห์ว่า เราจะมียุทธศาสตร์ต่ออาเซียนอย่างไร ไทยจะไปบุกตรงไหน จะรุกตรงไหน จะผลักดันอะไร จะเสนออะไร เพื่อจะทำให้ประชาคมเศรษฐกิจ
อาเซียนนั้น มีรูปร่างหน้าตา และถูกจัดตั้งขึ้นในรูปแบบที่ไทยจะได้ประโยชน์สูงสุด

เราอาจจะไล่ดูตัว AEC Blueprint โดยเริ่มจากข้อ A. single market and production base คือการที่อาเซียนจะพัฒนาไปเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว

เรื่องแรก เป็นเรื่องการเปิดเสรีในด้านสินค้า ซึ่งก็มีมาตรการอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี  มาตรการที่มิใช่ภาษี หรือ NTBs, เรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า (rule of origin) เรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade facilitation) เรื่องบูรณาการทางด้านศุลกากร (custom integration) และเรื่อง ASEAN Single Window เป็นต้น ประเด็นสำคัญคือ เราจะต้องมียุทธศาสตร์ว่า เราจะรุกตรงไหน เราควรจะมียุทธศาสตร์อย่างไรเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้

                เราคงจะทราบกันดีแล้วว่า เส้นทางของการจัดตั้ง AEC นั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ว่าเต็มไปด้วยขวากหนาม มีปัญหาและอุปสรรคมากมายหลายประการ ปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของอาเซียนคือ ช่องว่างรวยจน ที่มีประเทศที่รวยมากกับประเทศจนมากอยู่ด้วยกัน ทำให้เราขับเคลื่อนอาเซียนไปทั้ง 10
ประเทศไม่ได้ ประเด็นสำคัญ คือ ไทยจะเข้าไปมีบทบาทอย่างไรในการลดช่องว่างรวยจนนี้ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน  

เรื่องใหญ่อีกเรื่องของ AEC คือ เรื่องที่เรายังมองประเทศสมาชิกอื่นว่า เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของเรา ซึ่งปัญหานี้มีรากฐานมาจากการไม่ไว้ใจกัน เรายังไม่รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแข่งกันเอง ทำให้อาเซียนไม่มีท่าทีร่วม และแตกแยกกัน

ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่ผมคิดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย น่าจะต้องมีการคิดวิเคราะห์และกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ ที่จะผลักดันให้ AEC มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด ตามที่ไทยเราต้องการ เราจะไปผลักดันอย่างไร เราจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ แต่เราจะแก้อย่างไร ไทยจะมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

                สำหรับเรื่องการเปิดเสรีการค้าภาคบริการใน AEC นั้น ไทยจะมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกอย่างไรใน AEC มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบในเรื่องของการเปิดเสรีภาคบริการหลายหน่วยงาน หน่วยงานเหล่านี้มียุทธศาสตร์ในเชิงรุกอะไรบ้าง ที่จะเข้าไปผลักดัน เข้าไปเจรจาในเวทีอาเซียนต่างๆ

สำหรับเรื่องการเปิดเสรีทางด้านการลงทุนก็เช่นเดียวกัน ไทยจะมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกอย่างไร
                และสำหรับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือนั้น มีประเด็นอะไรที่ไทยอยากจะเน้นเป็นพิเศษ เราอยากจะรุก อยากจะผลักดันเรื่องอะไรบ้าง แรงงานมีฝีมือจะเกี่ยวเนื่องกับวิชาชีพต่างๆ อาทิ แพทย์พยาบาล วิศวกร ตรงนี้ไทยจะมียุทธศาสตร์อย่างไรที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีแรงงานมีฝีมือ
                กล่าวโดยสรุป ไทยยังต้องทำการบ้านอีกเยอะ เพื่อให้ได้มาซึ่งยุทธศาสตร์การเข้าสู่ AEC ที่สมบูรณ์แบบ และที่จะทำให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด


                (โปรดอ่านต่อ “ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ตอนที่ 2 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า)